ผมเคยกลัวความตาย แต่ตอนนี้ผมคอยท่าชีวิตที่ “บริบูรณ์”
เล่าโดย ปิเอโร กัตตี
เสียงล้อรถหนัก ๆ ค่อย ๆ ดังขึ้น ๆ. แล้วเสียงโหยหวนของสัญญาณเตือนภัยก็ตามมา เตือนผู้คนให้หาที่หลบภัย. จากนั้นก็มีเสียงอันน่ากลัวของลูกระเบิด การทำลายล้าง และเสียงดังสนั่นแสบแก้วหูซึ่งทำให้ผู้คนตื่นตระหนก.
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมืองมิลานประเทศอิตาลีในปี 1943 และ 1944. ในฐานะทหารหนุ่มที่ประจำการอยู่ที่นั่น ผมมักได้รับคำสั่งให้ไปเก็บซากศพที่ถูกฝังอยู่ในหลุมหลบภัยที่โดนระเบิดซึ่งผู้คนถูกกักอยู่ในนั้น ร่างกายถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ จนจำไม่ได้. และไม่ใช่การเสียชีวิตของคนอื่น ๆ เท่านั้นที่ผมเห็นต่อหน้าต่อตา. บางครั้งตัวผมเองก็เฉียดตายอย่างหวุดหวิด. เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นผมก็จะอธิษฐาน สัญญากับพระเจ้าว่าถ้าผมรอดตายจากการทำลายล้าง ผมจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์.
ขจัดความกลัวตาย
ผมเติบโตมาในหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากเมืองโกโมประเทศอิตาลีราว ๆ สิบกิโลเมตร ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศสวิตเซอร์แลนด์. ผมเผชิญความทุกข์โศกเศร้าและกลัวความตายตั้งแต่อายุยังน้อย. ไข้หวัดใหญ่สเปนคร่าชีวิตพี่สาวสองคนของผม. และหลังจากนั้นในปี 1930 ตอนที่ผมอายุแค่หกขวบ ลุยจีอาแม่ของผมก็เสียชีวิต. เนื่องจากผมเติบโตมาในครอบครัวคาทอลิก ผมปฏิบัติตามกฎศาสนาและไปโบสถ์เป็นประจำ. แต่อีกหลายปีต่อมาความกลัวของผมจึงถูกขจัดออกไปได้ ไม่ใช่เพราะคริสตจักร แต่เพราะร้านตัดผมแห่งหนึ่ง.
ในปี 1944 สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนตายเป็นเบือ. ผมเป็นคนหนึ่งในบรรดาทหารอิตาลีหลายหมื่นคนที่หนีจากเขตที่มีการปะทะกันไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นกลาง. เมื่อไปถึงเราถูกนำตัวไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย. ผมถูกส่งไปค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ เมืองสไตนัคซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ. ที่นั่นเราได้รับเสรีภาพพอสมควร. ช่างตัดผมในเมืองสไตนัคต้องการผู้ช่วยชั่วคราวในร้านของเขา. ผมไปอยู่และทำงานกับเขาเพียงแค่เดือนเดียว แต่นั่นก็มากพอที่ผมจะรู้จักใครคนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป.
ลูกค้าคนหนึ่งของช่างตัดผมคืออะดอลโฟ เตลลีนีซึ่งเป็นชาวอิตาลีที่อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์. เขาเป็นพยานพระยะโฮวา. ผมไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับกลุ่มนี้มาก่อน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะตอนนั้นมีพยานฯ ในอิตาลีไม่ถึง 150 คน. อะดอลโฟบอกให้ผมรู้ความจริงอันยอดเยี่ยมในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับคำสัญญาที่จะมีชีวิตที่สงบสุขและ “บริบูรณ์.” (โย. 10:10; วิ. 21:3, 4) ผมประทับใจข่าวสารเกี่ยวกับอนาคตที่จะไม่มีสงครามและความตาย. เมื่อกลับมายังค่ายผู้ลี้ภัย ผมเล่าความหวังนี้ให้กับจูเซปเป ตูบีนีหนุ่มชาวอิตาลีคนหนึ่งฟัง และเขาก็รู้สึกประทับใจด้วย. อะดอลโฟกับพยานฯ คนอื่นมาเยี่ยมเราที่ค่ายเป็นครั้งคราว.
