จงอยู่ต่อไปใน “เมืองลี้ภัย” และรอดชีวิต!
“ชายผู้นั้นต้องอยู่ในเขตเมืองลี้ภัยจนปุโรหิตใหญ่ [“มหาปุโรหิต,” ล.ม.] ถึงแก่ความตาย.”—อาฤธโม 35:28, ฉบับแปลใหม่.
1. ใครคือผู้แก้แค้นโลหิต และพระองค์จะทรงเริ่มปฏิบัติการอะไรในไม่ช้า?
พระเยซูคริสต์ผู้แก้แค้นโลหิตแทนพระยะโฮวาจวนจะเริ่มปฏิบัติการแล้ว. ผู้แก้แค้นองค์นี้พร้อมกับกองกำลังฝ่ายทูตสวรรค์จะเริ่มดำเนินการกับทุกคนที่มีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกและไม่กลับใจ. ใช่แล้ว พระเยซูจะทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นเพชฌฆาตของพระเจ้าระหว่างช่วง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ซึ่งใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว. (มัดธาย 24:21, 22; ยะซายา 26:21) ถึงตอนนั้น มนุษยชาติจะต้องเผชิญหน้ากับความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก.
2. ที่ลี้ภัยแท้เพียงแห่งเดียวได้แก่อะไร และมีคำถามอะไรบ้างที่ต้องการคำตอบ?
2 ทางสู่ความปลอดภัยคือก้าวเข้าสู่เส้นทางที่จะนำไปถึงเมืองลี้ภัยตัวจริงและหนีเอาตัวรอด! เมื่อถูกรับเข้าไว้ในเมืองนั้นแล้ว ผู้ลี้ภัยจะต้องอยู่ที่นั่นต่อไป เพราะเป็นที่ลี้ภัยแท้เพียงแห่งเดียว. แต่คุณอาจสงสัยก็ได้ว่า ‘ในเมื่อพวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยฆ่าคน เรามีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจริง ๆ หรือ? เพราะเหตุใดพระเยซูเป็นผู้แก้แค้นโลหิต? เมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบันคืออะไร? ใคร ๆ จะออกไปจากเมืองนี้อย่างปลอดภัยได้ไหม?’
เรามีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจริง ๆ หรือ?
3. ลักษณะเด่นอะไรแห่งพระบัญญัติของโมเซจะช่วยเราให้มองเห็นว่าคนหลายพันล้านมีส่วนในความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก?
3 ลักษณะเด่นแห่งพระบัญญัติของโมเซจะช่วยเราให้เข้าใจว่า คนนับล้านแห่งแผ่นดินโลกมีส่วนในความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก. พระเจ้าได้ทรงวางภาระรับผิดชอบร่วมไว้กับชาวยิศราเอลในเรื่องการทำให้โลหิตตก. หากพบคนถูกฆ่าและไม่รู้ว่าใครคือฆาตกร พวกผู้พิพากษาจำต้องวัดระยะทางจากจุดนั้นไปเมืองต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เพื่อจะตัดสินได้ว่าเมืองใดอยู่ใกล้ที่สุด. เพื่อจะขจัดความผิด ผู้เฒ่าผู้แก่แห่งเมืองที่ดูเหมือนมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกนั้นต้องนำวัวตัวเมียซึ่งยังไม่เคยใช้งานไปหักคอที่หุบเขาธารน้ำแห้ง ซึ่งไม่มีการไถหรือหว่านเลย. ทั้งนี้ต้องกระทำต่อหน้าปุโรหิตตระกูลเลวี ‘เพราะพระยะโฮวาได้ทรงเลือกพวกเขาไว้สำหรับการชำระความเมื่อมีการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรง.’ ผู้เฒ่าผู้แก่แห่งเมืองนั้นจะล้างมือเหนือวัวนั้นและกล่าวว่า “มือของเรามิได้กระทำโลหิตนี้ให้ตก, ตาของเรามิได้เห็น, ขอพระยะโฮวาได้ทรงเมตตา, โปรดแก่พวกยิศราเอล, ไพร่พลของพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงไถ่ไว้, อย่าได้ทรงกระทำโทษแก่พวกยิศราเอล เพราะโลหิตของผู้ซึ่งไม่ได้กระทำผิด.” (พระบัญญัติ 21:1-9) พระเจ้ายะโฮวาไม่ทรงประสงค์จะให้แผ่นดินยิศราเอลเปรอะเปื้อนด้วยโลหิต หรือให้พลเมืองในแผ่นดินร่วมแบกความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก.
