เจ็ดขั้นตอนเพื่อได้ประโยชน์จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิล
“คัมภีร์ไบเบิลไม่เพียงเป็นหนังสือขายดีตลอดกาล แต่เป็นหนังสือขายดีประจำปีของทุก ๆ ปี.”—วารสารไทม์
“บางครั้งผมก็อ่านคัมภีร์ไบเบิล แต่ผมรู้สึกว่ามันน่าเบื่อมาก ๆ.” —คีท นักดนตรีชื่อดังจากอังกฤษ
เป็นเรื่องน่าแปลกที่หลายคนมีคัมภีร์ไบเบิลแต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือนี้. แต่ก็มีหลายคนที่ชอบเรื่องที่เขาอ่านจากคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ. ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อแนนซีบอกว่า “ตั้งแต่ฉันเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุก ๆ เช้าและตรึกตรองเรื่องที่อ่าน ฉันก็รู้สึกว่าพร้อมจะเผชิญกับปัญหาทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นในวันนั้น. การทำอย่างนี้ช่วยฉันให้รับมือกับอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวได้ดีกว่าวิธีอื่น ๆ ที่ฉันเคยลองทำมาตลอด 35 ปี.”
แม้ว่าคุณไม่เคยอ่านคัมภีร์ไบเบิล แต่คุณอยากรู้ไหมว่าทำไมบางคนพบว่าคัมภีร์ไบเบิลช่วยเขาได้? ถ้าคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำอยู่แล้ว คุณอยากได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือนี้มากขึ้นไหม? ถ้าอย่างนั้น ลองทำตามเจ็ดขั้นตอนต่อไปนี้ดูสิ.
ขั้นตอนที่ 1—มีแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง
▪ คุณอาจอ่านคัมภีร์ไบเบิลเพราะชอบภาษาที่ไพเราะ หรือเพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของคริสเตียน หรือเพราะคุณคิดว่าจะได้คำแนะนำดี ๆ เพื่อจะดำเนินชีวิตในโลกที่ยุ่งยากนี้. แต่คุณจะได้ประโยชน์มากที่สุดถ้าคุณอ่านเพราะอยากจะรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า. นอกจากนั้น คุณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมถ้าคุณอ่านเพราะอยากรู้ว่าข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลจะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อชีวิตคุณ.
พระคัมภีร์แสดงว่าการอ่านโดยมีแรงกระตุ้นที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญโดยเปรียบคัมภีร์ไบเบิลกับกระจกดังนี้: “ถ้าผู้ใดเป็นผู้ฟังพระคำแล้วไม่ทำตาม ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่มองหน้าตัวเองในกระจก. เพราะเขามองตัวเองแล้วก็ไปและลืมทันทีว่าเขาเป็นอย่างไร. แต่ผู้ที่พินิจพิจารณากฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพและยึดมั่นกับกฎหมายนั้น เขาจะมีความสุขที่ทำเช่นนั้น เพราะเขาไม่เป็นผู้ฟังที่หลงลืม แต่เป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ.”—ยาโกโบ 1:23-25
คนที่กล่าวถึงในข้อคัมภีร์นี้มองหน้าตัวเองในกระจกแล้วพบจุดที่บกพร่องแต่ไม่ได้ทำอะไร. บางทีเขาอาจเพียงแค่มองตัวเองลวก ๆ หรืออาจเป็นเพราะเขาไม่ค่อยสนใจจะแก้ไขจุดบกพร่องนั้น. ในทำนองเดียวกัน เราจะได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยถ้าเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลอย่างสะเปะสะปะหรือไม่สนใจจะนำสิ่งที่ได้อ่านมาใช้. ตรงกันข้าม เราจะมีความสุขอย่างแท้จริงถ้าเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียดและมีแบบแผนด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “ผู้ปฏิบัติตาม” และเปลี่ยนแปลงแก้ไขความคิดและการกระทำของเราให้สอดคล้องกับความคิดของพระเจ้า.
ขั้นตอนที่ 2—เลือกฉบับที่เชื่อถือได้
▪ ในภาษาของคุณอาจมีคัมภีร์ไบเบิลให้เลือกอ่านได้หลายฉบับ. จริงอยู่ พระคำของพระเจ้าไม่ว่าฉบับใดก็เป็นประโยชน์ แต่บางฉบับก็ใช้ภาษาโบราณหรือใช้ศัพท์สูง ๆ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป. (กิจการ 4:13) บางฉบับถึงกับเปลี่ยนข่าวสารที่บริสุทธิ์ในคัมภีร์ไบเบิลให้สอดคล้องกับธรรมเนียมที่ปฏิบัติกัน. ตัวอย่างเช่น ดังที่เราสังเกตจากบทความแรกของวารสารฉบับนี้ คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับได้ตัดพระนามยะโฮวาของพระเจ้าออกไปแล้วแทนที่ด้วยตำแหน่งต่าง ๆ เช่น “พระเจ้า” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า.” ดังนั้น เมื่อเลือกคัมภีร์ไบเบิลที่จะอ่านก็ให้เลือกฉบับที่แปลอย่างถูกต้องและใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายซึ่งจะทำให้คุณอยากอ่านต่อ ๆ ไป.
