ทุกคนต้องให้การต่อพระเจ้า
“เราแต่ละคนจะให้การต่อพระเจ้าด้วยตัวเอง.”—โรม 14:12, ล.ม.
1. มีการวางขีดจำกัดอะไรบ้างในเรื่องเสรีภาพของอาดามและฮาวา?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสร้างอาดามและฮาวา บิดามารดาแรกเดิมของเรา ให้เป็นบุคคลที่มีเจตจำนงเสรี. แม้ว่าพวกเขามีฐานะที่ต่ำกว่าทูตสวรรค์ แต่พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเชาวน์ปัญญาสามารถทำการตัดสินใจที่ฉลาดสุขุมได้. (บทเพลงสรรเสริญ 8:4, 5, ล.ม.) กระนั้น เสรีภาพที่พระเจ้าประทานนั้นไม่ใช่การอนุญาตให้ตัดสินชี้ขาดด้วยตนเองว่าอะไรถูกหรือผิด. พวกเขาต้องให้การต่อพระผู้สร้างของพวกเขา และพันธะที่ต้องให้การนี้ครอบคลุมถึงลูกหลานทุกคนของพวกเขา.
2. ในไม่ช้าพระยะโฮวาจะทรงคิดบัญชีอะไร และทำไม?
2 บัดนี้ขณะที่เรากำลังเข้าไปใกล้จุดสุดยอดของระบบชั่ว พระยะโฮวาจะทรงคิดบัญชีที่แผ่นดินโลก. (เทียบกับโรม 9:28, ฉบับแปลพระวจนะสำหรับยุคใหม่.) อีกไม่ช้า คนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าจะต้องให้การต่อพระยะโฮวาพระเจ้าสำหรับการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินโลกเสียหาย, การทำลายชีวิตมนุษย์, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดขี่ข่มเหงผู้รับใช้ของพระองค์.—วิวรณ์ 6:10; 11:18.
3. เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
3 เมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะมีมาซึ่งเป็นเรื่องที่เตือนสติเช่นนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ที่เราจะไตร่ตรองการจัดการด้วยความชอบธรรมของพระยะโฮวาต่อสิ่งทรงสร้างของพระองค์ในอดีต. พระคัมภีร์ช่วยเราเป็นส่วนตัวได้อย่างไรเพื่อให้การอย่างที่พระผู้สร้างของเราทรงยอมรับได้? ตัวอย่างอะไรบ้างที่อาจเป็นประโยชน์ และตัวอย่างใดที่เราควรหลีกเลี่ยงไม่เอาอย่าง?
ทูตสวรรค์ต้องให้การ
4. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงถือว่าพวกทูตสวรรค์ต้องรับผิดชอบสำหรับการกระทำของตน?
4 สิ่งมีชีวิตที่เป็นทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาในฟ้าสวรรค์ก็ต้องให้การต่อพระองค์เช่นเดียวกับพวกเรา. ก่อนน้ำท่วมในสมัยโนฮา ทูตสวรรค์บางองค์ที่ไม่เชื่อฟังได้แปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมีเพศสัมพันธ์กับพวกผู้หญิง. ฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งมีเจตจำนงเสรี สิ่งทรงสร้างที่เป็นกายวิญญาณเหล่านี้สามารถเลือกตัดสินใจเช่นนี้ แต่พระเจ้าทรงถือว่าพวกทูตสวรรค์เหล่านี้ต้องรับผิดชอบ. เมื่อพวกทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟังกลับสู่แดนวิญญาณ พระยะโฮวาไม่ทรงอนุญาตให้พวกนี้คืนสู่ฐานะเดิมอีก. สาวกยูดาบอกเราว่า พวกกายวิญญาณเหล่านี้ถูก “จองจำไว้ด้วยเครื่องพันธนาการอันถาวร ภายใต้ความมืดทึบสำหรับการพิพากษาแห่งวันใหญ่.”—ยูดา 6, ล.ม.
