ทนรับการข่มเหง เพราะเห็นแก่ความชอบธรรม
“ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความชอบธรรม.”—มัดธาย 5:10, ล.ม.
1. เพราะเหตุใดพระเยซูจึงไปอยู่ต่อหน้าปนเตียว ปีลาต และพระเยซูตรัสถ้อยคำอะไร?
“เพราะเหตุนี้เราจึงเกิดมา และเพราะเหตุนี้เราได้เข้ามาในโลก เพื่อเราจะให้คำพยานถึงความจริง.” (โยฮัน 18:37, ล.ม.) ขณะที่พระเยซูตรัสถ้อยคำนี้ พระองค์อยู่ต่อหน้าปนเตียว ปีลาต ผู้สำเร็จราชการชาวโรมันของแคว้นยูเดีย. พระเยซูอยู่ที่นั่น ไม่ใช่เพราะพระองค์เลือกไปเอง หรือไปตามคำเชิญของปีลาต. แต่พระองค์ไปอยู่ที่นั่นเพราะถูกพวกผู้นำศาสนาชาวยิวกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดที่สมควรจะถูกประหาร.—โยฮัน 18:29-31.
2. พระเยซูได้ทำอะไร และผลเป็นเช่นไร?
2 พระเยซูรู้ดีว่าปีลาตมีอำนาจสั่งปล่อยหรือประหารพระองค์ก็ได้. (โยฮัน 19:10) แต่นั่นไม่ได้ยับยั้งพระองค์จากการพูดกับปีลาตอย่างกล้าหาญเรื่องราชอาณาจักร. แม้ชีวิตของพระเยซูตกอยู่ในอันตราย พระองค์ฉวยโอกาสนั้นในการให้คำพยานแก่ผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุดในอาณาเขตนั้น. ทั้งที่ให้คำพยานดังกล่าว พระเยซูยังถูกตัดสินลงโทษและประหาร วายพระชนม์อย่างเจ็บปวดแสนสาหัสบนหลักทรมานฐานะผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ.—มัดธาย 27:24-26; มาระโก 15:15; ลูกา 23:24, 25; โยฮัน 19:13-16.
ผู้ที่เสียชีวิตเพราะให้คำพยานหรือว่าผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ?
3. คำภาษาอังกฤษ martyr ที่แปลในที่นี้ว่า “ผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ” มีความหมายอย่างไรในสมัยคัมภีร์ไบเบิล แต่คำนี้มีความหมายเช่นไรในทุกวันนี้?
3 หลายคนในทุกวันนี้มอง ‘ผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ’ แทบไม่ต่างไปจากพวกคลั่งลัทธิหรือพวกหัวรุนแรง. คนที่ยอมเสียชีวิตเพื่อความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อศาสนานั้น มักถูกมองอย่างน่าสงสัยว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้าย หรืออย่างน้อยก็เป็นพวกที่เป็นภัยต่อสังคม. อย่างไรก็ตาม คำภาษาอังกฤษ martyr ที่แปลในที่นี้ว่า “ผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ” มาจากคำภาษากรีก (marʹtys) ซึ่งมีความหมายในสมัยคัมภีร์ไบเบิลว่า “พยาน” กล่าวคือผู้ให้การเป็นพยาน อาจระหว่างการพิจารณาคดีในศาล ถึงความจริงของสิ่งที่เขาเชื่อ. เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเท่านั้น คำนี้ถึงมีความหมายเปลี่ยนไปเป็น “ผู้ที่เสียชีวิตเพราะให้คำพยาน” หรือแม้กระทั่งให้คำพยานด้วยการเสียชีวิตของตน.
4. พระเยซูเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อในความหมายใดเป็นประการสำคัญ?
