จากคำพูดเจ็บแสบ เป็นคำพูดชโลมใจ
“ความตายและชีวิตอยู่ในอำนาจลิ้น.”—สุภาษิต 18:21.
การด่าทอ—กิจปฏิบัติอย่างหนึ่งของการใช้คำพูดสบประมาทหยาบหยามแบบจงใจ—คัมภีร์ไบเบิลตำหนิอย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งผิด. ภายใต้บัญญัติของโมเซ คนที่ด่าแช่งบิดามารดาของตนต้องถูกปรับโทษถึงตาย. (เอ็กโซโด 21:17) ฉะนั้น พระยะโฮวาพระเจ้าไม่ทรงดูเบาในเรื่องนี้. คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ไม่สนับสนุนความคิดที่ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ‘ลับ ๆ ในบ้าน’ ไม่สลักสำคัญเท่าไรตราบใดที่คนเราอ้างว่ารับใช้พระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดถือว่าตนเป็นผู้นมัสการตามแบบแผน และกระนั้นมิได้เหนี่ยวรั้งลิ้นของตน แต่ยังคงหลอกลวงหัวใจของตัวเองอยู่ต่อไป การนมัสการแบบที่ผู้นี้ได้กระทำก็ไร้ประโยชน์.” (ยาโกโบ 1:26, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 15:1,3) ดังนั้น ถ้าชายคนหนึ่งพูดหยาบหยามภรรยา การงานฝ่ายคริสเตียนอื่น ๆ ทั้งสิ้นของเขาอาจกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ในสายพระเนตรของพระเจ้า.a—1 โกรินโธ 13:1-3.
นอกจากนี้ คริสเตียนที่ชอบแช่งด่าอาจถูกขับจากประชาคมได้. เขาอาจถึงกับพลาดพระพรต่าง ๆ ที่จะมีมาโดยราชอาณาจักรของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 5:11; 6:9,10) เห็นได้ชัดว่า บุคคลที่ใช้คำพูดเจ็บแสบต้องทำการเปลี่ยนขนานใหญ่. แต่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร?
ตีแผ่ปัญหา
ประจักษ์ชัดว่า ผู้กระทำผิดจะไม่เปลี่ยนเว้นแต่เขาเข้าใจชัดแจ้งว่า เขามีปัญหาร้ายแรง. น่าเสียดาย เป็นดังที่ผู้ให้คำปรึกษาคนหนึ่งสังเกต ผู้ชายหลายคนซึ่งใช้คำด่า “ไม่ถือว่าพฤติกรรมของตนหยาบคายแต่ประการใด. สำหรับผู้ชายเหล่านี้แล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งปกติอย่างสิ้นเชิง และเป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ ที่สามีภรรยาปฏิบัติต่อกันและกัน.” ด้วยเหตุนี้ หลายคนคงไม่เห็นความจำเป็นที่จะเปลี่ยน จนกว่าจะนำสถานการณ์นั้นมาตีแผ่อย่างตรงไปตรงมาให้เขาเห็น.
บ่อยครั้ง หลังจากชั่งดูสถานการณ์ของเธอพร้อมด้วยการอธิษฐาน ผู้เป็นภรรยาจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องพูดออกมา—เพื่อสวัสดิภาพของเธอเองและลูก ๆ และด้วยความห่วงใยต่อสถานภาพของสามีกับพระเจ้า. จริงอยู่ มีโอกาสเป็นไปได้เสมอที่การพูดออกมาอาจจะทำให้เรื่องเลวร้ายยิ่งขึ้น และคำพูดของเธออาจปะทะเข้ากับการปฏิเสธเป็นชุด ๆ. บางที ภรรยาอาจเลี่ยงไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ โดยคิดล่วงหน้าอย่างรอบคอบถึงวิธีที่จะนำเรื่องนั้นขึ้นมาพูด. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คำพูดที่เหมาะกับกาลเทศะเปรียบเหมือนผลแอปเปิลทำด้วยทองคำใส่ไว้ในกระเช้าเงิน.” (สุภาษิต 25:11) การเข้าหาด้วยความอ่อนโยนแต่เปิดอกจริงใจในช่วงที่บรรยากาศราบรื่น อาจจะเข้าถึงหัวใจของเขา.—สุภาษิต 15:1.