อะดอลโฟพาผมไปที่เมืองอาร์บอนที่อยู่ห่างจากสไตนัคประมาณสิบกิโลเมตร ซึ่งที่นั่นมีพยานฯ กลุ่มเล็ก ๆ จัดการประชุมเป็นภาษาอิตาเลียน. ผมรู้สึกตื่นเต้นมากกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟังถึงขนาดที่สัปดาห์ถัดไปผมเดินไปที่นั่น. ต่อมา ผมเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของพยานฯ ที่จัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ในเมืองซูริก. ผมรู้สึกตะลึงงันเมื่อได้ชมการฉายภาพนิ่งเกี่ยวกับค่ายกักกันที่มีการสังหารทำลายล้าง ซึ่งมีภาพร่างของเหยื่อที่กองสุมกันหลายกอง. ผมได้มารู้ว่ามีพยานฯ ชาวเยอรมันหลายคนถูกสังหารเพราะความเชื่อของพวกเขา. ในการประชุมใหญ่นั้น ผมพบมารีอา ปิซซาโต. เนื่องจากกิจกรรมที่เธอทำในฐานะพยานฯ เธอถูกเจ้าหน้าที่ฟาสซิสต์ตัดสินจำคุก 11 ปี.
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ผมกลับไปยังอิตาลีและสมทบกับประชาคมเล็ก ๆ ในเมืองโกโม. ผมไม่ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างเป็นระบบ แต่ผมมีความจริงขั้นพื้นฐานชัดเจนอยู่ในใจ. มารีอา ปิซซาโตก็อยู่ที่ประชาคมนี้ด้วย. เธอบอกผมว่าคริสเตียนต้องรับบัพติสมาและชวนผมไปเยี่ยมมาร์เชลโล มาร์ตีเนลลี ซึ่งอยู่ที่กัสตีโอเน อันเดเวนโน ซึ่งอยู่ในแคว้นซอนดรีโอ. มาร์เชลโลเป็นพี่น้องผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 11 ปีโดยระบอบเผด็จการ. ผมต้องปั่นจักรยาน 80 กิโลเมตรเพื่อไปหาเขา.
มาร์เชลโลใช้คัมภีร์ไบเบิลอธิบายข้อเรียกร้องสำหรับคนที่จะรับบัพติสมา หลังจากนั้นเราอธิษฐานด้วยกันและไปที่แม่น้ำอัดดา ซึ่งผมได้รับบัพติสมาที่นั่น. ตอนนั้นเป็นเดือนกันยายน 1946. วันนั้นเป็นวันที่พิเศษจริง ๆ! ผมตื่นเต้นมากที่ได้ตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาและมีความหวังที่มั่นคงสำหรับอนาคตถึงขนาดที่พอตกเย็นผมก็ปั่นจักรยานไปแล้วถึง 160 กิโลเมตรในวันนั้นโดยแทบไม่รู้ตัวเลย!
ในเดือนพฤษภาคม 1947 มีการจัดการประชุมใหญ่ในประเทศอิตาลีเป็นครั้งแรกหลังสงครามที่เมืองมิลาน. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 700 คน รวมถึงหลายคนที่ผ่านการถูกข่มเหงโดยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์. มีอะไรบางอย่างที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้น ณ การประชุมใหญ่นี้. จูเซปเป ตูบีนี ซึ่งผมเคยประกาศให้เขาฟังในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นผู้บรรยายบัพติสมา แล้วหลังจากนั้น เขาเองก็รับบัพติสมา!
