กิจการ
ข้อมูลสำหรับศึกษา บท 4
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหาร: มีการพูดถึงหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารที่ กจ 5:24, 26 ด้วย ในช่วงศตวรรษที่ 1 คนที่ทำหน้าที่นี้คือปุโรหิตที่มีอำนาจเป็นอันดับ 2 รองจากมหาปุโรหิต หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารจะคอยดูแลพวกปุโรหิตที่รับใช้ในวิหาร นอกจากนั้น เขายังคอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งภายในและรอบ ๆ วิหารโดยมีพวกตำรวจประจำวิหารคอยช่วย ตำรวจเหล่านี้คือกลุ่มคนเลวีที่ได้รับการแต่งตั้ง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารยังมีพวกผู้ช่วยที่คอยดูแลคนเลวีที่เปิดประตูวิหารในตอนเช้าและปิดในตอนกลางคืน คนเหล่านี้จะคอยดูแลตู้บริจาค ดูแลคนที่มาวิหารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และทำให้มั่นใจว่าไม่มีใครเข้าไปในเขตหวงห้าม คนเลวีถูกแบ่งออกเป็น 24 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะสลับกันมารับใช้ที่วิหารปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 อาทิตย์ และดูเหมือนว่าแต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้าที่คอยรายงานความเรียบร้อยให้กับหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหาร พวกหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารเป็นคนที่มีอิทธิพลมาก มีการพูดถึงพวกเขากับปุโรหิตใหญ่ว่าเป็นคนวางแผนฆ่าพระเยซู ในคืนที่พระเยซูถูกทรยศก็มีพวกหัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารมาพร้อมกับคนที่มาจับพระเยซูด้วย—ลก 22:4 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา), 52
ผู้นำ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
อันนาสปุโรหิตใหญ่: อันนาสได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตประมาณปี ค.ศ. 6 หรือ 7 โดยคีรินิอัสผู้ว่าราชการชาวโรมันที่ปกครองแคว้นซีเรีย อันนาสอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงประมาณปี ค.ศ. 15 ต่อมาแม้เขาจะถูกโรมปลดออกจากตำแหน่งมหาปุโรหิตแล้ว แต่ดูเหมือนเขายังมีอิทธิพลมากในฐานะปุโรหิตใหญ่และยังมีสิทธิ์มีเสียงมากในกลุ่มผู้นำระดับสูงของชาวยิว ลูกชาย 5 คนของอันนาสเคยเป็นมหาปุโรหิต และเคยาฟาสลูกเขยของเขาก็เป็นมหาปุโรหิตตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 18 จนถึงประมาณปี ค.ศ. 36 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:2) ที่ ยน 18:13, 19 มีการเรียกอันนาสว่า “ปุโรหิตใหญ่” คำกรีกเดียวกันนี้ (อาร์ฆิเอะรือส) สามารถใช้เพื่อหมายถึงคนที่เป็นมหาปุโรหิตในปัจจุบัน หรือคนสำคัญ ๆ ในคณะปุโรหิตซึ่งรวมถึงมหาปุโรหิตที่ออกจากตำแหน่งไปแล้ว—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ปุโรหิตใหญ่”
