เหล่าผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้า
“พระเจ้าและพระวิญญาณของพระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามา.”—ยซา. 48:16, ฉบับแปลคิงเจมส์
1, 2. เราจำเป็นต้องมีอะไรเพื่อจะมีความเชื่อที่เข้มแข็ง และเราจะได้รับกำลังใจเช่นไรเมื่อพิจารณาเรื่องราวชีวิตของเหล่าผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณ?
แม้ว่าตั้งแต่สมัยเฮเบลเป็นต้นมาหลายคนได้แสดงความเชื่อ แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “ไม่ใช่ทุกคนมีความเชื่อ.” (2 เทส. 3:2) ถ้าอย่างนั้นทำไมคนเราจึงมีคุณลักษณะนี้ และอะไรทำให้พวกเขาซื่อสัตย์? ส่วนใหญ่แล้ว ความเชื่อเกิดจากสิ่งที่คนเราได้ยินจากพระคำของพระเจ้า. (โรม 10:17) ความเชื่อเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผลพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (กลา. 5:22, 23) ด้วยเหตุนั้น เพื่อจะมีความเชื่อที่เข้มแข็ง เราจำเป็นต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์.
2 คงไม่ถูกต้องที่จะลงความเห็นว่าคนเรามีความเชื่อมาตั้งแต่เกิด. ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งเราอ่านเรื่องราวของพวกเขาในคัมภีร์ไบเบิลเป็น “มนุษย์เหมือนเรา.” (ยโก. 5:17) พวกเขามีความสงสัย ความไม่มั่นใจ และข้ออ่อนแอ แต่พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยพวกเขาให้ “มีกำลังมาก” เพื่อจะรับมือได้. (ฮีบรู 11:34) โดยพิจารณาว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวาดำเนินกิจในชีวิตของพวกเขาอย่างไร พวกเราในปัจจุบันจะได้รับกำลังใจที่จะรับใช้อย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป ซึ่งนับว่าสำคัญเพราะในเวลานี้มีหลายสิ่งที่อาจทำให้ความเชื่อของเราอ่อนลง.
พระวิญญาณของพระเจ้าทำให้โมเซมีกำลังและความสามารถ
3-5. (ก) เรารู้ได้อย่างไรว่าโมเซทำหน้าที่โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์? (ข) ตัวอย่างของโมเซสอนเราอย่างไรเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาประทานพระวิญญาณแก่เรา?
3 ในบรรดาผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช โมเซเป็น “คนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวง.” (อาฤ. 12:3) ผู้รับใช้ผู้นี้ซึ่งเป็นคนอ่อนโยนได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบอันใหญ่หลวงในชาติอิสราเอล. พระวิญญาณของพระเจ้าทำให้โมเซสามารถพยากรณ์ พิพากษา เขียน นำหน้า และทำการอัศจรรย์ได้. (อ่านยะซายา 63:11-14) ถึงกระนั้น ครั้งหนึ่งโมเซโอดครวญว่าภาระที่ท่านรับอยู่นั้นหนักเกินไป. (อาฤ. 11:14, 15) ดังนั้น พระยะโฮวา ‘เอาพระวิญญาณ’ บางส่วนที่อยู่กับโมเซมอบให้แก่คนอื่น ๆ 70 คนเพื่อให้พวกเขาช่วยแบ่งเบาภาระของโมเซ. (อาฤ. 11:16, 17) แม้ว่าภาระหน้าที่ของโมเซดูเหมือนว่าหนักเกินไป แต่ที่จริงท่านไม่ได้แบกรับหน้าที่นี้แต่เพียงลำพัง. ผู้ชาย 70 คนที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยท่านทำงานนี้ก็ไม่ได้แบกรับหน้าที่นี้แต่เพียงลำพังเช่นเดียวกัน.
