ยิพธารักษาคำปฏิญาณต่อพระยะโฮวา
นักรบคนหนึ่งที่ได้รับชัยชนะได้เดินทางกลับบ้านหลังจากช่วยชาติให้พ้นจากศัตรู. บุตรสาวของท่านวิ่งออกมาต้อนรับ เต้นรำอย่างเริงร่าพร้อมกับเล่นรำมะนา. เมื่อเห็นลูกสาวแทนที่ท่านจะดีใจ ท่านกลับฉีกเสื้อของท่านเองเสีย. เพราะเหตุใด? ท่านไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับลูกสาวที่ยินดีเพราะท่านกลับบ้านอย่างปลอดภัยหรือ? ท่านได้รับชัยชนะในการต่อสู้อะไร? ท่านผู้นี้เป็นใคร?
ชายผู้นี้คือยิพธา ผู้วินิจฉัยคนหนึ่งของอิสราเอลโบราณ. แต่เพื่อจะตอบคำถามอื่น ๆ และดูว่าเรื่องราวเหล่านี้มีความหมายเช่นไรต่อเรา เราต้องพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนการกลับมาพบกันอีกในแบบที่ผิดธรรมดานี้.
ภาวะวิกฤติในอิสราเอล
ยิพธามีชีวิตอยู่ในยุคที่วิกฤติ. ชาวอิสราเอลซึ่งเป็นชนร่วมชาติของท่านได้ละทิ้งการนมัสการบริสุทธิ์และหันไปนมัสการพระของแผ่นดินซีโดน, โมอาบ, อัมโมน, และฟิลิสเตีย. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาจึงทิ้งประชาชนของพระองค์ให้ตกอยู่ในกำมือของชาวอัมโมนและชาวฟิลิสตินซึ่งกดขี่พวกเขานานถึง 18 ปี. ชาวเมืองกิเลียด [ฆีละอาด] ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนได้รับความเดือดร้อนมากกว่าใคร.a ในที่สุดชาวอิสราเอลก็สำนึกตัว, กลับใจรวมทั้งแสวงหาความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา, เริ่มรับใช้พระองค์, และกำจัดบรรดาพระของคนต่างชาติให้หมดจากท่ามกลางพวกเขา.—วินิจฉัย 10:6-16.
ชาวอัมโมนตั้งค่ายในเมืองกิเลียด และชาวอิสราเอลได้รวมตัวกันเพื่อเผชิญหน้ากับพวกเขา. แต่ชาวอิสราเอลขาดผู้นำ. (วินิจฉัย 10:17, 18) ขณะนั้น ยิพธามีปัญหาของท่านเอง. พวกพี่น้องต่างมารดาของท่านที่เป็นคนละโมบได้ขับไล่ท่านไปเพื่อจะยึดมรดกของท่าน. ดังนั้น ยิพธาจึงหนีไปอยู่ที่เมืองโคบซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเมืองกิเลียดและเป็นจุดที่ศัตรูของอิสราเอลเข้ามาโจมตีได้ง่าย. “เหล่าพวกคนถ่อย” ซึ่งคงจะเป็นคนที่สูญเสียงานของตนเพราะพวกศัตรูหรือคนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านการตกเป็นทาส ได้รวมตัวกันเพื่อมาหายิพธา. พวกเขา “ตามยิพธาไป” ซึ่งอาจหมายความว่าพวกเขาเข้าร่วมกับยิพธาเมื่อท่านจู่โจมบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรู. คงเป็นเพราะยิพธาเป็นนักต่อสู้ที่กล้าหาญนั่นเอง พระคัมภีร์จึงกล่าวถึงท่านว่าเป็น “คนมีฝีมือ.” (วินิจฉัย 11:1-3) แล้วใครจะนำหน้าชาวอิสราเอลในการต่อสู้กับพวกอัมโมน?
“เชิญมาเป็นผู้นำหน้าพวกเรา”
ผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองกิเลียดได้อ้อนวอนยิพธาดังนี้: “เชิญมาเป็นผู้นำหน้าพวกเรา.” หากพวกเขาคาดหวังว่าท่านจะรีบกลับสู่บ้านเกิด พวกเขาก็คิดผิดทีเดียว. ยิพธาตอบว่า “เจ้าทั้งหลายชังเรา, จึงไล่เราไปเสียจากพงศ์พันธุ์บิดาของเรามิใช่หรือ? เมื่อเจ้ามีความลำบากเดี๋ยวนี้มาหาเราทำไมเล่า?” ช่างไม่ยุติธรรมจริง ๆ ที่ตอนแรกพวกเขาปฏิเสธยิพธาและตอนหลังก็มาขอความช่วยเหลือจากท่าน!—วินิจฉัย 11:4-7.