ในการประชุมใหญ่ครั้งนั้น ผมมีสิทธิพิเศษได้พบกับบราเดอร์นาทาน นอรร์ ที่มาจากเบเธลบรุกลิน. ท่านสนับสนุนผมกับจูเซปเปให้ใช้ชีวิตในการรับใช้พระเจ้า. ผมตัดสินใจว่า ภายในหนึ่งเดือนผมจะเริ่มทำงานรับใช้เต็มเวลา. เมื่อกลับถึงบ้าน ผมบอกครอบครัวเรื่องการตัดสินใจของผม และทุกคนพยายามชักชวนให้ผมเลิกล้มความคิด. แต่ผมตั้งใจแน่วแน่แล้ว. ดังนั้น หนึ่งเดือนต่อมาผมก็เริ่มรับใช้ที่เบเธลในเมืองมิลาน. มีมิชชันนารีสี่คนรับใช้ที่นั่น: จูเซปเป (โจเซฟ) โรมาโน กับ อันเจลีนา ภรรยาของเขา; คาร์โล เบนันตี กับ กอสตันซา ภรรยาของเขา. สมาชิกคนที่ห้าของครอบครัวเบเธลได้แก่จูเซปเป ตูบีนี ซึ่งเพิ่งเข้ามาร่วมสมทบ และผมเป็นคนที่หก.
หลังจากรับใช้ที่เบเธลได้หนึ่งเดือน ผมได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลหมวด และเป็นผู้แลหมวดคนแรกของประเทศที่เกิดในอิตาลี. บราเดอร์จอร์จ เฟรดีอาเนลลี มิชชันนารีคนแรกที่มาจากสหรัฐเพื่อรับใช้ที่อิตาลีในปี 1946 ทำงานเดินหมวดอยู่แล้ว. เขาช่วยฝึกอบรมผมไม่กี่สัปดาห์ จากนั้นผมก็เริ่มต้นการผจญภัยนี้ตามลำพัง. ผมจำประชาคมแรกที่ผมไปเยี่ยมได้ดี คือประชาคมฟาเอนซา. คิดดูสิ! จนถึงตอนนั้น ผมยังไม่เคยบรรยายต่อหน้าประชาคมมาก่อนเลย! ถึงกระนั้น ผมสนับสนุนผู้เข้าร่วม รวมทั้งเยาวชนหลายคน ให้คิดถึงการรับใช้เต็มเวลา. ในเวลาต่อมา เยาวชนบางคนในประชาคมนี้รับเอางานมอบหมายที่มีความรับผิดชอบมากในเขตงานประเทศอิตาลี.
ผมเริ่มใช้ชีวิตที่น่าตื่นเต้นในฐานะผู้ดูแลเดินทาง ซึ่งเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึง การปรับเปลี่ยน ข้อท้าทาย ความยินดี และเป็นชีวิตที่ทำให้ผมได้รับความรักอย่างล้นเหลือจากพี่น้องที่รัก.
สถานการณ์ทางศาสนาในประเทศอิตาลีสมัยหลังสงคราม
ขอให้ผมเล่าอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ทางศาสนาในประเทศอิตาลีสมัยนั้น. คริสตจักรคาทอลิกกุมอำนาจโดยไม่มีใครกล้าท้าทาย. แม้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 1948 แต่ต้องรอจนกระทั่งปี 1956 กฎหมายของรัฐบาลฟาสซิสต์ที่ห้ามพยานฯ ประกาศอย่างเสรีจึงจะถูกยกเลิก. ผลที่เกิดจากการกดดันของพวกนักเทศน์นักบวชก็คือบ่อยครั้งการประชุมหมวดถูกก่อกวน. แต่บางครั้ง ความพยายามของพวกนักเทศน์นักบวชก็ล้มเหลวอย่างน่าสังเวช เช่นที่เกิดขึ้นในปี 1948 ที่ซุลโมนา เมืองเล็ก ๆ ในภาคกลางของอิตาลี.
