รับบัพติสมาในนามของใครและอะไร?
“ฉะนั้น จงไปสอนคน . . . ให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติสมาในนามของพระบิดา และพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.”—มัด. 28:19
1, 2. (ก) เกิดอะไรขึ้นในกรุงเยรูซาเลมในวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33? (ข) เหตุใดหลายคนในฝูงชนจึงถูกกระตุ้นใจให้รับบัพติสมา?
กรุงเยรูซาเลมคับคั่งจอแจไปด้วยฝูงชนจากดินแดนต่าง ๆ. ในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 มีการฉลองเทศกาลสำคัญและผู้มาเยือนหลายคนมาร่วมเทศกาลนี้. แต่มีบางสิ่งที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นหลังจากที่อัครสาวกเปโตรได้บรรยายอย่างกระตุ้นใจผู้ฟังซึ่งก่อผลที่น่าทึ่ง. ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวประมาณ 3,000 คนประทับใจด้วยถ้อยคำของท่าน จึงกลับใจและรับบัพติสมาในน้ำ. เมื่อเป็นอย่างนี้ คริสเตียนในประชาคมที่เพิ่งก่อตั้งจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น. (กิจ. 2:41) การรับบัพติสมาของผู้คนมากมายในสระหรืออ่างเก็บน้ำรอบกรุงเยรูซาเลมคงต้องทำให้เกิดความวุ่นวายมากทีเดียว!
2 อะไรทำให้ผู้คนมากมายขนาดนั้นรับบัพติสมา? ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันนั้นเอง “มีเสียงดังจากฟ้าเหมือนเสียงพายุ.” ในห้องชั้นบนของบ้านหลังหนึ่ง เหล่าสาวกของพระเยซูประมาณ 120 คนได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์. หลังจากนั้น ชายหญิงที่ยำเกรงพระเจ้าก็มาชุมนุมกันและถูกกระตุ้นให้สนใจเมื่อได้ยินสาวกเหล่านี้ “พูดเป็นภาษาต่าง ๆ.” เมื่อได้ฟังสิ่งที่เปโตรพูด รวมถึงคำอธิบายที่ตรงจุดเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู หลายคน “ก็รู้สึกเจ็บแปลบในใจ.” พวกเขาควรทำอะไร? เปโตรตอบว่า “จงกลับใจ และให้พวกท่านทุกคนรับบัพติสมาในพระนามพระเยซูคริสต์ . . . และพวกท่านจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทาน.”—กิจ. 2:1-4, 36-38
3. ในวันเพนเทคอสต์ ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวที่กลับใจจำเป็นต้องทำอะไร?
3 ขอให้นึกถึงภูมิหลังทางศาสนาของชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวเหล่านั้นที่ได้ฟังเปโตรพูด. พวกเขาได้ยอมรับพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของพวกเขาอยู่แล้ว. และจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู พวกเขารู้เกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพลังปฏิบัติการที่พระเจ้าทรงใช้ในช่วงที่ทรงสร้างสรรพสิ่งและหลังจากนั้น. (เย. 1:2; วินิจ. 14:5, 6; 1 ซามู. 10:6; เพลง. 33:6) แต่พวกเขาจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างมากกว่านั้น. เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเขาจะเข้าใจและยอมรับวิธีที่พระเจ้าประทานความรอด นั่นคือพระเยซูผู้เป็นพระมาซีฮา. ด้วยเหตุนั้น เปโตรเน้นว่าพวกเขาจำเป็นต้อง “รับบัพติสมาในพระนามพระเยซูคริสต์.” หลายวันก่อนหน้านั้น พระเยซูซึ่งถูกปลุกให้คืนพระชนม์ทรงสั่งเปโตรและคนอื่น ๆ ให้ช่วยผู้คนให้รับบัพติสมา “ในนามของพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัด. 28:19, 20) การทำอย่างนั้นมีความหมายอย่างลึกซึ้งในศตวรรษแรก และยังคงมีความหมายอย่างเดียวกันนั้นในปัจจุบัน. ความหมายดังกล่าวคืออะไร?