5. ซาตานและพวกผีบริวารของมันได้ประสบกับการตกต่ำลงเช่นไร และจะมีการคิดบัญชีแห่งการกบฏของพวกมันอย่างไร?
5 พวกทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟังเหล่านี้ คือพวกผีปิศาจ มีพญามารซาตานเป็นผู้ปกครอง. (มัดธาย 12:24-26) ทูตสวรรค์ชั่วองค์นี้กบฏต่อต้านพระผู้สร้างของตนและท้าทายสิทธิอันถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. ซาตานชักนำบิดามารดาแรกของเราเข้าสู่บาป และนี่นำเขาไปสู่ความตายตลอดกาล. (เยเนซิศ 3:1-7, 17-19) แม้ว่าพระยะโฮวาทรงปล่อยให้ซาตานเข้าเฝ้า ณ ราชบัลลังก์ในสวรรค์ได้อยู่ชั่วระยะหนึ่งหลังจากนั้น แต่คัมภีร์ไบเบิลที่พระธรรมวิวรณ์บอกล่วงหน้าว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาที่เหมาะสมของพระเจ้า เจ้าตัวชั่วร้ายจะถูกเหวี่ยงลงมายังบริเวณแผ่นดินโลกนี้. พยานหลักฐานชี้ว่า เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่พระเยซูคริสต์ได้รับอำนาจแห่งราชอาณาจักรในปี 1914. ในที่สุด พญามารและพวกผีบริวารของมันจะต้องประสบความพินาศตลอดไป. พร้อมด้วยประเด็นเรื่องพระบรมเดชานุภาพได้รับการสะสางในที่สุด ถึงตอนนั้นจะมีการคิดบัญชีแห่งการกบฏนั้นอย่างยุติธรรม.—โยบ 1:6-12; 2:1-7; วิวรณ์ 12:7-9; 20:10.
พระบุตรของพระเจ้าต้องให้การ
6. พระเยซูทรงมีทัศนะเช่นไรต่อการที่พระองค์ต้องให้การต่อพระบิดาของพระองค์?
6 ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีงามอะไรเช่นนี้ที่พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงวางไว้! ในฐานะเป็นมนุษย์สมบูรณ์เสมอกันกับอาดาม พระเยซูทรงยินดีที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า. พระองค์ทรงยินดีที่จะให้การในเรื่องการกระทำตามกฎหมายของพระยะโฮวาด้วย. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญพยากรณ์เกี่ยวกับพระองค์เอาไว้อย่างเหมาะเจาะดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัยของพระองค์; แท้จริงพระบัญญัติของพระองค์อยู่ในใจ [“ส่วนภายใน,” ล.ม.] ของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:8; เฮ็บราย 10:6-9.
7. ในคำอธิษฐานตอนกลางคืนก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เหตุใดพระเยซูสามารถตรัสดังที่บันทึกไว้ที่โยฮัน 17:4, 5?
7 แม้พระเยซูประสบการต่อต้านด้วยความเกลียดชัง พระองค์กระทำตามพระทัยของพระเจ้าและรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงจนกระทั่งวายพระชนม์ชีพบนหลักทรมาน. ด้วยวิธีนี้พระองค์ทรงชำระค่าไถ่เพื่อไถ่ถอนมนุษยชาติจากผลพวงแห่งบาปของอาดามซึ่งนำไปสู่ความตาย. (มัดธาย 20:28) ดังนั้น ในตอนกลางคืนก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูทรงสามารถอธิษฐานอย่างมั่นพระทัยว่า “ข้าพเจ้าได้ถวายเกียรติยศแก่พระองค์ในโลก, เพราะข้าพเจ้าได้กระทำการซึ่งพระองค์ทรงประทานให้ข้าพเจ้ากระทำนั้นสำเร็จแล้ว. เดี๋ยวนี้, พระบิดาเจ้าข้า, ขอโปรดให้ข้าพเจ้ามีเกียรติยศจำเพาะพระพักตร์พระองค์, คือเกียรติยศซึ่งข้าพเจ้าได้มีกับพระองค์ในกาลก่อนเมื่อโลกนี้ยังไม่มี.” (โยฮัน 17:4, 5) พระเยซูทรงสามารถตรัสคำเหล่านี้กับพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงผ่านการทดสอบในเรื่องการที่ต้องให้การและทรงได้รับการยอมรับจากพระเจ้า.