4 โมเซได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์มากพอที่จะทำงานนี้. หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยน โมเซก็ยังคงมีพระวิญญาณอย่างที่ท่านจำเป็นต้องมี. โมเซไม่ได้มีพระวิญญาณน้อยเกินไป และผู้เฒ่าผู้แก่ 70 คนไม่ได้มีมากเกินไป. พระยะโฮวาประทานพระวิญญาณแก่เราตามที่เราจำเป็นต้องมี ตามสภาพการณ์ในชีวิตของเรา. “พระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณอย่างไม่จำกัด” และพระองค์ประทานแก่ทุกคน “อย่างเหลือล้น.”—โย. 1:16; 3:34
5 คุณกำลังรับมือปัญหาที่ทำให้กังวลใจอยู่ไหม? คุณจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นในการทำหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ไหม? คุณกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อดูแลครอบครัวทางฝ่ายวิญญาณและด้านร่างกายในขณะที่ต้องรับมือค่าครองชีพที่สูงขึ้นหรือต้องรับมือความกังวลในเรื่องสุขภาพไหม? คุณกำลังทำหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในประชาคมอยู่ไหม? ขอให้มั่นใจว่า โดยทางพระวิญญาณ พระเจ้าทรงสามารถประทานกำลังที่จำเป็นให้คุณรับมือได้ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม.—โรม 15:13
พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้บะซาเลลมีความสามารถ
6-8. (ก) พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยบะซาเลลและอาโฮลีอาบให้ทำอะไร? (ข) อะไรแสดงว่าบะซาเลลและอาโฮลีอาบได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้า? (ค) เหตุใดประสบการณ์ของบะซาเลลจึงให้กำลังใจเราเป็นพิเศษ?
6 ประสบการณ์ของบะซาเลลซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับโมเซเผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสามารถดำเนินกิจอย่างไร. (อ่านเอ็กโซโด 35:30-35) บะซาเลลได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าช่างในงานตกแต่งพลับพลา. เขามีความรู้ในเรื่องงานฝีมือก่อนจะมารับงานในโครงการใหญ่นี้ไหม? อาจเป็นได้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่เป็นไปได้มากทีเดียวว่างานสุดท้ายที่เขาทำก็คือการทำอิฐให้ชาวอียิปต์. (เอ็ก. 1:13, 14) ถ้าอย่างนั้น บะซาเลลจะทำงานนี้ที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนได้อย่างไร? พระยะโฮวา “พระเจ้าได้บันดาลให้ผู้นั้นเต็มไปด้วยพระวิญญาณของพระองค์, ให้มีสติปัญญาและความเข้าใจและความรู้ในการกระทำต่าง ๆ; เพื่อจะคิดออกแบบอย่างฉลาด . . . เพื่อจะได้มีฝีมือทำอะไร ๆ ได้อย่างเลิศทุก ๆ อย่าง.” พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเสริมพรสวรรค์ใด ๆ ก็ตามที่บะซาเลลอาจมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น. เป็นอย่างนั้นด้วยกับอาโฮลีอาบ. บะซาเลลและอาโฮลีอาบคงต้องเรียนรู้ได้ดี เพราะทั้งสองไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ของตน แต่ยังสอนคนอื่น ๆ ให้ทำหน้าที่นั้นด้วย. ใช่แล้ว พระเจ้าทรงดลใจพวกเขาให้สอน.
7 หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่แสดงว่าบะซาเลลและอาโฮลีอาบได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้าก็คือผลงานของพวกเขาคงทนอย่างน่าทึ่ง. ประมาณ 500 ปีต่อมา สิ่งที่พวกเขาสร้างไว้ก็ยังคงใช้กันอยู่. (2 โคร. 1:2-6) ไม่เหมือนกับบรรดาบริษัทผู้ผลิตในสมัยปัจจุบัน บะซาเลลและอาโฮลีอาบไม่ได้ทิ้งลายเซ็นหรือใส่เครื่องหมายการค้าไว้ในผลงานของตน. ทั้งสองยกย่องเทิดทูนพระยะโฮวาสำหรับผลงานทั้งสิ้นของตน.—เอ็ก. 36:1, 2
8 ปัจจุบัน เราอาจทำงานที่ท้าทายซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษ เช่น การก่อสร้าง การพิมพ์ การจัดการประชุมใหญ่ การทำงานบรรเทาทุกข์จากเหตุภัยพิบัติ และการประสานงานกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องจุดยืนของเราตามหลักพระคัมภีร์เกี่ยวกับการใช้เลือด. บางครั้ง คนที่ทำงานเหล่านั้นเป็นคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง แต่บ่อยครั้งคนที่ทำงานดังกล่าวเป็นอาสาสมัครที่ไม่มีประสบการณ์ในด้านนั้น ๆ มาก่อน. พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยให้พวกเขาทำงานเหล่านั้นได้สำเร็จ. คุณเคยปฏิเสธงานมอบหมายในการรับใช้พระยะโฮวาเพราะรู้สึกว่าคนอื่นมีคุณสมบัติเหมาะกับงานนั้นมากกว่าคุณไหม? ขอให้จำไว้ว่า พระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยให้คุณมีความรู้และความสามารถมากขึ้นและช่วยให้คุณทำงานมอบหมายใดก็ตามให้สำเร็จได้.
พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยยะโฮซูอะให้ทำงานได้สำเร็จ
9. ชาวอิสราเอลต้องทำอะไรหลังจากที่พวกเขาออกจากอียิปต์ได้ไม่นาน และเกิดคำถามอะไร?
9 พระวิญญาณของพระเจ้ายังช่วยชี้นำชายอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกันกับโมเซและบะซาเลล. หลังจากอพยพออกจากอียิปต์ได้ไม่นาน ชาวอะมาเลคก็เปิดฉากบุกโจมตีประชาชนของพระเจ้า. ถึงเวลาที่ชาวอิสราเอลจะต้องขับไล่ศัตรู. แม้ว่าไม่คุ้นเคยเลยกับการทำสงคราม ชาวอิสราเอลต้องเข้าร่วมในการสู้รบเป็นครั้งแรกในฐานะชนชาติที่เป็นอิสระ. (เอ็ก. 13:17; 17:8) ต้องมีผู้นำในการทำศึก. ใครจะทำหน้าที่นี้?
10. เหตุใดชาวอิสราเอลซึ่งมียะโฮซูอะเป็นผู้นำจึงได้รับชัยชนะในการสู้รบ?
10 ยะโฮซูอะได้รับเลือก. แต่หากจะถามท่านว่าเคยมีประสบการณ์อะไรในการทำงานจึงมีคุณสมบัติสำหรับงานมอบหมายนี้ ท่านอาจตอบอย่างไร? เคยเป็นแรงงานทาส หรือเป็นคนผสมฟาง หรือเป็นคนเก็บมานาอย่างนั้นไหม? จริงอยู่ อะลีซามาปู่ของยะโฮซูอะเป็นหัวหน้าของตระกูลเอฟรายิมและดูเหมือนว่าเป็นผู้นำ 108,100 คนในกองทหารที่ประกอบด้วยสามตระกูลของชาติอิสราเอล. (อาฤ. 2:18, 24; 1 โคร. 7:26, 27) ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาโดยทางโมเซว่า คนที่จะนำหน้ากองทัพที่จะปราบศัตรูคือยะโฮซูอะ ไม่ใช่อะลีซามาหรือนูนผู้เป็นบุตรชาย. การสู้รบยืดเยื้อจนถึงตอนเย็น. เนื่องจากยะโฮซูอะเห็นคุณค่าและทำตามการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ชาวอิสราเอลจึงได้รับชัยชนะ.—เอ็ก. 17:9-13
11. เราจะประสบความสำเร็จในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับยะโฮซูอะได้อย่างไร?
11 ต่อมา ยะโฮซูอะผู้ “ประกอบไปด้วยสติปัญญา” ก็สืบตำแหน่งต่อจากโมเซ. (บัญ. 34:9) พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ช่วยให้ยะโฮซูอะมีความสามารถเหมือนกับโมเซที่จะพยากรณ์หรือทำการอัศจรรย์ได้ แต่พระวิญญาณได้ช่วยยะโฮซูอะให้นำชาติอิสราเอลในการรบกับชาวคะนาอันและได้รับชัยชนะ. ในทุกวันนี้ เราอาจคิดว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์หรือขาดคุณสมบัติที่จะทำงานบางอย่างในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. ถึงกระนั้น เรามั่นใจเช่นเดียวกับยะโฮซูอะว่าจะประสบความสำเร็จถ้าเราปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด.—ยโฮ. 1:7-9
“พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาสวมทับฆิดโอน”
12-14. (ก) การที่ 300 คนชนะกองทัพชาวมิดยานอย่างราบคาบทั้ง ๆ ที่พวกเขามีจำนวนน้อยกว่ามากแสดงให้เห็นอะไร? (ข) พระยะโฮวาทรงทำอย่างไรเพื่อช่วยกิดโอนให้มั่นใจ? (ค) ในทุกวันนี้พระเจ้าทรงช่วยให้เรามีความมั่นใจโดยวิธีใด?
