เรื่องราวชีวิตจริง
พระยะโฮวาทรงสอนผมให้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์
เล่าโดย แมกซ์ ลอย์ด
กลางดึกคืนหนึ่งในปี 1955 ผมกับเพื่อนมิชชันนารี อีกคนหนึ่งอยู่ในเขตงานมอบหมายของเราคือที่ประเทศปารากวัย ทวีปอเมริกาใต้. ฝูงชนที่โกรธแค้นมาล้อมบ้านและตะโกนว่า “พระของพวกเราเป็นพระที่กระหายเลือด และพระองค์อยากได้เลือดของพวกกรินโกส.” พวกเราที่เป็นกรินโกส (คนต่างชาติ) มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร?
สำหรับตัวผมเอง เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้วในออสเตรเลีย ประเทศที่ผมเติบโตขึ้น และเป็นที่ที่พระยะโฮวาทรงเริ่มสอนผมให้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์. พ่อผมรับหนังสือที่ชื่อศัตรู (ภาษาอังกฤษ) จากพยานฯ คนหนึ่งในปี 1938. พ่อกับแม่ไม่พอใจนักเทศน์นักบวชในท้องถิ่นอยู่แล้ว เพราะพวกเขาอ้างว่าบางส่วนของคัมภีร์ไบเบิลเป็นนิทาน. ประมาณหนึ่งปีหลังจากนั้น พ่อกับแม่ก็รับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การทำตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในครอบครัวเรา. ต่อมา เลสลีพี่สาวผมซึ่งแก่กว่าผมห้าปีก็รับบัพติสมา และผมรับบัพติสมาในปี 1940 ตอนที่อายุเก้าขวบ.
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นได้ไม่นาน การพิมพ์และการจำหน่ายสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลของพยานพระยะโฮวาในออสเตรเลียก็ถูกสั่งห้าม. ดังนั้น ตั้งแต่เป็นเด็กผมเรียนรู้ที่จะอธิบายความเชื่อของผมโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น. ผมทำเป็นนิสัยที่จะเอาคัมภีร์ไบเบิลไปโรงเรียนด้วยเพื่อชี้ให้คนอื่น ๆ ดูว่าทำไมผมไม่เคารพธงหรือสนับสนุนสงครามที่ชาติต่าง ๆ ทำกัน.—เอ็ก. 20:4, 5; มัด. 4:10; โย. 17:16; 1 โย. 5:21
เด็กหลายคนที่โรงเรียนไม่คบกับผมเพราะผมถูกตราหน้าว่า “เป็นสายลับเยอรมัน.” ในตอนนั้น มีการฉายภาพยนตร์ที่โรงเรียน. ก่อนหนังจะเริ่มฉาย ทุกคนต้องยืนขึ้นและร้องเพลงชาติ. เมื่อเห็นว่าผมยังนั่งอยู่ เด็กผู้ชายสองสามคนก็จะจับผมของผมดึงให้ผมลุกขึ้น. ในที่สุดผมถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะยึดมั่นกับความเชื่อที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. อย่างไรก็ตาม ผมสามารถเรียนหนังสือที่บ้านได้โดยทางไปรษณีย์.
เป้าหมายที่ผมบรรลุในที่สุด
ผมตั้งเป้าหมายส่วนตัวว่าจะเริ่มรับใช้เต็มเวลาเป็นไพโอเนียร์ตอนอายุ 14 ปี. ผมจึงรู้สึกผิดหวังมากเมื่อพ่อแม่บอกให้ผมหางานทำก่อน. พ่อแม่ยืนกรานให้ผมจ่ายค่าห้องและค่าอาหารขณะอยู่ที่บ้าน แต่ท่านสัญญาว่าเมื่อผมอายุ 18 ปีผมจะเริ่มเป็นไพโอเนียร์ได้. เรื่องรายได้ของผมถูกนำขึ้นมาพูดคุยกันเป็นประจำ. ผมโต้แย้งว่าผมอยากเก็บเงินไว้สำหรับเป็นไพโอเนียร์ แต่พ่อกับแม่ก็เอาเงินผมไป.
