กิตติคุณนอกสารบบ—ความจริงที่ถูกปิดซ่อนเกี่ยวกับพระเยซูหรือ?
“นี่เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ต้องมีหลายคนไม่พอใจแน่ ๆ.” “กิตติคุณเหล่านี้จะทำให้ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสเตียนยุคเริ่มแรกเปลี่ยนไป.” คำกล่าวเหล่านี้แสดงถึงความตื่นเต้นดีใจของเหล่านักวิชาการเมื่อรู้ว่าจะมีการตีพิมพ์ “กิตติคุณของยูดาส” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นข้อเขียนที่หายสาบสูญไปนานกว่า 1,600 ปีแล้ว (ภาพด้านบน).
ผู้คนเริ่มหันมาสนใจกิตติคุณนอกสารบบกันอีกครั้ง. บางคนอ้างว่าข้อเขียนเหล่านี้เปิดเผยเหตุการณ์สำคัญและคำสอนต่าง ๆ จากเรื่องราวชีวิตของพระเยซูซึ่งถูกปิดซ่อนไว้นานมาแล้ว. แต่กิตติคุณนอกสารบบคืออะไร? กิตติคุณเหล่านี้สามารถสอนความจริงเกี่ยวกับพระเยซูและศาสนาคริสเตียนที่เราไม่สามารถหาอ่านได้ในคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ หรือ?
กิตติคุณในสารบบและนอกสารบบพระคัมภีร์
ระหว่างปีสากลศักราช 41-98 มัดธาย มาระโก ลูกา และโยฮันได้เขียน “ประวัติของพระเยซูคริสต์.” (มัดธาย 1:1) บางครั้งบันทึกเหล่านี้ถูกเรียกว่ากิตติคุณ ซึ่งหมายถึง “ข่าวดี” เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์.—มาระโก 1:1
ถึงแม้มีคำสอนสืบปากและข้อเขียนมากมายเกี่ยวกับพระเยซู แต่มีเพียงกิตติคุณสี่เล่มนี้เท่านั้นที่ถือว่าได้รับการดลใจจากพระเจ้า และสมควรเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์บริสุทธิ์. กิตติคุณเหล่านี้เปิดเผย “ความจริง” เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูบนแผ่นดินโลกและคำสอนของพระองค์. (ลูกา 1:1-4; กิจการ 1:1, 2; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) ในบัญชีรายชื่อหนังสือของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกทุกชุดที่ทำขึ้นในสมัยโบราณมีชื่อของกิตติคุณทั้งสี่เล่มนี้รวมอยู่ด้วย. ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะสงสัยว่ากิตติคุณทั้งสี่เล่มนี้อยู่ในสารบบพระคัมภีร์หรือไม่. กิตติคุณเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าอย่างแน่นอน.
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเริ่มมีข้อเขียนอื่น ๆ ปรากฏออกมาให้เห็นและถูกเรียกว่ากิตติคุณเช่นกัน. กิตติคุณที่เพิ่มเข้ามาในภายหลังนี้เรียกว่า กิตติคุณนอกสารบบหรือหนังสืออธิกธรรม.a
ปลายศตวรรษที่สองสากลศักราช อีรีเนอุสแห่งลียงได้เขียนว่าคนที่แยกตัวออกจากศาสนาคริสเตียนมี “ข้อเขียนเท็จนอกสารบบพระคัมภีร์เก็บไว้เป็นจำนวนมาก” รวมทั้งกิตติคุณที่ “พวกเขาแต่งขึ้นเองเพื่อทำให้คนที่โง่เขลาสับสน.” ดังนั้น กิตติคุณนอกสารบบเหล่านี้ในที่สุดจึงถูกมองว่าเป็นหนังสืออันตรายซึ่งไม่ควรอ่านหรือแม้แต่จะมีไว้ในครอบครอง.
