คุณจะแสดงความเมตตาอย่างพระเจ้าไหม?
“จงประพฤติอย่างพระเจ้า เหมือนเป็นบุตรที่รัก.”—เอเฟโซ 5:1.
1. ทำไมการประพฤติตามอย่างคนอื่นจึงเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับพวกเราทุกคน?
ผู้คนส่วนใหญ่เอาอย่างคนอื่น ไม่ในทางดีก็ทางชั่ว. ผู้คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และผู้ที่เราอาจเอาอย่าง อาจมีส่วนกระทบกระเทือนเรามิใช่น้อย. พระธรรมสุภาษิต 13:20 (ล.ม.) ซึ่งผู้เขียนรับการดลใจได้กล่าวเตือนว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” ด้วยเหตุผลอันดี พระคำของพระเจ้าบอกดังนี้: “อย่าเลียนแบบที่ชั่ว แต่เลียนแบบสิ่งที่ดี. ผู้ที่กระทำดีก็มาจากพระเจ้า.”—3 โยฮัน 11, ล.ม.
2. เราควรเลียนแบบผู้ใด และในทางใดบ้าง?
2 พวกเรามีตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของชายหญิงมากมายในพระคัมภีร์ซึ่งเราจะเลียนแบบได้. (1 โกรินโธ 4:16; 11:1; ฟิลิปปอย 3:17) กระนั้น ตัวอย่างดีที่สุดที่เราจะพึงเลียนแบบก็คือพระเจ้า. ที่เอเฟโซ 4:31–5:2 หลังจากได้สังเกตลักษณะนิสัยและกิจปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งเราควรหลีกเลี่ยงแล้ว อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเราให้ “มีใจเอ็นดูซึ่งกันและกัน และอภัยโทษให้กันและกัน.” ข้อนี้นำไปสู่การตักเตือนที่สำคัญคือ “เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงประพฤติอย่างพระเจ้า เหมือนเป็นบุตรที่รัก และจงประพฤติในความรัก.”
3, 4. พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมอะไรอันเป็นการพรรณนาถึงพระองค์เอง และทำไมเราควรพิจารณาการที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่ยุติธรรม?
3 อะไรเป็นแนวทางและคุณลักษณะของพระเจ้าซึ่งเราควรเลียนแบบ? มีหลายแง่มุมทีเดียวเกี่ยวด้วยบุคลิกและการกระทำของพระองค์ ดังเห็นได้จากวิธีที่พระองค์ทรงพรรณนาคุณลักษณะของพระองค์เองเมื่อตรัสแก่โมเซว่า “พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา ผู้ทรงอดพระทัยได้นานและบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง ผู้ทรงเมตตาต่อมนุษย์ถึงหลายพันชั่วอายุคน ผู้ทรงโปรดยกความชั่วการล่วงละเมิดและการบาปของเขา แต่ไม่ทรงเมตตาผู้เจตนาประพฤติชั่วและให้สืบเนื่องโทษจากบิดาถึงลูกหลานจนถึงสามสี่ชั่วอายุคน.”—เอ็กโซโด 34:6, 7.
4 เนื่องจากพระยะโฮวา “ทรงรักษาความชอบธรรมและความยุติธรรม” แน่นอนพวกเราควรจะรู้จักแง่มุมนี้แล้วเลียนแบบบุคลิกของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 33:5; 37:28) พระองค์เป็นพระผู้สร้าง และทรงเป็นผู้พิพากษาองค์ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติและเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ฉะนั้น พระองค์ทรงให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนถ้วนหน้า. (ยะซายา 33:23) ข้อนี้เห็นได้ชัดจากแนวทางที่พระองค์ทรงเรียกร้องความยุติธรรม ทั้งได้ทรงดำเนินการตามความยุติธรรมท่ามกลางชนชาติยิศราเอล และภายในประชาคมคริสเตียนในเวลาต่อมา.
ปฏิบัติการแห่งความยุติธรรมของพระเจ้า
5, 6. ความยุติธรรมปรากฏให้ประจักษ์โดยวิธีใดในการดำเนินงานของพระเจ้ากับชาติยิศราเอล?
