จงใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ” ให้ชำนาญ
“จง . . . รับเอาดาบแห่งพระวิญญาณซึ่งก็คือพระคำของพระเจ้า.”—เอเฟ. 6:17
1, 2. เราควรตอบรับอย่างไรต่อความจำเป็นที่ต้องมีผู้ประกาศราชอาณาจักรมากขึ้น?
เมื่อเห็นความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของฝูงชน พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “การเกี่ยวเป็นงานใหญ่ แต่คนงานมีน้อย. ฉะนั้น จงขอเจ้าของงานเกี่ยวให้ส่งคนงานออกไปในงานเกี่ยวของพระองค์.” พระเยซูไม่ได้เพียงแค่ตรัสสั่งพวกเขา. หลังจากตรัสอย่างนั้นแล้ว “พระองค์ทรงเรียกสาวกของพระองค์ทั้งสิบสองคนมา” และส่งพวกเขาให้ไปประกาศตามที่ต่าง ๆ หรือให้ทำ “งานเกี่ยว.” (มัด. 9:35-38; 10:1, 5) ต่อมา พระเยซู “ทรงตั้งสาวกอีกเจ็ดสิบคนและส่งพวกเขาออกไปเป็นคู่ ๆ” ให้ทำงานอย่างเดียวกันนั้น.—ลูกา 10:1, 2
2 เช่นเดียวกัน ในทุกวันนี้ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้ประกาศมากขึ้น. ตลอดทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในปีการรับใช้ 2009 จำนวน 18,168,323 คน. จากจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ไม่ใช่พยานพระยะโฮวากว่า 10 ล้านคน. ทุ่งนากำลังเหลืองอร่ามพร้อมจะเกี่ยวได้แล้วจริง ๆ. (โย. 4:34, 35) ด้วยเหตุนั้น เราควรอธิษฐานขอให้มีคนงานเกี่ยวมากขึ้น. แต่เราจะทำอย่างที่สอดคล้องกับคำขอนั้นได้อย่างไร? เราสามารถทำอย่างนั้นได้ด้วยการเป็นผู้รับใช้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นขณะที่เรามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและในงานสอนคนให้เป็นสาวก.—มัด. 28:19, 20; มโก. 13:10
3. พระวิญญาณของพระเจ้ามีบทบาทสำคัญอย่างไรในการช่วยเราให้เป็นผู้รับใช้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น?
3 บทความที่แล้วพิจารณาว่าการได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้าช่วยเราอย่างไรให้ “กล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ.” (กิจ. 4:31) พระวิญญาณของพระเจ้ายังช่วยเราได้ด้วยให้เป็นผู้รับใช้ที่มีความสามารถ. วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้นในงานรับใช้ก็คือการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เรา คือคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลเป็นผลงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์. (2 ติโม. 3:16) ข่าวสารที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น เมื่อเราอธิบายความจริงในพระคัมภีร์อย่างชำนาญในงานรับใช้ เรากำลังได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. ก่อนจะพิจารณาวิธีที่เราจะทำอย่างนั้นได้ ให้เรามาพิจารณาว่าพระคำของพระเจ้ามีพลังมากเพียงไร.
‘พระคำของพระเจ้าทรงพลัง’
4. ข่าวสารของพระเจ้าที่พบในคัมภีร์ไบเบิลสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคนเรา?
4 พระคำหรือข่าวสารของพระเจ้าทรงพลัง! (ฮีบรู 4:12) ในความหมายโดยนัย ข่าวสารที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลนั้นคมยิ่งกว่าดาบที่มนุษย์ทำขึ้น เพราะข่าวสารนี้ราวกับแทงทะลุถึงขนาดที่แยกออกระหว่างกระดูกกับไขกระดูก. ความจริงในพระคัมภีร์เข้าถึงส่วนลึกที่สุดของคนเราและซึมซาบเข้าไปในความคิดและความรู้สึก เผยให้เห็นว่าเขาเป็นคนอย่างไรจริง ๆ ในส่วนลึก. ความจริงนั้นมีพลังและสามารถทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง. (อ่านโกโลซาย 3:10) เป็นความจริงทีเดียวที่ว่าพระคำของพระเจ้าสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คน!
