จงรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจเสมอ
“ลูกพ่อ จงรู้จักพระเจ้าของพ่อและรับใช้พระองค์ด้วยสุดหัวใจ.”—1 โคร. 28:9, ล.ม.
หาคำตอบสำหรับคำถามต่อไปนี้:
หัวใจโดยนัยคืออะไร?
เราอาจตรวจสอบหัวใจของเราโดยวิธีใด?
เราจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจได้อย่างไร?
1, 2. (ก) ส่วนใดของร่างกายที่พระคำของพระเจ้ามักกล่าวถึงในความหมายเป็นนัยบ่อยกว่าส่วนอื่น ๆ? (ข) เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะเข้าใจความหมายของหัวใจโดยนัย?
พระคำของพระเจ้ามักกล่าวถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ในความหมายเป็นนัย. ตัวอย่างเช่น ปฐมบรรพบุรุษโยบกล่าวว่า “ความอสัตย์อธรรมก็ไม่มีอยู่ที่มือ ของข้าฯ.” กษัตริย์โซโลมอนให้ข้อสังเกตว่า “ข่าวดีย่อมเป็นที่ให้กระดูก ทั้งหลายอ้วนพีขึ้น.” พระยะโฮวาทรงรับรองกับยะเอศเคลว่า “เราทำหน้าผาก ของท่านให้เป็นดังเพชรที่แข็งกว่าหิน.” และมีคนพูดกับอัครสาวกเปาโลว่า “ท่านนำเรื่องแปลกประหลาดมาถึงหู ของเรา.”—โยบ 16:17; สุภา. 15:30; ยเอศ. 3:9; กิจ. 17:20, ฉบับ R73
2 แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงในความหมายเป็นนัยบ่อยกว่าส่วนอื่น ๆ มาก. ส่วนดังกล่าวได้แก่อวัยวะที่ฮันนาผู้ซื่อสัตย์กล่าวถึงในคำอธิษฐาน ที่ว่า “จิตต์ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] ของข้าพเจ้าชื่นชมในพระยะโฮวา.” (1 ซามู. 2:1) อันที่จริง ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงหัวใจเกือบพันครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในความหมายเป็นนัย. เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะเข้าใจว่าหัวใจหมายถึงอะไร เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเราต้องปกป้องหัวใจของเรา.—อ่านสุภาษิต 4:23
หัวใจโดยนัยคืออะไร?
3. เราจะเข้าใจความหมายของคำว่า “หัวใจ” ในคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? จงอธิบายโดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบ.
3 แม้ว่าพระคำของพระเจ้าไม่มีคำนิยามของคำว่า “หัวใจ” แบบที่พบในพจนานุกรม แต่เราก็ยังเข้าใจความหมายของคำนี้ได้. โดยวิธีใด? ขอให้คิดถึงผนังภาพโมเสกอันวิจิตรซึ่งเกิดจากการนำหินก้อนเล็ก ๆ นับพันก้อนมาปะติดปะต่อไว้ด้วยกัน. เพื่อจะมองเห็นว่าหินทั้งหมดถูกจัดเรียงไว้ให้เป็นภาพอะไร เราต้องถอยออกมาและมองดูภาพนั้นทั้งภาพ. คล้ายกัน ถ้าเราดูหลาย ๆ ข้อที่มีการใช้คำว่า “หัวใจ” ในคัมภีร์ไบเบิล เราก็จะเข้าใจได้ว่าคำนี้ในข้อเหล่านั้นประกอบกันเป็นภาพภาพหนึ่ง. ภาพอะไร?
4. (ก) “หัวใจ” หมายถึงอะไร? (ข) คำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 22:37 หมายถึงอะไร?
