แบบอย่างที่ได้รับการดลใจแห่งงานเผยแพร่ศาสนาคริสเตียน
“ท่านทั้งหลายจงประพฤติตามอย่างข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าประพฤติตามอย่างพระคริสต์.”—1 โกรินโธ 11:1.
1. วิธีการอะไรบ้างซึ่งพระเยซูได้ทรงวางแบบอย่างที่เด่นให้สาวกของพระองค์ปฏิบัติตาม? (ฟิลิปปอย 2:5-9)
พระเยซูทรงวางตัวอย่างเด่นชัดอะไรเช่นนั้นสำหรับเหล่าสาวกของพระองค์! พระองค์ทรงยินดีสละสง่าราศีทางภาคสวรรค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก และทรงอยู่ท่ามกลางมนุษย์ที่ผิดบาป. พระองค์เต็มพระทัยยอมทนรับความทุกข์เพื่อความรอดของมนุษยชาติ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เพื่อพระนามของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะเป็นที่เคารพอันบริสุทธิ์. (โยฮัน 3:16; 17:4) เมื่อถูกดำเนินคดีถึงขั้นความเป็นความตาย พระเยซูทรงแถลงอย่างกล้าหาญดังนี้: “เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง.”—โยฮัน 18:37, ล.ม.
2. เหตุใดพระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้วจึงสามารถบัญชาสาวกของพระองค์ให้ทำงานที่พระองค์ทรงเริ่มต้นไว้นั้นต่อ ๆ ไป?
2 ก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงให้การอบรมที่ดีเยี่ยมสำหรับสาวกของพระองค์ เพื่อเขาจะสามารถทำงานให้คำพยานเกี่ยวกับความจริงแห่งราชอาณาจักรได้ต่อ ๆ ไป. (มัดธาย 10:5-23; ลูกา 10:1-16) ฉะนั้น ภายหลังการคืนพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูจึงสามารถบัญชาดังนี้: “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดา และพระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
3. งานทำให้คนเป็นสาวกได้แผ่ขยายออกไปโดยวิธีใด และได้มีการเพ่งเล็งภูมิภาคส่วนไหนเป็นส่วนใหญ่?
3 ในช่วงสามปีครึ่งต่อจากนั้น บรรดาสาวกของพระเยซูได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ทว่าจำกัดงานทำให้คนเป็นสาวกเฉพาะในหมู่ชาวยิว พวกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว และกับชาวซะมาเรียที่ได้รับสุหนัตเท่านั้น. ครั้นแล้ว ปีสากลศักราช 36 พระเจ้าทรงชี้นำให้ประกาศข่าวดีแก่โกระเนเลียว คนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัต พร้อมด้วยครอบครัวของเขา. ระหว่างสิบปีถัดจากนั้น ชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ถูกนำเข้ามาในประชาคม. อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่างานส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในภูมิภาคด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน.—กิจการ 10:24, 44-48; 11:19-21.
4. การขยายตัวอันสำคัญเช่นไรมีขึ้นประมาณปีสากลศักราช 47-48?
4 จำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างกระตุ้นหรือส่งเสริมคริสเตียนให้สร้างสาวกชาวยิวและชาวต่างชาติในแดนไกลออกไป. ดังนั้น ราว ๆ ปีสากลศักราช 47-48 ผู้ปกครองแห่งประชาคมอันติโอเกียในแคว้นซีเรียได้รับข่าวสารจากองค์พระผู้เป็นเจ้าดังนี้: “จงเลือกบาระนาบากับเซาโลตั้งไว้สำหรับการซึ่งเราจะเรียกให้เขาทำนั้น.” (กิจการ 13:2) โปรดสังเกตว่าเปาโลตอนนั้นยังเป็นที่รู้จักโดยชื่อเดิมว่าเซาโล. สังเกตด้วยว่า พระเจ้าทรงออกชื่อบาระนาบาก่อนเปาโล อาจเป็นเพราะว่าเวลานั้น บาระนาบาได้รับการนับถือเป็นผู้ที่อาวุโสกว่าก็ได้.
5. เหตุใดบันทึกการเดินทางเผยแพร่ของเปาโลและบาระนานาจึงมีค่าอย่างยิ่งยวดสำหรับคริสเตียนสมัยนี้?
