บท 17
คุณจะจัดเอากฎหมายของผู้ใดไว้เป็นอันดับแรก?
เรามีชีวิตอยู่ด้วยกฎ—กฎธรรมชาติหรือกฎที่มีอยู่ในบรรดาสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น กฎต่าง ๆ ทางศีลธรรมและการประพฤติที่พระเจ้าได้วางไว้ และกฎหมายของบ้านเมือง. เรารับรองเอากฎต่าง ๆ หลายอย่างโดยง่ายดายและได้ประโยชน์. แต่จะเป็นอย่างไรถ้ากฎอันใดอันหนึ่งดูเหมือนเข้มงวดเกินไป? หรือถ้ากฎสองอย่างที่มีผลกระทบถึงตัวคุณ ขัดแย้งกัน?
2 เนื่องจากกฎธรรมชาติดูเหมือนจะไม่ได้มาจากตัวบุคคล การยอมรับกฎธรรมชาติจึงไม่ค่อยเป็นปัญหา. ใครล่ะจะฝืนกฎแห่งความถ่วงโดยเดินเลยหน้าผาสูงออกไป? และเราได้รับประโยชน์จากกฎนั้น เพราะกฎนั้นถ่วงเท้าของเราติดพื้นดินและอาหารไว้บนจานของเรา. กฎธรรมชาติอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับการถ่ายพันธุ์ ซึ่งมีผลกระทบถึงลูกของเราว่าเขาจะเป็นเช่นไร. โดยการรู้ถึงกฎการถ่ายพันธุ์และไม่สมรสกับญาติใกล้ชิด เราก็หลีกเลี่ยงอันตรายอันอาจเกิดจากการถ่ายทอดข้อบกพร่องบางอย่างไปยังลูก ๆ ของเรา. (เปรียบเทียบเลวีติโก 18:6-17.) แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับกฎความประพฤติหรือศีลธรรม?
3 หลายคนแสดงความไม่พอใจต่อกฎหมายที่มีบัญญัติไว้. เหตุผลประการหนึ่งคือ มนุษย์มีแนวโน้มจะตั้งกฎหมายที่ไม่จำเป็นและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้อื่น. (มัดธาย 15:2; 23:4) อย่างไรก็ดี การมองกฎเกณฑ์ทุกอย่างว่าไม่ดีหรือเพิกเฉยละเลยกฎต่าง ๆ เป็นนิจสินก็ย่อมเป็นอันตราย.
4 สภาพของมนุษย์ที่ต้องตายไปอาจสืบร่องรอยได้ไปจนถึงการละเมิดกฎหมาย. พระเจ้าทรงห้ามอาดามกับฮาวารับประทานผลจากต้นไม้เกี่ยวกับความรู้ในเรื่องความดีและความชั่ว. แต่ซาตานได้ชวนให้ฮาวาคิดว่า กฎหมายของพระเจ้าเข้มงวดเกินควร. (เยเนซิศ 3:1-6) ข้อชวนใจของซาตานคือ—‘ไม่มีกฎ. ตั้งมาตรฐานเอาเอง.’ น้ำใจต่อต้านกฎหมายเช่นนั้นได้เป็นที่นิยมมาตลอดทุกยุคทุกสมัยกระทั่งทุกวันนี้.
5 พระยะโฮวามิได้ทรงกดขี่พลไพร่ของพระองค์ด้วยกฎหมายที่มีข้อห้ามหรือเป็นภาระหนักโดยไม่จำเป็น เพราะ “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่ที่ไหน เสรีภาพก็มีอยู่ที่นั่น.” (2 โกรินโธ 3:17, ล.ม.; ยาโกโบ 1:25) กระนั้น ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ซาตานต้องการให้ประชาชนเชื่อถือ พระยะโฮวาทรงเป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. พระองค์ทรงเป็นผู้สร้าง อีกทั้งทรงเป็นผู้ประสาทชีวิตและเป็นผู้ทรงจัดเตรียมสารพัดสิ่งให้เรา. (กิจการ 4:24; 14:15-17) ดังนั้นพระองค์จึงมีสิทธิจะชี้นำเราและมีสิทธิตั้งกฎหมายเกี่ยวกับความประพฤติของเรา.