8. (ก) โดยวิธีใดเปาโลแสดงว่าเราต้องให้การสำหรับตัวเราเองต่อพระยะโฮวาพระเจ้า? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ได้รับการยอมรับจากพระเจ้า?
8 ไม่เหมือนกับพระเยซูคริสต์ที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์ เราเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. กระนั้น เราต้องให้การต่อพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลกล่าวดังนี้: “เหตุใดท่านพิพากษาพี่น้องของท่าน? หรือเหตุใดท่านดูถูกพี่น้องของท่าน? เพราะเราทุกคนจะยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์แห่งการพิพากษาของพระเจ้า; เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘พระยะโฮวาตรัสว่า “เรามีชีวิตอยู่แน่นอนฉันใด หัวเข่าทุกหัวเข่าจะต้องคุกลงต่อเรา และลิ้นทุกลิ้นจะยอมรับพระเจ้าอย่างเปิดเผย.”’ เหตุฉะนั้น เราแต่ละคนจะให้การต่อพระเจ้าด้วยตัวเอง.” (โรม 14:10-12, ล.ม.) เพื่อเราจะทำเช่นนั้นได้และได้รับการยอมรับจากพระยะโฮวา ด้วยความรัก พระองค์ทรงประทานทั้งสติรู้สึกผิดชอบและพระคำที่มีขึ้นด้วยการดลใจของพระองค์คือคัมภีร์ไบเบิลให้เรา เพื่อนำทางเราในคำพูดและการกระทำของเรา. (โรม 2:14, 15; 2 ติโมเธียว 3:16, 17) การรับเอาประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดเตรียมทางฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาและติดตามสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกอบรมตามคัมภีร์ไบเบิล จะช่วยเราได้รับการยอมรับจากพระเจ้า. (มัดธาย 24:45-47) พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา คือพลังปฏิบัติการ เป็นอีกแหล่งแห่งความเข้มแข็งและการนำทางที่เพิ่มเข้ามา. หากเราปฏิบัติสอดคล้องกับการชี้นำของพระวิญญาณและการนำทางของสติรู้สึกผิดชอบของเราที่ได้รับการอบรมจากคัมภีร์ไบเบิล นั่นแสดงว่า เราไม่ได้ “ปัดทิ้งพระเจ้า” ผู้ซึ่งเราต้องให้การสำหรับการกระทำทั้งสิ้นของเรา.—1 เธซะโลนิเก 4:3-8; 1 เปโตร 3:16, 21.
ต้องให้การฐานะชาติ
9. ชาวอะโดมเป็นใคร และอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขาเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติต่อยิศราเอล?
9 พระยะโฮวาทรงเรียกชาติต่าง ๆ มาให้การ. (ยิระมะยา 25:12-14; ซะฟันยา 3:6, 7) ขอให้พิจารณาอาณาจักรอะโดมโบราณซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลตายและอยู่ด้านเหนือของอ่าวอะคาบา. ชาวอะโดมเป็นชนชาติเซไมท์ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับชาวยิศราเอล. แม้ว่าบรรพบุรุษของชาวอะโดมได้แก่เอซาวหลานชายของอับราฮาม แต่พวกเขาไม่ยอมให้ชาวยิศราเอลเดินทางผ่านอะโดมไปตาม “ทางหลวง” ขณะที่เดินทางไปยังดินแดนแห่งคำสัญญา. (อาฤธโม 20:14-21) ตลอดหลายศตวรรษ ความเป็นปฏิปักษ์ของชาวอะโดมพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นความเกลียดชังต่อชนยิศราเอลอย่างที่ไม่มีทางญาติดีกันได้. ในที่สุด ชาวอะโดมก็ต้องให้การสำหรับการที่พวกเขากระตุ้นชาวบาบูโลนให้มาทำลายกรุงยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช. (บทเพลงสรรเสริญ 137:7) ในศตวรรษที่หก ก.ส.ศ. กองทัพบาบูโลนภายใต้การนำของกษัตริย์นะโบไนดัสมีชัยเหนืออะโดม และประเทศนี้ก็กลายเป็นที่ร้างเปล่า ดังที่พระยะโฮวาได้ประกาศิตไว้.—ยิระมะยา 49:20; โอบัดยา 9-11.
