“จงมีกำลังเข้มแข็งและใจกล้าหาญ”
“จงมีกำลังเข้มแข็งและใจกล้าหาญโดยแท้ . . . ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะสถิตอยู่ด้วย.”—ยโฮ. 1:7-9
คุณจะตอบอย่างไร?
ฮะโนคและโนอาห์แสดงความกล้าหาญอย่างไร?
สตรีบางคนในสมัยโบราณเป็นตัวอย่างในเรื่องความเชื่อและความกล้าหาญอย่างไร?
คุณประทับใจตัวอย่างอะไรของเยาวชนที่แสดงความกล้าหาญ?
1, 2. (ก) บางครั้งจำเป็นต้องมีอะไรเพื่อจะดำเนินชีวิตที่ซื่อตรงได้? (ข) เราจะพิจารณาอะไร?
ความกล้าหาญตรงกันข้ามกับความกลัว ความอาย และความขลาด. เราอาจคิดว่าคนกล้าหาญต้องเป็นคนแข็งแรง หรือแม้แต่บ้าบิ่นด้วยซ้ำ. แต่บางครั้งต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะดำเนินชีวิตประจำวันอย่างซื่อตรง.
2 บางคนที่คัมภีร์ไบเบิลบันทึกเรื่องของเขาไว้ไม่เกรงกลัวแม้เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง. คนอื่นแสดงความกล้าในสภาพการณ์ที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาโดยทั่วไปก็เผชิญเช่นกัน. เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความกล้า? เราจะเป็นคนกล้าหาญได้อย่างไร?
พยานที่กล้าหาญในโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า
3. ฮะโนคบอกล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า?
3 การเป็นพยานของพระยะโฮวาท่ามกลางผู้คนที่ชั่วช้าในโลกก่อนน้ำท่วมสมัยโนอาห์จำเป็นต้องมีความกล้าหาญ. ถึงกระนั้น ฮะโนคซึ่งเป็น “คนที่เจ็ดนับจากอาดาม” ประกาศข่าวสารที่เป็นคำพยากรณ์ต่อไปนี้อย่างกล้าหาญ: “ดูเถิด! พระยะโฮวาเสด็จมาพร้อมกับผู้บริสุทธิ์ของพระองค์นับหมื่นนับแสน เพื่อลงโทษทุกคนตามคำพิพากษา และเพื่อพิสูจน์ความผิดของคนดูหมิ่นพระเจ้าทุกคนเกี่ยวกับการกระทำทุกอย่างซึ่งพวกเขาทำอย่างดูหมิ่นพระเจ้า และเกี่ยวกับคำพูดที่น่าตกตะลึงทุกอย่างที่คนบาปผู้ดูหมิ่นพระเจ้าได้พูดถึงพระองค์.” (ยูดา 14, 15) ฮะโนคพูดราวกับว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วเพราะคำพยากรณ์นั้นจะต้องสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอน. และคนดูหมิ่นพระเจ้าก็ถูกทำลายโดยน้ำท่วมโลกจริง ๆ!
4. โนอาห์ “ดำเนินกับพระเจ้า” แม้ว่าสภาพการณ์เป็นเช่นไร?
4 หลังจากที่ฮะโนคประกาศคำพยากรณ์นั้นแล้วมากกว่า 650 ปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2370 ก่อนสากลศักราช. ระหว่างนั้น โนอาห์เกิดมา เลี้ยงดูครอบครัว และสร้างเรือด้วยกันกับบุตรชาย. ทูตสวรรค์ชั่วแปลงกายมาเป็นมนุษย์เพื่อสมสู่อยู่กินกับสาวสวยและให้กำเนิดพวกเนฟิลิม. นอกจากนั้น ความชั่วของมนุษย์มีมากเหลือล้นและโลกเต็มไปด้วยความรุนแรง. (เย. 6:1-5, 9, 11) แม้ว่าสภาพการณ์เป็นเช่นนั้น ‘โนอาห์ได้ดำเนินกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้’ และประกาศอย่างกล้าหาญในฐานะ “ผู้ประกาศความชอบธรรม.” (อ่าน 2 เปโตร 2:4, 5) เราต้องมีความกล้าหาญคล้ายกันในสมัยสุดท้ายนี้.
พวกเขาแสดงความเชื่อและความกล้าหาญ
5. โมเซแสดงความเชื่อและความกล้าหาญอย่างไร?
