บทความศึกษา 46
พระยะโฮวาช่วยเรายังไงให้อดทนได้และยังคงมีความสุข?
“พระยะโฮวายังรอวันที่จะได้ช่วยพวกคุณ พระองค์จะเมตตาพวกคุณจริง ๆ”—อสย. 30:18
เพลง 3 กำลัง ความหวัง และความมั่นใจของเรา
ใจความสำคัญa
1-2. (ก) มีคำถามอะไรบ้างที่เราจะคุยกัน? (ข) อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาอยากช่วยเราจริง ๆ?
พระยะโฮวาสามารถช่วยเราให้รับมือกับปัญหาในชีวิตและมีความสุขในการรับใช้ได้ พระองค์ช่วยเรายังไง? และเราต้องทำยังไงเพื่อจะได้ประโยชน์จริง ๆ? เราจะได้คำตอบของคำถามเหล่านี้ในบทความนี้ แต่ก่อนอื่นให้เรามาคุยกันเกี่ยวกับคำถามหนึ่งก่อน พระยะโฮวาอยากช่วยเราจริง ๆ ไหม?
2 เราพบคำตอบได้ในจดหมายของเปาโลที่เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู เปาโลบอกว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือผม ผมจะไม่กลัวอะไร มนุษย์จะทำอะไรผมได้?” (ฮบ. 13:6) หนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคำว่า “ผู้ช่วยเหลือ” ที่ใช้ในข้อนี้หมายถึงคนที่รีบวิ่งไปช่วยคนที่กำลังร้องขอความช่วยเหลือ ให้คุณลองนึกภาพว่าพระยะโฮวากำลังรีบเข้าไปช่วยคนที่เป็นทุกข์ พระองค์เต็มใจและอยากช่วยเรามากจริง ๆ และถ้าพระองค์อยู่กับเรา เราจะอดทนกับความยากลำบากได้และยังคงมีความสุข
3. มี 3 วิธีอะไรบ้างที่พระยะโฮวาช่วยให้เราอดทนกับความยากลำบากได้และยังคงมีความสุข?
3 มีวิธีอะไรบ้างที่พระยะโฮวาช่วยให้เราอดทนได้และยังคงมีความสุข ให้เรามาดูที่หนังสืออิสยาห์ด้วยกัน ทำไมเราต้องดูที่หนังสือนี้? ก็เพราะว่าอิสยาห์ได้รับการดลใจให้เขียนคำพยากรณ์หลายข้อที่เอามาใช้กับผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ นอกจากนั้น อิสยาห์ยังมักจะพูดถึงพระยะโฮวาในแบบที่เข้าใจง่าย ให้เรามาดูตัวอย่างในอิสยาห์บท 30 ด้วยกัน ในบทนั้นอิสยาห์ใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาช่วยคนของพระองค์ใน 3 วิธีคือ (1) พระองค์ตั้งใจฟังคำอธิษฐานและตอบคำอธิษฐานของเรา (2) พระองค์ให้การชี้นำเรา และ (3) พระองค์อวยพรและให้สิ่งดี ๆ กับเราทั้งในตอนนี้และในอนาคต ให้เรามาดู 3 วิธีนี้อย่างละเอียดด้วยกัน
พระยะโฮวาฟังเรา
4. (ก) พระยะโฮวาพูดถึงชาวอิสราเอลในสมัยของอิสยาห์ยังไง? แล้วพระองค์ยอมให้พวกเขาเจออะไร? (ข) พระยะโฮวาให้ชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์มีความหวังอะไร? (อิสยาห์ 30:18, 19)