ผู้อ่านหลายล้านคนทั่วโลกเห็นว่าพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ เป็นเช่นนั้น.a ขอพิจารณาตัวอย่างของชายสูงอายุคนหนึ่งในบัลแกเรีย. เขาได้เข้าร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวาและได้รับพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ เล่มหนึ่ง. หลังจากนั้นเขากล่าวว่า “ผมอ่านคัมภีร์ไบเบิลมาหลายปี แต่ผมไม่เคยอ่านฉบับไหนที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงหัวใจมากเท่านี้.”
ขั้นตอนที่ 3—อธิษฐาน
▪ คุณสามารถเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นได้โดยขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล ดังที่ผู้เขียนเพลงสรรเสริญกล่าวไว้ว่า “ขอทรงเปิดตาของข้าพเจ้า, เพื่อให้แลเห็นความประเสริฐลึกซึ้งในพระบัญญัติของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:18) ทุกครั้งที่คุณอ่านพระคัมภีร์ จงทูลขอพระเจ้าช่วยคุณให้เข้าใจพระคำของพระองค์. นอกจากนี้ คุณยังอาจขอบคุณพระองค์ที่ประทานคัมภีร์ไบเบิลให้เรา เพราะถ้าไม่มีคัมภีร์ไบเบิลเราก็จะไม่รู้จักพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 119:62
พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือเช่นนั้นไหม? ขอพิจารณาเรื่องของเด็กสาวสองคนในอุรุกวัยที่เป็นพี่น้องกัน. พวกเธอไม่เข้าใจข้อความในดานิเอล 2:44 ที่กำลังอ่านอยู่ จึงอธิษฐานขอพระเจ้าให้ส่งคนมาช่วยอธิบายให้เข้าใจ. ขณะที่ยังคุยกันเกี่ยวกับข้อคัมภีร์นั้น พยานพระยะโฮวาสองคนก็มาที่บ้านและอ่านข้อคัมภีร์เดียวกับที่พวกเธอเพิ่งอธิษฐานไปนั้น แล้วพวกเขาก็อธิบายว่าข้อนั้นหมายความว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะเข้ามาแทนที่รัฐบาลของมนุษย์.b เด็กสาวทั้งสองมั่นใจว่าพระเจ้าได้ตอบคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือของพวกเธอ.
ขั้นตอนที่ 4—อ่านทุกวัน
▪ หลายคนอ่านพระคำของพระเจ้าเฉพาะเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น. ตัวอย่างเช่น หลังจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งกล่าวว่า “จู่ ๆ คัมภีร์ไบเบิลก็ขายดีขึ้นมา.” อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้อ่านพระคัมภีร์ทุกวันโดยกล่าวว่า “หนังสือกฎหมายนี้อย่าให้ขาดจากปากของเจ้า; แต่เจ้าจงตรึกตรองในข้อกฎหมายนั้นทั้งวันและคืน, เพื่อเจ้าจะได้รักษาประพฤติตามสรรพสิ่งจารึกไว้ในกฎหมายนั้น; แล้วทางที่เจ้าดำเนินไปนั้นจะมีความเจริญ, ถึงกับสำเร็จประโยชน์.”—ยะโฮซูอะ 1:8
เพื่อจะเข้าใจว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันเป็นประโยชน์อย่างไร ขอให้นึกถึงชายคนหนึ่งที่เคยมีอาการหัวใจวาย แล้วเขาก็ตัดสินใจว่าจะกินแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น. ถ้าเขาทำอย่างนี้เฉพาะเมื่อเขามีอาการเจ็บแน่นที่หน้าอกจะมีประโยชน์อะไรไหม? ไม่อย่างแน่นอน. เพื่อจะได้ประโยชน์เต็มที่เขาต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นประจำทุกวัน. คล้ายกัน การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน จะช่วยคุณให้ “มีความเจริญ.”
ขั้นตอนที่ 5—หาวิธีที่หลากหลาย
▪ การอ่านคัมภีร์ไบเบิลไล่ไปตั้งแต่ต้นจนจบก็อาจเป็นวิธีที่ดี แต่ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยคุณให้ได้ประโยชน์จากคัมภีร์ไบเบิลด้วย เช่นตัวอย่างต่อไปนี้.