6 หลายคนเห็นด้วยที่ว่าเนื่องจากพระเจ้าทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด พระองค์จึงทรงมีสิทธิที่จะกำหนดสิ่งที่มนุษย์ทำได้และทำไม่ได้. กล่าวคือเขาจะเห็นพ้องด้วยจนถึงคราวที่เขาปรารถนาอย่างมากที่จะทำสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม. เห็นได้ชัดว่าความคิดอย่างนี้เป็นอันตราย. มีข้อพิสูจน์เพียงพอว่า พระบัญชาของพระเจ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของเรา. ตัวอย่างเช่น การหลีกเว้นไม่เมาเหล้า เลี่ยงการโกรธและการโลภจะทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้นและมีความอิ่มใจพอใจมากขึ้น. (บทเพลงสรรเสริญ 119:1-9, 105) นอกจากนี้ กฎหมายของพระเจ้ายังสามารถช่วยเราให้ได้รับความพอพระทัยของพระองค์และได้รับความรอด. (สุภาษิต 21:30, 31) ดังนั้น ถึงแม้คนเรายังไม่เข้าใจเหตุผลที่แฝงอยู่ในพระบัญชาบางอย่างของพระยะโฮวา การที่เขาจะไม่ยอมเชื่อฟัง บางทีเนื่องมาจากการอวดดีไม่ยอมอยู่ในบังคับใครนั้น ก็นับว่าเป็นความโง่เขลา.
7 ตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพระบัญชาของพระเจ้าสำหรับคริสเตียนก็คือการประกาศคำตัดสินโดยพวกอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงยะรูซาเลม ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการปกครองแห่งประชาคมคริสเตียนสมัยแรกดังนี้:
“พระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นชอบที่จะไม่เพิ่มภาระให้ท่านอีก นอกจากสิ่งจำเป็นเหล่านี้ คือละเว้นจากสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพและจากเลือด และจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี.”—กิจการ 15:22-29, ล.ม.
8 เรามีเหตุผลอันดีที่จะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าว่าด้วย “การผิดประเวณี”—เพราะป้องกันมิให้ติดโรค การมีลูกนอกกฎหมาย ครอบครัวที่แตกแยก. กฎหมายนั้นมุ่งหมายห้ามผู้คนทำการรักร่วมเพศหรือประพฤติผิดทางเพศอย่างเสื่อมทราม ซึ่งพฤติกรรมแบบต่าง ๆ ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในความหมายของคำภาษากรีก พอร์นิอา (การผิดประเวณี) ที่ใช้ในกิจการ 15:29. (โรม 1:24-27, 32) แต่สมมุติว่าจะหลีกเลี่ยง อันตรายต่าง ๆ อันเนื่องมาจาก “การผิดประเวณี” ได้ล่ะ? เราจะยังคงเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า เพราะพระองค์เป็นผู้ครอบครององค์บรมมหิศรของเรา ไหม? หากเราเชื่อฟัง เราก็ช่วยพิสูจน์ว่าซาตานเป็นตัวพูดมุสา และพิสูจน์ว่ามนุษย์จะเชื่อฟังพระยะโฮวาเพราะเขารักพระองค์.—โยบ 2:3-5; 27:5; บทเพลงสรรเสริญ 26:1, 11.
9 คำตัดสินที่มีแถลงไว้ในกิจการ 15:22-29 ชี้ถึงอีกขอบข่ายหนึ่งซึ่งเราสามารถแสดงให้เห็นการเชื่อฟังของเรา. นั่นคือพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ ‘ละเว้นจากเลือด’ และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตายเพราะเลือดยังมีติดอยู่ในตัวสัตว์. พระเจ้าตรัสแก่โนฮาบรรพบุรุษของเราว่ามนุษย์จะรับประทานเนื้อสัตว์ได้ แต่ต้องไม่ประทังชีวิตของตนโดยอาศัยเลือดสัตว์หรือเลือดคนอื่น. (เยเนซิศ 9:3-6) เมื่อกล่าวซ้ำกฎหมายนี้กับชาติยิศราเอล พระเจ้าตรัสว่า “ชีวิตของเนื้อหนังนั้นคือโลหิต.” วิธีเดียวเท่านั้นที่พวกเขาจะใช้เลือดคือบนแท่นบูชาเพื่อไถ่บาป. มิฉะนั้น เลือดของสัตว์ต้องได้หลั่งออก โดยอุปมาแล้วคือคืนเลือดนั้นให้พระเจ้า. การเชื่อฟังกฎหมายนี้หมายถึงความเป็นความตายเลยทีเดียว.—เลวีติโก 17:10-14.
