เรื่องราวชีวิตจริง
งานรับใช้เต็มเวลา มีอะไรดี ๆ ที่คาดไม่ถึง
หลังจากได้รับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลามา 65 ปี ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าชีวิตผมมีแต่ความสุข ถึงแม้ว่าบางครั้งจะรู้สึกท้อแท้อยู่บ้าง (เพลง. 34:12; 94:19) แต่ก็บอกได้ว่าเป็นชีวิตที่คุ้มค่าและมีความหมายจริง ๆ!
วันที่ 7 กันยายน 1950 ผมได้เข้ามาเป็นสมาชิกของครอบครัวเบเธลที่บรุกลิน ตอนนั้น ในเบเธลมีพี่น้องชายหญิง 355 คนมาจากหลายชาติ อายุตั้งแต่ 19 ถึง 80 ปี และมีหลายคนเป็นผู้ถูกเจิมด้วย
ผมมารับใช้พระยะโฮวาได้อย่างไร?
แม่ช่วยผมให้มารู้จักพระยะโฮวา “พระเจ้าผู้มีความสุข” (1 ติโม. 1:11) แม่เริ่มรับใช้พระเจ้าตอนที่ผมยังเด็ก ผมรับบัพติสมาในการประชุมหมวดที่เมืองโคลัมบัส รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1939 ตอนนั้นผมอายุได้ 10 ขวบ พวกเราร้อยกว่าคนไปพบกันในสถานที่ที่เราเช่าไว้เพื่อฟังคำบรรยายของบราเดอร์โจเซฟ รัทเทอร์ฟอร์ดเรื่อง “ลัทธิฟาสซิสต์หรืออิสรภาพ” หลังจากคำบรรยายผ่านไปครึ่งหนึ่ง จู่ ๆ ก็มีกลุ่มคนมารวมตัวกันข้างนอก พวกนั้นเข้ามาก่อกวนไม่ให้เราประชุมต่อและถึงกับขับไล่พวกเราทุกคนออกจากเมืองนั้น พวกเราต้องไปรวมตัวกันอีกทีที่ฟาร์มของพี่น้องที่อยู่ใกล้ ๆ กับตัวเมืองและประชุมกันต่อจนจบ คิดดูสิ ผมจะลืมวันที่ผมรับบัพติสมาได้อย่างไร
แม่พยายามเลี้ยงผมให้รักพระยะโฮวาเหมือนกับแม่ พ่อผมเป็นคนดีมากแต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องศาสนาและไม่สนใจด้วยซ้ำว่าผมจะนับถือศาสนาอะไร แม่กับพี่น้องในประชาคมโอมาฮาคอยสนับสนุนและให้กำลังใจผม
จุดเปลี่ยน
ตอนที่ผมกำลังจะจบมัธยมปลาย ผมต้องคิดอย่างจริงจังว่าจะทำอะไรต่อ ทุกครั้งตอนปิดเทอม ผมกับพี่น้องรุ่นเดียวกันจะสมัครเป็นไพโอเนียร์พักงาน (ปัจจุบันเรียกไพโอเนียร์สมทบ)
ตอนนั้น มีพี่น้องชายโสดสองคนที่เพิ่งจบจากโรงเรียนกิเลียดชั้นเรียนที่ 7 ชื่อจอห์น ชิมิกลีสและเทด จารัซ ถูกส่งมาเป็นผู้ดูแลหมวดในหมวดของผม ผมแปลกใจที่รู้ว่าพวกเขาอายุแค่ 20 ต้น ๆ ตอนนั้นผมอายุ 18 แล้วและก็กำลังจะจบมัธยมปลาย ผมยังจำได้ตอนที่บราเดอร์จอห์นถามผมว่า เรียนจบแล้วคุณจะไปทำอะไรต่อ พอผมตอบเขา เขาให้กำลังใจผมและพูดว่า “รับใช้เต็มเวลาสิ คุณไม่รู้หรอกว่าคุณจะเจออะไรดี ๆ ที่คาดไม่ถึง” ผมประทับใจทั้งคำแนะนำและตัวอย่างที่ดีของเขาสองคน พอเรียนจบ ผมก็สมัครเป็นไพโอเนียร์ในปี 1948
เริ่มงานรับใช้ที่เบเธล
ในเดือนกรกฎาคม 1950 ผมและพ่อแม่ได้ไปร่วมการประชุมนานาชาติที่สนามกีฬาแยงกีที่เมืองนิวยอร์ก ตอนนั้น ผมเข้าร่วมประชุมสำหรับพี่น้องที่อยากรับใช้ที่เบเธล และจากนั้นผมก็ส่งใบสมัคร
พ่อของผมไม่ว่าอะไรถ้าผมจะเป็นไพโอเนียร์และยังอยู่ที่บ้านต่อไป แต่เขาก็รู้สึกว่าผมน่าจะทำงานเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านบ้าง ต้นเดือนสิงหาคม ตอนที่ผมกำลังจะออกไปหางานทำ ผมเปิดตู้จดหมายและเจอจดหมายที่ส่งมาจากบรุกลิน จดหมายนั้นมาจากนาทาน เอช. นอรร์ เขาเขียนว่า “เราได้รับใบสมัครเข้าเบเธลของคุณแล้ว และผมเข้าใจว่าคุณยินดีจะรับใช้ที่เบเธลไปตลอดชีวิต ผมอยากให้คุณมารายงานตัวที่เบเธล เลขที่ 124 ถนนโคลัมเบีย ไฮตส์ บรุกลิน นิวยอร์ก ในวันที่ 7 กันยายน 1950”
