เห็นคุณค่าอิสระในการเลือกและการตัดสินใจที่พระเจ้ามอบให้
“คนที่ได้รับพลังของพระยะโฮวาก็มีอิสระ”—2 คร. 3:17
1, 2. (ก) ผู้คนคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับอิสระในการตัดสินใจ? (ข) คัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรเกี่ยวกับอิสระในการตัดสินใจของเรา? และเราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไร?
เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องส่วนตัว ผู้หญิงคนหนึ่งบอกเพื่อนของเธอว่า “เธอไม่ต้องให้ฉันคิดเองได้ไหม บอกมาเลยว่าจะให้ทำอะไร แบบนี้ง่ายกว่าเยอะ” อิสระในการเลือกและตัดสินใจเป็นของขวัญที่มีค่าจากผู้สร้าง แต่ผู้หญิงคนนี้ไม่เห็นคุณค่าของขวัญนี้ เธออยากให้คนอื่นบอกไปเลยว่าควรทำอะไร แล้วคุณล่ะ? คุณชอบตัดสินใจด้วยตัวเองหรือชอบให้คนอื่นมาตัดสินใจแทนคุณ? คุณมองอิสระในการตัดสินใจนี้อย่างไร?
2 ผู้คนมีความคิดแตกต่างกันเกี่ยวกับอิสระในการตัดสินใจ บางคนบอกว่าเราไม่ได้มีอิสระจริง ๆ เพราะพระเจ้ากำหนดชีวิตของเราไว้หมดแล้ว คนอื่น ๆ อาจบอกว่าเราจะมีอิสระที่แท้จริงก็ต่อเมื่ออิสระนั้นไม่มีขีดจำกัดและไม่มีกรอบหรือไม่มีอะไรมาควบคุม แต่เพื่อจะรู้จริง ๆ ว่าอิสระในการตัดสินใจคืออะไร เราต้องหาคำตอบจากคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าเราถูกสร้างให้มีทั้งความสามารถและอิสระที่จะตัดสินใจเลือกอย่างฉลาด (อ่านโยชูวา 24:15) คัมภีร์ไบเบิลยังตอบคำถามต่าง ๆ ต่อไปนี้ด้วย อิสระในการเลือกของเรามีขีดจำกัดไหม? เราควรใช้อิสระในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อย่างไร? การตัดสินใจของเราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรารักพระยะโฮวามาก? และเราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรานับถือการตัดสินใจของคนอื่น?
เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซู?
3. พระยะโฮวาใช้อิสระที่ไม่มีขีดจำกัดของพระองค์อย่างไร?
3 พระยะโฮวาเป็นผู้เดียวที่มีอิสระแบบไม่มีขีดจำกัด แต่พระองค์ก็ใช้อิสระที่พระองค์มีอย่างถูกต้องเหมาะสมซึ่งเราสามารถเลียนแบบได้ ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาเลือกชาติอิสราเอลมาเป็น “ชนชาติพิเศษของพระองค์” (ฉธบ. 7:6-8) พระองค์มีเหตุผลที่เลือกอย่างนั้น พระยะโฮวาอยากรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับอับราฮัมเพื่อนของพระองค์ (ปฐก. 22:15-18) นอกจากนั้น พระยะโฮวาใช้อิสระในการตัดสินใจของพระองค์ด้วยความรักและยุติธรรมเสมอ เราเห็นเรื่องนี้ได้จากวิธีที่พระองค์อบรมสั่งสอนชาวอิสราเอลตอนที่พวกเขาไม่เชื่อฟัง พอชาวอิสราเอลเสียใจจริง ๆ กับสิ่งที่พวกเขาทำ พระยะโฮวาก็เลือกที่จะแสดงความรักความเมตตา พระองค์บอกว่า “เราจะเยียวยารักษาเขาไม่ให้กลับไปเป็นคนไม่ซื่อสัตย์อีก เราจะรักเขาจากใจ” (ฮชย. 14:4) พระยะโฮวาวางตัวอย่างที่ดีให้กับเรา พระองค์เลือกใช้อิสระในการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น
4, 5. (ก) ใครเป็นผู้แรกที่พระเจ้าให้มีอิสระในการตัดสินใจ และท่านใช้อิสระนั้นอย่างไร? (ข) เราทุกคนต้องถามตัวเองด้วยคำถามอะไร?
