คุณจะพัฒนาการสังเกตเข้าใจให้มากขึ้นได้ไหม?
ความสังเกตเข้าใจคือ “ความสามารถหรือสมรรถนะของจิตใจในการแยกแยะสิ่งหนึ่งออกจากอีกสิ่งหนึ่ง.” ความสังเกตเข้าใจนั้นยังอาจเป็น “ความเฉียบแหลมของการวินิจฉัย” หรือ “ความสามารถในการเข้าใจความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ หรือแนวคิดต่าง ๆ” อีกด้วย. พจนานุกรมยูนิเวอร์แซลของเว็บสเตอร์ กล่าวไว้เช่นนั้น. ปรากฏชัดว่า ความสังเกตเข้าใจเป็นคุณลักษณะที่พึงปรารถนา. คุณค่าของคุณลักษณะนั้นปรากฏชัดในคำตรัสของซะโลโมที่ว่า “เมื่อสติปัญญาเข้าสู่หัวใจของเจ้า และความรู้เป็นที่น่าชื่นใจแก่จิตวิญญาณของเจ้า . . . ความสังเกตเข้าใจก็จะปกป้องเจ้า เพื่อจะช่วยเจ้าพ้นจากแนวทางชั่ว.”—สุภาษิต 2:10-12, ล.ม.
ถูกแล้ว การสังเกตเข้าใจจะช่วยเราต้านทาน “แนวทางชั่ว” ซึ่งมีอยู่มากมายในทุกวันนี้. และการสังเกตเข้าใจนำมาซึ่งผลประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก. ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งบิดามารดาได้ยินลูก ๆ พูดว่า ‘คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ!’ โดยการสืบสาวราวเรื่องดูสักหน่อย บิดามารดาซึ่งมีความสังเกตเข้าใจทราบวิธีดึงความรู้สึกและประเด็นที่ทำให้ลูก ๆ ไม่สบายใจนั้นออกมา. (สุภาษิต 20:5) สามีที่มีความสังเกตเข้าใจก็เช่นกันจะฟังภรรยาและได้มาซึ่งความหยั่งเห็นในความคิดและความรู้สึกของเธอแทนที่จะด่วนลงความเห็น. ภรรยาก็จะทำอย่างเดียวกันกับสามีของเธอ. ด้วยวิธีนี้ “โดยสติปัญญาครอบครัวจะได้รับการเสริมสร้าง, และโดยการสังเกตเข้าใจจะปรากฏว่าตั้งมั่นคง.”—สุภาษิต 24:3, ล.ม.
ความสังเกตเข้าใจช่วยคนเราให้รับมือกับสถานการณ์อย่างประสบผลสำเร็จ. สุภาษิต 17:27 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “บุคคลที่ยับยั้งถ้อยคำของเขาเป็นคนมีความรู้ และบุคคลผู้มีจิตใจเยือกเย็นเป็นคนมีความเข้าใจ.” บุคคลที่มีความสังเกตเข้าใจไม่หุนหันพลันแล่น ถลันเข้าสู่สถานการณ์ทุกอย่างโดยไม่คิด. เขาไตร่ตรองดูผลที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจทำ. (ลูกา 14:28, 29) เขายังมีสัมพันธภาพที่สงบสุขมากขึ้นกับคนอื่นด้วยเพราะ “ปากที่มีความสุขุม” ทำให้เขาเลือกคำพูดอย่างระวัง. (สุภาษิต 10:19; 12:8, ล.ม.) แต่สำคัญที่สุด บุคคลที่มีความสังเกตเข้าใจยอมรับขีดจำกัดของตนเองอย่างถ่อมใจ และหมายพึ่งพระเจ้าเพื่อได้รับการชี้นำยิ่งกว่ามนุษย์. นี่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย และเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่จะพัฒนาความสังเกตเข้าใจ.—สุภาษิต 2:1-9; ยาโกโบ 4:6.
การขาดความสังเกตเข้าใจของชาติยิศราเอล
อันตรายของการไม่ได้แสดงความสังเกตเข้าใจนั้นเห็นได้จากเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ตอนต้น ๆ ของชาติยิศราเอล. เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ในคราวนั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ได้รับการดลใจได้กล่าวว่า “บรรพบุรุษของพวกข้าพเจ้า เมื่ออยู่ในแผ่นดินอายฆุบโตไม่ได้เข้าใจในการอัศจรรย์ของพระองค์; เขาไม่ได้จดจำพระกรุณาคุณอันเหลือล้นของพระองค์, แต่เขาได้กบฏที่ทะเล, คือทะเลแดง.”—บทเพลงสรรเสริญ 106:7.
