พวกเขาทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา
ดานิเอลรับใช้พระเจ้าอยู่เนืองนิตย์
การที่วิถีของประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปในชั่วคืนเดียวนั้นไม่ค่อยมีบ่อยนัก. ถึงกระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในปี 539 ก่อนสากลศักราช เมื่อจักรวรรดิบาบิโลเนียถูกชาวมีเดียและเปอร์เซียโค่นล้มในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น. เมื่อมาถึงปีนั้น ดานิเอลผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวามีชีวิตอยู่ในกรุงบาบูโลนฐานะเชลยชาวยิวเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว. ดานิเอลคงจะอายุ 90 กว่าปีขณะที่จวนจะเผชิญการทดลองความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าครั้งสำคัญที่สุด.
หลังความล่มจมของบาบูโลน เหตุการณ์ระยะแรกดูเหมือนดำเนินไปอย่างราบรื่นสำหรับดานิเอล. กษัตริย์องค์ใหม่คือดาระยาศชาวมีเดีย บุรุษวัย 62 ปีซึ่งทรงถือว่าดานิเอลเป็นที่โปรดปราน. ปฏิบัติการแรกของดาระยาศฐานะกษัตริย์คือ ทรงแต่งตั้งอุปราช 120 คน และเลื่อนตำแหน่งบุรุษสามคนขึ้นสู่ระดับข้าราชการชั้นสูง.a ดานิเอลเป็นหนึ่งในสามคนนั้นซึ่งเป็นที่โปรดปราน. เนื่องจากสังเกตเห็นศักยภาพอันเลิศล้ำของดานิเอล ดาระยาศถึงกับทรงมุ่งหมายจะประทานตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ท่านด้วยซ้ำ! อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นพอดีได้เกิดเรื่องขึ้นมาที่ทำให้แผนการของกษัตริย์เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน.
แผนการที่มีเล่ห์เหลี่ยม
ข้าราชการชั้นสูงเพื่อนร่วมงานของดานิเอล พร้อมกับอุปราชกลุ่มใหญ่ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์โดยมีแผนอุบาทว์. พวกเขาทูลอ้อนวอนดาระยาศให้ตรากฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขข้อหนึ่งว่า “ในสามสิบวันนี้ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดทูลขอต่อพระหรือมนุษย์ นอกเหนือพระองค์ ข้าแต่พระราชา ก็ให้โยนผู้นั้นลงในถ้ำสิงห์เสีย.” (ดานิเอล 6:7, ฉบับแปลใหม่) สำหรับดาระยาศแล้ว นั่นอาจดูเหมือนว่าคนเหล่านี้ได้แสดงอย่างเปิดเผยถึงความจงรักภักดีที่พวกเขามีต่อท่าน. ท่านอาจชักเหตุผลด้วยว่า กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านซึ่งเป็นคนต่างชาติ เพื่อช่วยเสริมตำแหน่งของท่านให้มั่นคงในฐานะประมุขของอาณาจักร.
อย่างไรก็ดี พวกข้าราชการชั้นสูงและอุปราชมิได้เสนอพระราชกฤษฎีกานี้เพื่อเห็นแก่กษัตริย์. พวกเขา “หามูลเหตุฟ้องดาเนียล [ดานิเอล] ในเรื่องเกี่ยวกับราชอาณาจักร แต่ก็หามูลเหตุหรือความผิดไม่ได้ เพราะท่านเป็นคนซื่อสัตย์จะหาความพลั้งพลาดหรือความผิดในท่านมิได้เลย.” ดังนั้น คนเจ้าเล่ห์เหล่านี้ได้อ้างเหตุผลว่า “เราจะหามูลเหตุฟ้องดาเนียลไม่ได้เลย นอกจากเราจะหาเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมบัญญัติแห่งพระเจ้าของเขา.” (ดานิเอล 6:4, 5, ฉบับแปลใหม่) เพราะรู้ว่าดานิเอลอธิษฐานถึงพระยะโฮวาทุกวัน พวกเขาจึงหาทางทำให้เรื่องนี้เป็นความผิดที่มีโทษประหารชีวิต.
บางทีพวกข้าราชการชั้นสูงและอุปราชมีความจงเกลียดจงชังต่อดานิเอลเนื่องจากท่าน “มีชื่อเสียงกว่า [พวกเขา] เพราะวิญญาณเลิศสถิตกับท่าน และพระราชาก็ทรงหมายพระทัยจะทรงแต่งตั้งท่านให้ครอบครองเหนือราชอาณาจักรนั้นทั้งหมด.” (ดานิเอล 6:3, ฉบับแปลใหม่) ความซื่อตรงของดานิเอลอาจก่อให้เกิดการขัดขวางที่พวกเขาไม่พึงประสงค์ต่อการทุจริตและการได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยมิชอบ. ไม่ว่าสภาพการณ์เป็นเช่นไรก็ตาม คนเหล่านี้ทำให้กษัตริย์หลงเชื่อแล้วลงพระนามในพระราชกฤษฎีกา ทำให้เป็นส่วนแห่ง “กฎหมายของคนมีเดียและคนเปอร์เซีย ซึ่งจะแก้ไขหาได้ไม่.”—ดานิเอล 6:8, 9, ฉบับแปลใหม่.
