พวกเขาเสนอตัวด้วยความเต็มใจ ในเอกวาดอร์
พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งที่ประเทศอิตาลี ถูกกดดันอย่างหนัก. เขาเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมปลายด้วยคะแนนสูงสุดในชั้นเรียน ตอนนี้ญาติ ๆ และครูกระตุ้นเขาให้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา. แต่หลายปีก่อนหน้านั้นบรูโนได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและสัญญาว่าจะให้พระประสงค์ของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต. เขาตัดสินใจอย่างไร? เขาเล่าว่า “ผมทูลพระยะโฮวาในคำอธิษฐานว่าผมจะดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวและจัดให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต. แต่ผมกล่าวอย่างตรงไปตรงมาในคำอธิษฐานด้วยว่าผมไม่อยากมีชีวิตที่น่าเบื่อ แต่อยากใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยกิจกรรมหลายอย่างในงานรับใช้พระองค์.”
ไม่กี่ปีต่อมา บรูโนก็ไปอยู่ที่ประเทศเอกวาดอร์ ทวีปอเมริกาใต้. เขาบอกว่า “พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของผมเกินความคาดหมาย.” เมื่อไปถึงเอกวาดอร์ เขาประหลาดใจที่ได้พบหนุ่มสาวอีกหลายคนที่ได้ย้ายมาจากประเทศของตนเพื่อรับใช้พระยะโฮวาเต็มที่ยิ่งขึ้นเช่นกัน.
หนุ่มสาวที่ ‘ลองดูพระยะโฮวา’
บรูโนและหนุ่มสาวอีกหลายพันคนตลอดทั่วโลกตอบรับคำเชิญของพระยะโฮวาที่ว่า “จงมาลองดูเราในเรื่องนี้, ดูทีหรือว่า, เราจะเปิดบัญชรท้องฟ้าให้เจ้าและเทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการหรือไม่.” (มลคี. 3:10) เพราะถูกกระตุ้นด้วยความรักต่อพระเจ้า พวกเขาจึงตัดสินใจ ‘ลองดูพระยะโฮวา’ โดยเต็มใจสละเวลา กำลัง และทรัพย์ของพวกเขาเพื่อสนับสนุนงานของพระองค์ในประเทศที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่า.
ไม่นานหลังจากที่คนงานที่เต็มใจเหล่านี้ไปถึงเขตงานมอบหมายใหม่ พวกเขาก็เห็นด้วยตาตัวเองว่า “การเกี่ยวเป็นงานใหญ่ แต่คนงานมีน้อย.” (มัด. 9:37) ตัวอย่างเช่น ยัคลีน จากประเทศเยอรมนี เขียนถึงสำนักงานสาขาประเทศเอกวาดอร์อย่างตื่นเต้นว่า “ดิฉันมารับใช้ที่เอกวาดอร์เพียงแค่สองปีกว่า ๆ แต่ดิฉันมีนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลถึง 13 รายแล้ว ซึ่งสี่คนจากจำนวนนี้เข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ. ยอดเยี่ยมจริง ๆ!” ชันตัล จากประเทศแคนาดา เล่าว่า “ในปี 2008 ดิฉันย้ายไปอยู่ที่ที่หนึ่งแถบชายฝั่งของประเทศเอกวาดอร์ซึ่งมีแค่ประชาคมเดียวเท่านั้น. ตอนนี้ที่นั่นมีสามประชาคมและมีไพโอเนียร์มากกว่า 30 คน. ไม่มีอะไรเทียบได้กับการเห็นคนใหม่ ๆ หลายคนกำลังก้าวหน้า!” เธอกล่าวต่อไปว่า “ไม่นานมานี้ดิฉันย้ายไปอยู่เมืองหนึ่งซึ่งอยู่ในระดับความสูงถึง 2,743 เมตรบนเทือกเขาแอนดีส. เมืองนี้มีประชากรมากกว่า 75,000 คนแต่มีเพียงหนึ่งประชาคม. เขตงานนี้เกิดผลดีจริง ๆ! ดิฉันมีความสุขมากกับงานประกาศ.”