เมื่อโมเซนำชาติยิศราเอลออกจากอียิปต์ พระยะโฮวาได้สำแดงอำนาจและความตั้งพระทัยของพระองค์ที่จะปลดปล่อยไพร่พลของพระองค์มาแล้วโดยให้ภัยพิบัติสิบประการจู่โจมมหาอำนาจโลกที่เกรียงไกร. ภายหลังฟาโรห์ปล่อยชนยิศราเอลไปแล้ว โมเซพาพวกเขามาถึงฝั่งทะเลแดง. อย่างไรก็ดี กองทัพอียิปต์กรีธาทัพไล่ตามพวกเขาไป. ดูประหนึ่งว่าชนยิศราเอลจนมุมและเสรีภาพที่เพิ่งประสบใหม่ ๆ ดูเหมือนจะสั้นเหลือเกิน. ดังนั้น บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ชาติยิศราเอล . . . มีความกลัวยิ่งนัก จึงได้ร้องทูลพระยะโฮวา.” แล้วพวกเขาได้หันไปเล่นงานโมเซ บอกว่า “ทำไมหนอท่านจึงได้พาเราออกมาจากประเทศอายฆุบโต? . . . เพราะการที่จะปรนนิบัติชนชาติอายฆุบโตนั้นก็ดีกว่าที่จะมาตายในป่ากันดาร?”—เอ็กโซโด 14:10-12.
ความกลัวของพวกเขาอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่อย่าลืมว่าพวกเขาได้เห็นการสำแดงอำนาจที่โดดเด่นของพระยะโฮวาสิบประการมาแล้ว. พวกเขาทราบด้วยตนเองถึงสิ่งที่โมเซจะเตือนใจให้เขาระลึกถึงราว ๆ 40 ปีต่อมาที่ว่า “พระยะโฮวาได้ทรงพาเราทั้งหลายออกมาจากประเทศอายฆุบโตด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์; ด้วยพาหาทรงเหยียดออก, ด้วยการอิทธิฤทธิ์พึงกลัว, การสำคัญ, และการอัศจรรย์ต่าง ๆ.” (พระบัญญัติ 26:8) เนื่องจากเหตุนี้ ดังที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้เขียนนั้น เมื่อชนยิศราเอลต่อต้านการชี้นำของโมเซ “[พวกเขา] ไม่ได้เข้าใจ.” อย่างไรก็ตาม จริงตามคำสัญญาของพระองค์ พระยะโฮวาทรงทำให้กองทัพอียิปต์ได้รับความพ่ายแพ้อย่างน่าตกตะลึง.—เอ็กโซโด 14:19-31.
ความเชื่อของเราอาจหวั่นไหวได้เช่นเดียวกันหากเราจะเผชิญการทดลองด้วยความสงสัยหรือความลังเล. การสังเกตเข้าใจจะช่วยเราให้มองสถานการณ์ด้วยมุมมองที่ถูกต้องเสมอ โดยระลึกว่าพระยะโฮวาทรงใหญ่ยิ่งกว่าใคร ๆ ที่อาจต่อต้านเราสักเพียงไร. การสังเกตเข้าใจจะช่วยเราให้ระลึกถึงสิ่งที่พระยะโฮวาทรงกระทำไปแล้วเพื่อเราด้วย. นั่นจะช่วยเราไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า พระองค์เป็นผู้ทรง “บำรุงรักษาคนทั้งหลายที่รักพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:18-20.