เคยาฟาส: เป็นมหาปุโรหิตที่โรมแต่งตั้ง เคยาฟาสมีความสามารถด้านการทูต เขาอยู่ในตำแหน่งมหาปุโรหิตนานกว่าคนอื่น ๆ ก่อนหน้าเขา เคยาฟาสได้รับการแต่งตั้งประมาณปี ค.ศ. 18 และดำรงตำแหน่งจนถึงประมาณปี ค.ศ. 36 เคยาฟาสเป็นคนที่สอบสวนพระเยซูและส่งท่านไปหาปีลาต (มธ 26:3, 57; ยน 11:49; 18:13, 14, 24, 28) มีเฉพาะในข้อนี้ของหนังสือกิจการที่พูดถึงชื่อของเคยาฟาส ส่วนในข้ออื่น ๆ เรียกเขาว่า “มหาปุโรหิต”—กจ 5:17, 21, 27; 7:1; 9:1
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
ประหารท่านบนเสา: หรือ “ทำให้ท่านติดอยู่กับเสา”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:19 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เสา”; “เสาทรมาน”
หินหัวมุมหลัก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:42
พูดอย่างกล้าหาญ: หรือ “ไม่กลัว” มาจากคำกรีก พาร์เรเซีย ซึ่งอาจแปลได้ด้วยว่า “มั่นใจ” (กจ 28:31; 1ยน 5:14) มักมีการแปลคำ พาร์เรซิอาศอไม ซึ่งเป็นคำกริยาที่เกี่ยวข้องกันว่า “ประกาศอย่างกล้าหาญ (ด้วยความกล้าหาญ), พูดอย่างกล้าหาญ” ในหนังสือกิจการมีคำกริยานี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งทำให้เห็นว่าลักษณะเด่นของงานประกาศของคริสเตียนยุคแรกคือความกล้าหาญ—กจ 4:29, 31; 9:27, 28; 13:46; 14:3; 18:26; 19:8; 26:26
ไม่มีการศึกษา: หรือ “ไม่ได้เรียนหนังสือ” ถึงแม้คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (อากราม-มาท็อส) อาจหมายถึงไม่รู้หนังสือ แต่ในท้องเรื่องนี้คำนี้น่าจะหมายถึงคนที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนของพวกรับบี ดูเหมือนว่าคนยิวส่วนใหญ่ในศตวรรษแรกสามารถอ่านออกเขียนได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ประชุมของชาวยิวมีการสอนการอ่านและเขียน แต่เปโตรกับยอห์นก็เป็นเหมือนกับพระเยซูที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนของพวกรับบี (เทียบกับ ยน 7:15) พวกผู้นำศาสนาในสมัยพระเยซูคิดว่าโรงเรียนของพวกรับบีเป็นที่เดียวเท่านั้นที่จะได้รับการสอนเรื่องศาสนาอย่างถูกต้อง จึงไม่แปลกที่พวกสะดูสีกับฟาริสีจะคิดว่าเปโตรกับยอห์นไม่มีคุณสมบัติที่จะสอนหรืออธิบายกฎหมายของโมเสสให้กับผู้คน ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งเปโตรกับยอห์นก็มาจากแคว้นกาลิลีซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่นเป็นชาวไร่ชาวนา คนเลี้ยงแกะ และชาวประมง พวกผู้นำศาสนาและคนอื่น ๆ ในกรุงเยรูซาเล็มและแคว้นยูเดียมักดูถูกคนที่มาจากแคว้นกาลิลี พวกเขามองว่าเปโตรกับยอห์นเป็นคน “ไม่มีการศึกษา” และเป็น “คนธรรมดา” (ยน 7:45-52; กจ 2:7) แต่พระเจ้าไม่ได้คิดอย่างนั้น (1คร 1:26-29; 2คร 3:5, 6; ยก 2:5) ก่อนที่พระเยซูจะตาย ท่านสอนและฝึกอบรมพวกเขาและสาวกคนอื่น ๆ อย่างเต็มที่ (มธ 10:1-42; มก 6:7-13; ลก 8:1; 9:1-5; 10:1-42; 11:52) และหลังจากที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว ท่านก็ยังสอนพวกสาวกโดยทางพลังบริสุทธิ์—ยน 14:26; 16:13; 1ยน 2:27
ห้องประชุมของศาลแซนเฮดริน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:66
อัศจรรย์: มาจากคำกรีก เซเม่ออน คำนี้มักหมายถึงการอัศจรรย์ที่ให้หลักฐานว่าพระเจ้าอยู่เบื้องหลัง
พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด: มาจากคำกรีก เด็สพอเทส ที่มีความหมายหลักว่า “นาย” (1ทธ 6:1; ทต 2:9; 1ปต 2:18) แต่เมื่อใช้คำนี้กับพระเจ้า เช่นในข้อนี้และที่ ลก 2:29 กับ วว 6:10 ก็มีการแปลว่า “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด” เพื่อเน้นว่าพระองค์เป็นนายองค์ยิ่งใหญ่ คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับใช้คำว่า “องค์เจ้านาย” “องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เจ้าชีวิต” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูบางฉบับใช้คำฮีบรู อะโดนาย (พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด) แต่มีอย่างน้อย 1 ฉบับใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 2:2 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
ผู้ถูกเจิมของพระองค์: หรือ “พระคริสต์ของพระองค์, เมสสิยาห์ของพระองค์” คำว่าผู้ถูกเจิมมาจากคำกรีก ฆะริสท็อส ที่แปลว่า “พระคริสต์” ข้อความในข้อนี้ยกมาจาก สด 2:2 ซึ่งข้อนั้นใช้คำฮีบรู มาชีอัค ที่แปลว่า “เมสสิยาห์” ทั้งคำว่า “พระคริสต์” และ “เมสสิยาห์” หมายถึงผู้ถูกเจิม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 2:26; ยน 1:41; กจ 4:27
ผู้ที่พระองค์เจิมไว้: หรือ “ผู้ที่พระองค์ตั้งให้เป็นพระคริสต์ (เมสสิยาห์)” คำกริยากรีก ฆะรีโอ (เจิม) ที่ใช้ในข้อนี้เป็นที่มาของคำว่า ฆะริสท็อส (พระคริสต์) คำนี้แปลตรงตัวหมายถึงการเทน้ำมันลงบนใครคนหนึ่ง แต่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำนี้เฉพาะในความหมายเป็นนัยเพื่อหมายถึงการที่พระเจ้าแต่งตั้งใครคนหนึ่งให้ทำงานมอบหมายพิเศษภายใต้การชี้นำของพระองค์ มีการใช้คำกริยากรีกนี้ที่ ลก 4:18; กจ 10:38; 2คร 1:21; และ ฮบ 1:9 ด้วย ส่วนคำกรีก อาเล่โฟ หมายถึงการเทน้ำมันหรือเครื่องหอมลงบนใครคนหนึ่งจริง ๆ เช่น อาจจะทำหลังจากล้างหน้า ทำเพื่อการรักษาโรค หรือทำเพื่อเตรียมศพก่อนที่จะนำไปฝัง—มธ 6:17; มก 6:13; 16:1; ลก 7:38, 46; ยก 5:14
พระยะโฮวา: ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิษฐานถึง “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด” (กจ 4:24ข) คำว่า “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด” มาจากคำกรีก เด็สพอเทส มีการใช้คำนี้ใน ลก 2:29 ซึ่งเป็นคำอธิษฐานถึงพระเจ้าด้วย แต่ในคำอธิษฐานครั้งนี้ที่บันทึกในหนังสือกิจการ พระเยซูถูกเรียกว่า “ผู้รับใช้ที่บริสุทธิ์ของพระองค์” (กจ 4:27, 30) ซึ่งในคำอธิษฐานนี้มีข้อความที่ยกมาจาก สด 2:1, 2 และที่นั่นมีชื่อของพระเจ้าด้วย ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 4:26) นอกจากนั้น ข้อความที่พวกสาวกอธิษฐานถึงพระยะโฮวาว่า ดูสิว่าพวกเขากำลังข่มขู่พวกเราก็เป็นข้อความที่คล้ายกับคำอธิษฐานที่บันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่นที่ 2พก 19:16, 19 และ อสย 37:17, 20 ซึ่งใน 2 ที่นั้นมีการใช้ชื่อของพระเจ้าอยู่ด้วย
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