4. บาบูโลนใหญ่มีประวัติอะไรเกี่ยวด้วยความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก?
4 ถูกแล้ว มีสภาพการณ์ดังกล่าวคือความผิดร่วมกัน หรือความผิดของชุมชน เนื่องจากการทำให้โลหิตตก. จงพิจารณาความผิดมหันต์ของบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ เนื่องจากการทำให้โลหิตตก. ก็เมืองนี้เมา โลหิตผู้รับใช้ทั้งหลายของพระยะโฮวา! (วิวรณ์ 17:5, 6; 18:24) นิกายต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรอ้างว่าติดตามองค์สันติราช แต่สงครามต่าง ๆ, ศาลศาสนา, และสงครามศาสนาซึ่งได้ผลาญชีวิตผู้คนมากมายได้ทำให้คริสต์ศาสนจักรมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจำเพาะพระเจ้า. (ยะซายา 9:6; ยิระมะยา 2:34) ที่จริง คริสต์ศาสนจักรมีความผิดใหญ่หลวงเนื่องด้วยผู้คนหลายล้านได้เสียชีวิตในสงครามโลกทั้งสองคราวแห่งศตวรรษนี้. เพราะฉะนั้น พวกที่ยึดศาสนาเท็จรวมทั้งผู้สนับสนุน และผู้ร่วมทำสงครามระหว่างมนุษย์ด้วยกันจึงมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจำเพาะพระเจ้า.
5. บางคนเป็นเหมือนผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาในแผ่นดินยิศราเอลอย่างไร?
5 บางคนก่อความตายแก่มนุษย์โดยเจตนาหรือด้วยความประมาทเลินเล่อ. คนอื่น ๆ มีส่วนร่วมกันในการฆ่าคน บางทีเพราะผู้นำทางศาสนาได้พูดโน้มน้าวว่าการนี้เป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ยังมีคนอื่นที่ประทุษร้ายและได้ฆ่าผู้รับใช้ของพระเจ้า. ถึงแม้เราไม่ได้กระทำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว แต่เรามีส่วนร่วมต่อการรับผิดชอบของชุมชนเนื่องด้วยการสูญเสียชีวิตมนุษย์ เพราะเราไม่รู้กฎหมายและพระประสงค์ของพระเจ้า. เราเป็นเหมือนผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนา ‘คือผู้ที่ได้ฆ่าเพื่อนบ้านของตนโดยมิได้เจตนา โดยมิได้เป็นอริกันมาก่อน.’ (พระบัญญัติ 19:4, ฉบับแปลใหม่) คนประเภทนี้ควรวิงวอนขอความเมตตาจากพระเจ้า และวิ่งเข้าไปยังเมืองลี้ภัยตัวจริง. มิฉะนั้น เขาจะเสียชีวิตโดยน้ำมือผู้แก้แค้นโลหิต.
บทบาทสำคัญของพระเยซู
6. เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่า พระเยซูเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษยชาติ?
6 ในยิศราเอล ผู้แก้แค้นโลหิตคือญาติใกล้ชิดที่สุดของผู้ตาย. ที่จะแก้แค้นแทนคนทั้งปวงที่ถูกฆ่าบนแผ่นดินโลก และโดยเฉพาะผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่ถูกฆ่า ผู้แก้แค้นโลหิตสมัยปัจจุบันจึงต้องเป็นญาติของมวลมนุษย์. พระเยซูคริสต์ทรงรับบทบาทนี้. พระองค์ทรงกำเนิดเป็นมนุษย์สมบูรณ์. พระเยซูทรงสละชีวิตซึ่งปราศจากบาปเป็นเครื่องบูชาไถ่ และหลังจากพระองค์ได้รับการปลุกขึ้นจากตายและเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ได้เสนอคุณค่าแห่งค่าไถ่นั้นแด่พระเจ้า เพื่อประโยชน์ของลูกหลานของอาดามผู้ผิดบาปที่ต้องตาย. ดังนั้น พระคริสต์จึงได้มาเป็นผู้ไถ่ของมนุษย์ เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของเรา—ผู้แก้แค้นโลหิตโดยสิทธิอันถูกต้อง. (โรม 5:12; 6:23; เฮ็บราย 10:12) พระเยซูได้รับการระบุตัวเป็นพี่ชายของเหล่าผู้ถูกเจิมที่ติดตามรอยพระบาทพระองค์. (มัดธาย 25:40, 45; เฮ็บราย 2:11-17) ฐานะพระมหากษัตริย์ในสวรรค์ พระองค์มาเป็น “พระบิดาองค์ถาวร” ของคนเหล่านั้นที่จะรับประโยชน์จากเครื่องบูชาของพระองค์ฐานะเป็นพลเมืองทางแผ่นดินโลก. คนเหล่านั้นจะมีชีวิตตลอดไป. (ยะซายา 9:6, 7) ดังนั้น ด้วยความเหมาะสมยิ่ง พระยะโฮวาได้ทรงแต่งตั้งญาติใกล้ชิดองค์นี้ของมนุษย์เป็นผู้แก้แค้นโลหิต.
