ผู้หญิงทั้งหลาย ทำไมคุณควรอ่อนน้อมต่อตำแหน่งประมุข?
“ผู้ชายเป็นประมุขของผู้หญิง.”—1 โค. 11:3
1, 2. (ก) อัครสาวกเปาโลเขียนไว้อย่างไรเกี่ยวกับการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องตำแหน่งประมุขและการอยู่ใต้อำนาจ? (ข) จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความนี้?
พระยะโฮวาทรงจัดลำดับไว้อย่างเป็นระเบียบดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงเมื่อท่านเขียนว่า “พระคริสต์ทรงเป็นประมุขของผู้ชายทุกคน” และ “พระเจ้าทรงเป็นประมุขของพระคริสต์.” (1 โค. 11:3) บทความที่แล้วชี้ว่าพระเยซูทรงยินดีและถือเป็นสิทธิพิเศษที่จะอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาพระเจ้าประมุขของพระองค์ และพระคริสต์ทรงเป็นประมุขของผู้ชายคริสเตียน. พระคริสต์ทรงกรุณา, สุภาพอ่อนโยน, เห็นอกเห็นใจ, และไม่เห็นแก่ตัวเมื่อทรงติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คน. ผู้ชายในประชาคมจำเป็นต้องปฏิบัติแบบนั้นต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภรรยาของตน.
2 แต่จะว่าอย่างไรสำหรับผู้หญิง? ใครเป็นประมุขของพวกเธอ? เปาโลเขียนว่า “ผู้ชายเป็นประมุขของผู้หญิง.” ผู้หญิงควรมีทัศนะอย่างไรต่อคำกล่าวนี้ซึ่งเขียนขึ้นโดยได้รับการดลใจ? หลักการนี้ยังคงใช้ได้ไหมในกรณีที่สามีไม่มีความเชื่อ? เพื่อจะอ่อนน้อมต่อตำแหน่งประมุขของผู้ชาย ภรรยาต้องเป็นเพียงหุ้นส่วนที่ไม่มีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตสมรสไหม? ผู้หญิงต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับคำสรรเสริญ?
“เราจะสร้างผู้ช่วยให้เขาคนหนึ่ง”
3, 4. เหตุใดการจัดเตรียมเกี่ยวกับตำแหน่งประมุขในชีวิตสมรสจึงเป็นประโยชน์?
3 การจัดเตรียมเกี่ยวกับตำแหน่งประมุขมาจากพระเจ้า. หลังจากสร้างอาดามแล้ว พระยะโฮวาพระเจ้าตรัสว่า “ถ้าจะให้มนุษย์อยู่คนเดียวต่อไปก็ไม่เหมาะ. เราจะสร้างผู้ช่วยให้เขาคนหนึ่ง ให้เป็นคู่ของเขา.” เมื่อพระเจ้าทรงสร้างฮาวา อาดามยินดีอย่างยิ่งที่มีคู่และผู้ช่วยจนถึงกับพูดออกมาว่า “นี่เป็นกระดูกจากกระดูกของเรา และเป็นเนื้อจากเนื้อของเรา.” (เย. 2:18-24, ล.ม.) อาดามและฮาวามีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะได้เป็นพ่อแม่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งสิ้นที่เป็นคนสมบูรณ์ซึ่งจะมีชีวิตตลอดไปอย่างมีความสุขในอุทยานทั่วทั้งโลก.
4 เนื่องจากบิดามารดาคู่แรกของเราขืนอำนาจ สภาพสมบูรณ์ในสวนเอเดนจึงสูญเสียไป. (อ่านโรม 5:12) แต่การจัดเตรียมเกี่ยวกับตำแหน่งประมุขยังคงมีผลบังคับใช้. เมื่อปฏิบัติตามอย่างเหมาะสม นั่นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขอย่างยิ่งในชีวิตสมรส. ผลที่ได้รับจะคล้ายกับที่พระเยซูทรงรู้สึกเกี่ยวกับการอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวา ประมุขของพระองค์. ก่อนจะมาเป็นมนุษย์ พระเยซู “ชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์ [พระยะโฮวา] ตลอดเวลา.” (สุภา. 8:30, ล.ม.) เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ ผู้ชายจึงไม่สามารถเป็นประมุขที่สมบูรณ์ได้อีกต่อไป และผู้หญิงก็ไม่สามารถอยู่ใต้อำนาจได้อย่างสมบูรณ์. แต่เมื่อสามีภรรยาพยายามเต็มที่ต่อ ๆ ไปเท่าที่จะทำได้ การจัดเตรียมนี้ย่อมจะก่อผลเป็นความอิ่มใจยินดีอย่างมากมายเท่าที่จะเป็นไปได้ในชีวิตสมรสเวลานี้.