5 โมเซมีความเชื่อและความกล้าหาญที่เป็นแบบอย่างสำหรับเรา. (ฮีบรู 11:24-27) ตั้งแต่ปี 1513-1473 ก่อน ส.ศ. พระเจ้าทรงใช้ท่านให้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์และนำพวกเขาในถิ่นทุรกันดาร. โมเซรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอสำหรับงานมอบหมายนี้ แต่ท่านตอบรับที่จะทำงานนี้. (เอ็ก. 6:12) ท่านกับอาโรน พี่ชาย ไปปรากฏตัวต่อหน้าฟาโรห์แห่งอียิปต์ผู้กดขี่ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อประกาศอย่างกล้าหาญเกี่ยวกับภัยพิบัติสิบประการที่พระยะโฮวาทรงใช้ในการพิสูจน์ว่าเทพเจ้าของชาวอียิปต์ไร้อำนาจ และเพื่อช่วยประชาชนของพระองค์ให้เป็นอิสระ. (เอ็ก. บท 7-12) โมเซแสดงความเชื่อและความกล้าหาญเพราะท่านได้รับการค้ำจุนที่วางใจได้เสมอจากพระเจ้า. พวกเราในทุกวันนี้ก็เช่นกัน.—บัญ. 33:27
6. ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไต่สวนเรา เราจะปกป้องความเชื่อของเราด้วยความกล้าหาญได้อย่างไร?
6 เราต้องกล้าหาญเหมือนโมเซ เพราะพระเยซูตรัสว่า “เจ้าจะถูกเอาตัวไปอยู่ต่อหน้าผู้ว่าราชการและกษัตริย์เพราะเรา เพื่อบอกพวกเขาและชนต่างชาติให้รู้ความจริง. แต่เมื่อพวกเขาส่งเจ้าทั้งหลายไปนั้น อย่ากังวลว่าจะพูดอย่างไรหรือจะพูดอะไร เพราะสิ่งที่เจ้าจะต้องพูดจะทรงประทานแก่เจ้าในเวลานั้น ด้วยว่าไม่ใช่เจ้าเท่านั้นที่พูด แต่เป็นพระวิญญาณของพระบิดาที่ตรัสผ่านทางเจ้า.” (มัด. 10:18-20) ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไต่สวนเรา พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะช่วยให้เราสามารถปกป้องความเชื่อของเราอย่างที่แสดงความนับถือ ด้วยความเชื่อและความกล้าหาญ.—อ่านลูกา 12:11, 12
7. เหตุใดยะโฮซูอะจึงมีความกล้าหาญและประสบความสำเร็จ?
7 การศึกษากฎหมายของพระเจ้าเป็นประจำช่วยเสริมความเชื่อและความกล้าหาญของยะโฮซูอะ ผู้สืบตำแหน่งต่อจากโมเซ. ในปี 1473 ก่อน ส.ศ. ชาวอิสราเอลกำลังจะเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา. พระเจ้าทรงมีพระบัญชาว่า “จงมีกำลังเข้มแข็งและใจกล้าหาญโดยแท้.” ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติ ยะโฮซูอะจะกระทำอย่างสุขุมและจะประสบความสำเร็จ. พระเจ้าตรัสกับท่านว่า “อย่าสะดุ้งตกใจกลัวเลย, เพราะว่าเจ้าจะไปทางใด ๆ ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะสถิตอยู่ด้วย.” (ยโฮ. 1:7-9) คำตรัสนี้คงทำให้ยะโฮซูอะเข้มแข็งขึ้นแน่ ๆ! และพระเจ้าทรงสถิตกับท่านอย่างแน่นอน เพราะเมื่อถึงปี 1467 ก่อน ส.ศ. ชาวอิสราเอลก็พิชิตแผ่นดินที่ทรงสัญญาได้เกือบทั้งหมดโดยที่ใช้เวลาเพียงหกปีเท่านั้น.
สตรีที่ยืนหยัดอย่างกล้าหาญ
8. เหตุใดราฮาบจึงเป็นตัวอย่างในเรื่องความเชื่อและความกล้าหาญ?