5 บันทึกในรายละเอียดว่าด้วยการเดินทางเผยแพร่ของเปาโลและบาระนาบาให้การหนุนใจมากแก่พยานพระยะโฮวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้เผยแพร่ศาสนาในต่างแดนและพวกไพโอเนียร์ซึ่งได้โยกย้ายไปแดนไกลห่างจากบ้านเกิด เพื่อรับใช้พระเจ้าในชุมชนต่างถิ่น. ยิ่งกว่านั้น การทบทวนพระธรรมกิจการ บท 13 และบท 14 ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าจะกระตุ้นหนุนใจได้อีกหลายคนให้เลียนแบบเปาโลกับบาระนาบา และขยายส่วนของตนในงานทำให้คนเป็นสาวกอันสำคัญนี้ยิ่ง ๆ ขึ้น.
เกาะไซปรัส [กุบโร]
6. พวกผู้เผยแพร่ได้วางตัวอย่างอะไรที่ไซปรัส [กุบโร]?
6 โดยไม่รอช้า ผู้เผยแพร่เหล่านี้ได้แล่นเรือจากเซลูเกียท่าเรือซีเรีย ไปยังเกาะไซปรัส. เมื่อไปถึงเมืองซะลามิ ท่านทั้งสองไม่เลี่ยงไปทางอื่น แต่ “ได้ประกาศคำของพระเจ้าในธรรมศาลาของพวกยูดาย.” โดยการติดตามตัวอย่างของพระคริสต์ พวกเขาไม่คิดจะปักหลักอยู่ในเมือง แล้วรอให้ชาวเกาะเป็นฝ่ายมาหาตน. ท่านทั้งสองได้ทำงานประกาศ “ไปตลอดเกาะนั้น.” จริง ๆ แล้ว งานนี้หมายรวมถึงการเดินเท้าเป็นระยะทางไกลมิใช่น้อย แถมยังต้องเปลี่ยนที่พักอาศัยอยู่เนือง ๆ เนื่องจากไซปรัสเป็นเกาะขนาดใหญ่ และเขาเดินทางไปตลอดทั่วถึงจนสุดปลายของเกาะนั้น.—กิจการ 13:5, 6.
7. (ก) เหตุการณ์ที่เด่นอะไรได้อุบัติขึ้นที่เมืองปาโฟ? (ข) บันทึกเรื่องนี้หนุนใจเราให้มีแง่คิดเช่นไร?
7 พอเสร็จสิ้นการพักอยู่ที่นั่นแล้ว ท่านทั้งสองมีประสบการณ์อันน่าทึ่งในเมืองปาโฟเป็นบำเหน็จ. ผู้ว่าราชการแห่งเกาะ ชื่อเซระเฆียวเปาโล ได้ฟังข่าวสารที่เขาประกาศ “จึงเชื่อถือ.” (กิจการ 13:7, 12) ต่อมา เปาโลได้เขียนว่า “ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จงพิจารณาดูคนทั้งหลายในพวกท่านที่พระเจ้าทรงเรียกมาแล้ว คือว่า คนที่โลกนิยมว่ามีปัญญา คนมีอำนาจ คนตระกูลสูงมีน้อยคนนัก.” (1 โกรินโธ 1:26) อย่างไรก็ดี เซระเฆียวเปาโลก็เป็นคนหนึ่งท่ามกลางผู้มีอำนาจที่ตอบรับ. ประสบการณ์นี้น่าจะเป็นกำลังใจแก่ทุกคน โดยเฉพาะผู้เผยแพร่ในต่างแดนให้มีแง่คิดเชิงบวกในการให้คำพยานแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ดังที่ 1 ติโมเธียว 2:1-4 สนับสนุนเราให้ทำ. ผู้มีอำนาจทางด้านการปกครองบางครั้งบางคราวก็เคยให้การสงเคราะห์มากมายแก่ผู้รับใช้ของพระเจ้า.—นะเฮมยา 2:4-8.
8. (ก) มีการปรับเปลี่ยนอะไรในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบาระนาบากับเปาโลตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา? (ข) บาระนาบาเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านใด?