5 เมื่อพระเจ้าทรงเลือกชาติยิศราเอลเป็นไพร่พลของพระองค์ พระเจ้าทรงถามว่าพวกเขา ‘จะเชื่อฟังพระสุรเสียงและรักษาคำสัญญาไมตรีของพระองค์’ หรือไม่. ขณะชุมนุมกันที่เนินเขาซีนาย พวกเขาได้ตอบอย่างนี้: “สิ่งสารพัดที่พระยะโฮวาตรัสนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำตาม.” (เอ็กโซโด 19:3-8) ช่างเป็นเรื่องจริงจังเสียจริง ๆ! โดยทางเหล่าทูตสวรรค์ พระเจ้าได้ประทานกฎหมายแก่ชาติยิศราเอลมากกว่า 600 ข้อ ซึ่งพวกเขาในฐานะเป็นพลไพร่ที่ได้อุทิศตัวแด่พระองค์แล้วจำต้องประพฤติตาม. ถ้าแม้นคนหนึ่งคนใดไม่ประพฤติตามล่ะ? ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของพระเจ้าชี้แจงดังนี้: “พระดำรัสซึ่งทูตสวรรค์ได้กล่าวไว้นั้นปรากฏเป็นความจริง และการล่วงละเมิดกับการไม่เชื่อฟังทุกอย่างได้รับผลตอบสนองตามความยุติธรรม.”—เฮ็บราย 2:2, ฉบับแปลใหม่.
6 ใช่แล้ว ชาวยิศราเอลที่ไม่เชื่อฟังย่อม “ได้รับผลตอบสนองตามความยุติธรรม” ไม่ใช่ตามความยุติธรรมของมนุษย์แบบไม่ครบถ้วน แต่เป็นความยุติธรรมจากพระผู้สร้างของเรา. พระเจ้าทรงตั้งบทลงโทษการละเมิดกฎหมายไว้หลายประการ. โทษหนักฉกรรจ์ที่สุดคือ ‘ตัดชีวิตเสีย’ หรือประหารชีวิต. โทษนั้นใช้กับการละเมิดอย่างร้ายแรง เช่นการไหว้รูปเคารพ, การล่วงประเวณี, การร่วมเพศกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน, การสังวาสกับสัตว์, รักร่วมเพศ, การบูชายัญเด็ก, ฆาตกรรม, และการใช้เลือดในทางผิด. (เลวีติโก 17:14; 18:6-17, 21–29) ยิ่งกว่านั้น ชาวยิศราเอลคนใดซึ่งละเมิดกฎหมายของพระเจ้าข้อใด ๆ โดยเจตนาและไม่สำนึกผิดอาจถูก “ตัดเสีย.” (อาฤธโม 4:15, 18; 15:30, 31) เมื่อมีการดำเนินตามความยุติธรรมของพระเจ้า ลูกหลานของคนประพฤติชั่วคงได้รับผลจากการกระทำนั้น.
7. ผลที่ติดตามการสำเร็จโทษอย่างยุติธรรมท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้าในโบราณกาลมีอะไรบ้าง?
7 โทษทัณฑ์ดังกล่าวตอกย้ำถึงความร้ายแรงของการละเมิดกฎหมายของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น ถ้าบุตรเป็นคนดื่มสุรายาเมาและตะกละ เขาต้องถูกนำตัวมายังพวกตุลาการผู้อาวุโส. หากพวกเขาพบว่าเขาเป็นผู้ทำผิดโดยเจตนา ไม่สำนึกผิด บิดามารดาของเขาต้องร่วมลงมือสำเร็จโทษตามความยุติธรรม. (พระบัญญัติ 21:18-21) พวกเราซึ่งเป็นบิดามารดาอาจสร้างมโนภาพได้ทีเดียวว่าไม่ง่ายที่จะทำเช่นนั้น. กระนั้น พระเจ้าทรงทราบว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยับยั้งความชั่วไม่ให้แผ่ลามท่ามกลางผู้นมัสการแท้. (ยะเอศเคล 33:17-19) เรื่องนี้ถูกจัดเตรียมไว้โดยพระองค์ผู้นั้นซึ่งกล่าวถึงพระองค์ได้ว่า “ทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม. พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความจริง ปราศจากความอสัตย์ เป็นผู้ชอบธรรมและซื่อสัตย์.”—พระบัญญัติ 32:4.
