การจับปลาในทะเลแกลิลี
ชีวิตชาวประมงในทะเลแกลิลีในศตวรรษแรกเป็นเช่นไร? คำตอบสำหรับคำถามนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวมากมายที่บันทึกในหนังสือกิตติคุณ ดังเช่นเรื่องที่ได้พิจารณาไปในบทความก่อน.
“ทะเล” นี้แท้จริงแล้วเป็นทะเลสาบน้ำจืดซึ่งยาวประมาณ 21 กิโลเมตร กว้างประมาณ 12 กิโลเมตร. เป็นเวลานานมาแล้ว ชาวประมงได้ใช้ประโยชน์จากทะเลสาบแห่งนี้ซึ่งมีปลาอุดมสมบูรณ์. ดูเหมือนว่าประตูปลาในกรุงเยรูซาเลมในอดีตเคยเป็นตลาดซื้อขายปลา. (นะเฮมยา 3:3) ปลาที่ขายในตลาดนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากทะเลแกลิลี.
อัครสาวกเปโตรมาจากเมืองหนึ่งริมฝั่งทะเลแกลิลีชื่อเบทซายะดา ซึ่งอาจมีความหมายว่า “บ้านของชาวประมง.” อีกเมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบเช่นกันคือเมืองมากาดาน หรือมักดาลา ซึ่งพระเยซูได้พาสาวกไปที่นั่นหลังจากพระองค์ทรงเดินบนน้ำ. (มัดธาย 15:39) ตามความเห็นของนักเขียนคนหนึ่ง ชื่อภาษากรีกของเมืองนี้อาจแปลได้ว่า “เมืองแปรรูปปลา.” เมืองนี้มีชื่อเสียงในเรื่องโรงงานปลาซึ่งมีอยู่มากมาย และปลาที่จับได้ในบริเวณนี้จะถูกนำไปตากแห้งและหมักเกลือ หรือไม่ก็ทำเป็นน้ำปลาเก็บไว้ในไหดินเหนียวทรงสูงที่มีหู. ดูเหมือนว่าสินค้าเหล่านี้ถูกส่งไปทั่วทุกภาคของอิสราเอลและอาจจะไกลกว่านั้นด้วยซ้ำ.
การจับปลา, การแปรรูป, และการค้าขายปลาจึงเป็นธุรกิจใหญ่ในแคว้นแกลิลีสมัยพระเยซู. เป็นเรื่องง่ายที่จะคิดว่าธุรกิจนี้คงทำให้ผู้คนมากมายแถบนั้นมีฐานะร่ำรวย. แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป. ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวว่า การจับปลา “ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำได้อย่างเสรี อย่างที่ผู้อ่านพันธสัญญาใหม่ในสมัยปัจจุบันอาจคิดกัน.” การจับปลาในแกลิลีเป็น “ธุรกิจที่ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐและทำกำไรให้แก่ชนชั้นสูง.”
เฮโรด อันติปา เป็นผู้ครองแคว้นแกลิลีที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรม. ด้วยเหตุนั้น เขาจึงเป็นผู้ควบคุมดูแลถนนหนทาง, ท่าเรือ, และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เช่น เหมืองแร่, ป่าไม้, การเกษตร, และการประมงในแคว้นนี้. ทรัพยากรเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของเฮโรดซึ่งได้จากการเก็บภาษี. เราไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการจัดเก็บภาษีในแกลิลีสมัยศตวรรษแรก. แต่ดูเหมือนว่าวิธีจัดเก็บภาษีโดยทั่วไปของเฮโรดไม่แตกต่างมากนักจากวิธีของผู้ปกครองในยุคกรีกหรือวิธีที่พวกโรมันใช้กับเมืองต่าง ๆ ทางตะวันออกซึ่งอยู่ใต้อำนาจของตน. ผู้ที่ได้รับผลกำไรส่วนใหญ่จากการดำเนินธุรกิจในบริเวณนี้และได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติในแกลิลีคงต้องเป็นพวกชนชั้นสูง แทนที่จะเป็นสามัญชนซึ่งเป็นผู้ที่ลงแรงเป็นส่วนใหญ่.