ในนามของพระบิดา
4. มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับคนที่มีสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวา?
4 ดังที่กล่าวแล้ว คนที่ตอบสนองต่อคำบรรยายของเปโตรนมัสการพระยะโฮวาและมีสายสัมพันธ์กับพระองค์อยู่ก่อนแล้ว. พวกเขาได้พยายามปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่บรรดาคนที่มาจากดินแดนอื่น ๆ ได้มายังกรุงเยรูซาเลม. (กิจ. 2:5-11) อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงเพิ่งเปลี่ยนแปลงวิธีที่พระองค์ติดต่อเกี่ยวข้องกับมนุษย์. พระองค์ทรงปฏิเสธชาวยิวในฐานะชาติพิเศษของพระองค์; การปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์ไม่ได้เป็นวิธีที่พวกเขาจะได้รับการยอมรับจากพระองค์อีกต่อไป. (มัด. 21:43; โกโล. 2:14) ถ้าผู้ฟังเหล่านั้นต้องการจะมีสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาต่อไป พวกเขาจำเป็นต้องทำบางสิ่งบางอย่างด้วย.
5, 6. ชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวหลายคนในศตวรรษแรกทำอะไรเพื่อจะมีสายสัมพันธ์กับพระเจ้า?
5 แน่นอน สิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำนั้นไม่ใช่การหันเหไปจากพระยะโฮวา พระผู้ประทานชีวิตแก่พวกเขา. (กิจ. 4:24) แต่ตอนนี้คนที่ตอบสนองคำอธิบายของเปโตรสามารถเข้าใจมากกว่าแต่ก่อนว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยคุณงามความดี. พระองค์ทรงส่งพระมาซีฮามาช่วยพวกเขาให้รอดและทรงเต็มพระทัยจะให้อภัยแม้แต่คนที่เปโตรกล่าวกับพวกเขาว่า “ชนชาวอิสราเอลทั้งปวงจงรู้เถิดว่า พระเยซูผู้ที่พวกท่านได้ตรึงไว้บนเสานี้แหละคือผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์.” ที่จริง คนที่ทำตามคำพูดของเปโตรในตอนนี้มีเหตุผลมากยิ่งขึ้นไปอีกที่จะขอบคุณสำหรับสิ่งที่พระบิดาได้ทำเพื่อทุกคนที่ต้องการจะมีสายสัมพันธ์กับพระเจ้า!—อ่านกิจการ 2:30-36
6 จริงทีเดียว ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวเหล่านั้นสามารถเห็นแล้วว่าการมีสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาหมายรวมถึงการยอมรับพระองค์เป็นพระผู้จัดเตรียมความรอดโดยทางพระเยซู. ดังนั้น คุณจึงเข้าใจได้ว่าทำไมพวกเขาจึงกลับใจจากบาปของตน ซึ่งก็รวมถึงการมีส่วนในการฆ่าพระเยซูไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม. และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เหมือนกันว่าในวันต่อ ๆ มา “พวกเขาเอาใจใส่ฟังคำสอนของพวกอัครสาวกต่อ ๆ ไป.” (กิจ. 2:42) สิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้และต้องการทำก็คือการ “เข้าเฝ้าและกล้าทูลต่อหน้าราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันใหญ่หลวงด้วยความมั่นใจ.”—ฮีบรู 4:16
7. หลายคนในทุกวันนี้ที่รับบัพติสมาในนามของพระบิดาได้เปลี่ยนทัศนะของตนในเรื่องพระเจ้าอย่างไร?
7 ปัจจุบัน หลายล้านคนที่มีภูมิหลังต่าง ๆ ได้เรียนความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวาจากคัมภีร์ไบเบิล. (ยซา. 2:2, 3) บางคนเคยเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าหรือมีแนวคิดแบบเทวัสนิยม แต่ได้มาเชื่อมั่นว่ามีพระผู้สร้างที่พวกเขาสามารถมีสายสัมพันธ์ที่มีความหมายกับพระองค์ได้.a ส่วนคนอื่น ๆ เคยนมัสการพระตรีเอกานุภาพหรือรูปเคารพต่าง ๆ. พวกเขาได้มารู้ว่าพระยะโฮวาเพียงผู้เดียวเป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง และตอนนี้พวกเขาทูลถึงพระองค์โดยใช้พระนามเฉพาะของพระองค์. นั่นนับว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พระเยซูตรัสว่าเหล่าสาวกของพระองค์ควรรับบัพติสมาในนามของพระบิดา.