8. ความยุติธรรมส่อลักษณะสำคัญเป็นพิเศษโดยวิธีใดในการดำเนินงานของพระเจ้ากับประชาคมคริสเตียน?
8 หลังจากหลายศตวรรษผ่านไป พระเจ้าทรงปฏิเสธชาติยิศราเอล แล้วได้เลือกประชาคมคริสเตียน. กระนั้น พระยะโฮวามิได้เปลี่ยนแปลง. พระองค์ยังคงยึดมั่นอยู่กับความยุติธรรมและอาจพรรณนาถึงพระองค์ได้ว่า “เป็นเพลิงที่ไหม้คุอยู่.” (เฮ็บราย 12:29; ลูกา 18:7, 8) เหตุฉะนั้น พระองค์จึงยังคงการจัดเตรียมเพื่อก่อให้มีความเกรงกลัวพระเจ้าไว้ต่อไปภายในประชาคม โดยการขับไล่ผู้ทำผิดออกไป. คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วแต่กระทำผิด และไม่สำนึกผิดกลับใจจึงต้องถูกตัดสัมพันธ์.
9. การตัดสัมพันธ์หมายถึงอะไร และบังเกิดผลเช่นไร?
9 มีอะไรรวมอยู่ด้วยในการตัดสัมพันธ์? เราพบบทเรียนอันแน่ชัดจากวิธีที่เคยจัดการกับปัญหาในสมัยศตวรรษแรก. คริสเตียนคนหนึ่งในเมืองโกรินโธประพฤติผิดศีลธรรมกับภรรยาของบิดาและไม่กลับใจ ดังนั้น เปาโลได้บัญชาให้ขับไล่ผู้ทำผิดออกไปจากประชาคม. ที่ต้องทำเช่นนั้นเพื่อรักษาความสะอาดแห่งพลไพร่ของพระเจ้า เพราะว่า “เชื้อนิดหน่อยก็แผ่ไปทั่วทั้งก้อน.” การขับไล่ผู้นั้นย่อมป้องกันมิให้การชั่วของเขาเป็นเหตุก่อความเสื่อมเสียต่อพระเจ้าและพลไพร่ของพระองค์. อนึ่ง การตีสอนอย่างเด็ดขาดด้วยการตัดสัมพันธ์อาจทำให้เขากลับได้สติและปลูกฝังความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างสมควรไว้ในจิตใจของเขาและของประชาคม.—1 โกรินโธ 5:1-13; เทียบกับพระบัญญัติ 17:2, 12, 13.
10. ผู้รับใช้ของพระเจ้าพึงสนองตอบอย่างไรเมื่อมีบางคนถูกตัดสัมพันธ์?
10 พระบัญชาของพระเจ้ามีอยู่ว่า ถ้าคนชั่วถูกขับออกไปแล้ว บรรดาคริสเตียนต้องไม่ “คบให้สนิทกับคนอย่างนั้น แม้จะกินด้วยกันก็อย่าเลย.”a ฉะนั้น เขาถูกตัดขาดจากฐานะเป็นเพื่อน รวมไปถึงการคบหาทางสังคมกับผู้ซื่อสัตย์ภักดีซึ่งเคารพกฎหมายของพระเจ้าและต้องการดำเนินชีวิตให้ประสานกับกฎหมายนั้น. บางคนอาจเป็นญาติ ไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ไม่ใช่อยู่ในบ้านเดียวกัน. อาจเป็นสิ่งยากสำหรับญาติที่จะปฏิบัติตามการแนะนำของพระเจ้าในเรื่องนี้ เหมือนกับที่ไม่ง่ายสำหรับบิดามารดาชาวฮีบรูภายใต้กฎหมายของโมเซจะร่วมมือสังหารบุตรชั่ว. กระนั้น พระบัญชาของพระเจ้าชัดเจน ดังนั้น เราจึงแน่ใจได้ว่าการตัดสัมพันธ์นั้นยุติธรรม.—1 โกรินโธ 5:1, 6–8, 11; ติโต 3:10, 11; 2 โยฮัน 9-11; โปรดดูวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 มกราคม 1982 หน้า 24-32; ฉบับวันที่ 15 เมษายน 1988 หน้า 26-31.