ภาษีที่เป็นภาระหนัก
ในสมัยพระเยซู ผืนดินที่ดีที่สุดในแคว้นแกลิลีเป็นสมบัติของเชื้อวงศ์กษัตริย์และถูกแบ่งออกเป็นที่ดินผืนใหญ่ ๆ ซึ่งเฮโรด อันติปา ได้แบ่งให้เป็นของกำนัลแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้มีบรรดาศักดิ์คนอื่น ๆ. พลเมืองของเฮโรดต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลสำหรับความเป็นอยู่ที่หรูหราของเฮโรด, โครงการก่อสร้างที่ใหญ่โตมโหฬาร, การบริหารราชการที่ซับซ้อน รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองที่เฮโรดมอบให้มิตรสหายและเมืองต่าง ๆ. กล่าวกันว่าภาษีและค่าธรรมเนียมที่ประชาชนทั่วไปต้องแบกรับนั้นเป็นภาระที่หนักเหลือเกิน.
นอกจากนั้น เฮโรดยังเป็นผู้ผูกขาดผลประโยชน์จากแหล่งน้ำในแคว้นด้วย. ฉะนั้น การจับปลาจึงเป็นโครงการใหญ่ที่ควบคุมดูแลโดยเฮโรดหรือโดยผู้ที่เฮโรดได้มอบผืนดินให้เป็นกรรมสิทธิ์. สำหรับที่ดินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกษัตริย์โดยตรง จะมีนายหน้าจัดเก็บภาษีหรือหัวหน้าคนเก็บภาษี ซึ่งได้แก่พวกคนรวยที่ชนะการประมูลสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษี เป็นผู้ที่มีอำนาจในการทำสัญญาการจับปลากับชาวประมง. นักวิจารณ์บางคนให้ความเห็นว่าเนื่องจากด่านเก็บภาษีของมัดธายอยู่ที่คาเปอร์นาอุม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจับปลาที่สำคัญของทะเลแกลิลี เขาคงทำงานให้กับหัวหน้าคนเก็บภาษีเหล่านั้น ในฐานะเป็น “ผู้เก็บเงินภาษีสำหรับสิทธิในการจับปลา” ประจำท้องถิ่น.a
หลักฐานจากศตวรรษที่หนึ่งและสองก่อนสากลศักราชแสดงให้เห็นว่าภาษีในปาเลสไตน์มักชำระเป็น “สิ่งของ” แทนที่จะเป็นเงินสด. ดังนั้น ชาวประมงบางคนจึงแบ่งปลาประมาณ 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดที่จับได้เพื่อแลกกับสิทธิในการจับปลา. เอกสารโบราณบ่งชี้ว่าอย่างน้อยในบางเขตที่อยู่ใต้การปกครองของโรมัน การจับปลาเป็นกิจการผูกขาดของรัฐซึ่งดูแลโดยผู้ตรวจการ. ในแคว้นปิซิเดีย ตำรวจประมงจะคอยดูไม่ให้มีใครจับปลาโดยไม่ได้รับอนุญาตและคอยดูให้ชาวประมงขายปลาที่จับได้ให้กับพ่อค้าคนกลางหรือผู้ค้าส่งที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งพ่อค้าเหล่านี้ก็ต้องทำธุรกิจภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐและจ่ายภาษีให้กับรัฐเช่นกัน.