เมื่อพ่อกลับถึงบ้าน ผมบอกพ่อว่าวันนี้ผมได้งานแล้ว พ่อถามว่า “แล้วลูกได้งานที่ไหนล่ะ?” ผมตอบว่า “เบเธล บรุกลิน และได้เงินเดือนละ 10 ดอลลาร์” ตอนนั้น พ่อตกใจแต่ก็บอกว่าถ้าตัดสินใจแล้วก็ต้องทำให้ได้ จากนั้นไม่นาน พ่อของผมก็รับบัพติสมาในปี 1953 ที่สนามกีฬาแยงกี
ผมดีใจมากที่ได้รู้ว่าอัลเฟรด นัสส์รัลลาห์คู่ไพโอเนียร์ของผมก็ถูกเชิญเข้าเบเธลด้วย พวกเราเดินทางมาด้วยกัน และต่อมาอัลเฟรดแต่งงานกับโจแอน ทั้งสองไปกิเลียดและได้รับมอบหมายให้รับใช้เป็นมิชชันนารีที่เลบานอน จากนั้นพวกเขากลับมารับใช้ที่อเมริกาอีกครั้งในงานหมวด
งานรับใช้ที่เบเธล
งานแรกที่ผมทำที่เบเธลคืองานในแผนกเย็บเล่ม หนังสือเล่มแรกที่ผมเย็บคือศาสนาได้ทำอะไรบ้างเพื่อมนุษยชาติ? (ไม่มีในภาษาไทย) หลังจากทำงานในแผนกนี้ได้ 8 เดือน ผมถูกส่งไปแผนกการรับใช้ที่อยู่ในความดูแลของบราเดอร์โทมัส เจ. ซุลลิแวน ผมมีความสุขมากที่ได้ทำงานกับเขา ตอนนั้นผมได้รับความรู้ความเข้าใจมากจากประสบการณ์ของบราเดอร์โทมัสที่รับใช้มายาวนาน
หลังจากอยู่ในแผนกการรับใช้ได้ 3 ปี บราเดอร์แมกซ์ ลาร์สัน ผู้ดูแลโรงงานมาบอกผมว่าบราเดอร์นอรร์อยากคุยกับผม ตอนแรกผมกังวลว่าผมทำอะไรผิดหรือเปล่า แต่ก็สบายใจขึ้นเพราะจริง ๆ แล้วบราเดอร์นอรร์แค่อยากรู้ว่าผมจะรับใช้ที่เบเธลต่อ ๆ ไปได้ไหม บราเดอร์นอรร์อยากได้ใครสักคนมาช่วยงานเขาสักช่วงหนึ่ง พอผมยืนยันว่าผมไม่คิดที่จะออกจากเบเธล ผมจึงได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบราเดอร์นอรร์ไปอีก 20 ปี
ผมมักจะคิดเสมอว่าไม่มีความรู้และประสบการณ์จากที่ไหนจะเทียบได้กับความรู้ที่ผมได้รับจากการทำงานกับบราเดอร์ซุลลิแวนและบราเดอร์นอรร์รวมทั้งพี่น้องคนอื่น ๆ เช่น มิลตัน เฮนเชล, เคลาส์ เจนเซน, แมกซ์ ลาร์สัน, ฮูโก รีเมอร์, และแกรนต์ ซูตเตอร์a
พี่น้องหลายคนที่ผมทำงานด้วยเป็นคนมีระเบียบมากเมื่อทำงานให้กับองค์การ บราเดอร์นอรร์เป็นคนที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพราะเขาอยากเห็นองค์การก้าวหน้ามากเท่าที่เป็นไปได้ คนที่เคยทำงานกับเขาจะรู้ว่าเขาเป็นคนคุยง่าย แม้บางครั้งเรามีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เราก็พูดได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ
ครั้งหนึ่ง บราเดอร์นอรร์คุยกับผมว่าเราต้องไม่มองข้ามเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาเล่าว่าตอนที่รับใช้เป็นผู้ดูแลโรงงาน บราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ดมักจะโทรศัพท์หาเขาและบอกว่า “บราเดอร์นอรร์ คุณช่วยเอายางลบมาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของผมตอนมากินข้าวเที่ยงหน่อยนะ” บราเดอร์นอรร์บอกว่า