จงใกล้ชิดพระเจ้า
“ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ากลับมาหาพระองค์”
ในอดีตคุณเคยเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาไหม? คุณเคยสงสัยไหมว่าถ้าคุณอยากกลับมารับใช้พระเจ้าอีกครั้ง พระองค์จะยินดีต้อนรับคุณไหม? โปรดอ่านบทความนี้และบทความต่อไปแล้วคิดใคร่ครวญอย่างจริงจัง. ทั้งสองบทความนี้เขียนขึ้นเพื่อคุณโดยเฉพาะ.
“ฉันทูลขอพระยะโฮวาโปรดให้ฉันกลับมาหาพระองค์และให้อภัยฉันที่เคยทำให้พระองค์เสียพระทัย.” นี่เป็นคำกล่าวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยละทิ้งแนวทางชีวิตคริสเตียนซึ่งเธอได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก. คุณเข้าใจความรู้สึกของเธอไหม? คุณสงสัยไหมว่า ‘พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับคนที่เคยรับใช้พระองค์? พระองค์ยังจำพวกเขาได้ไหม? พระองค์อยากให้พวกเขา “กลับมาหาพระองค์” ไหม?’ เพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้ให้เราพิจารณาถ้อยคำที่ยิระมะยาห์บันทึกไว้. คำตอบที่ได้รับจะทำให้คุณรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างแน่นอน.—อ่านยิระมะยา 31:18-20
ขอให้คิดถึงเหตุการณ์ตอนที่ยิระมะยาห์กล่าวถ้อยคำนั้น. ก่อนสมัยยิระมะยาห์หลายสิบปี คือในปี 740 ก่อนสากลศักราช พระยะโฮวาทรงปล่อยให้อาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลตกเป็นเชลยของชาวอัสซีเรีย.a พระเจ้าทรงยอมให้ประชาชนของพระองค์ประสบความทุกข์ยากเพื่อสอนบทเรียนแก่พวกเขา เนื่องจากพวกเขาทำบาปอย่างใหญ่หลวงและไม่ใส่ใจคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าของผู้พยากรณ์ที่พระองค์ส่งมา. (2 กษัตริย์ 17:5-18) ชาวอิสราเอลสำนึกตัวไหมเมื่อต้องเป็นเชลยในดินแดนที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนและจากพระเจ้าของพวกเขา? พระยะโฮวาทรงลืมพวกเขาแล้วไหม? พระเจ้ายังอยากให้พวกเขากลับมาหาพระองค์ไหม?
“ข้าพระองค์ก็กลับใจ”
ขณะที่เป็นเชลยอยู่นั้น ชาวอิสราเอลได้สำนึกตัวและกลับใจ. พระยะโฮวาทรงสังเกตว่าพวกเขาสำนึกผิดและกลับใจอย่างแท้จริง. ขอให้สังเกตคำตรัสของพระองค์เมื่อพรรณนาถึงทัศนะและความรู้สึกของชาวยิวที่ถูกเนรเทศโดยเรียกพวกเขาว่าเอฟรายิม.
พระยะโฮวาตรัสว่า “เราได้ยินเอ็ฟรายิมร้องทุกข์แก่ตัวเอง.” (ข้อ 18) พระองค์ได้ยินชาวอิสราเอลคร่ำครวญถึงความทุกข์ยากที่พวกเขาได้รับเนื่องจากได้ทำบาปต่อพระเจ้า. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งอธิบายว่า วลี “ร้องทุกข์แก่ตัวเอง” อาจหมายถึง “การเขย่าหรือการสั่น.” ชาวอิสราเอลเป็นเหมือนลูกที่หลงผิดซึ่งสั่นศีรษะด้วยความทุกข์ใจ เมื่อคิดถึงความยากลำบากที่เกิดจากการกระทำที่โง่เขลาของตัวเองและหวนคิดถึงชีวิตที่มีความสุขเมื่อยังอยู่กับพ่อ. (ลูกา 15:11-17) พวกเขาพูดอะไร?