8 ภายใต้ฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของพระยะโฮวา เปาโลมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เซระเฆียวเปาโลเกิดความเชื่อศรัทธา. (กิจการ 13:8-12) อนึ่ง นับแต่นั้นมา ปรากฏว่าเปาโลเป็นตัวตั้งตัวตี. (เทียบกิจการ 13:7 กับกิจการ 13:15, 16, 43.) ทั้งนี้ประสานกับการมอบหมายที่เปาโลรับจากพระเยซูในคราวที่ท่านได้เข้ามาเชื่อถือ. (กิจการ 9:15) พัฒนาการเช่นนั้นอาจเป็นการทดสอบความถ่อมใจของบาระนาบาก็ได้. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะมองการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ว่าเป็นการดูถูกตน ดูเหมือนบาระนาบาได้ปฏิบัติตนสมชื่อที่เรียกว่า “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ” และสนับสนุนเปาโลอย่างซื่อสัตย์ภักดีตลอดการเดินทางเผยแพร่ แล้วภายหลังต่อมา เมื่อคริสเตียนชาวยิวพากันโต้แย้งที่พวกเขาประกาศสั่งสอนในท่ามกลางชาวต่างชาติที่ไม่รับสุหนัต. (กิจการ 15:1, 2) นับว่าเป็นแบบอย่างอันดีอะไรเช่นนั้นสำหรับพวกเราทุกคน ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านมิชชันนารีและบ้านเบเธล! พวกเราควรเต็มใจเสมอที่จะรับเอาการปรับเปลี่ยนตามระบอบการของพระเจ้า และให้การสนับสนุนคนเหล่านั้นเต็มที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้นำพวกเรา.—เฮ็บราย 13:17.
ที่ราบสูงแห่งเอเชียน้อย
9. เราได้เรียนอะไรจากการที่เปาโลและบาระนาบาเต็มใจเดินทางขึ้นไปถึงเมืองอันติโอเกียแห่งปิซิเดีย?
9 จากกุบโร [ไซปรัส] เปาโลพร้อมด้วยบาระนาบาได้ลงเรือขึ้นเหนือไปทวีปเอเชีย. โดยเหตุผลบางอย่างที่ไม่ทราบแน่ชัด ผู้เผยแพร่ไม่ได้พักอยู่ที่เมืองชายฝั่งทะเล แต่ได้เดินทางไกลราว ๆ 180 กิโลเมตรและเป็นทางอันตรายไปถึงเมืองอันติโอเกีย มณฑลปิซิเดีย อันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในที่ราบสูงส่วนกลางแห่งเอเชียน้อย. การเดินทางเส้นนี้หมายรวมถึงการไต่ข้ามเขาแล้วลงสู่ที่ราบเหนือระดับทะเลประมาณ 1,100 เมตร. ผู้เชี่ยวชาญด้านไบเบิล เจ. เอส. เฮาเซน กล่าวดังนี้: “นิสัยการละเลยกฎหมาย และปล้นสะดมของพวกที่อยู่แถบภูเขาเหล่านั้น ซึ่งแยกที่ราบสูง . . . ออกจากที่ราบลุ่มทางฝั่งทะเลตอนใต้ มีอย่างชุกชุมในทุก ๆ ส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์โบราณ.” นอกจากนั้น พวกผู้เผยแพร่เผชิญอันตรายจากธรรมชาติด้วย. เฮาเซนกล่าวเพิ่มเติมว่า “ไม่มีภูมิภาคส่วนไหนในเอเชียน้อยที่มี ‘อุทกภัย’ เป็นลักษณะเด่นเฉพาะมากไปกว่าเส้นทางแถบภูเขาปิซิเดียซึ่งแม่น้ำมักไหลทะลักซัดหน้าผามหึมา หรือไหลแรงน่ากลัวไปตามห้วยลึกหว่างช่องเขา.” รายละเอียดเหล่านี้ช่วยให้เรานึกภาพการเดินทางของเหล่าผู้เผยแพร่ซึ่งเต็มใจยอมลำบากเพราะเห็นแก่การแพร่กระจายข่าวดี. (2 โกรินโธ 11:26) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจำนวนไม่น้อยกล้าฝ่าอุปสรรคนานาประการเพื่อเข้าถึงประชานและให้เขามีส่วนร่วมในข่าวดีด้วยกัน.