หลังจากวางโทรศัพท์แล้วเขาจะรีบไปหยิบยางลบใส่กระเป๋าไว้เลย เพื่อตอนเที่ยงจะได้เอาไปไว้ที่ห้องบราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ด เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กมาก แต่มันก็สำคัญสำหรับบราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ด จากนั้น บราเดอร์นอรร์บอกผมว่า “คุณช่วยหาดินสอแหลม ๆ ไว้บนโต๊ะผมทุกเช้าหน่อยได้ไหม” ตั้งแต่นั้นมา ผมจะคอยเช็คเสมอว่ามีดินสอที่เหลาแล้วอยู่บนโต๊ะของเขาไหม
บราเดอร์นอรร์มักพูดเสมอว่าเมื่อได้รับงานมอบหมายบางอย่างเราต้องตั้งใจฟัง ครั้งหนึ่ง ผมได้รับคำแนะนำที่ชัดเจนแต่ผมไม่ตั้งใจฟังและงานก็ออกมาผิดพลาดทำให้เขาต้องขายหน้า ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก ผมเลยเขียนจดหมายสั้น ๆ เพื่อขอโทษที่ทำงานพลาดและคิดว่าผมน่าจะย้ายไปทำงานที่อื่นดีกว่า เช้าวันนั้นเอง บราเดอร์นอรร์มาที่โต๊ะทำงานของผมและบอกว่า “โรเบิร์ต ผมเห็นจดหมายของคุณแล้ว คุณทำงานผิดพลาดและผมก็คุยเรื่องนั้นกับคุณแล้ว ผมมั่นใจว่าต่อไปคุณจะรอบคอบมากขึ้น ไม่ต้องคิดเรื่องนี้แล้วนะ” ผมรู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่บราเดอร์นอรร์ใจดีกับผม
อยากแต่งงาน
หลังจากอยู่เบเธลมา 8 ปี ผมยังตั้งใจรับใช้ในเบเธลต่อ ๆ ไป แต่แล้วผมก็เปลี่ยนใจ ในการประชุมนานาชาติที่สนามกีฬาแยงกีและสนามโปโลกราวด์ปี 1958 ผมได้พบกับลอร์เรน บรูกส์พี่น้องที่ผมเคยเจอเมื่อปี 1955 ตอนนั้นเธอรับใช้ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา ผมประทับใจที่เธอรักงานรับใช้เต็มเวลาและพร้อมจะย้ายไปที่ไหนก็ได้ที่องค์การอยากให้ไป ลอร์เรนมีเป้าหมายไปกิเลียด พออายุ 22 ปีเธอก็ได้รับเชิญไปกิเลียดชั้นเรียนที่ 27 ในปี 1956 หลังเรียนจบเธอได้รับมอบหมายให้ไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศบราซิล ผมกับลอร์เรนเริ่มคบกันในปี 1958 และปีนั้นเองที่เธอตกลงแต่งงานกับผม เราวางแผนจะแต่งงานกันในปีถัดไปและอยากจะรับใช้เป็นมิชชันนารีด้วยกัน
หลังจากผมได้พูดเรื่องนี้กับบราเดอร์นอรร์ เขาแนะนำว่าให้เรารออีกสามปีเพื่อที่เราทั้งสองคนจะมารับใช้ที่เบเธลบรุกลินได้หลังจากแต่งงานกัน ตอนนั้น คู่ที่เพิ่งแต่งงานจะรับใช้ที่เบเธลได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องรับใช้ที่เบเธลมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี และอีกคนจะต้องรับใช้ที่เบเธลอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น ลอร์เรนตกลงที่จะทำงานที่เบเธลบราซิล 2 ปีและกลับมารับใช้ที่เบเธลบรุกลินอีก 1 ปีก่อนที่เราจะแต่งงานกัน
ในช่วงสองปีแรก เราติดต่อกันได้โดยทางจดหมายเท่านั้น เพราะตอนนั้นค่าโทรศัพท์แพงมากและก็ไม่มีอีเมลเหมือนในสมัยนี้ เราแต่งงานกันในวันที่ 16 กันยายน 1961 เราดีใจมากที่บราเดอร์นอรร์มาบรรยายงานแต่งงานให้เรา การรอคอยในช่วงสามปีดูเหมือนยาวนานมาก แต่พอเราคิดถึงความสุขที่เรามีตลอดช่วงเวลา 50 ปีที่อยู่ด้วยกัน มันเป็นการรอคอยที่คุ้มค่ามากจริง ๆ!
