บาระนาบา—“ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ”
คุณได้รับการหนุนน้ำใจจากเพื่อนครั้งล่าสุดเมื่อไร? คุณจำได้ไหมว่าคุณได้ให้การหนุนใจบางคนครั้งล่าสุดเมื่อไร? บางช่วง พวกเราทุกคนต้องการการหนุนกำลังใจ และเราหยั่งรู้ค่าคนเหล่านั้นมากเพียงใดที่กระทำดังกล่าวแก่เราด้วยความรัก! การปลอบโยนหมายรวมถึงการใช้เวลาฟัง, เข้าใจ, และช่วยเหลือ. คุณพร้อมจะทำเช่นนั้นไหม?
ผู้หนึ่งที่แสดงความเต็มใจที่จะทำเช่นนั้นด้วยท่าทีซึ่งถือเป็นแบบอย่างได้คือบาระนาบา ท่าน “เป็นคนดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความเชื่อ.” (กิจการ 11:24) ทำไมจึงกล่าวถึงบาระนาบาอย่างนั้นได้? ท่านทำอะไรไปบ้างซึ่งสมควรได้รับการพรรณนาเช่นนั้น?
ผู้ช่วยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ
ชื่อจริงของท่านคือโยเซฟ แต่พวกอัครสาวกตั้งฉายาที่บ่งบอกลักษณะให้ท่านซึ่งตรงกับบุคลิกของท่านจริง ๆ นั่นคือบาระนาบา มีความหมายว่า “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ.”a (กิจการ 4:36) ประชาคมคริสเตียนเพิ่งก่อตัวขึ้นได้ไม่นาน. บางคนสันนิษฐานว่าบาระนาบาเป็นหนึ่งในจำพวกสาวกรุ่นแรก ๆ ของพระเยซู. (ลูกา 10:1, 2) ไม่ว่าจะจริงดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม ชายผู้นี้ได้สร้างเกียรติประวัติสำหรับตัวเอง.
ไม่นานหลังวันเพนเตคอสเตสากลศักราช 33 บาระนาบาชาวเลวีจากเกาะไซปรัส [กุบโร] ได้ขายที่ดินบางส่วนด้วยความสมัครใจและมอบเงินนั้นแก่พวกอัครสาวก. ทำไมเขาทำเช่นนั้น? บันทึกในพระธรรมกิจการแจ้งว่าท่ามกลางชนคริสเตียนในกรุงยะรูซาเลมเวลานั้นได้ “แจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ.” ปรากฏชัดว่าบาระนาบามองเห็นความจำเป็น ท่านจึงดำเนินการบางอย่างด้วยความเอื้ออารี. (กิจการ 4:34-37) ท่านคงเป็นผู้มีอันจะกิน แต่ก็ไม่รีรอในการเสนอมอบทั้งทรัพย์สินด้านวัตถุที่มีอยู่และกระทั่งตัวเองเพื่อความเจริญก้าวหน้าด้านผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร.b เอฟ.เอฟ. บรูซผู้คงแก่เรียนให้ข้อสังเกตว่า “ที่ไหนก็ตามที่บาระนาบาพบเห็นผู้คนหรือสถานการณ์ซึ่งควรได้รับการหนุนกำลังใจ ท่านก็ทุ่มเทให้กำลังใจคนทั้งปวงเท่าที่ท่านสามารถทำได้.” ข้อนี้ประจักษ์ชัดจากบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับท่านครั้งที่สอง.
ประมาณสากลศักราช 36 เซาโลแห่งเมืองตาระโซ (ต่อมาคืออัครสาวกเปาโล) ขณะนั้นได้เป็นคริสเตียนแล้ว ท่านพยายามติดต่อกับประชาคมยะรูซาเลม “แต่เขาทั้งหลายกลัวเพราะไม่เชื่อว่าเซาโลเป็นศิษย์.” ท่านจะทำให้ประชาคมมั่นใจได้อย่างไรว่าท่านเปลี่ยนความเชื่อแล้วจริง ๆ และไม่ใช่กลลวงเพียงเพื่อล้างผลาญประชาคมอีก? “บาระนาบาได้ [“มาช่วยเหลือและ,” ล.ม.] พาท่านไปหาอัครสาวก.”—กิจการ 9:26, 27; ฆะลาเตีย 1:13, 18, 19.