10, 11. (ก) เปาโลยึดเอาความเห็นที่ตรงกันกับกลุ่มผู้ฟังเป็นหลักโดยวิธีใด? (ข) ทำไมชาวยิวหลายคนดูเหมือนตกตะลึงเมื่อได้ยินเรื่องการทนทุกข์ของพระมาซีฮา? (ค) เปาโลเสนอความรอดแบบไหนแก่บรรดาผู้ที่ฟังพระองค์?
10 เนื่องจากมีธรรมศาลาของพวกยิวในเมืองอันติโอเกีย มณฑลปิซิเดีย ผู้เผยแพร่ได้ไปที่นั่นก่อน เพื่อให้คนเหล่านั้นซึ่งคุ้นเคยกับพระวจนะของพระเจ้าเป็นอย่างดีแล้วมีโอกาสจะรับรองเอาข่าวดี. ครั้นเปาโลได้รับเชิญให้บรรยาย ท่านยืนขึ้นกล่าวคำปราศรัยอย่างช่ำชองและเต็มไปด้วยพลัง. ตลอดการบรรยาย ท่านยึดเอาความเห็นที่ตรงกันกับหมู่ผู้ฟังทั้งชาวยิวและชาวต่างชาติที่เข้าศาสนายิวเป็นหลัก. (กิจการ 13:13-16, 26) หลังจากกล่าวคำนำสั้น ๆ เปาโลได้ทบทวนประวัติศาสตร์ชาติยิวอันลือชื่อ เตือนพวกเขาให้ระลึกว่าพระยะโฮวาทรงเลือกสรรบรรพบุรุษของเขา และทรงนำเขาออกไปจากอียิปต์ อีกทั้งทรงช่วยเขาพิชิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญา. ครั้นแล้วเปาโลกล่าวย้ำวิธีดำเนินการของพระยะโฮวาต่อดาวิด. ความรู้ดังกล่าวยังคงฝังใจชาวยิวในศตวรรษแรกอย่างไม่ลบเลือน เพราะพวกเขาคาดหมายว่าพระเจ้าจะทรงตั้งคนในเชื้อวงศ์ของดาวิดขึ้นให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดและเป็นกษัตริย์ตลอดกาล. พูดมาถึงจุดนี้ เปาโลแถลงอย่างกล้าหาญว่า “พระเจ้าได้ทรงโปรดให้ผู้ช่วยให้รอดคือพระเยซูเกิดขึ้นแก่ชาติยิศราเอลจากเผ่าพันธุ์ของดาวิดตามคำปฏิญาณของพระองค์.”—กิจการ 13:17-23.
11 อย่างไรก็ดี ผู้ที่ชาวยิวคอยหาเป็นผู้ช่วยให้รอดนั้นเป็นวีรบุรุษทางทหาร ผู้ซึ่งจะปลดปล่อยเขาจากอำนาจโรมัน แล้วยกชูชาวยิวเป็นชาติเด่นเหนือชาติอื่นทั้งสิ้น. ฉะนั้น จึงไม่สงสัยที่พวกเขาตกตะลึงเมื่อได้ยินเปาโลบอกว่าพวกผู้นำศาสนาของเขานั้นแหละได้มอบพระมาซีฮาให้คนประหารพระองค์เสีย. เปาโลกล่าวด้วยความกล้าว่า “แต่พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์.” จวนจบการบรรยาย ท่านได้ชี้แจงต่อบรรดาผู้ฟังว่าเขาเองสามารถรับความรอดอันน่าพิศวง. ท่านกล่าวว่า “จงเข้าใจเถิดว่า . . . โดยพระองค์นั้นแหละ การยกความผิดจึงได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย และโดยพระองค์นั้น ทุกคนที่เชื่อจะพ้นโทษได้ทุกอย่าง ซึ่งจะพ้นไม่ได้ตามบัญญัติของโมเซ.” เปาโลลงท้ายคำบรรยายของท่านด้วยการกระตุ้นผู้ฟังมิให้ถูกนับรวมกับพวกที่พระเจ้าตรัสล่วงหน้าว่าเป็นผู้ที่ไม่แยแสต่อการจัดเตรียมอันน่าพิศวงเพื่อความรอด.—กิจการ 13:30-41.