11. แง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวด้วยบุคลิกของพระเจ้าปรากฏชัดอย่างไรเกี่ยวข้องกับการตัดสัมพันธ์?
11 กระนั้น โปรดจำไว้ว่า พระเจ้าของเราไม่เพียงแต่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม พระองค์ยังทรง ‘บริบูรณ์ด้วยความกรุณารักใคร่ โปรดยกความผิดและการบาป.’ (อาฤธโม 14:18) พระคำของพระองค์ระบุชัดเจนว่า คนที่ถูกตัดสัมพันธ์อาจกลับใจ แสวงการให้อภัยจากพระเจ้า. แล้วควรดำเนินการอย่างไร? ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์อาจพบกับผู้ถูกตัดสัมพันธ์เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยการอธิษฐานว่าผู้นั้นแสดงหลักฐานการกลับใจจากการกระทำผิดซึ่งเป็นสาเหตุที่เขาถูกตัดสัมพันธ์หรือไม่. (เทียบกับกิจการ 26:20.) ถ้าปรากฏว่าเขากลับใจจริง ๆ เขาอาจถูกรับกลับมาในประชาคมอีก ดังที่เกิดขึ้นกับชายผู้นั้นในเมืองโกรินโธตามที่ 2 โกรินโธ 2:6-11 แสดงให้เห็น. แต่บางคนถูกขับออกไปจากประชาคมของพระเจ้านานหลายปี อาจจะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยเขาเห็นลู่ทางกลับคืนมาอีก?
ความยุติธรรมได้ส่วนสัดกับความเมตตา
12, 13. ทำไมการเลียนแบบพระเจ้าควรหมายรวมเอาไม่เพียงแต่การสะท้อนความยุติธรรมของพระองค์เท่านั้น?
12 ตอนต้นได้พูดถึงแง่มุมสำคัญประการหนึ่งแห่งคุณลักษณะของพระเจ้า ดังกล่าวไว้ที่เอ็กโซโด 34:6, 7. อย่างไรก็ดี ข้อเหล่านั้นแสดงเค้าโครงไว้มากกว่าความยุติธรรมของพระเจ้า และคนเหล่านั้นซึ่งต้องการเลียนแบบพระองค์ไม่เพ่งเล็งเฉพาะการบังคับให้เป็นไปตามความยุติธรรมเท่านั้น. ถ้าคุณจะทำแบบจำลองพระวิหารซึ่งสร้างโดยซะโลโม คุณจะพิจารณาเฉพาะเสาต้นเดียวเท่านั้นหรือ? (1 กษัตริย์ 7:15-22) หามิได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นคุณจะไม่ได้ภาพที่มีส่วนสัดแห่งลักษณะและบทบาทของพระวิหาร. ทำนองเดียวกัน ถ้าเราปรารถนาจะเอาอย่างพระเจ้า เราจำเป็นต้องเลียนแบบแนวทางและคุณลักษณะอื่น ๆ ของพระองค์ด้วยเช่นกัน เช่น การที่พระองค์ “ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน และบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง ผู้ทรงเมตตาต่อมนุษย์หลายพันชั่วอายุคน ผู้ทรงโปรดยกความชั่ว การล่วงละเมิดและบาปของเขา.”
13 ความเมตตาและการให้อภัยเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของพระเจ้า ดังที่เราเห็นได้จากวิธีที่พระองค์ปฏิบัติกับชาติยิศราเอล. พระเจ้าแห่งความยุติธรรมมิได้ทรงงดเว้นการลงโทษพวกเขาเนื่องด้วยการทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงกระนั้น พระองค์ทรงสำแดงความเมตตาและการอภัยอย่างเหลือล้น. “พระองค์ได้ทรงสำแดงมรรคาของพระองค์แก่โมเซ ทั้งพระราชกิจแก่เผ่าพันธุ์ยิศราเอล. พระยะโฮวาทรงพระเมตตากรุณา พระองค์ทรงพระพิโรธช้า ๆ และทรงพระเมตตาบริบูรณ์. พระองค์ไม่ทรงติเตียนเป็นนิตย์ หรือทรงพระพิโรธตลอดชั่วนิรันดร์.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:7-9; 106:43-46) ใช่แล้ว เมื่อมองย้อนหลังดูการดำเนินงานของพระองค์ตลอดหลายร้อยหลายพันปีก็ปรากฏชัดแล้วว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นจริงทุกประการ.—บทเพลงสรรเสริญ 86:15; 145:8, 9; มีคา 7:18, 19.
14. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์เลียนแบบพระเมตตาของพระเจ้า?
14 เนื่องจากพระเยซูคริสต์ “เป็นแสงแห่งสง่าราศีของพระองค์ และเป็นแบบพระฉายของพระองค์นั้นเองทีเดียว” เราน่าจะคาดหมายว่าพระองค์จะทรงสำแดงความเมตตาและความเต็มพระทัยจะอภัยโทษอย่างเดียวกัน. (เฮ็บราย 1:3) พระองค์ทรงกระทำจริง ดังเห็นได้จากวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อคนอื่น. (มัดธาย 20:30-34) นอกจากนั้น พระองค์ทรงย้ำความเมตตา โดยคำตรัสของพระองค์ที่เราอ่านในลูกาบท 15. อุทาหรณ์สามเรื่องในบทนั้นพิสูจน์ว่าพระเยซูทรงเอาอย่างพระยะโฮวา และก็นับว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งสำหรับพวกเรา.
คำนึงถึงสิ่งที่เสียไป
15, 16. อะไรได้กระตุ้นพระเยซูให้กล่าวอุทาหรณ์ในลูกาบท 15?
15 อุทาหรณ์เหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงความใฝ่พระทัยอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเจ้าต่อคนบาป ทำให้เห็นภาพระบายสีอันกลมกลืนกันเพื่อเราจะเลียนแบบ. จงพิจารณาฉากประกอบอุทาหรณ์เหล่านั้น “ครั้งนั้นบรรดาคนเก็บภาษีและพวกคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อจะฟังพระองค์ [พระเยซู]. ฝ่ายพวกฟาริซายและพวกอาลักษณ์บ่นว่า ‘คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา.’”—ลูกา 15:1, 2.
16 ผู้คนที่เกี่ยวข้องเป็นชาวยิวทั้งหมด. พวกฟาริซายและพวกอาลักษณ์ภูมิใจตัวเอง ยึดถือพระบัญญัติของโมเซอย่างเคร่งครัด หลงคิดว่าตนเป็นคนชอบธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. แต่พระเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยกับความชอบธรรมแบบยกตัวเองเช่นนั้น. (ลูกา 16:15) ดูเหมือนว่าคนเก็บภาษีที่กล่าวถึงนั้นคือคนยิวผู้ซึ่งเก็บภาษีส่งให้โรม. เพราะเหตุที่หลายคนเก็บเงินมากมายเกินพิกัดจากชาวยิวด้วยกัน ดังนั้น คนเก็บภาษีจึงเป็นกลุ่มชนที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม. (ลูกา 19:2, 8) พวกเขาถูกจำแนกไว้กับ “คนบาป” ซึ่งนับรวมคนทำผิดศีลธรรม พวกแพศยาเสียด้วยซ้ำ. (ลูกา 5:27-32; มัดธาย 21:32) แต่พระเยซูตรัสถามผู้นำฝ่ายศาสนาที่พร่ำบ่นดังนี้:
17. อุทาหรณ์เรื่องแรกของพระเยซูในลูกาบท 15 ได้แก่เรื่องอะไร?
17 “ในพวกท่านมีคนใดที่มีแกะร้อยตัว และตัวหนึ่งหายไป จะไม่ละเก้าสิบเก้าตัวไว้ในป่า และไปเที่ยวหาตัวที่หายไปนั้นจนกว่าจะได้พบหรือ? เมื่อพบแล้วก็ยกขึ้นใส่บ่าแบกมาด้วยความยินดี. เมื่อมาถึงบ้านแล้วจึงเชิญพวกมิตรสหายและเพื่อนบ้านให้มาพร้อมกันพูดกับเขาว่า ‘จงยินดีกับข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้พบแกะของข้าพเจ้าที่หายไปนั้น.’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เช่นนั้นแหละจะมีความยินดีในสวรรค์เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่ มากกว่าคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจเสียใหม่.” ผู้นำฝ่ายศาสนาสามารถเข้าใจคำเปรียบนั้นได้ เพราะแกะและคนเลี้ยงแกะเป็นภาพที่เห็นอยู่ทั่วไป. เพราะความเป็นห่วง คนเลี้ยงแกะได้ละแกะ 99 ตัวให้เล็มหญ้าในทุ่งที่แกะเคยชินอยู่แล้ว ขณะที่ผู้เลี้ยงออกไปเสาะหาแกะที่หายไป. เขาเพียรเสาะหากระทั่งพบ แล้วเขาได้อุ้มแกะตัวที่ตื่นกลัวกลับเข้าฝูงตามเดิม.—ลูกา 15:4-7.