อ่านทุกเรื่องเกี่ยวกับบุคคลหนึ่ง. อ่านทุกที่ในคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้นมัสการพระเจ้า เช่น
• โยเซฟ: เยเนซิศ 37-50
• รูธ: ประวัตินางรูธ 1-3
• พระเยซู: มัดธาย 1-28; มาระโก 1-16; ลูกา 1-24; โยฮัน 1-21c
เจาะลึกทีละเรื่อง. อ่านข้อคัมภีร์ที่เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ. ตัวอย่างเช่น ลองค้นคว้าเรื่องการอธิษฐานแล้วอ่านคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเรื่องนั้นรวมทั้งคำอธิษฐานของหลายคนที่บันทึกในพระคัมภีร์.d
อ่านออกเสียง. คุณจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลถ้าคุณอ่านออกเสียง. (วิวรณ์ 1:3) คุณอาจอ่านออกเสียงด้วยกันเป็นครอบครัว โดยผลัดกันอ่านคนละย่อหน้าหรือให้สมาชิกแต่ละคนให้เสียงเป็นบุคคลต่าง ๆ ในพระคัมภีร์. บางคนชอบฟังบันทึกเสียงการอ่านคัมภีร์ไบเบิล. หญิงสาวคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันรู้สึกว่ายากที่จะเริ่มอ่านพระคัมภีร์ ฉันจึงเริ่มด้วยการฟังบันทึกเสียงการอ่านคัมภีร์ไบเบิล. ตอนนี้ฉันรู้สึกว่าคัมภีร์ไบเบิลสนุกกว่านวนิยายดี ๆ เสียอีก.”
ขั้นตอนที่ 6—ตรึกตรองเรื่องที่อ่าน
▪ ชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบและมีธุระยุ่งทำให้เราไม่มีโอกาสได้ตรึกตรองเรื่องใด ๆ. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับที่ร่างกายของเราต้องย่อยอาหารที่เรากินไปเพื่อจะได้ประโยชน์จากอาหารนั้น เราก็ต้องตรึกตรองเรื่องที่เราอ่านจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะได้ประโยชน์เช่นกัน. เราทำอย่างนี้ได้โดยคิดทบทวนเรื่องที่เราอ่านและถามตัวเองว่า ‘ฉันได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา? ฉันจะนำเรื่องนั้นมาใช้กับตัวเองอย่างไร? ฉันจะนำเรื่องนั้นไปช่วยคนอื่นอย่างไร?’
การคิดอย่างนี้ทำให้ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายสำหรับเราและเราจะเพลิดเพลินกับการอ่านพระคำของพระเจ้ามากขึ้น. บทเพลงสรรเสริญ 119:97 (ล.ม.) กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเพียงใด! ข้าพเจ้าคำนึงถึงตลอดวัน.” ผู้เขียนเพลงสรรเสริญคำนึงถึงหรือตรึกตรองพระคัมภีร์ตลอดวัน. การทำเช่นนั้นช่วยท่านให้มีความรักอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้.
ขั้นตอนที่ 7—ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
▪ พระเจ้าไม่คาดหมายว่าเราจะเข้าใจทุกเรื่องในพระคำของพระองค์ด้วยตัวเราเอง. คัมภีร์ไบเบิลก็ยังยอมรับว่าในพระคัมภีร์ “มีบางเรื่องที่เข้าใจยาก.” (2 เปโตร 3:16) หนังสือกิจการพูดถึงข้าราชสำนักชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งซึ่งไม่เข้าใจเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลที่เขาอ่าน. พระเจ้าได้ส่งผู้รับใช้ของพระองค์ไปช่วยเขา ผลก็คือชายชาวเอธิโอเปียคนนี้ “เดินทางต่อไปด้วยความยินดี.”—กิจการ 8:26-39
คุณก็สามารถได้ประโยชน์มากขึ้นจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วย ถ้ามีคนช่วยอธิบายให้คุณเข้าใจ. เชิญติดต่อพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นหรือเขียนไปตามที่อยู่ในหน้า 4 เพื่อขอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่บ้านฟรี.
[เชิงอรรถ]
a พระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ทั้งเล่มหรือบางส่วนซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา มีในภาษาต่าง ๆ 83 ภาษาและมีให้อ่านได้ทางอินเทอร์เน็ตใน 17 ภาษาที่ www.watchtower.org.
b สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและสิ่งที่ราชอาณาจักรนี้จะทำ โปรดดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? บท 8 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
c ถ้าคุณเพิ่งเริ่มอ่านคัมภีร์ไบเบิล ลองเริ่มจากการอ่านหนังสือมาระโกซึ่งพูดถึงการประกาศสั่งสอนของพระเยซูอย่างรวบรัด.
d หนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? ได้ช่วยหลายคนให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแบบเจาะลึกทีละเรื่อง. ตัวอย่างเช่น ในบท 17 มีการอธิบายว่าพระคัมภีร์กล่าวอย่างไรในเรื่องการอธิษฐาน.