4 พระเยซูเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อในความหมายดั้งเดิมของคำนี้เป็นประการสำคัญ. ตามที่ตรัสแก่ปีลาต พระองค์มาเพื่อจะ “ให้คำพยานถึงความจริง.” การให้คำพยานของพระองค์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแตกต่างกันมากในหมู่ผู้คน. บางคนได้รับการกระตุ้นอย่างมากจากสิ่งที่พวกเขาได้ยินได้เห็น และจึงเชื่อถือในพระเยซู. (โยฮัน 2:23; 8:30) ประชาชนทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้นำศาสนา มีปฏิกิริยาอย่างมากเช่นกัน แต่ในทางลบ. พระเยซูตรัสแก่สมาชิกครอบครัวของพระองค์ที่ไม่มีความเชื่อดังนี้: “โลกไม่มีเหตุผลที่จะเกลียดชังพวกเจ้า แต่โลกเกลียดชังเรา เพราะเราให้คำพยานเกี่ยวกับโลกว่าการกระทำของโลกนั้นชั่วร้าย.” (โยฮัน 7:7, ล.ม.) เนื่องจากให้คำพยานถึงความจริง พระเยซูจึงทำให้พวกผู้นำของชาติโกรธจัด ซึ่งนำไปสู่การวายพระชนม์ของพระองค์. จริงทีเดียว พระองค์เป็น “พยาน (marʹtys) ที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง.”—วิวรณ์ 3:14, ล.ม.
“คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่าน”
5. ในช่วงต้นแห่งงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับการข่มเหง?
5 ไม่เฉพาะแต่พระเยซูเท่านั้นที่ประสบการข่มเหงอย่างรุนแรง พระองค์เตือนเหล่าสาวกด้วยว่าพวกเขาจะถูกข่มเหงเช่นกัน. ในช่วงต้นแห่งงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูบอกผู้ที่ฟังพระองค์ในคำเทศน์บนภูเขาว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความชอบธรรม เพราะราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นของเขา. ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อเขาได้ติเตียนเจ้าและข่มเหงเจ้าและพูดสิ่งชั่วร้ายทุกรูปแบบด้วยคำเท็จต่อเจ้าเพราะเรา. จงชื่นชมยินดีและโลดเต้นด้วยความปลาบปลื้ม เพราะบำเหน็จของพวกเจ้าล้ำเลิศในสวรรค์.”—มัดธาย 5:10-12, ล.ม.
6. พระเยซูให้คำเตือนอะไรขณะส่งอัครสาวก 12 คนออกไป?
6 ต่อมา เมื่อทรงส่งอัครสาวก 12 คนออกไป พระเยซูบอกพวกเขาว่า “จงระวังมนุษย์ เพราะเขาจะอายัดท่านไว้ที่ศาล, และจะเฆี่ยนท่านในธรรมศาลาของเขา. และจะส่งท่านไปต่อหน้าเจ้าเมืองและกษัตริย์เพราะเรา. เพื่อท่านจะได้เป็นพยานต่อผู้เหล่านั้นและต่อพวกต่างประเทศ.” แต่ไม่ใช่แค่พวกผู้นำศาสนาเท่านั้นที่จะข่มเหงพวกสาวก. พระเยซูตรัสด้วยว่า “พี่ก็จะมอบน้อง, พ่อก็จะมอบลูก, และลูกจะทรยศต่อพ่อแม่ให้ถึงแก่ความตาย. และคนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา แต่ผู้ใดที่จะทนเอาจนถึงที่สุดปลาย, ผู้นั้นจะรอด.” (มัดธาย 10:17, 18, 21, 22) ประวัติของคริสเตียนในศตวรรษแรกให้หลักฐานว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริง.
ประวัติบันทึกในเรื่องความอดทนอย่างซื่อสัตย์
7. อะไรทำให้ซะเตฟาโนกลายเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ?
7 ไม่นานหลังจากการวายพระชนม์ของพระเยซู ซะเตฟาโนกลายเป็นคริสเตียนคนแรกที่เสียชีวิตเพราะกล่าวคำพยานถึงความจริง. ท่าน “ประกอบด้วยพระคุณและฤทธิ์เดชจึงกระทำการอัศจรรย์และทำการเป็นนิมิตใหญ่ในท่ามกลางคนทั้งหลาย.” ศัตรูทางศาสนาของท่าน “เถียงคำที่ท่านกล่าวอันประกอบด้วยสติปัญญาและพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้.” (กิจการ 6:8, 10) เนื่องจากท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกอิจฉา พวกเขาจึงลากตัวซะเตฟาโนไปอยู่ต่อหน้าสภาซันเฮดริน ศาลสูงสุดของชาวยิว ซึ่งที่นั่น ท่านถูกกล่าวหาเท็จและได้ให้คำพยานอันทรงพลัง. กระนั้นก็ตาม ในที่สุดเหล่าศัตรูของซะเตฟาโนก็สังหารพยานผู้ซื่อสัตย์คนนี้.—กิจการ 7:59, 60.