4 ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้คำ “หัวใจ” เพื่อพรรณนาบุคคลภายในทั้งหมดของคนเรา. บุคคลภายในนี้รวมถึงความปรารถนา ความคิด นิสัยใจคอ ทัศนคติ ความสามารถ แรงจูงใจ และเป้าหมายของเรา. (อ่านพระบัญญัติ 15:7; ยะซายา 10:7; กิจการ 2:26) ดังที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวไว้ หัวใจเป็น “ผลรวมทั้งหมดของบุคคลที่อยู่ภายใน.” ในบางกรณี “หัวใจ” มีความหมายที่แคบกว่านั้น. ตัวอย่างเช่น พระเยซูตรัสว่า “จงรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดหัวใจของเจ้า ด้วยสุดชีวิตของเจ้า และด้วยสุดความคิดของเจ้า.” (มัด. 22:37) ในกรณีนี้ “หัวใจ” หมายถึงอารมณ์ ความปรารถนา และความรู้สึกของบุคคลภายใน. ด้วยการตรัสถึงหัวใจ ชีวิต และความคิดแยกต่างหากกันเช่นนี้ พระเยซูทรงเน้นว่าเราต้องแสดงความรักต่อพระเจ้าด้วยความรู้สึกจากใจ ด้วยวิธีที่เราดำเนินชีวิต และด้วยการใช้ความสามารถในการคิดของเรา. (โย. 17:3; เอเฟ. 6:6) แต่เมื่อกล่าวถึงเฉพาะ “หัวใจ” คำนี้หมายถึงบุคคลภายในทั้งหมด.
เหตุใดเราต้องปกป้องหัวใจของเรา?
5. เหตุใดเราต้องการรับใช้พระยะโฮวาอย่างเต็มที่ด้วยสุดหัวใจ?
5 กษัตริย์ดาวิดเตือนสติโซโลมอนในเรื่องหัวใจว่า “ลูกพ่อ จงรู้จักพระเจ้าของพ่อและรับใช้พระองค์ด้วยสุดหัวใจและด้วยความยินดี ด้วยว่าพระยะโฮวาทรงตรวจดูใจทุกคนและทรงพิเคราะห์ความคิดและความมุ่งหมายทุกอย่าง.” (1 โคร. 28:9, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ตรวจดูหัวใจทุกดวง รวมทั้งหัวใจของเราด้วย. (สุภา. 17:3; 21:2) เราจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าและมีอนาคตที่ดีได้ก็ต่อเมื่อพระองค์ทรงพอพระทัยสิ่งที่พบในหัวใจเรา. ด้วยเหตุนั้น เรามีเหตุผลที่ดีที่จะทำตามคำแนะนำของดาวิดซึ่งได้รับการดลใจโดยการรับใช้พระยะโฮวาอย่างเต็มที่ด้วยสุดหัวใจ.
6. เราควรตระหนักเช่นไรในเรื่องความตั้งใจของเราที่จะรับใช้พระยะโฮวา?
6 การงานที่เราทำด้วยใจแรงกล้าในฐานะประชาชนของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่าเรามีความปรารถนาอย่างลึกซึ้งที่จะรับใช้พระเจ้าด้วยสุดหัวใจ. ในขณะเดียวกัน เราตระหนักว่าแรงกดดันต่าง ๆ ในโลกชั่วของซาตานและแนวโน้มที่ผิดบาปของเราเองนั้นมีพลังมาก และอาจทำให้ความตั้งใจของเราที่จะรับใช้พระเจ้าอย่างสุดหัวใจค่อย ๆ ลดน้อยลง. (ยิระ. 17:9; เอเฟ. 2:2) เพื่อจะแน่ใจว่าไม่เป็นอย่างนั้น เราจึงต้องตรวจสอบหัวใจเราเป็นประจำ. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
7. อะไรที่แสดงให้เห็นว่าหัวใจของเราเป็นอย่างไรจริง ๆ?
7 เห็นได้ชัด บุคลิกภาพของเราที่อยู่ภายในนั้นมองไม่เห็น เช่นเดียวกับที่เรามองไม่เห็นแกนกลางของต้นไม้. ถึงกระนั้น ดังที่พระเยซูตรัสในคำเทศน์บนภูเขา กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำแสดงให้เห็นว่าสภาพที่แท้จริงในหัวใจเราเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับผลที่เกิดจากต้นไม้เผยให้เห็นว่าสภาพของต้นไม้นั้นเป็นอย่างไร. (มัด. 7:17-20) ให้เรามาพิจารณากิจกรรมอย่างหนึ่งในชีวิตเราที่เผยให้เห็นสภาพหัวใจของเรา.
วิธีหนึ่งที่เราจะตรวจสอบหัวใจของเราได้
8. คำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 6:33 เกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา?