5. คัมภีร์ไบเบิลชี้นำเราในทางใดได้บ้าง และผลเป็นอย่างไร?
5 นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่เปี่ยมด้วยสติปัญญาซึ่งไม่มีหนังสือใดจะเทียบได้. พระคัมภีร์มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งสามารถช่วยผู้คนให้เห็นวิธีดำเนินชีวิตในโลกที่สับสนวุ่นวายนี้. พระคำของพระเจ้าไม่ได้ส่องให้เห็นเฉพาะก้าวเท้าที่เรากำลังเดินอยู่ แต่ยังส่องให้เห็นทางที่อยู่ข้างหน้าด้วย. (เพลง. 119:105) พระคัมภีร์ช่วยเราได้มากทีเดียวเมื่อเรารับมือกับปัญหาหรือเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องการเลือกเพื่อน, ความบันเทิง, งานอาชีพ, เสื้อผ้า, และเรื่องอื่น ๆ. (เพลง. 37:25; สุภา. 13:20; โย. 15:14; 1 ติโม. 2:9) การใช้หลักการที่พบในพระคำของพระเจ้าช่วยเราให้เข้ากับคนอื่น ๆ ได้ดี. (มัด. 7:12; ฟิลิป. 2:3, 4) เมื่อเราให้พระคำของพระเจ้าส่องทางเดินโดยนัยที่อยู่ข้างหน้าให้สว่าง เราก็จะสามารถมองเห็นว่าการตัดสินใจของเราจะส่งผลต่อเราอย่างไรในอนาคต. (1 ติโม. 6:9) พระคัมภีร์ยังบอกล่วงหน้าด้วยเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับอนาคต ซึ่งช่วยเราให้ดำเนินชีวิตแบบที่สอดคล้องกับพระประสงค์นั้น. (มัด. 6:33; 1 โย. 2:17, 18) ช่างเป็นชีวิตที่มีความหมายจริง ๆ ถ้าคนเรายอมให้หลักการของพระเจ้าชี้นำชีวิต!
6. คัมภีร์ไบเบิลเป็นอาวุธที่ทรงพลังเพียงไรในสงครามฝ่ายวิญญาณ?
6 ขอให้คิดดูด้วยว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นอาวุธที่ทรงพลังสักเพียงไรในสงครามฝ่ายวิญญาณของเรา. เปาโลเรียกพระคำของพระเจ้าว่าเป็น “ดาบแห่งพระวิญญาณ.” (อ่านเอเฟโซส์ 6:12, 17) เมื่อเราเสนอข่าวสารในพระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพ ข่าวสารนั้นสามารถช่วยผู้คนให้หลุดพ้นจากการครอบงำของซาตาน. ข่าวสารในพระคำของพระเจ้าเป็นดาบที่ช่วยชีวิต ไม่ใช่ดาบที่ทำลายชีวิต. เราควรพยายามใช้คัมภีร์ไบเบิลให้ชำนาญมิใช่หรือ?
จงใช้พระคำของพระเจ้าให้ถูกต้อง
7. เหตุใดจึงสำคัญที่จะเรียนรู้วิธีใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ” ให้คล่อง?
7 ทหารจะใช้อาวุธได้อย่างเชี่ยวชาญในสงครามก็ต่อเมื่อเขาได้ฝึกฝนและเรียนรู้วิธีใช้อาวุธให้คล่อง. การใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ” ในสงครามฝ่ายวิญญาณก็เช่นเดียวกัน. เปาโลเขียนว่า “จงทำสุดความสามารถเพื่อแสดงตัวต่อพระเจ้าอย่างที่พระองค์พอพระทัย เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.”—2 ติโม. 2:15
8, 9. อะไรจะช่วยเราให้เข้าใจสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว? จงยกตัวอย่าง.