แทนที่จะประณาม ภรรยาควรพยายามเผยทัศนะของตัวเองออกมาว่า คำพูดเจ็บแสบมีผลกระทบเธออย่างไร. การใช้คำว่า “ฉัน” บ่อยครั้งได้ผลเยี่ยม. ตัวอย่างเช่น ‘ฉันรู้สึกช้ำใจเพราะ . . . ’ หรือ ‘ฉันรู้สึกแหลกสลายเมื่อคุณพูดกับฉันว่า . . . ’ คำพูดเช่นนี้ดูเป็นไปได้มากกว่าที่จะเข้าถึงหัวใจ เพราะเป็นการโจมตีปัญหา ไม่ใช่ตัวบุคคล.—เทียบกับเยเนซิศ 27:46–28:1.
การที่ภรรยาพูดแทรกด้วยปฏิภาณแต่ก็มั่นคงอาจก่อผลดีได้. (เทียบกับบทเพลงสรรเสริญ 141:5.) ชายคนหนึ่งซึ่งเราขอเรียกว่า สตีเวน พบว่าเป็นอย่างนั้นจริง. เขาบอกว่า “ภรรยาผมดูออกว่าผมชอบใช้คำหยาบหยามซึ่งผมไม่รู้ตัว และเธอใช้ความกล้าที่จะบอกเรื่องนั้นกับผม.”
ขอความช่วยเหลือ
แต่ภรรยาจะทำอะไรได้บ้างหากสามีปฏิเสธไม่ยอมรับปัญหา? ในสถานการณ์เช่นนี้ ภรรยาบางคนหาความช่วยเหลือจากข้างนอก. ในช่วงทุกข์ใจเช่นนี้ พยานพระยะโฮวาสามารถเข้าพบผู้ปกครองในประชาคมของตนได้. คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นชายเหล่านี้ให้แสดงความรักและกรุณาขณะบำรุงเลี้ยงฝูงแกะทางฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า และในเวลาเดียวกันก็ “ว่ากล่าวคนเหล่านั้นซึ่งโต้แย้ง” คำสอนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในพระคำของพระเจ้า. (ติโต 1:9, ล.ม.; 1 เปโตร 5:1-3) ถึงแม้ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะเข้าไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของคู่สามีภรรยา แต่พวกผู้ปกครองก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นห่วงเมื่อฝ่ายหนึ่งได้รับความทุกข์เนื่องจากคำพูดหยาบคายของอีกฝ่ายหนึ่ง. (สุภาษิต 21:13) การยึดมั่นกับมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่แก้ต่างให้เขาหรือดูเบาคำพูดหยาบหยาม.b
พวกผู้ปกครองอาจทำให้การติดต่อสื่อความระหว่างคู่สามีภรรยาง่ายขึ้นได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าพบผู้ปกครองโดยเล่าว่า เธอถูกโขกสับทางวาจาเป็นเวลาหลายปีจากสามีซึ่งอยู่ในความเชื่อเดียวกันกับเธอ. ผู้ปกครองคนนั้นได้จัดเตรียมเพื่อพบกับเขาทั้งสอง. ขณะที่ฝ่ายหนึ่งพูด เขาขอให้อีกฝ่ายหนึ่งฟังโดยไม่พูดขัดจังหวะ. เมื่อถึงคราวของภรรยา เธอพูดว่าเธอไม่อาจทานทนได้อีกต่อไปกับการระเบิดโทโสของสามี. เธออธิบายว่า เป็นเวลาหลายปีที่กระเพาะของเธอบิดเป็นเกลียวเขม็งในตอนสิ้นสุดของแต่ละวัน ไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวหรือไม่เมื่อผ่านประตูเข้ามา. เมื่อโทโสของเขาปะทุ เขาจะพูดดูหมิ่นเหยียดหยามครอบครัวของเธอ, เพื่อน ๆ ของเธอ, และตัวเธอเอง.