12. การบรรยายของเปาโลมีผลประการใด และข้อนี้น่าจะหนุนใจพวกเราอย่างไร?
12 ช่างเป็นการปาฐกถาที่อาศัยพื้นฐานของคัมภีร์ที่ได้บรรยายอย่างเหมาะเจาะอะไรเช่นนั้น! ผู้ฟังได้ตอบรับอย่างไร? “พวกยูดายหลายคนกับคนเข้าจารีตที่เกรงกลัวพระเจ้าได้ตามเปาโลและบาระนาบาไป.” (กิจการ 13:43) พวกเราสมัยนี้ได้รับการหนุนใจเพียงใด! จงให้พวกเราเสนอความจริงอย่างมีประสิทธิผลให้ดีที่สุดเช่นนั้นด้วย ไม่ว่าเมื่อเราประกาศให้ประชาชนฟัง หรือเมื่อออกความเห็น และบรรยาย ณ การประชุมประจำประชาคม.—1 ติโมเธียว 4:13-16.
13. ทำไมผู้เผยแพร่ทั้งสองจึงต้องออกไปจากเมืองอันติโอเกียแห่งปิซิเดีย และมีคำถามอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับสาวกใหม่เหล่านั้น?
13 ผู้สนใจคนใหม่ ๆ ในเมืองอันติโอเกีย มณฑลปิซิเดียไม่อาจเก็บงำข่าวดีไว้เฉพาะตัวเอง. ผลคือ “ครั้นถึงวันซะบาโตหน้า คนเกือบสิ้นทั้งเมืองได้ประชุมกันฟังพระคำของพระเจ้า.” จากนั้นไม่นาน ข่าวก็แพร่สะพัดไปนอกเมือง. ที่จริง “พระคำของพระเจ้าจึงแผ่ไปตลอดทั่วเขตแดนนั้น.” (กิจการ 13:44, 49) แทนที่จะยินดีรับเอาข้อเท็จจริงนี้ ชาวยิวที่อิจฉากลับยุยงให้ขับไล่ผู้เผยแพร่ออกจากเมืองเป็นผลสำเร็จ. (กิจการ 13:45, 50) การทำเช่นนั้นส่งผลกระทบสาวกใหม่อย่างไร? พวกเขาเกิดความท้อแท้และยอมเลิกไหม?
14. เหตุใดพวกผู้ขัดขวางไม่สามารถยุติงานซึ่งผู้เผยแพร่ได้เริ่มต้นไว้ และเราเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
14 หามิได้ เพราะงานนี้เป็นของพระเจ้า. อนึ่ง ผู้เผยแพร่เหล่านั้นได้วางรากฐานความเชื่อไว้แน่นหนาในองค์พระเยซูคริสต์ผู้ทรงคืนพระชนม์แล้ว. เห็นได้ชัดว่า พวกสาวกใหม่ได้ถือเอาพระคริสต์เป็นผู้นำของตน ไม่ใช่ผู้เผยแพร่เหล่านั้น. ด้วยเหตุนี้ เราได้อ่านว่า เขายังคง “เต็มไปด้วยความปีติยินดีและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (กิจการ 13:52) เรื่องนี้หนุนกำลังมิชชันนารีและพวกที่นำคนเข้ามาเป็นสาวกสักเพียงใดในทุกวันนี้! หากเราทำส่วนของเราด้วยความถ่อมใจและกระตือรือร้น พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์จะทรงอวยพระพรงานรับใช้ของเรา.—1 โกรินโธ 3:9.
เมืองอิโกนิอัน, ลุศตรา, และเดระเบ
15. ผู้เผยแพร่เหล่านั้นได้ดำเนินตามวิธีการอะไรในเมืองอิโกนิอัน ผลเป็นประการใด?