8 อะไรจะช่วยเราให้ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง” ในงานรับใช้? ก่อนที่เราจะสามารถบอกคนอื่นได้อย่างชัดเจนว่าคัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไร เราเองต้องเข้าใจพระคัมภีร์อย่างชัดเจนก่อน. เพื่อจะเข้าใจพระคัมภีร์ เราต้องสนใจบริบทของข้อคัมภีร์ที่เราอ่าน. ตามที่พจนานุกรมเล่มหนึ่งอธิบายไว้ “บริบทคือคำหรือข้อความแวดล้อมเพื่อช่วยให้เข้าใจความหมาย.”
9 เพื่อจะเข้าใจข้อคัมภีร์อย่างถูกต้อง เราต้องพิจารณาข้อความแวดล้อม. คำกล่าวของเปาโลในกาลาเทีย 5:13 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความจำเป็นดังกล่าว. ท่านเขียนว่า “พี่น้องทั้งหลาย จริงอยู่ พวกท่านถูกเรียกให้มีเสรีภาพ แต่อย่าใช้เสรีภาพนี้เพื่อหาเหตุทำตามความปรารถนาทางกาย จงรับใช้กันด้วยความรัก.” เสรีภาพที่เปาโลกล่าวถึงในที่นี้คืออะไร? ท่านกล่าวถึงเสรีภาพจากบาปและความตาย, จากการถูกผูกมัดโดยความเชื่อที่ผิด ๆ, หรือว่าจากสิ่งอื่น? บริบทเผยให้เห็นว่าเปาโลกำลังกล่าวถึงเสรีภาพที่เกิดจากการถูกปลดปล่อยให้ “พ้นคำแช่งสาปในพระบัญญัติ.” (กลา. 3:13, 19-24; 4:1-5) ท่านกำลังกล่าวถึงเสรีภาพที่คริสเตียนมี. คนที่เห็นค่าเสรีภาพนั้นรับใช้กันและกันด้วยความรัก. ส่วนคนที่ไม่มีความรักก็มักจะนินทาว่าร้ายและทะเลาะถกเถียงกัน.—กลา. 5:15
10. เพื่อจะเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง เราควรพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับอะไร และเราอาจได้รับข้อมูลนั้นโดยวิธีใด?
10 คำ “บริบท” ยังมีอีกความหมายหนึ่ง. คำที่มีความหมายคล้ายกันกับคำ “บริบท” ได้แก่ “ภูมิหลัง, สภาพการณ์, . . . สถานการณ์.” เพื่อจะเข้าใจความหมายของข้อคัมภีร์อย่างถูกต้อง เราควรพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลัง เช่น ใครเขียนหนังสือเล่มนั้น, เขียนเมื่อไร, และภายใต้สภาพการณ์เช่นไร. นอกจากนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ด้วยที่จะรู้จุดประสงค์ในการเขียนหนังสือนั้น และถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะรู้ธรรมเนียม, ค่านิยม, และรูปแบบการนมัสการของผู้คนในสมัยนั้นด้วย.a
11. เราควรระวังอะไรเมื่ออธิบายพระคัมภีร์?
11 ‘การใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง’ ไม่ได้หมายถึงการอธิบายความจริงในพระคัมภีร์อย่างถูกต้องเท่านั้น. เราควรระวังที่จะไม่ใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อขู่ผู้คน. แม้ว่าเราสามารถใช้พระคัมภีร์เพื่อปกป้องความจริง แบบเดียวกับที่พระเยซูทรงทำเมื่อพญามารล่อใจพระองค์ แต่คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่กระบองที่เราจะใช้เพื่อขู่ผู้ฟังให้ยอมรับความจริง. (บัญ. 6:16; 8:3; 10:20; มัด. 4:4, 7, 10) เราควรเอาใจใส่คำเตือนของอัครสาวกเปโตรที่ว่า “ในใจท่านทั้งหลาย จงเคารพนับถือพระคริสต์ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ พร้อมเสมอที่จะปกป้องความหวังของพวกท่านโดยชี้แจงแก่ทุกคนที่อยากรู้ว่าทำไมพวกท่านหวังอย่างนั้น แต่จงทำเช่นนั้นด้วยอารมณ์อ่อนโยนและด้วยความนับถืออย่างยิ่ง.”—1 เป. 3:15
12, 13. ความจริงในพระคำของพระเจ้าสามารถทำลาย “สิ่งที่ฝังรากลึก” อะไร? จงยกตัวอย่าง.
