คุณควรยืนกรานตามความชอบส่วนตัวไหม?
เด็กสองคนกำลังเล่นอยู่ด้วยกัน. คนหนึ่งคว้าของเล่นชิ้นโปรดไปจากอีกคนหนึ่ง พร้อมกับตะเบ็งเสียงว่า “นี่ของฉัน!” ตั้งแต่ในวัยเยาว์ มนุษย์ไม่สมบูรณ์แสดงความเห็นแก่ตัวไม่มากก็น้อย. (เย. 8:21; โรม 3:23) ยิ่งกว่านั้น โลกโดยทั่วไปส่งเสริมเจตคติในทางเห็นแก่ตัว หรือคิดถึงตัวเองก่อน. หากเราจะหลีกเลี่ยงเจตคติดังกล่าว เราต้องไม่ย่อท้อที่จะต่อสู้ความโน้มเอียงในทางเห็นแก่ตัว. หากเราไม่ต่อสู้แนวโน้มอย่างนั้นแล้ว เราอาจทำให้คนอื่นหลงผิดได้ง่าย ๆ และบั่นทอนสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวา.—โรม 7:21-23.
อัครสาวกเปาโลสนับสนุนพวกเราให้คำนึงถึงผลกระทบอันเนื่องมาจากการกระทำของเราต่อคนอื่น ท่านเขียนดังนี้: “ทุกสิ่งทำได้ไม่มีข้อห้าม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งเป็นประโยชน์. ทุกสิ่งทำได้ไม่มีข้อห้าม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งทำให้เจริญ.” ท่านกล่าวด้วยว่า “อย่าเป็นเหตุให้ . . . หลงผิด.” (1 โค. 10:23, 32) ดังนั้น เมื่อพูดถึงความชอบส่วนตัว นับว่าเป็นแนวทางแห่งสติปัญญาที่จะถามตัวเองว่า ‘ฉันเต็มใจสละความชอบส่วนตัวบางอย่างไหม ถ้าความชอบนั้นเป็นการคุกคามสันติสุขของประชาคม? ฉันพร้อมหรือไม่ที่จะยอมทำตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลแม้การทำเช่นนั้นอาจจะยาก?’
การเลือกงานอาชีพ
คนส่วนใหญ่ถือว่าการเลือกงานอาชีพเป็นเรื่องส่วนตัว คงจะไม่กระทบกระเทือนใคร ๆ หรือหากมีผลกระทบก็เพียงเล็กน้อย. แต่ขอพิจารณาประสบการณ์ของนักธุรกิจคนหนึ่งจากเมืองเล็ก ๆ ในอเมริกาใต้. เขาขึ้นชื่อว่าเป็นนักพนันและเสพสุรามึนเมา. ครั้นได้มาศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา เขาเริ่มใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแนวทางชีวิต. (2 โค. 7:1) เมื่อเขาแสดงความสนใจอยากร่วมทำงานเผยแพร่กับประชาคม ผู้ปกครองได้พูดกับเขาอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา ชี้แนะให้เขาใคร่ครวญดูลักษณะงานอาชีพที่เขาทำอยู่. ชายคนนี้เป็นผู้จัดจำหน่ายแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากอ้อยรายใหญ่ของเมืองนี้มานานพอสมควร—แอลกอฮอล์ประเภทนี้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่ผู้คนในเขตนั้นนิยมนำมาผสมน้ำอัดลมโดยหมายว่าจะดื่มให้เมา.
ชายผู้นี้ตระหนักว่าถ้าตนออกไปเผยแพร่แต่ยังคงขายแอลกอฮอล์ประเภทนี้อยู่ก็คงจะนำชื่อเสียงไม่ดีมาสู่ประชาคม และอาจเป็นการทำลายสัมพันธภาพระหว่างเขากับพระเจ้า. แม้เขามีครอบครัวใหญ่ต้องเลี้ยงดู เขายอมเลิกอาชีพขายแอลกอฮอล์. ปัจจุบัน เขาจุนเจือครอบครัวด้วยรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์กระดาษ. ชายผู้นี้พร้อมด้วยภรรยาและลูกสาวสองคนในจำนวนลูกห้าคนได้รับบัพติสมาแล้ว. พวกเขาประกาศข่าวดีอย่างกระตือรือร้นและมั่นใจ.