ไม่ได้มีการกล่าวถึงว่าทำไมบาระนาบาเชื่อใจเซาโล. ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ” ได้ดำเนินชีวิตสมชื่อของตนโดยการรับฟังเซาโลและช่วยเหลือท่านพ้นสภาพที่ดูประหนึ่งว่าสิ้นหวัง. ถึงแม้เซาโลกลับไปที่เมืองตาระโซบ้านเกิดแล้วก็ตาม แต่มิตรภาพได้ก่อตัวขึ้นท่ามกลางคนทั้งสอง. มิตรภาพนั้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเวลาอีกหลายปีข้างหน้า.—กิจการ 9:30.
ในเมืองอันติโอเกีย
ราว ๆ สากลศักราช 45 มีข่าวไปถึงกรุงยะรูซาเลมว่าด้วยความเจริญก้าวหน้าอย่างผิดธรรมดาในเมืองอันติโอเกีย แคว้นซีเรีย นั่นคือชาวเมืองมากมายที่พูดภาษากรีกกลายมาเป็นผู้มีความเชื่อศรัทธา. ประชาคมจึงจัดส่งบาระนาบาไปตรวจสอบและจัดระเบียบการงานขึ้นที่นั่น. พวกเขาไม่อาจเลือกคนที่เหมาะสมกว่านั้นได้. ลูกาแถลงดังนี้: “เมื่อบาระนาบามาถึงแล้ว, และได้เห็นพระคุณของพระเจ้าก็ปีติยินดี, จึงได้เตือน [“หนุนน้ำใจ,” ล.ม.] บรรดาคนเหล่านั้นให้ปลงใจมั่นคงติดสนิทอยู่กับพระเจ้า ด้วยบาระนาบานั้นเป็นคนดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความเชื่อ จำนวนคนของพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทวีขึ้นเป็นอันมาก.”—กิจการ 11:22-24.
ทั้งหมดที่ท่านได้ทำไม่ใช่มีเพียงแค่นั้น. จูเซปเป ริชอตติผู้คงแก่เรียนกล่าวว่า “บาระนาบาเป็นคนที่มีประสิทธิผลขยันขันแข็งอย่างแท้จริง และเขาเข้าใจได้ทันทีถึงความจำเป็นที่ต้องลงมือทำงาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าการออกดอกบานสะพรั่งเช่นนั้น จะมีการเก็บเกี่ยวผลอย่างอุดมบริบูรณ์ตามมา. เพราะฉะนั้น ความจำเป็นเบื้องต้นคือต้องมีคนงานเก็บเกี่ยวผล.” เนื่องจากบาระนาบามาจากเมืองไซปรัส เป็นไปได้ที่ท่านอาจเคยทำการติดต่อกับคนต่างชาติเป็นประจำ. ท่านคงคิดว่าท่านมีคุณวุฒิเป็นพิเศษที่จะสอนพวกนอกรีต. แต่ท่านกลับพร้อมที่จะเข้าร่วมกับคนอื่น ๆ ในงานที่น่าตื่นเต้นและให้การหนุนกำลังใจนี้.
บาระนาบานึกถึงเซาโล. อาจเป็นได้มากทีเดียวที่บาระนาบาล่วงรู้นิมิตเชิงพยากรณ์ที่ให้แก่อะนาเนียคราวที่เซาโลเปลี่ยนความเชื่อ ว่าอดีตผู้ข่มเหงคนนี้เป็น ‘ภาชนะที่ได้สรรไว้ ให้ประกาศพระนามพระเยซูแก่คนต่างชาติ.’ (กิจการ 9:15) ฉะนั้น บาระนาบาจึงออกเดินทางไปยังเมืองตาระโซ—ระยะทางขาไปเที่ยวเดียว 200 กว่ากิโลเมตร—เพื่อตามหาเซาโล. คนทั้งสองทำงานด้วยกันหนึ่งปีเต็ม ฐานะเป็นเพื่อนร่วมงานและ “เป็นครั้งแรกในอันติโอเกีย” ในช่วงนั้น “โดยการทรงนำของพระเจ้าพวกสาวกถูกเรียกว่า คริสเตียน.”—กิจการ 11:25, 26, ล.ม.