18. ดังมีการเน้นในอุทาหรณ์เรื่องที่สองของพระเยซูในลูกาบท 15 มีอะไรที่ก่อให้เกิดความยินดี?
18 พระเยซูทรงเพิ่มอุทาหรณ์เรื่องที่สองว่าดังนี้ “หญิงคนใดที่มีเงินสิบบาทและบาทหนึ่งหายไป จะไม่จุดตะเกียงกวาดเรือนค้นหาให้ละเอียดจนกว่าจะได้พบหรือ? เมื่อพบแล้วจึงเชิญเหล่ามิตรสหายและเพื่อนบ้านให้มาพร้อมกันแล้วพูดกับเขาว่า ‘จงยินดีกับข้าพเจ้าเถิดเพราะข้าพเจ้าได้พบเงินบาทที่หายไปนั้น.’ เช่นนั้นแหละ เราบอกท่านทั้งหลายว่าจะมีความยินดีในพวกทูตของพระเจ้า เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่.” (ลูกา 15:8-10) เงินบาทที่ว่านั้นมีค่าพอ ๆ กันกับค่าจ้างหนึ่งวันของคนใช้แรงงาน. เงินเหรียญของหญิงคนนั้นอาจเป็นเหรียญที่ตกทอดถึงเขาหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งในชุดซึ่งทำเป็นเครื่องประดับก็ได้. เมื่อหายไป นางค้นหาไม่หยุดกระทั่งพบ ครั้นแล้วนางพร้อมเพื่อนผู้หญิงต่างก็ยินดี. เรื่องนี้บอกให้เราทราบอะไรเกี่ยวกับพระเจ้า?
มีความชื่นชมยินดีในสวรรค์—เพราะเหตุใด?
19, 20. อุทาหรณ์สองเรื่องแรกของพระเยซูที่ลูกาบท 15 หมายถึงใครเป็นประการแรก และเรื่องเหล่านั้นเน้นจุดสำคัญอะไร?
19 อุทาหรณ์สองเรื่องนี้เป็นการตอบรับต่อคำตำหนิวิจารณ์พระเยซู ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนทรงระบุตัวพระองค์ว่าเป็น “ผู้เลี้ยงที่ดี” ซึ่งจะสละจิตวิญญาณของพระองค์เพื่อฝูงแกะ. (โยฮัน 10:11-15) กระนั้นก็ดี อุทาหรณ์เหล่านั้นไม่เกี่ยวกับพระเยซูเป็นประการแรก. บทเรียนซึ่งพวกอาลักษณ์และฟาริซายจำต้องเรียนรวมจุดอยู่ที่ทัศนะและแนวทางทั้งหลายของพระเจ้า. ฉะนั้น พระเยซูตรัสว่า มีความยินดีในสวรรค์เมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจ. นักศาสนาเหล่านั้นอ้างว่าปฏิบัติพระยะโฮวา กระนั้น พวกเขาไม่ได้เลียนแบบพระองค์. ในทางตรงกันข้าม แนวทางของพระเยซูอันเปี่ยมด้วยความเมตตาสะท้อนถึงพระทัยประสงค์ของพระบิดาของพระองค์.—ลูกา 18:10-14; โยฮัน 8:28, 29; 12:47-50; 14:7-11.