5. เหตุใดคู่สมรสควรสนใจคำแนะนำในโรม 12:10?
5 สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จคือการที่คู่สมรสใช้คำแนะนำในพระคัมภีร์ที่ให้แก่คริสเตียนทุกคน ที่ว่า “จงมีความรักใคร่อันอบอุ่นต่อกันฉันพี่น้อง. จงนำหน้าในการให้เกียรติกัน.” (โรม 12:10) นอกจากนั้น ทั้งสามีและภรรยาควรพยายาม “กรุณาต่อกัน แสดงความเห็นใจกัน ให้อภัยกันอย่างใจกว้าง.”—เอเฟ. 4:32
เมื่อคู่สมรสไม่มีความเชื่อ
6, 7. อาจเกิดผลเช่นไรถ้าภรรยาคริสเตียนอ่อนน้อมต่ออำนาจของสามีที่ไม่มีความเชื่อ?
6 จะว่าอย่างไรถ้าคู่สมรสไม่ได้เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา? บ่อยครั้ง สามีเป็นฝ่ายที่ไม่มีความเชื่อ. ในกรณีนี้ ภรรยาควรปฏิบัติต่อเขาอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบว่า “ให้ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยายอมเชื่อฟังสามีของตน เพื่อว่าถ้าสามีคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ การประพฤติของภรรยาก็อาจชนะใจเขาโดยไม่ต้องเอ่ยปาก เนื่องจากเขาได้เห็นการประพฤติอันบริสุทธิ์พร้อมกับความนับถืออย่างสุดซึ้งของท่านทั้งหลาย.”—1 เป. 3:1, 2
7 พระคำของพระเจ้าบอกภรรยาให้รักษาทัศนคติในการอ่อนน้อมต่ออำนาจของสามีที่ไม่มีความเชื่อ. การประพฤติที่ดีของเธออาจส่งผลทำให้เขาพิจารณาว่าอะไรกระตุ้นให้เธอมีความประพฤติที่ดีอย่างนั้น. ผลก็คือ สามีอาจพิจารณาความเชื่อของภรรยาที่เป็นคริสเตียนและยอมรับความจริงในที่สุด.
8, 9. ภรรยาคริสเตียนสามารถทำอะไรได้ถ้าสามีที่ไม่มีความเชื่อไม่ตอบรับต่อการประพฤติที่ดีของเธอ?
8 แต่จะว่าอย่างไรถ้าสามีที่ไม่มีความเชื่อไม่ตอบรับต่อการประพฤติที่ดีของภรรยา? พระคัมภีร์สนับสนุนภรรยาที่มีความเชื่อให้แสดงคุณลักษณะแบบคริสเตียนตลอดเวลา ไม่ว่าการทำอย่างนี้อาจเป็นเรื่องยากสักเพียงไรก็ตาม. ตัวอย่างเช่น เราอ่านที่ 1 โครินท์ 13:4 ว่า “ความรักอดกลั้นไว้นาน.” ภรรยาที่เป็นคริสเตียนจึงควรประพฤติ “ด้วยความถ่อมใจและความอ่อนโยนอย่างยิ่ง ด้วยความอดกลั้นไว้นาน” ต่อ ๆ ไป และอดทนกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความรัก. (เอเฟ. 4:2) ด้วยความช่วยเหลือจากพลังปฏิบัติการของพระเจ้าหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ เราจึงสามารถรักษาคุณลักษณะแบบคริสเตียนแม้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก.