10. พวกโมอาบกระทำต่อชาวยิศราเอลอย่างไร และพระเจ้าทรงคิดบัญชีพวกโมอาบโดยวิธีใด?
10 ชะตากรรมของโมอาบก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน. อาณาจักรโมอาบอยู่ทางเหนือของอะโดมและทางตะวันออกของทะเลตาย. ก่อนที่พวกยิศราเอลเข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา พวกโมอาบไม่ได้แสดงความเอื้อเฟื้อต่อพวกเขาเลย โดยที่แม้ว่าดูเหมือนได้จัดหาขนมปังและน้ำให้พวกเขา แต่ก็เพียงเพื่อจะได้ผลประโยชน์ทางการเงิน. (พระบัญญัติ 23:3, 4) กษัตริย์บาลาคแห่งโมอาบจ้างผู้พยากรณ์บีละอามให้มาแช่งยิศราเอล และพวกผู้หญิงชาวโมอาบก็ล่อลวงพวกผู้ชายชาติยิศราเอลให้ทำผิดศีลธรรมและบูชารูปเคารพ. (อาฤธโม 22:2-8; 25:1-9) อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาไม่ปล่อยให้ความเกลียดชังของโมอาบต่อชาวยิศราเอลผ่านไปโดยไม่สังเกตสนใจ. ดังที่พยากรณ์ไว้ โมอาบประสบกับความร้างเปล่าด้วยน้ำมือของชาวบาบูโลน. (ยิระมะยา 9:25, 26; ซะฟันยา 2:8-11) ถูกแล้ว พระเจ้าทรงคิดบัญชีพวกโมอาบ.
11. โมอาบและอำโมนได้กลายเป็นเหมือนเมืองอะไร และคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้เช่นไรเกี่ยวกับระบบชั่วในปัจจุบันนี้?
11 ไม่เพียงแต่โมอาบเท่านั้นที่ต้องให้การต่อพระเจ้า แต่อำโมนด้วย. พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าดังนี้: “โมอาบจะเป็นเหมือนอย่างเมืองซะโดม, แลลูกชายทั้งหลายแห่งอำโมนจะเป็นเหมือนอย่างเมืองอะโมรา, คือเป็นที่ให้บังเกิดต้นหนามทั้งปวงแลบ่อน้ำเค็ม, แลเป็นที่ร้างเปล่าอยู่เนืองนิตย์.” (ซะฟันยา 2:9) ดินแดนโมอาบและอำโมนถูกล้างผลาญเหมือนที่พระเจ้าได้ทำลายเมืองซะโดมและกะโมรานั้นทีเดียว. ตามข้อมูลจากสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอน นักวิจัยอ้างว่าได้พบที่ตั้งของซากเมืองซะโดมและกะโมรา ณ ชายฝั่งตะวันออกของทะเลตาย. หลักฐานที่น่าเชื่อถือใดก็ตามที่อาจกระจ่างขึ้นมาอีกในเรื่องนี้ก็มีแต่จะสนับสนุนคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งระบุว่า พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงคิดบัญชีกับระบบชั่วในปัจจุบันนี้ด้วย.—2 เปโตร 3:6-12.