ปัญหาต่าง ๆ
แน่นอน การรับใช้ในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. ที่จริง หนุ่มสาวบางคนพบอุปสรรคก่อนที่พวกเขาจะย้ายไปเสียด้วยซ้ำ. เคย์ลา ซึ่งมาจากประเทศสหรัฐ กล่าวว่า “ปฏิกิริยาในเชิงลบของพี่น้องบางคนที่มีเจตนาดีทำให้ดิฉันหมดกำลังใจ. พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมดิฉันต้องการจะย้ายไปเป็นไพโอเนียร์ในต่างแดน. บางครั้ง ดิฉันสงสัยว่า ‘ฉันตัดสินใจถูกต้องไหม?’ ” ถึงกระนั้น เคย์ลาก็ได้ตัดสินใจย้าย. เธอเล่าว่า “ดิฉันอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเยอะมากและพูดคุยกับพี่น้องที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณหลายคน. การทำอย่างนี้ช่วยดิฉันให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรคนที่มีน้ำใจเสียสละ.”
สำหรับหลายคน การเรียนภาษาใหม่เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง. เชบอน จากประเทศไอร์แลนด์ เล่าว่า “ดิฉันรู้สึกอึดอัดมากที่พูดไม่ได้อย่างที่อยากจะพูด. ดิฉันต้องเรียนรู้ที่จะอดทน ขยันเรียนภาษา และขำตัวเองเมื่อพูดผิด.” อันนา จากประเทศเอสโตเนีย กล่าวว่า “การปรับตัวให้ชินกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว ฝุ่นเยอะ และการที่ไม่มีน้ำร้อนใช้ไม่ใช่เรื่องยากเลยเมื่อเทียบกับการเรียนภาษาสเปน. บางครั้ง ดิฉันรู้สึกอยากเลิก. ดิฉันต้องเรียนรู้ที่จะมองที่ความก้าวหน้าของดิฉัน ไม่ใช่มองที่ข้อผิดพลาด.”
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือโรคคิดถึงบ้าน. โยนาธาน จากประเทศสหรัฐ ยอมรับว่า “ไม่นานหลังจากที่ผมย้ายมาผมก็รู้สึกท้อเพราะต้องอยู่ห่างจากเพื่อนและครอบครัว. แต่ผมเอาชนะความรู้สึกนี้ได้ด้วยการจดจ่ออยู่กับการศึกษาส่วนตัวและงานประกาศ. ไม่นานหลังจากนั้น ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นในงานประกาศและเพื่อนใหม่ในประชาคมช่วยผมให้มีความยินดีอีกครั้งหนึ่ง.”
อีกปัญหาหนึ่งคือสภาพความเป็นอยู่. สภาพความเป็นอยู่คงต่างไปจากที่คุณคุ้นเคย. โบ จากประเทศแคนาดา เล่าให้ฟังว่า “ในประเทศของเรา ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา. แต่ที่นี่ น้ำไฟเอาแน่ไม่ได้เลย เดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็หยุด.” นอกจากนั้น ความยากจน รูปแบบการขนส่งที่ไม่สะดวกสบาย และการไม่รู้หนังสือเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ. อิเนส จากประเทศออสเตรีย รับมือกับสภาพเช่นนั้นด้วยการมองคุณลักษณะที่ดีของผู้คนในท้องถิ่น. เธอกล่าวว่า “พวกเขามีน้ำใจต้อนรับแขก อ่อนโยน ให้ความช่วยเหลือ และถ่อมมาก. ที่สำคัญที่สุด พวกเขาสนใจอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้า.”
“เทพรให้แก่เจ้าจนเกินความต้องการ”
ขณะที่หนุ่มสาวเหล่านี้ที่รับใช้ในประเทศเอกวาดอร์ได้เสียสละหลายอย่าง พวกเขาพบว่าพระยะโฮวาประทานสิ่งต่าง ๆ “มากมายยิ่งกว่าสารพัดสิ่ง” ที่พวกเขาคาดหมาย. (เอเฟ. 3:20) ที่จริง พวกเขารู้สึกว่าพระเจ้าทรง ‘เทพรให้แก่พวกเขาจนเกินความต้องการ.’ (มลคี. 3:10) ให้เรามาดูว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับงานรับใช้ที่พวกเขาทำ:
บรูโน: “ผมเริ่มรับใช้ที่เอกวาดอร์ในเขตงานที่น่าทึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน. ต่อมา ผมได้ไปช่วยงานก่อสร้างเพื่อขยายสำนักงานสาขาเอกวาดอร์. ตอนนี้ ผมรับใช้ที่เบเธล. ตอนอยู่ที่อิตาลี ผมตัดสินใจให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก และพระองค์ทรงอวยพรผมให้สมปรารถนาจริง ๆ ทำให้ผมมีชีวิตที่น่าตื่นเต้นและได้รับใช้พระองค์ในหลายรูปแบบ.”