เมื่อถึงเวลาที่ผมจะเริ่มเป็นไพโอเนียร์ พ่อ แม่ และผมก็มานั่งคุยกัน แล้วท่านก็อธิบายว่าพวกท่านได้เอาเงินที่ผมให้ไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคาร. แล้วท่านก็คืนเงินทุกบาททุกสตางค์ให้ผมไปซื้อเสื้อผ้าและของจำเป็นอื่น ๆ สำหรับงานไพโอเนียร์. พ่อแม่สอนผมให้ดูแลตัวเองและไม่คาดหมายให้คนอื่นคอยดูแลผม. เมื่อมองย้อนไป การอบรมนั้นมีค่าอย่างยิ่ง.
ขณะที่ผมกับเลสลีเติบโตขึ้น มีไพโอเนียร์มาพักที่บ้านเราบ่อย ๆ และเราชอบไปประกาศกับพวกเขา. เราอุทิศวันสุดสัปดาห์ให้กับการประกาศตามบ้าน การประกาศตามถนน และการนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เป้าหมายของผู้ประกาศคนหนึ่งในเวลานั้นคือประกาศ 60 ชั่วโมงต่อเดือน. แม่บรรลุเป้าหมายนั้นได้เกือบทุกเดือน ซึ่งเป็นการวางตัวอย่างที่ดีสำหรับผมและเลสลี.
เป็นไพโอเนียร์ที่เกาะแทสเมเนีย
เขตงานมอบหมายแรกของผมในฐานะไพโอเนียร์คือเกาะแทสเมเนียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย และที่นั่นผมได้ไปสมทบกับพี่สาวผมและสามีของเธอ. แต่หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาก็ไปเข้าโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 15. ผมเป็นคนขี้อายมากและไม่เคยจากบ้านไปที่ไหนไกล ๆ. บางคนเดาว่าผมคงจะอยู่ได้ไม่เกินสามเดือน. แต่ภายในหนึ่งปี คือในปี 1950 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับใช้หมู่คณะ ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับผู้ประสานงานคณะผู้ปกครองในปัจจุบัน. ต่อมา ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไพโอเนียร์พิเศษ และมีพี่น้องหนุ่มอีกคนหนึ่งเป็นคู่ไพโอเนียร์.
งานมอบหมายของเราคือเมืองทำเหมืองทองแดงที่อยู่ห่างไกลซึ่งที่นั่นไม่มีพยานฯ เลย. เรานั่งรถโดยสารมาถึงเมืองนี้ตอนบ่าย ๆ. คืนแรก เราพักในโรงแรมเก่า ๆ แห่งหนึ่ง. วันถัดมา ขณะที่เราประกาศตามบ้าน เราถามเจ้าของบ้านว่าแถวนั้นมีห้องว่างไหม. พอถึงตอนเย็นวันนั้น ก็มีคนหนึ่งบอกว่าบ้านของศาสนาจารย์ที่อยู่ติดกับโบสถ์เพรสไบทีเรียนว่างอยู่และแนะนำให้เราไปคุยกับมัคนายก. เขาเป็นมิตรมากและให้เราเช่าบ้านหลังนั้น. เป็นเรื่องที่ดูแปลก ๆ อยู่บ้างที่ต้องเดินออกจากบ้านของศาสนาจารย์ทุกวันเพื่อไปประกาศ.
เขตงานนั้นเกิดผลดีมาก. เราได้สนทนากับหลายคนและเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์กับหลายคน. เมื่อผู้มีอำนาจของคริสตจักรในเมืองหลวงรู้เรื่องนี้และได้ยินว่าพยานพระยะโฮวาอยู่ที่บ้านของศาสนาจารย์ พวกเขาสั่งให้มัคนายกไล่พวกเราออกทันที. อีกครั้งหนึ่งที่เราไม่มีที่พัก!
หลังจากประกาศจนถึงเที่ยงของวันถัดไป เราก็หาที่พักสำหรับคืนนั้น. อัฒจันทร์ของสนามกีฬาเป็นที่ที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะหาได้. เราซ่อนกระเป๋าของเราไว้ที่นั่นแล้วก็ไปประกาศต่อ. แม้ว่าจวนจะมืดอยู่แล้ว แต่เราก็ตัดสินใจประกาศบ้านที่ยังเหลืออีกไม่กี่หลังเพื่อให้จบถนนที่เราประกาศ. ที่บ้านหลังหนึ่ง ชายคนหนึ่งเสนอให้เราพักที่บ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีสองห้องนอนซึ่งอยู่หลังบ้านของเขา!