12. แม้ว่ายิศราเอลต้องให้การต่อพระเจ้าสำหรับบาปทั้งหลายของตน ได้มีการบอกล่วงหน้าอะไรเกี่ยวกับชนที่เหลือชาวยิว?
12 แม้ว่ายิศราเอลได้รับความโปรดปรานอย่างมากจากพระยะโฮวา ชาตินี้ก็ต้องให้การต่อพระเจ้าสำหรับบาปทั้งหลายของตน. เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมายังชาติยิศราเอล คนส่วนใหญ่ปฏิเสธพระองค์. เฉพาะกลุ่มชนที่เหลือเท่านั้นที่แสดงความเชื่อและได้มาเป็นผู้ติดตามของพระองค์. เปาโลใช้คำพยากรณ์บางข้อกับเหล่าชนที่เหลือชาวยิวนี้เมื่อท่านเขียนว่า “ท่านยะซายาได้ร้องกล่าวถึงพวกยิศราเอลว่า, ‘แม้พวกลูกยิศราเอลจะมากทวีขึ้นเหมือนเม็ดทรายที่ทะเล, ส่วนซึ่งจะรอดนั้นมีน้อย, ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงบันดาล [“พระยะโฮวาจะทรงคิดบัญชีที่แผ่นดินโลก,” ล.ม.] ให้การนั้นสำเร็จโดยเร็ว.’ และเหมือนท่านยะซายาได้กล่าวไว้ครั้งก่อนว่า, ‘นอกจากพระเจ้าแห่งพลโยธาได้ทรงโปรดให้เรามีเผ่าพันธุ์เหลืออยู่, เราทั้งหลายก็จะได้เป็นเหมือนเมืองซะโดมและเมืองอะโมราแล้ว.’” (โรม 9:27-29; ยะซายา 1:9; 10:22, 23) ท่านอัครสาวกอ้างถึงตัวอย่างของ 7,000 คนในสมัยของเอลียาซึ่งไม่ได้น้อมตัวลงกราบพระบาละ แล้วท่านก็ได้กล่าวต่อว่า “เช่นนั้นแหละบัดนี้ก็ยังมีพวกที่เหลืออยู่ตามที่พระเจ้าได้ทรงกรุณาเลือกไว้.” (โรม 11:5) ชนที่เหลือนั้นประกอบด้วยปัจเจกบุคคลที่ให้การเป็นส่วนตัวต่อพระเจ้า.
ตัวอย่างของพันธะที่ต้องให้การเป็นส่วนตัว
13. เกิดอะไรขึ้นกับคายินเมื่อพระเจ้าทรงเรียกเขามาให้การเนื่องจากได้ฆ่าเฮเบลน้องชายของเขา?
13 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอ้างถึงหลายกรณีที่คนเราต้องให้การเป็นส่วนตัวต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณากรณีของคายิน บุตรหัวปีของอาดาม. ทั้งตัวเขาเองและเฮเบลผู้เป็นน้องชายต่างก็ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. เครื่องบูชาของเฮเบลได้รับการยอมรับจากพระเจ้า แต่ของคายินไม่เป็นที่ยอมรับ. เมื่อถูกเรียกมาให้การสำหรับการฆ่าน้องชายอย่างโหดเหี้ยม คายินตอบอย่างขาดความกรุณาว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้เลี้ยงรักษาน้องหรือ?” เพราะเหตุบาปของเขา คายินถูกเนรเทศไปอยู่ที่ “เมืองโนค [“แดนลี้ภัย,” ล.ม.] ทิศตะวันออกแห่งสวนเอเดน.” เขาไม่ได้แสดงการกลับใจอย่างแท้จริงสำหรับอาชญากรรมที่เขาทำ เสียใจก็แต่ที่ถูกลงโทษซึ่งเขาสมควรได้รับอยู่แล้ว.—เยเนซิศ 4:3-16.
14. การที่คนเราต้องให้การเป็นส่วนตัวต่อพระเจ้าเห็นได้จากกรณีของมหาปุโรหิตเอลีและบุตรของเขาอย่างไร?