20 ถ้าหนึ่งในร้อยเป็นพื้นฐานของความยินดี หนึ่งเหรียญในสิบจะยิ่งกว่านั้นเพียงไร. แม้กระทั่งในทุกวันนี้ เราสามารถเข้าใจถึงความรู้สึกของหญิงคนนั้นซึ่งมีความยินดีมากเมื่อได้พบเงินเหรียญที่หายไป! เรื่องนี้ก็เช่นกัน บทเรียนมุ่งชี้ไปที่สวรรค์ คือ “ทูตของพระเจ้า” มีความยินดีร่วมกับพระยะโฮวา “เพราะคนบาปคนเดียวที่กลับใจเสียใหม่.” จงสังเกตคำสุดท้าย “กลับใจเสียใหม่.” อุทาหรณ์เหล่านี้ที่จริงเป็นเรื่องคนบาปที่กลับใจ. และคุณจะเห็นว่าอุทาหรณ์สองเรื่องเน้นความเหมาะสมที่พึงมีความยินดีเพราะการกลับใจของคนบาป.
21. เราน่าจะได้บทเรียนอะไรจากอุทาหรณ์ของพระเยซูที่ลูกาบท 15?
21 พวกผู้นำทางศาสนาที่หลงผิดซึ่งรู้สึกพอใจที่ตัวเองได้ยอมตัวทำตามกฎหมายเพียงผิวเผิน แต่แล้วกลับมองข้ามการที่พระเจ้า “ทรงเมตตากรุณา ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน . . . โปรดยกความชั่วการล่วงละเมิดและบาปของเขา.” (เอ็กโซโด 34:6, 7) หากพวกเขาได้เลียนแบบแนวทางนี้ของพระเจ้าและบุคลิกของพระองค์ พวกเขาก็คงจะหยั่งรู้ค่าความเมตตาของพระเยซูต่อคนบาปที่กลับใจเสียใหม่. พวกเราล่ะเป็นอย่างไร? เราใส่ใจรับบทเรียนนี้และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ไหม? ทีนี้จงพิจารณาอุทาหรณ์ที่สาม.
การกลับใจและความเมตตาในภาคปฏิบัติ
22. กล่าวโดยย่อ ในลูกาบท 15 พระเยซูยกอุทาหรณ์อะไรเป็นเรื่องที่สาม?
22 อุทาหรณ์เรื่องนี้มักจะเรียกว่าคำอุปมาเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย. แต่เมื่ออ่านดู คุณจะเห็นได้ว่าทำไมบางคนคิดว่าเป็นอุทาหรณ์เรื่องความรักของบิดา. เรื่องนี้กล่าวถึงบุตรคนเล็กในครอบครัว ซึ่งได้รับมรดกจากบิดา. (เทียบกับพระบัญญัติ 21:17.) บุตรคนนี้ได้ออกจากบ้านไปเมืองไกล ที่นั่นเขาใช้เงินอย่างสำมะเลเทเมา เขาต้องทำงานเลี้ยงหมูเป็นฝูง และถึงกับหิวกระหายอยากกินอาหารหมู. ในที่สุด เขาได้สติจึงตัดสินใจกลับบ้าน แม้นต้องทำงานเป็นลูกจ้างของบิดาก็ยอม. ขณะที่เขาใกล้จะถึงบ้าน บิดาก็ออกไปต้อนรับเขา แถมจัดการเลี้ยงใหญ่ด้วย. พี่ชายซึ่งยังทำงานอยู่ที่บ้านเกิดความไม่พอใจที่บิดาแสดงความเมตตาเช่นนั้น. แต่บิดาบอกว่าสมควรที่เขาจะยินดีเพราะบุตรคนนี้ตายแล้วแต่บัดนี้กลับมีชีวิตอีก.—ลูกา 15:11-32.
23. เราน่าจะเรียนอะไรจากอุทาหรณ์เรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย?
23 อาลักษณ์และฟาริซายบางคนอาจคิดว่าตัวเองถูกเปรียบเทียบเป็นบุตรคนโตต่างกับคนบาปซึ่งเป็นเหมือนบุตรคนเล็ก. ทว่าพวกเขาเข้าใจจุดสำคัญของอุทาหรณ์ไหม และพวกเราเข้าใจไหม? อุทาหรณ์เรื่องนี้เน้นคุณลักษณะสำคัญของพระบิดาทางภาคสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา การที่พระองค์เต็มพระทัยให้อภัยโดยอาศัยการกลับใจด้วยน้ำใสใจจริงของคนบาปและการตั้งใจเสียใหม่ของเขา. เรื่องนี้น่าจะกระตุ้นผู้ฟังทั้งหลายให้ตอบรับด้วยความยินดีที่มีการไถ่คนบาปซึ่งกลับใจแล้ว. นี้แหละเป็นวิธีที่พระเจ้าทรงพิจารณาเรื่องต่าง ๆ และทรงดำเนินการ และคนทั้งหลายที่เลียนแบบพระองค์พึงกระทำเช่นเดียวกัน.—ยะซายา 1:16, 17; 55:6, 7.