15 บัดนี้ เปาโลและบาระนาบาได้เดินทางต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกประมาณ 140 กิโลเมตร ถึงเมืองอิโกนิอันซึ่งอยู่ถัดไป. ความกลัวว่าจะถูกข่มเหงหาได้ระงับบุคคลทั้งสองไว้เสียจากวิธีดำเนินงานแบบเดียวกันกับที่ได้ทำในเมืองอันติโอเกีย. คัมภีร์ไบเบิลแจ้งผลที่ตามมาดังนี้: “ชนชาติยูดาย [ยิว] และชาติเฮเลน [กรีก] เป็นอันมากได้เชื่อถือ.” (กิจการ 14:1) อีกครั้งหนึ่ง พวกยิวที่ไม่รับรองเอาความจริงได้ปลุกปั่นให้เกิดการขัดขวาง. แต่ผู้เผยแพร่ทั้งสองเพียรอดทนและใช้เวลานานพอสมควรช่วยเหลือสาวกใหม่ในเมืองอิโกนิอัน. ครั้นรู้ข่าวว่าพวกยิวที่ต่อต้านจะเอาหินขว้าง ด้วยความสุขุม เปาโลและบาระนาบาจึงหนีไปยังเขตทำงานใหม่ “เมืองลุศตรา เมืองเดระเบ กับที่อยู่ล้อมรอบ.”—กิจการ 14:2-6.
16, 17. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเปาโล ณ เมืองลุศตรา? (ข) วิธีที่พระเจ้าปฏิบัติกับอัครสาวกนั้นมีผลกระทบต่อชายหนุ่มผู้หนึ่งจากเมืองลุศตราอย่างไร?
16 ด้วยความกล้า ท่านทั้งสอง “ได้ประกาศกิตติคุณที่นั่น” อันเป็นเขตใหม่ ไม่เคยมีการประกาศมาก่อน. (กิจการ 14:7) ครั้นชาวยิวในเมืองอันติโอเกียแห่งปิซิเดียและที่อิโกนิอันทราบข่าว พวกเขาได้ตามไปถึงเมืองลุศตราและยุยงประชาชนให้รุมกันเอาหินขว้างเปาโล. เนื่องจากหนีไม่ทัน เปาโลจึงโดนหินขว้างจนพวกที่ขัดขวางเชื่อว่าท่านสิ้นชีวิตแล้ว. เขาได้ลากท่านออกไปนอกเมือง.—กิจการ 14:19.
17 คุณนึกภาพเหตุการณ์ที่ก่อความเศร้าสลดใจแก่สาวกใหม่เหล่านั้นได้ไหม? แต่ไม่นึกไม่ฝัน ขณะพวกเขายืนห้อมล้อมเปาโลอยู่นั้น ท่านผุดลุกขึ้นยืน! คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ระบุว่าชายหนุ่มชื่อติโมเธียวอยู่ในกลุ่มสาวกใหม่นี้หรือไม่. ที่แน่ ๆ คือ ท่านรับรู้ถึงวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติกับเปาโลและเกิดเป็นความประทับใจอันดื่มด่ำสำหรับท่าน. เปาโลเขียนในจดหมายฉบับที่สองถึงติโมเธียวดังนี้: “ท่านได้ดำเนินตามคำสอน, การประพฤติ, . . . คือเหตุการณ์อะไร ๆ ซึ่งได้เกิดแก่ข้าพเจ้าที่เมืองอันติโอเกีย, เมืองอิโกนิอันและเมืองลุศตรา คือการข่มเหงที่ข้าพเจ้าได้ทนเอานั้นสักเท่าไร แต่ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นมาจากการนั้นทั้งหมด.” (2 ติโมเธียว 3:10, 11) ประมาณหนึ่งหรือสองปีหลังจากเปาโลโดนหินขว้าง ท่านได้กลับไปที่เมืองลุศตราและพบว่าชายหนุ่มติโมเธียวเป็นคริสเตียนผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างอันดี, “มีชื่อเสียงดีในท่ามกลางพวกพี่น้องที่อยู่ในเมืองลุศตราและเมืองอิโกนิอัน.” (กิจการ 16:1, 2) ดังนั้น เปาโลจึงเลือกติโมเธียวเป็นเพื่อนร่วมทาง. ทั้งนี้ช่วยให้ติโมเธียวเติบโตขึ้นในพัฒนาการฝ่ายวิญญาณและในเวลาต่อมาท่านมีคุณวุฒิพร้อม เปาโลจึงได้ส่งท่านไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ. (ฟิลิปปอย 2:19, 20; 1 ติโมเธียว 1:3) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ผู้รับใช้ที่กระตือรือร้นของพระเจ้าย่อมเป็นพลังโน้มนำอันมีผลกระทบอย่างดีต่ออนุชน หลายคนเติบโตขึ้นได้กลายเป็นผู้รับใช้พระเจ้าอย่างบุคคลที่มีคุณค่า เยี่ยงติโมเธียว.
18. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับผู้เผยแพร่ในเมืองเดระเบ? (ข) บัดนี้ ท่านทั้งสองมีโอกาสจะทำอะไร แต่เขาได้เลือกแนวทางอะไร?
18 เช้าวันต่อมา หลังจากท่านรอดตายอย่างหวุดหวิดที่เมืองลุศตรา เปาโลกับบาระนาบาจึงได้ไปยังเมืองเดระเบ. คราวนี้ พวกที่ขัดขวางไม่ติดตาม และคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า ท่านทั้งสอง ‘ได้สาวกเป็นอันมาก.’ (กิจการ 14:20, 21) ครั้นจัดตั้งประชาคมขึ้นที่เมืองเดระเบแล้ว เปาโลและบาระนาบาต้องตัดสินใจ. ทางหลวงสายสำคัญที่สร้างโดยชาวโรมันเริ่มจากเมืองเดระเบไปเมืองตาระโซ. จากที่นั่น เป็นทางระยะที่สั้นกลับไปที่เมืองอันติโอเกียในซีเรีย. ทางนี้น่าจะเป็นเส้นทางกลับที่สะดวกอย่างยิ่งก็ได้ และผู้เผยแพร่เหล่านั้นคงมีความคิดว่าสมควรจะพักผ่อนกันบ้าง. กระนั้น ด้วยการเลียนแบบนายของตน เปาโลและบาระนาบาได้ตระหนักถึงความต้องการที่สำคัญกว่า.—มาระโก 6:31-34.
ปฏิบัติงานของพระเจ้าให้บริบูรณ์
19, 20. (ก) โดยวิธีใดพระยะโฮวาทรงอวยพรผู้เผยแพร่เนื่องด้วยเขากลับไปที่เมืองลุศตรา, อิโกนิอัน, และอันติโอเกีย? (ข) เรื่องนี้ให้บทเรียนอะไรแก่ไพร่พลของพระยะโฮวาสมัยนี้?
19 แทนที่จะกลับบ้านทางลัด ด้วยความกล้าหาญผู้เผยแพร่เหล่านั้นย้อนกลับทางเดิมและแวะเยี่ยมเมืองต่าง ๆ ซึ่งชีวิตตนเองเคยตกอยู่ในอันตรายมาแล้ว. พระยะโฮวาอวยพระพรพวกเขาไหมสำหรับความห่วงใยต่อแกะใหม่เหล่านั้น? แน่นอน เพราะบันทึกรายงานความสำเร็จของเขาที่ “กระทำให้ใจของสาวกทั้งหลายถือมั่นขึ้น เตือนเขาให้ดำรงอยู่ในความเชื่อ.” ผู้เผยแพร่ทั้งสองกล่าวกับสาวกใหม่อย่างเหมาะสมทีเดียวว่า “เราทั้งหลายจำต้องทนยากลำบากมาก จนกว่าจะได้เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า.” (กิจการ 14:21, 22) นอกจากนั้น เปาโลและบาระนาบาได้เตือนเขาให้นึกถึงการถูกเรียกเข้ามาเป็นทายาทร่วมในราชอาณาจักรของพระเจ้าที่จะมีมา. เวลานี้ พวกเราควรให้การหนุนใจทำนองเดียวกันแก่สาวกใหม่ทั้งหลาย. เราสามารถช่วยเขาให้เข้มแข็งทนการทดลองต่าง ๆ ได้ โดยสนับสนุนเขาให้คำนึงถึงความหวังเกี่ยวกับชีวิตนิรันดรภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าที่เปาโลและบาระนาบาได้ประกาศนั่นเอง.