ผู้ปกครองคนนั้นขอให้ผู้เป็นภรรยาอธิบายว่าคำพูดของสามีทำให้เธอรู้สึกอย่างไร. เธอตอบว่า “ฉันรู้สึกเหมือนเป็นตัวเสนียดที่ไม่มีใครสามารถรักได้. บางครั้งฉันจะถามคุณแม่ว่า ‘แม่คะ หนูเป็นคนที่ยากจะอยู่ด้วยหรือคะ? หนูไม่น่ารักเลยหรือคะ?’” ขณะที่เธอพรรณนาว่าคำพูดของสามีทำให้เธอรู้สึกอย่างไรนั้น สามีเริ่มร้องไห้. เป็นครั้งแรกที่เขามองเห็นได้ว่า เขาทำร้ายภรรยาอย่างเจ็บปวดรวดร้าวเพียงไรด้วยคำพูดของตน.
คุณสามารถเปลี่ยนได้
คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกเคยมีปัญหาเกี่ยวกับคำพูดหยาบหยาม. เปาโล อัครสาวกคริสเตียน ได้เตือนพวกเขาให้ขจัด “การโกรธแค้น, การมีโทโส, การชั่ว, การพูดหยาบช้า, และการพูดโลนลามก.” (โกโลซาย 3:8, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม คำพูดหยาบคายเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหัวใจมากกว่าลิ้น. (ลูกา 6:45) นั่นเป็นสาเหตุที่เปาโลเสริมว่า “จงถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่ากับกิจปฏิบัติต่าง ๆ ของมันเสีย และสวมบุคลิกภาพใหม่.” (โกโลซาย 3:9,10, ล.ม.) ดังนั้น การเปลี่ยนจึงเกี่ยวข้องไม่เฉพาะแต่การพูดคุย ที่ต่างออกไปเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ต่างออกไปด้วย.
สามีซึ่งใช้วาจาทำร้ายอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อระบุว่า อะไรจริง ๆ เป็นสิ่งที่กระตุ้นพฤติกรรมของตน.c เขาคงปรารถนาที่จะมีทัศนะแบบผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า และทรงทราบหัวใจของข้าพเจ้า. ขอโปรดตรวจสอบดูข้าพเจ้า และทรงทราบความคิดที่ปั่นป่วนของข้าพเจ้า และทอดพระเนตรดูว่ามีวิถีที่ก่อความปวดร้าวใด ๆ ในตัวข้าพเจ้าหรือไม่.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:23,24, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ทำไมเขาจึงรู้สึกว่าจะต้องควบคุม หรือแสดงตัวเองว่าเหนือกว่าคู่ของตน? อะไรเป็นชนวนให้เกิดการทำร้ายทางวาจา? การโจมตีของเขาเป็นอาการของความขุ่นเคืองที่อยู่ลึก ๆ ไหม? (สุภาษิต 15:18) เขาทนทุกข์เนื่องด้วยความรู้สึกไร้ค่า บางทีเป็นผลจากการเลี้ยงดูที่ถูกกระหน่ำด้วยคำพูดติเตียนดุด่าไหม? คำถามเช่นนี้สามารถช่วยเขาให้ค้นพบรากเหง้าแห่งพฤติกรรมของตนได้.
กระนั้น นับว่ายากที่จะขจัดคำพูดหยาบหยามออกไปอย่างถอนราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกเสี้ยมสอนโดยบิดามารดาซึ่งใช้วาจาถากถางเสียเอง หรือโดยวัฒนธรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมแห่งการใช้อำนาจบาตรใหญ่. แต่สิ่งใด ๆ ที่เรียนรู้ได้ก็เรียนเลิก ได้ถ้าให้เวลาและใช้ความพยายาม. คัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องช่วยยิ่งใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้. พระคัมภีร์สามารถช่วยคนเราให้ขจัดกระทั่งพฤติกรรมที่ฝังรากลึกด้วยซ้ำ. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 10:4,5.) โดยวิธีใด?
