ผู้จัดพิมพ์ในยุคแรกส่งเสริมการอ่านคัมภีร์ไบเบิล
หนังสือและม้วนหนังสือที่เขียนด้วยมือมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานหลายพันปี. แต่ประวัติของหนังสือที่พิมพ์ขึ้นไม่เก่าแก่ขนาดนั้น. กล่าวกันว่ามีการพิมพ์หนังสือขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนในปีสากลศักราช 868 โดยใช้บล็อกพิมพ์ตัวอักษรที่แกะจากไม้. ประมาณปี 1455 ที่เยอรมนี โยฮันเนส กูเทนแบร์กได้คิดค้นวิธีการพิมพ์แบบที่ใช้ตัวพิมพ์โลหะมาเรียงกันและได้ผลิตคัมภีร์ไบเบิลภาษาละตินฉบับแรกโดยใช้วิธีนี้.
ไม่กี่ปีต่อมาเมื่อการพิมพ์หนังสือกลายเป็นอุตสาหกรรมก็ได้มีการจำหน่ายคัมภีร์ไบเบิลและหนังสืออื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก. เมืองนือเรมแบร์กกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งหนึ่งในเยอรมนี และอันโทน โคเบอร์เกอร์ ชาวเมืองนือเรมแบร์กอาจเป็นช่างพิมพ์และผู้จัดพิมพ์คนแรกที่พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลเป็นจำนวนมากและส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ.
ผู้คนทุกวัฒนธรรมต่างเป็นหนี้บุญคุณผู้จัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลในยุคแรกซึ่งรวมถึงอันโทน โคเบอร์เกอร์. ดังนั้น ให้เรามารู้จักโคเบอร์เกอร์และงานของเขาให้มากขึ้น.
“ความใส่ใจในคัมภีร์ไบเบิล”
โคเบอร์เกอร์ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกของเมืองนือเรมแบร์กขึ้นในปี 1470. ในช่วงที่กิจการรุ่งเรืองที่สุด บริษัทของเขาได้เปิดใช้เครื่องพิมพ์ 24 เครื่องพร้อม ๆ กัน โดยจ้างช่างพิมพ์, ช่างศิลป์, และคนงานอื่น ๆ รวม 100 คนในบาเซิล, สตราสบูร์ก, ลียง, และเมืองอื่น ๆ ในยุโรป. โคเบอร์เกอร์พิมพ์หนังสือภาษาละตินของยุคกลางและเป็นผู้พิมพ์หนังสือทางวิทยาศาสตร์รายใหญ่ในสมัยนั้น. ตลอดเวลาที่ทำอาชีพนี้ เขาได้พิมพ์งานเขียนต่าง ๆ 236 ชิ้น. บางชิ้นมีหลายร้อยหน้า และแต่ละหน้าพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ที่ควบคุมด้วยมือ.
เนื่องจากแบบตัวพิมพ์ของโคเบอร์เกอร์มีคุณภาพดี หนังสือของเขาจึงขึ้นชื่อในเรื่องความสวยงามและอ่านง่าย. นักประวัติศาสตร์อัลเฟรด เบอร์เคิล เขียนว่า “โคเบอร์เกอร์จะใช้แต่ตัวพิมพ์ที่ทำขึ้นใหม่และมีขอบคมชัดเสมอ. เขาไม่ยอมให้ใช้แม่พิมพ์ตัวอักษรที่สึกแล้ว.” นอกจากนี้ หนังสือและคัมภีร์ไบเบิลของโคเบอร์เกอร์หลายเล่มยังมีภาพประกอบซึ่งพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ที่ประณีตสวยงาม.
ออสคาร์ ฮาเซผู้เขียนชีวประวัติของโคเบอร์เกอร์ได้เขียนว่า ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดงานอาชีพของเขา “สิ่งที่เห็นได้ตลอดคือความใส่ใจในคัมภีร์ไบเบิล.” โคเบอร์เกอร์และเพื่อนร่วมงานของเขาพยายามอย่างมากเพื่อจะหาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลที่ถูกต้องที่สุดเท่าที่หาได้ในเวลานั้น. นั่นคงไม่ใช่งานง่ายเพราะสำเนาพระคัมภีร์หลายฉบับเป็นสมบัติล้ำค่าที่อารามต่าง ๆ หวงแหนยิ่งนักและหากจะอนุญาตให้ยืมมาทำสำเนาได้ก็เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น.