9 เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ผู้ทรงประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า.” (ฟิลิป. 4:13) พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยคู่สมรสคริสเตียนให้สามารถทำหลายสิ่งที่คงทำไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกคู่สมรสปฏิบัติอย่างโหดร้าย คริสเตียนอาจถูกล่อใจให้แก้เผ็ด. แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกคริสเตียนทุกคนว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. . . . เพราะมีคำเขียนไว้ดังนี้ ‘พระยะโฮวาตรัสว่า การแก้แค้นเป็นธุระของเรา เราจะตอบแทน.’ ” (โรม 12:17-19) คล้ายกัน 1 เทสซาโลนิเก 5:15 แนะนำเราว่า “ระวังอย่าให้ใครทำการชั่วตอบแทนการชั่วต่อผู้ใด แต่จงพยายามทำดีต่อกันและต่อคนทั้งปวงเสมอ.” เมื่อเราได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา เราสามารถทำสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ถ้าอาศัยกำลังของเราเอง. จึงเป็นเรื่องเหมาะสมสักเพียงไรที่เราจะอธิษฐานขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าประทานสิ่งที่เรายังขาดอยู่!
10. พระเยซูทรงปฏิบัติอย่างไรเมื่อคนอื่นพูดและทำไม่ดีต่อพระองค์?
10 พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่โดดเด่นในการปฏิบัติต่อคนที่พูดหรือทำไม่ดีต่อพระองค์. 1 เปโตร 2:23 กล่าวว่า “เมื่อพระองค์ถูกด่า พระองค์ไม่ได้ด่าตอบ. เมื่อพระองค์ทนทุกข์ทรมาน พระองค์ไม่ได้ขู่ แต่ทรงฝากพระองค์เองไว้กับพระเจ้าผู้ทรงพิพากษาด้วยความชอบธรรม.” เราถูกกระตุ้นให้ทำตามแบบอย่างที่ดีของพระองค์. อย่าให้การประพฤติที่ไม่ดีของคนอื่นทำให้เราโกรธ. ดังที่คริสเตียนทุกคนได้รับคำแนะนำ จงมี “ความเอ็นดูสงสาร ความถ่อมใจ ไม่ตอบโต้การร้ายด้วยการร้าย หรือตอบโต้การด่าด้วยการด่า.”—1 เป. 3:8, 9
เป็นเพียงหุ้นส่วนที่ไม่มีบทบาทหรือ?
11. ผู้หญิงคริสเตียนบางคนจะมีส่วนร่วมในสิทธิพิเศษอะไร?
11 การที่ผู้หญิงอ่อนน้อมต่อตำแหน่งประมุขของสามีหมายความไหมว่าเธอเป็นเพียงหุ้นส่วนที่ไม่มีบทบาทในครอบครัวหรือในเรื่องอื่น ๆ? ไม่เป็นเช่นนั้นเลย. พระยะโฮวาประทานสิทธิพิเศษมากมายให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง. ลองนึกถึงเกียรติอันใหญ่หลวงที่ชน 144,000 คนมีในฐานะที่เป็นกษัตริย์และปุโรหิตในสวรรค์ภายใต้การนำของพระคริสต์เมื่อพระองค์ทรงปกครองแผ่นดินโลกนี้! ในบรรดาคนเหล่านี้มีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย. (กลา. 3:26-29) เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาทรงโปรดให้ผู้หญิงมีบทบาทในการจัดเตรียมของพระองค์.
12, 13. มีตัวอย่างอะไรที่แสดงว่ามีผู้หญิงบางคนกล่าวคำพยากรณ์?
12 ตัวอย่างเช่น ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลมีผู้หญิงบางคนกล่าวคำพยากรณ์. โยเอล 2:28, 29 บอกล่วงหน้าว่า “เราจะหลั่งพระวิญญาณของเราลงมาบนมนุษย์ทั้งปวง; และบุตราบุตรีของเจ้าทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์, . . . ในคราวนั้นเราจะหลั่งพระวิญญาณของเรามาบนทาสาทาสี.”