4 พระยะโฮวาเลือกที่จะสร้างทูตสวรรค์และมนุษย์โดยให้พวกเขามีอิสระที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง พระเยซูเป็นผู้แรกที่พระยะโฮวาสร้าง พระยะโฮวาสร้างท่านตามแบบพระองค์และให้ท่านมีอิสระที่จะตัดสินใจ (คส. 1:15) พระเยซูใช้อิสระนั้นอย่างไร? ก่อนมาบนโลก พระเยซูเลือกที่จะรักษาความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้าและไม่เข้าร่วมกับซาตานและทูตสวรรค์ที่กบฏ ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลกท่านก็เลือกที่จะปฏิเสธการล่อใจของซาตานหลายครั้ง (มธ. 4:10) และในคืนก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต พระเยซูบอกพระเจ้าผู้เป็นพ่อว่าท่านอยากทำตามสิ่งที่พระองค์ต้องการ พระเยซูยืนยันกับพ่อว่า “พ่อครับ ถ้าพ่อต้องการ ขอให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไปจากผมเถอะ แต่อย่าให้เป็นไปตามใจผมเลย ขอให้เป็นไปตามที่พ่อต้องการ” (ลก. 22:42) แล้วพวกเราล่ะ? เป็นไปได้ไหมที่เราจะเลียนแบบพระเยซูโดยใช้อิสระที่เรามีเพื่อให้เกียรติพระยะโฮวาและทำตามความต้องการของพระองค์?
5 แน่นอน เราสามารถเลียนแบบพระเยซูได้เพราะเราก็ถูกสร้างตามแบบพระเจ้า (ปฐก. 1:26) ถึงอย่างนั้น พวกเราไม่สามารถมีอิสระแบบไม่มีขีดจำกัดเหมือนพระเจ้าได้ คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่าพระยะโฮวาให้เรามีอิสระแบบมีขีดจำกัดและพระองค์คาดหมายให้เราอยู่ในกรอบที่พระองค์วางไว้ ตัวอย่างเช่น ในครอบครัว ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี และลูกก็ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ (อฟ. 5:22; 6:1) เมื่อเรารู้เกี่ยวกับขีดจำกัดหรือกรอบที่พระยะโฮวาวางไว้แล้ว เราจะใช้อิสระในการตัดสินใจอย่างไร? เรายอมอยู่ในกรอบนั้นไหม? คำตอบของคำถามนี้มีผลกับอนาคตของเราตลอดไป
ใช้อิสระในแบบที่ถูกและผิด
6. ขอยกตัวอย่างที่ช่วยให้เราเห็นว่าทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่ชีวิตเราต้องมีกรอบหรือขีดจำกัด