มีเงื่อนไขเดียวเท่านั้นที่ยิพธาจะยอมเป็นผู้นำชาวเมืองกิเลียด. ท่านประกาศว่า ‘ถ้าพระยะโฮวาจะทรงมอบชาวอัมโมนไว้ต่อหน้าเรา เราจะเป็นหัวหน้าท่านทั้งหลาย.’ ชัยชนะจะเป็นหลักฐานว่าพระยะโฮวาอยู่เบื้องหลัง แต่ยิพธาต้องการทำให้แน่ใจด้วยว่าประชาชนจะไม่ปฏิเสธการปกครองของพระเจ้าทันทีที่วิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว.—วินิจฉัย 11:8-11.
รับมือกับพวกอัมโมน
ยิพธาพยายามเจรจากับพวกอัมโมน. ท่านส่งผู้แจ้งข่าวไปหากษัตริย์ของพวกเขาเพื่อดูว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกอัมโมนมารุกราน. คำตอบที่ได้รับคือการกล่าวโทษที่ว่า ชาวอิสราเอลยึดดินแดนของพวกอัมโมนไปในคราวที่ออกมาจากอียิปต์ และพวกเขาต้องการทวงคืน.—วินิจฉัย 11:12, 13.
เนื่องจากยิพธารู้ประวัติศาสตร์ของอิสราเอลเป็นอย่างดี ท่านจึงแก้ข้อกล่าวหาของพวกอัมโมนได้อย่างหลักแหลม. ท่านบอกพวกเขาว่าชาวอิสราเอลไม่ได้รุกรานชาติอัมโมน, โมอาบ, หรือเอโดมเมื่อคราวที่พวกเขาออกมาจากอียิปต์ ทั้งพวกอัมโมนก็ไม่ได้เป็นเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันนั้นตอนที่ชาวอิสราเอลเดินทางอพยพ. ชาวอัมโมนครอบครองดินแดนนั้นทีหลัง แต่พระเจ้าได้มอบกษัตริย์ซีโฮนของพวกเขาไว้ในมือของอิสราเอล. ยิ่งกว่านั้น ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาประมาณ 300 ปีแล้ว. ทำไมพวกอัมโมนเพิ่งมาอ้างสิทธิในตอนนี้?—วินิจฉัย 11:14-22, 26.
นอกจากนั้น ยิพธายังเน้นประเด็นสำคัญซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ของชาวอิสราเอล นั่นคือ ใครเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้? พระยะโฮวาหรือเหล่าพระต่าง ๆ ในดินแดนที่ชาวอิสราเอลเข้าไปอยู่อาศัย? ถ้าพระคีโมศมีอำนาจจริง เหตุใดจึงไม่ปกปักรักษาดินแดนของประชาชนล่ะ? นี่เป็นการต่อสู้กันระหว่างศาสนาเท็จซึ่งชาวอัมโมนให้การสนับสนุน กับการนมัสการแท้. ดังนั้น ยิพธาจึงลงความเห็นอย่างสมเหตุผลว่า “ขอพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นประทาน [“จอมผู้พิพากษา,” ฉบับแปลใหม่] จงตัดสินในท่ามกลางพวกยิศราเอลกับพวกอัมโมนวันนี้.”—วินิจฉัย 11:23-27.
กษัตริย์ของชาวอัมโมนไม่ยอมฟังข่าวสารที่แสดงถึงการไม่ยอมอ่อนข้อของยิพธา. “พระวิญญาณพระยะโฮวาสวมทับยิพธา, ท่านก็ผ่านเขตฆีละอาด, และมะนาเซ” ซึ่งคงจะเพื่อรวบรวมคนที่มีฝีมือในการต่อสู้.—วินิจฉัย 11:28, 29.
คำปฏิญาณของยิพธา
เนื่องจากยิพธาปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้รับการชี้นำจากพระเจ้า ท่านจึงปฏิญาณต่อพระเจ้าว่า “ถ้าพระองค์ทรงมอบคนอัมโมนไว้ในมือของข้าพระองค์แล้ว ผู้ใดที่ออกมาจากประตูเรือนของข้าพระองค์ เพื่อต้อนรับข้าพระองค์เมื่อข้าพระองค์มีชัยกลับมาจากคนอัมโมนนั้น ผู้นั้นจะต้องเป็นของของพระเจ้า และข้าพระองค์จะถวายผู้นั้นเป็นเครื่องเผาบูชา.” เพื่อเป็นการตอบคำอธิษฐาน พระเจ้าทรงอวยพรยิพธาโดยช่วยท่านให้สามารถตีเมืองของพวกอัมโมนได้ 20 เมืองพร้อมทั้งผู้คน “ล้มตายมาก” ด้วยเหตุนั้น ศัตรูของชาวอิสราเอลจึงถูกปราบ.—วินิจฉัย 11:30-33, ฉบับแปลใหม่.