12 หลังจากยะโฮซูอะเสียชีวิต พระยะโฮวายังคงแสดงให้เห็นต่อไปถึงวิธีที่ฤทธิ์อำนาจของพระองค์สามารถเสริมกำลังผู้ซื่อสัตย์. หนังสือผู้วินิจฉัยเต็มไปด้วยเรื่องราวของหลายคนที่ “ได้พ้นจากสภาพอ่อนแอมาเป็นผู้มีกำลังมาก.” (ฮีบรู 11:34) โดยใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงกระตุ้นกิดโอนให้ต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์. (วินิจ. 6:34) แต่พวกมิดยานที่ยกทัพมาคุกคามมีจำนวนมากกว่ากองทัพที่กิดโอนรวบรวมถึง 4 ต่อ 1. ในสายพระเนตรของพระยะโฮวา กองทัพของอิสราเอลที่มีทหารน้อยอยู่แล้วนั้นยังมีจำนวนทหารมากเกินไป. พระองค์ทรงมีรับสั่งถึงสองครั้งให้กิดโอนลดจำนวนทหารในกองทัพลงจนกระทั่งทหารของศัตรูมีมากกว่าทหารชาวอิสราเอลถึง 450 ต่อ 1. (วินิจ. 7:2-8; 8:10) พระยะโฮวาทรงเห็นชอบกับจำนวนนี้. เมื่อชาวอิสราเอลชนะอย่างน่าตกตะลึง จะมีใครหรือที่สามารถโอ้อวดได้ว่าชัยชนะนั้นเป็นผลมาจากความพยายามหรือสติปัญญาของมนุษย์?
13 กิดโอนกับกองทัพกำลังเตรียมพร้อมจะออกรบ. หากคุณอยู่ในกองทัพเล็ก ๆ นี้ คุณจะรู้สึกมั่นใจไหมที่รู้ว่าในตอนนี้เพื่อนทหารหลายคนที่ขลาดกลัวและไม่ระแวดระวังถูกคัดออกไป? หรือว่าคุณจะรู้สึกหวาดหวั่นเมื่อนึกถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้น? เราไม่จำเป็นต้องเดาว่ากิดโอนรู้สึกอย่างไร. ท่านทำตามที่พระเจ้าทรงบัญชาให้ทำ! (อ่านวินิจฉัย 7:9-14) พระยะโฮวาไม่ทรงตำหนิกิดโอนเมื่อท่านขอพระองค์ประทานหมายสำคัญเพื่อเป็นหลักฐานว่าพระองค์จะสถิตอยู่ด้วย. (วินิจ. 6:36-40) แทนที่จะตำหนิ พระองค์ทรงเสริมความเชื่อของกิดโอนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น.
14 พระยะโฮวาทรงมีอำนาจอย่างที่ไม่มีขีดจำกัดในการช่วยให้รอด. พระองค์ทรงสามารถช่วยประชาชนของพระองค์ให้พ้นจากความยากลำบากใด ๆ ก็ตาม และถึงกับใช้คนที่ดูเหมือนอ่อนแอหรือไร้ความสามารถให้ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยซ้ำ. บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าไม่มีทางสู้ศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าได้หรืออยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง. เราไม่คาดหมายว่าพระเจ้าจะยืนยันให้เรามั่นใจโดยวิธีอัศจรรย์เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงยืนยันกับกิดโอน แต่เราสามารถได้รับการชี้นำและความเชื่อมั่นอย่างมากจากพระคำของพระเจ้าและจากประชาคมที่ได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณ. (โรม 8:31, 32) คำสัญญาที่เปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวาทำให้ความเชื่อของเราเข้มแข็งยิ่งขึ้นและทำให้เรามั่นใจว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยของเราอย่างแท้จริง!