8. คนที่ไม่รู้ว่าเขารับบาปตกทอดมาจากอาดามจำเป็นต้องตระหนักอะไรเกี่ยวกับพระบิดา?
8 พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยว่าพวกเขารับบาปตกทอดมาจากอาดาม. (โรม 5:12) นี่เป็นเรื่องใหม่ที่พวกเขาต้องยอมรับว่าเป็นความจริง. คนเหล่านี้อาจเปรียบได้กับคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย. เขาอาจมีอาการบางอย่าง เช่น เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง. แต่เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคอะไรจริง ๆ เขาอาจคิดไปเองว่าสุขภาพโดยทั่วไปของเขาดี. แต่ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่ง. (เทียบกับ 1 โครินท์ 4:4) จะว่าอย่างไรถ้าเขาได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์อย่างถูกต้องเกี่ยวกับโรคที่เขาเป็น? เขาควรจะแสวงหาและยอมรับวิธีรักษาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีมิใช่หรือ? คล้ายกัน เมื่อได้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับบาปที่ได้รับตกทอดมา หลายคนได้ยอมรับเอา “การตรวจวินิจฉัย” จากคัมภีร์ไบเบิล และได้เข้าใจว่าพระเจ้าทรงเสนอ “วิธีรักษา” ให้. ใช่แล้ว ทุกคนที่เหินห่างจากพระบิดาจำเป็นต้องหันมาหาพระองค์ผู้ทรงสามารถ “รักษา” พวกเขาได้.—เอเฟ. 4:17-19
9. พระยะโฮวาทรงทำอะไรเพื่อเราจะสามารถมีสายสัมพันธ์กับพระองค์?
9 ถ้าคุณอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาพระเจ้าและเป็นคริสเตียนที่รับบัพติสมาแล้ว คุณรู้ว่าการมีสายสัมพันธ์กับพระองค์เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ. ตอนนี้ คุณสามารถเข้าใจว่าพระยะโฮวาพระบิดาของคุณทรงเปี่ยมด้วยความรักสักเพียงไร. (อ่านโรม 5:8) แม้ว่าอาดามและฮาวาได้ทำบาปต่อพระองค์ พระเจ้าทรงริเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ลูกหลานของพวกเขาซึ่งก็รวมถึงพวกเราด้วยสามารถมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์. ในการทำอย่างนั้น พระเจ้าคงต้องเจ็บปวดพระทัยที่เห็นพระบุตรที่รักของพระองค์ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์. การรู้อย่างนี้ช่วยเราให้ยอมรับอำนาจของพระเจ้าและเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์เพราะเรารักพระองค์มิใช่หรือ? ถ้าคุณยังไม่ได้อุทิศตัวคุณเองแด่พระเจ้าและรับบัพติสมา คุณมีเหตุผลมากมายที่จะทำอย่างนั้น.
ในนามของพระบุตร
10, 11. (ก) คุณเป็นหนี้บุญคุณพระเยซูอย่างไร? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์เป็นค่าไถ่?