การประชุมหมวดครั้งนั้นจัดขึ้นที่ห้องประชุมแห่งหนึ่ง. เช้าวันอาทิตย์นั้น ผมเป็นประธาน และจูเซปเป โรมาโนเป็นผู้บรรยายสาธารณะ. มีผู้ฟังล้นหลามทีเดียวสำหรับสมัยนั้น. ในตอนนั้นมีผู้ประกาศทั่วประเทศไม่ถึง 500 คน แต่มีถึง 2,000 คนอัดแน่นอยู่ในห้องประชุมนั้น. ตอนท้ายของคำบรรยาย มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งถูกเสี้ยมสอนจากบาทหลวงสองคนที่นั่งอยู่ในหมู่ผู้ฟัง กระโดดขึ้นไปบนเวที. ด้วยเจตนาที่จะสร้างความวุ่นวาย เขาเริ่มตะโกนสุดเสียง. ผมบอกเขาทันทีว่า “ถ้าคุณอยากจะพูดอะไรก็ไปเช่าห้องประชุมสิ แล้วคุณจะได้พูดอย่างที่อยากจะพูด.” ผู้ฟังไม่พอใจเขาและพากันส่งเสียงแสดงความไม่พอใจจนกลบเสียงของเขา. เมื่อเป็นอย่างนี้ ชายหนุ่มคนนี้ก็กระโดดลงจากเวทีแล้วก็หายตัวไปเลย.
ในสมัยนั้น การเดินทางค่อนข้างจะเป็นเรื่องผจญภัย. บางครั้งผมเดินจากประชาคมหนึ่งไปอีกประชาคมหนึ่ง ปั่นจักรยาน นั่งรถประจำทางบุโรทั่งที่มีผู้โดยสารอัดแน่น หรือนั่งรถไฟ. บางครั้ง ผมต้องพักที่คอกม้าหรือโรงเก็บเครื่องมือ. สงครามเพิ่งสิ้นสุดลง และชาวอิตาลีส่วนใหญ่ก็ยากจน. มีพี่น้องเพียงไม่กี่คน และพวกเขาก็ฐานะไม่ค่อยดี. ถึงจะอย่างนั้น การใช้ชีวิตไปกับการรับใช้พระยะโฮวาก็ยังยอดเยี่ยมอยู่ดี.
การอบรมที่กิเลียด
ในปี 1950 ผมกับจูเซปเป ตูบีนีได้รับเชิญให้เข้าโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ 16. ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลย ผมรู้ตัวดีว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะเรียนภาษาอังกฤษ. ผมพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายจริง ๆ. เราต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มในภาษาอังกฤษ. เพื่อจะทำอย่างนี้ได้ บางครั้งผมงดอาหารเที่ยงเพื่อจะฝึกอ่านออกเสียง. ในที่สุด ก็ถึงคิวที่ผมต้องบรรยาย. ผมจำคำติชมของผู้สอนได้ดีราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง ที่ว่า “ท่าทางและความกระตือรือร้นของคุณสุดยอด แต่ต้องบอกว่าภาษาอังกฤษของคุณฟังไม่รู้เรื่องเลย!” แม้จะเป็นอย่างนั้น ในที่สุดผมก็สำเร็จหลักสูตรจนได้. หลังจากนั้น ผมกับจูเซปเปได้รับมอบหมายให้กลับไปที่อิตาลี. โดยที่ได้รับการอบรมเป็นพิเศษอย่างนี้ เราทั้งสองมีความสามารถมากขึ้นที่จะรับใช้พี่น้อง.
ในปี 1955 ผมแต่งงานกับลีเดีย ซึ่งผมเป็นผู้บรรยายตอนที่เธอรับบัพติสมาเมื่อเจ็ดปีก่อน. โดเมนีโก พ่อของเธอเป็นพี่น้องที่รักคนหนึ่งซึ่งช่วยลูกทั้งเจ็ดคนให้รับความจริง แม้ว่าเขาเคยถูกกดขี่โดยระบอบฟาสซิสต์และถูกตัดสินเนรเทศเป็นเวลาสามปี. ลีเดียเองก็เป็นนักต่อสู้เพื่อความจริงด้วย. เธอถูกพิจารณาคดีสามคดีก่อนที่สิทธิทางกฎหมายของเราในการประกาศตามบ้านจะได้รับการยอมรับในที่สุด. หลังจากที่เราแต่งงานได้หกปี เบนีอามีโนลูกชายคนแรกของเราก็เกิดมา. ในปี 1972 เราได้ลูกชายอีกคนหนึ่งคือมาร์โก. ผมดีใจที่ทั้งคู่และครอบครัวของพวกเขากำลังรับใช้พระยะโฮวาอย่างกระตือรือร้น.