7. ในฐานะมหาปุโรหิตองค์เอก พระเยซูทรงทำอะไรเพื่อมวลมนุษย์?
7 อนึ่ง พระเยซูทรงเป็นมหาปุโรหิตที่ปราศจากบาป ถูกพิสูจน์ทดลองแล้ว, และทรงมีความเห็นอกเห็นใจ. (เฮ็บราย 4:15) ในฐานะเช่นนั้น พระองค์ทรงใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ. เมืองลี้ภัยถูกตั้งขึ้นตามเมืองต่าง ๆ เพื่อ “คนอิสราเอล และสำหรับคนต่างด้าว และสำหรับคนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางเขา.” (อาฤธโม 35:15, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น มหาปุโรหิตองค์เอกได้ทรงใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชาของพระองค์ไถ่สาวกผู้ถูกเจิม หรือ “คนอิสราเอล” ก่อน. มาบัดนี้ เครื่องบูชานี้กำลังถูกนำไปใช้สำหรับ “คนต่างด้าว” และ “คนที่อาศัยอยู่” ในเมืองลี้ภัยตัวจริง. “แกะอื่น” เหล่านี้ของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้ามีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลก.—โยฮัน 10:16; บทเพลงสรรเสริญ 37:29, 34.
เมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบัน
8. เมืองลี้ภัยตัวจริงได้แก่อะไร?
8 เมืองลี้ภัยตัวจริงคืออะไร? เมืองนี้หาใช่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์อย่างเฮ็บโรน ซึ่งเป็นหนึ่งในหกของเมืองลี้ภัยที่พวกเลวีอยู่และเป็นเมืองของมหาปุโรหิตแห่งยิศราเอล. เมืองลี้ภัยสมัยนี้เป็นการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อปกป้องพวกเราจากความตายเนื่องจากการล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระองค์ว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของโลหิต. (เยเนซิศ 9:6) ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ทุกคนซึ่งละเมิดพระบัญญัตินี้ต้องแสวงหาการอภัยโทษจากพระเจ้า และขอการยกบาปของตนโดยความเชื่อในพระโลหิตของพระเยซูคริสต์มหาปุโรหิต. คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่มีความหวังฝ่ายสวรรค์ และ “ชนฝูงใหญ่” ผู้มีความหวังฝ่ายแผ่นดินโลกต่างก็ได้ถือโอกาสรับผลประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่บาปของพระเยซู และอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริง.—วิวรณ์ 7:9, 14; 1 โยฮัน 1:7; 2:1, 2.
9. เซาโลแห่งเมืองตาระโซได้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องโลหิตอย่างไร แต่ท่านได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนทัศนะอย่างไร?
9 ก่อนอัครสาวกเปาโลได้เข้ามาเป็นคริสเตียน ท่านได้ละเมิดพระบัญญัติว่าด้วยโลหิต. เมื่อยังเป็นเซาโลแห่งเมืองตาระโซ ท่านได้ข่มเหงสาวกของพระเยซูและถึงกับเห็นดีเห็นชอบกับการสังหารพวกเขาด้วยซ้ำ. เปาโลกล่าวดังนี้: “ข้าพเจ้าได้รับพระกรุณา, เพราะว่าที่ข้าพเจ้าได้กระทำอย่างนั้นก็กระทำไปโดยความเขลาเพราะความไม่เชื่อ.” (1 ติโมเธียว 1:13; กิจการ 9:1-19) เซาโลมีท่าทีกลับใจ ซึ่งปรากฏให้เห็นเวลาต่อมาโดยการงานมากมายที่แสดงถึงความเชื่อ. แต่เพื่อจะเข้าไปยังเมืองลี้ภัยตัวจริง จำเป็นต้องมีมากกว่าการเชื่อเรื่องค่าไถ่.