การเลือกเพื่อน
การคบหากับคนที่ไม่มีความเชื่อถือว่าเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวไหม หรือเกี่ยวข้องกับหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลด้วย? พี่น้องหญิงคนหนึ่งต้องการไปงานเลี้ยงกับชายหนุ่มซึ่งไม่ใช่คริสเตียนแท้. ถึงแม้เธอได้รับการเตือนให้รู้อันตรายแล้ว แต่เธอถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัว และเธอได้ไปร่วมงานเลี้ยงนั้น. ไม่นานหลังจากไปถึง ก็มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มที่เจือยานอนหลับอย่างแรงให้เธอ. กว่าเธอจะรู้ตัวตื่นขึ้นมาก็นานหลายชั่วโมง และพบว่าตัวเองถูกชายที่อ้างตัวเป็นเพื่อนข่มขืน.—เทียบกับเยเนซิศ 34:2.
แม้การคบหากับคนที่ไม่มีความเชื่ออาจจะไม่เกิดเรื่องน่าเศร้าอย่างที่ว่าเสมอไป แต่พระคัมภีร์เตือนดังนี้: “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภา. 13:20, ล.ม.) ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้—การคบหาสมาคมที่ไม่ดีอาจทำให้เราได้รับอันตราย! สุภาษิต 22:3 (ฉบับ R73) บอกว่า “คนหยั่งรู้เห็นอันตรายและซ่อนตัวของเขาเสีย แต่คนเขลาเดินเรื่อยไปและรับอันตรายนั้น.” คนที่เราคบหาด้วยย่อมมีผลกระทบต่อเราและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า.—1 โค. 15:33; ยโก. 4:4.
เสื้อผ้าและการแต่งกาย
แฟชั่นเสื้อผ้าตามสมัยนิยมนั้นมักจะเปลี่ยนไปทุกฤดูกาล. อย่างไรก็ตาม หลักการของคัมภีร์ไบเบิลว่าด้วยเสื้อผ้าและการแต่งกายนั้นไม่เปลี่ยน. เปาโลกระตุ้นเตือนสตรีคริสเตียนให้ “แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เรียบร้อย สุภาพ และมีสติ”—หลักการข้อนี้ใช้ได้กับผู้ชายเช่นเดียวกัน. (1 ติโม. 2:9) เปาโลไม่ได้สนับสนุนการแต่งตัวที่เชยเกินไป หรือไม่ได้พูดว่าคริสเตียนทุกคนต้องมีรสนิยมเหมือนกัน. แต่ว่ากันถึงความสุภาพล่ะ? พจนานุกรมเล่มหนึ่งนิยามคำสุภาพไว้ว่า “เรียบร้อย, อ่อนโยน, ประพฤติดี, ละมุนละม่อม.”
เราพึงถามตัวเองว่า ‘ฉันพูดจากใจจริงไหมว่าฉันแต่งตัวอย่างสุภาพหากฉันยังคงยืนกรานว่ามีสิทธิ์จะแต่งตัวอย่างที่ดึงดูดความสนใจสู่ตัวเอง? ฉันแต่งตัวแบบที่ทำให้ผู้คนสงสัยไหมว่าฉันเป็นใครหรือดำเนินชีวิตในทางศีลธรรมแบบไหน?’ เราสามารถหลีกเลี่ยงที่จะ “ไม่เป็นเหตุให้หลงผิด” ในเรื่องนี้โดย “ไม่ห่วงแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่ห่วงเรื่องของคนอื่นด้วย.”—2 โค. 6:3; ฟิลิป. 2:4.