อธิษฐานอ้อนวอน: หรือ “อธิษฐานอย่างจริงจัง” คำกริยากรีก เดะออไม หมายถึงการอธิษฐานอย่างจริงจังและออกมาจากความรู้สึกที่แรงกล้า คำนามที่เกี่ยวข้องกัน เดะเอซิส มีความหมายว่า “การอ้อนวอนอย่างถ่อมตัวและจริงจัง” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำนี้เฉพาะกับการอธิษฐานถึงพระเจ้า แม้แต่พระเยซูก็ “อธิษฐานขอและอ้อนวอนเสียงดังทั้งน้ำตาต่อพระเจ้าผู้ที่ช่วยท่านให้พ้นจากความตายได้” (ฮบ 5:7) การใช้คำนามนี้แบบพหูพจน์แสดงให้เห็นว่าพระเยซูอธิษฐานอ้อนวอนถึงพระยะโฮวาหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น ในสวนเกทเสมนีพระเยซูอธิษฐานอ้อนวอนอย่างแรงกล้าหลายครั้งหลายหน—มธ 26:36-44; ลก 22:32
คำสอนของพระองค์: หรือ “คำสอนของพระเจ้า” มีคำนี้อยู่หลายครั้งในหนังสือกิจการ (กจ 6:2, 7; 8:14; 11:1; 13:5, 7, 46; 17:13; 18:11) ในข้อนี้มีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงข่าวสารที่มาจากพระยะโฮวาพระเจ้าที่คริสเตียนประกาศ และข่าวสารนี้เน้นไปที่บทบาทสำคัญของพระเยซูในการทำให้ความประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ
เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน: แปลตรงตัวว่า “มีหัวใจและชีวิตเดียวกัน” สำนวนนี้หมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวและสามัคคีกันระหว่างพี่น้องร่วมความเชื่อที่มีมากมาย ใน ฟป 1:27 แปลสำนวนกรีกนี้ว่า “เหมือนคนคนเดียว” และยังแปลได้ด้วยว่า “มีเป้าหมายเดียวกัน” ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีสำนวนคล้าย ๆ กันที่ 1พศ 12:38 และที่ 2พศ 30:12 เพื่อพูดถึงการมีความต้องการและการกระทำอย่างเดียวกัน นอกจากนั้น ยังมักมีการใช้คำว่า “หัวใจ” คู่กับคำว่า “ชีวิต” เพื่อหมายถึงตัวตนทั้งหมดของคนเรา (ฉธบ 4:29; 6:5; 10:12; 11:13; 26:16; 30:2, 6, 10) สำนวนกรีกที่ใช้ในข้อนี้ก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน ซึ่งอาจแปลได้ว่า “พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งในความคิดและเป้าหมาย” นี่สอดคล้องกับคำอธิษฐานของพระเยซูที่ท่านขอให้สาวกเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าพวกเขาจะมาจากภูมิหลังแบบไหนก็ตาม—ยน 17:21
ผู้ให้กำลังใจ: หรือ “ลูกของการให้กำลังใจ” คำนี้แปลมาจากคำว่าบาร์นาบัสซึ่งเป็นฉายาของสาวกคนหนึ่งที่ชื่อโยเซฟ เนื่องจากโยเซฟเป็นชื่อที่ใช้กันมากในหมู่ชาวยิว พวกอัครสาวกจึงอาจให้ชื่อเขาอีกชื่อหนึ่งว่าบาร์นาบัสด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง (เทียบกับ กจ 1:23) บางครั้ง มีการใช้คำว่าลูกของเพื่อหมายถึงคุณลักษณะเด่นของคนคนหนึ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น ดังนั้น ฉายาลูกของการให้กำลังใจจึงอาจแสดงให้เห็นว่าโยเซฟเป็นคนให้กำลังใจคนอื่นเก่ง ลูการายงานว่าโยเซฟหรือบาร์นาบัสถูกส่งไปที่ประชาคมที่อันทิโอกในแคว้นซีเรียเพื่อ “ให้กำลังใจ” พี่น้องร่วมความเชื่อ (กจ 11:22, 23) คำกริยากรีก พาราคาเละโอ ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำกรีก พาราเคลซิส ที่ใช้ใน กจ 4:36 ซึ่งทั้งสองคำแปลว่า “ให้กำลังใจ”