4 ข้อแรกของอิสยาห์บท 30 พระยะโฮวาพูดถึงชาวอิสราเอลว่าเป็น “ลูกหลานที่ดื้อรั้น” และการกระทำของพวกเขา “ทำให้บาปของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นไปอีก” พระยะโฮวาบอกอีกว่า “พวกเขาเป็นคนที่ชอบกบฏ . . . ไม่ยอมเชื่อฟังกฎหมายที่เรายะโฮวาให้ไว้” (อสย. 30:1, 9) ชาวอิสราเอลเหล่านี้ไม่ยอมฟังพระยะโฮวา อิสยาห์ก็เลยบอกล่วงหน้าว่าพระองค์จะยอมให้พวกเขาเจอหายนะ (อสย. 30:5, 17; ยรม. 25:8-11) แล้วพวกเขาก็เจอแบบนั้นจริง ๆ ตอนที่ถูกจับเป็นเชลยที่บาบิโลน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวอิสราเอลที่ยังซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาอยู่ ข่าวสารของอิสยาห์ก็เลยทำให้คนเหล่านี้มีความหวัง อิสยาห์บอกว่าวันหนึ่งพระองค์จะให้พวกเขาได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระองค์ก็รักษาสัญญาจริง ๆ (อ่านอิสยาห์ 30:18, 19) แต่พระองค์ก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขารอดทันที คำพูดของพระยะโฮวาที่บอกว่า “พระยะโฮวายังรอวันที่จะได้ช่วยพวกคุณ พระองค์จะเมตตาพวกคุณจริง ๆ” ทำให้รู้ว่าต้องผ่านไปหลายปีกว่าชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์เหล่านี้จะถูกปล่อยจากการเป็นเชลย ที่จริงต้องใช้เวลาถึง 70 ปี กว่าที่พวกเขาจะได้กลับไปที่กรุงเยรูซาเล็ม (อสย. 10:21; ยรม. 29:10) และเมื่อพวกเขาได้กลับไปที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง น้ำตาที่ไหลออกมาเพราะต้องเป็นเชลยก็กลับกลายเป็นน้ำตาของความดีใจ
5. อิสยาห์ 30:19 ให้คำรับรองอะไรกับเรา?
5 ทุกวันนี้เราได้กำลังใจจากคำพูดของอิสยาห์ที่บอกว่า “พระองค์จะช่วยเมื่อได้ยินคุณร้องขอ” (อสย. 30:19) อิสยาห์รับรองกับเราว่าพระยะโฮวาจะตั้งใจฟังเมื่อเราร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และพระองค์จะรีบตอบเรา เพราะอิสยาห์ยังบอกด้วยว่า “พระองค์จะตอบคุณทันทีที่ได้ยิน” คำพูดนี้รับรองกับเราว่าพระยะโฮวาพ่อของเราในสวรรค์เต็มใจช่วยคนที่ร้องขอความช่วยเหลือ และพระองค์ก็อยากช่วยพวกเขาจริง ๆ การรู้แบบนี้ทำให้เราอดทนได้และยังคงมีความสุข
6. คำพูดของอิสยาห์แสดงให้เห็นยังไงว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานของเราแต่ละคน?
6 ยังมีคำรับรองอะไรอีกเรื่องการอธิษฐานที่เราได้จากข้อนี้? พระยะโฮวาตั้งใจฟังคำอธิษฐานของเราแต่ละคน ทำไมเราถึงบอกแบบนั้น? ช่วงต้นของอิสยาห์บท 30 มีการใช้คำสรรพนามว่า “พวกเจ้า” และ พวกคุณ” เพราะพระยะโฮวาพูดกับคนของพระองค์โดยรวม แต่ในข้อ 19 ใช้คำว่า “คุณ” เพราะต้องการเน้นว่าเรื่องนี้พูดกับแต่ละคน ข้อนั้นบอกว่า “คุณจะไม่ต้องร้องไห้อีกเลย” “พระองค์จะช่วยเมื่อได้ยินคุณร้องขอ” “พระองค์จะตอบคุณทันทีที่ได้ยิน” พระยะโฮวาเป็นพ่อที่รักเรา พระองค์จะไม่บอกกับลูกชายลูกสาวของพระองค์ที่กำลังท้อแท้ว่า “ทำไมไม่เข้มแข็งเหมือนพี่ ๆ น้อง ๆ บ้าง” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์รู้ว่าเราทุกคนไม่เหมือนกัน พระองค์เห็นค่าและสนใจเราแต่ละคนเป็นส่วนตัว และพระองค์ถือว่าคำอธิษฐานของเราแต่ละคนสำคัญสำหรับพระองค์—สด. 116:1; อสย. 57:15
7. อิสยาห์กับพระเยซูเน้นยังไงว่าเราต้องอธิษฐานบ่อย ๆ?