การได้รับความสังเกตเข้าใจด้านวิญญาณ
ความสังเกตเข้าใจไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติพร้อมกับอายุ. นั่นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา. กษัตริย์ซะโลโมผู้ทรงพระปรีชาซึ่งเป็นที่เลื่องลือในด้านความสังเกตเข้าใจนั้นตรัสว่า “ความผาสุกมีแก่คนนั้นที่พบพระปัญญา, และแก่คนนั้นที่รับความเข้าใจ. เพราะว่าการหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน, และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์.” (สุภาษิต 3:13, 14) ซะโลโมได้รับการสังเกตเข้าใจจากที่ไหน? จากพระยะโฮวา. เมื่อพระยะโฮวาตรัสถามซะโลโมว่า ท่านประสงค์พระพรอะไร ซะโลโมทูลตอบว่า “ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่ทาสของพระองค์ให้มีใจที่จะเข้าใจในการพิพากษาไพร่พลของพระองค์, เพื่อข้าพเจ้าจะสังเกตได้ซึ่งการดีและชั่ว.” (1 กษัตริย์ 3:9) ถูกแล้ว ซะโลโมหมายพึ่งพระยะโฮวาฐานะผู้ช่วยเหลือท่าน. ท่านได้ทูลขอความสังเกตเข้าใจ และพระยะโฮวาทรงประทานให้แก่ท่านเกินกว่าปกติ. ผลเป็นอย่างไร? “พระสติปัญญาแห่งกษัตริย์ซะโลโมมีมากยิ่งกว่าสติปัญญาชาวประเทศทั้งปวงฝ่ายทิศตะวันออก, และยิ่งกว่าสติปัญญาทั้งหมด ณ ประเทศอายฆุบโต.”—1 กษัตริย์ 4:30.
ประสบการณ์ของซะโลโมแสดงให้เห็นว่า เราควรจะสืบค้นหาความสังเกตเข้าใจได้จากที่ไหน. เช่นเดียวกับซะโลโม เราควรหมายพึ่งพระยะโฮวา. โดยวิธีใด? พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ซึ่งทำให้เรามีความหยั่งเห็นพระดำริของพระองค์. เมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิล เรากำลังขุดลงไปในบ่อเกิดแห่งความรู้อันล้ำค่าซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความสังเกตเข้าใจด้านวิญญาณ. ควรคิดรำพึงถึงข้อมูลที่เราสะสมไว้จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิล. ครั้นแล้ว อาจใช้ความรู้นั้นเพื่อทำการตัดสินใจอย่างถูกต้อง. ไม่ช้าก็เร็ว ความสามารถในการเข้าใจของเราก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นถึงขีดที่เรา “เป็นผู้ใหญ่ด้านความสามารถในการเข้าใจ” สามารถที่จะ “สังเกตเข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด.”—1 โกรินโธ 14:20, ล.ม.; เฮ็บราย 5:14, ล.ม.; เทียบกับ 1 โกรินโธ 2:10.
น่าสนใจ เราสามารถได้รับประโยชน์จากความสังเกตเข้าใจที่พระยะโฮวาประทานให้ซะโลโม. โดยวิธีใด? ซะโลโมได้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแสดงออกซึ่งสติปัญญาในรูปของสุภาษิตต่าง ๆ ซึ่งที่แท้แล้วเป็นเกล็ดสติปัญญาที่ได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า. สุภาษิตเหล่านี้หลายข้อได้รับการอนุรักษ์ไว้ในพระธรรมสุภาษิต. การศึกษาพระธรรมเล่มนั้นช่วยเราให้ได้รับประโยชน์จากความสังเกตเข้าใจของซะโลโม และพัฒนาการสังเกตเข้าใจของเราเองด้วย.
เพื่อช่วยเราในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราอาจใช้คู่มือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เช่น วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! เป็นเวลามากกว่า 116 ปีหอสังเกตการณ์ ได้ประกาศราชอาณาจักรของพระยะโฮวาแก่ชนที่มีหัวใจสุจริต. วารสารตื่นเถิด! และวารสารแนวเดียวกันที่เคยออกก่อนหน้านั้นอธิบายสภาพการณ์ของโลกตั้งแต่ปี 1919. วารสารสองเล่มนี้ตรวจสอบความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและเสนอความสว่างด้านวิญญาณทีละขั้นซึ่งช่วยเราให้สังเกตเข้าใจข้อผิดพลาด ไม่ว่าเป็นข้อผิดพลาดที่คริสต์ศาสนจักรสอนหรือข้อผิดพลาดในขบวนการคิดของเราเอง.—สุภาษิต 4:18.