“พระวิญญาณพระยะโฮวาสวมทับยิพธา”
15, 16. เหตุใดบุตรสาวของยิฟทาห์จึงมีทัศนะที่ดี และเรื่องนี้ให้กำลังใจบิดามารดาอย่างไร?
15 ขอพิจารณาอีกตัวอย่างหนึ่ง. เมื่อชาวอิสราเอลรบกับพวกอัมโมน พระวิญญาณของพระยะโฮวา “สวมทับยิพธา.” ยิฟทาห์ต้องการได้รับชัยชนะเพื่อเทิดพระเกียรติพระยะโฮวา ท่านจึงทำคำปฏิญาณที่ทำให้ท่านปวดร้าวใจในภายหลัง. ยิฟทาห์ปฏิญาณว่าถ้าพระยะโฮวาทรงมอบชาวอัมโมนไว้ในมือท่าน คนแรกที่ออกมาจากประตูเรือนเพื่อต้อนรับท่านเมื่อกลับบ้านนั้นจะเป็นของพระยะโฮวา. เมื่อยิฟทาห์กลับถึงบ้านหลังจากพิชิตชาวอัมโมน บุตรสาววิ่งออกมาต้อนรับท่าน. (วินิจ. 11:29-31, 34) ยิฟทาห์แปลกใจกับเรื่องนี้ไหม? คงจะไม่ เพราะตอนที่ปฏิญาณท่านรู้อยู่แล้วว่าอาจจะเป็นบุตรสาวที่ออกมาพบท่าน. ท่านทำตามคำปฏิญาณด้วยการถวายบุตรสาวให้รับใช้ ณ สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาที่เมืองชีโลห์. เนื่องจากเป็นผู้นมัสการที่ภักดีของพระยะโฮวา บุตรสาวของยิฟทาห์เชื่อมั่นว่าควรทำตามคำปฏิญาณของบิดา. (อ่านวินิจฉัย 11:36) พระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยให้ทั้งสองมีความเข้มแข็งเพื่อจะทำตามคำปฏิญาณได้.
16 บุตรสาวของยิฟทาห์พัฒนาน้ำใจเสียสละเช่นนั้นได้อย่างไร? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความกระตือรือร้นและความเลื่อมใสพระเจ้าของบิดาช่วยเสริมความเชื่อของเธอให้เข้มแข็ง. บิดามารดาทั้งหลาย อย่าลืมว่าลูก ๆ มองคุณเป็นตัวอย่าง. การตัดสินใจของคุณจะแสดงให้เห็นว่าคุณเชื่อจริง ๆ ในสิ่งที่คุณสอนลูกหรือไม่. ลูกของคุณจะสังเกตเห็นถ้าคุณอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าและสอนอย่างบังเกิดผลรวมทั้งวางตัวอย่างในการรับใช้พระยะโฮวาด้วยหัวใจครบถ้วน. เมื่อลูกของคุณสังเกตอย่างนั้น พวกเขาก็คงจะพัฒนาความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะอยู่พร้อมในการรับใช้พระยะโฮวา. นั่นย่อมทำให้คุณมีความยินดี.
“พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาก็สวมทับซิมโซน”
17. ซิมโซนทำอะไรโดยอาศัยพระวิญญาณของพระเจ้า?