6 อิสระแบบมีขีดจำกัดจะเป็นอิสระที่แท้จริงได้ไหม? ได้อย่างแน่นอน เพราะอะไร? เพราะขีดจำกัดหรือกรอบที่พระเจ้าวางไว้ช่วยปกป้องเรา ตัวอย่างเช่น เราอาจมีอิสระที่จะเลือกขับรถไปจังหวัดไหนก็ได้ แต่ลองคิดดูว่าถ้าถนนที่คุณใช้ไม่มีการบังคับใช้กฎจราจรและใครอยากขับรถเร็วแค่ไหนก็ได้ ขับบนถนนฝั่งไหนก็ได้ คุณจะรู้สึกปลอดภัยไหม? ไม่อย่างแน่นอน ดังนั้น เพื่อเราทุกคนจะใช้อิสระที่เรามีอย่างมีความสุข เราต้องยอมรับว่าชีวิตเราต้องมีกรอบหรือขีดจำกัด ขอเราดูบางตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยให้เราเห็นว่าการที่พระยะโฮวาวางกรอบไว้เป็นประโยชน์กับเราอย่างไร
7. (ก) อาดัมมนุษย์คนแรกแตกต่างจากสัตว์อย่างไร? (ข) ขออธิบายวิธีหนึ่งที่อาดัมใช้อิสระในการตัดสินใจของเขา
7 ตอนที่พระยะโฮวาสร้างอาดัมมนุษย์คนแรก พระองค์ให้อิสระในการตัดสินใจกับเขาเหมือนที่พระองค์ให้ทูตสวรรค์ นี่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ สัตว์ใช้สัญชาตญาณ แต่มนุษย์ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ เองได้ แล้วอาดัมใช้อิสระนี้ในแบบที่ถูกต้องอย่างไร? อาดัมมีความสุขกับการตั้งชื่อสัตว์ พระเจ้าพาสัตว์มาหาอาดัม “เพื่อให้เขาดูว่าจะเรียกสัตว์แต่ละชนิดอย่างไร” หลังจากอาดัมเห็นสัตว์แต่ละชนิด เขาก็ตั้งชื่อให้พวกมัน พระยะโฮวาไม่ได้เปลี่ยนชื่อที่อาดัมตั้ง พระองค์ให้อาดัมมีอิสระเต็มที่ในการเลือก “ไม่ว่าเขาจะเรียกมันอย่างไรมันก็จะมีชื่ออย่างนั้น”—ปฐก. 2:19
8. อาดัมใช้อิสระในการตัดสินใจในแบบที่ไม่ถูกต้องอย่างไร และผลเป็นอย่างไร?
8 พระยะโฮวาให้อาดัมมีหน้าที่ทำให้โลกนี้เป็นสวนอุทยาน พระองค์บอกเขาว่า “ให้เกิดลูกหลานมากมายและเพิ่มจำนวนให้เต็มโลก ให้มีอำนาจเหนือแผ่นดินและมีอำนาจเหนือปลาในทะเล สัตว์ที่บินในท้องฟ้า และสัตว์ทุกชนิดที่อยู่บนแผ่นดิน” (ปฐก. 1:28) พระยะโฮวาให้เขามีอิสระในการตัดสินใจอย่างเต็มที่เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ แต่อาดัมกลับรู้สึกว่าอิสระที่เขามีอยู่ยังไม่พอ เขาเลือกไปกินผลไม้ต้องห้าม การทำอย่างนั้นแสดงว่าเขาไม่สนใจกรอบที่พระยะโฮวาวางไว้ และเพราะอาดัมใช้อิสระในการตัดสินใจของเขาแบบไม่ถูกต้อง มนุษย์ทุกคนจึงต้องทุกข์ทนกับความยากลำบากมาเป็นเวลาหลายพันปี (รม. 5:12) ขอเราจำไว้ว่าการตัดสินใจที่ผิดของอาดัมทำให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขนาดไหน การจำเรื่องนี้ไว้จะช่วยเราให้ใช้อิสระในแบบที่ถูกต้องและยอมรับขีดจำกัดหรือกรอบที่พระยะโฮวาวางไว้ให้เรา
9. พระยะโฮวาให้ชาวอิสราเอลประชาชนของพระองค์มีทางเลือกอะไร? และพวกเขาสัญญาว่าจะทำอะไร?