ระหว่างการครองราชย์ของคลอดิอุสได้เกิดการกันดารอาหารอย่างรุนแรงในภูมิภาคต่าง ๆ แห่งจักรวรรดิโรมัน. ตามบันทึกของโยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวระบุว่า ที่กรุงยะรูซาเลม “คนจำนวนมากตายเนื่องจากขาดแคลนสิ่งจำเป็นที่จะใช้เป็นอาหาร.” ด้วยเหตุนี้ บรรดาสาวกในเมืองอันติโอเกีย “ทุกคนจึงตั้งใจว่าจะเรี่ยไรกันตามมากและน้อยฝากไปช่วยบรรเทาทุกข์พวกพี่น้องที่อยู่ในมณฑลยูดาย. เขาจึงได้กระทำดังนั้นและฝากบาระนาบาและเซาโลไปให้ผู้ปกครองทั้งหลาย.” หลังจากได้จัดภารกิจที่รับมอบหมายจนเสร็จแล้ว คนทั้งสองได้กลับไปยังเมืองอันติโอเกียพร้อมกับโยฮันมาระโก ที่นั่นพวกเขาถูกนับอยู่ในจำพวกผู้พยากรณ์และเป็นผู้สอนของประชาคม.—กิจการ 11:29, 30; 12:25; 13:1.
การมอบหมายพิเศษให้เป็นผู้เผยแพร่
ครั้นแล้วเกิดมีเหตุการณ์พิเศษ. “เมื่อคนเหล่านั้นกำลังนมัสการพระเจ้าและถือศีลอดอาหาร, พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสสั่งว่า, ‘จงเลือกบาระนาบากับเซาโลตั้งไว้สำหรับการซึ่งเราจะเรียกให้เขาทำนั้น.’” คิดดูสิ! พระวิญญาณของพระยะโฮวาตรัสสั่งคนทั้งสองว่าเขาได้รับมอบหมายงานพิเศษ. “เหตุฉะนั้นท่านทั้งสองที่ได้รับใช้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงลงไปยังเมืองเซลูเกีย, และได้แล่นเรือจากที่นั่นไปยังเกาะกุบโร [ไซปรัส].” บาระนาบาอาจถูกเรียกอย่างถูกต้องเช่นกันว่าเป็นอัครสาวกหรือผู้ถูกส่งไป.—กิจการ 13:2, 4; 14:14.
ภายหลังการเดินทางเผยแพร่ไปทั่วเกาะไซปรัสและช่วยเซระเฆียวเปาโลผู้ว่าราชการเกาะชาวโรมันเปลี่ยนความเชื่อ คนทั้งสองจึงเดินทางต่อไปยังเประเฆ เมืองชายฝั่งตอนใต้ของเอเชียไมเนอร์ ณ ที่นั่นโยฮันมาระโกได้ถอนตัวแล้วเดินทางกลับยะรูซาเลม. (กิจการ 13:13) ดูเหมือนว่าจนกระทั่งเวลานั้นบาระนาบามีบทบาทเป็นผู้นำ บางทีเนื่องจากเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มากกว่า. นับแต่นี้ไป เซาโล (ในตอนนี้ถูกเรียกว่าเปาโล) จะเป็นผู้นำ. (เทียบกับกิจการ 13:7, 13, 16; 15:2.) เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเช่นนี้บาระนาบารู้สึกเสียใจไหม? ไม่เลย ท่านเป็นคริสเตียนที่อาวุโส ท่านตระหนักด้วยใจถ่อมว่าพระยะโฮวาทรงใช้เพื่อนร่วมงานของท่านเช่นกันในวิธีที่ยังผลกว้างขวาง. โดยการใช้บุคคลทั้งสอง พระยะโฮวายังคงประสงค์จะให้เขตงานอื่น ๆ ได้ยินได้ฟังข่าวดี.