17 ขอให้พิจารณาอีกตัวอย่างหนึ่ง. เมื่อชาวอิสราเอลตกเป็นเชลยของชาวฟิลิสติน “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาตั้งต้นสวมทับ” ซิมโซนให้ช่วยชาติอิสราเอล. (วินิจ. 13:24, 25) ซิมโซนได้รับอำนาจให้ทำสิ่งที่น่าพิศวงด้วยพลังที่ไม่มีใครเทียบได้. เมื่อชาวฟิลิสตินโน้มน้าวให้ชาวอิสราเอลซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติของซิมโซนจับตัวท่าน “พระวิญญาณแห่งพระยะโฮวาก็สวมทับซิมโซน, เชือกที่แขนนั้นเป็นประดุจป่านที่ไฟไหม้แล้ว, เครื่องจำจองนั้นก็หลุดออกจากมือ.” (วินิจ. 15:14) แม้แต่เมื่อกำลังของซิมโซนหมดไปเพราะการตัดสินใจที่ไม่ดีของตัวท่านเอง ท่านก็ยังได้รับความช่วยเหลือให้มีกำลังขึ้น “โดยความเชื่อ.” (ฮีบรู 11:32-34; วินิจ. 16:18-21, 28-30) พระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยให้ซิมโซนสามารถทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา. ถึงกระนั้น เหตุการณ์ที่น่าจดจำเหล่านี้นับว่าให้กำลังใจเราอย่างมาก. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
18, 19. (ก) ประสบการณ์ของซิมโซนทำให้เรามั่นใจในเรื่องใด? (ข) คุณได้รับประโยชน์อย่างไรจากการพิจารณาตัวอย่างของผู้ซื่อสัตย์ในบทความนี้?
18 เราหมายพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เดียวกันกับที่ซิมโซนหมายพึ่ง. เราทำอย่างนั้นเมื่อเราทำงานที่พระเยซูทรงมอบหมายแก่เหล่าสาวก ซึ่งก็คือ “ประกาศแก่ผู้คนและเป็นพยานยืนยันให้รู้ทั่วถึงกัน.” (กิจ. 10:42) การทำงานมอบหมายนี้อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเรา. เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์เพื่อช่วยเราทำงานหลายอย่างที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้! ด้วยเหตุนั้น เมื่อเราทำงานมอบหมายให้สำเร็จ เราอาจกล่าวได้เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ยะซายาห์ว่า “พระเจ้าและพระวิญญาณของพระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามา.” (ยซา. 48:16, ฉบับแปลคิงเจมส์) ใช่แล้ว พระวิญญาณของพระเจ้าได้ใช้เรา! เราตั้งใจทำงานด้วยความเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาจะเสริมให้เรามีคุณสมบัติเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงช่วยโมเซ บะซาเลล และยะโฮซูอะ. เรารับ “ดาบแห่งพระวิญญาณซึ่งก็คือพระคำของพระเจ้า” โดยเชื่อมั่นว่าพระองค์จะประทานกำลังแก่เราอย่างที่พระองค์ประทานแก่กิดโอน ยิฟทาห์ และซิมโซน. (เอเฟ. 6:17, 18) ด้วยความไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เราสามารถมีกำลังฝ่ายวิญญาณที่เข้มแข็งเช่นเดียวกับที่ซิมโซนมีกำลังมากด้านร่างกาย.
19 เห็นได้ชัด พระยะโฮวาทรงอวยพรคนที่ยืนหยัดอย่างกล้าหาญเพื่อการนมัสการแท้. เมื่อเราตอบรับการดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า เราก็จะมีความเชื่ออย่างบริบูรณ์. ด้วยเหตุนั้น เป็นเรื่องน่ายินดีด้วยที่จะทบทวนเหตุการณ์บางอย่างที่น่าตื่นเต้นที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก. การทบทวนดังกล่าวจะเผยให้เห็นวิธีที่พระวิญญาณของพระยะโฮวาดำเนินกิจในชีวิตของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในศตวรรษแรก ทั้งก่อนและหลังวันเพนเทคอสต์ สากลศักราช 33. เราจะพิจารณาบันทึกเหล่านี้ในบทความถัดไป.
เหตุใดคุณจึงได้รับกำลังใจที่รู้ว่าพระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจในชีวิตของ . . .
• โมเซ?
• บะซาเลล?
• ยะโฮซูอะ?
• กิดโอน?
• ยิฟทาห์?
• ซิมโซน?
[คำโปรยหน้า 22]
พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถทำให้เรามีกำลังฝ่ายวิญญาณที่เข้มแข็งเช่นเดียวกับที่ซิมโซน มีกำลังมากด้านร่างกาย
[ภาพหน้า 21]
บิดามารดาทั้งหลาย ตัวอย่างที่กระตือรือร้นของคุณจะช่วยลูกให้ต้องการรับใช้พระยะโฮวา