7 เมื่อเราอธิษฐานบอกพระยะโฮวาเรื่องที่เรากังวล วิธีที่พระองค์ตอบเราทันทีอาจจะเป็นโดยการช่วยให้เรามีกำลังที่จะรับมือได้ แต่ถ้าปัญหาที่เราเจอไม่ได้จบเร็วอย่างที่เราอยากให้เป็นล่ะ? เราอาจต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่าขอให้พระองค์ช่วยให้เรามีกำลังที่จะอดทนได้ พระยะโฮวาก็อยากให้เราขอแบบนั้นด้วย เพราะอิสยาห์บอกว่า “อย่าให้ [พระยะโฮวา] หยุดพัก” (อสย. 62:7) ข้อนี้หมายความว่ายังไง? เราต้องอธิษฐานขอพระยะโฮวาเรื่อย ๆ เหมือนกับเราไม่อยากให้พระองค์หยุดพัก คำพูดของอิสยาห์ทำให้เรานึกถึงตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูในลูกา 11:8-10, 13 พระเยซูอยากให้เราอธิษฐานในแบบที่ “รบเร้าไม่เลิก” และขอพลังบริสุทธิ์ “ต่อไปเรื่อย ๆ” นอกจากนั้น เรายังสามารถขอให้พระยะโฮวาชี้นำเราให้ตัดสินใจอย่างถูกต้องด้วย
พระยะโฮวาชี้นำเรา
8. อิสยาห์ 30:20, 21 เกิดขึ้นจริงกับชาวอิสราเอลโบราณยังไง?
8 อ่านอิสยาห์ 30:20, 21 ตอนที่กองทัพของบาบิโลนมาล้อมกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 1 ปีครึ่ง ชาวกรุงนั้นเจอกับความทุกข์ยากลำบากต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนที่กินอาหารและน้ำ แต่อย่างที่บอกไว้ในข้อ 20 และ 21 พระยะโฮวาสัญญากับชาวอิสราเอลเหล่านั้นว่าถ้าพวกเขากลับใจและเปลี่ยนนิสัย พระองค์จะช่วยพวกเขาให้รอด อิสยาห์พูดถึงพระยะโฮวาว่าเป็น “ครูองค์ยิ่งใหญ่” แล้วก็บอกว่าพระองค์จะสอนพวกเขาให้นมัสการพระองค์ในแบบที่พระองค์ยอมรับ คำพยากรณ์นี้เป็นจริงตอนที่ชาวอิสราเอลถูกปล่อยจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน พระยะโฮวาเป็นครูองค์ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขาจริง ๆ และพระองค์ก็ชี้นำพวกเขาให้ฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ ทุกวันนี้เราก็ได้พรและสิ่งดี ๆ มากมายจากการที่พระยะโฮวาเป็นครูองค์ยิ่งใหญ่ของเรา
9. วิธีแรกที่พระยะโฮวาชี้นำเราในทุกวันนี้คืออะไร?