งานหมวดและโรงเรียนกิเลียด
หลังจากประกาศในเขตมอบหมายนี้ได้แปดเดือน สำนักงานสาขาออสเตรเลียก็เชิญผมให้เป็นผู้ดูแลหมวด. ผมตกใจมากเมื่อได้รับคำเชิญนั้น เพราะผมอายุแค่ 20 ปี. หลังจากได้รับการอบรมสองสามสัปดาห์ ผมเริ่มไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ เป็นประจำเพื่อหนุนใจพี่น้อง. พี่น้องแทบทุกคนอายุมากกว่าผม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ดูหมิ่นความหนุ่มแน่นของผม. ทุกคนให้เกียรติผมและงานที่ผมกำลังทำอยู่.
การเดินทางจากประชาคมหนึ่งไปอีกประชาคมหนึ่งมีหลายวิธี! สัปดาห์หนึ่งผมเดินทางด้วยรถโดยสาร อีกสัปดาห์หนึ่งโดยรถราง แล้วก็โดยรถยนต์หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ โดยที่มือหนึ่งถือกระเป๋าเสื้อผ้าและอีกมือหนึ่งถือกระเป๋าประกาศ. การได้พักกับเพื่อนพยานฯ ทำให้มีความสุขจริง ๆ. ผู้รับใช้หมู่คณะคนหนึ่งอยากให้ผมพักกับเขามากแม้ว่าบ้านของเขายังสร้างไม่เสร็จ. ในสัปดาห์นั้น ที่นอนของผมอยู่ในอ่างอาบน้ำ แต่ก็เป็นสัปดาห์ที่เราชื่นชมยินดีที่ได้เสริมสร้างกันฝ่ายวิญญาณ!
ในปี 1953 ผมต้องประหลาดใจอีกครั้งหนึ่งเมื่อได้รับใบสมัครสำหรับโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 22. ผมรู้สึกยินดี แต่ก็กังวลอยู่บ้าง. ที่ผมรู้สึกอย่างนั้นก็เพราะหลังจากที่พี่สาวผมกับสามีของเธอจบจากโรงเรียนกิเลียดในวันที่ 30 กรกฎาคม 1950 พวกเขาได้รับมอบหมายให้รับใช้ที่ปากีสถาน. ทั้งสองรับใช้ที่นั่นยังไม่ทันถึงปีเลสลีก็ป่วยและเสียชีวิต. ผมสงสัยว่าพ่อกับแม่จะรู้สึกอย่างไรถ้าอีกไม่นานผมจะต้องไปรับใช้ในอีกส่วนหนึ่งของโลก. แต่พ่อกับแม่บอกผมว่า “ไปเลยลูก ไปรับใช้พระยะโฮวาในที่ที่พระองค์ทรงชี้ให้ไป.” ผมไม่ได้พบพ่ออีกเลย. พ่อเสียชีวิตในปี 1957.
ไม่นาน ผมกับพี่น้องชาวออสเตรเลียอีกห้าคนก็นั่งเรือไปนครนิวยอร์กซึ่งใช้เวลาเดินทางหกสัปดาห์. ระหว่างทาง เราอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยกัน ศึกษา และประกาศกับเพื่อนผู้โดยสาร. ก่อนที่จะไปเข้าโรงเรียนที่เซาท์แลนซิง นครนิวยอร์ก เราเข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่สนามกีฬาแยงกีในเดือนกรกฎาคม 1953. ยอดสูงสุดของผู้เข้าร่วมการประชุมคือ 165,829 คน!
ชั้นเรียนกิเลียดของเรามีนักเรียน 120 คนซึ่งมาจากทุกส่วนของโลก. ไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าเราจะถูกมอบหมายให้ไปรับใช้ที่ไหนจนกระทั่งวันจบหลักสูตร. เรารีบไปที่ห้องสมุดของโรงเรียนกิเลียดเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่เราได้รับมอบหมายให้ไป. ผมได้มารู้ว่าปารากวัย ประเทศที่ผมได้รับมอบหมาย เป็นประเทศที่มีประวัติในเรื่องการปฏิวัติทางการเมือง. หลังจากไปถึงได้ไม่นาน ผมถามมิชชันนารีคนอื่น ๆ ในตอนเช้าว่า ในคืนนั้นมีการ “เฉลิมฉลอง” อะไรกัน. พวกเขายิ้มและบอกว่า “คุณเจอการปฏิวัติครั้งแรกของคุณแล้วล่ะ. ไปดูหน้าบ้านสิ.” ทหารยืนอยู่เต็มไปหมด!
ประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง
ในโอกาสหนึ่ง ผมกับผู้ดูแลหมวดไปเยี่ยมประชาคมหนึ่งที่อยู่ห่างไกลและฉายภาพยนตร์สมาคมโลกใหม่ในภาคปฏิบัติ ให้พวกเขาดู. เราเดินทางประมาณแปดหรือเก้าชั่วโมง ทีแรกนั่งรถไฟ แล้วก็นั่งรถเทียมม้า และสุดท้ายนั่งเกวียนเทียมวัว. เราแบกเครื่องปั่นไฟและเครื่องฉายภาพยนตร์ไปด้วย. หลังจากที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง ในวันถัดไปเราใช้เวลาเยี่ยมฟาร์มต่าง ๆ และเชิญทุกคนมาดูภาพยนตร์ที่จะฉายในคืนนั้น. มีประมาณ 15 คนเข้าร่วมชม.
หลังจากฉายภาพยนตร์ไปได้ประมาณ 20 นาที มีคนมาบอกเราให้รีบเข้าไปในบ้านเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้. เราคว้าเครื่องฉายภาพยนตร์และทำตามที่พวกเขาบอก. ในตอนนี้เองที่พวกผู้ชายเริ่มยิงปืน และตะโกนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “พระของพวกเราเป็นพระที่กระหายเลือด และพระองค์อยากได้เลือดของพวกกรินโกส.” ที่นั่นมีกรินโกสแค่สองคน และผมก็เป็นหนึ่งในสองคนนั้น! คนที่มาดูการฉายภาพยนตร์ขวางคนกลุ่มนี้ไว้ไม่ให้เข้าไปในบ้าน. แต่ก่อนที่พวกผู้ต่อต้านจะกลับไปตอนตีสาม พวกเขายิงปืนขู่และผูกอาฆาตไว้ว่าจะเล่นงานพวกเราตอนที่พวกเราเดินทางกลับเข้าเมือง.
พี่น้องชายสองคนไปติดต่อกับนายอำเภอ และนายอำเภอก็มาหาเราในตอนบ่ายพร้อมกับม้าสองตัวเพื่อพาเราเข้าเมือง. ระหว่างทาง เมื่อใกล้จะถึงพุ่มไม้หรือต้นไม้ เขาจะชักปืนออกมาและควบม้าไปตรวจดูบริเวณนั้นก่อน. ผมเห็นว่าม้าเป็นพาหนะที่สำคัญ ในภายหลังผมจึงหาซื้อม้าไว้ตัวหนึ่ง.
มีมิชชันนารีมาเพิ่ม
งานประกาศเกิดผลดีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าพวกนักเทศน์ต่อต้านอยู่เรื่อย ๆ. ในปี 1955 เรามีมิชชันนารีมาใหม่ห้าคน หนึ่งในนั้นคือพี่น้องสาวชาวแคนาดาที่ชื่อเอลซี สวอนซัน ซึ่งจบจากโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 25. เรารับใช้ที่สำนักงานสาขาด้วยกันอยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่เธอได้รับมอบหมายไปอีกเมืองหนึ่ง. เธอได้อุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พระยะโฮวาโดยที่ได้รับความช่วยเหลือเล็กน้อยจากพ่อแม่ ซึ่งทั้งสองไม่ตอบรับความจริง. วันที่ 31 ธันวาคม 1957 ผมกับเอลซีแต่งงานกัน และเราไปอยู่ด้วยกันที่บ้านมิชชันนารีในตอนใต้ของประเทศปารากวัย.
บ้านของเราไม่มีน้ำประปา แต่เรามีบ่อน้ำที่สวนหลังบ้าน. ดังนั้น เราจึงไม่มีห้องอาบน้ำหรือห้องส้วมในบ้าน ไม่มีเครื่องซักผ้า และแม้แต่ตู้เย็นก็ไม่มี. เราซื้ออาหารสดทุกวัน. แต่ชีวิตที่เรียบง่ายและสายสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักกับพี่น้องในประชาคมทำให้ชีวิตสมรสของเราในช่วงเวลานั้นมีความสุขมาก.