เจตคติอันถูกต้องต่อบทบาทที่พระเจ้าทรงมอบให้
บ่อยครั้ง ผู้ที่ชอบทำร้ายด้วยคำพูดมีทัศนะที่ผิดเพี้ยนต่อบทบาทของสามีและภรรยาซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้. ตัวอย่างเช่น เปาโลผู้บันทึกคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าผู้เป็นภรรยาจำต้อง “ยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตน” และ “สามีเป็นประมุขของภรรยาของตน.” (เอเฟโซ 5:22,23, ล.ม.) สามีอาจจะรู้สึกว่าการเป็นประมุขทำให้ตนมีสิทธิ์ควบคุมโดยสิ้นเชิง. แต่ไม่ใช่อย่างนั้น. ภรรยาของเขาแม้จะอยู่ใต้อำนาจ แต่ไม่ใช่ทาส. เธอเป็น “ผู้ช่วย” และเป็น “คู่เคียง” ของเขา. (เยเนซิศ 2:18) ด้วยเหตุนี้ เปาโลจึงเสริมว่า “สามีทั้งหลายจึงควรรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตนเอง. ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตัวเอง เพราะไม่มีชายคนใดเคยเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง; แต่เขาเลี้ยงดูและทะนุถนอมเนื้อหนังนั้น ดังที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำกับประชาคม.”—เอเฟโซ 5:28,29, ล.ม.
ในฐานะประมุขแห่งประชาคมคริสเตียน พระเยซูไม่เคยดุด่าสาวกของพระองค์ อันเป็นเหตุให้พวกเขาขวัญหนีดีฝ่อสงสัยว่าเมื่อไรคำตำหนิด่าว่าจะระเบิดขึ้นอีก. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงมีความอ่อนละมุน ซึ่งโดยวิธีนี้ เป็นการรักษาศักดิ์ศรีของพวกเขา. พระองค์สัญญากับพวกเขาว่า “เราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. เรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม.” (มัดธาย 11:28,29, ล.ม.) การอธิษฐานพร้อมด้วยการคิดรำพึงถึงวิธีที่พระเยซูใช้ตำแหน่งประมุขของพระองค์ สามารถช่วยผู้เป็นสามีให้มองตำแหน่งประมุขของตนในแง่มุมที่สมดุลยิ่งขึ้น.
เมื่อเกิดความตึงเครียด
การรู้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการนำหลักการนั้นไปใช้ขณะอยู่ภายใต้ความกดดันถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว. เมื่อเกิดความตึงเครียด สามีจะหลีกเลี่ยงการถลำกลับสู่แบบกระสวนแห่งการใช้วาจาหยาบคายได้อย่างไร?
ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งชายชาตรีที่สามีจะใช้วาจาก้าวร้าวเมื่อเขาอารมณ์เสีย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนที่อดโทโสได้ก็ดีกว่าคนที่มีกำลังแข็งแรง; คนที่ชนะใจของตนก็ดีกว่าคนที่ชนะตีเมืองได้.” (สุภาษิต 16:32) ผู้ชายแท้ควบคุมจิตใจของตน. เขาแสดงความร่วมรู้สึกโดยคิดคำนึงดังนี้: ‘คำพูดของผมมีผลกระทบต่อภรรยาอย่างไร? ผม จะรู้สึกอย่างไรถ้าผมเป็นภรรยา?’—เทียบกับมัดธาย 7:12.
กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า สถานการณ์บางอย่างอาจยั่วโทสะได้. เกี่ยวด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบันทึกว่า “โกรธก็โกรธเถิด แต่อย่าทำบาป จงคำนึงในใจเวลาอยู่บนที่นอนและสงบอยู่.” (บทเพลงสรรเสริญ 4:4, ฉบับแปลใหม่) อนึ่ง เคยมีการกล่าวทำนองนี้ว่า “ไม่ผิดที่จะโกรธ แต่ผิดที่จะโจมตีด้วยวาจาถากถาง, ดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม.”
หากผู้เป็นสามีรู้สึกว่า ควบคุมคำพูดของตัวเองไม่ได้ เขาอาจเรียนรู้ที่จะขอเวลานอก. บางที คงเป็นการสุขุมที่จะออกจากห้อง, ไปเดินเล่น, หรือไม่ก็หาที่สงบสติอารมณ์เงียบ ๆ คนเดียว. สุภาษิต 17:14 (ล.ม.) กล่าวว่า “ก่อนที่จะเกิดการทะเลาะกัน จงหลบไปเสีย.” แล้วค่อยสนทนากันใหม่เมื่ออารมณ์สงบ.
แน่นอน ไม่มีใครสมบูรณ์. สามีซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องการใช้วาจาหยาบคายอาจจะหวนกลับมาใช้อีก. เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เขาควรขอโทษ. การสวมใส่ “บุคลิกภาพใหม่” เป็นขั้นตอนที่ต้องทำต่อเนื่อง แต่จะเก็บเกี่ยวบำเหน็จใหญ่หลวง.—โกโลซาย 3:10.