9 อิสยาห์ใช้ภาพเปรียบเทียบว่าเราเป็นนักเรียนและพระยะโฮวาก็ใช้ 2 วิธีสอนเรา วิธีแรกอิสยาห์บอกว่า “คุณจะเห็นครูองค์นี้ด้วยตาของคุณเอง” นี่ทำให้นึกภาพครูองค์ยิ่งใหญ่กำลังยืนต่อหน้านักเรียนของพระองค์ เราได้รับประโยชน์จริง ๆ จากการสอนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ พระองค์สอนเรายังไง? พระองค์ให้การชี้นำที่ชัดเจนผ่านทางองค์การของพระองค์ องค์การของพระยะโฮวาสอนเราทางการประชุมประชาคม การประชุมใหญ่ หนังสือและสื่อต่าง ๆ รายการโทรทัศน์ JW และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยเราในช่วงที่ยากลำบากทำให้เราสามารถอดทนได้และยังคงมีความสุข
10. เรา “ได้ยินเสียงจากข้างหลัง” ยังไง?
10 อิสยาห์พูดถึงวิธีที่ 2 ที่พระยะโฮวาสอนเรา เขาบอกว่า “คุณจะได้ยินเสียงจากข้างหลัง” อิสยาห์เปรียบเทียบพระยะโฮวาเป็นเหมือนครูที่เดินอยู่ข้างหลัง และคอยชี้ทางให้นักเรียนรู้ว่าควรไปทางไหน ทุกวันนี้เราก็ได้ยินเสียงพระยะโฮวาจากข้างหลังเราเหมือนกัน คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าซึ่งเขียนไว้นานมาแล้ว ดังนั้น เมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิล มันก็เหมือนกับเราได้ยินเสียงของพระยะโฮวาจากข้างหลังเรา—อสย. 51:4
11. เพื่อเราจะอดทนได้และยังมีความสุขด้วย เราต้องทำอะไร? และทำไมเราต้องทำแบบนั้น?
11 เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้ประโยชน์จริง ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลและองค์การของพระยะโฮวา? สังเกตว่าอิสยาห์พูดถึง 2 อย่าง อย่างแรกคือ “ทางที่ถูกอยู่ตรงนี้” อย่างที่ 2 “เดินทางนี้สิ” (อสย. 30:21) เราเห็นว่าการรู้ว่า “ทางที่ถูก” อยู่ตรงไหนยังไม่พอ เราต้อง “เดิน” บนทางนั้นด้วย คัมภีร์ไบเบิลและองค์การของพระยะโฮวาช่วยให้เรารู้ว่าพระองค์อยากให้เราทำอะไร แต่เราก็ต้องทำตามสิ่งที่เราเรียนรู้ด้วย เมื่อเราทำทั้งสองอย่างนี้ เราก็จะอดทนได้และรับใช้พระยะโฮวาอย่างมีความสุข นอกจากนั้น เรามั่นใจว่าเราจะได้พรจากพระยะโฮวาและสิ่งดี ๆ จากพระองค์แน่นอน
พระยะโฮวาอวยพรและให้สิ่งดี ๆ กับเรา
12. จากอิสยาห์ 30:23-26 พระยะโฮวาอวยพรและให้สิ่งดี ๆ กับประชาชนของพระองค์ยังไง?
12 อ่านอิสยาห์ 30:23-26 คำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นจริงยังไงกับชาวยิวที่กลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน? พระยะโฮวาให้สิ่งดี ๆ หลายอย่างกับพวกเขาเพื่อช่วยพวกเขาให้ใช้ชีวิตและรับใช้พระองค์ได้ พระองค์ให้อาหารมากมายกับเขา และที่สำคัญกว่านั้น พระองค์ช่วยพวกเขาให้สนิทกับพระองค์และยังฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์ได้ พวกเขาได้รับสิ่งดี ๆ มากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนั้น ในข้อ 26 พระยะโฮวายังให้แสงสว่างมากขึ้นกับพวกเขาด้วย ซึ่งหมายถึงพระองค์ช่วยพวกเขาให้เข้าใจคำของพระองค์มากขึ้น (อสย. 60:2) พรและสิ่งดี ๆ เหล่านี้ช่วยพวกเขาให้มีกำลังและรับใช้พระยะโฮวาอย่าง “มีใจชื่นบาน”—อสย. 65:14
13. คำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์เกิดขึ้นจริงในทุกวันนี้ยังไง?