14 พันธะที่ต้องให้การเป็นส่วนตัวต่อพระเจ้ายังเห็นได้จากกรณีของเอลีมหาปุโรหิตของยิศราเอล. ฮฟนีและฟีนะฮาศบุตรชายของเขาทำหน้าที่เป็นปุโรหิตที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ พระวิหาร แต่ตามที่โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์กล่าว พวกเขา “มีความผิดฐานไม่ยุติธรรมต่อมนุษย์, ขาดความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้า, และไม่ได้ละเว้นจากความชั่วไม่ว่าจะชนิดใด.” “คนชั่วช้า” ทั้งสองคนนี้ไม่ได้ตระหนักถึงฐานะของพระยะโฮวา, หมกมุ่นในการประพฤติอันเป็นการลบหลู่สถานที่บริสุทธิ์, และมีความผิดฐานทำผิดศีลธรรมร้ายแรง. (1 ซามูเอล 1:3; 2:12-17, 22-25) ฐานะที่เป็นบิดาของพวกเขาและเป็นมหาปุโรหิตของชาติยิศราเอล เอลีมีหน้าที่ต้องอบรมสั่งสอนลูก ๆ แต่เขาเพียงแค่ดุว่าพวกเขาเล็กน้อยเท่านั้น. เอลี ‘นับถือบุตรของตนยิ่งกว่าพระยะโฮวา.’ (1 ซามูเอล 2:29) ผลแห่งการกระทำได้บังเกิดแก่ครอบครัวของเอลี. บุตรทั้งสองตายในวันเดียวกับผู้เป็นบิดาของเขา และในที่สุดการสืบต่อตำแหน่งปุโรหิตในเชื้อวงศ์ของพวกเขาก็ถูกตัดขาดลง. ด้วยวิธีนี้ เรื่องราวจึงได้รับการชำระสะสางเรียบร้อย.—1 ซามูเอล 3:13, 14; 4:11, 17, 18.
15. ทำไมโยนาธานราชบุตรของกษัตริย์ซาอูลได้รับบำเหน็จ?
15 ตัวอย่างที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงได้แก่ตัวอย่างที่โยนาธานราชโอรสของกษัตริย์ซาอูลได้วางไว้. ไม่นานหลังจากที่ดาวิดฆ่าฆาละยัธแล้ว “ดวงจิตต์โยนาธานก็ผูกสมัครรักใคร่กับดวงจิตต์ดาวิด” และเขาทั้งสองก็ได้ผูกไมตรีต่อกัน. (1 ซามูเอล 18:1, 3) โยนาธานคงหยั่งรู้เข้าใจว่าพระวิญญาณของพระเจ้าไม่ได้สถิตอยู่กับซาอูลอีกต่อไป แต่ความกระตือรือร้นของท่านเองเพื่อการนมัสการแท้ยังคงไม่เสื่อมคลาย. (1 ซามูเอล 16:14) ความหยั่งรู้ค่าของโยนาธานต่ออำนาจที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่ดาวิดไม่เคยสั่นคลอน. โยนาธานตระหนักถึงการที่ท่านต้องให้การต่อพระเจ้า และพระยะโฮวาทรงประทานบำเหน็จสำหรับแนวทางที่น่านับถือของท่าน โดยทรงรับรองว่าเชื้อวงศ์ของท่านจะคงอยู่ต่อไปอีกหลายชั่วอายุ.—1 โครนิกา 8:33-40.
พันธะต้องให้การในประชาคมคริสเตียน
16. ติโตเป็นใคร และทำไมจึงอาจพูดได้ว่าเขาได้ให้คำให้การที่ดีเกี่ยวกับตนเองต่อพระเจ้า?