คำพูดที่ชโลมใจ
ถูกแล้ว “ความตายและชีวิตอยู่ในอำนาจลิ้น.”(สุภาษิต 18:21) คำพูดเจ็บแสบจะต้องแทนที่ด้วยคำพูดที่เสริมสร้างและทำให้สายสมรสแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถ้อยคำที่เพราะหูเป็นเหมือนรวงผึ้ง, คือมีรสหวานแก่จิตต์ใจ, และทำให้กะดูกสมบูรณ์ขึ้น.”—สุภาษิต 16:24.
ไม่กี่ปีมานี้ มีการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเพื่อจะรู้ว่าปัจจัยอะไรทำให้ครอบครัวที่เข้มแข็งปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล. เดวิด อาร์. เมซ ผู้ชำนัญพิเศษเรื่องชีวิตสมรสรายงานว่า “การวิจัยพบว่า สมาชิกในครอบครัวเหล่านี้ชอบพอกันและกัน และต่างก็เฝ้าบอกกันอยู่เสมอว่า รักใคร่ชอบพอกัน. พวกเขายอมรับกันและกัน, ต่างฝ่ายต่างก็เห็นคุณค่ากัน, และใช้ทุกโอกาสที่เหมาะสมพูดและปฏิบัติต่อกันด้วยความรักใคร่. แน่นอน ผลก็คือพวกเขาอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และเสริมกำลังกันและกันในวิธีที่ทำให้สายสัมพันธ์ของพวกเขาน่าอิ่มใจพอใจอย่างยิ่ง.”
ไม่มีสามีคนใดซึ่งยำเกรงพระเจ้า สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เขารักภรรยาหากเขาตั้งใจทำร้ายเธอด้วยคำพูด. (โกโลซาย 3:19) แน่นอน เป็นจริงเช่นกันกับภรรยาซึ่งใช้วาจากระหน่ำสามีของตน. จริง ๆ แล้ว ถือเป็นพันธะหน้าที่ของทั้งคู่ที่จะติดตามคำตักเตือนของเปาโลที่มีไปถึงชาวเอเฟโซดังนี้: “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านเลย, แต่ให้ใช้คำดีตามแต่จะต้องการซึ่งจะเป็นที่ให้เกิดความจำเริญขึ้น, เพื่อจะเป็นคุณแก่คนเหล่านั้นที่ได้ยิน.”—เอเฟโซ 4:29.
[เชิงอรรถ]
a แม้เราจะอ้างถึงฝ่ายชายในฐานะผู้กระทำผิด แต่หลักการในที่นี้ก็ใช้กับฝ่ายหญิงเช่นกัน.
b เพื่อมีคุณวุฒิในการทำหน้าที่หรือทำหน้าที่ต่อไปฐานะผู้ปกครอง คนนั้นต้องไม่เป็นนักเลงหัวไม้. เขาไม่อาจเป็นผู้ที่กระหน่ำตีผู้คนทางกาย หรือคุกคามด้วยคำพูดเชือดเฉือนเจ็บแสบ. ผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้จำต้องปกครองครัวเรือนของตนเองอย่างดีงาม. ไม่ว่าเขาอาจจะประพฤติกรุณาเพียงไรก็ตามในที่อื่น ๆ ถ้าเขาเกรี้ยวกราดในบ้าน เขาก็ไร้ซึ่งคุณวุฒิ.—1 ติโมเธียว 3:2-4,12.
c คริสเตียนจะเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมหยาบหยามหรือไม่นั้น ถือเป็นการตัดสินใจส่วนตัว. แต่เขาควรแน่ใจว่า วิธีการบำบัดใด ๆ ที่เขาได้รับ ไม่ขัดแย้งกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล.
[รูปภาพหน้า 9]
ผู้ปกครองคริสเตียนอาจช่วยคู่สามีภรรยาให้ติดต่อสนทนากันได้
[รูปภาพหน้า 10]
สามีและภรรยาควรใช้ความพยายามอย่างแท้จริงเพื่อเข้าใจกันและกัน