12 เมื่อใช้อย่างถูกต้อง ความจริงในพระคำของพระเจ้าสามารถทำอะไรให้บรรลุผล? (อ่าน 2 โครินท์ 10:4, 5) ความจริงในพระคัมภีร์สามารถทำลาย “สิ่งที่ฝังรากลึก” กล่าวคือเปิดโปงหลักคำสอนเท็จ, กิจปฏิบัติที่ก่อผลเสียหาย, และปรัชญาที่สะท้อนถึงสติปัญญาที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์. เราสามารถใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อขจัดความคิดใด ๆ ที่ “ขัดกับความรู้ของพระเจ้า.” เราสามารถใช้คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยคนอื่น ๆ ให้คิดอย่างที่สอดคล้องกับความจริง.
13 ขอให้พิจารณาตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นกรณีของสตรีวัย 93 ปีที่อาศัยในประเทศอินเดีย. ตั้งแต่เด็ก เธอถูกสอนให้เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด. เมื่อเธอเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทางจดหมายกับลูกชายที่อยู่ต่างประเทศ เธอก็พร้อมจะตอบรับสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและคำสัญญาของพระองค์. แต่ว่าคำสอนเรื่องการกลับชาติฝังแน่นในความคิดของเธอ ทำให้เธอคัดค้านเมื่อลูกชายเขียนจดหมายมาอธิบายเกี่ยวกับสภาพของคนตาย. เธอกล่าวว่า “ยังไง ๆ แม่ก็ไม่มีทางเข้าใจความจริงในพระคัมภีร์ของลูกได้เลย. ทุกศาสนาสอนว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ในตัวเราที่ไม่มีวันตาย. แม่เชื่อมาตลอดว่า เมื่อคนเราตาย มีอะไรบางอย่างในตัวเราซึ่งมองไม่เห็นที่จะกลับชาติมาเกิดใหม่ในร่างกายอื่น 8,400,000 ครั้ง. เรื่องนี้จะไม่เป็นความจริงได้ยังไง? ศาสนาส่วนใหญ่จะผิดไปเสียทั้งหมดเลยหรือ?” “ดาบแห่งพระวิญญาณ” จะทำลายความเชื่อที่ฝังรากลึกอย่างนั้นได้ไหม? หลังจากที่ได้พิจารณาเรื่องนั้นในพระคัมภีร์มากขึ้น ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเธอก็เขียนมาว่า “แม่เริ่มจะเข้าใจความจริงในเรื่องความตายแล้วล่ะ. แม่ดีใจมากที่ได้รู้ว่าเมื่อมีการกลับเป็นขึ้นจากตาย เราก็จะได้พบคนที่เรารักที่ตายไป. แม่หวังว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะมาในเร็ว ๆ นี้.”
จงใช้พระคำของพระเจ้าโดยการพูดจูงใจ
14. การพูดจูงใจผู้ฟังหมายถึงอะไร?