9 มนุษย์ทุกคนได้รับความไม่สมบูรณ์และความตายเป็นมรดกตกทอดมาจากอาดัมและเอวา ถึงอย่างนั้น เราก็ยังสามารถใช้อิสระในการเลือกของเราได้ เราเห็นได้จากวิธีที่พระเจ้าปฏิบัติกับชาติอิสราเอล พระยะโฮวาให้พวกเขาเลือกว่าจะเป็นชนชาติพิเศษของพระองค์หรือไม่ (อพย. 19:3-6) แล้วพวกเขาก็เลือกที่จะเป็นประชาชนของพระเจ้าและยอมรับกรอบที่พระองค์วางไว้ พวกเขาบอกว่า “ทุกสิ่งที่พระยะโฮวาสั่ง พวกเราจะทำตาม” (อพย. 19:8) แต่ต่อมาชาติอิสราเอลกลับเลือกไม่ทำตามที่สัญญาไว้กับพระยะโฮวา นี่เป็นตัวอย่างเตือนใจเรา ขอเราเห็นคุณค่าอิสระในการเลือกและตัดสินใจที่พระยะโฮวาให้เราเสมอ และขอเราใกล้ชิดกับพระยะโฮวาและเชื่อฟังกฎหมายของพระองค์ต่อ ๆ ไป—1 คร. 10:11
10. ตัวอย่างในฮีบรูบท 11 ให้ข้อพิสูจน์อย่างไรว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์สามารถใช้อิสระที่พวกเขามีเพื่อสรรเสริญพระเจ้า? (ดูภาพแรก)
10 ในฮีบรูบท 11 เราเห็นชื่อผู้ชายและผู้หญิงที่ซื่อสัตย์ 16 คน พวกเขาเลือกที่จะใช้อิสระในกรอบที่พระยะโฮวาวางไว้ ผลก็คือ พวกเขาได้รับพรมากมายและมีความหวังที่ยอดเยี่ยมในอนาคต ตัวอย่างเช่น โนอาห์มีความเชื่อมาก เขาเลือกเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าที่ให้สร้างเรือเพื่อช่วยครอบครัวของเขาให้รอด ซึ่งทำให้มีคนรุ่นต่อ ๆ มา (ฮบ. 11:7) อับราฮัมและซาราห์เต็มใจเชื่อฟังพระเจ้า พวกเขาเดินทางออกไปยังแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้พวกเขา ถึงแม้พวกเขามีโอกาสกลับไปที่เมืองเออร์ แต่พวกเขาก็เลือกที่จะให้ความสำคัญกับ “สิ่งที่พระเจ้าสัญญา” เกี่ยวกับอนาคตมากกว่า คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า พวกเขา “อยากจะได้อยู่ในที่ที่ดีกว่า” (ฮบ. 11:8, 13, 15, 16) โมเสสไม่สนใจทรัพย์สมบัติของอียิปต์ เขา “เลือกที่จะถูกข่มเหงร่วมกับประชาชนของพระเจ้าแทนที่จะสนุกสนานชั่วคราวกับการทำบาป” (ฮบ. 11:24-26) ขอเราเลียนแบบความเชื่อของผู้ชายและผู้หญิงที่ซื่อสัตย์เหล่านั้น ขอเราเห็นคุณค่าอิสระในการเลือกที่พระเจ้าให้กับเราและใช้มันเพื่อทำตามความต้องการของพระเจ้า
11. (ก) เนื่องจากเรามีอิสระในการเลือก อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้? (ข) ทำไมคุณต้องการใช้อิสระในการเลือกในแบบที่ถูกต้อง?
11 บางครั้งอาจเป็นเรื่องง่ายกว่าถ้าจะให้คนอื่นมาตัดสินใจแทนเรา แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็จะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นคืออะไร? คัมภีร์ไบเบิลอธิบายไว้ที่เฉลยธรรมบัญญัติ 30:19, 20 (อ่าน) ในข้อ 19 บอกเราว่าพระเจ้าให้ชาติอิสราเอลมีโอกาสเลือก และในข้อ 20 เราได้เห็นว่าพระยะโฮวาให้พวกเขามีโอกาสแสดงว่าพวกเขารักพระองค์มากขนาดไหน ดังนั้น การใช้อิสระของเราในทางที่ดีที่สุดก็คือเราสามารถเลือกนมัสการพระยะโฮวาด้วยตัวของเราเองได้ และเหตุผลที่เราทำอย่างนั้นก็เพราะว่าเรารักพระยะโฮวาและอยากให้พระองค์ได้รับการสรรเสริญ
อย่าใช้อิสระที่คุณได้รับในทางที่ผิด
12. เราไม่ควรใช้อิสระที่เราได้รับอย่างไร?