คัมภีร์ไบเบิลภาษาละตินและเยอรมัน
โคเบอร์เกอร์ได้พิมพ์บิบลิอา ลาตินา (คัมภีร์ไบเบิลภาษาละติน) ถึง 15 รอบ โดยพิมพ์ครั้งแรกในปี 1475. บางรอบมีภาพเรือโนอาห์, บัญญัติสิบประการ, และวิหารของโซโลมอนด้วย. ในปี 1483 โคเบอร์เกอร์ได้พิมพ์บิบลิอา เกอร์มานิคา (คัมภีร์ไบเบิลภาษาเยอรมัน) โดยพิมพ์ครั้งละประมาณ 1,500 เล่ม ซึ่งในสมัยนั้นนับว่ามากทีเดียว. คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้มีภาพประกอบที่พิมพ์ด้วยบล็อกไม้มากกว่า 100 ภาพซึ่งกระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน, ทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ชัดเจนขึ้น, และช่วยให้คนที่อ่านหนังสือไม่ออกนึกถึงเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่พวกเขาคุ้นเคย. ภาพประกอบในคัมภีร์ไบเบิลเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนภาพประกอบคัมภีร์ไบเบิลในยุคต่อ ๆ มา โดยเฉพาะสำหรับคัมภีร์ไบเบิลภาษาเยอรมัน.
คัมภีร์ไบเบิลภาษาเยอรมันของโคเบอร์เกอร์ที่พิมพ์ในปี 1483 ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่กลายเป็นว่านี่เป็นคัมภีร์ไบเบิลภาษาเยอรมันฉบับเดียวที่โคเบอร์เกอร์มีโอกาสได้พิมพ์. ถึงแม้บรรดาบรรณาธิการของเขาจะพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อความอย่างระมัดระวังแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับฉบับวัลเกต ภาษาละตินซึ่งคริสตจักรอนุญาตให้ใช้ แต่พระคัมภีร์ที่โคเบอร์เกอร์ใช้เป็นหลักในการทำคัมภีร์ไบเบิลภาษาเยอรมันฉบับนี้คือฉบับแปลวัลเดนส์จากศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นฉบับหนึ่งที่คริสตจักรไม่อนุญาตให้ใช้.a ในปีถัดมา โปปอินโนเซนต์ที่ 8 ได้สั่งให้ทำลายชุมชนทั้งหลายของชาววัลเดนส์. ตั้งแต่นั้นมา คริสตจักรก็ต่อต้านคัมภีร์ไบเบิลภาษาท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ. วันที่ 22 มีนาคม 1485 อาร์ชบิชอปเบอร์โทลด์แห่งไมนซ์ในเยอรมนีได้ออกกฤษฎีกาประณามการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเยอรมัน. วันที่ 4 มกราคมปีถัดมา เบอร์โทลด์ก็ประกาศใช้กฤษฎีกานั้นซ้ำอีกครั้ง. เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายเช่นนี้ โคเบอร์เกอร์จึงไม่กล้าพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลภาษาเยอรมันอีกเลย.
อย่างไรก็ตาม งานหนักที่อันโทน โคเบอร์เกอร์ทำนั้นไม่ไร้ประโยชน์. เขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้ศิลปะการพิมพ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ซึ่งช่วยให้ผู้คนในยุโรปสามารถหาซื้อหนังสือหลายชนิดได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง. งานของโคเบอร์เกอร์จึงช่วยให้สามัญชนมีโอกาสได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล.
[เชิงอรรถ]
a ดูบทความ “พวกวัลเดนส์จากลัทธินอกรีตมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์” ในหอสังเกตการณ์ 15 มีนาคม 2002.
[ภาพหน้า 26]
จากซ้ายไปขวา: ภาพพิมพ์แกะไม้เรื่องดานิเอลในถ้ำสิงโต; ตัวอักษรใหญ่ต้นบทที่ปิดด้วยแผ่นทองคำ; แบบตัวพิมพ์ที่คมชัดมาก
[ภาพหน้า 26]
โคเบอร์เกอร์
[ภาพหน้า 26]
ตัวอย่างลวดลายตกแต่งที่สวยงามและหน้าที่มีเยเนซิศ 1:1 ในคัมภีร์ไบเบิลภาษาละตินและเยอรมันที่โคเบอร์เกอร์พิมพ์
[ที่มาของภาพหน้า 26]
All Bible photos: Courtesy American Bible Society Library; Koberger: Mit freundlicher Genehmigung der Linotype GmbH