อันที่จริง ก่อนคนทั้งสองถูกขับออกจากเมืองอันติโอเกียในมณฑลปิซิเดีย ผู้คนทั่วท้องถิ่นนั้นได้ยินพระคำของพระเจ้าจากเปาโลและบาระนาบาอยู่แล้ว และมีไม่น้อยได้ตอบรับข่าวสาร. (กิจการ 13:43, 48-52) ที่เมืองอิโกนิอัน “ชาติยูดายและชาติเฮเลนเป็นอันมากได้เชื่อถือ.” ทั้งนี้กระตุ้นเปาโลกับบาระนาบาให้ใช้เวลาอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน ‘มีใจกล้าสั่งสอนในนามของพระเจ้า ผู้ทรงโปรดให้ท่านทั้งสองทำการอัศจรรย์กับการอิทธิฤทธิ์ได้.’ เมื่อได้ยินว่ามีการวางแผนคบคิดกันจะเอาหินขว้างเปาโลกับบาระนาบา คนทั้งสองทราบแล้วจึงหลบหนีและไปประกาศกิตติคุณต่อที่เมืองลุศตรา, เมืองเดระเบในมณฑลลุกาโอเนีย. ทั้ง ๆ ที่ประสบการคุกคามเอาชีวิตที่เมืองลุศตรา ทั้งบาระนาบากับเปาโลก็ยังคง “กระทำให้ใจของสาวกทั้งหลายถือมั่นขึ้น, เตือนเขาให้ดำรงอยู่ในความเชื่อ, และสอนให้เขาเข้าใจว่า, เราทั้งหลายจำต้องทนยากลำบากมากจนกว่าจะได้เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า.”—กิจการ 14:1-7, 19-22.
ผู้เผยแพร่ที่เปี่ยมพลังทั้งสองคนนี้ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่การคุกคามขู่ขวัญ. ตรงกันข้าม พวกเขาได้กลับไปเสริมสร้างคริสเตียนคนใหม่ ๆ ในที่ต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านั้นต่างก็เผชิญการต่อต้านอย่างร้ายกาจมาแล้ว อาจเป็นการสนับสนุนบรรดาผู้ชายที่มีคุณสมบัติให้รับบทบาทเป็นผู้นำในประชาคมใหม่ ๆ ก็ได้.
ประเด็นการรับสุหนัต
ประมาณ 16 ปีหลังวันเพนเตคอสเตสากลศักราช 33 บาระนาบามีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นการรับสุหนัตอันเป็นฉากเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์. “มีลางคนลงมา [ที่เมืองอันติโอเกียแห่งซีเรีย] จากมณฑลยูดายได้สั่งสอนพวกพี่น้องว่าถ้าไม่รับพิธีสุหนัตตามธรรมเนียมของโมเซจะรอดไม่ได้.” บาระนาบาและเปาโลรู้จากประสบการณ์มาแล้วว่าไม่เป็นดังกล่าว และพวกเขาไม่เห็นด้วยในข้อนี้. แทนที่บุคคลทั้งสองจะใช้อำนาจของตนจัดการเสียเอง ท่านตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่จะต้องยุติให้เป็นที่เรียบร้อยเพื่อประโยชน์ของสังคมแห่งพวกพี่น้องทั้งสิ้น. ดังนั้น ท่านทั้งสองจึงเสนอประเด็นนี้ต่อคณะกรรมการปกครองในกรุงยะรูซาเลม ซึ่ง ณ ที่นั่นรายงานของเขาช่วยในการจัดการประเด็นนั้น. ในเวลาต่อมา เปาโลกับบาระนาบาซึ่งได้รับการพรรณนาว่า “ผู้เป็นที่รัก . . . ผู้ไม่เสียดายชีวิตของตนเพราะเห็นแก่พระนามแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา” ก็อยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ถูกกำหนดให้นำคำตัดสินไปแจ้งแก่พี่น้องในเมืองอันติโอเกีย. ครั้นมีการอ่านจดหมายจากคณะกรรมการปกครองและบรรยายให้ที่ประชุมฟังแล้ว ประชาคม ‘มีความยินดีที่ได้รับการหนุนกำลังใจ’ และ “มีน้ำใจขึ้น.”—กิจการ 15:1, 2, 4, 25-32.