เมื่อยิพธากลับจากสนามรบ คนที่มาพบท่านกลับเป็นลูกสาวที่รักซึ่งเป็นลูกคนเดียวของท่าน! เรื่องราวนั้นกล่าวต่อไปว่า “เมื่อยิพธาพบบุตรสาว, แล้วก็ฉีกเสื้อของตนเสียว่า, ‘โอ้ลูกเอ๋ย! เจ้าทำให้พ่อเป็นทุกข์, มีความเดือดร้อนมาก: ด้วยเราออกปากทูลพระยะโฮวาแล้ว, จะกลับคำไม่ได้.’ ”—วินิจฉัย 11:34, 35.
ยิพธาจะถวายบุตรสาวเป็นเครื่องบูชาจริง ๆ ไหม? เปล่า ท่านไม่อาจจะคิดทำเช่นนั้นได้. พระยะโฮวาทรงเกลียดชังการบูชายัญมนุษย์ซึ่งเป็นกิจปฏิบัติที่ชั่วช้าอย่างหนึ่งของชาวคะนาอัน. (เลวีติโก 18:21; พระบัญญัติ 12:31) ยิพธาไม่เพียงแต่อยู่ภายใต้การชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้าเมื่อตอนที่ท่านสาบานเท่านั้น แต่พระยะโฮวาทรงอวยพรความพยายามของท่านด้วย. พระคัมภีร์ชมเชยยิพธาเนื่องจากความเชื่อและบทบาทของท่านที่เกี่ยวข้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า. (1 ซามูเอล 12:11; เฮ็บราย 11:32-34) ดังนั้น ยิพธาคงไม่ได้คิดถึงการบูชายัญมนุษย์แน่ ๆ ซึ่งถือเป็นการฆาตกรรม. ถ้าอย่างนั้น ยิพธาคิดเช่นไรเมื่อท่านปฏิญาณว่าจะถวายมนุษย์แด่พระยะโฮวา?
เห็นได้ชัดว่า ยิพธาหมายความว่าท่านจะอุทิศผู้ที่ท่านพบเพื่อรับใช้พระเจ้าโดยเฉพาะ. พระบัญญัติของโมเซเปิดช่องให้มีการปฏิญาณว่าจะถวายผู้คนแด่พระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น เหล่าผู้หญิงรับใช้ ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบางทีอาจเป็นงานตักน้ำ. (เอ็กโซโด 38:8; 1 ซามูเอล 2:22) เราไม่ทราบอะไรมากนักเกี่ยวกับงานเหล่านั้นหรือแม้แต่การรับใช้ตามปกติที่ทำเป็นประจำหรือชั่วคราว. ดูเหมือนว่ายิพธาคิดถึงการอุทิศในลักษณะพิเศษเช่นนั้นตอนที่ท่านปฏิญาณ และดูเหมือนว่าคำสัญญาของท่านหมายถึงการรับใช้แบบถาวร.
ทั้งลูกสาวของยิพธาและภายหลังเด็กน้อยซามูเอลได้ให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามคำปฏิญาณของบิดามารดาผู้เลื่อมใสพระเจ้า. (1 ซามูเอล 1:11) ในฐานะผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา ลูกสาวของยิพธาเองก็เชื่อมั่นเช่นเดียวกับบิดาในเรื่องที่ว่า ควรทำตามคำปฏิญาณ. นั่นเป็นการเสียสละมากจริง ๆ เพราะนี่หมายความว่าเธอจะไม่ได้สมรส. เธอร้องไห้ให้กับการที่ต้องเป็นหญิงพรหมจารี เนื่องจากชาวอิสราเอลทุกคนปรารถนาที่จะมีบุตรเพื่อสืบตระกูลและรับมรดก. สำหรับยิพธาแล้ว การทำตามคำปฏิญาณย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่จะได้อยู่กับลูกสุดที่รักเพียงคนเดียว.—วินิจฉัย 11:36-39.
ชีวิตของสตรีผู้ซื่อสัตย์ที่ไม่ได้สมรสคนนี้ไม่สูญเปล่า. การรับใช้ในพระนิเวศของพระยะโฮวาเต็มเวลาเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยม, น่าพึงพอใจ, และน่าชมเชยสำหรับเธอในการถวายเกียรติแด่พระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น “ปีแล้วปีเล่าบุตรสาวชาวอิสราเอลจะไปพูดจาชมเชยลูกสาวของยิพธาชาวเมืองกิเลียด.” (วินิจฉัย 11:40, ล.ม.) และแน่นอนว่า ยิพธารู้สึกยินดีที่เธอรับใช้พระยะโฮวา.