10. เป็นไปได้อย่างไรที่จะได้มาซึ่งสติรู้สึกผิดชอบที่ดี และเพื่อธำรงสติรู้สึกผิดชอบที่ดีไว้จึงต้องทำประการใด?
10 ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาสามารถอยู่ในเมืองลี้ภัยของยิศราเอลเมืองหนึ่งเมืองใดได้ ก็ต่อเมื่อเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสติรู้สึกผิดชอบอันดีจำเพาะพระเจ้าเกี่ยวกับการทำให้โลหิตตก. ที่จะมีสติรู้สึกผิดชอบอันดี เราต้องสำแดงความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซู, กลับใจจากบาปของเรา, และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา. เราต้องขอสติรู้สึกผิดชอบอันดี ด้วยการอุทิศตัวแด่พระเจ้าในการอธิษฐานผ่านพระคริสต์ และแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. (1 เปโตร 3:20, 21) สติรู้สึกผิดชอบอันดีเช่นนี้เปิดโอกาสให้เรามีสัมพันธภาพที่สะอาดกับพระยะโฮวา. ทางเดียวที่จะธำรงไว้ซึ่งสติรู้สึกผิดชอบอันดีคือทำตามข้อเรียกร้องของพระเจ้า และปฏิบัติงานมอบหมายที่ให้เราทำในเมืองลี้ภัยตัวจริง เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมืองลี้ภัยสมัยโบราณต้องเชื่อฟังพระบัญญัติและทำงานตามที่รับมอบหมายให้สำเร็จ. งานหลักที่ไพร่พลของพระยะโฮวาสมัยนี้ต้องทำคืองานประกาศข่าวราชอาณาจักร. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) การทำงานนี้จะช่วยเราเป็นคนอยู่อาศัยที่ทำประโยชน์ในเมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบัน.
11. ถ้าเราจะคงอยู่อย่างปลอดภัยต่อไปในเมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบันเราจำต้องหลีกเลี่ยงสิ่งใด?
11 การออกไปจากเมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบันเท่ากับว่านำตัวเองออกไปประสบความหายนะ เพราะในไม่ช้าผู้แก้แค้นโลหิตจะปฏิบัติการต่อทุกคนที่มีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก. ยามนี้ไม่ใช่เวลาที่จะถูกจับได้ภายนอกเมืองคุ้มภัยแห่งนี้ หรืออยู่ในเขตอันตรายใกล้สุดเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์แห่งเมืองลี้ภัย. เราจะกลายเป็นว่าอยู่ภายนอกเมืองลี้ภัยตัวจริงหากเราสูญเสียความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่บาปของมหาปุโรหิต. (เฮ็บราย 2:1; 6:4-6) เราจะไม่ปลอดภัยเช่นกันถ้าเรายอมรับเอาวิถีทางแบบโลก หรือยืนอยู่สุดเส้นขอบขององค์การของพระยะโฮวา หรือหันเหไปจากมาตรฐานที่ชอบธรรมของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์.—1 โกรินโธ 4:4.
รับอิสรภาพออกจากเมืองลี้ภัย
12. ผู้ที่เคยมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกต้องอาศัยอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริงนานเท่าใด?
12 ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาในแผ่นดินยิศราเอลต้องอยู่ในเมืองลี้ภัย “จนปุโรหิตใหญ่ [“มหาปุโรหิต,” ล.ม.] ถึงแก่ความตาย.” (อาฤธโม 35:28, ฉบับแปลใหม่) ฉะนั้น ผู้ที่เคยมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกต้องอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริงนานเท่าไร? นานจนกระทั่งเขาไม่จำเป็นต้องมีพระเยซูคริสต์รับใช้เป็นมหาปุโรหิตอีกต่อไป. เปาโลบอกว่า “พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนทั้งปวงที่มาหาพระเจ้าทางพระองค์นั้นให้ได้รับความรอดโดยไม่มีอะไรขีดคั่น.” (เฮ็บราย 7:25) ตราบใดความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกยังมีอยู่ ความจำเป็นต้องมีมหาปุโรหิตปฏิบัติหน้าที่ก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น เพื่อว่ามนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์จะสามารถอยู่ในฐานะที่ดีกับพระเจ้าได้.