8 ก่อนหน้านั้น ในคำเทศน์เดียวกัน พระเยซูทรงบอกผู้ฟังว่าพวกเขาควรทำอะไรเพื่อแสดงว่าพวกเขาปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ. พระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน เสมอไป แล้วพระองค์จะทรงให้สิ่งทั้งปวงนี้แก่พวกเจ้า.” (มัด. 6:33) จากสิ่งที่เราจัดให้เป็นอันดับแรกในชีวิต เราแสดงให้เห็นว่า ในส่วนลึกของหัวใจ เราปรารถนา คิด และวางแผนเช่นไรจริง ๆ. ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะรู้ว่าเรากำลังรับใช้พระเจ้าด้วยสุดหัวใจหรือไม่ก็คือโดยการตรวจสอบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราคืออะไร.
9. พระเยซูทรงเชิญบางคนให้ทำอะไร และปฏิกิริยาของพวกเขาเผยให้เห็นอะไร?
9 ไม่นานหลังจากพระเยซูทรงกระตุ้นเหล่าสาวกให้ “แสวงหาราชอาณาจักร . . . ก่อนเสมอไป” ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงว่าสิ่งที่คนเราจัดให้เป็นอันดับแรกในชีวิตนั้นเผยให้เห็นว่าสภาพหัวใจของเขาเป็นอย่างไรจริง ๆ. ผู้เขียนหนังสือกิตติคุณลูกาเริ่มเล่าเหตุการณ์นั้นโดยบอกว่าพระเยซู “ตั้งพระทัย จะไปกรุงเยรูซาเลม” แม้ทรงรู้ดีว่าในที่สุดจะมีอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์ที่นั่น. ขณะที่พระเยซูกับอัครสาวก “เดินทางอยู่” พระองค์ทรงพบบางคนและทรงเชิญเขาว่า “จงมาเป็นผู้ติดตามเราเถิด.” คนเหล่านี้ตอบรับคำเชิญของพระเยซู แต่มีข้อแม้บางอย่าง. ชายคนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “ขอให้ข้าพเจ้าไปฝังศพบิดาก่อน.” ส่วนอีกคนหนึ่งทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าจะติดตามพระองค์ แต่ขอให้ข้าพเจ้าไปลาคนในครอบครัวก่อน.” (ลูกา 9:51, 57-61) การตั้งเงื่อนไขที่ฟังไม่ขึ้นของพวกเขาช่างแตกต่างจริง ๆ กับความตั้งใจแน่วแน่อย่างสุดหัวใจของพระเยซู! โดยสนใจเรื่องของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของราชอาณาจักร พวกเขาเผยให้เห็นว่าพวกเขาไม่เต็มใจจะรับใช้พระเจ้าด้วยสุดหัวใจ.
10. (ก) เราแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำเชิญของพระเยซูที่ให้มาเป็นสาวก? (ข) พระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์สั้น ๆ อะไร?
10 ไม่เหมือนกับคนเหล่านี้ เราลงมือทำอย่างฉลาดสุขุมโดยตอบรับคำเชิญของพระเยซูที่ให้มาเป็นสาวกของพระองค์และเรากำลังรับใช้พระยะโฮวาทุก ๆ วัน. โดยทำอย่างนั้น เราแสดงให้เห็นว่าเรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาในหัวใจเรา. ถึงแม้ว่าเราขันแข็งและเอาการเอางานในประชาคม เราก็ยังคงต้องรู้ว่ามีอันตรายอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจเรา. อันตรายนั้นคืออะไร? ในบทสนทนาเดียวกันนั้นกับชายที่ต้องการเป็นสาวก พระเยซูทรงเผยให้เห็นอันตรายดังกล่าวโดยตรัสว่า “คนที่เอามือจับคันไถแล้วหันไปมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่เหมาะสมกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (ลูกา 9:62) เราได้บทเรียนอะไรจากอุทาหรณ์นี้?
เรา “ยึดมั่นกับสิ่งดี” ไหม?
11. เกิดอะไรขึ้นกับงานของคนงานในอุทาหรณ์ของพระเยซู และเพราะเหตุใด?