24, 25. พวกเราควรตั้งใจจะประพฤติตามอย่างพระเจ้าในทางใดบ้าง?
24 เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า ความยุติธรรมเป็นลักษณะพิเศษจำเพาะแห่งแนวทางทั้งหลายของพระเจ้า ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลียนแบบพระยะโฮวาย่อมเทิดทูนและประพฤติอย่างยุติธรรม. กระนั้น พระเจ้าของเราหาได้ทรงถูกกระตุ้นโดยเพียงแต่ความยุติธรรมอันเป็นนามธรรมหรืออย่างเข้มงวดไม่. ความเมตตาและความรักของพระองค์ใหญ่ยิ่งนัก. พระองค์ทรงสำแดงการนี้โดยเต็มพระทัยให้อภัยอาศัยการกลับใจอย่างแท้จริง. เช่นนั้นแล้ว นับว่าเหมาะสมที่เปาโลเชื่อมการให้อภัยเข้ากับการเลียนแบบพระเจ้า ดังนี้ “[จง] อภัยโทษให้กันและกัน เหมือนพระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้ท่านทั้งหลายในพระคริสต์. เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงประพฤติอย่างพระเจ้า เหมือนเป็นบุตรที่รัก และจงประพฤติในความรัก.”—เอเฟโซ 4:32–5:2.
25 คริสเตียนแท้ได้พยายามมานานแล้วที่จะเลียนแบบพระยะโฮวาในด้านความยุติธรรมและความเมตตาและความเต็มใจที่จะให้อภัย. ยิ่งเรามารู้จักพระองค์มากขึ้น ก็น่าจะยิ่งง่ายที่เราจะเลียนแบบพระองค์ในแง่ต่าง ๆ เหล่านี้. แต่ว่าเราจะใช้หลักการเหล่านี้อย่างไรต่อบุคคลซึ่งได้รับการตีสอนอย่างรุนแรงอย่างยุติธรรมเนื่องจากเขาได้ดำเนินในทางบาป? ให้เราพิจารณากันต่อไป.
[เชิงอรรถ]
a “การคว่ำบาตรตามความหมายทั่วไปคือ การตั้งใจกระทำของกลุ่มบุคคลหรือคณะที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้สิทธิพิเศษเป็นสมาชิกภาพสำหรับผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกในฐานะที่ดีมาก่อน . . . การคว่ำบาตรหรือตัดสัมพันธ์ในสมัยคริสเตียนหมายถึงการตัดขาดจากชุมชนทางศาสนา จึงเป็นการปฏิเสธผู้ละเมิดนั้นไม่ให้เขารับศีลมหาสนิท การนมัสการกับประชาคม รวมทั้งตัดการติดต่อด้านสังคมทุกประเภท.”—ดิ อินเตอร์เนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล เอ็นไซโคลพีเดีย.
คุณได้เรียนอะไรบ้าง?
▫ ความยุติธรรมของพระเจ้าได้ปรากฏให้เห็นโดยวิธีใดในประชาคมยิศราเอลและในประชาคมคริสเตียน?
▫ เหตุใดเราควรเลียนแบบความเมตตาของพระเจ้านอกเหนือจากความยุติธรรมของพระองค์?
▫ อะไรเป็นสาเหตุที่พระเยซูตรัสอุทาหรณ์สามเรื่องในลูกาบท 15 และอุทาหรณ์เหล่านี้น่าจะสอนบทเรียนอะไรแก่เรา?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
ที่ราบเออร์-ราฮา ตรงหน้าภูเขาซีนาย (ด้านหลังทางซ้าย)
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ที่มาของภาพหน้า 15]
Garo Nalbandian
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Garo Nalbandian