อย่างไรก็ตาม เหล่านักบวชในยุคกลางและนักคัดลอกได้แอบทำสำเนาข้อเขียนเหล่านี้ไว้เพื่อไม่ให้สาบสูญไป. ในศตวรรษที่ 19 ผู้คนให้ความสนใจในข้อเขียนเหล่านี้มากขึ้นและเริ่มมีสำเนาอธิกธรรมจากหลายที่หลายแหล่งปรากฏให้เห็นมากมาย รวมทั้งกิตติคุณต่าง ๆ ที่ผ่านการแก้ไขขัดเกลาโดยเหล่านักวิชาการ. ปัจจุบันมีการตีพิมพ์ข้อเขียนเหล่านี้เป็นภาษาหลัก ๆ หลายภาษา.
กิตติคุณนอกสารบบ: บันทึกที่บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับพระเยซู
กิตติคุณนอกสารบบมักจะมุ่งความสนใจไปที่ผู้คนซึ่งกิตติคุณในสารบบพระคัมภีร์แทบจะไม่กล่าวถึง หรือไม่กล่าวถึงเลยด้วยซ้ำ. นอกจากนั้น กิตติคุณบางเล่มยังพูดถึงเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเกิดขึ้นตอนที่พระเยซูเป็นทารก. ขอพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้.
◼ “กิตติคุณยุคต้นของยาโกโบ” หรือที่เรียกว่า “กำเนิดพระแม่มาเรีย” เล่าประวัติชีวิตของมาเรียตั้งแต่เกิดจนถึงตอนที่เธอแต่งงานกับโยเซฟ. ดังนั้น นับว่าเหมาะที่กิตติคุณเล่มนี้จะถูกเรียกว่านิยายทางศาสนาและตำนาน. กิตติคุณเล่มนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่านางมาเรียเป็นพรหมจารีตลอดกาลและเห็นได้ชัดว่าเขียนขึ้นเพื่อยกย่องให้เกียรติเธอ.—มัดธาย 1:24, 25; 13:55, 56
◼ “กิตติคุณของโทมัสเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ของพระเยซู” เล่าเรื่องราวชีวิตพระเยซูในช่วงที่มีพระชนมายุ 5 ถึง 12 พรรษา และยังกล่าวด้วยว่าพระองค์ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย. (ดูโยฮัน 2:11) กิตติคุณเล่มนี้ให้ภาพพระเยซูว่าเป็นเด็กซุกซน เจ้าอารมณ์ อาฆาตแค้น และชอบใช้อิทธิฤทธิ์เพื่อแก้แค้นครูอาจารย์ เพื่อนบ้าน และเด็กคนอื่น ๆ โดยทำให้ตาบอด พิการ หรือถึงกับฆ่าพวกเขา.
◼ กิตติคุณนอกสารบบบางเล่ม เช่น “กิตติคุณของเปโตร” พูดถึงเหตุการณ์ตอนที่พระเยซูถูกพิจารณาคดี สิ้นพระชนม์ และคืนพระชนม์. ส่วนกิตติคุณเล่มอื่น ๆ เช่น “กิจการของปีลาต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “กิตติคุณของนิโคเดมุส” ได้เน้นเรื่องของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น. เนื่องจากมีการอ้างถึงรายละเอียดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและชื่อคนที่อุปโลกน์ขึ้น ข้อเขียนเหล่านี้จึงขาดความน่าเชื่อถือ. “กิตติคุณของเปโตร” พยายามแก้ต่างให้ปอนติอุส ปีลาต และพรรณนาเหตุการณ์ตอนที่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์แบบพิลึกพิลั่นราวกับเทพนิยาย.