16 พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกกล่าวในแง่ดีถึงชายหญิงหลายคนที่ได้ให้การด้วยความประพฤติที่ดีของตนเอง. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนชาวกรีกคนหนึ่งที่ชื่อติโต. มีผู้เสนอความเห็นว่า เขาได้เข้ามาเป็นคริสเตียนในช่วงที่เปาโลเดินทางรอบแรกในฐานะมิชชันนารีไปที่เกาะไซปรัส. เนื่องจากชาวยิวและผู้เข้ามาเชื่อถือใหม่จากไซปรัสอาจได้เคยมาที่กรุงยะรูซาเลมในช่วงวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 หลักการคริสเตียนอาจได้ไปถึงเกาะนี้ไม่นานหลังจากนั้น. (กิจการ 11:19) จะอย่างไรก็ตาม ติโตพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งของเปาโล. เขาร่วมไปด้วยกันกับเปาโลและบาระนาบาในการเดินทางไปยังกรุงยะรูซาเลมประมาณปี ส.ศ. 49 ในคราวที่ได้มีการตกลงกันในประเด็นสำคัญเรื่องการรับสุหนัต. ข้อเท็จจริงที่ว่าติโตไม่ได้รับสุหนัตนั้นเสริมน้ำหนักให้กับการอ้างเหตุผลของเปาโลที่ว่า คนต่างชาติที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนไม่ต้องอยู่ใต้พระบัญญัติของโมเซ. (ฆะลาเตีย 2:1-3) การรับใช้ที่ดีของติโตได้รับการยืนยันในพระคัมภีร์ และเปาโลถึงกับได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้เขียนจดหมายไปถึงท่าน. (2 โกรินโธ 7:6; ติโต 1:1-4) ดูเหมือนว่าติโตได้ดำเนินต่อไปในการให้การด้วยความประพฤติที่ดีของตนต่อพระเจ้าจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตทางแผ่นดินโลก.
17. ติโมเธียวให้คำให้การเช่นไร และตัวอย่างนี้อาจมีผลกระทบเราอย่างไร?
17 ติโมเธียวเป็นอีกคนหนึ่งที่กระตือรือร้นซึ่งได้ให้การเกี่ยวกับตนเองอย่างเป็นที่รับได้ต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. แม้ว่าติโมเธียวมีปัญหาสุขภาพบางประการ ท่านได้แสดง ‘ความเชื่อที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด’ และ ‘ทำงานเยี่ยงทาสร่วมกับเปาโลในการแพร่ขยายข่าวดี.’ ดังนั้น อัครสาวกเปาโลสามารถบอกเพื่อนคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยว่า “ข้าพเจ้าไม่มีผู้ใดที่มีน้ำใจเหมือนติโมเธียวนั้น, ซึ่งจะเอาใจใส่ในการงานของท่านทั้งหลายโดยแท้.” (2 ติโมเธียว 1:5, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:20, 22, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 5:23) เมื่อเผชิญกับข้ออ่อนแอของมนุษย์และการทดลองอื่น ๆ เราก็สามารถมีความเชื่อที่ไม่หน้าซื่อใจคดและให้การเกี่ยวกับตัวเราเองต่อพระเจ้าอย่างเป็นที่ยอมรับได้ด้วย.
18. ลุเดียเป็นใคร และเธอแสดงน้ำใจเช่นไร?
18 ลุเดียเป็นผู้หญิงที่เลื่อมใสในพระเจ้าคนหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดว่าได้ให้การด้วยความประพฤติที่ดีของตัวเธอเองต่อพระเจ้า. เธอและคนในครัวเรือนของเธอเป็นกลุ่มแรก ๆ ในยุโรปที่ตอบรับต่อศาสนาคริสเตียนอันเนื่องมาจากกิจการงานของเปาโลในเมืองฟิลิปปอยประมาณปี ส.ศ. 50. เดิมทีนั้นลุเดียเป็นชาวเมืองธุอาไตระซึ่งอาจเป็นได้ว่าเธอเป็นผู้ที่เปลี่ยนมาเชื่อถือศาสนายิว แต่อาจยังมีชาวยิวไม่มากนักและไม่มีธรรมศาลาในเมืองฟิลิปปอย. เธอและสตรีที่เลื่อมใสคนอื่น ๆ กำลังประชุมกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตอนที่เปาโลพูดกับพวกเขา. ผลคือลุเดียได้เข้ามาเป็นคริสเตียนและเชิญเปาโลและเพื่อน ๆ ของท่านจนพวกเขาขัดไม่ได้ต้องพักอยู่ที่บ้านเธอ. (กิจการ 16:12-15) น้ำใจต้อนรับแขกที่ลุเดียแสดงยังคงเป็นลักษณะเด่นของคริสเตียนแท้อยู่ตลอดมา.