13. ใครคือ “คนอิสราเอล” สมัยปัจจุบัน และพวกเขาต้องอาศัยใน “เมืองลี้ภัย” นานแค่ไหน?
13 โปรดจำไว้ว่า การจัดตั้งเมืองลี้ภัยคราวโบราณนั้นสำหรับ “คนอิสราเอล,” คนต่างด้าว, และคนที่อาศัยอยู่ด้วย. “คนอิสราเอล” คือยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 6:16) พวกเขาต้องอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริงนานตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตบนแผ่นดินโลก. ทำไมล่ะ? เพราะพวกเขายังอยู่ในสภาพมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และดังนั้นจึงจำเป็นที่เขาต้องรับเอาคุณค่าการไถ่ของมหาปุโรหิตฝ่ายสวรรค์. แต่ครั้นคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้สิ้นชีวิตแล้วถูกปลุกขึ้นมาสู่ชีวิตสภาพวิญญาณในสวรรค์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องให้มหาปุโรหิตปฏิบัติหน้าที่ไถ่โทษอีกต่อไป เพราะเขาได้ละทิ้งร่างกายมนุษย์ตลอดไป อีกทั้งความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกที่ติดตัวเขา. จากแง่มุมของผู้ถูกเจิมซึ่งได้รับการปลุกขึ้นจากตาย มหาปุโรหิตจะสิ้นชีวิตในตำแหน่งที่ให้การคุ้มครองไถ่โทษ.
14. เหตุใดเวลานี้บรรดาผู้มีความหวังทางภาคสวรรค์ต้องอาศัยอยู่ในเมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบัน?
14 ยังมีเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์อีกอย่างหนึ่งว่า เหตุใดคนเหล่านั้นซึ่งจะ “เป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์” ในสวรรค์จึงต้องอยู่ต่อไปในเมืองลี้ภัยตัวจริงจนกระทั่งจบชีวิตของเขาอย่างซื่อสัตย์บนแผ่นดินโลกด้วยความตาย. เมื่อเขาตาย เขาจะสละความเป็นมนุษย์ตลอดไป. (โรม 8:17; วิวรณ์ 2:10, ล.ม.) เครื่องบูชาของพระเยซูนำมาใช้ได้เฉพาะกับคนเหล่านั้นที่มีสภาพเป็นมนุษย์. เหตุฉะนั้น มหาปุโรหิตสิ้นชีวิตจากแง่มุมของคนเหล่านั้นที่เป็นยิศราเอลฝ่ายวิญญาณเมื่อพวกเขาได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายเป็นกายวิญญาณซึ่งจะอยู่ตลอดไปในสวรรค์ในฐานะเป็น “ผู้มีส่วนในลักษณะของพระเจ้า.”—2 เปโตร 1:4, ล.ม.
15. ใครคือ “คนต่างด้าว” และ “คนที่อาศัยอยู่” สมัยปัจจุบัน และมหาปุโรหิตองค์เอกจะทรงทำอะไรเพื่อพวกเขา?
15 มหาปุโรหิตจะ “สิ้นชีวิต” เมื่อไร จากแง่มุมของ “คนต่างด้าว” และ “คนที่อาศัยอยู่” สมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เขาออกจากเมืองลี้ภัยตัวจริงได้? สมาชิกจำพวกชนฝูงใหญ่ไม่สามารถออกจากเมืองลี้ภัยนี้ทันทีภายหลังความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. ทำไมหรือ? เนื่องจากทางด้านร่างกาย เขายังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เป็นคนบาปและจึงยังต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของมหาปุโรหิตต่อไป. โดยที่พวกเขาฉวยเอาผลประโยชน์จากการรับใช้ของมหาปุโรหิตฐานะกษัตริย์และปุโรหิตระหว่างรัชสมัยพันปี พวกเขาจะบรรลุความเป็นมนุษย์สมบูรณ์. ครั้นแล้ว พระเยซูจะทรงมอบพวกเขาแด่พระเจ้า เพื่อทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคงของเขาครั้งสุดท้ายและเป็นขั้นเด็ดขาดตลอดไป โดยการปล่อยซาตานและปิศาจบริวารของมันออกมาชั่วระยะสั้น ๆ. เนื่องจากเขาผ่านการทดสอบอย่างเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า พระยะโฮวาจะทรงประกาศว่า เขาเป็นคนชอบธรรม. โดยวิธีนี้ เขาจะบรรลุความเป็นมนุษย์สมบูรณ์อย่างเต็มเปี่ยม.—1 โกรินโธ 15:28; วิวรณ์ 20:7-10, ล.ม.; ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1991 หน้า 12 วรรค 15, 16.