โบ: “ผมมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากยิ่งขึ้นเพราะที่เอกวาดอร์ผมสามารถทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. ในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกเป็นพระพรมากขึ้นไปอีกเมื่อได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาโดยตลอด.”
อันนา: “ดิฉันไม่คิดว่าจะเป็นไปได้สำหรับพี่น้องหญิงโสดอย่างดิฉันที่จะใช้ชีวิตแบบมิชชันนารี. แต่ตอนนี้ดิฉันรู้แล้วว่าเป็นไปได้. ด้วยการอวยพรจากพระยะโฮวา ดิฉันมีความสุขมากที่ได้สอนคนให้เป็นสาวก สร้างหอประชุมราชอาณาจักร และมีเพื่อนใหม่ ๆ.”
เอลเก: “ที่บ้านเกิดของดิฉัน คือประเทศออสเตรีย ดิฉันอธิษฐานถึงพระยะโฮวาบ่อย ๆ ขอเพียงให้มีนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลสักหนึ่งราย. แต่ที่นี่ ดิฉันมีนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลถึง 15 ราย! การได้เห็นสีหน้าที่มีความสุขของนักศึกษาที่ก้าวหน้าทำให้ดิฉันมีความสุขมาก.”
โยเอล: “นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีจริง ๆ ที่ได้มาอยู่ในที่ที่ไม่รู้จักเพื่อรับใช้พระยะโฮวา. เราเรียนรู้ที่จะหมายพึ่งพระองค์มากขึ้นไปอีก และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เห็นว่าพระองค์ทรงอวยพรความพยายามของเรา! ในปีแรกที่ผมย้ายมาจากสหรัฐ กลุ่มที่ผมสมทบด้วยเติบโตขึ้นจากผู้ประกาศ 6 คนมาเป็น 21 คน. มีผู้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ 110 คน.”
แล้วคุณล่ะ?
พี่น้องหนุ่มสาวทั้งหลาย สภาพการณ์ของคุณเปิดโอกาสให้คุณรับใช้ในประเทศที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าไหม? แน่นอน การตัดสินใจเรื่องใหญ่อย่างนี้คงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ. ที่สำคัญที่สุด ต้องมีความรักอันแรงกล้าต่อพระยะโฮวาและต่อเพื่อนบ้านเพื่อจะย้ายไปรับใช้ในต่างแดนได้. ถ้าคุณมีความรักเช่นนั้นรวมทั้งมีคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วย ก็ขอให้คุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวาอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้. นอกจากนั้น ขอให้คุยกับบิดามารดาและผู้ปกครองในประชาคมเกี่ยวกับความปรารถนาของคุณ. คุณอาจได้ข้อสรุปว่าคุณเองก็สามารถมีส่วนร่วมในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดีนี้ด้วย.
[คำโปรยหน้า 3]
“ดิฉันอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเยอะมากและพูดคุยกับพี่น้องที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณหลายคน. การทำอย่างนี้ช่วยดิฉันให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรคนที่มีน้ำใจเสียสละ.”—เคย์ลา จากสหรัฐ
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
วิธีเตรียมตัวเพื่อไปรับใช้ในต่างแดน
• ปลูกฝังนิสัยการศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ
• ทบทวนพระราชกิจของเรา เดือนสิงหาคม 2011 หน้า 4, 7-8
• คุยกับคนที่รับใช้ในต่างแดน
• หาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ
• สมัครเรียนหลักสูตรภาษาขั้นพื้นฐาน
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
บางคนที่รับใช้ในต่างแดนหาเลี้ยงชีพโดย . . .
• กลับไปทำงานสองสามเดือนในประเทศบ้านเกิดในแต่ละปี
• ให้คนอื่นเช่าบ้านอพาร์ตเมนต์ หรือเช่าทำธุรกิจ
• ทำงานทางอินเทอร์เน็ต
[ภาพหน้า 4, 5]
1 ยัคลีน จากเยอรมนี
2 บรูโน จากอิตาลี
3 โบ จากแคนาดา
4 เชบอน จากไอร์แลนด์
5 โยเอล จากสหรัฐ
6 โยนาธาน จากสหรัฐ
7 อันนา จากเอสโตเนีย
8 เอลเก จากออสเตรีย
9 ชันตัล จากแคนาดา
10 อิเนส จากออสเตรเลีย