19. ด้วยการดีอะไรที่โดระกาได้ให้คำให้การที่ดีเกี่ยวกับตัวเธอเองต่อพระเจ้า?
19 โดระกาเป็นหญิงอีกคนหนึ่งที่ให้การด้วยความประพฤติที่ดีของตัวเธอเองต่อพระยะโฮวาพระเจ้า. เมื่อเธอเสียชีวิต เปโตรได้ไปที่เมืองยบเปตามคำขอร้องของบรรดาสาวกที่อยู่ที่นั่น. ผู้ชายสองคนที่ไปรับเปโตรมา “พาท่านขึ้นไปในห้องชั้นบน และบรรดาหญิงม่ายที่ได้ยืนอยู่กับท่านพากันร้องไห้, และได้ชี้ให้ท่านดูเสื้อผ้าต่าง ๆ ซึ่งโดระกาได้ทำให้เขาเมื่อยังมีชีวิตอยู่.” โดระกาได้รับการปลุกให้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง. แต่เธอเป็นที่ระลึกถึงเนื่องด้วยน้ำใจโอบอ้อมอารีของเธอเพียงอย่างเดียวไหม? เปล่าเลย. เธอเป็น “ศิษย์” คนหนึ่งและก็แน่นอนว่าเธอเองได้เข้าส่วนร่วมในงานทำให้คนเป็นสาวกด้วย. สตรีคริสเตียนในทุกวันนี้ก็คล้ายกัน ‘เปี่ยมด้วยการดีและของประทานแห่งความเมตตา.’ พวกเขารู้สึกยินดีด้วยที่ได้ร่วมในกิจกรรมการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร และการทำให้คนเป็นสาวก.—กิจการ 9:36-42; มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
20. เราอาจถามตัวเองด้วยคำถามอะไร?
20 คัมภีร์ไบเบิลแสดงชัดเจนว่า ชาติต่าง ๆ และปัจเจกบุคคลต้องให้การต่อพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร. (ซะฟันยา 1:7) ถ้าเราได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้ว เราก็น่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันมีทัศนะเช่นไรต่อสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงประทานให้? คำให้การแบบไหนที่ฉันรายงานเกี่ยวกับตัวเองต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์?’
คุณจะตอบเช่นไร?
▫ คุณจะพิสูจน์อย่างไรว่าทูตสวรรค์และพระบุตรของพระเจ้าต้องให้การต่อพระยะโฮวา?
▫ มีตัวอย่างอะไรบ้างจากคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าพระเจ้าทรงถือว่าชาติต่าง ๆ ต้องให้การต่อพระองค์?
▫ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับการที่คนเราต้องให้การต่อพระเจ้าเป็นส่วนตัว?
▫ ปัจเจกบุคคลใดบ้างในประวัติบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลที่ได้ให้คำให้การที่ดีต่อพระยะโฮวาพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 10]
พระเยซูคริสต์ทรงให้คำให้การที่ดีเกี่ยวกับพระองค์เองต่อพระบิดาของพระองค์ที่อยู่ในสวรรค์
[รูปภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับโดระกา สตรีคริสเตียนในปัจจุบันให้คำให้การที่ดีเกี่ยวกับตัวเองต่อพระยะโฮวาพระเจ้า
[ที่มาของภาพหน้า 13]
The Death of Abel/The Doré Bible Illustrations/Dover Publications, Inc.