14 การใช้คัมภีร์ไบเบิลอย่างมีประสิทธิภาพในงานรับใช้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การยกพระคัมภีร์ขึ้นมากล่าว. เปาโล “พูดจูงใจผู้ฟังให้เชื่อ” และเราก็ควรทำอย่างนั้นด้วย. (อ่านกิจการ 19:8, 9; 28:23) “การพูดจูงใจ” หมายถึง “การชักนำหรือเกลี้ยกล่อมให้เห็นคล้อยตาม.” คนที่ถูกจูงใจ “ได้รับการชักนำให้มั่นใจมากจน [เขา] เชื่อมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง.” เมื่อเราพูดจูงใจใครคนหนึ่งให้ยอมรับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล เราก็กำลังพยายามชักนำเขาให้เชื่อถือคำสอนนั้น. เพื่อจะทำอย่างนี้ได้ เราต้องทำให้ผู้ฟังมั่นใจว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง. เราทำอย่างนั้นได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้.
15. คุณจะนำความสนใจไปยังคัมภีร์ไบเบิลอย่างที่ทำให้ผู้ฟังนับถือพระคัมภีร์ได้โดยวิธีใด?
15 นำความสนใจไปยังพระคำของพระเจ้าอย่างที่ทำให้ผู้ฟังนับถือพระคำนั้น. เมื่อคุณเกริ่นนำข้อคัมภีร์ จงเน้นให้เห็นความสำคัญของการรู้ว่าพระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรในเรื่องนั้น. หลังจากตั้งคำถามและได้คำตอบจากเจ้าของบ้านแล้ว คุณอาจพูดอะไรบางอย่างในทำนองว่า ‘ให้เรามาดูกันว่าพระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรในเรื่องนี้.’ หรือคุณอาจถามว่า ‘พระเจ้าตรัสอย่างไรในเรื่องนี้?’ การเกริ่นนำข้อคัมภีร์อย่างนี้เน้นให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลมาจากพระเจ้าและช่วยให้ผู้ฟังมีความนับถือต่อพระคัมภีร์. การทำอย่างนั้นสำคัญเป็นพิเศษเมื่อเรากำลังประกาศกับบางคนที่เชื่อในพระเจ้า แต่ไม่คุ้นกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล.—เพลง. 19:7-10
16. อะไรจะช่วยคุณให้อธิบายข้อคัมภีร์ได้อย่างถูกต้อง?
16 เมื่ออ่านพระคัมภีร์ จงอธิบายข้อคัมภีร์นั้นด้วย. เปาโล ‘อธิบายและพิสูจน์สิ่งที่ท่านสอนโดยอ้างอิงข้อคัมภีร์ต่าง ๆ’ เสมอ. (กิจ. 17:3) ข้อคัมภีร์มักมีจุดสำคัญมากกว่าหนึ่งจุด และคุณอาจจำเป็นต้องเน้นคำสำคัญที่สนับสนุนเรื่องที่คุณกำลังพิจารณา. คุณอาจทำอย่างนี้โดยกล่าวซ้ำคำที่ถ่ายทอดแนวคิดหรือกล่าวโดยใช้คำอีกแบบหนึ่งหรือโดยใช้คำถามที่จะช่วยเจ้าของบ้านให้สังเกตเห็นคำดังกล่าว. จากนั้น จงอธิบายความหมายของส่วนนั้นในพระคัมภีร์. เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว จงช่วยผู้ฟังของคุณให้เห็นว่าจะใช้ข้อนั้นกับตัวเขาเองอย่างไร.
17. คุณอาจถกเรื่องในพระคัมภีร์อย่างที่ทำให้ผู้ฟังมั่นใจได้อย่างไร?