16. เมื่อไรที่ผู้รอดชีวิตผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรับใช้ไถ่โทษจากมหาปุโรหิตอีกต่อไป?
16 ดังนั้น บรรดาผู้รอดผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จึงต้องคงไว้ซึ่งสติรู้สึกผิดชอบที่ดี โดยการอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริงต่อไป กระทั่งสิ้นสมัยพันปีแห่งการครองราชย์ของพระคริสต์. ในฐานะเป็นมนุษย์ที่บรรลุความสมบูรณ์ เขาจะไม่จำเป็นต้องมีมหาปุโรหิตทำหน้าที่ไถ่โทษอีกต่อไป และเขาจะพ้นจากการอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระองค์. ตอนนั้นจากแง่มุมของพวกเขา พระเยซูจะสิ้นชีวิตฐานะมหาปุโรหิต เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่พระองค์จะปฏิบัติหน้าที่เผื่อเขาด้วยพระโลหิตแห่งเครื่องบูชาของพระองค์อันชำระบาปพวกเขา. ถึงคราวนั้น พวกเขาก็จะออกจากเมืองลี้ภัยตัวจริง.
17. เหตุใดคนเหล่านั้นซึ่งเป็นขึ้นจากตายระหว่างสมัยพันปีแห่งการครองราชย์ของพระคริสต์จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริงแล้วคงอยู่ที่นั่น?
17 คนเหล่านั้นที่รับการปลุกขึ้นจากตายระหว่างรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ต้องเข้าอยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริง และอยู่ที่นั่นจนสิ้นชีวิตมหาปุโรหิตไหม? ไม่เลย เพราะเมื่อเขาตาย เขาได้รับโทษสำหรับความผิดบาปของเขาแล้ว. (โรม 6:7; เฮ็บราย 9:27) ถึงกระนั้น มหาปุโรหิตจะสงเคราะห์เขาจนบรรลุความสมบูรณ์. ถ้าเขาผ่านการทดสอบขั้นสุดท้ายภายหลังยุคพันปีได้สำเร็จ พระเจ้าจะทรงประกาศให้เขาเป็นคนชอบธรรมเช่นกันพร้อมกับการรับรองเรื่องชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลก. แน่นอน การไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพระเจ้าย่อมนำไปสู่การพิพากษาลงโทษและความพินาศสำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบรอบสุดท้ายฐานะเป็นผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคง.
18. เกี่ยวเนื่องกับตำแหน่งของพระเยซูในฐานะเป็นกษัตริย์และปุโรหิต อะไรจะคงอยู่กับมนุษยชาติตลอดกาลนาน?
18 ในที่สุด มหาปุโรหิตชาวยิศราเอลก็สิ้นชีวิต. แต่พระเยซู “ทรงเป็นมหาปุโรหิตเป็นนิตย์ ตามอย่างมัลคีเซเด็ค.” (เฮ็บราย 6:19, 20; 7:3) ดังนั้น การที่พระเยซูไม่ปฏิบัติฐานะมหาปุโรหิตคนกลางเพื่อมนุษยชาติต่อไปนั้น หาใช่เป็นการจบชีวิตของพระองค์ไม่. ผลกระทบที่ดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ฐานะมหากษัตริย์และมหาปุโรหิตจะมีอยู่กับมนุษย์ตลอดกาล และมนุษย์จะเป็นหนี้บุญคุณพระองค์ตลอดไป เพราะพระองค์ได้ทรงรับใช้ในตำแหน่งเหล่านั้น. ยิ่งกว่านั้น พระเยซูจะทรงนำหน้าในการนมัสการอันบริสุทธิ์ตลอดนิรันดรกาลแด่พระยะโฮวา.—ฟิลิปปอย 2:5-11.
บทเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับพวกเรา
19. บทเรียนอะไรเกี่ยวกับความเกลียดชังและความรักสามารถเรียนรู้ได้จากการจัดเตรียมเกี่ยวกับเมืองลี้ภัย?