8 ตลอดหลายศตวรรษ สตรีที่กล้าหาญหลายคนได้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญในฐานะผู้นมัสการพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น ราฮาบหญิงโสเภณีแห่งเมืองเยริโคแสดงความเชื่อในพระเจ้าโดยกล้าซ่อนคนสอดแนมสองคนที่ยะโฮซูอะส่งไป แล้วชี้บอกบริวารของกษัตริย์ให้ไปทางอื่น. นางกับครอบครัวได้รับการช่วยให้รอดชีวิตเมื่อชาวอิสราเอลยึดเมืองเยริโค. ราฮาบเลิกอาชีพบาป หันมานมัสการพระยะโฮวาด้วยความซื่อสัตย์ และกลายมาเป็นบรรพสตรีของพระมาซีฮา. (ยโฮ. 2:1-6; 6:22, 23; มัด. 1:1, 5) ความเชื่อและความกล้าหาญของนางทำให้นางได้รับพระพรมากมายจริง ๆ!
9. ดะโบรา บาราค และยาเอลได้แสดงความกล้าหาญอย่างไร?
9 หลังจากที่ยะโฮซูอะสิ้นชีวิตราว ๆ ปี 1450 ก่อน ส.ศ. เหล่าผู้วินิจฉัยเป็นผู้ที่จัดการเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยความยุติธรรมในอิสราเอล. ยาบีนกษัตริย์คะนาอันกดขี่ชาวอิสราเอลนานถึง 20 ปี พระเจ้าจึงให้ผู้พยากรณ์หญิงดะโบรากระตุ้นผู้วินิจฉัยบาราคให้ลงมือปฏิบัติการ. บาราครวบรวมชาย 10,000 คนที่ภูเขาทาโบร์เพื่อจะรบกับแม่ทัพซีซะราของกษัตริย์ยาบีน ซึ่งยกทัพมาที่หุบเขาคีโซนพร้อมกับรถรบ 900 คัน. เมื่อชาวอิสราเอลเดินทัพเข้าสู่ที่ราบหุบเขานี้ พระเจ้าทรงบันดาลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากที่เปลี่ยนสมรภูมิให้เป็นโคลนตมและทำให้รถรบของชาวคะนาอันติดหล่ม. คนของบาราคได้ชัยชนะ และ “พลทหารของซีซะราก็ต้องอาวุธล้มตายหมด.” ซีซะราเองหนีไปหลบอยู่ในกระโจมของยาเอล แต่ถูกนางฆ่าตอนที่เขากำลังหลับอยู่. สมจริงตามคำพยากรณ์ของดะโบราที่กล่าวกับบาราค “ยศศักดิ์” แห่งชัยชนะในครั้งนี้ตกอยู่กับยาเอลซึ่งเป็นเพียงสตรีคนหนึ่ง. เพราะดะโบรา บาราค และยาเอลลงมือกระทำอย่างกล้าหาญ แผ่นดินอิสราเอลจึง “สงบเงียบอยู่สี่สิบปี.” (วินิจ. 4:1-9, 14-22; 5:20, 21, 31) ชายหญิงที่เลื่อมใสพระเจ้าจำนวนมากแสดงความเชื่อและความกล้าหาญคล้าย ๆ กัน.
คำพูดของเราอาจกระตุ้นให้เกิดความกล้า
10. เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าคำพูดของเราสามารถกระตุ้นให้เกิดความกล้าได้?
10 คำพูดของเราอาจกระตุ้นเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวาให้มีความกล้าได้. ในศตวรรษที่ 11 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์ดาวิดบอกโซโลมอน ราชบุตรของท่าน ว่า “จงเข้มแข็งและกล้าหาญและทำให้สำเร็จเถิด อย่ากลัวเลยอย่าขยาดเพราะว่าพระเยโฮวาห์พระเจ้า คือพระเจ้าของข้า ทรงสถิตกับเจ้า พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้เจ้าล้มเหลวหรือทอดทิ้งเจ้าจนกว่างานทั้งสิ้นสำหรับงานปรนนิบัติแห่งพระนิเวศของเจ้าจะสำเร็จ.” (1 โคร. 28:20, ฉบับ R73) โซโลมอนลงมือกระทำอย่างกล้าหาญและสร้างพระวิหารที่สง่างามของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลม.
11. คำพูดที่กล้าหาญของเด็กหญิงชาวอิสราเอลส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของชายคนหนึ่ง?