17 จงถกเรื่องในพระคัมภีร์อย่างที่ทำให้ผู้ฟังมั่นใจ. โดยใช้คำวิงวอนด้วยความรู้สึกจากหัวใจและเหตุผลที่ฟังขึ้น เปาโล ‘ถกเรื่องในพระคัมภีร์กับคนอื่น ๆ’ อย่างที่ทำให้พวกเขามั่นใจ. (กิจ. 17:2, 4) ขอให้คุณพยายามเข้าถึงหัวใจผู้ฟังเช่นเดียวกับที่เปาโลทำ. ‘จงยก’ สิ่งที่อยู่ในหัวใจของผู้ฟังขึ้นมาโดยใช้คำถามที่กรุณาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณสนใจคนนั้นเป็นส่วนตัว. (สุภา. 20:5) ระวังอย่าพูดตรงเกินไป. จงเสนอเหตุผลอย่างชัดเจนและสมเหตุสมผล. เหตุผลที่คุณให้ควรมีหลักฐานสนับสนุนที่จุใจ. คำพูดของคุณควรอาศัยพระคำของพระเจ้าเป็นพื้นฐาน. การใช้ข้อคัมภีร์แค่ข้อเดียวแล้วอธิบายและแสดงให้เห็นจุดสำคัญของข้อนั้นดีกว่าการอ่านข้อคัมภีร์สองสามข้ออย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้อธิบาย. การทำอย่างนั้นยังสามารถ “เพิ่มแรงโน้มน้าวใจให้แก่ริมฝีปาก” ของคุณได้ด้วย. (สุภา. 16:23, ล.ม.) บางครั้ง อาจจำเป็นต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม. สตรีวัย 93 ปีซึ่งกล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้จำเป็นต้องรู้ว่าทำไมคำสอนที่ว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ในตัวคนเราที่ไม่มีวันตายจึงเป็นคำสอนที่แพร่หลายมาก. เพื่อจะจูงใจให้เธอยอมรับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องนี้ เธอจำเป็นต้องเข้าใจที่มาของหลักคำสอนนั้นและวิธีที่คำสอนนั้นกลายเป็นคำสอนของศาสนาส่วนใหญ่ในโลก.b
จงใช้คัมภีร์ไบเบิลให้ชำนาญต่อ ๆ ไป
18, 19. เหตุใดเราควรใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ” ให้ชำนาญต่อ ๆ ไป?
18 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “โลกนี้กำลังเปลี่ยนไปเหมือนละครเปลี่ยนฉาก.” คนชั่วกำลังกำเริบชั่วร้ายยิ่งขึ้น. (1 โค. 7:31; 2 ติโม. 3:13) ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำลาย “สิ่งที่ฝังรากลึก” ต่อ ๆ ไปด้วยการใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณซึ่งก็คือพระคำของพระเจ้า.”
19 เรามีความสุขสักเพียงไรที่มีพระคำของพระเจ้า คือคัมภีร์ไบเบิล และใช้ข่าวสารอันทรงพลังของพระคัมภีร์ในการขจัดคำสอนเท็จและเข้าถึงหัวใจคนที่มีหัวใจสุจริต! ไม่มีสิ่งที่ฝังรากลึกใดที่มีพลังมากกว่าข่าวสารนั้น. ด้วยเหตุนั้น ให้เราพยายามอย่างจริงจังในการใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ” ให้ชำนาญในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรที่พระเจ้าประทานแก่เรา.
[เชิงอรรถ]
a คู่มือที่ยอดเยี่ยมที่ช่วยให้เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของหนังสือต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลได้แก่หนังสือ “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์,” การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ), และบทความที่เกี่ยวกับพระคัมภีร์ในวารสารหอสังเกตการณ์ เช่น “พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต.”
b ดูจุลสารเกิดอะไรขึ้นกับเราเมื่อเราตาย? หน้า 5-16.
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
• พระคำของพระเจ้ามีพลังอย่างไร?
• เราจะ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง” ได้โดยวิธีใด?
• ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลสามารถทำอะไรกับ “สิ่งที่ฝังรากลึก”?
• คุณจะปรับปรุงการพูดจูงใจในงานประกาศได้อย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
วิธีใช้พระคำของพระเจ้าโดยการพูดจูงใจ
▪ สร้างความนับถือต่อคัมภีร์ไบเบิล
▪ อธิบายพระคัมภีร์
▪ ให้เหตุผลอย่างที่ทำให้มั่นใจเพื่อจะเข้าถึงหัวใจ
[ภาพหน้า 11]
คุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้ “ดาบแห่งพระวิญญาณ” อย่างมีประสิทธิภาพ