“เกิดการเถียงกันมาก”
หลังจากได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ หลากหลายในแง่บวกเกี่ยวกับบาระนาบา เราอาจรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของบาระนาบา. ทว่า “ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ” ก็เป็นคนไม่สมบูรณ์เหมือนพวกเราทั้งหลาย. ขณะที่ท่านกับเปาโลวางแผนจะเดินทางเยี่ยงผู้เผยแพร่เพื่อเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ เป็นรอบที่สองนั้นก็เกิดมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน. บาระนาบาตั้งใจพาโยฮันมาระโกซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องไปด้วย แต่เปาโลคิดว่าไม่เหมาะ เนื่องจากโยฮันมาระโกเคยทิ้งท่านทั้งสองเมื่อครั้งเดินทางเผยแพร่รอบแรก. ฉะนั้นจึง “เกิดการเถียงกันมากจนต้องแยกกัน บาระนาบาจึงพามาระโกลงเรือไปยังเกาะกุบโร,” ขณะที่ “เปาโลได้เลือกซีลา” แล้วไปอีกทางหนึ่ง.—กิจการ 15:36-40.
น่าเศร้าเพียงใด! กระนั้นก็ตาม เหตุการณ์นั้นบอกเราบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกภาพของบาระนาบา. ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งพูดว่า “นับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่บาระนาบาตลอดไปที่เขาพร้อมจะยอมเสี่ยงและวางใจมาระโกเป็นหนที่สอง.” ตามการชี้แนะของนักเขียนผู้นั้น อาจเป็นได้ว่า “การที่บาระนาบาแสดงความเชื่อมั่นในมาระโกได้ช่วยมาระโกกู้ความมั่นใจในตัวเอง และเป็นการกระตุ้นให้กลับมาทำตามคำมั่นสัญญาอีก.” ผลในที่สุดแสดงว่า ความเชื่อมั่นที่บาระนาบามีต่อมาระโกปรากฏว่าถูกต้อง เพราะต่อมา แม้แต่เปาโลยอมรับว่ามาระโกได้ทำประโยชน์ในงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน.—2 ติโมเธียว 4:11; เทียบกับโกโลซาย 4:10.
ตัวอย่างของบาระนาบาอาจกระตุ้นเราให้สละเวลารับฟัง, เข้าใจ, และหนุนน้ำใจผู้ท้อแท้และให้การช่วยเหลืออันจะใช้ประโยชน์ได้เมื่อใดก็ตามที่เรามองเห็นความจำเป็น. บันทึกเกี่ยวด้วยความเต็มใจของบาระนาบาในการปฏิบัติต่อบรรดาพี่น้องอย่างอ่อนโยนและกล้าหาญ อีกทั้งผลอันดีเลิศจึงนับว่าเป็นการหนุนกำลังอยู่ในตัว. ช่างเป็นพระพรเสียจริง ๆ ที่มีคนอย่างบาระนาบาในประชาคมของเราเวลานี้!
[เชิงอรรถ]
a การเรียกบางคนว่า “ลูกแห่ง . . . ” เป็นการเน้นลักษณะเฉพาะตัวบ่งบอกบุคลิกภาพที่โดดเด่น. (ดูพระบัญญัติ 3:18, เชิงอรรถ.) ในศตวรรษแรก ถือเป็นเรื่องปกติที่จะใช้ฉายาเพื่อมุ่งความสนใจไปที่คุณสมบัติประการต่าง ๆ ของบุคคล. (เทียบกับมาระโก 3:17.) ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการยอมรับอย่างเปิดเผย.
b เมื่อพิจารณาถึงข้อบัญญัติในกฎหมายของโมเซ บางคนสงสัยว่าทำไมบาระนาบาชาวเลวีเป็นเจ้าของที่ดินได้. (อาฤธโม 18:20) อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่าเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียวว่าที่ดินนั้นอยู่ที่ปาเลสไตน์หรือที่ไซปรัส. ยิ่งกว่านั้น เป็นไปได้ว่าที่ดินผืนนี้อาจเป็นแค่ที่ฝังศพซึ่งบาระนาบาได้ซื้อหาไว้ในแถบพื้นที่เมืองยะรูซาเลม. ไม่ว่าในกรณีใด บาระนาบาได้ยกทรัพย์สินของตนเพื่อให้การสงเคราะห์ผู้อื่น.
[รูปภาพหน้า 23]
บาระนาบา “เป็นคนดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความเชื่อ”