8. เหล่าสาวกในกรุงเยรูซาเลมมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อการข่มเหงที่พวกเขาประสบหลังการเสียชีวิตของซะเตฟาโน?
8 หลังการสังหารซะเตฟาโน “บังเกิดการข่มเหงคริสตจักรในกรุงยะรูซาเลมมากขึ้น, และสานุศิษย์ทั้งปวงนอกจากอัครสาวกได้กระจัดกระจายไปทั่วแว่นแคว้นมณฑลยูดายกับมณฑลซะมาเรีย.” (กิจการ 8:1) การข่มเหงนั้นยับยั้งคริสเตียนจากการให้คำพยานไหม? ผลกลับเป็นตรงกันข้าม บันทึกบอกเราว่า “สานุศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไปก็ได้เที่ยวประกาศพระคำนั้น.” (กิจการ 8:4) พวกเขาคงต้องมีความรู้สึกเช่นเดียวกับอัครสาวกเปโตรที่เคยกล่าวก่อนหน้านั้นว่า “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครองยิ่งกว่ามนุษย์.” (กิจการ 5:29, ล.ม.) แม้มีการข่มเหง สาวกที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญเหล่านั้นยังคงกล่าวคำพยานถึงความจริงต่อ ๆ ไป ทั้งที่รู้ว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้พวกเขายิ่งลำบากมากขึ้นก็ตาม.—กิจการ 11:19-21.
9. เหล่าสาวกของพระเยซูยังคงประสบการข่มเหงอะไร?
9 เป็นจริงอย่างนั้น ความยากลำบากไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย. แรกทีเดียว เราทราบว่าเซาโล—ชายที่รู้เห็นเป็นพยานด้วยความเห็นชอบต่อการเอาหินขว้างซะเตฟาโน—“ยังขู่คำรามกล่าวว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซูเสีย, จึงได้ไปหามหาปุโรหิต ขอหนังสือไปยังธรรมศาลาในเมืองดาเมเซ็ก, เพื่อว่าถ้าพบผู้หนึ่งผู้ใดถือทางนั้นไม่ว่าชายหรือหญิง จะได้จับมัดพามายังกรุงยะรูซาเลม.” (กิจการ 9:1, 2) ต่อมา ราว ๆ ปี ส.ศ. 44 “กษัตริย์เฮโรดได้เหยียดหัตถ์ออกทำร้ายแก่ลางคนในคริสตจักร. ท่านได้ฆ่ายาโกโบพี่ชายของโยฮันด้วยดาบ.”—กิจการ 12:1, 2.
10. เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับการข่มเหงที่เราทราบจากพระธรรมกิจการและวิวรณ์?
10 ส่วนที่เหลือของพระธรรมกิจการมีบันทึกเรื่องราวอันไม่มีวันลืมเลือนเกี่ยวกับการเผชิญการทดลอง, การถูกคุมขัง, และการถูกข่มเหงของเหล่าผู้ซื่อสัตย์ อย่างเช่น เปาโล อดีตผู้ข่มเหงที่กลายมาเป็นอัครสาวกและอาจเสียชีวิตฐานะผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อด้วยน้ำมือของเนโร จักรพรรดิโรมัน ราว ๆ ปี ส.ศ. 65. (2 โกรินโธ 11:23-27; 2 ติโมเธียว 4:6-8) สุดท้าย ในพระธรรมวิวรณ์ ซึ่งเขียนขึ้นตอนปลายศตวรรษที่หนึ่ง เราทราบว่าอัครสาวกโยฮันผู้ชราภาพถูกกักขังอยู่ที่เกาะปัตโมส “เนื่องด้วยได้กล่าวถึงพระเจ้าและให้คำพยานถึงพระเยซู.” พระธรรมวิวรณ์ยังกล่าวถึง “อันทีพาส พยานของเราผู้ซื่อสัตย์ ที่ถูกฆ่า” ในเมืองเปอร์กาโมส์ด้วย.—วิวรณ์ 1:9; 2:13, ล.ม.