13 ในบรรดาสาวกประมาณ 120 คนของพระเยซูซึ่งมารวมตัวกันที่ห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเลมในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง. พระวิญญาณของพระเจ้าได้หลั่งลงเหนือคนเหล่านี้ทั้งกลุ่ม. ด้วยเหตุนั้น เปโตรสามารถอ้างถึงถ้อยคำที่ผู้พยากรณ์โยเอลบอกไว้ล่วงหน้าและใช้คำพยากรณ์นี้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง. เปโตรกล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นไปตามคำที่ผู้พยากรณ์โยเอลกล่าวไว้ว่า ‘พระเจ้าตรัสว่า “ในสมัยสุดท้าย เราจะเทวิญญาณของเราลงบนคนทุกชนิด บุตรชายหญิงของเจ้าทั้งหลายจะพยากรณ์ . . . และในเวลานั้นเราจะเทวิญญาณของเราลงบนทาสชายหญิงของเราด้วย และพวกเขาจะพยากรณ์.”’ ”—กิจ. 2:16-18
14. ผู้หญิงมีบทบาทอะไรในการเผยแพร่ศาสนาคริสเตียนในยุคแรก?
14 ในศตวรรษแรก ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสเตียน. ผู้หญิงในสมัยนั้นประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่คนอื่น ๆ และทำหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานประกาศ. (ลูกา 8:1-3) ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงฟอยเบว่าเป็น “พี่น้องหญิงของเราซึ่งรับใช้อยู่ในประชาคมที่เมืองเค็นครีเอ.” และเมื่อฝากความคิดถึงไปยังเพื่อนร่วมความเชื่อ เปาโลกล่าวถึงพี่น้องหญิงที่ซื่อสัตย์หลายคน รวมทั้ง “ตริเฟนากับตริโฟซา พี่น้องหญิงที่ทำงานหนักเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า.” ท่านยังกล่าวถึง “เปอร์ซิสพี่น้องที่รักของเรา เพราะนางทำงานหนักในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า.”—โรม 16:1, 12
15. ผู้หญิงมีบทบาทอะไรในการเผยแพร่ศาสนาคริสเตียนในทุกวันนี้?
15 ทุกวันนี้ ในจำนวนเจ็ดล้านกว่าคนที่ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าตลอดทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่. (มัด. 24:14) หลายคนเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา, มิชชันนารี, และสมาชิกครอบครัวเบเธล. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “พระเจ้าทรงประทานพระวจนะ; สตรีที่ประกาศข่าวประเสริฐนั้นเป็นพวกใหญ่.” (เพลง. 68:11) ถ้อยคำนี้เป็นความจริง! พระยะโฮวาทรงเห็นค่างานที่ผู้หญิงทำในการประกาศข่าวดีและในการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. แน่นอน การที่พระองค์ประสงค์ให้ผู้หญิงคริสเตียนอยู่ใต้อำนาจนั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเธอไม่มีบทบาทใด ๆ.
ผู้หญิงสองคนที่ไม่นิ่งเฉย
16, 17. ตัวอย่างของซาราห์แสดงให้เห็นอย่างไรว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียงหุ้นส่วนที่ไม่มีบทบาทในชีวิตสมรส?
16 ในเมื่อพระยะโฮวาประทานสิทธิพิเศษมากมายแก่ผู้หญิง สามีน่าจะขอความเห็นจากภรรยาก่อนตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ มิใช่หรือ? นับว่าฉลาดสุขุมที่เขาจะทำอย่างนั้น. พระคัมภีร์กล่าวถึงหลายเหตุการณ์ที่ภรรยาพูดหรือทำอะไรบางอย่าง แม้ว่าสามีไม่ได้ขอให้เธอแสดงความเห็น. ขอพิจารณาสองตัวอย่าง.
17 ซาราห์ ภรรยาของปฐมบรรพบุรุษอับราฮามบอกอับราฮามหลายครั้งให้ไล่ภรรยาคนที่สองกับลูกชายของเธอไปเพราะทั้งสองคนขาดความนับถือ. “อับราฮามเสียใจมาก” แต่พระเจ้าไม่ทรงรู้สึกอย่างนั้น. พระยะโฮวาทรงบอกอับราฮามว่า “อย่าให้ใจของเจ้าเป็นทุกข์ร้อนด้วยเด็กและหญิงทาสีของเจ้านั้นเลย. จงเชื่อฟังถ้อยคำทั้งหมดที่นางซาราได้พูดกับเจ้าเถิด.” (เย. 21:8-12) อับราฮามเชื่อฟังพระยะโฮวา ท่านรับฟังซาราห์และทำตามที่เธอขอร้อง.
18. อะบีฆายิลริเริ่มทำอะไร?