13 คำพยากรณ์นี้ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูการนมัสการบริสุทธิ์เกิดขึ้นจริงกับพวกเราในทุกวันนี้ด้วยไหม? แน่นอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 หลายล้านคนได้ออกจากการเป็นเชลยของบาบิโลนใหญ่ซึ่งก็คือศาสนาเท็จทั้งหมดในโลก พวกเขาถูกพาไปยังอุทยานโดยนัยซึ่งดีกว่าแผ่นดินที่พระยะโฮวาสัญญากับชาวอิสราเอล (อสย. 51:3; 66:8) แล้วอุทยานโดยนัยหมายถึงอะไร?
14. อุทยานโดยนัยหมายถึงอะไร? และใครบ้างได้อยู่ที่นั่นในทุกวันนี้? (ดูอธิบายคำศัพท์)
14 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 ผู้ถูกเจิมมีความสุขที่ได้อยู่ในอุทยานโดยนัยb แล้วต่อมา “แกะอื่น” ที่มีความหวังที่จะอยู่ตลอดไปบนโลกก็ได้อยู่ในอุทยานโดยนัยนี้ด้วยและได้รับพรกับสิ่งดี ๆ มากมายจากพระยะโฮวา—ยน. 10:16; อสย. 25:6; 65:13
15. อุทยานโดยนัยอยู่ที่ไหน?
15 แล้วทุกวันนี้อุทยานโดยนัยอยู่ที่ไหน? ผู้นมัสการพระยะโฮวามีอยู่ทั่วโลก อุทยานโดยนัยก็เลยมีอยู่ทั่วโลก ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราก็อยู่ในอุทยานโดยนัยได้ถ้าเราสนับสนุนการนมัสการแท้
16. เราต้องทำยังไงเพื่อจะเห็นความสวยงามของอุทยานโดยนัยอยู่ตลอด?
16 เพื่อที่เราจะอยู่ในอุทยานโดยนัยต่อไปได้ เราต้องเห็นค่าประชาคมคริสเตียนที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมองแต่ส่วนดีของพี่น้องไม่ใช่สนใจที่ความไม่สมบูรณ์แบบของพวกเขา (ยน. 17:20, 21) ทำไมเรื่องนี้สำคัญมาก? ลองคิดถึงภาพเปรียบเทียบนี้ เวลาเราไปเที่ยวป่า เราอยากเห็นต้นไม้หลากหลายชนิดใช่ไหม? เหมือนกัน ประชาคมคริสเตียนก็มีพี่น้องที่มีความแตกต่างหลากหลาย (อสย. 44:4; 61:3) เราต้องมองที่ความสวยของ “ป่า” ไม่ใช่มองที่ “ต้นไม้” แต่ละต้นที่อยู่ใกล้ ๆ เราว่ามีตำหนิตรงไหน เราต้องไม่ให้ความไม่สมบูรณ์แบบของเราหรือของคนอื่นมาทำให้เรามองข้ามความสวยงามของความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมคริสเตียนทั่วโลก
17. เราแต่ละคนต้องทำยังไงเพื่อจะให้ประชาคมเป็นหนึ่งเดียวกัน?
17 แล้วเราแต่ละคนต้องทำยังไงเพื่อจะให้ประชาคมเป็นหนึ่งเดียวกัน? เราต้องเป็นคนสร้างสันติ (มธ. 5:9; รม. 12:18) ทุกครั้งที่เราเป็นฝ่ายเริ่มสร้างสันติสุขกับพี่น้องในประชาคม เรายิ่งทำให้อุทยานโดยนัยนี้สวยงามมากขึ้น เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ที่พาเราแต่ละคนเข้ามาในอุทยานโดยนัยเพื่อจะมานมัสการแท้ (ยน. 6:44) ลองนึกดูว่าพระยะโฮวาจะมีความสุขขนาดไหนที่เห็นเราพยายามเต็มที่ที่จะสร้างสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องที่พระองค์มองว่ามีค่า—อสย. 26:3; ฮกก. 2:7
18. เราต้องคิดถึงอะไรบ่อย ๆ? และทำไม?