12 ลองคิดดูว่าถ้าคุณให้ของขวัญที่มีค่ากับเพื่อน แต่เขากลับโยนของขวัญนั้นลงถังขยะ หรือแย่ยิ่งกว่านั้นคือเอาของขวัญที่คุณให้ไปทำร้ายคนอื่น คุณจะรู้สึกอย่างไร? คุณคงรู้สึกเสียใจมาก พระยะโฮวาได้ให้อิสระในการเลือกและตัดสินใจเป็นของขวัญกับเรา ดังนั้น พระองค์ต้องรู้สึกเสียใจมากแน่ ๆ ถ้าเห็นว่าบางคนใช้อิสระนั้นผิด ๆ อย่างเช่น ใช้มันทำร้ายคนอื่นหรือเลือกทำสิ่งที่ไม่ดี คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ในสมัยสุดท้าย” ผู้คนจะ “อกตัญญู” หรือไม่เห็นคุณค่า (2 ทธ. 3:1, 2) ดังนั้น เราจะแสดงอย่างไรว่าเราเห็นคุณค่าของขวัญนี้จากพระยะโฮวา? และเราจะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ของขวัญนี้ในทางที่ผิดอย่างไร?
13. อะไรจะช่วยเราไม่ให้ใช้อิสระที่เรามีในทางที่ผิด?
13 เราทุกคนมีอิสระในการเลือกว่าจะคบใครเป็นเพื่อน จะแต่งตัวแบบไหน จะดูหนังฟังเพลงอะไร แต่เราอาจใช้อิสระในทางที่ผิดได้โดยใช้เป็นข้ออ้างในการเลือกทำสิ่งที่พระเจ้าไม่ชอบ หรือติดตามสิ่งที่คนทั่วไปในโลกทำกัน (อ่าน 1 เปโตร 2:16) แทนที่จะใช้อิสระเพื่อ “เป็นข้ออ้างที่จะปล่อยตัวตามความต้องการของร่างกายที่มีบาป” เราต้องพยายามใช้อิสระนั้นเพื่อ “ทำทุกสิ่งแบบที่จะทำให้พระเจ้าได้รับการยกย่องสรรเสริญ”—กท. 5:13; 1 คร. 10:31
14. ทำไมเราควรวางใจพระยะโฮวาเมื่อเราใช้อิสระในการเลือกของเรา?
14 พระยะโฮวาบอกว่า “เรายะโฮวาเป็นพระเจ้าของเจ้า เราสอนเจ้าก็เพื่อประโยชน์ของตัวเจ้าเอง เรานำทางเจ้าให้เดินในทางที่ถูกต้อง” (อสย. 48:17) เราต้องวางใจพระยะโฮวาและอยู่ในกรอบที่พระองค์วางไว้ การทำอย่างนี้จะช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง เราต้องยอมรับอย่างถ่อมตัวว่า “มนุษย์กำหนดแนวทางชีวิตของตัวเองไม่ได้ แต่ละย่างก้าวของชีวิต เขาก็ยังกำหนดไม่ได้ด้วยซ้ำ” (ยรม. 10:23) ทั้งอาดัมและชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์เลือกที่จะไม่อยู่ในกรอบที่พระยะโฮวาวางไว้ พวกเขาต้องการพึ่งตัวเองมากกว่า ขอเราได้บทเรียนจากตัวอย่างที่ไม่ดีของพวกเขา ดังนั้น แทนที่จะพึ่งตัวเอง เราต้อง “วางใจพระยะโฮวาสุดหัวใจ”—สภษ. 3:5
นับถือการตัดสินใจของคนอื่น
15. เราได้เรียนอะไรจากหลักการที่บอกไว้ในกาลาเทีย 6:5?