สิทธิพิเศษที่เราได้รับ
ในปี 1964 ผมได้รับสิทธิพิเศษให้เยี่ยมประเทศต่าง ๆ ในฐานะผู้ดูแลโซน ตอนนั้น ภรรยาไม่ได้รับอนุญาตให้ไปกับสามี แต่พอถึงปี 1977 มีการปรับเปลี่ยนให้ภรรยาไปด้วยกันกับสามีได้ ในปีนั้นเองที่ผมกับลอร์เรนและแกรนต์กับอีดิท ซูตเตอร์เดินทางไปด้วยกันเพื่อเยี่ยมสาขาต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย กรีซ ไซปรัส ตุรกี และอิสราเอล เราได้เยี่ยมสาขาในประเทศต่าง ๆ ทั้งหมดประมาณ 70 ประเทศทั่วโลก
ในการเยี่ยมครั้งหนึ่งที่บราซิลปี 1980 เราต้องไปที่เบเลม เมืองหนึ่งบนเส้นศูนย์สูตรซึ่งเป็นที่ที่ลอร์เรนเคยรับใช้เป็นมิชชันนารี เราแวะเยี่ยมพี่น้องที่มานาอุส ในช่วงที่ผมบรรยายในสนามกีฬา ผมสังเกตเห็นคนที่นั่งอยู่กลุ่มหนึ่งไม่ได้ทักทายกันตามธรรมเนียมของคนบราซิลที่ผู้หญิงจะหอมแก้มกันและผู้ชายจะจับมือกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
พวกเขาเป็นพี่น้องพยานฯ จากนิคมโรคเรื้อนที่อยู่แถบอะเมซอน เพื่อป้องกันพี่น้องไม่ให้ติดโรค พวกเขาพยายามจะไม่ถูกต้องตัวพี่น้องคนอื่น แต่รอยยิ้มบนใบหน้าที่มีความสุขของพวกเขาประทับใจเรามาก จริงอย่างที่ยะซายาห์บอกไว้ว่า “ผู้รับใช้ของเราจะโห่ร้องด้วยความดีใจ”—ยซา. 65:14
ชีวิตที่คุ้มค่าและมีความหมาย
ตลอดเวลาที่ผมกับลอร์เรนรับใช้พระยะโฮวามา 60 กว่าปี เรามีความสุขและได้รับพระพรมากมายเมื่อยอมให้พระยะโฮวาสอนเราผ่านทางองค์การของพระองค์ แม้ตอนนี้ผมเดินทางไปทั่วโลกไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ผมก็ยังทำงานทุกวันเป็นผู้ช่วยของคณะกรรมการปกครอง โดยทำงานในส่วนของคณะกรรมการผู้ประสานงานและคณะกรรมการฝ่ายการรับใช้ ผมเห็นค่างานมอบหมายทุกอย่างที่ได้รับถึงแม้เป็นส่วนเล็ก ๆ แต่ก็เป็นการสนับสนุนพี่น้องทั่วโลก และเราชื่นชมหนุ่มสาวจำนวนมากที่ตั้งใจรับใช้เต็มเวลา พี่น้องเหล่านี้ทำเหมือนยะซายาห์ที่บอกว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด” (ยซา. 6:8) พวกเขาทำให้ผมนึกถึงคำพูดของผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งที่ว่า “รับใช้เต็มเวลาสิ คุณไม่รู้หรอกว่าคุณจะเจออะไรดี ๆ ที่คาดไม่ถึง”
a เรื่องราวชีวิตจริงของพี่น้องเหล่านี้สามารถหาอ่านได้ในหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ): โทมัส เจ. ซุลลิแวน (15 สิงหาคม 1965); เคลาส์ เจนเซน (15 ตุลาคม 1969); แมกซ์ ลาร์สัน (1 กันยายน 1989); ฮูโก รีเมอร์ (15 กันยายน 1964); และแกรนต์ ซูตเตอร์ (1 กันยายน 1983)