11 ในศตวรรษที่สิบก่อน ส.ศ. คำพูดที่กล้าหาญของเด็กหญิงชาวอิสราเอลคนหนึ่งทำให้คนโรคเรื้อนคนหนึ่งได้รับพระพร. เธอถูกชาวซีเรียจับตัวและกลายมาเป็นข้ารับใช้ในบ้านของนามาน แม่ทัพใหญ่ของซีเรียซึ่งเป็นโรคเรื้อน. เพราะรู้ว่าเอลีชาทำการอัศจรรย์หลายอย่างด้วยอำนาจที่มาจากพระยะโฮวา เธอจึงบอกภรรยาของนามานว่าถ้าสามีของนางไปที่ประเทศอิสราเอล ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าจะรักษาเขาได้. นามานเดินทางไปแผ่นดินอิสราเอลจริง ๆ และได้รับการรักษาอย่างอัศจรรย์ แล้วก็ได้มาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. (2 กษัต. 5:1-3, 10-17) ถ้าคุณเป็นเยาวชนที่รักพระเจ้าเหมือนกับเด็กหญิงคนนี้ พระองค์จะประทานความกล้าให้คุณสามารถประกาศแก่ครู เพื่อนนักเรียน และคนอื่น ๆ.
12. คำพูดของกษัตริย์ฮิศคียาก่อผลอย่างไรต่อประชาชน?
12 คำพูดที่เลือกอย่างดีในยามที่เกิดภัยอันตรายอาจกระตุ้นให้เกิดความกล้าได้. เมื่อชาวอัสซีเรียยกทัพมาต่อสู้กรุงเยรูซาเลมในศตวรรษที่แปดก่อน ส.ศ. กษัตริย์ฮิศคียาห์บอกประชาชนของท่านว่า “ท่านทั้งหลายจงตั้งใจมั่นคงกล้าหาญ, อย่าวิตกใจกลัวเพราะกษัตริย์อาซูเรีย, หรือทหารกองใหญ่ที่มากับท่านนั้น; ด้วยผู้ที่อยู่ฝ่ายเราก็ใหญ่กว่าที่อยู่ฝ่ายเขา. ฝ่ายเขามีแขนกับเนื้อ; แต่ฝ่ายเรามีพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเราทรงสถิตอยู่, เพื่อจะรักษาในการศึกสงครามของเรา.” ประชาชนมีปฏิกิริยาต่อคำพูดนี้อย่างไร? “พลเมืองก็วางใจในพระดำรัสของฮิศคียา”! (2 โคร. 32:7, 8) คำพูดคล้าย ๆ กันนี้อาจกระตุ้นเราเองและคริสเตียนคนอื่น ๆ ให้มีความกล้าเมื่อเราถูกข่มเหง.
13. เหตุใดโอบัดยา อธิบดีกรมวังของกษัตริย์อาฮาบ จึงเป็นตัวอย่างในเรื่องความกล้าหาญ?
13 บางครั้งความกล้าหาญแสดงออกได้โดยไม่ต้องพูด. ในศตวรรษที่สิบก่อน ส.ศ. โอบัดยา อธิบดีกรมวังของกษัตริย์อาฮาบ แสดงความกล้าหาญด้วยการซ่อนผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาหนึ่งร้อยคน โดยซ่อนไว้ “พวกละห้าสิบคนในถ้ำ” เพื่อพวกเขาจะไม่ถูกราชินีอีซาเบลผู้ชั่วร้ายฆ่า. (1 กษัต. 18:4) เช่นเดียวกับโอบัดยาผู้เกรงกลัวพระเจ้า ผู้รับใช้หลายคนที่ภักดีของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันได้ปกป้องเพื่อนร่วมความเชื่ออย่างกล้าหาญโดยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาแก่พวกผู้ข่มเหง.