11. แนวทางของคริสเตียนยุคแรกพิสูจน์ความจริงแห่งคำตรัสของพระเยซูเรื่องการข่มเหงอย่างไร?
11 ทั้งหมดนี้พิสูจน์ความจริงแห่งคำตรัสของพระเยซูที่บอกแก่เหล่าสาวกว่า “ถ้าเขาได้ข่มเหงเรา เขาก็จะข่มเหงเจ้าด้วย.” (โยฮัน 15:20, ล.ม.) เหล่าคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในยุคแรกพร้อมเผชิญการทดลองที่ยากที่สุด คือความตาย—โดยการถูกปฏิบัติอย่างเหี้ยมโหดทารุณ, ถูกโยนให้สัตว์ร้าย, หรือวิธีอื่น ๆ—เพื่อจะทำงานมอบหมายที่ได้รับจากพระเยซูคริสต์เจ้า ที่ว่า “ท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงยะรูซาเลม, สิ้นทั้งมณฑลยูดาย, มณฑลซะมาเรีย, และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”—กิจการ 1:8.
12. เหตุใดการข่มเหงคริสเตียนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของอดีต?
12 ถ้าใครคิดว่าการที่สาวกของพระเยซูถูกปฏิบัติอย่างเหี้ยมโหดทารุณดังกล่าวจะมีเฉพาะแต่ในอดีตเท่านั้น เขาก็เข้าใจผิดอย่างมาก. เปาโล ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าประสบความยากลำบากไม่น้อย เขียนดังนี้: “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) เปโตรกล่าวในเรื่องการข่มเหงว่า “ที่จริง ท่านทั้งหลายถูกเรียกไว้สำหรับแนวทางนี้ เพราะแม้แต่พระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึง “สมัยสุดท้าย” แห่งระบบนี้ ประชาชนของพระยะโฮวายังคงตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังและการต่อต้านอย่างรุนแรง. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก ทั้งในดินแดนที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย ต่างเคยประสบการกดขี่ข่มเหงไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง ทั้งโดยส่วนตัวหรือส่วนรวม.
เหตุใดจึงถูกเกลียดชังและข่มเหง?
13. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบันพึงจดจำอะไรไว้เสมอเรื่องการข่มเหง?
13 แม้ว่าพวกเราส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีเสรีภาพพอประมาณในการประกาศและการประชุมร่วมกันอย่างสงบสุข แต่เราต้องเอาใจใส่ข้อเตือนใจจากคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ฉากของโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป.” (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเสียจนถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้ให้พร้อมทางสภาพจิตใจ, อารมณ์, และวิญญาณแล้ว เราอาจสะดุดได้ง่าย. ถ้าอย่างนั้น เราจะป้องกันตัวเราเองได้อย่างไร? วิธีป้องกันที่บังเกิดผลอย่างหนึ่งคือ การจดจำไว้เสมอว่าเหตุใดคริสเตียนซึ่งรักสันติและเชื่อฟังกฎหมายจึงถูกเกลียดชังและข่มเหง.
14. เปโตรชี้ให้เห็นเหตุผลอะไรที่คริสเตียนถูกข่มเหง?