ความช่วยเหลืออีกประการหนึ่งในการพัฒนาการสังเกตเข้าใจก็คือ การคบหาสมาคมที่เหมาะสม. สุภาษิตข้อหนึ่งของกษัตริย์ซะโลโมบอกว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภาษิต 13:20, ล.ม.) น่าเสียดายที่ระฮับอาม โอรสของกษัตริย์ซะโลโมมิได้จดจำสุภาษิตข้อนี้ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของท่าน. หลังจากการสิ้นพระชนม์ของราชบิดา ตระกูลต่าง ๆ ของยิศราเอลได้มาเฝ้าท่านเพื่อทูลขอร้องให้ท่านลดหย่อนภาระของพวกเขา. ทีแรก ระฮับอามได้ปรึกษากับพวกผู้เฒ่าผู้แก่ และคนเหล่านี้ได้แสดงความสังเกตเข้าใจเมื่อพวกเขาสนับสนุนท่านให้สดับฟังไพร่ฟ้า. ครั้นแล้ว ท่านได้ไปหาพวกคนหนุ่ม. คนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นการขาดประสบการณ์และขาดความสังเกตเข้าใจ สนับสนุนระฮับอามให้ตอบชนยิศราเอลด้วยการข่มขู่. ระฮับอามฟังพวกคนหนุ่ม. ผลเป็นประการใด? ชาติยิศราเอลกบฏ และระฮับอามสูญเสียอาณาจักรส่วนใหญ่ไป.—1 กษัตริย์ 12:1-17.
ส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาความสังเกตเข้าใจคือ การแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. เมื่อทบทวนการปฏิบัติของพระยะโฮวากับชนยิศราเอลภายหลังการปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นเชลยในอียิปต์ นะเฮมยาผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ให้เป็นครูสั่งสอนใจเขา.” (นะเฮมยา 9:20) พระวิญญาณของพระยะโฮวาสามารถช่วยทำให้เราฉลาดสุขุมเช่นกัน. ขณะที่คุณอธิษฐานขอพระวิญญาณของพระยะโฮวาเพื่อทำให้คุณมีความสังเกตเข้าใจนั้น จงอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นเพราะพระยะโฮวา “ทรงโปรดประทานให้แก่คนทั้งปวงด้วยเต็มพระทัยและมิได้ทรงติว่า.”—ยาโกโบ 1:5; มัดธาย 7:7-11; 21:22.
ความสังเกตเข้าใจและการหยั่งเห็น
อัครสาวกเปาโลแสดงความสังเกตเข้าใจเมื่อท่านประกาศความจริงแก่ชนนานาชาติ. ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งขณะอยู่ในเมืองอะเธนาย [เอเธนส์] ท่าน “เดินทางมาเห็น” สิ่งที่พวกเขานมัสการ. เปาโลถูกแวดล้อมด้วยรูปเคารพ และท่านเดือดร้อนวุ่นวายใจ. ตอนนี้ท่านต้องทำการตัดสินใจ. ควรไหมที่ท่านจะติดตามแนวทางที่ปลอดภัยและเงียบอยู่ต่อไป? หรือว่าท่านควรพูดออกมาอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการบูชารูปเคารพที่มีดาษดื่นจนท่านรู้สึกเดือดร้อนใจจริง ๆ ถึงแม้ว่าการทำเช่นนั้นอาจเป็นอันตราย?
เปาโลปฏิบัติด้วยความสังเกตเข้าใจ. ท่านได้เห็นแท่นบูชาหนึ่งที่มีคำจารึกว่า “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก.” โดยใช้ปฏิภาณ เปาโลตระหนักถึงความเลื่อมใสของพวกเขาต่อรูปเคารพ แล้วก็ใช้แท่นบูชานั้นเป็นแนวทางแนะนำเรื่องเกี่ยวกับ “พระเจ้าซึ่งทรงสร้างโลกกับสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก.” ถูกแล้ว พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่พวกเขาไม่รู้จัก! ด้วยวิธีนี้ เปาโลใส่ใจต่อความรู้สึกที่ไวของพวกเขาในเรื่องนั้น และสามารถให้คำพยานที่ดีเยี่ยม. พร้อมด้วยผลประการใด? หลายคนได้รับเอาความจริง รวมทั้ง “ดิโอนุเซียวผู้เป็นคนหนึ่งในกรรมการของศาลากลางบนเขาอาเรียว กับหญิงคนหนึ่งชื่อดะมารี และคนอื่น ๆ ด้วย.” (กิจการ 17:16-34) เปาโลช่างเป็นตัวอย่างเรื่องการสังเกตเข้าใจเสียจริง ๆ!
ไม่ต้องสงสัย ความสังเกตเข้าใจไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ หรือเป็นไปเอง. แต่โดยความอดทน, การอธิษฐาน, ความพยายามอย่างจริงจัง, การคบหาสมาคมที่ฉลาด, การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการคิดรำพึงถึงเรื่องนั้น, และการพึ่งอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา คุณจะสามารถพัฒนาความสังเกตเข้าใจได้เช่นกัน.