10 เครื่องบูชาเหล่านั้นเป็นภาพเล็งถึงการหลั่งโลหิตของพระเยซูเพื่อประโยชน์ของพวกเรา. (เอเฟโซ 1:7; วิวรณ์ 1:5; เฮ็บราย 9:12, 23–28) แม้แต่หลังจากพระคริสต์เสด็จกลับสู่สวรรค์แล้ว พระเจ้ายังคงตรัสสั่งคริสเตียนให้ ‘ละเว้นจากเลือด.’ แต่สำหรับเรื่องนี้ มีสักกี่คนที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนเชื่อฟังพระเจ้าผู้ประทานกฎหมายและผู้ประสาทชีวิต? ในดินแดนบางแห่งผู้คนถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะรับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งฆ่าแล้วไม่ทำให้เลือดหลั่งออก หรือไส้กรอกเลือด หรือกับข้าวหลายชนิดที่จงใจปรุงด้วยเลือด.
11 ในทำนองเดียวกัน หลายคนได้ยอมรับการถ่ายเลือดทั้งนี้ก็เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหน่อย. บ่อยครั้ง พวกเขาไม่ค่อยจะรู้ว่าการถ่ายเลือดนั้น ในตัวมันเองแล้วเป็นการเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงและตามจริงแล้ว ศัลยกรรมแทบทุกประเภทอาจกระทำโดยไม่ใช้เลือด โดยใช้วิธีรักษาแบบอื่น.a แต่ถึงแม้จะดูเหมือนว่าชีวิตอยู่ในระหว่างเสี่ยงก็ตาม ผิดไหมที่จะเชื่อฟังพระเจ้า? เราต้องไม่ละเลยกฎหมายของพระเจ้า แม้นว่าอยู่ในภาวะฉุกเฉิน.—1 ซามูเอล 14:31-35.
12 ในการสนับสนุนความเชื่อของเขาว่าด้วยเสรีภาพในการพูดหรือการนมัสการ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองบางประการ มนุษย์หลายคนได้เสี่ยงต่อความตาย. พวกเขาได้เชื่อฟังผู้ครอบครองหรือนายทหารผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะมีอันตรายมากน้อยอย่างไรก็ตาม. พวกเราล่ะมีเหตุผลหนักแน่นมากกว่ามิใช่หรือที่จะเชื่อฟังองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ? ‘มีแน่นอน’ เป็นคำตอบจากประวัติที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ภักดีของบรรดาผู้มีความเชื่อ. (ดานิเอล 3:8-18; เฮ็บราย 11:35-38) พวกเขาทราบดีอย่างที่เราน่าจะรู้ว่า พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ประสาทชีวิตและพระองค์ทรงรำลึกถึงและจะทรงให้บำเหน็จแก่คนที่เชื่อฟังพระองค์—ถ้าจำเป็นก็จะทรงให้เขาฟื้นขึ้นมารับชีวิตอีกโดยการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในเวลาที่พระองค์ทรงเห็นสมควร. (เฮ็บราย 5:9; 6:10; โยฮัน 11:25) เราสามารถแน่ใจได้ว่า ไม่ว่าสภาพการณ์เป็นเช่นไร การเชื่อฟังพระยะโฮวาเป็นแนวทางที่ถูกต้องและดีที่สุดตลอดกาล.—มาระโก 8:35.
การเชื่อฟังกฎหมายบ้านเมือง
13 กฎหมายอื่น ๆ มากมายที่มีผลกระทบกระเทือนพวกเราอยู่ทุกวันมาจากรัฐบาลฝ่ายโลก. คริสเตียนควรมองดูและมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกฎหมายเหล่านี้? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงเตือนประชาชนให้นอบน้อมต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ให้เชื่อฟังกฎหมาย.”—ติโต 3:1, เดอะ นิว อเมริกัน ไบเบิล.
14 ในศตวรรษแรกสากลศักราช รัฐบาลโรมันก็ใช่ว่าปกครองด้วยความเที่ยงธรรมเสมอไป และผู้ครอบครองบางคนของโรมเป็นคนเสเพลและไม่ซื่อสัตย์. กระนั้น เปาโลได้กล่าวว่า “จงให้ทุกคนยอมอยู่ใต้อำนาจที่สูงกว่า ด้วยว่าไม่มีอำนาจใด ๆ เว้นไว้โดยพระเจ้า.” “ผู้มีอำนาจที่สูงกว่า” ได้แก่ รัฐบาลฝ่ายบ้านเมืองที่ดำเนินงานอยู่.—โรม 13:1, ล.ม.
