การดำเนินกับพระเจ้า—ในขั้นแรก ๆ
“จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.”—ยาโกโบ 4:8, ล.ม.
1, 2. เหตุใดคุณจึงกล่าวว่าเป็นสิทธิพิเศษใหญ่หลวงที่จะรับใช้พระยะโฮวา?
ชายผู้นี้ติดคุกมาหลายปี. แต่แล้วเขาก็ถูกเรียกตัวให้ไปปรากฏต่อหน้าผู้ปกครองประเทศ. เหตุการณ์ผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว. โดยกะทันหัน นักโทษผู้นั้นก็พบว่าเขาได้กลายเป็นข้าราชสำนักแห่งพระราชาที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกเวลานั้นไปแล้ว. อดีตนักโทษผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีความรับผิดชอบใหญ่หลวงและมีเกียรติเป็นพิเศษ. โยเซฟ ชายซึ่งครั้งหนึ่งข้อเท้าเขาถูกตีตรวน บัดนี้ได้ดำเนินไปกับองค์กษัตริย์!—เยเนซิศ 41:14, 39-43; บทเพลงสรรเสริญ 105:17, 18.
2 ทุกวันนี้ มนุษย์มีโอกาสที่จะได้มีส่วนในการรับใช้ผู้หนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่กว่าฟาโรห์แห่งอียิปต์มาก. องค์ใหญ่ยิ่งสูงสุดแห่งเอกภพทรงเชิญเราทุกคนให้รับใช้พระองค์. ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันน่าเกรงขามสักเพียงไรที่จะรับใช้พระองค์และปลูกฝังสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ! พระคัมภีร์เผยให้เห็นว่าอานุภาพอันสูงส่งและความรุ่งโรจน์ตลอดจนความสงบ, ความงดงาม, และความเบิกบานล้วนผูกพันอยู่กับพระองค์. (ยะเอศเคล 1:26-28; วิวรณ์ 4:1-3) ความรักซึมซาบอยู่ในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ. (1 โยฮัน 4:8) พระองค์ไม่เคยตรัสมุสา. (อาฤธโม 23:19) และพระยะโฮวาไม่เคยทำให้ผู้ที่ภักดีต่อพระองค์รู้สึกผิดหวัง. (บทเพลงสรรเสริญ 18:25) โดยยึดมั่นอยู่กับข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของพระองค์ เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุขและมีความหมายได้ในเวลานี้ พร้อมด้วยคำนึงถึงความหวังแห่งชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 17:3) ไม่มีผู้ปกครองมนุษย์คนใดเสนอที่จะให้สิ่งใดที่อาจเทียบได้เลยกับพระพรและสิทธิพิเศษดังกล่าว.
3. โนฮา “ดำเนินกับพระเจ้า” โดยวิธีใด?
3 นานมาแล้ว ปฐมบรรพบุรุษโนฮาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระทัยประสงค์และพระประสงค์ของพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงท่านดังนี้: “โนฮาเป็นคนชอบธรรม, รอบคอบดีในสมัยอายุของเขา, และได้ดำเนินกับพระเจ้า.” (เยเนซิศ 6:9) แน่ละ โนฮาไม่ได้ดำเนินกับพระยะโฮวาในความหมายตามตัวอักษร เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดที่เคย “เห็นพระเจ้าในเวลาใดเลย” เสียด้วยซ้ำ. (โยฮัน 1:18, ล.ม.) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น โนฮาดำเนินกับพระเจ้าโดยท่านทำสิ่งที่พระเจ้าทรงมีพระบัญชาให้ท่านทำ. เนื่องจากโนฮาอุทิศชีวิตท่านทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา ท่านจึงมีสัมพันธภาพอันอบอุ่นและใกล้ชิดกับพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. เช่นเดียวกับโนฮา หลายล้านคนในทุกวันนี้ก็กำลัง “ดำเนินกับพระเจ้า” โดยดำเนินชีวิตประสานกับคำแนะนำสั่งสอนของพระยะโฮวา. คนเราจะเริ่มต้นแนวทางเช่นนั้นได้โดยวิธีใด?
ความรู้ถ่องแท้สำคัญยิ่ง
4. พระยะโฮวาทรงสอนไพร่พลพระองค์อย่างไร?
4 เพื่อจะดำเนินกับพระยะโฮวา ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักพระองค์เสียก่อน. ผู้พยากรณ์ยะซายาบอกล่วงหน้าดังนี้: “ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัยจะต้องเป็นดังนี้ ภูเขาแห่งราชนิเวศของพระยะโฮวาจะถูกสถาปนาอย่างมั่นคงให้เหนือยอดภูเขาทั้งหลาย และจะถูกยกขึ้นเหนือบรรดาเนินเขาเป็นแน่; และประชาชาติทั้งปวงจะต้องหลั่งไหลไปที่นั้น. และชนชาติเป็นอันมากจะไปเป็นแน่และกล่าวว่า ‘มาเถิด เจ้าทั้งหลาย และให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา ยังราชนิเวศของพระเจ้าแห่งยาโคบ; และพระองค์จะทรงสอนเราเรื่องวิถีทางของพระองค์ และเราจะดำเนินตามมรคาทั้งหลายของพระองค์.’ ด้วยว่ากฎหมายจะออกไปจากซีโอน และพระคำของพระยะโฮวาออกจากเยรูซาเลม.” (ยะซายา 2:2, 3, ล.ม.) ใช่ เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงสอนทุกคนที่พยายามจะดำเนินในแนวทางของพระองค์. พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล และพระองค์ทรงช่วยเราให้เข้าใจพระคำนั้น. วิธีหนึ่งที่พระองค์ทรงช่วยเราคือโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงใช้ “ทาสสัตย์ซื่อ” เพื่อจัดเตรียมคำสั่งสอนฝ่ายวิญญาณโดยอาศัยสรรพหนังสือที่ใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก, การประชุมคริสเตียน, และการจัดให้มีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านโดยไม่คิดมูลค่า. พระเจ้ายังทรงช่วยไพร่พลพระองค์ให้เข้าใจพระคำของพระองค์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ด้วย.—1 โกรินโธ 2:10-16.
5. เหตุใดความจริงของพระคัมภีร์จึงมีค่ามากยิ่ง?
5 แม้ว่าเราไม่ต้องชำระเงินสำหรับความจริงแห่งคัมภีร์ไบเบิล แต่ความจริงนี้ล้ำค่า. เมื่อเราเรียนพระคำของพระเจ้า เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าเอง—พระนามของพระองค์, บุคลิกภาพของพระองค์, พระประสงค์ของพระองค์, และแนวทางที่พระองค์ทรงใช้ในการติดต่อเกี่ยวข้องกับมนุษย์. นอกจากนี้ เรายังเรียนรู้ถึงคำตอบที่ทำให้เป็นอิสระสำหรับคำถามพื้นฐานของชีวิต เป็นต้นว่า ทำไมเราจึงมีชีวิตอยู่? เหตุใดพระเจ้าทรงยอมให้มีความทุกข์? อนาคตจะเป็นเช่นไร? เหตุใดเราจึงแก่ลงและตายไป? มีชีวิตหลังจากตายไหม? นอกจากนั้น เราเรียนรู้ว่าพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราคืออะไร กล่าวคือเราควรดำเนินอย่างไรเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม. เราเรียนรู้ว่าข้อเรียกร้องของพระองค์นั้นมีเหตุผลและให้ประโยชน์อย่างน่าทึ่งเมื่อเราดำเนินชีวิตประสานกับข้อเรียกร้องเหล่านั้น. หากไม่มีคำสั่งสอนของพระเจ้าแล้ว เราไม่มีทางเข้าใจเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้เลย.
6. ความรู้ถ่องแท้ของคัมภีร์ไบเบิลสามารถทำให้เราติดตามแนวทางอะไร?
6 ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลมีพลังและกระตุ้นเราให้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา. (เฮ็บราย 4:12) ก่อนรับเอาความรู้จากพระคัมภีร์ เราก็ได้แต่ดำเนิน “ตามระบบของโลกนี้.” (เอเฟโซ 2:2, ล.ม.) แต่ความรู้ถ่องแท้แห่งพระคำของพระเจ้าวางแนวทางที่ต่างออกไปไว้ให้เราเพื่อเราจะสามารถ “ดำเนินคู่ควรกับพระยะโฮวา เพื่อทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม.” (โกโลซาย 1:10, ล.ม.) ก้าวแรก ๆ แห่งการดำเนินกับพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่สูงสุดทั่วทั้งเอกภพนับเป็นเรื่องน่ายินดีสักเพียงไร!—ลูกา 11:28.
ขั้นตอนสำคัญสองประการ—การอุทิศตัวและการรับบัพติสมา
7. เมื่อเราศึกษาพระคำของพระเจ้า ความจริงอะไรเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของมนุษย์ได้ปรากฏชัด?
7 เมื่อเราเติบโตขึ้นในด้านความเข้าใจเกี่ยวด้วยคัมภีร์ไบเบิล เราเริ่มตรวจสอบกิจการงานของมนุษย์และชีวิตของเราเองโดยอาศัยแสงสว่างฝ่ายวิญญาณแห่งพระคำของพระเจ้า. ความจริงสำคัญอย่างหนึ่งจึงได้ปรากฏชัดขึ้นมา. ผู้พยากรณ์ยิระมะยาแสดงให้เห็นความจริงดังกล่าวไว้นานแล้ว ท่านเขียนว่า “โอ้พระยะโฮวา, ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าทางที่มนุษย์จะไปนั้นไม่ได้อยู่ในตัวของตัว, ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.” (ยิระมะยา 10:23) มนุษย์เราทุกคนจำต้องได้รับการชี้นำจากพระเจ้า.
8. (ก) อะไรกระตุ้นผู้คนให้อุทิศตัวแด่พระเจ้า? (ข) การอุทิศตัวของคริสเตียนคืออะไร?
8 การเข้าใจข้อเท็จจริงสำคัญนี้กระตุ้นเราให้แสวงหาการนำทางจากพระยะโฮวา. และความรักพระเจ้ากระตุ้นเราให้อุทิศชีวิตของเราแด่พระองค์. การอุทิศตัวแด่พระเจ้าหมายถึงการเข้าเฝ้าพระองค์ในคำทูลอธิษฐานและสัญญาอย่างจริงจังว่าจะใช้ชีวิตรับใช้พระองค์และดำเนินตามแนวทางของพระองค์อย่างซื่อสัตย์. ด้วยการทำเช่นนี้ เราติดตามแบบอย่างของพระเยซูผู้ทรงเสนอพระองค์เองแด่พระยะโฮวาพร้อมด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะกระทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ.—เฮ็บราย 10:7.
9. เหตุใดปัจเจกบุคคลจึงอุทิศชีวิตของตนแด่พระยะโฮวา?
9 พระยะโฮวาพระเจ้าไม่เคยทรงกดดันหรือบังคับใครให้อุทิศตัวแด่พระองค์. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 9:7.) นอกจากนั้น พระเจ้าไม่ทรงคาดหมายให้ใครอุทิศชีวิตแด่พระองค์เนื่องด้วยอารมณ์ชั่ววูบอย่างใดอย่างหนึ่ง. ก่อนรับบัพติสมา คนนั้นต้องเป็นสาวกแล้ว ซึ่งนั่นเรียกร้องให้เขาต้องพยายามอย่างจริงจังในการรับเอาความรู้. (มัดธาย 28:19, 20) เปาโลอ้อนวอนผู้ที่รับบัพติสมาแล้วให้ ‘ถวายร่างกายของเขาเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่, บริสุทธิ์, ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้, เป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์พร้อมด้วยความสามารถของเขาในการหาเหตุผล.’ (โรม 12:1, ล.ม.) เราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้าโดยใช้ความสามารถในการหาเหตุผลของเราที่คล้ายกันนี้เอง. หลังจากเรียนรู้ถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องและหาเหตุผลอย่างรอบคอบในเรื่องนี้แล้ว เราจึงอุทิศชีวิตแด่พระเจ้าอย่างเต็มใจและด้วยความยินดี.—บทเพลงสรรเสริญ 110:3.
10. การอุทิศตัวสัมพันธ์อย่างไรกับการรับบัพติสมา?
10 หลังจากเข้าเฝ้าพระเจ้าเป็นส่วนตัวในคำทูลอธิษฐานเพื่อแสดงความตั้งใจอันแน่วแน่ของเราที่จะดำเนินในแนวทางของพระองค์แล้ว เราก็ทำขั้นตอนต่อไป. เราทำให้การอุทิศตัวของเราเป็นที่ทราบกันอย่างเปิดเผยด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. นี่เป็นการประกาศอย่างเปิดเผยว่าเราได้ให้คำปฏิญาณที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ในตอนเริ่มต้นงานรับใช้ของพระองค์ทางแผ่นดินโลก พระเยซูทรงรับบัพติสมาจากโยฮัน ซึ่งโดยวิธีนี้จึงได้ทรงวางแบบอย่างไว้สำหรับเรา. (มัดธาย 3:13-17) ต่อมา พระเยซูทรงมอบหมายสาวกของพระองค์ให้ทำคนเป็นสาวกและให้เขารับบัพติสมา. ด้วยเหตุนั้น การอุทิศตัวและการรับบัพติสมาเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งสำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาจะดำเนินกับพระยะโฮวา.
11, 12. (ก) การรับบัพติสมาอาจเปรียบได้กับการสมรสอย่างไร? (ข) มีอะไรเหมือนกันระหว่างสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวากับความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา?
11 การเข้ามาเป็นสาวกที่อุทิศตัวและรับบัพติสมาของพระเยซูคริสต์ค่อนข้างคล้ายคลึงกับการสมรส. ในหลาย ๆ ประเทศ กว่าจะถึงวันแต่งงานต้องผ่านหลายขั้นตอน. ชายและหญิงพบหน้ากัน, ทำความรู้จักกันและกัน, และรักกัน. ต่อจากนั้นก็มาถึงการหมั้นหมาย. การสมรสเป็นการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันถึงสิ่งที่ได้มีการตกลงกันเป็นส่วนตัว กล่าวคือการเข้าสู่พันธะแห่งการสมรสเพื่ออยู่กินกันฉันสามีภรรยา. การสมรสนั่นเองที่บ่งบอกอย่างเปิดเผยถึงการเริ่มต้นสัมพันธภาพพิเศษนั้น. วันนั้นเป็นการเริ่มต้นชีวิตสมรส. ในลักษณะเดียวกัน การรับบัพติสมาก็เป็นการเริ่มต้นชีวิตที่มุ่งดำเนินในสัมพันธภาพที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา.
12 ขอให้นึกถึงสิ่งที่คล้ายกันอีกอย่างหนึ่ง. หลังวันสมรส ความรักระหว่างสามีกับภรรยาน่าจะลึกซึ้งและพัฒนาเต็มที่ยิ่งขึ้น. เพื่อจะใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามอย่างไม่เห็นแก่ตัวที่จะรักษาและเสริมสายสัมพันธ์แห่งการสมรสของตน. แม้ว่าเราไม่ได้เข้าสู่สายสมรสกับพระเจ้า แต่หลังจากรับบัพติสมาแล้วเราต้องพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. พระองค์ทรงเฝ้ามองและหยั่งรู้ค่าความพยายามของเราในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์และทรงเข้าใกล้เรา. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.”—ยาโกโบ 4:8, ล.ม.
การดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซู
13. ในการดำเนินกับพระเจ้า เราควรติดตามแบบอย่างของผู้ใด?
13 เพื่อจะดำเนินกับพระยะโฮวา เราต้องปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระเย ซูคริสต์ทรงวางไว้. อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) เนื่องจากพระเยซูทรงสมบูรณ์แต่เราไม่สมบูรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะดำเนินได้อย่างไม่มีที่ติตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงคาดหมายว่าเราจะทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้. ให้เราพิจารณาลักษณะเด่นห้าประการแห่งชีวิตและการรับใช้ของพระเยซูซึ่งคริสเตียนที่อุทิศตัวควรพยายามเลียนแบบ.
14. การรู้จักพระคำของพระเจ้าหมายรวมถึงอะไรบ้าง?
14 พระเยซูทรงมีความรู้ถ่องแท้และถี่ถ้วนในพระคำของพระเจ้า. ในระหว่างการรับใช้ของพระองค์ พระเยซูทรงอ้างข้อพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอยู่บ่อยครั้ง. (ลูกา 4:4, 8) จริงอยู่ พวกหัวหน้าศาสนาที่ชั่วช้าในสมัยนั้นก็อ้างข้อพระคัมภีร์เหมือนกัน. (มัดธาย 22:23, 24) ข้อแตกต่างคือ พระเยซูทรงเข้าใจว่าข้อพระคัมภีร์ที่อ้างถึงมีความหมายเช่นไร และพระองค์ทรงใช้ข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นในชีวิตของพระองค์. พระองค์ทรงรู้พระบัญญัติไม่เฉพาะเพียงตามตัวอักษร แต่ทรงเข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระบัญญัติด้วย. เมื่อเราติดตามแบบอย่างของพระคริสต์ เราก็เช่นกันควรพยายามทำความเข้าใจพระคำของพระเจ้า เข้าถึงความหมายหรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระคำนั้น. โดยการทำเช่นนั้น เราก็อาจกลายเป็นคนงานที่พระเจ้าทรงพอพระทัยซึ่งสามารถ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.”—2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.
15. พระเยซูทรงวางแบบอย่างไว้อย่างไรในการพูดเกี่ยวกับพระเจ้า?
15 พระเยซูคริสต์ทรงบอกผู้อื่นเกี่ยวกับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. พระเยซูมิได้ทรงเก็บความรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าเอาไว้กับพระองค์เอง. แม้แต่ศัตรูของพระองค์ก็ยังเรียกพระองค์ว่า “อาจารย์” เพราะไม่ว่าไปที่ใด พระองค์ทรงสนทนากับผู้คนเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์. (มัดธาย 12:38) พระเยซูทรงประกาศอย่างเปิดเผยในบริเวณพระวิหาร, ที่ธรรมศาลา, ในเมืองต่าง ๆ, และตามชนบท. (มาระโก 1:39; ลูกา 8:1; โยฮัน 18:20) พระองค์ทรงสอนด้วยความสงสารและกรุณา แสดงความรักต่อผู้ที่พระองค์ทรงช่วย. (มัดธาย 4:23) ผู้ที่ติดตามแบบอย่างของพระเยซูก็หาโอกาสสอนผู้อื่นเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระประสงค์อันยอดเยี่ยมของพระองค์ในที่ต่าง ๆ และด้วยวิธีการหลายอย่างเช่นกัน.
16. สัมพันธภาพของพระเยซูกับเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวานั้นใกล้ชิดเพียงใด?
16 พระเยซูทรงมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับคนอื่น ๆ ที่นมัสการพระยะโฮวา. ครั้งหนึ่งขณะที่พระเยซูตรัสอยู่กับฝูงชน มารดาและเหล่าน้องชายของพระองค์ที่ไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือมาหาเพื่อจะพูดกับพระองค์. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกดังนี้: “มีคนหนึ่งทูลพระองค์ว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า, มารดาและน้องชายของพระองค์ยืนอยู่ข้างนอกหาโอกาสที่จะสนทนากับพระองค์.’ พระองค์จึงตรัสแก่ผู้ที่มาทูลนั้นว่า, ‘ใครเป็นมารดาของเรา? ใครเป็นพี่น้องของเรา?’ แล้วพระองค์ทรงชี้พระหัตถ์ไปตรงพวกสาวกของพระองค์ตรัสว่า, ‘นี่เป็นมารดาและพี่น้องของเรา ด้วยว่าผู้ใดจะกระทำตามพระทัยพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์, ผู้นั้นแหละเป็นพี่น้องชายหญิงและมารดาของเรา.’” (มัดธาย 12:47-50) นี่ไม่ได้หมายความว่าพระเยซูทรงปฏิเสธครอบครัวพระองค์ เพราะเหตุการณ์หลังจากนั้นพิสูจน์ว่าพระองค์มิได้ทรงทำเช่นนั้น. (โยฮัน 19:25-27) กระนั้น บันทึกนี้เน้นถึงความรักที่พระเยซูทรงมีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ คนที่ดำเนินกับพระเจ้าแสวงหาเพื่อจะมีมิตรภาพกับผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระยะโฮวาและรักเขาเหล่านั้นอย่างสุดซึ้งยิ่งขึ้น.—1 เปโตร 4:8.
17. พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดา และเรื่องนี้ควรมีผลกระทบเราอย่างไร?
17 โดยทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า พระเยซูทรงแสดงความรักต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. พระเยซูทรงเชื่อฟังพระยะโฮวาในทุก ๆ สิ่ง. พระองค์ตรัสว่า “อาหารของเราคือการทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ.” (โยฮัน 4:34, ล.ม.) พระคริสต์ยังตรัสอีกว่า “เราทำตามชอบพระทัย [พระเจ้า] เสมอ.” (โยฮัน 8:29) พระเยซูทรงรักพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์มากจนกระทั่ง “พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา คือความมรณาบนหลักทรมาน.” (ฟิลิปปอย 2:8, ล.ม.) ฝ่ายพระยะโฮวาก็ทรงอวยพระพรพระเยซู ยกพระบุตรขึ้นให้รับตำแหน่งที่มีอำนาจและมีเกียรติซึ่งเป็นรองก็แต่เพียงพระองค์เองเท่านั้น. (ฟิลิปปอย 2:9-11) เช่นเดียวกับพระเยซู เราแสดงความรักของเราต่อพระเจ้าโดยรักษาพระบัญชาและทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.—1 โยฮัน 5:3.
18. พระเยซูทรงวางแบบอย่างไว้โดยวิธีใดในเรื่องการอธิษฐาน?
18 พระเยซูทรงอธิษฐานเสมอ. พระองค์ทรงอธิษฐานตอนที่พระองค์ทรงรับบัพติสมา. (ลูกา 3:21) ก่อนเลือกอัครสาวก 12 คน พระองค์ทรงอธิษฐานตลอดคืนนั้น. (ลูกา 6:12, 13) พระเยซูทรงสอนวิธีอธิษฐานแก่เหล่าสาวก. (ลูกา 11:1-4) ในคืนก่อนการสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอธิษฐานเผื่อเหล่าสาวกและอธิษฐานกับพวกเขา. (โยฮัน 17:1-26) คำอธิษฐานเป็นส่วนสำคัญในชีวิตพระเยซูอย่างไร ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นในชีวิตเราด้วยเหมือนกัน เนื่องจากเราเป็นสาวกของพระองค์. ช่างเป็นเกียรติสักเพียงไรที่ได้สนทนากับองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพในคำทูลอธิษฐาน! นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานด้วย เพราะโยฮันเขียนดังนี้: “นี่แหละเป็นความไว้วางใจที่เรามีต่อพระองค์ คือว่า ไม่ว่าเราทูลขอสิ่งใดตามชอบพระทัยของพระองค์ พระองค์ทรงฟังเรา. นอกจากนั้น ถ้าเรารู้ว่า พระองค์ฟังเราเกี่ยวด้วยสิ่งใด ๆ ที่เราทูลขอ เรารู้ว่า เราจะได้สิ่งที่เราขอ เนื่องจากเราได้ทูลขอจากพระองค์.”—1 โยฮัน 5:14, 15, ล.ม.
19. (ก) เราควรเลียนแบบคุณลักษณะอะไรบ้างของพระเยซู? (ข) เราได้รับประโยชน์ในทางใดบ้างจากการศึกษาชีวิตและการรับใช้ของพระเยซู?
19 มีสิ่งต่าง ๆ มากมายจริง ๆ ที่จะเรียนรู้ได้จากการตรวจดูอย่างใกล้ชิดเกี่ยวด้วยชีวิตและการรับใช้ทางแผ่นดินโลกนี้ของพระเยซูคริสต์! จงไตร่ตรองคุณลักษณะที่พระองค์ทรงสำแดง: ความรัก, ความสงสาร, ความกรุณา, ความเข้มแข็ง, ความสมดุล, ความมีเหตุผล, ความถ่อม, ความกล้าหาญ, และความไม่เห็นแก่ตัว. ยิ่งเราเรียนเกี่ยวกับพระเยซูมากเท่าใด เราก็ยิ่งปรารถนาที่จะเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. ความรู้เกี่ยวกับพระเยซูยังชักนำเราเข้าใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้น. ที่จริง พระเยซูทรงเป็นแบบพระฉายอันสมบูรณ์แบบของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. พระองค์ทรงใกล้ชิดสนิทสนมกับพระยะโฮวามากจนถึงกับตรัสได้ว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา.”—โยฮัน 14:9.
จงวางใจพระเจ้าให้พระองค์ทรงค้ำจุนคุณ
20. เราอาจได้ความมั่นใจโดยวิธีใดในการดำเนินกับพระยะโฮวา?
20 เมื่อเด็กเพิ่งหัดเดิน ย่างก้าวของเขาไม่มั่นคง. เด็ก ๆ หัดเดินด้วยความมั่นใจโดยวิธีใด? ไม่มีวิธีอื่นนอกจากโดยการฝึกฝนและมีความมุมานะ. คนที่ดำเนินกับพระยะโฮวาก็พยายามเดินด้วยฝีเท้าที่มั่นใจและมั่นคง. การทำเช่นนี้ก็ต้องใช้เวลาและความบากบั่นเช่นเดียวกัน. เปาโลชี้ถึงความสำคัญของความบากบั่นในการดำเนินกับพระเจ้าเมื่อท่านเขียนว่า “ในที่สุดนี้, ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย, เราวิงวอนและเตือนสติท่านทั้งหลายในพระเยซูเจ้าว่า, ท่านได้รับจากเราว่าควรจะประพฤติอย่างไรจึงจะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า, แล้วกำลังจะประพฤติอยู่ด้วย, ก็จงประพฤติอย่างนั้นให้มากขึ้น.”—1 เธซะโลนิเก 4:1.
21. เมื่อเราดำเนินกับพระยะโฮวา เราสามารถได้รับพระพรอะไรบ้าง?
21 ถ้าเราอุทิศตัวอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณแด่พระเจ้า พระองค์จะทรงช่วยเราให้ดำเนินต่อ ๆ ไปกับพระองค์. (ยะซายา 40:29-31) ไม่มีสิ่งใดที่โลกนี้เสนอให้อาจเทียบได้กับพระพรที่พระองค์ประทานแก่คนที่ดำเนินในแนวทางของพระองค์. พระองค์ทรงเป็น ‘ผู้สั่งสอนเรา, เพื่อประโยชน์แก่ตัวของเราเอง, และผู้นำเราให้ดำเนินในทางที่เราควรดำเนิน. โอ้ถ้าเราได้เชื่อฟังคำสั่งของพระองค์แล้ว, ความเจริญของเราก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล, และความชอบธรรมของเราก็จะมีบริบูรณ์ดังคลื่นในมหาสมุทร.’ (ยะซายา 48:17, 18) ด้วยการตอบรับคำเชิญให้ดำเนินกับพระเจ้าและโดยทำเช่นนั้นอย่างซื่อสัตย์ เราก็จะสามารถมีสันติสุขกับพระองค์ตลอดไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดจึงนับว่าเป็นเกียรติที่จะดำเนินกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้?
▫ เหตุใดการศึกษา, การอุทิศตัว, และการรับบัพติสมาจึงเป็นขั้นแรก ๆ ในการดำเนินกับพระยะโฮวา?
▫ เราอาจดำเนินตามรอยพระบาทพระเยซูโดยวิธีใด?
▫ เราทราบได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาจะทรงค้ำจุนเราเมื่อเราดำเนินไปกับพระองค์?
[รูปภาพหน้า 13]
การศึกษา, การอุทิศตัว, และการรับบัพติสมาเป็นขั้นแรก ๆ ในการดำเนินกับพระเจ้า