18 ขอให้นึกถึงตัวอย่างของอะบีฆายิลภรรยาของนาบาลด้วย. ในช่วงที่หนีกษัตริย์ซาอูลที่มีใจอิจฉาริษยา ดาวิดได้ตั้งค่ายอยู่ใกล้ ๆ กับฝูงแกะของนาบาลชั่วระยะหนึ่ง. แทนที่จะแย่งชิงทรัพย์สมบัติมากมายของชายที่มั่งคั่งผู้นี้ ดาวิดและคนของท่านช่วยปกป้องดูแลทรัพย์สมบัติของเขา. อย่างไรก็ตาม นาบาล “เป็นคนเลวทราม” และเขา “ดุ” คนของดาวิด. เขา “เป็นคนพาล” และ “ความโฉดเขลาอยู่ที่เขา.” เมื่อคนของดาวิดขออาหารด้วยกิริยาท่าทีที่แสดงความนับถือ นาบาลไม่ยอมให้. อะบีฆายิลแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเธอได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้น? โดยที่ไม่ได้บอกนาบาล เธอ “รีบจัดแจงขนมสองร้อยก้อน, น้ำองุ่นสองขวดหนัง, แกะห้าตัว, เตรียมไว้พร้อม, ข้าวคั่วห้าถัง, ลูกองุ่นร้อยพวง, และขนมมะเดื่อเทศสองร้อยแผ่น” แล้วก็นำไปให้ดาวิดกับคนของท่าน. สิ่งที่อะบีฆายิลทำนั้นถูกต้องไหม? เราเห็นว่าเป็นอย่างนั้น เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระยะโฮวาทรงลงโทษนาบาลจนถึงแก่ชีวิต.” ในเวลาต่อมา ดาวิดได้แต่งงานกับอะบีฆายิล.—1 ซามู. 25:3, 14-19, 23-25, 38-42
‘สตรีที่ได้รับคำชมเชย’
19, 20. อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงสมควรได้รับคำสรรเสริญอย่างแท้จริง?
19 พระคัมภีร์ชมเชยภรรยาที่ทำตามแนวทางของพระยะโฮวา. หนังสือสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลยกย่อง “ภรรยาที่ดี” โดยกล่าวว่า “เธอประเสริฐยิ่งกว่าทับทิมมากนัก จิตใจของสามีเธอก็วางใจในเธอ และสามีจะไม่ขาดกำไร เธอทำความดีให้เขาไม่ทำความร้ายตลอดชีวิตของเธอ.” นอกจากนั้น “เธออ้าปากกล่าวด้วยสติปัญญาและคำสอนเจือความเอ็นดูอยู่ที่ลิ้นของเธอ เธอดูแลการงานในครัวเรือนของเธอและไม่ชุบมือเปิบ ลูก ๆ ของเธอตื่นขึ้นมาก็ชมเชยเธอ สามีของเธอก็สรรเสริญเธอ.”—สุภา. 31:10-12, 26-28, ฉบับ R73
20 อะไรทำให้ผู้หญิงสมควรจะได้รับคำสรรเสริญอย่างแท้จริง? สุภาษิต 31:30 กล่าวว่า “ท่าทางนวยนาดเป็นของลวง, และความสวยงามเป็นของไม่เที่ยง; แต่สตรีที่ยำเกรงพระยะโฮวานั้นจะรับคำชมเชย.” สิ่งหนึ่งที่รวมอยู่ด้วยในความยำเกรงพระยะโฮวาก็คือการที่สตรีจำเป็นจะต้องเต็มใจอ่อนน้อมต่อการจัดเตรียมของพระเจ้าเกี่ยวกับตำแหน่งประมุข. “ผู้ชายเป็นประมุขของผู้หญิง” เช่นเดียวกับที่ “พระคริสต์ทรงเป็นประมุขของผู้ชายทุกคน” และ “พระเจ้าทรงเป็นประมุขของพระคริสต์.”—1 โค. 11:3
จงแสดงความขอบคุณสำหรับของประทานจากพระเจ้า
21, 22. (ก) คริสเตียนที่แต่งงานแล้วมีเหตุผลอะไรที่จะขอบคุณสำหรับการสมรสซึ่งเป็นของประทานที่ได้รับจากพระเจ้า? (ข) เหตุใดเราควรแสดงความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องอำนาจและตำแหน่งประมุข? (โปรดดูกรอบในหน้า 17.)