15 พระยะโฮวาทรงยอมรับว่า จนกว่าจะถึงเวลาที่พระองค์จะฟื้นฟูการปกครองของพระองค์บนแผ่นดินโลกอย่างเต็มที่ รัฐบาลบ้านเมืองก็ทำหน้าที่เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างอันเป็นประโยชน์. รัฐบาลเหล่านั้นทำให้สังคมมีระเบียบและจัดตั้งหน่วยราชการรับใช้ประชาชนหลายอย่าง รวมไปถึงการจดทะเบียนการสมรสและทะเบียนเกิด. (เปรียบเทียบลูกา 2:1-5.) ด้วยเหตุนี้ โดยทั่วไปแล้วคริสเตียนสามารถ “ประกอบชีวิตได้อย่างสงบสุขโดยทางธรรมะและโดยการประพฤติซึ่งเป็นสง่าผ่าเผย.”—1 ติโมเธียว 2:2.
16 ระหว่างรอคอยสมัยเมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้าแก้ปัญหาสงคราม ความอยุติธรรมและการกดขี่ คริสเตียนก็ไม่ควร ‘ต่อต้านผู้มีอำนาจ’ ของรัฐบาลบ้านเมือง. พวกเขาควรเสียภาษีตามข้อเรียกร้องโดยสุจริตใจ เชื่อฟังกฎหมายและให้ความนับถือต่อผู้ครอบครอง. ด้วยแนวทางเช่นนี้ บ่อยครั้งคริสเตียนแท้ได้รับคำยกย่อง และการช่วยเหลือจากพวกเจ้าหน้าที่และเขาไม่ค่อยต้องโทษด้วย “ดาบ” ซึ่งใช้สำหรับผู้ละเมิดกฎหมาย.—โรม 13:2-7.
การอยู่ใต้ผู้มีอำนาจอย่างมีขอบเขต
17 บางครั้ง กฎหมายก็ยังขัดแย้งกัน. รัฐบาลบ้านเมืองอาจเรียกร้องบางสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงห้าม. หรือกฎหมายบ้านเมืองอาจห้ามการกระทำบางอย่างซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาให้คริสเตียนกระทำ. ในกรณีเช่นนี้ควรทำประการใด?
18 เคยมีกรณีความขัดแย้งเช่นนั้นในคราวที่ผู้ครอบครองสั่งห้ามพวกอัครสาวกประกาศเรื่องพระเยซูคริสต์ที่ได้ฟื้นคืนพระชนม์. โปรดอ่านเรื่องราวที่เสริมสร้างความเชื่อในกิจการ 4:1-23; 5:12-42. ถึงแม้จะถูกจำคุกและถูกเฆี่ยน พวกอัครสาวกก็ไม่ยอมเลิกงานประกาศ. เปโตรได้กล่าวว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ครอบครองยิ่งกว่ามนุษย์.”—กิจการ 5:29, ล.ม.
19 ดังนั้น การที่คริสเตียนอยู่ใต้อำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงเป็นการอยู่ใต้อำนาจอย่างมีขอบเขต. พันธะหน้าที่ประการแรกของเขาคือ การเชื่อฟังอำนาจสูงสุด. ถ้าผลคือเขาถูกลงโทษ เขาก็คงรู้สึกคลายทุกข์ไปได้เพราะรู้อยู่ว่า พระเจ้าพอพระทัยในสิ่งที่เขากำลังกระทำ.—1 เปโตร 2:20-23.
20 คริสเตียนรุ่นแรกเคยเผชิญการตัดสินใจอีกขอบเขตระหว่างคำบัญชาของพระเจ้ากับสิ่งที่รัฐบาลโรมันคาดหมาย. ทั้งนี้หมายถึงการสนับสนุนหรือเข้าประจำการในกองทัพโรมัน. พระเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับพลไพร่ของพระองค์ว่า “เขาทั้งหลายจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนาและเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กันและเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” (ยะซายา 2:4; มัดธาย 26:52) ดังนั้น ถ้ารัฐบาลโรมันเรียกร้องให้คริสเตียนเข้าประจำการในกองทัพหรือสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับสงคราม ก็คงจะเป็นการขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายของกายะซากับของพระเจ้า.
21 อนึ่ง คริสเตียนรุ่นแรกได้ยกเอากฎหมายของพระเจ้าขึ้นไว้เป็นอันดับแรก เมื่อมีคำสั่งให้คริสเตียนถวายเครื่องหอมแก่เทพเจ้าประจำตัวซีซาร์แห่งโรม. บางคนอาจคิดว่าการกระทำเช่นนั้นแสดงถึงความรักชาติ. แต่เราเข้าใจจากประวัติศาสตร์ว่าคริสเตียนถือว่าเป็นลักษณะการไหว้รูปเคารพ. พวกเขาไม่ยอมสักการะบูชาบุคคลหรือวัตถุใด ๆ โดยรู้อยู่ว่าพระยะโฮวาแต่องค์เดียวสมควรได้รับการนมัสการจากพวกตน. (มัดธาย 22:21; 1 โยฮัน 5:21) และแทนที่จะเข้าไปมีส่วนพัวพันกับด้านการเมือง ถึงแม้จะเป็นเพียงการร้องตะโกนสดุดีเพื่อการบูชาผู้ครอบครอง พวกเขาได้ตั้งตัวเป็นกลางเพื่อจะได้ “ไม่เป็นส่วนของโลก” ตามที่พระเยซูได้เตือนไว้.—โยฮัน 15:19; กิจการ 12:21-23.
22 คุณจะรับเอาแง่คิดของพระเจ้าและการชี้นำจากพระองค์ไหมเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย? เมื่อคุณกระทำเช่นนั้น คุณจะไม่ต้องประสบความเสียใจหลายประการซึ่งคนที่ละเลยกฎหมายของพระเจ้าว่าด้วยความประพฤติและศีลธรรมได้ประสบ. และคุณจะไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองลงโทษโดยใช่เหตุ. แต่สิ่งสำคัญยิ่งคือ แง่คิดของพระเจ้าในเรื่องนี้รวมเอาการยอมรับพระองค์เป็นผู้ครอบครององค์สูงสุด. หากคุณยอมรับพระองค์ไม่ว่าสภาพการณ์เป็นเช่นไร คุณจะเป็นคนที่พระเจ้ารับไว้เมื่อกฎหมายแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าแพร่ไปอย่างกว้างขวางทั่วแผ่นดินโลกในอีกไม่ช้า.—ดานิเอล 7:27.
[เชิงอรรถ]
a แง่ทางศาสนา จริยธรรม และทางแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีการเสนอไว้ในหนังสือเล่มเล็กพยานพระยะโฮวาและปัญหาเรื่องเลือด จัดพิมพ์โดยสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กท์.
[คำถามศึกษา]
เหตุใดเราควรไตร่ตรองว่าเรามีแง่คิดอย่างไรต่อกฎหมาย? (1-4)
เราต้องยอมรับอะไรเกี่ยวกับข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้า? (5, 6)
ด้วยเหตุผลอะไรที่เราพึงเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าที่ห้าม “การผิดประเวณี”? (7, 8)
เราจะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือดได้อย่างไร? (9-11)
เหตุใดเราควรเชื่อฟังพระเจ้าถึงแม้ชีวิตของเราอยู่ในอันตราย? (12)
คริสเตียนควรมีทัศนะเช่นไรต่อรัฐบาลบ้านเมืองและทำไม? (มัดธาย 22:19-21) (13-16)
อะไรคือแนวทางที่ถูกต้องเมื่อกฎหมายของพระเจ้าและกฎหมายของโลกขัดแย้งกัน? จงยกตัวอย่าง. (17-21)
ขณะนี้เราเผชิญกับการทดลองอะไร? (22)
[กรอบหน้า 183]
“การทบทวนข้อมูลทุกอย่างเท่าที่หาได้โดยถี่ถ้วนแล้วแสดงให้เห็นว่า จนถึงสมัยจักรพรรดิมาร์คุส เอาเรลิอุส ระหว่างปีสากลศักราช 161 ถึง 180 ไม่ปรากฏเลยว่าคริสเตียนรับราชการทหาร และไม่มีทหารคนใดหลังจากเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว ยังรับราชการทหารอยู่ต่อไป.”—“เดอะ ไรส อ็อฟ คริสเตียนนิตี้.”
[รูปภาพหน้า 181]
ภาษีที่คุณชำระไป ใช้จ่ายสำหรับ . . .
การคุ้มครองโดยตำรวจ
สุขาภิบาล
การศึกษา
ไปรษณีย์
การประปา
การป้องกันอัคคีภัย