ยังคงรับใช้พระยะโฮวาอย่างแข็งขัน
ในช่วงที่ผมรับใช้คนอื่น ๆ อย่างมีความสุข ผมมีประสบการณ์ที่น่าจดจำหลายเรื่อง. ตัวอย่างเช่น ตอนต้นทศวรรษ 1980 พ่อตาผมเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีของอิตาลีในตอนนั้น คือซานโดร เปอร์ตีนี. ในช่วงที่ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์เรืองอำนาจ ทั้งสองถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเวนโตเตเน ซึ่งเป็นที่กักตัวคนที่รัฐบาลถือว่าเป็นศัตรู. พ่อตาผมขอสัมภาษณ์ประธานาธิบดีโดยตั้งใจจะประกาศแก่เขา. เมื่อคำร้องได้รับอนุมัติ ผมไปกับพ่อตา และเราก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยเลย. ประธานาธิบดีทักทายด้วยการโอบกอดพ่อตาผมอย่างอบอุ่น. แล้วเราก็คุยกันเกี่ยวกับความเชื่อของเราและให้หนังสือบางเล่มแก่เขา.
ในปี 1991 หลังจากที่รับใช้เป็นผู้ดูแลเดินทางนานถึง 44 ปีและเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ทั่วอิตาลี ผมก็หยุดเดินหมวด. สี่ปีถัดจากนั้น ผมรับใช้เป็นผู้ดูแลหอประชุมใหญ่จนกระทั่งผมจำเป็นต้องลดงานลงเนื่องจากผมป่วยหนัก. อย่างไรก็ตาม เพราะพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระยะโฮวา ผมยังคงรับใช้เต็มเวลา. ผมพยายามทำให้ดีที่สุดในการประกาศและสอนข่าวดี และปัจจุบันผมนำการศึกษาพระคัมภีร์กับบางคน. พี่น้องยังคงพูดกันว่าเมื่อผมบรรยายผมมีความกระตือรือร้นแบบที่ “แทบจะลุกเป็นไฟ.” ผมรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาที่ความกระฉับกระเฉงของผมไม่ได้ลดลงไปตามวัย.
ตอนยังเด็ก ผมกลัวความตายอย่างมาก แต่การรับความรู้ถ่องแท้ในคัมภีร์ไบเบิลทำให้ผมมีความหวังที่แน่นอนในเรื่องชีวิตนิรันดร์ ซึ่งพระเยซูทรงเรียกว่าเป็นชีวิตที่ “บริบูรณ์.” (โย. 10:10) นั่นคือสิ่งที่ตอนนี้ผมกำลังคอยท่า คือชีวิตที่เปี่ยมด้วยสันติสุข ความมั่นคง ความสุข และพระพรอันอุดมจากพระยะโฮวา. ขอให้เกียรติยศทั้งสิ้นมีแด่พระผู้สร้างของเราผู้เปี่ยมด้วยความรัก ผู้ที่เรามีสิทธิพิเศษถูกเรียกตามพระนามของพระองค์.—เพลง. 83:18
[แผนที่หน้า 22, 23]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
สวิตเซอร์แลนด์
เบิร์น
ซูริก
อาร์บอน
สไตนัค
อิตาลี
โรม
โกโม
มิลาน
แม่น้ำอัดดา
กัสตีโอเน อันเดเวนโน
ฟาเอนซา
ซุลโมนา
เวนโตเตเน
[ภาพหน้า 22]
ระหว่างเราเดินทางไปกิเลียด
[ภาพหน้า 22]
ถ่ายกับจูเซปเปที่โรงเรียนกิเลียด
[ภาพหน้า 23]
ในวันที่เราแต่งงาน
[ภาพหน้า 23]
ภรรยาที่รักซึ่งอยู่เคียงข้างผมนานกว่า 55 ปี