11 เพื่ออุทาหรณ์สั้น ๆ ของพระเยซูที่กล่าวไปแล้วจะชัดเจนยิ่งขึ้น ให้เราเพิ่มรายละเอียดและสีสันเข้าไปในอุทาหรณ์นี้สักเล็กน้อย. คนงานคนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการไถดิน. แต่ขณะที่ไถดินอยู่นั้น เขาคิดถึงบ้านอยู่เรื่อย ๆ เพราะที่บ้านมีครอบครัว เพื่อน อาหาร ดนตรี เสียงหัวเราะ และร่มเงา. เขาอยากกลับไปหาสิ่งเหล่านี้. หลังจากไถไปได้พอสมควร ความปรารถนาดังกล่าวของคนงานคนนี้ก็มีมากขึ้น ๆ จนเขาหันไปมอง “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง.” แม้ว่าคนงานคนนี้ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากกว่าจะปลูกพืชแล้วเสร็จ แต่เขาไม่จดจ่ออยู่กับงานและทำให้เกิดผลเสียต่องาน. เจ้านายของคนงานคนนี้คงต้องรู้สึกผิดหวังอย่างแน่นอนที่เขาขาดความเพียรอดทน.
12. คริสเตียนบางคนในทุกวันนี้อาจเป็นเหมือนกับคนงานในอุทาหรณ์ของพระเยซูได้อย่างไร?
12 ตอนนี้ ขอให้พิจารณาสถานการณ์คล้ายกันที่อาจเกิดขึ้นในสมัยนี้. คนไถนาอาจเทียบได้กับคริสเตียนที่อาจดูเหมือนว่ากำลังรับใช้พระเจ้าเป็นอย่างดี แต่จริง ๆ แล้วเขาตกอยู่ในอันตรายฝ่ายวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น ขอให้เรานึกถึงพี่น้องคนหนึ่งที่ขยันทำงานรับใช้อยู่เสมอ. แต่แม้ว่าเขาเข้าร่วมการประชุมและไปประกาศ เขาอดไม่ได้ที่จะคิดถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นวิถีชีวิตแบบโลกซึ่งเขารู้สึกว่าน่าดึงดูดใจ. ในส่วนลึกของหัวใจ เขาปรารถนาสิ่งเหล่านั้น. ในที่สุด หลังจากที่เขารับใช้มาหลายปี เขาก็ปรารถนาอย่างยิ่งในสิ่งเหล่านั้นจนเขาหันไปมอง “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง.” แม้ว่ายังมีงานอีกมากที่ต้องทำในการรับใช้ แต่เขาไม่ได้ “ยึดมั่นกับพระคำที่ให้ชีวิต” และไม่ได้รับใช้พระเจ้าอย่างดีเหมือนแต่ก่อน. (ฟิลิป. 2:16) พระยะโฮวา “เจ้าของงานเกี่ยว” ทรงเศร้าพระทัยที่เขาขาดความเพียรอดทนเช่นนั้น.—ลูกา 10:2
13. การรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจเกี่ยวข้องกับอะไร?
13 บทเรียนในเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน. เป็นเรื่องน่าชมเชยถ้าเราร่วมทำกิจกรรมที่ดีงามและน่ายินดี เช่น เข้าร่วมการประชุมประจำประชาคมและประกาศเป็นประจำ. แต่การรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจมีอะไรที่มากกว่านี้เกี่ยวข้องอยู่ด้วย. (2 โคร. 25:1, 2, 27) ถ้าในส่วนลึกของหัวใจเขายังคงรัก “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง” หรือบางสิ่งบางอย่างที่เป็นวิถีชีวิตแบบโลก เขาย่อมตกอยู่ในอันตรายที่อาจสูญเสียสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า. (ลูกา 17:32) เพื่อจะ “เหมาะสมกับราชอาณาจักรของพระเจ้า” เราต้อง “เกลียดสิ่งที่ชั่ว [และ] ยึดมั่นกับสิ่งดี.” (โรม 12:9; ลูกา 9:62) ดังนั้น เราทุกคนจำเป็นต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดในโลกของซาตานเหนี่ยวรั้งเราไว้จากการเอาใจใส่ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรอย่างสุดหัวใจ แม้สิ่งเหล่านั้นอาจดูเหมือนว่าเป็นประโยชน์หรือน่ายินดีสักเพียงไรก็ตาม.—2 โค. 11:14; อ่านฟิลิปปอย 3:13, 14
จงตื่นตัวอยู่เสมอ!
14, 15. (ก) ซาตานกำลังพยายามทำให้สภาพหัวใจของเราเป็นอย่างไร? (ข) จงยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการของซาตานนั้นนับว่าอันตรายมาก.