เอศเธระ ราชินีผู้กล้าหาญ
14, 15. ราชินีเอศเธระแสดงความเชื่อและความกล้าหาญอย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
14 ราชินีเอศเธระแสดงความเชื่อและความกล้าหาญอย่างมากเมื่อฮามานผู้ชั่วร้ายวางแผนที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวทั่วทั้งจักรวรรดิเปอร์เซียในศตวรรษที่ห้าก่อน ส.ศ. ไม่แปลกเลยที่ชาวยิวไว้ทุกข์และอดอาหารพร้อมทั้งอธิษฐานอย่างสุดหัวใจ! (เอศ. 4:1-3) ราชินีเอศเธระเป็นทุกข์ใจอย่างยิ่ง. มาระดะคายลูกพี่ลูกน้องของนางส่งสำเนากฎหมายฉบับหนึ่งมาให้นางซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจสังหารหมู่ และบอกนางให้เข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อวิงวอนให้ช่วยเพื่อนร่วมชาติชาวยิวของนาง. แต่ใครก็ตามที่เข้าเฝ้ากษัตริย์โดยไม่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้ามีโทษถึงตาย.—เอศ. 4:4-11
15 ถึงกระนั้น มาระดะคายบอกเอศเธระว่า ‘ถ้าพระนางจะนิ่งเสียแล้ว ความรอดจะมาจากที่อื่น. แต่พระนางได้เสด็จมาถึงแผ่นดินเพื่อเหตุดังนี้หรือไม่ใครจะรู้?’ เอศเธระจึงบอกมาระดะคายให้รวบรวมชาวยิวทั้งปวงในกรุงซูซัรให้ถือศีลอดอาหารเพื่อนาง. นางกล่าวว่า “เราจะถือศีลอาหารด้วยเหมือนกัน; และดังนั้นเราจะเข้าไปเฝ้ากษัตริย์นั้น, แม้เป็นการผิดกฎหมาย; แม้ถึงเราจะต้องตายก็ตายเถิด.” (เอศ. 4:12-17) เอศเธระกระทำด้วยความกล้าหาญ และหนังสือเอศเธระบอกว่าพระเจ้าทรงช่วยประชาชนของพระองค์. ในสมัยของเรา คริสเตียนผู้ถูกเจิมและสหายของพวกเขาที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าได้แสดงความกล้าหาญคล้าย ๆ กันเมื่อถูกทดสอบ และ “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงอยู่ฝ่ายพวกเขาเสมอ.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 65:2; 118:6
“จงกล้าหาญเถิด”
16. พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรไว้สำหรับเยาวชนของเรา?
16 ณ โอกาสหนึ่งในศตวรรษแรกสากลศักราช ตอนที่พระเยซูมีพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์ “นั่งอยู่ในพระวิหารท่ามกลางพวกอาจารย์ กำลังฟังและซักถามพวกเขาอยู่.” นอกจากนั้น “คนทั้งหลายที่ฟังพระองค์ก็อัศจรรย์ใจในความเข้าใจและคำตอบของพระองค์.” (ลูกา 2:41-50) แม้ว่าพระเยซูยังเป็นเด็ก พระองค์ทรงมีความเชื่อและความกล้าที่จะซักถามผู้ใหญ่ที่เป็นอาจารย์ในพระวิหาร. การจำตัวอย่างของพระเยซูไว้จะช่วยเยาวชนในประชาคมคริสเตียนให้ใช้ทุกโอกาสเพื่อ ‘ปกป้องความหวังของพวกเขาโดยชี้แจงแก่ทุกคนที่อยากรู้ว่าทำไมพวกเขาหวังอย่างนั้น.’—1 เป. 3:15
17. เหตุใดพระเยซูทรงกระตุ้นเหล่าสาวกว่า “จงกล้าหาญเถิด” และทำไมเราจำเป็นต้องกล้าหาญ?
17 พระเยซูทรงกระตุ้นคนอื่น ๆ ให้มีความกล้าหาญ. พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “คอยดูเถิด! เวลาจะมาถึง ที่จริง เวลานั้นมาถึงแล้ว เมื่อพวกเจ้าจะกระจัดกระจายไปแล้วต่างคนต่างกลับบ้านของตน และพวกเจ้าจะทิ้งเราไว้คนเดียว แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะพระบิดาทรงอยู่กับเรา. เราบอกเรื่องเหล่านี้แก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะมีสันติสุขโดยเรา. ในโลกนี้พวกเจ้ามีความทุกข์ลำบาก แต่จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.” (โย. 16:32, 33) เช่นเดียวกับเหล่าสาวกรุ่นแรกของพระเยซู เราถูกโลกเกลียดชัง แต่ขอเราอย่ากลายเป็นเหมือนผู้คนในโลก. การใคร่ครวญวิถีชีวิตที่กล้าหาญของพระบุตรของพระเจ้าทำให้เรากล้ารักษาตัวให้พ้นมลทินของโลกนี้. พระองค์ทรงชนะโลกแล้ว และเราก็สามารถชนะได้เช่นกัน.—โย. 17:16; ยโก. 1:27
“จงมีใจกล้าเถิด!”