กิตติคุณนอกสารบบกับการออกหากในศาสนาคริสเตียน
ในเดือนธันวาคม 1945 ชาวนากลุ่มหนึ่งได้พบม้วนหนังสือพาไพรัส 13 ม้วนโดยบังเอิญใกล้หมู่บ้านนักฮัมมาดีทางตอนเหนือของอียิปต์. ม้วนหนังสือเหล่านี้ประกอบด้วยข้อเขียน 52 ชิ้น. เอกสารพาไพรัสจากศตวรรษที่สี่เหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการตั้งกลุ่มผู้ที่เชื่อในเทววิทยาและปรัชญาที่เรียกว่าพวกนอสติก หรือลัทธินิยมความรู้. แนวคิดของพวกนอสติกซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์ลี้ลับ ลัทธินอกรีต ปรัชญากรีก ศาสนายิว และศาสนาคริสเตียนได้ทำให้คริสเตียนบางคนหลงไปจากความเชื่อ.—1 ติโมเธียว 6:20, 21
“กิตติคุณของโทมัส,” “กิตติคุณของฟิลิป,” และ “กิตติคุณแห่งสัจจะ” ซึ่งพบใกล้กับนักฮัมมาดี สนับสนุนแนวคิดแบบพวกนอสติกที่เชื่อเรื่องศาสตร์ลี้ลับ และทำให้ดูเหมือนว่าแนวคิดเหล่านี้มาจากพระเยซู. “กิตติคุณของยูดาส” ซึ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ก็ถือว่าเป็นกิตติคุณของพวกนอสติกด้วย. กิตติคุณเล่มนี้ยกย่องยูดาส (ยูดาห์) ว่าเป็นอัครสาวกคนเดียวเท่านั้นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าพระเยซูเป็นใคร. ผู้เชี่ยวชาญด้านกิตติคุณเล่มนี้บอกว่ากิตติคุณดังกล่าวพูดถึงพระเยซูว่าเป็น “อาจารย์และผู้เปิดเผยสติปัญญาและความรู้ ไม่ใช่ผู้ช่วยให้รอดที่สละชีวิตเพื่อไถ่บาปของคนทั้งโลก.” แต่กิตติคุณสี่เล่มที่มีขึ้นโดยการดลใจสอนว่าพระเยซูได้สละชีวิตเพื่อไถ่บาปของคนทั้งโลกจริง ๆ. (มัดธาย 20:28; 26:28; 1 โยฮัน 2:1, 2) เห็นได้ชัดว่า กิตติคุณนอกสารบบเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยมีเจตนาที่จะบั่นทอนความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล แทนที่จะเสริมสร้างความเชื่อให้มั่นคงยิ่งขึ้น.—กิจการ 20:30
กิตติคุณในสารบบเหนือกว่าอย่างไร?
การตรวจสอบกิตติคุณนอกสารบบอย่างละเอียดทำให้เห็นว่าข้อเขียนเหล่านี้เป็นเรื่องเท็จ. เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกิตติคุณในสารบบก็เห็นได้ชัดว่าข้อเขียนเหล่านี้ไม่ได้มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. (2 ติโมเธียว 1:13) เนื่องจากกิตติคุณนอกสารบบเขียนขึ้นโดยคนที่ไม่เคยรู้จักพระเยซูหรือเหล่าอัครสาวกของพระองค์จึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้อเขียนเหล่านี้จะเปิดเผยความจริงที่ถูกปิดซ่อนไว้เกี่ยวกับพระเยซูและศาสนาคริสเตียน. ที่จริง กิตติคุณเหล่านี้มีแต่เรื่องเท็จที่แต่งขึ้นตามจินตนาการเพ้อฝันซึ่งไม่ได้ช่วยผู้คนให้รู้จักพระเยซูและคำสอนของพระองค์เลย.—1 ติโมเธียว 4:1, 2
ตรงกันข้าม มัดธายกับโยฮันอยู่ในกลุ่มอัครสาวก 12 คน ส่วนมาระโกกับลูกาก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกับอัครสาวกเปโตรและเปาโล. พวกเขาเขียนกิตติคุณทั้งสี่เล่มโดยได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (2 ติโมเธียว 3:14-17) ด้วยเหตุนี้ กิตติคุณทั้งสี่เล่มนี้จึงมีข้อมูลและหลักฐานมากพอที่จะช่วยผู้คนให้เชื่อว่า “พระเยซูเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า.”—โยฮัน 20:31
[เชิงอรรถ]
a คำว่า “อธิกธรรม” แปลมาจากคำภาษากรีกที่หมายความว่า “ปิดซ่อนไว้.” แต่เดิมคำนี้หมายถึงข้อเขียนที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีแนวคิดหรือความเชื่ออย่างเดียวกัน และถูกปิดซ่อนไว้ไม่ให้คนนอกได้รับรู้. แต่ต่อมามีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงข้อเขียนที่ไม่ได้รวมอยู่ในสารบบที่เชื่อถือได้ของคัมภีร์ไบเบิล.
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Kenneth Garrett/National Geographic Stock