14 ความรักที่มีต่อพระยะโฮวากระตุ้นเราให้อุทิศตัวแด่พระองค์. นับแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเราหลายคนได้พิสูจน์มาเป็นเวลาหลายปีว่าเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ. แต่ซาตานไม่ล้มเลิกความพยายาม. หัวใจเรายังคงตกเป็นเป้าโจมตีของมัน. (เอเฟ. 6:12) แน่นอน ซาตานคงรู้ว่าเราจะไม่ละทิ้งพระยะโฮวาในทันที. ด้วยเหตุนั้น มันใช้ “ยุคนี้” อย่างมีเล่ห์เหลี่ยมเพื่อทำให้ความกระตือรือร้นของเราในการรับใช้พระเจ้าค่อย ๆ อ่อนลง. (อ่านมาระโก 4:18, 19) เหตุใดวิธีดังกล่าวของซาตานจึงใช้ได้ผล?
15 เพื่อตอบคำถามนั้น ขอให้นึกภาพว่าคุณกำลังอ่านหนังสือโดยใช้หลอดไฟ 100 วัตต์ แต่แล้วหลอดไฟเกิดขาดขึ้นมา. เนื่องจากตกอยู่ในความมืด คุณเห็นทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เปลี่ยนหลอดไฟที่ขาดนั้น. ห้องสว่างขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง. เย็นวันถัดไป คุณกำลังอ่านหนังสือโดยใช้โคมไฟเดียวกันนั้น. แต่โดยที่คุณไม่รู้ มีบางคนเอาหลอดไฟ 95 วัตต์มาใส่แทนหลอดไฟ 100 วัตต์นั้น. คุณจะสังเกตเห็นความแตกต่างไหม? คงจะไม่. และจะว่าอย่างไรถ้าในวันถัดไปมีคนเอาหลอดไฟ 90 วัตต์มาเปลี่ยนแทนหลอด 95 วัตต์? คุณก็คงยังไม่สังเกตเห็นความแตกต่าง. เพราะเหตุใด? แสงของโคมไฟนั้นค่อย ๆ ลดลงทีละน้อยจนคุณมองไม่ออก. ในทำนองเดียวกัน อิทธิพลจากโลกของซาตานอาจทำให้ความกระตือรือร้นของเราลดลงไปทีละเล็กทีละน้อย. ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ราวกับว่าซาตานสามารถทำให้ความกระตือรือร้นของเราในการรับใช้พระยะโฮวาซึ่งเคยมี 100 วัตต์ลดน้อยลง. ถ้าไม่ตื่นตัว คริสเตียนอาจไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำว่ามีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยดังกล่าว.—มัด. 24:42; 1 เป. 5:8
เราต้องอธิษฐาน
16. เราจะปกป้องตัวเองจากแผนการอันร้ายกาจของซาตานได้อย่างไร?
16 เราจะปกป้องตัวเองไว้จากแผนการอันร้ายกาจของซาตานและรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจอยู่เสมอได้อย่างไร? (2 โค. 2:11) เราต้องอธิษฐาน. เปาโลสนับสนุนเพื่อนร่วมความเชื่อให้ “ยืนหยัดต้านทานกลอุบายของพญามาร.” แล้วท่านก็กระตุ้นพวกเขาว่า “จงอธิษฐานต่อไปในทุกโอกาสด้วยคำอธิษฐานและคำวิงวอนทุกอย่าง.”—เอเฟ. 6:11, 18; 1 เป. 4:7
17. เราเรียนอะไรได้จากคำอธิษฐานของพระเยซู?