‘พระองค์ได้ตีโบยข้าพเจ้า . . . ดุจวัวตัวผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยแก่แอก.’ (ข้อ 18) ชาวอิสราเอลยอมรับว่าพวกเขาสมควรได้รับการตีสอน. ที่จริง พวกเขาเป็นเหมือนลูกวัวที่ยังไม่เคยถูกฝึก. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้อาจหมายความว่าชาวอิสราเอลเป็นเหมือนลูกวัวซึ่งจะไม่มีทาง “ถูกประตักแทงให้เจ็บตัวถ้าตอนแรกยอมให้ใส่แอกแต่โดยดี.”
“ขอพระองค์ได้โปรดหันใจข้าพเจ้า, แล้วข้าพเจ้าจะได้กลับหัน (แก่พระองค์), เพราะพระองค์ได้เป็นพระยะโฮวา, พระเจ้าของข้าพเจ้า.” (ข้อ 18) ชาวอิสราเอลถ่อมใจลงและทูลอ้อนวอนต่อพระเจ้า. พวกเขาได้หลงไปกับแนวทางที่ผิดบาป แต่ตอนนี้พวกเขาวิงวอนขอความช่วยเหลือเพื่อจะกลับมาเป็นคนที่พระเจ้าโปรดปรานอีกครั้ง. พระคัมภีร์ฉบับหนึ่งแปลข้อนี้ว่า “พระองค์เป็นพระเจ้าของพวกข้าพเจ้า ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ากลับมาหาพระองค์.”—ฉบับคอนเทมโพรารี อิงลิช
“ข้าพระองค์ก็กลับใจ . . . ข้าพระองค์อับอายและข้าพระองค์ก็ขายหน้า.” (ข้อ 19, ฉบับ R73) ชาวอิสราเอลเสียใจที่พวกเขาได้ทำบาปต่อพระเจ้า. พวกเขายอมรับคำตำหนิและยอมรับว่าตนเองได้ทำบาป. พวกเขาเศร้าใจกับสภาพที่น่าอัปยศอดสูของตน.—ลูกา 15:18, 19, 21
ชาวอิสราเอลกลับใจแล้ว. พวกเขารู้สึกเสียใจ สารภาพความผิดต่อพระเจ้า และหันกลับจากแนวทางชั่วของตน. พระเจ้าจะให้อภัยพวกเขาไหมเมื่อเห็นการกลับใจเช่นนั้น? พระองค์จะยินดีให้พวกเขากลับมาหาพระองค์ไหม?
“เราคงจะมีความเมตตาเหนือเขา”
พระยะโฮวาทรงมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อชาวอิสราเอล. พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นพระบิดาแก่ยิศราเอล, แลเอ็ฟรายิมเป็นบุตรหัวปีของเรา.” (ยิระมะยา 31:9) พ่อที่รักลูกจะผลักไสไล่ส่งลูกได้หรือถ้าลูกสำนึกผิดและกลับตัวกลับใจจริง ๆ? ขอให้สังเกตวิธีที่พระยะโฮวาตรัสกับประชาชนของพระองค์ด้วยความรู้สึกแบบที่พ่อมีต่อลูก.
“เอฟราอิมเป็นบุตรชายที่รักของเราหรือ เขาเป็นลูกที่รักของเราหรือ เพราะเราจะพูดกล่าวโทษเขาตราบใด เราก็ยังระลึกถึงเขาอยู่ตราบนั้น.” (ข้อ 20, ฉบับ R73) นี่เป็นคำตรัสที่อ่อนโยนจริง ๆ! เช่นเดียวกับพ่อที่หนักแน่นแต่ก็เปี่ยมด้วยความรัก พระยะโฮวาจำเป็นต้อง “พูดกล่าวโทษ” บุตรของพระองค์ และเตือนพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่าให้หันกลับจากแนวทางที่ผิดบาป. เมื่อพวกเขาดื้อรั้นไม่ยอมเชื่อฟัง พระเจ้าก็ปล่อยให้พวกเขาถูกจับไปเป็นเชลยหรือถูกพรากไปจากพระองค์. แม้ว่าพระเจ้าจำเป็นต้องลงโทษพวกเขา แต่พระองค์ก็ไม่ทรงลืมพวกเขา. พระองค์ไม่มีทางลืมพวกเขาได้เลย. พ่อที่รักลูกย่อมไม่มีวันลืมลูกของตน. แล้วพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นบุตรของพระองค์กลับใจจริง ๆ?