10 แต่ขอให้นึกถึงสิ่งที่เปโตรพูดกับฝูงชนอีกครั้งหนึ่ง. ท่านเน้นในเรื่องการยอมรับพระเยซู ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับบัพติสมา “ในนามของ . . . พระบุตร.” เหตุใดนั่นเป็นเรื่องสำคัญในเวลานั้น และเหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญในเวลานี้? การยอมรับพระเยซูและรับบัพติสมาในนามของพระองค์หมายถึงการยอมรับบทบาทของพระองค์ที่มีต่อสายสัมพันธ์ของเรากับพระผู้สร้าง. พระเยซูต้องถูกตรึงบนเสาทรมานเพื่อจะทำให้ชาวยิวพ้นคำสาปแช่งในพระบัญญัติ; อย่างไรก็ตาม การสิ้นพระชนม์ของพระองค์มีประโยชน์มากกว่านั้น. (กลา. 3:13) พระองค์ทรงถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาไถ่ที่มนุษยชาติทั้งสิ้นจำเป็นต้องได้รับ. (เอเฟ. 2:15, 16; โกโล. 1:20; 1 โย. 2:1, 2) เพื่อจะทำอย่างนั้นให้สำเร็จได้ พระเยซูต้องทนรับความไม่ยุติธรรมและคำพูดหยาบช้า, ถูกตรึงบนเสาทรมาน, และสิ้นพระชนม์ในที่สุด. คุณรู้สึกขอบคุณการเสียสละของพระองค์มากขนาดไหน? ขอให้นึกภาพว่าคุณเป็นเด็กอายุ 12 ขวบที่กำลังเดินทางไปกับเรือไททานิก ที่ชนกับภูเขาน้ำแข็งและจมลงในปี 1912. คุณพยายามจะกระโดดลงเรือชูชีพ แต่ว่าเรือลำนั้นเต็มเสียแล้ว. แล้วก็มีชายคนหนึ่งในเรือชูชีพลำนั้นจูบลาภรรยาของเขา กระโดดกลับขึ้นมาบนดาดฟ้าเรือ และให้คุณลงไปอยู่ในเรือชูชีพแทน. คุณจะรู้สึกอย่างไร? คุณย่อมรู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาของเขาอย่างแน่นอน! คุณสามารถเข้าใจว่าเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ คงจะรู้สึกอย่างไร.b แต่พระเยซูทรงทำเพื่อคุณมากยิ่งกว่านั้นมาก. พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อให้คุณสามารถได้รับชีวิตที่ไม่สิ้นสุด.
11 คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าพระบุตรของพระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อคุณ? (อ่าน 2 โครินท์ 5:14, 15) คุณคงรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง. ความรู้สึกเช่นนั้นกระตุ้นคุณให้อุทิศชีวิตของคุณแด่พระเจ้าและ ‘ไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่อยู่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อคุณ.’ การรับบัพติสมาในนามของพระบุตรหมายถึงการยอมรับสิ่งที่พระเยซูได้ทำเพื่อคุณและยอมรับอำนาจของพระองค์ในฐานะ “ตัวแทนองค์เอก.” (กิจ. 3:15; 5:31) ก่อนหน้านั้น คุณไม่มีสายสัมพันธ์กับพระผู้สร้าง และที่จริงคุณไม่มีความหวังอย่างแท้จริง. แต่ด้วยการแสดงความเชื่อในพระโลหิตที่พระเยซูคริสต์ทรงหลั่งออกและรับบัพติสมา บัดนี้คุณมีสายสัมพันธ์กับพระบิดา. (เอเฟ. 2:12, 13) อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ท่านทั้งหลายเคยอยู่ห่างจากพระเจ้าและเป็นศัตรูกับพระองค์เพราะใจพวกท่านเคยคิดแต่การชั่ว แต่บัดนี้พระเจ้าทรงโปรดให้คืนดีกับพระองค์โดยให้ [พระเยซู] สิ้นพระชนม์ในกายมนุษย์เพื่อจะถวายพวกท่านเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอย่างผู้บริสุทธิ์ ปราศจากตำหนิ.”—โกโล. 1:21, 22
12, 13. (ก) การรับบัพติสมาในนามของพระบุตรควรมีผลกระทบต่อปฏิกิริยาของคุณอย่างไรถ้ามีใครทำให้คุณขุ่นเคือง? (ข) ในฐานะคริสเตียนที่รับบัพติสมาในนามของพระเยซู คุณมีพันธะที่จะทำอะไร?