15 เวลาที่คนอื่นตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เราต้องนับถืออิสระในการตัดสินใจของพวกเขาด้วย เพราะอะไร? เพราะพระเจ้าให้เราทุกคนมีอิสระในการเลือก ไม่มีใครตัดสินใจเหมือนกันในทุก ๆ เรื่อง นี่รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำและการนมัสการของเรา เราน่าจะนึกถึงหลักการที่บอกไว้ในกาลาเทีย 6:5 (อ่าน) ถ้าเราจำไว้เสมอว่าคริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เราก็จะนับถือการตัดสินใจของพวกเขา
16, 17. (ก) มีปัญหาอะไรในประชาคมโครินธ์? (ข) เปาโลช่วยพี่น้องเหล่านั้นอย่างไร? และเราได้บทเรียนอะไร?
16 ขอเราดูตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยให้เห็นว่า ทำไมเราต้องนับถือการตัดสินใจของพี่น้องในเรื่องที่พวกเขามีสิทธิ์ตัดสินใจได้ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวเขาเอง คริสเตียนในประชาคมโครินธ์เถียงกันเกี่ยวกับการกินเนื้อสัตว์ที่อาจเคยเอาไปถวายรูปเคารพซึ่งตอนหลังเอามาขายในตลาด พี่น้องบางคนอาจรู้สึกว่ากินเนื้อนั้นได้เพราะรู้ว่ารูปเคารพไม่มีความหมายอะไร ถึงอย่างนั้น พี่น้องที่เคยนมัสการรูปเคารพมาก่อนก็อาจรู้สึกว่าการกินเนื้อเหล่านั้นเป็นเหมือนการนมัสการ (1 คร. 8:4, 7) นี่กลายเป็นปัญหาใหญ่และทำให้ประชาคมแตกแยก เปาโลช่วยพี่น้องแก้ปัญหานี้อย่างไร?
17 ตอนแรก เปาโลเตือนพวกเขาทั้งสองฝ่ายว่าอาหารไม่ได้ทำให้เราสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น (1 คร. 8:8) แล้วเปาโลก็เตือนพวกเขาต่อไปว่า “อย่าใช้สิทธิ์ของคุณทำอะไรที่ทำให้คนอ่อนแอทิ้งความเชื่อไป” (1 คร. 8:9) จากนั้น เขาเตือนว่าคนที่เลือกจะไม่กินอย่าตัดสินคนที่เลือกจะกิน (1 คร. 10:25, 29, 30) จากตัวอย่างนี้เราเห็นว่าแม้แต่ในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการ คริสเตียนแต่ละคนยังต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ดังนั้น เราก็น่าจะนับถือการตัดสินใจส่วนตัวของพี่น้องคนอื่น ๆ ในเรื่องที่เล็กกว่าไม่ใช่หรือ?—1 คร. 10:32, 33
18. คุณจะแสดงอย่างไรว่าคุณเห็นค่าอิสระที่พระเจ้าให้?
18 พระยะโฮวาให้อิสระในการเลือกกับพวกเราทุกคน นี่ทำให้เรามีอิสระที่แท้จริง (2 คร. 3:17) เราเห็นค่าอิสระที่ได้รับจากพระยะโฮวาเพราะมันเปิดโอกาสให้เราตัดสินใจในแบบที่แสดงว่าเรารักพระองค์มากแค่ไหน ดังนั้น ขอเรานับถือการตัดสินใจของคนอื่น และตัดสินใจเลือกในแบบที่จะเป็นการสรรเสริญพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป