ยะรูซาเลม—กรุงนี้อยู่ ‘เหนือความชื่นบานอันสูงสุดของท่าน’ ไหม?
“ขอให้ลิ้นของข้าพเจ้าเกาะติดเพดานปากของข้าพเจ้า . . . ถ้าว่าข้าพเจ้ามิได้ตั้งเยรูซาเล็มไว้เหนือความชื่นบานอันสูงที่สุดของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ [สดุดี] 137:6, ฉบับแปลใหม่.
1. เจตคติของผู้พลัดถิ่นชาวยิวหลายคนต่อกรุงที่พระเจ้าทรงเลือกเป็นเช่นไร?
เกือบเจ็ดทศวรรษได้ผ่านไปนับตั้งแต่ผู้พลัดถิ่นชาวยิวกลุ่มแรกได้กลับมาถึงกรุงยะรูซาเลมในปี 537 ก่อนสากลศักราช. พระวิหารของพระเจ้าได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่กรุงนี้ยังคงเป็นกองซากปรักหักพัง. คนชั่วอายุใหม่ได้เติบโตขึ้นมาในระหว่างช่วงเวลาที่ตกเป็นเชลยอยู่นั้น. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลายคนคงรู้สึกคล้ายกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งร้องดังนี้: “โอ้ยะรูซาเลมเอ๋ย, ถ้าข้าพเจ้าลืมท่าน, ก็ขอให้มือขวาของข้าพเจ้าลืมฝีมือเพลงเสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 137:5) บางคนไม่เพียงแต่ระลึกถึงกรุงยะรูซาเลม; เขาพิสูจน์ด้วยการกระทำว่ากรุงนี้อยู่ในตำแหน่งสูง “เหนือความชื่นบานอันสูงที่สุดของ [เขา].”—บทเพลงสรรเสริญ 137:6, ฉบับแปลใหม่.
2. เอษราเป็นใคร และท่านได้รับพระพรอย่างไร?
2 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาปุโรหิตเอษรา. แม้แต่ก่อนท่านกลับสู่มาตุภูมิ ด้วยใจแรงกล้าท่านได้ส่งเสริมผลประโยชน์ของการนมัสการบริสุทธิ์ในกรุงยะรูซาเลม. (เอษรา 7:6, 10) เอษราได้รับพระพรอย่างอุดมที่ได้ทำดังกล่าว. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงกระตุ้นหัวใจกษัตริย์แห่งเปอร์เซียให้อนุญาตเอษรารับสิทธิพิเศษในการนำผู้พลัดถิ่นกลุ่มที่สองกลับไปยังยะรูซาเลม. ยิ่งกว่านั้น กษัตริย์ยังได้ประทานทองและเงินจำนวนมากเพื่อใช้ “บำรุงตกแต่งโบสถ์วิหารของพระยะโฮวา.”—เอษรา 7:21-27.
3. นะเฮมยาแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างไรว่ากรุงยะรูซาเลมเป็นเรื่องหลักที่ท่านห่วงใย?
3 ประมาณ 12 ปีต่อมา มีชาวยิวอีกผู้หนึ่งซึ่งได้ลงมือกระทำอย่างเด็ดเดี่ยว คือนะเฮมยา. ท่านรับใช้ในราชวังแห่งเปอร์เซียที่กรุงซูซัร. ท่านอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรติและมีอิทธิพลโดยรับใช้เป็นพนักงานเชิญจอกเสวยของกษัตริย์อะระธาสัศธา แต่ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ “เหนือความชื่นบานอันสูงที่สุด” ของนะเฮมยา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไปบูรณะกรุงยะรูซาเลม. นะเฮมยาเพียรอธิษฐานในเรื่องนี้อยู่หลายเดือน และพระยะโฮวาพระเจ้าทรงอวยพระพรท่านที่ได้ทำดังนั้น. เมื่อทราบถึงเหตุแห่งความกังวลใจของนะเฮมยาแล้ว กษัตริย์เปอร์เซียได้แต่งกองทัพให้ท่านกองหนึ่งพร้อมกับหนังสือมอบอำนาจให้ท่านบูรณะกรุงยะรูซาเลมได้.—นะเฮมยา 1:1–2:9.
4. เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าการนมัสการพระยะโฮวาอยู่เหนือเหตุอื่นใดที่ทำให้เกิดความยินดีที่เราอาจมี?
4 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เอษรา, นะเฮมยา, และชาวยิวอีกหลายคนที่ร่วมมือกับท่านทั้งสองแสดงให้เห็นว่าการนมัสการพระยะโฮวาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ยะรูซาเลมนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ‘เหนือความชื่นบานอันสูงสุดของเขา’ ซึ่งก็คือเหนือกว่าสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เขาชื่นชมยินดี. บุคคลดังกล่าวช่างให้กำลังใจสักเพียงไรแก่ทุกคนในปัจจุบันที่มีทัศนะอย่างเดียวกันต่อพระยะโฮวา, ต่อการนมัสการพระองค์, และต่อองค์การที่นำโดยพระวิญญาณของพระองค์! เป็นจริงเช่นนั้นสำหรับคุณไหม? คุณแสดงให้เห็นด้วยความอดทนในการงานของพระเจ้าไหมว่า เหตุแห่งความยินดีสูงสุดของคุณได้แก่สิทธิพิเศษแห่งการนมัสการพระยะโฮวาร่วมกับไพร่พลที่อุทิศตัวแด่พระองค์? (2 เปโตร 3:11) เพื่อจะมีกำลังใจยิ่งขึ้นในการบรรลุเป้าหมายนั้น ให้เรามาพิจารณาผลดีต่าง ๆ ในการเดินทางของเอษราสู่กรุงยะรูซาเลม.
พระพรและความรับผิดชอบ
5. พระพรอันอุดมอะไรที่มีมายังประชากรแห่งยูดาในสมัยเอษรา?
5 กลุ่มผู้พลัดถิ่นประมาณ 6,000 คนที่เดินทางกลับพร้อมกับเอษราได้นำทองและเงินที่มีการบริจาคสำหรับพระวิหารของพระยะโฮวามาด้วย. ทองและเงินเหล่านี้มีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาทตามอัตราในปัจจุบัน. จำนวนเงินและทองที่นำมาในครั้งนี้มีมากกว่าเมื่อครั้งที่ผู้พลัดถิ่นกลุ่มแรกได้นำมาประมาณเจ็ดเท่า. พลเมืองแห่งยะรูซาเลมและยูดาคงต้องขอบพระคุณพระยะโฮวาสักเพียงไรที่ได้รับการสนับสนุนในด้านกำลังคนและกำลังทรัพย์ทั้งหมดนี้! แต่พระพรอันอุดมจากพระเจ้ามาพร้อมกับความรับผิดชอบด้วย.—ลูกา 12:48.
6. เอษราพบอะไรในมาตุภูมิ และท่านแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
6 ไม่นานนักเอษราก็พบว่าชาวยิวจำนวนมาก รวมทั้งปุโรหิตและผู้เฒ่าผู้แก่บางคนด้วย ได้ฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระเจ้าโดยรับเอาหญิงชาวนอกรีตมาเป็นภรรยา. (พระบัญญัติ 7:3, 4) เนื่องด้วยการล่วงละเมิดคำสัญญาไมตรีตามพระบัญญัติของพระเจ้าดังกล่าว ท่านจึงรู้สึกเป็นทุกข์ยิ่งนักซึ่งก็สมควรที่จะเป็นอย่างนั้น. “เมื่อข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังดังนั้น, ข้าพเจ้าได้ฉีกเสื้อและผ้าห่มเสีย, . . . และได้นั่งลงมีใจสะดุ้งหวาดหวั่นไหว.” (เอษรา 9:3) จากนั้น เอษราอธิษฐานอย่างสิ้นสุดหัวใจถึงพระยะโฮวาต่อหน้าชาวยิวที่กระสับกระส่ายซึ่งอยู่ที่นั่น. ตามที่ทุกคนได้ฟัง เอษราทบทวนถึงความไม่เชื่อฟังของชาติยิศราเอลในอดีตและคำเตือนของพระเจ้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าพวกเขาสมรสกับคนนอกรีตแห่งแผ่นดินนั้น. ท่านกล่าวในท้ายที่สุดว่า “โอ้พระยะโฮวา, พระเจ้าแห่งพวกยิศราเอล, พระองค์เป็นผู้ชอบธรรม: และถึงพวกข้าพเจ้าได้รอดพ้นเหลืออยู่บ้างทุกวันนี้: ดูเถิด, พวกข้าพเจ้าและความหลงผิดทั้งปวงของพวกข้าพเจ้านั้นอยู่ตรงพระพักตร์ของพระองค์: เหตุฉะนั้นพวกข้าพเจ้าจะแก้ตัวในการหลงผิดนี้ต่อพระพักตร์พระองค์ไม่ได้เลย.”—เอษรา 9:14, 15.
7. (ก) เอษราวางตัวอย่างที่ดีอะไรในการจัดการการทำผิด? (ข) ผู้ทำผิดในสมัยเอษรามีปฏิกิริยาอย่างไร?
7 เอษราใช้คำว่า “พวกข้าพเจ้า.” ใช่ ท่านรวมตัวท่านไว้ด้วยแม้ว่าท่านเองไม่ได้ทำผิด. ความทุกข์ใจอย่างยิ่งของเอษราพร้อมกับคำอธิษฐานด้วยใจถ่อมของท่านเข้าถึงใจประชาชนและกระตุ้นเขาให้ลงมือกระทำอย่างที่สมกับการกลับใจ. พวกเขาขันอาสาทำการแก้ไขที่เจ็บปวด โดยทุกคนที่ได้ฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระเจ้าจะส่งภรรยาชาวต่างชาติของตนกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน พร้อมกับลูก ๆ ที่เกิดจากภรรยาเหล่านั้นด้วย. เอษราเห็นด้วยกับมาตรการนี้และสนับสนุนผู้ทำผิดให้ลงมือทำตามนั้น. ด้วยอำนาจที่ได้รับจากกษัตริย์เปอร์เซีย เอษรามีสิทธิจะลงโทษทุกคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือขับไล่ออกจากกรุงยะรูซาเลมและอาณาจักรยูดา. (เอษรา 7:12, 26) แต่ดูเหมือนท่านไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจสิทธิ์ขาดนั้น. “ฝูงคนทั้งปวง” กล่าวว่า “ท่านว่าอย่างไรข้าพเจ้าทั้งหลายจำเป็นจะต้องทำตาม.” นอกจากนั้น พวกเขารับสารภาพว่า “[พวกเรา] ที่หลงผิดในข้อนี้มีเป็นอันมาก.” (เอษรา 10:11-13) เอษราบท 10 บันทึกรายชื่อชาย 111 คนที่ปฏิบัติตามการตัดสินนี้โดยส่งภรรยาชาวต่างชาติและบุตรที่เกิดจากภรรยาเหล่านี้กลับไป.
8. เหตุใดการจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยการส่งภรรยาชาวต่างชาติกลับเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์สำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้น?
8 การกระทำนี้ไม่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของชาวยิศราเอลเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งมวลด้วย. หากไม่มีการทำอะไรเพื่อแก้ไขในเรื่องนี้ ชาวยิศราเอลอาจถูกกลืนชาติเข้ากับชาติที่อยู่ล้อมรอบ. หากเป็นเช่นนั้น เชื้อสายที่จะสืบต่อจนถึงพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาเพื่อเป็นพระพรสำหรับมนุษยชาติทั้งมวลก็จะไม่บริสุทธิ์. (เยเนซิศ 3:15; 22:18) คงยากที่จะระบุตัวพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาว่าเป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์ดาวิดแห่งตระกูลยูดาหรือไม่. ประมาณ 12 ปีต่อมา ได้มีการให้ความเอาใจใส่ต่อเรื่องสำคัญนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อ “บรรดาพงศ์พันธุ์ยิศราเอล . . . ได้แยกออกต่างหากจากคนต่างประเทศ.”—นะเฮมยา 9:1, 2; 10:29, 30.
9. คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่ดีอะไรแก่คริสเตียนที่สมรสกับผู้ไม่มีความเชื่อ?
9 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? เอาละ คริสเตียนไม่อยู่ใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. (2 โกรินโธ 3:14) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาเชื่อฟัง “พระบัญญัติของพระคริสต์.” (ฆะลาเตีย 6:2) ฉะนั้น คริสเตียนที่ได้สมรสกับผู้ไม่เชื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ถ้าพี่น้องคนใดมีภรรยาไม่เชื่อถือพระคริสต์, และนางพอใจอยู่กับสามี, อย่าให้สามีทิ้งนางนั้นเลย.” (1 โกรินโธ 7:12) นอกจากนั้น คริสเตียนที่สมรสกับผู้ไม่เชื่อมีพันธะตามหลักพระคัมภีร์ที่จะพยายามทำให้ชีวิตสมรสของเขาประสบความสำเร็จ. (1 เปโตร 3:1, 2) การเชื่อฟังคำแนะนำที่ดีนี้บ่อยครั้งยังผลเป็นพระพรโดยคู่สมรสที่ไม่เชื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนะของเขาที่มีต่อการนมัสการแท้. บางคนได้เข้ามารับบัพติสมาและกลายเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์เสียด้วยซ้ำ.—1 โกรินโธ 7:16.
10. คริสเตียนอาจได้บทเรียนอะไรจากชายชาวยิศราเอล 111 คนที่ส่งภรรยาชาวต่างชาติกลับ?
10 ถึงกระนั้น กรณีที่ชาวยิศราเอลส่งภรรยาชาวต่างชาติกลับไปนับว่าให้บทเรียนที่ดีทีเดียวสำหรับคริสเตียนโสด. เขาไม่ควรริเริ่มติดต่อฝากรักกับผู้ไม่มีความเชื่อ. การหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์เช่นนั้นอาจยากหรือแม้แต่เจ็บปวดด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อจะได้รับพระพรอันต่อเนื่องของพระเจ้า. คริสเตียนได้รับพระบัญชาดังนี้: “อย่าเข้าเทียมแอกด้วยกันกับคนที่ไม่เชื่อ.” (2 โกรินโธ 6:14) คริสเตียนโสดคนใดก็ตามที่ปรารถนาจะสมรสควรวางแผนว่าจะสมรสกับเพื่อนคริสเตียนที่มีความเชื่อแท้.—1 โกรินโธ 7:39.
11. เช่นเดียวกับผู้ชายชาวยิศราเอล เราอาจถูกทดสอบอย่างไรในเรื่องเหตุแห่งความยินดี?
11 นอกจากนี้ คริสเตียนได้ทำการปรับเปลี่ยนในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายอย่างด้วยเมื่อได้มีการเตือนว่าเขากำลังมุ่งไปในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. (ฆะลาเตีย 6:1) เป็นครั้งคราว วารสารนี้ได้ระบุการประพฤติที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ประพฤติตัวเช่นนั้นขาดคุณสมบัติที่จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์การของพระเจ้าต่อ ๆ ไป. ตัวอย่างเช่น ในปี 1973 ไพร่พลของพระยะโฮวาได้มาเข้าใจอย่างเต็มที่ว่าการใช้ยาเสพย์ติดและยาสูบเป็นบาปร้ายแรง. เพื่อติดตามแนวทางที่เลื่อมใสพระเจ้า เราต้อง “ชำระตัวของเราให้ปราศจากมลทินทุกอย่างแห่งเนื้อหนังและวิญญาณจิตต์.” (2 โกรินโธ 7:1) คริสเตียนจำนวนมากน้อมใจรับเอาคำแนะนำตามหลักคัมภีร์ไบเบิลข้อนี้; พวกเขาเต็มใจทนรับความลำบากเนื่องด้วยอาการถอนยาในระยะแรกเพื่อรักษาตัวเป็นส่วนของไพร่พลที่สะอาดของพระเจ้า. นอกจากนี้ ยังได้มีการให้คำแนะนำที่ชัดเจนตามหลักพระคัมภีร์เกี่ยวด้วยเรื่องเพศ, การแต่งกาย, การประดับตัว, ตลอดจนการเลือกงาน, ความบันเทิง, และดนตรี อย่างฉลาดสุขุม. ไม่ว่าจะมีการเรียกให้เราสนใจหลักการตามหลักพระคัมภีร์ในเรื่องใดก็ตาม ขอให้เราอยู่พร้อมที่จะ “รับการปรับเข้าที่” เช่นเดียวกับชายชาวยิศราเอล 111 คนนั้น. (2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.) การอยู่พร้อมเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าสิทธิพิเศษแห่งการนมัสการพระยะโฮวาร่วมกับไพร่พลบริสุทธิ์ของพระองค์นั้นอยู่ ‘เหนือความชื่นบานอันสูงสุดของเรา.’
12. เกิดอะไรขึ้นในปี 455 ก.ส.ศ.?
12 หลังจากรายงานกรณีที่เกี่ยวข้องกับภรรยาชาวต่างชาตินี้แล้ว คัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ได้บอกเราอีกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงยะรูซาเลมในช่วง 12 ปีถัดจากนั้น. ไม่ต้องสงสัยว่า เพื่อนบ้านของยิศราเอลคงมีความเป็นปฏิปักษ์มากขึ้นอันเนื่องมาจากการล้มเลิกสัมพันธไมตรีทางสายสมรสจำนวนมาก. ในปี 455 ก.ส.ศ. นะเฮมยามาถึงกรุงยะรูซาเลมพร้อมกับกองทหารคุ้มกัน. ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งยูดา และได้นำหนังสือจากกษัตริย์เปอร์เซียมาด้วยซึ่งมอบอำนาจให้ท่านบูรณะกรุงนี้ได้.—นะเฮมยา 2:9, 10; 5:14.
การต่อต้านจากชาติแวดล้อมที่อิจฉา
13. ชาติแวดล้อมที่ปฏิบัติศาสนาเท็จแสดงเจตคติเช่นไร และนะเฮมยามีปฏิกิริยาอย่างไร?
13 ชาติแวดล้อมที่ปฏิบัติศาสนาเท็จต่อต้านวัตถุประสงค์แห่งการมาของนะเฮมยา. พวกผู้นำของชาติเหล่านี้ขู่ท่านโดยถามว่า “จะคิดการกบฏต่อกษัตริย์หรือ?” โดยแสดงความเชื่อในพระยะโฮวา นะเฮมยาตอบดังนี้: “พระองค์ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์, พอพระทัยจะโปรดช่วยพวกข้าพเจ้าแล้ว; เหตุฉะนั้นพวกข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ทาสของพระองค์จะพากันสร้างเมืองขึ้น: แต่พวกเจ้าไม่มีส่วนด้วย; หรือเกี่ยวข้อง, หรือเป็นที่ระลึกในกรุงยะรูซาเลมเลย.” (นะเฮมยา 2:19, 20) เมื่อเริ่มการซ่อมแซมกำแพงเมือง พวกศัตรูดังกล่าวก็เย้ยหยันว่า ‘พวกยิวที่อ่อนแอกำลังทำอะไรกัน? เขาจะกู้เอาหินจากกองขยะมาใช้อีกหรือ? ถ้ามีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไป มันก็จะทำให้กำแพงหินของเขาพังทลายลงมาเป็นแน่แท้.’ แทนที่จะปะทะคารมกับคนเหล่านี้ นะเฮมยาอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอทรงฟัง เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นที่ดูถูกดูหมิ่น ขอทรงหันการเยาะเย้ยของเขาให้ตกบนศีรษะของเขาเอง.” (นะเฮมยา 4:2-4, ฉบับแปลใหม่) นะเฮมยาวางตัวอย่างที่ดีในการไว้วางใจพระยะโฮวาอยู่เสมอ!—นะเฮมยา 6:14; 13:14.
14, 15. (ก) นะเฮมยาจัดการอย่างไรต่อคำขู่จะใช้ความรุนแรงของศัตรู? (ข) พยานพระยะโฮวาสามารถทำงานก่อสร้างฝ่ายวิญญาณของตนต่อ ๆ ไปได้อย่างไรแม้เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง?
14 เพื่อทำหน้าที่มอบหมายสำคัญในการประกาศให้สำเร็จ พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็ไว้วางใจพระเจ้าเช่นเดียวกัน. ผู้ต่อต้านพยายามขัดขวางงานนี้โดยการเยาะเย้ย. บางครั้ง มีบางคนที่สนใจข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรละเลิกเสียเพราะเขาไม่อาจทนการเยาะเย้ยได้. หากการเยาะเย้ยไม่เป็นผล ผู้ต่อต้านก็อาจโกรธแค้นและหันไปใช้วิธีคุกคามโดยใช้ความรุนแรง. นี่คือสิ่งที่ผู้สร้างกำแพงกรุงยะรูซาเลมประสบ. แต่นะเฮมยาไม่ยอมขลาดกลัว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านจัดหาอาวุธให้ช่างก่อสร้างใช้ป้องกันตัวจากการโจมตีของข้าศึกและเสริมความเชื่อของเขาโดยกล่าวว่า “อย่ากลัวเขาเลย: จงระลึกถึงพระยะโฮวาผู้ทรงฤทธาอันเป็นที่น่ากลัว, และจงสู้รบป้องกันญาติพี่น้อง, บุตรชาย, บุตรหญิง, ภรรยา, และบ้านเรือนของตนเถิด.”—นะเฮมยา 4:13, 14.
15 เช่นเดียวกับในสมัยนะเฮมยา พยานพระยะโฮวาได้รับการเตรียมไว้เป็นอย่างดีให้ทำงานก่อสร้างทางฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไปแม้เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้จัดให้มีอาหารฝ่ายวิญญาณที่เสริมความเชื่อ ซึ่งทำให้ไพร่พลพระเจ้าเกิดผลแม้แต่ในเขตที่งานถูกสั่งห้าม. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ผลก็คือ พระยะโฮวาได้ทรงอวยพระพรแก่ไพร่พลของพระองค์ต่อไปด้วยการเพิ่มทวีตลอดทั่วโลก.—ยะซายา 60:22.
ปัญหาภายใน
16. มีอะไรที่เป็นปัญหาภายในซึ่งคุกคามน้ำใจของช่างก่อสร้างกำแพงกรุงยะรูซาเลม?
16 ขณะที่งานบูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลมก้าวหน้าไปและกำแพงสูงขึ้น งานก็เริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ. นั่นเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมองเห็นปัญหาอย่างหนึ่งได้ชัดเจนว่าคุกคามน้ำใจของช่างก่อสร้างที่ต้องดิ้นรนต่อสู้. เนื่องจากการขาดแคลนอาหาร ชาวยิวบางคนประสบความลำบากในการหาเลี้ยงครอบครัวและจ่ายภาษีแก่รัฐบาลเปอร์เซีย. ชาวยิวที่มั่งคั่งให้พวกเขากู้ยืมอาหารและเงิน. อย่างไรก็ตาม ชาวยิวที่ยากจนต้องเอาที่ดินและบุตรจำนองไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าเขาจะจ่ายคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งการทำเช่นนี้ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า. (เอ็กโซโด 22:25; เลวีติโก 25:35-37; นะเฮมยา 4:6, 10; 5:1-5) ตอนนี้เจ้าหนี้ขู่จะยึดที่ดินและบังคับให้เขาขายบุตรเป็นทาส. นะเฮมยารู้สึกโกรธมากทีเดียวต่อเจตคติแบบวัตถุนิยมและปราศจากความรักเช่นนี้. ท่านลงมืออย่างไม่รอช้าเพื่อทำให้แน่ใจว่าพระพรของพระยะโฮวาจะเทลงเหนืองานบูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลมต่อ ๆ ไป.
17. นะเฮมยาทำอะไรเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับพระพรอันต่อเนื่องจากพระยะโฮวาในการสร้าง และผลเป็นเช่นไร?
17 ได้มีการจัด “ให้คนทั้งปวงประชุมกัน” และนะเฮมยาแสดงให้ชาวยิศราเอลที่ร่ำรวยเห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เขาทำไม่เป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา. จากนั้น ท่านวิงวอนผู้กระทำผิดซึ่งก็รวมถึงปุโรหิตบางคนด้วยให้คืนดอกเบี้ยทั้งหมดที่เขาเรียกเอามาและคืนที่ดินที่เขาได้ยึดเอาไว้อย่างผิดกฎหมายจากคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าดอกเบี้ย. น่าชมเชย คนที่ทำผิดกล่าวอย่างนี้: “เราทั้งหลายจะคืนให้เขา, จะไม่เรียกเอาแต่เขาต่อไป; จะกระทำตามท่านว่านั้นทุกประการ.” นี่ไม่ใช่คำพูดลอย ๆ เพราะคัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “คนทั้งปวงก็ได้กระทำตามคำสัญญา [ที่ให้ไว้กับนะเฮมยา].” และบรรดาคนที่ชุมนุมกันก็ได้ร้องสรรเสริญพระยะโฮวา.—นะเฮมยา 5:7-13.
18. พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันว่ามีเจตคติเช่นไร?
18 สมัยของเราล่ะเป็นเช่นไร? ตรงกันข้ามกับการเป็นคนขูดรีด พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมความเชื่อและผู้อื่นที่ประสบความทุกข์เดือดร้อน. เช่นเดียวกับในสมัยนะเฮมยา เรื่องนี้ยังผลเป็นคำสรรเสริญด้วยความหยั่งรู้ค่าอย่างมากมายต่อพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ก็พบว่าจำเป็นต้องให้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ในเรื่องธุรกิจและความจำเป็นที่ต้องหลีกเลี่ยงการแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นด้วยความโลภ. ในบางประเทศ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเรียกสินสอดแพงลิบลิ่ว แต่คัมภีร์ไบเบิลเตือนอย่างชัดเจนว่าคนโลภและคนกรรโชกจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. (1 โกรินโธ 6:9, 10, ล.ม.) การที่คริสเตียนส่วนใหญ่ตอบรับคำแนะนำเช่นนั้นทำให้คิดไปถึงวิธีที่ชาวยิวเหล่านั้นมองเห็นความผิดของการที่เขาแสวงหาประโยชน์จากพี่น้องของตนที่ยากจน.
กำแพงกรุงยะรูซาเลมเสร็จสมบูรณ์
19, 20. (ก) การสร้างกำแพงกรุงยะรูซาเลมเสร็จสมบูรณ์มีผลเช่นไรต่อผู้ต่อต้านทางศาสนา? (ข) พยานพระยะโฮวาได้ประสบชัยชนะเช่นไรในหลายดินแดน?
19 แม้มีการต่อต้านมากมายดังกล่าว กำแพงกรุงยะรูซาเลมก็เสร็จเรียบร้อยใน 52 วัน. เรื่องนี้มีผลเช่นไรต่อพวกผู้ต่อต้าน? นะเฮมยากล่าวดังนี้: “ครั้นศัตรูทั้งหลายได้ยิน, และคนต่างประเทศที่อยู่ล้อมรอบนั้นได้เห็นก็พากันวิตก: ต่างคนต่างมีหน้าตาเศร้าสลด, ด้วยว่าเขารู้ว่าการนี้เป็นมาแต่พระเจ้า.”—นะเฮมยา 6:16.
20 ในทุกวันนี้ การต่อต้านของศัตรูที่มีต่อการงานของพระเจ้าก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในหลายแห่งและด้วยวิธีการหลากหลาย. อย่างไรก็ตาม ผู้คนหลายล้านได้เห็นแล้วว่าการต่อต้านพยานพระยะโฮวานั้นเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาดูความพยายามในอดีตที่มุ่งหมายจะยุติงานประกาศในเยอรมนีสมัยนาซี, ยุโรปตะวันออก, และหลายประเทศในแอฟริกา. ความพยายามเหล่านั้นทั้งหมดล้มเหลว และหลายคนในเวลานี้ยอมรับว่า ‘งานที่เราทำนั้นเป็นมาแต่พระเจ้า.’ เรื่องนี้ช่างเป็นบำเหน็จอย่างแท้จริงสำหรับผู้สูงอายุที่ซื่อสัตย์หลายคนที่ได้ทำให้การนมัสการพระยะโฮวาอยู่ ‘เหนือความชื่นบานอันสูงสุด’ ในประเทศเหล่านี้!
21. เหตุการณ์สำคัญ ๆ อะไรที่จะพิจารณาในบทความถัดไป?
21 ในบทความถัดไป เราจะทบทวนเหตุการณ์สำคัญ ๆ ซึ่งนำไปสู่การเฉลิมฉลองกำแพงกรุงยะรูซาเลมที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยความยินดี. นอกจากนี้ เราจะพิจารณาด้วยถึงความสำเร็จครบถ้วนของเมืองที่ใหญ่ยิ่งกว่าว่าใกล้เข้ามาอย่างไรเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งสิ้น.
คุณจำได้ไหม?
▫ เอษราและคนอื่น ๆ แสดงความยินดีเนื่องด้วยกรุงยะรูซาเลมอย่างไร?
▫ เอษราและนะเฮมยาช่วยชาวยิวหลายคนให้แก้ไขข้อผิดพลาดอะไร?
▫ คุณได้บทเรียนอะไรจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเอษราและนะเฮมยา?
[รูปภาพหน้า 15]
ยะรูซาเลมคือจุดที่นะเฮมยาเป็นห่วงสนใจ ไม่ใช่หน้าที่การงานที่มีเกียรติ ณ วังซูซัร
[รูปภาพหน้า 17]
เช่นเดียวกับนะเฮมยา เราต้องอธิษฐานขอการชี้นำและความเข้มแข็งจากพระยะโฮวาเพื่อทำงานมอบหมายสำคัญยิ่งในการประกาศต่อ ๆ ไป