19 พวกเราสามารถเรียนรู้บทเรียนหลายอย่างจากการจัดเตรียมเกี่ยวด้วยเมืองลี้ภัย. ตัวอย่างเช่น ไม่มีผู้ใดที่ฆ่าคนด้วยความเกลียดชังจะได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในเมืองลี้ภัย. (อาฤธโม 35:20, 21) ฉะนั้น ใครก็ตามในเมืองลี้ภัยตัวจริงจะปล่อยให้ความเกลียดชังพี่น้องงอกรากในหัวใจของตนได้อย่างไร? อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็ย่อมเป็นผู้ฆ่าคน และท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า, ผู้ฆ่าคนไม่มีชีวิตนิรันดร์อยู่ในตัวเลย.” ดังนั้น ขอให้พวกเรา “รักกันและกันต่อ ๆ ไป, เพราะว่าความรักมาจากพระเจ้า.”—1 โยฮัน 3:15; 4:7, ล.ม.
20. เพื่อรับการคุ้มครองไว้จากผู้แก้แค้นโลหิต คนเหล่านั้นที่อาศัยในเมืองลี้ภัยตัวจริงต้องทำอะไร?
20 เพื่อจะรับการคุ้มครองพ้นจากผู้แก้แค้นโลหิต ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาต้องอยู่ในเมืองลี้ภัยและไม่เตร็ดเตร่เลยพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของเมืองนั้น. จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับพวกที่อยู่ในเมืองลี้ภัยตัวจริง? เพื่อจะปลอดภัยจากผู้แก้แค้นโลหิต เขาต้องไม่ออกไปจากเมืองนั้น. อันที่จริง เขาพึงต้องระวังตัวไม่ให้ถูกล่อใจไปอยู่ตรงสุดเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์โดยนัย. เขาต้องระแวดระวังไม่ปล่อยให้ความรักต่อโลกของซาตานพัฒนาขึ้นในหัวใจของตน. ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องมีการอธิษฐานและใช้ความพยายาม แต่ว่าชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับการทำเช่นนี้.—1 โยฮัน 2:15-17; 5:19.
21. งานอะไรที่มีรางวัลตอบแทนซึ่งบรรดาผู้ที่อยู่ในเมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบันกำลังกระทำอยู่?
21 ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาในเมืองลี้ภัยสมัยโบราณต้องเป็นคนงานที่เกิดผล. ในทำนองคล้ายกัน “คนอิสราเอล” ที่รับการเจิมได้วางตัวอย่างฐานะเป็นคนงานเก็บเกี่ยวและผู้ประกาศราชอาณาจักร. (มัดธาย 9:37, 38; มาระโก 13:10) ในฐานะ “คนต่างด้าว” และ “คนที่อาศัยอยู่” ในเมืองลี้ภัยสมัยปัจจุบัน คริสเตียนผู้มีความหวังทางแผ่นดินโลกได้รับสิทธิพิเศษให้ร่วมทำงานช่วยชีวิตกับพวกผู้ถูกเจิมซึ่งยังอยู่บนแผ่นดินโลก. และนี้คืองานที่ให้รางวัลตอบแทนอย่างแท้จริง! คนทำงานด้วยความซื่อสัตย์ในเมืองลี้ภัยตัวจริงจะหนีรอดความตายชั่วนิรันดร์พ้นมือผู้แก้แค้นโลหิตไปได้. แทนที่จะตาย เขาจะได้รับประโยชน์ยั่งยืนต่าง ๆ จากการรับใช้ของผู้ที่เป็นมหาปุโรหิตองค์เอกของพระเจ้า. คุณจะอยู่ในเมืองลี้ภัยและดำรงชีวิตตลอดไปไหม?
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนมากมายหลายพันล้านแห่งแผ่นดินโลกมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตก?
▫ พระเยซูคริสต์ทรงมีบทบาทอะไรบ้างเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ?
▫ เมืองลี้ภัยตัวจริงคืออะไร และคนเราเข้าไปในเมืองนั้นอย่างไร?
▫ ผู้คนจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเมืองลี้ภัยตัวจริงเมื่อไร?
▫ บทเรียนอะไรที่ทรงคุณค่าซึ่งเราอาจเรียนได้จากการจัดเตรียมเกี่ยวด้วยเมืองลี้ภัย?
[รูปภาพหน้า 16]
คุณทราบไหมว่า พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติบทบาทสำคัญอะไรได้ครบถ้วน?