นักวิเคราะห์คนหนึ่งกล่าวว่า การควบคุมดูแลและจัดเก็บภาษีเหล่านี้ ที่สุดแล้วก็ทำให้ “กษัตริย์และผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้กำไรมหาศาล ในขณะที่ชาวประมงได้กำไรน้อยมาก.” ผู้ที่ประกอบกิจการประเภทอื่น ๆ ก็ได้กำไรไม่มากนักเช่นกันเนื่องจากการเก็บภาษีที่ขูดรีด. ภาษีไม่เคยเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ต้องเสียภาษี. แต่ความเป็นปฏิปักษ์ที่คนทั่วไปมีต่อคนเก็บภาษีซึ่งเราอ่านพบในหนังสือกิตติคุณนั้นคงต้องเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์และความโลภของคนเหล่านั้นที่ได้ความมั่งคั่งร่ำรวยมาจากการขูดรีดเอาทุกสิ่งที่พวกเขาจะเอาได้จากสามัญชน.—ลูกา 3:13; 19:2, 8
ชาวประมงในหนังสือกิตติคุณ
กิตติคุณทั้งสี่เล่มบอกให้ทราบว่าซีโมนเปโตรมีเพื่อนที่ร่วมทำธุรกิจหาปลาด้วยกัน. คนที่มาช่วยเปโตรลากอวนตอนที่จับปลาได้มากเนื่องจากการอัศจรรย์ก็คือ “เพื่อน ๆ ในเรืออีกลำหนึ่ง.” (ลูกา 5:3-7) พวกผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า “ชาวประมงอาจรวมตัวกันเป็น ‘สหกรณ์’ . . . เพื่อจะประมูลสัญญาการจับปลาหรือเช่าที่จับปลา.” คงเป็นเพราะเหตุนี้ บุตรชายสองคนของเซเบเดอุส, เปโตร, อันเดรอัส, และเพื่อน ๆ ของเขาจึงได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจประมงได้.
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวชัดเจนว่า ชาวประมงในแกลิลีเป็นเจ้าของเรือและอุปกรณ์จับปลาที่พวกเขาใช้หรือไม่. บางคนคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น. ที่จริง มีการกล่าวถึงพระเยซูว่าเคยเสด็จลงเรือ “ซึ่งเป็นของซีโมน.” (ลูกา 5:3) อย่างไรก็ตาม บทความหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้โดยตรงให้ข้อสังเกตว่า “อย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้ ที่เรือเหล่านั้นแท้จริงแล้วเป็นของนายหน้าซึ่งให้สมาชิกสหกรณ์ใช้.” ไม่ว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ พระคัมภีร์ก็กล่าวถึงยาโกโบและโยฮันว่ากำลังชุนอวนของตน. นอกจากนี้ชาวประมงอาจต้องเจรจาต่อรองเพื่อขายปลาที่จับได้ และอาจจำเป็นต้องจ้างแรงงานรายวัน.
ฉะนั้น กิจการประมงในแกลิลีในศตวรรษแรกจึงเกี่ยวข้องกับหลายอย่างมากกว่าที่คิด. ธุรกิจของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับคนหลายอาชีพ. การจดจำเรื่องนี้ไว้จะช่วยให้เข้าใจความหมายของเรื่องราวในหนังสือกิตติคุณและคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับการจับปลาและชาวประมงได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้เราซาบซึ้งในความเชื่อของเปโตร, อันเดรอัส, ยาโกโบ, และโยฮัน. การหาปลาเป็นอาชีพเลี้ยงตัวของพวกเขา. ไม่ว่าพวกเขาจะมีฐานะทางการเงินอย่างไรในตอนที่พระเยซูทรงเรียก พวกเขาก็พร้อมจะทิ้งงานอาชีพที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้พวกเขามีรายได้มั่นคง เพื่อจะมาเป็น “ผู้จับคน.”—มัดธาย 4:19
[เชิงอรรถ]
a ดูเหมือนว่าอัครสาวกเปโตรได้ย้ายจากเมืองเบทซายะดามาอยู่ที่คาเปอร์นาอุม เพื่อทำธุรกิจประมงร่วมกับอันเดรอัสน้องชายและบุตรชายสองคนของเซเบเดอุส. พระเยซูก็เคยอาศัยอยู่ในเมืองคาเปอร์นาอุมระยะหนึ่งด้วย.—มัดธาย 4:13-16
[แผนที่หน้า 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลสาบฮูลา
เบทซายะดา
คาเปอร์นาอุม
มากาดาน
ทะเลแกลิลี
เยรูซาเลม
ทะเลตาย
[ที่มาของภาพ]
Todd Bolen/Bible Places.com
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Todd Bolen/Bible Places.com