18, 19. อัครสาวกเปาโลให้หลักฐานอะไรในเรื่องความเชื่อและความกล้าหาญ?
18 อัครสาวกเปาโลได้อดทนการทดสอบหลายอย่าง. ในโอกาสหนึ่ง ชาวยิวในกรุงเยรูซาเลมคงฉีกท่านเป็นชิ้น ๆ ไปแล้วถ้าทหารโรมันไม่ช่วยท่านไว้เสียก่อน. คืนนั้น “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมายืนอยู่ข้างเปาโลและตรัสว่า ‘จงมีใจกล้าเถิด! ด้วยว่าเจ้าได้ประกาศเรื่องของเราอย่างถี่ถ้วนแล้วในกรุงเยรูซาเลม จงประกาศในกรุงโรมอย่างนั้นด้วย.’ ” (กิจ. 23:11) เปาโลทำตามคำตรัสนี้.
19 เปาโลตำหนิ “พวกอัครสาวกสุดวิเศษ” อย่างไม่เกรงกลัว เพราะพวกเขาพยายามทำให้ประชาคมในเมืองโครินท์เสื่อมเสีย. (2 โค. 11:5; 12:11) ท่านไม่เหมือนกับพวกเขาเพราะท่านสามารถให้ข้อพิสูจน์ว่าท่านเป็นอัครสาวกโดยชี้ถึงสิ่งที่ท่านประสบ เช่น การถูกจำคุก การถูกเฆี่ยน ภัยอันตรายในการเดินทาง อันตรายอื่น ๆ ความหิว ความกระหาย การอดหลับอดนอน รวมถึงการที่ท่านเป็นห่วงกังวลเพื่อนร่วมความเชื่ออย่างมาก. (อ่าน 2 โครินท์ 11:23-28) ช่างเป็นประวัติที่แสดงถึงความเชื่อและความกล้าหาญจริง ๆ! และทั้งหมดนั้นพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงช่วยท่านให้เข้มแข็ง.
20, 21. (ก) จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าเราต้องรวบรวมความกล้าต่อ ๆ ไป. (ข) เราอาจต้องแสดงความกล้าในสภาพการณ์เช่นไรบ้าง และเราจะมั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
20 ไม่ใช่คริสเตียนทุกคนจะถูกข่มเหงอย่างรุนแรง. แต่ทุกคนจำเป็นต้องรวบรวมความกล้าเพื่อรับมือข้อท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต. เพื่อเป็นตัวอย่าง: เด็กหนุ่มคนหนึ่งในประเทศบราซิลเคยเป็นสมาชิกของแก๊งหนึ่ง. หลังจากศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เขาเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่ตามปกติแล้วใครก็ตามที่ออกจากแก๊งจะถูกฆ่า. เขาอธิษฐานและให้หัวหน้าแก๊งดูข้อคัมภีร์ที่บอกให้รู้ว่าทำไมเขาไม่อาจจะร่วมแก๊งต่อไปได้. เด็กหนุ่มคนนี้ออกจากแก๊งนั้นได้โดยไม่ได้รับอันตรายใด ๆ และได้มาเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร.
21 เพื่อจะประกาศข่าวดี จำเป็นต้องมีความกล้าหาญ. เยาวชนคริสเตียนจำเป็นต้องมีคุณสมบัตินี้เพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์จงรักภักดีที่โรงเรียนได้. คริสเตียนที่ทำงานอาชีพอาจจำเป็นต้องมีความกล้าเพื่อจะขอลางานเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ครบทุกรายการได้. และยังมีตัวอย่างอื่นที่อาจยกขึ้นมาได้อีกหลายตัวอย่าง. แต่ไม่ว่าเราจะเผชิญข้อท้าทายอะไรก็ตาม พระยะโฮวาจะทรงฟังเมื่อเรา “อธิษฐานด้วยความเชื่อ.” (ยโก. 5:15) และพระองค์สามารถประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เราเพื่อเราจะ “มีกำลังเข้มแข็งและใจกล้าหาญ” ได้!
[ภาพหน้า 11]
ฮะโนคประกาศด้วยความกล้าหาญในโลกที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า
[ภาพหน้า 12]
ยาเอลกล้าหาญและเข้มแข็ง