14 อัครสาวกเปโตรให้ความกระจ่างเรื่องนี้ในจดหมายฉบับแรกของท่าน ซึ่งเขียนประมาณปี ส.ศ. 62-64 ขณะที่คริสเตียนตลอดทั่วจักรวรรดิโรมันกำลังประสบการทดลองและการข่มเหง. ท่านกล่าวว่า “พวกที่รัก อย่างงงวยกับการแผดเผาในท่ามกลางท่านทั้งหลาย ซึ่งบังเกิดแก่ท่านเพื่อเป็นการทดลอง เสมือนว่าสิ่งแปลกประหลาดได้เกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลาย.” เพื่อจะอธิบายว่าท่านกำลังหมายถึงสิ่งใด เปโตรกล่าวต่อไปว่า “อย่าให้คนใดในพวกท่านทั้งหลายทนทุกข์เพราะเป็นผู้ฆ่าคน หรือเป็นคนขโมย หรือเป็นคนทำชั่ว หรือเป็นคนยุ่งกับธุระของคนอื่น. แต่ถ้าเขาทนทุกข์ในฐานะเป็นคริสเตียน อย่าให้เขารู้สึกอาย แต่ให้เขาถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยชื่อนี้ต่อ ๆ ไป.” เปโตรชี้ให้เห็นว่าที่พวกเขาทนทุกข์อยู่นั้น ไม่ใช่เพราะการกระทำผิด แต่เพราะเป็นคริสเตียน. หากพวกเขาลงไป “ในแอ่งโสโครกที่มีแต่ความเสเพลอย่างเดียวกัน” กับผู้คนที่อยู่รายรอบเขา คนเหล่านั้นก็จะต้อนรับเขา. แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขาทนทุกข์เพราะพยายามทำตามบทบาทของตนฐานะสาวกของพระคริสต์. สภาพการณ์ไม่ต่างกันสำหรับคริสเตียนแท้ในทุกวันนี้.—1 เปโตร 4:4, 12, 15, 16, ล.ม.
15. พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ได้รับการปฏิบัติที่ขัดต่อเหตุผลเช่นไร?
15 ในหลายส่วนของโลก พยานพระยะโฮวาได้รับการยกย่องจากสาธารณชนในเรื่องเอกภาพและความร่วมมือกันที่พวกเขาแสดงออกในการประชุมใหญ่และในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ, ในเรื่องความซื่อสัตย์และขยันขันแข็ง, ความประพฤติอย่างมีศีลธรรมและชีวิตครอบครัวอันเป็นแบบอย่าง, และยังรวมไปถึงการปรากฏตัวและมารยาทที่ดีงาม.a ในอีกด้านหนึ่ง การงานของพวกเขาถูกจำกัดหรือสั่งห้ามในไม่น้อยกว่า 28 ดินแดนขณะที่เขียนบทความนี้ และพยานพระยะโฮวาหลายคนได้ถูกทำร้ายร่างกายและประสบความสูญเสียเพราะความเชื่อของตน. เป็นไปได้อย่างไรกันที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติที่ขัดต่อเหตุผลเช่นนั้น? และทำไมพระเจ้าจึงยอมให้มีการข่มเหงพวกเขา?
16. อะไรเป็นเหตุผลประการสำคัญที่สุดที่พระเจ้ายอมให้ประชาชนของพระองค์ประสบการข่มเหง?
16 ประการแรกและสำคัญที่สุด เราต้องไม่ลืมถ้อยคำในสุภาษิต 27:11 (ล.ม.) ที่ว่า “บุตรชายของเราเอ๋ย จงมีปัญญาและทำให้หัวใจเราปีติยินดี เพื่อเราจะตอบผู้ที่เยาะเย้ยเรา.” ใช่แล้ว นี่เป็นเพราะประเด็นเก่าแก่ช้านานเรื่องสากลบรมเดชานุภาพ. แม้ว่ามีพยานหลักฐานมากมายจากบรรดาผู้คนที่พิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซาตานก็ยังไม่หยุดเยาะเย้ยพระยะโฮวาอย่างที่มันทำในสมัยของโยบบุรุษผู้ชอบธรรม. (โยบ 1:9-11; 2:4, 5) ไม่ต้องสงสัยว่าซาตานคงจะใช้ความพยายามเฮือกสุดท้ายอย่างสุดกำลังยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเพื่อพิสูจน์คำกล่าวอ้างของมัน เนื่องจากบัดนี้ราชอาณาจักรของพระเจ้าได้สถาปนาขึ้นแล้วอย่างมั่นคง พร้อมทั้งมีตัวแทนและพลเมืองที่ภักดีของราชอาณาจักรนั้นอยู่ตลอดทั่วโลก. คนเหล่านี้จะยังคงรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าไหมไม่ว่าจะเผชิญความทุกข์ยากลำบากใด ๆ ก็ตาม? นี่เป็นคำถามที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาแต่ละคนจะต้องตอบเอง.—วิวรณ์ 12:12, 17.
17. พระเยซูหมายความเช่นไรเมื่อตรัสว่า “การนั้นจะเกิดแก่ท่านเพื่อจะให้ท่านเป็นพยาน”?
17 เมื่อบอกสาวกของพระองค์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่าง “ช่วงอวสานของระบบนี้” พระเยซูชี้ถึงเหตุผลอีกประการหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงยอมให้ผู้รับใช้ของพระองค์ประสบการข่มเหง. พระองค์บอกพวกเขาว่า “เขาจะ . . . พาท่านไปต่อหน้ากษัตริย์และเจ้าเมืองเพราะท่านถือนามของเรา. การนั้นจะเกิดแก่ท่านเพื่อจะให้ท่านเป็นพยาน.” (มัดธาย 24:3, 9, ล.ม.; ลูกา 21:12, 13) พระเยซูเองก็ให้คำพยานต่อหน้าเฮโรดและปนเตียว ปีลาต. อัครสาวกเปาโลถูก “พา . . . ไปต่อหน้ากษัตริย์และเจ้าเมือง” เช่นกัน. โดยได้รับการชี้นำจากพระเยซูคริสต์เจ้า เปาโลหาทางที่จะให้คำพยานแก่ผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้น เมื่อท่านประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอถวายฎีกาถึงซีซาร์.” (กิจการ 23:11; 25:8-12, ฉบับแปลใหม่) เช่นเดียวกันในทุกวันนี้ บ่อยครั้งสถานการณ์ที่ยุ่งยากนำไปสู่การให้คำพยานเป็นอย่างดีทั้งแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและต่อสาธารณชน.b
18, 19. (ก) การรับมือกับการทดลองต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์แก่เราอย่างไร? (ข) จะมีการพิจารณาคำถามอะไรในบทความถัดไป?
18 ประการสุดท้าย การรับมือกับการทดลองและความทุกข์ลำบากต่าง ๆ เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง. ในแง่ใด? สาวกยาโกโบเตือนใจเพื่อนคริสเตียนว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า จงถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้นเมื่อท่านทั้งหลายประสบการทดลองต่าง ๆ เพราะอย่างที่ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่า คุณภาพของความเชื่อของท่านที่ผ่านการทดสอบแล้วทำให้เกิดความเพียรอดทน.” ใช่แล้ว การข่มเหงสามารถปรับปรุงความเชื่อและเสริมความเพียรอดทนของเรา. ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่ประหวั่นที่จะเผชิญการข่มเหง และไม่พยายามใช้วิธีการที่ไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์เพื่อหลีกเลี่ยงหรือยุติการข่มเหงนั้น. ตรงกันข้าม เราทำตามคำแนะนำของยาโกโบที่ว่า “ให้ความอดทนกระทำการจนสำเร็จครบถ้วน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ครบถ้วนและดีพร้อมไม่ขาดตกบกพร่องเลย.”—ยาโกโบ 1:2-4, ล.ม.
19 แม้ว่าพระคำของพระเจ้าช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าถูกข่มเหง และเข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาจึงยอมให้เกิดขึ้น แต่นั่นอาจไม่ช่วยให้เรารับมือกับการข่มเหงได้ง่ายขึ้นเสมอไป. อะไรจะเสริมกำลังเราให้ทนต่อการข่มเหงได้? เราจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญการข่มเหง? เราจะพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ เหล่านี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ดูหอสังเกตการณ์ 15 ธันวาคม 1995 หน้า 27-29; 15 เมษายน 1994 หน้า 16-17; และตื่นเถิด! 8 มกราคม 1994 หน้า 6-13.
b ดูตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) 8 มกราคม 2003 หน้า 3-11.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระเยซูเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อในความหมายใดเป็นประการสำคัญ?
• การข่มเหงส่งผลเช่นไรต่อคริสเตียนในศตวรรษแรก?
• ตามที่เปโตรอธิบาย เหตุใดคริสเตียนยุคแรกจึงถูกข่มเหง?
• พระยะโฮวาทรงยอมให้ผู้รับใช้ของพระองค์ประสบการข่มเหงด้วยเหตุผลประการใดบ้าง?
[ภาพหน้า 10, 11]
คริสเตียนในศตวรรษแรกทนทุกข์ ไม่ใช่เพราะการกระทำผิด แต่เพราะเป็นคริสเตียน
เปาโล
โยฮัน
อันทีพาส
ยาโกโบ
ซะเตฟาโน