หลายคนท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้เลือกที่จะรับใช้พระยะโฮวาแบบเต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์, มิชชันนารี, ผู้ดูแลเดินทาง, หรือสมาชิกครอบครัวเบเธล. นี่อาจหมายถึงการไม่ได้เห็นหน้าคนในครอบครัวของพวกเขาบ่อยอย่างที่ต้องการ. กระนั้น ทุกคนก็สามารถมีความยินดีได้ในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นที่ถวายแด่พระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 110:3; เฮ็บราย 13:15, 16.
ขัดขืนการชี้นำจากพระเจ้า
เมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยของยิพธา เราเห็นว่าชาวอิสราเอลหลายคนปฏิเสธการชี้นำจากพระยะโฮวา. แม้เห็นหลักฐานว่าพระเจ้าทรงอวยพรยิพธา แต่ชาวเอฟรายิมก็เข้ามาหาเรื่องกับท่าน. พวกเขาต้องการรู้ว่าเหตุใดยิพธาไม่ชวนพวกเขาเข้าร่วมในการสู้รบด้วย. พวกเขาถึงกับจะเผาบ้านของยิพธา ‘ทับศีรษะของท่าน’ ด้วยซ้ำ!—วินิจฉัย 12:1.
ยิพธากล่าวว่าท่านชวนแล้ว แต่ชาวเอฟรายิมไม่ตอบรับ. ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พระเจ้าต่างหากที่ได้รับชัยชนะ. ตอนนี้ ชาวเอฟรายิมขุ่นเคืองเพราะชาวกิเลียดไม่ได้ปรึกษาพวกเขาเมื่อเลือกยิพธาเป็นผู้บัญชาการไหม? ที่จริง การที่ชาวเอฟรายิมต่อว่าด้วยความไม่พอใจเป็นการขืนอำนาจพระยะโฮวา และไม่มีทางอื่นนอกจากการสู้รบกับพวกเขา. ในการรบที่เกิดขึ้นตามมา ชาวเอฟรายิมก็พ่ายแพ้. ชาวเอฟรายิมที่หนีไปถูกตรวจจับได้อย่างง่ายดายเนื่องจากออกเสียงคำว่า “ซิบโบเลธ” ไม่ถูกต้อง. มีชาวเอฟรายิมรวมแล้ว 42,000 คนที่เสียชีวิตในการสู้รบ.—วินิจฉัย 12:2-6.
ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้าสักเพียงไรในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล! การสู้รบที่ได้ชัยชนะโดยผู้วินิจฉัยอัธนีเอล, เอฮูด, บาราค, และฆิดโอนนำมาซึ่งสันติสุข. แต่ในโอกาสนี้ไม่มีการกล่าวถึงสันติสุขเลย. เรื่องราวเพียงแต่ลงท้ายว่า “ยิพธาชาวฆีละอาดครอบครองพวกยิศราเอลได้หกปี. แล้วก็สิ้นชีพ, ฝังไว้ที่เมืองฆีละอาด.”—วินิจฉัย 3:11, 30; 5:31; 8:28; 12:7.
เราสามารถเรียนอะไรได้จากเรื่องราวทั้งหมดนี้? แม้ชีวิตของยิพธาจะมีแต่ความยากลำบาก แต่ท่านก็ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า. บุรุษผู้กล้าหาญคนนี้กล่าวถึงพระยะโฮวาเมื่อท่านพูดกับผู้เฒ่าผู้แก่ของกิเลียด, ชาวอัมโมน, บุตรสาวของท่าน, และกับชาวเอฟรายิม, และแน่นอน ในตอนที่ท่านกล่าวคำปฏิญาณ. (วินิจฉัย 11:9, 23, 27, 30, 31, 35; 12:3) พระเจ้าอวยพรยิพธาสำหรับความเลื่อมใสของท่าน โดยใช้ท่านและบุตรสาวเพื่อส่งเสริมการนมัสการบริสุทธิ์. ในขณะที่คนอื่น ๆ ละทิ้งมาตรฐานของพระเจ้า ยิพธายึดมั่นกับมาตรฐานเหล่านั้น. คุณจะเชื่อฟังพระยะโฮวาเสมอเหมือนยิพธาไหม?
[เชิงอรรถ]
a ชาวอัมโมนเป็นพวกที่โหดเหี้ยมทารุณอย่างยิ่ง. ไม่ถึง 60 ปีต่อมา ชาวอัมโมนขู่ชาวเมืองกิเลียดที่เขากำลังคุกคามอยู่ว่าจะควักลูกตาข้างขวาของชาวเมืองแต่ละคนออก. ผู้พยากรณ์อาโมศกล่าวถึงช่วงเวลาหนึ่งที่พวกอัมโมนได้ผ่าท้องหญิงมีครรภ์ในเมืองกิเลียด.—1 ซามูเอล 11:2; อาโมศ 1:13.