ในปี 1963 หลังจากที่เรามาถึงออสเตรเลียเพื่อเยี่ยมแม่ผมได้ไม่นาน แม่ก็เกิดอาการหัวใจวาย อาจเป็นเพราะความตื่นเต้นที่ได้เห็นลูกชายหลังจากที่ไม่ได้พบกันเป็นเวลาสิบปี. พอใกล้จะถึงเวลาที่ต้องกลับไปยังเขตมอบหมายของเราที่ปารากวัย เราเผชิญกับการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต. เราควรทิ้งแม่ไว้ที่โรงพยาบาลโดยหวังว่าจะมีใครบางคนช่วยดูแลท่านและกลับไปปารากวัยซึ่งเป็นเขตมอบหมายที่เรารักไหม? หลังจากอธิษฐานอย่างจริงจัง ผมกับเอลซีก็ตัดสินใจอยู่ดูแลแม่. เราสามารถทำอย่างนั้นได้และยังคงรับใช้เต็มเวลาจนกระทั่งแม่เสียชีวิตในปี 1966.
นับเป็นสิทธิพิเศษที่สามารถรับใช้เป็นผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาคเป็นเวลาหลายปีที่ออสเตรเลียและสอนในโรงเรียนพระราชกิจสำหรับผู้ปกครอง. ในเวลาต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในชีวิตเรา. ผมได้รับมอบหมายให้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการสาขาชุดแรกในประเทศออสเตรเลีย. ต่อมา เมื่อเราจะสร้างสำนักงานสาขาใหม่ ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของคณะกรรมการการก่อสร้าง. โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลายคนที่มีประสบการณ์และจากพี่น้องที่ร่วมมือกันในการก่อสร้าง เราจึงมีสำนักงานสาขาที่สวยงาม.
ต่อมา ผมได้รับมอบหมายให้รับใช้ในแผนกการรับใช้ ซึ่งดูแลงานประกาศของประเทศ. ผมยังได้รับสิทธิพิเศษให้เยี่ยมสำนักงานสาขาต่าง ๆ ตลอดทั่วโลกในฐานะผู้ดูแลโซนเพื่อให้การช่วยเหลือและหนุนใจ. การเยี่ยมบางประเทศที่มีพี่น้องเคยติดคุกและอยู่ในค่ายกักกันเป็นเวลาหลายปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปีเนื่องจากพวกเขาเชื่อฟังพระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ได้เสริมความเชื่อผมเป็นพิเศษ.
งานมอบหมายของเราในปัจจุบัน
หลังจากที่เดินทางเยี่ยมในฐานะผู้ดูแลโซนอย่างเหน็ดเหนื่อยในปี 2001 เสร็จแล้ว ผมได้รับจดหมายเชิญให้ไปบรุกลิน นิวยอร์ก เพื่อรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสาขาสหรัฐที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่. ผมกับเอลซีพิจารณาเรื่องนี้พร้อมด้วยการอธิษฐาน แล้วเราก็ยินดีตอบรับงานมอบหมายนี้. ถึงตอนนี้ หลังจากที่ผ่านไปมากกว่า 11 ปีเรายังคงรับใช้ที่บรุกลิน.
ผมมีความสุขมากที่ภรรยาผมยินดีที่จะทำอะไรก็ตามที่พระยะโฮวาทรงขอให้เราทำ. ตอนนี้ผมกับเอลซีอายุ 80 ปีเศษ ๆ และยังมีสุขภาพที่พอใช้ได้. เราคอยท่าที่จะได้รับการสอนจากพระยะโฮวาตลอดชั่วนิรันดร์พร้อมกับพระพรอันอุดมซึ่งคนที่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไปจะได้รับ.
[คำโปรยหน้า 19]
สัปดาห์หนึ่งผมเดินทางด้วยรถโดยสาร อีกสัปดาห์หนึ่งโดยรถราง แล้วก็โดยรถยนต์หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ โดยที่มือหนึ่งถือกระเป๋าเสื้อผ้าและอีกมือหนึ่งถือกระเป๋าประกาศ
[คำโปรยหน้า 21]
เราคอยท่าที่จะได้รับการสอนจากพระยะโฮวาตลอดชั่วนิรันดร์
[ภาพหน้า 18]
ซ้าย: ตอนที่เป็นผู้ดูแลหมวดในออสเตรเลีย
ขวา: ถ่ายกับพ่อและแม่
[ภาพหน้า 20]
ในวันแต่งงานของเรา วันที่ 31 ธันวาคม 1957