12 แม้ว่าคุณรับบัพติสมาแล้วในนามของพระบุตร คุณรู้ดีว่าตัวคุณเองมีแนวโน้มที่ผิดบาป. การตระหนักอย่างนั้นเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเราในแต่ละวัน. ตัวอย่างเช่น ถ้าบางคนทำให้คุณขุ่นเคือง คุณตระหนักไหมว่าคุณทั้งสองเป็นคนผิดบาป? คุณทั้งคู่ต้องได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า และทั้งสองคนควรพร้อมจะให้อภัย. (มโก. 11:25) เพื่อเน้นให้เห็นความจำเป็นดังกล่าว พระเยซูทรงเล่าตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องหนึ่ง: นายคนหนึ่งยกหนี้ให้แก่ทาสเป็นจำนวนเงินหนึ่งหมื่นตะลันต์ (60 ล้านเดนาริอน). ต่อมา ทาสคนนั้นไม่ยอมยกหนี้ให้แก่เพื่อนทาสที่เป็นหนี้เขา 100 เดนาริอน. หลังจากนั้นพระเยซูก็แสดงจุดสำคัญที่ว่าพระยะโฮวาจะไม่ให้อภัยคนที่ไม่ให้อภัยพี่น้องของตน. (มัด. 18:23-35) ดังนั้น การรับบัพติสมาในนามของพระบุตรหมายถึงการยอมรับอำนาจของพระเยซูและพยายามทำตามแบบอย่างและคำสอนของพระองค์ ซึ่งก็รวมถึงการเต็มใจให้อภัยผู้อื่น.—1 เป. 2:21; 1 โย. 2:6
13 เนื่องจากเป็นคนไม่สมบูรณ์ คุณไม่สามารถเลียนแบบพระเยซูได้อย่างครบถ้วน. อย่างไรก็ตาม สอดคล้องกับการอุทิศตัวอย่างสุดหัวใจแด่พระเจ้า คุณต้องการจะเลียนแบบพระเยซูให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้. นี่หมายรวมถึงการพยายามละทิ้งบุคลิกภาพเก่าและสวมบุคลิกภาพใหม่ต่อ ๆ ไป. (อ่านเอเฟโซส์ 4:20-24) เมื่อคุณนับถือเพื่อนคนหนึ่ง คุณคงพยายามเรียนรู้จากตัวอย่างและคุณลักษณะที่ดีของเขา. ในทำนองเดียวกัน คุณต้องการจะเรียนรู้จากพระคริสต์และเลียนแบบพระองค์.
14. คุณจะแสดงได้โดยวิธีใดว่าคุณยอมรับอำนาจของพระเยซูในฐานะกษัตริย์ผู้อยู่ในสวรรค์?
14 มีอีกวิธีหนึ่งที่คุณสามารถแสดงว่าคุณเข้าใจว่าการรับบัพติสมาในนามของพระบุตรเกี่ยวข้องกับอะไร. พระเจ้า “ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้พระบาท [พระเยซู] ด้วย และทรงตั้งพระองค์เป็นประมุขเหนือทุกสิ่งเพื่อประโยชน์ของประชาคม.” (เอเฟ. 1:22) ด้วยเหตุนั้น คุณจำเป็นต้องแสดงความนับถือต่อวิธีที่พระเยซูทรงชี้นำคนเหล่านั้นที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. พระคริสต์ทรงใช้มนุษย์ไม่สมบูรณ์ให้ทำหน้าที่ในประชาคมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ ซึ่งก็คือผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง. การจัดเตรียมให้มีผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้งเช่นนั้นมีขึ้น “โดยมุ่งหมายจะปรับเหล่าผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่ . . . และทำให้พระกายของพระคริสต์เจริญขึ้น.” (เอเฟ. 4:11, 12) แม้แต่ถ้ามนุษย์ไม่สมบูรณ์เหล่านั้นทำผิดพลาด พระเยซูผู้เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรที่อยู่ในสวรรค์ทรงสามารถจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ตามเวลาและวิธีของพระองค์. คุณเชื่ออย่างนั้นไหม?
15. ถ้าคุณยังไม่รับบัพติสมา มีพระพรอะไรที่คุณคาดหมายได้ว่าจะได้รับหลังจากรับบัพติสมาแล้ว?