17 เพื่อจะยืนหยัดต่อต้านซาตาน เราควรเลียนแบบทัศนะของพระเยซูในเรื่องการอธิษฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ. ตัวอย่างเช่น ขอให้สังเกตว่าพระเยซูทรงอธิษฐานในคืนสุดท้ายก่อนจะสิ้นพระชนม์อย่างไร. ลูกาบันทึกไว้ว่า “ด้วยทรงเป็นทุกข์ยิ่งนัก พระองค์จึงทรงอธิษฐานต่อไปอย่างเร่าร้อนยิ่งขึ้น.” (ลูกา 22:44) ก่อนหน้านั้นพระเยซูเคยอธิษฐานอย่างแรงกล้า แต่ในโอกาสนี้เนื่องจากทรงถูกทดสอบอย่างรุนแรงที่สุดพระองค์ทรงอธิษฐาน “อย่างเร่าร้อนยิ่งขึ้น.” และคำอธิษฐานของพระองค์ได้รับคำตอบ. ตัวอย่างของพระเยซูแสดงว่าการอธิษฐานมีความแรงกล้าหลายระดับ. ด้วยเหตุนั้น ยิ่งการทดสอบรุนแรงมากเพียงไรและแผนของซาตานแยบยลมากเท่าใด เราควรอธิษฐานขอการปกป้องคุ้มครองจากพระยะโฮวา “อย่างเร่าร้อนยิ่งขึ้น” มากเท่านั้น.
18. (ก) เราควรถามตัวเองเช่นไรเกี่ยวกับการอธิษฐาน และเพราะเหตุใด? (ข) ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อหัวใจของเรา และโดยวิธีใด? (โปรดดูกรอบหน้า 16)
18 การอธิษฐานแบบนั้นจะมีผลต่อเราอย่างไร? เปาโลกล่าวว่า “จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะปกป้องหัวใจ . . . ท่านทั้งหลาย ไว้.” (ฟิลิป. 4:6, 7) เพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจอยู่เสมอ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องอธิษฐานบ่อย ๆ ด้วยใจแรงกล้า. (ลูกา 6:12) ดังนั้น จงถามตัวเองว่า ‘ฉันอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าขนาดไหนและบ่อยเพียงไร?’ (มัด. 7:7; โรม 12:12) คำตอบของคุณเผยให้เห็นได้มากทีเดียวว่าคุณปรารถนาจะรับใช้พระเจ้าด้วยความรู้สึกจากหัวใจมากขนาดไหน.
19. คุณจะทำอะไรเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจอยู่เสมอ?
19 ดังที่เราได้พิจารณากันไปแล้ว การจัดลำดับสิ่งที่สำคัญในชีวิตของเราอาจบอกได้มากว่าสภาพหัวใจของเราเป็นอย่างไร. เราต้องการตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราทิ้งไว้เบื้องหลังหรือแผนการอันชั่วร้ายของซาตาน จะทำให้ความตั้งใจที่เราจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจอ่อนลง. (อ่านลูกา 21:19, 34-36) ด้วยเหตุนั้น เช่นเดียวกับดาวิด เราจึงทูลวิงวอนพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปว่า “ขอทรงช่วยข้าพเจ้าให้ตั้งใจแน่วแน่.”—เพลง. 86:11, ล.ม.
[กรอบหน้า 16]
สามปัจจัยที่มีผลต่อหัวใจของเรา
เช่นเดียวกับที่เราทำอะไรบางอย่างได้เพื่อดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรง เราก็ทำอะไรบางอย่างได้ด้วยเพื่อดูแลหัวใจโดยนัยให้อยู่ในสภาพที่ดี. ขอให้พิจารณาปัจจัยสามประการที่สำคัญ:
1 การบำรุง: หัวใจจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเพียงพอ. คล้ายกัน เราจำเป็นต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าเราได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณมากพอ โดยการศึกษาส่วนตัว การใคร่ครวญ และการเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ.—เพลง. 1:1, 2; สุภา. 15:28; ฮีบรู 10:24, 25
2 การออกกำลังกาย: เพื่อจะมีสุขภาพดี บางครั้งต้องออกกำลังกายให้หัวใจเต้นแรง. คล้ายกัน การมีส่วนร่วมในงานรับใช้อย่างกระตือรือร้น และทุ่มเทตัวเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ช่วยรักษาหัวใจโดยนัยของเราให้แข็งแรง.—ลูกา 13:24; ฟิลิป. 3:12
3 สิ่งแวดล้อม: สภาพแวดล้อมที่เราต้องทำงานและดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางผู้คนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าอาจทำให้หัวใจตามตัวอักษรและหัวใจโดยนัยของเราอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างหนัก. อย่างไรก็ตาม เราอาจลดความเครียดลงได้ด้วยการคบหาบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้กับเพื่อนร่วมความเชื่อ ซึ่งห่วงใยเราอย่างแท้จริงและรับใช้พระเจ้าด้วยสุดหัวใจ.—เพลง. 119:63; สุภา. 13:20