20 ก่อนละจากเมืองแต่ละแห่ง เปาโลและบาระนาบาได้ช่วยประชาคมท้องถิ่นจัดให้เป็นระเบียบดีขึ้น. เห็นได้ชัดว่า ท่านทั้งสองได้ฝึกสอนพวกผู้ชายที่มีคุณวุฒิและแต่งตั้งคนเหล่านั้นให้นำประชาคม. (กิจการ 14:23) ทั้งนี้ย่อมเป็นส่วนส่งเสริมการขยายงานอย่างแท้จริง. ทำนองเดียวกัน ในทุกวันนี้ผู้เผยแพร่ในต่างแดนและคนอื่น ๆ ภายหลังได้ช่วยพวกที่ยังไม่ช่ำชองให้ก้าวหน้า กระทั่งสามารถแบกความรับผิดชอบได้แล้ว บางครั้งเขาก็ย้ายไปทำการงานที่ดีต่อไปในเขตอื่น ๆ ซึ่งมีความต้องการมากกว่า.
21, 22. (ก) เกิดอะไรขึ้นภายหลังเปาโลและบาระนาบาเสร็จสิ้นการเดินทางเผยแพร่แล้ว? (ข) เรื่องนี้ก่อให้เกิดคำถามอะไรขึ้น?
21 เมื่อผู้เผยแพร่ได้กลับมาถึงเมืองอันติโอเกียแห่งซีเรียในที่สุด ท่านทั้งสองรู้สึกอิ่มใจพอใจอย่างลึกซึ้ง. ตามจริงแล้ว บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลระบุว่าเขา “ได้กระทำสำเร็จ” ตามที่พระเจ้าได้มอบฉันทะแก่ตน. (กิจการ 14:26) พอเข้าใจได้ว่า การกล่าวถึงเรื่องที่ท่านทั้งสองประสบมานั้น ทำให้ “พี่น้องทั้งหลายมีความยินดีเป็นที่ยิ่ง.” (กิจการ 15:3) แต่วันข้างหน้าล่ะเป็นอย่างไร? ตอนนั้นท่านทั้งสองจะพอใจกับความสำเร็จแล้ววางมือโดยไม่บากบั่นทำอะไรทั้งสิ้นต่อไปไหม? หามิได้. หลังจากได้เข้าพบคณะกรรมการปกครองที่กรุงยะรูซาเลมเพื่อฟังคำตัดสินยุติประเด็นการรับสุหนัตแล้ว ท่านทั้งสองได้เดินทางไปเผยแพร่อีก. คราวนี้เขาไปคนละทาง. บาระนาบาได้พาโยฮันมาระโกไปด้วย และไปที่ไซปรัส [กุบโร] ขณะที่เปาโลก็มีซีลาเป็นเพื่อนร่วมงานคนใหม่ และได้เดินทางผ่านซีเรียและกิลิเกีย. (กิจการ 15:39-41) การเดินทางครั้งนี้แหละซึ่งท่านเลือกเอาติโมเธียวชายหนุ่มเป็นเพื่อนร่วมงานและพาเขาไปด้วย.
22 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้แจ้งผลการเดินทางรอบที่สองของบาระนาบา. ส่วนเปาโลนั้น ท่านเดินทางต่อไปยังเขตใหม่ ทั้งได้จัดตั้งประชาคมขึ้นในเมืองต่าง ๆ อย่างน้อยก็ห้าเมือง—เมืองฟิลิปปอย, เบรอยะ, เธซะโลนิเก, โกรินโธ, และเอเฟโซ. อะไรเป็นเคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จอันโดดเด่นของเปาโล? หลักการอย่างเดียวกันใช้ได้กับสมัยนี้ไหมในการทำให้คนเข้ามาเป็นสาวกคริสเตียน?
คุณจำได้ไหม?
▫ เหตุใดพระเยซูทรงเป็นตัวอย่างเด่นพึงเลียนแบบ?
▫ บาระนาบาเป็นตัวอย่างในด้านใด?
▫ พวกเราเรียนอะไรจากคำบรรยายของเปาโลในเมืองอันติโอเกียแห่งปิซิเดีย?
▫ เปาโลและบาระนาบาได้ทำหน้าที่มอบหมายจนครบถ้วนโดยวิธีใด?
[รูปภาพหน้า 15]
การที่อัครสาวกเปาโลมีความอดทนต่อการข่มเหงนั้นก่อความประทับใจอันยืนนานแก่ชายหนุ่มติโมเธียว