21 คริสเตียนที่สมรสแล้วมีเหตุผลมากมายที่จะแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้า! พวกเขาสามารถเดินเคียงคู่กันในฐานะคู่สมรสที่มีความสุข. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาสามารถขอบคุณสำหรับการสมรสซึ่งเป็นพระพรและเป็นของประทานจากพระเจ้า เพราะของประทานนี้ทำให้พวกเขามีโอกาสได้ใช้ชีวิตด้วยกันอย่างกลมเกลียวและดำเนินกับพระยะโฮวา. (รูธ. 1:9; มีคา 6:8) พระองค์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งการสมรสทรงทราบดีว่าต้องทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิตสมรส. จงทำทุกสิ่งตามแนวทางของพระองค์เสมอ แล้ว ‘ความยินดีในพระยะโฮวาจะเป็นป้อมของคุณ’ แม้ว่าอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากในทุกวันนี้.—นเฮม. 8:10
22 สามีคริสเตียนที่รักภรรยาเหมือนรักตัวเองจะใช้ตำแหน่งประมุขอย่างอ่อนโยนและคำนึงถึงความรู้สึกของภรรยา. ภรรยาที่เลื่อมใสพระเจ้าจะเป็นคนที่น่ารักอย่างแท้จริง เพราะเธอพร้อมจะสนับสนุนและแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามี. สำคัญที่สุดคือ ชีวิตสมรสที่เป็นแบบอย่างที่ดีของพวกเขาจะเป็นการแสดงความนับถือต่อพระยะโฮวา พระเจ้าที่เราควรยกย่องสรรเสริญ.
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมไว้อย่างไรในเรื่องตำแหน่งประมุขและการอยู่ใต้อำนาจ?
• เหตุใดคู่สมรสควรให้เกียรติกัน?
• ภรรยาผู้มีความเชื่อควรปฏิบัติต่อสามีที่ไม่มีความเชื่ออย่างไร?
• เหตุใดสามีควรขอความเห็นจากภรรยาก่อนจะตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ?
[กรอบหน้า 17]
เหตุใดจึงควรนับถือผู้มีอำนาจ?
พระยะโฮวาทรงจัดตั้งผู้มีอำนาจและตำแหน่งประมุขไว้ท่ามกลางสิ่งทรงสร้างที่มีเชาวน์ปัญญา. พระองค์ทรงจัดเตรียมอย่างนี้เพื่อผลประโยชน์ของสิ่งทรงสร้างที่เป็นกายวิญญาณและมนุษย์. การจัดเตรียมนี้ทำให้พวกเขามีโอกาสใช้เจตจำนงเสรีและทำให้พระเจ้าได้รับเกียรติด้วยการรับใช้พระองค์อย่างสอดคล้องลงรอยกันและเป็นหนึ่งเดียว.—เพลง. 133:1
ประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมยอมรับอำนาจและตำแหน่งประมุขของพระเยซูคริสต์. (เอเฟ. 1:22, 23) ด้วยการยอมรับอำนาจของพระยะโฮวา ในที่สุด “พระบุตรเองก็จะยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจพระองค์ เพื่อว่าพระเจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งแก่ทุกคน.” (1 โค. 15:27, 28) ช่างเหมาะสมสักเพียงไรที่ผู้อุทิศตัวแด่พระเจ้าจะร่วมมือกับการจัดเตรียมในเรื่องตำแหน่งประมุขภายในประชาคมและในครอบครัว! (1 โค. 11:3; ฮีบรู 13:17) โดยทำอย่างนั้น เราเองได้รับประโยชน์ในฐานะผู้ที่ได้รับความพอพระทัยและได้รับพระพรจากพระยะโฮวา.—ยซา. 48:17
[ภาพหน้า 13]
การอธิษฐานสามารถช่วยภรรยาคริสเตียนให้แสดงคุณลักษณะแบบพระเจ้า
[ภาพหน้า 15]
พระยะโฮวาทรงเห็นค่าสิ่งที่ผู้หญิงทำในการส่งเสริมผลประโยชน์ของราชอาณาจักร