15 ดังที่กล่าวไปแล้ว บางคนยังไม่ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมา. ถ้าคุณยังไม่ได้ทำอย่างนั้น คุณเห็นจากการพิจารณาข้างต้นแล้วมิใช่หรือว่าการยอมรับพระบุตรเป็นเรื่องที่สมเหตุผลและแสดงให้เห็นว่าคุณรู้สึกขอบคุณ? การรับบัพติสมาในนามของพระบุตรจะทำให้คุณสามารถได้รับพระพรอันยิ่งใหญ่.—อ่านโยฮัน 10:9-11
ในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์
16, 17. การรับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายความเช่นไรสำหรับคุณ?
16 การรับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายถึงอะไร? ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น คนที่ฟังเปโตรในวันเพนเทคอสต์ตระหนักดีถึงการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์. ที่จริงแล้ว พวกเขาสามารถเห็นหลักฐานด้วยตาตัวเองว่าพระเจ้ายังคงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่. เปโตรเป็นคนหนึ่งที่ “เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และเริ่มพูดเป็นภาษาต่าง ๆ.” (กิจ. 2:4, 8) ข้อความที่ว่า “ในนามของ” ไม่จำเป็นต้องหมายถึงในนามของบุคคลคนหนึ่ง. ในทุกวันนี้ หลายสิ่งทำกัน “ในนามของรัฐบาล” ซึ่งไม่ใช่บุคคล. มีการทำสิ่งเหล่านั้นโดยอาศัยอำนาจของรัฐบาล. ในทำนองเดียวกัน คนที่รับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์รู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นพลังปฏิบัติการของพระยะโฮวา. และการรับบัพติสมาเช่นนั้นหมายถึงการที่คนเรายอมรับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า.
17 คุณเรียนรู้เรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์จากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมิใช่หรือ? ตัวอย่างเช่น คุณได้มาเข้าใจว่าพระคัมภีร์เขียนขึ้นโดยได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. (2 ติโม. 3:16) ขณะที่คุณทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ คุณคงมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ‘พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์’ ซึ่งก็รวมถึงคุณด้วย. (ลูกา 11:13) คุณคงเห็นได้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังดำเนินกิจในชีวิตของคุณ. ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณยังไม่ได้รับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คำรับรองของพระเยซูที่ว่าพระบิดาจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ย่อมหมายความว่ามีพระพรที่แท้จริงรอคุณอยู่เมื่อคุณได้รับพระวิญญาณนั้น.
18. มีพระพรอะไรสำหรับคนที่รับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์?
18 มีหลักฐานที่แสดงชัดด้วยว่าในทุกวันนี้พระยะโฮวาทรงชี้นำประชาคมคริสเตียนโดยทางพระวิญญาณของพระองค์. พระวิญญาณนี้ยังช่วยเราแต่ละคนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันด้วย. การที่เรารับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายรวมถึงการยอมรับบทบาทของพระวิญญาณในชีวิตของเราและให้ความร่วมมือกับพระวิญญาณนั้นด้วยความรู้สึกขอบคุณ. แต่บางคนอาจสงสัยว่าเราจะสามารถดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาได้อย่างไร และพระวิญญาณบริสุทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร. เราจะพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a คนที่มีแนวคิดแบบเทวัสนิยมเชื่อว่ามีพระเจ้า แต่คิดว่าพระองค์ไม่สนพระทัยในสิ่งทรงสร้างของพระองค์.
b ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 ตุลาคม 1981 หน้า 3-8.
คุณจำได้ไหม?
• การรับบัพติสมาในนามของพระบิดาหมายถึงอะไรสำหรับคุณ?
• การรับบัพติสมาในนามของพระบุตรหมายถึงอะไร?
• คุณจะแสดงให้เห็นได้โดยวิธีใดว่าคุณเข้าใจความสำคัญของการรับบัพติสมาในนามของพระบิดาและพระบุตร?
• การรับบัพติสมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายถึงอะไร?
[ภาพหน้า 10]
หลังจากวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 สาวกใหม่เข้ามามีสายสัมพันธ์เช่นไรกับพระบิดา?
[ที่มาของภาพ]
By permission of the Israel Museum Jerusalem