ด้านธุรกิจ
เมื่อเกิดปัญหาร้ายแรงอันเกี่ยวเนื่องกับการทำผิดหรือการฉ้อโกงในประชาคมโครินท์ เปาโลเขียนดังนี้: “ทำไมพวกท่านไม่ยอมทนที่เป็นฝ่ายเสียหาย? ทำไมพวกท่านไม่ยอมทนที่ถูกเขาโกง?” เปาโลได้แนะนำคริสเตียนให้เต็มใจยอมเสียสละบางสิ่งแทนที่จะฟ้องร้องพี่น้องในศาล. (1 โค. 6:1-7) พี่น้องชายคนหนึ่งในสหรัฐใส่ใจคำแนะนำข้อนี้. เขามีความคิดเห็นต่างไปจากนายจ้างคริสเตียนในเรื่องค่าจ้างที่เขาพึงได้. โดยอาศัยคำแนะนำของพระคัมภีร์ พี่น้องชายสองคนนี้ได้พบและพูดคุยกันหลายครั้ง แต่หาวิธีแก้ปัญหาไม่ได้. ในที่สุด พวกเขาจึงนำเรื่องเสนอ “ประชาคม” ซึ่งก็คือพูดกับคริสเตียนผู้ปกครอง.—มัด. 18:15-17.
น่าเศร้า ประเด็นยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้. ภายหลังการทูลอธิษฐานหลายครั้ง ลูกจ้างคนนี้เลยตัดสินใจสละเงินเกือบทั้งหมดที่ตนคิดว่าควรจะได้. เพราะอะไร? ในเวลาต่อมาเขาพูดว่า “ความไม่เห็นพ้องกันในเรื่องนี้ได้ปล้นเอาความยินดีของผมไป และผลาญเวลาอันมีค่าซึ่งน่าจะใช้เวลานั้นสำหรับกิจกรรมฝ่ายคริสเตียน.” เมื่อตกลงใจได้เช่นนั้น พี่น้องชายคนนี้รู้สึกว่าได้ความชื่นชมยินดีคืนมา และเขาได้สังเกตว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรงานรับใช้ของเขา.
แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อย
นอกจากนั้น การไม่ยืนกรานในความพอใจหรือความชอบส่วนตัวทำให้เราประสบความยินดีในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ. ณ วันแรกของการประชุมภาค ไพโอเนียร์คู่หนึ่งมาถึงก่อนเวลาและได้ที่นั่งตามที่พวกเขาต้องการ. ขณะระเบียบวาระเริ่ม มีครอบครัวหนึ่งพร้อมกับเด็ก ๆ หลายคนรีบเข้ามาในสถานประชุมซึ่งผู้คนอยู่กันแน่น. เมื่อสังเกตครอบครัวนั้นกำลังหาที่นั่งให้พอจำนวนคน ไพโอเนียร์ทั้งสองจึงสละที่นั่งให้. ทั้งนี้ทุกคนในครอบครัวจึงมีโอกาสได้นั่งด้วยกัน. ไม่กี่วันภายหลังเสร็จการประชุม ไพโอเนียร์ทั้งสองได้รับจดหมายแสดงความขอบคุณจากครอบครัวนี้. ความในจดหมายแจ้งว่าพวกเขาท้อใจมากแค่ไหนเมื่อมาถึงที่ประชุมสายกว่ากำหนด. แต่แล้วความรู้สึกท้อใจพลันกลับกลายเป็นความปีติยินดีและความรู้สึกขอบคุณเพราะความกรุณาของไพโอเนียร์คู่นั้น.
ตราบที่เรามีโอกาส ขอให้เราเต็มใจสละความชอบส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น. โดยการแสดงความรักอย่าง “ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” เราช่วยรักษาสันติสุขภายในประชาคมและสันติสุขกับเพื่อนบ้านของเรา. (1 โค. 13:5) แต่สำคัญที่สุด เรารักษามิตรภาพของเรากับพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 20]
คุณเต็มใจสละความชอบส่วนตัวในการเลือกเครื่องแต่งกายไหม?
[ภาพหน้า 21]
คุณเต็มใจสละที่นั่งให้พี่น้องของคุณไหม?