ดานิเอลยังคงมั่นคงแน่วแน่
หลังจากทราบเรื่องพระราชบัญญัติใหม่แล้ว ดานิเอลหยุดอธิษฐานถึงพระยะโฮวาไหม? เปล่าเลย! ท่านได้คุกเข่าลงที่ห้องชั้นบนในเรือนของท่าน แล้วอธิษฐานต่อพระเจ้าวันละสามครั้ง “ดังที่ท่านได้เคยกระทำมาแต่ก่อน.” (ดานิเอล 6:10, ฉบับแปลใหม่) ขณะที่ท่านอธิษฐานอยู่นั้น เหล่าศัตรู “ก็กรูกันเข้าไปและแลเห็นดานิเอลอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าของเขา.” (ดานิเอล 6:11) เมื่อพวกเขาทูลแนะกษัตริย์ให้เอาพระทัยใส่เรื่องนั้น ดาระยาศทรงโทมนัสที่กฎหมายซึ่งพระองค์ลงพระนามจะมีผลกระทบต่อดานิเอล. เรื่องราวบอกเราว่า “[พระองค์] ทรงตรึกตรองหาหนทางช่วยเขาจนอาทิตย์อัสดงคต.” ทว่าแม้แต่กษัตริย์ก็ไม่สามารถเพิกถอนกฎหมายที่พระองค์ทรงประกาศใช้. เพราะฉะนั้น ดานิเอลถูกพาไปยังถ้ำสิงโต ดูเหมือนเป็นสถานที่ลึกลงไปหรืออยู่ใต้ดิน. กษัตริย์ทรงรับรองกับดานิเอลว่า “พระเจ้าของเจ้าซึ่งเจ้าได้ปฏิบัติอยู่เนืองนิตย์นั้นคงจะช่วยเจ้าให้รอด.”—ดานิเอล 6:12-16.
ภายหลังบรรทมไม่หลับและอดพระกระยาหารตลอดคืน ดาระยาศรีบเสด็จไปยังถ้ำสิงโต. ดานิเอลยังมีชีวิตอยู่และไม่เป็นอันตราย! กษัตริย์ทรงตอบสนองโดยฉับพลัน. ท่านมีรับสั่งให้เอาเหล่าศัตรูของดานิเอลกับครอบครัวของเขาโยนลงไปในถ้ำสิงโตเพื่อลงอาญาเป็นการตอบแทน. ดาระยาศทรงประกาศตลอดทั่วอาณาจักรด้วยว่า “ให้คนทั้งหลายในทุกรัฐแห่งอาณาจักรของเรา . . . แสดงความเคารพยำเกรงต่อพระพักตร์พระเจ้าของดานิเอล.”—ดานิเอล 6:17-27.
บทเรียนสำหรับเรา
ดานิเอลเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความซื่อสัตย์. แม้แต่กษัตริย์ซึ่งมิได้นมัสการพระยะโฮวา ยังทรงสังเกตว่าดานิเอลรับใช้พระเจ้า “อยู่เนืองนิตย์.” (ดานิเอล 6:16, 20) คำอะราเมอิกที่เป็นรากศัพท์ซึ่งได้รับการแปลว่า “เนืองนิตย์” นั้นในขั้นพื้นฐานหมายถึง “เคลื่อนที่เป็นวงกลม.” นั่นบ่งชี้ถึงลักษณะต่อเนื่อง. คำนี้พรรณนาอย่างเหมาะสมสักเพียงไรถึงความซื่อสัตย์มั่นคงไม่แตกสลายของดานิเอลที่มีต่อพระยะโฮวา!
ดานิเอลได้พัฒนาแบบฉบับของการรับใช้พระเจ้าอยู่เนืองนิตย์เป็นเวลานานแล้วก่อนท่านถูกเหวี่ยงลงในถ้ำสิงโต. ฐานะเป็นเชลยหนุ่มในบาบูโลน ท่านปฏิเสธที่จะบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่พระบัญญัติของโมเซห้ามหรือที่เป็นมลทินเนื่องจากพิธีนอกรีต. (ดานิเอล 1:8) ต่อมา ท่านได้แถลงข่าวสารของพระเจ้าอย่างกล้าหาญแก่นะบูคัดเนซัรกษัตริย์แห่งบาบูโลน. (ดานิเอล 4:19-25) เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนความล่มจมของบาบูโลน ดานิเอลประกาศคำพิพากษาของพระเจ้าต่อกษัตริย์เบละซาซัรอย่างไม่หวั่นกลัว. (ดานิเอล 5:22-28) ดังนั้น เมื่อดานิเอลเผชิญกับถ้ำสิงโต ท่านยังคงดำเนินต่อไปในแนวทางซื่อสัตย์ที่ท่านได้ยึดมั่นมาตลอด.
คุณสามารถรับใช้พระยะโฮวาอยู่เนืองนิตย์ได้เช่นกัน. คุณเป็นเยาวชนไหม? ถ้าเช่นนั้น จงลงมือปฏิบัติขณะนี้เพื่อพัฒนาแบบฉบับของการรับใช้อยู่เนืองนิตย์โดยปฏิเสธการคบหาสมาคมที่ไม่ดีและความประพฤติที่เสื่อมทรามของโลกนี้. หากคุณได้รับใช้พระเจ้ามาชั่วระยะเวลาหนึ่ง จงรักษารูปแบบของความอดทนอย่างซื่อสัตย์ไว้. อย่าเลิกรา เพราะการทดลองแต่ละครั้งที่เราเผชิญทำให้เรามีโอกาสแสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่า เราตั้งใจรับใช้พระองค์อยู่เนืองนิตย์.—ฟิลิปปอย 4:11-13.
[เชิงอรรถ]
a คำ “อุปราช” (ตามตัวอักษรหมายถึง “ผู้พิทักษ์อาณาจักร”) พาดพิงถึงผู้สำเร็จราชการที่กษัตริย์เปอร์เซียทรงแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้ปกครองระดับหัวหน้าเหนือเขตที่อยู่ในอำนาจควบคุมของเขา. ในฐานะตัวแทนทางการของกษัตริย์ เขารับผิดชอบต่อการเก็บภาษีและส่งบรรณาการไปยังราชสำนัก.