18 พระยะโฮวาให้ผู้รับใช้ของพระองค์ได้สิ่งดี ๆ มากมาย แล้วเราต้องทำยังไงถึงจะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น? เราต้องอ่านและคิดใคร่ครวญคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือขององค์การ การทำแบบนี้จะช่วยให้เรามีคุณลักษณะแบบคริสเตียนที่จะทำให้เรา “รักกันแบบพี่น้อง” (รม. 12:10) เมื่อเราคิดใคร่ครวญว่าตอนนี้เราได้พรและสิ่งดี ๆ อะไรบ้างจากพระยะโฮวา มันก็จะทำให้เราใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น และเมื่อเราคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่พระองค์จะให้เราในอนาคต มันก็จะช่วยให้ความหวังเรื่องการมีชีวิตตลอดไปเพื่อจะรับใช้พระองค์ชัดเจนขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เรารับใช้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ตั้งใจอดทนต่อ ๆ ไป
19. (ก) จากอิสยาห์ 30:18 เรามั่นใจได้ในเรื่องอะไร? (ข) อะไรจะช่วยให้เราอดทนได้และยังคงมีความสุข?
19 อีกไม่นานพระยะโฮวาจะทำลายโลกชั่วเพื่อเรา (อสย. 30:18) เรามั่นใจว่า “พระเจ้าที่ยุติธรรม” จะไม่ปล่อยให้โลกของซาตานอยู่นานเกินเวลาที่พระองค์กำหนดไว้ แม้แต่วันเดียว (อสย. 25:9) เราเต็มใจอดทนและรอวันที่พระยะโฮวาจะช่วยให้รอด ระหว่างนี้เราตั้งใจที่จะอธิษฐาน อ่านและคิดใคร่ครวญคัมภีร์ไบเบิล และคิดถึงพรกับสิ่งดี ๆ ที่เราได้รับ การทำแบบนี้จะช่วยให้เราอดทนต่อความยากลำบากได้และนมัสการพระองค์อย่างมีความสุข
เพลง 142 ยึดมั่นกับความหวัง
a ในบทความนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับ 3 วิธีที่พระยะโฮวาช่วยเราให้อดทนกับปัญหาในชีวิตและยังมีความสุขได้ เราจะได้เรียนเรื่องนี้กันจากอิสยาห์บท 30 ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการอธิษฐาน การอ่านคัมภีร์ไบเบิลแล้วคิดใคร่ครวญ และการคิดถึงพรและสิ่งดี ๆ ที่เราได้รับตอนนี้และที่จะได้รับในอนาคต
b อธิบายคำศัพท์ “อุทยานโดยนัย” หมายถึงการนมัสการพระยะโฮวาอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันในสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและรู้สึกปลอดภัย เรามีความรู้ที่เสริมความเชื่อมากมาย ไม่มีคำสอนเท็จที่โกหกหลอกลวง และเรายังมีงานที่มีความสุขให้ทำซึ่งก็คืองานประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า เรายังได้สนิทกับพระยะโฮวาและอยู่อย่างสงบสุขกับพี่น้องร่วมความเชื่อ ซึ่งช่วยให้เราอดทนกับปัญหาในชีวิตได้และยังคงมีความสุข เราเข้ามาอยู่ในอุทยานโดยนัยตอนที่เราเริ่มนมัสการพระยะโฮวาในวิธีที่ถูกต้อง และพยายามเลียนแบบพระองค์ให้มากที่สุด