“เหตุดังนี้ท้องของเราเป็นทุกข์เพราะเขา,b เราคงจะมีความเมตตาเหนือเขา.” (ข้อ 20) พระยะโฮวาทรงอาลัยอาวรณ์เหล่าบุตรของพระองค์. พระองค์ตื้นตันพระทัยที่เห็นพวกเขากลับใจอย่างแท้จริง และทรงปรารถนาอย่างสุดซึ้งให้พวกเขากลับมาหาพระองค์. เช่นเดียวกับพ่อในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย พระยะโฮวาทรง “รู้สึกสงสาร” และเฝ้ารอการกลับมาของบุตรที่หลงผิด.—ลูกา 15:20
“พระยะโฮวาทรงโปรดให้ฉันกลับมาหาพระองค์!”
ถ้อยคำในยิระมะยา 31:18-20 ช่วยให้เรามองเห็นความเอ็นดูสงสารและความเมตตาของพระยะโฮวา. พระเจ้าไม่ทรงลืมคนที่เคยรับใช้พระองค์. จะว่าอย่างไรถ้าคนเหล่านี้ต้องการกลับมาหาพระองค์? พระเจ้า “พร้อมที่จะทรงยกความผิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5) พระองค์จะไม่มีวันหันหลังให้คนที่กลับมาหาพระองค์ด้วยใจที่สำนึกผิด. (บทเพลงสรรเสริญ 51:17) ตรงกันข้าม พระองค์ทรงเต็มพระทัยต้อนรับพวกเขากลับมา.—ลูกา 15:22-24
ผู้หญิงที่กล่าวถึงในตอนต้นบทความนี้ได้ตัดสินใจกลับมาหาพระยะโฮวา. เธอไปที่หอประชุมของพยานพระยะโฮวา. ตอนแรก เธอต้องพยายามขจัดความรู้สึกในแง่ลบออกไป. เธอเล่าว่า “ฉันรู้สึกเหมือนคนไร้ค่า.” แต่ผู้ปกครองในประชาคมหนุนใจเธอ และช่วยเธอให้กลับมามีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าอีกครั้ง. เธอพูดด้วยความซาบซึ้งใจว่า “ช่างเป็นพระคุณอย่างเหลือล้นที่พระยะโฮวาทรงโปรดให้ฉันกลับมาหาพระองค์!”
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยรับใช้พระยะโฮวาและอยากกลับมารับใช้พระองค์อีกครั้ง เราขอสนับสนุนคุณให้ไปที่หอประชุมของพยานพระยะโฮวาที่ใกล้บ้านคุณ. ขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงพร้อมที่จะแสดงความเมตตากรุณาแก่ทุกคนที่กลับใจและทูลวิงวอนต่อพระองค์ว่า “ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ากลับมาหาพระองค์.”
ข้อคัมภีร์ที่แนะให้อ่านสำหรับเดือนเมษายน:
[เชิงอรรถ]
a หลายร้อยปีก่อนหน้านั้น ในปี 997 ก่อน ส.ศ. ชาติอิสราเอลถูกแบ่งออกเป็นสองอาณาจักร คืออาณาจักรยูดาห์สองตระกูลทางใต้กับอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือ. พระเจ้าทรงเรียกอิสราเอลสิบตระกูลนี้ว่าเอฟรายิม ตามชื่อของตระกูลที่ใหญ่ที่สุด.
b คู่มือผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายสำนวนเกี่ยวกับคำว่า “ท้อง” ในข้อคัมภีร์นี้ว่า “สำหรับชาวยิว อวัยวะภายในเป็นศูนย์รวมของอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น.”