ข่าวดีสำหรับคนยากจน
พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงลืมคนแร้นแค้นเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 9:18, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวถึงพระผู้สร้างของเราด้วยว่า “พระองค์ทรงแบพระหัตถ์, ประทานแก่สรรพสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ให้อิ่มตามความประสงค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:16) ความหวังที่พระคำของพระเจ้าเสนอแก่เรานี้ไม่ได้เป็นเพียงความฝัน. พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งสามารถประทานทุกสิ่งที่จำเป็นแก่เราเพื่อยุติความยากจน. แล้วคนยากจนจำเป็นต้องมีอะไร?
นักเศรษฐศาสตร์ชาวแอฟริกาคนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับประเทศยากจนก็คือ “ผู้เผด็จการที่มีเมตตาจิต.” คำกล่าวนี้บ่งชี้ว่าเพื่อจะยุติความยากจนจำเป็นต้องมีใครสักคนที่มีอำนาจสั่งการและทำด้วยความเมตตากรุณา. อาจกล่าวได้ด้วยว่าผู้ปกครองที่สามารถปราบความยากจนให้หมดสิ้นไปจะต้องมีอำนาจปกครองทั่วทั้งโลก เพราะความยากจนข้นแค้นมักเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันซึ่งมีอยู่ในสังคมมนุษย์ทุกชนชาติ. นอกจากนั้น ผู้ปกครองที่จะปราบความยากจนได้ต้องสามารถจัดการกับต้นเหตุของความยากจน ซึ่งก็คือนิสัยที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์. จะหาผู้ปกครองที่ดีเยี่ยมเช่นนั้นได้ที่ไหน?
พระเจ้าได้ส่งพระเยซูมาบนโลกพร้อมกับข่าวดีสำหรับคนยากจน. เมื่อพระเยซูลุกขึ้นอ่านข้อความจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับงานมอบหมายที่พระองค์ได้รับจากพระเจ้า พระองค์ตรัสว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่บนข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน.”—ลูกา 4:16-18
ข่าวดีอะไร?
พระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์แล้ว. นี่เป็นข่าวที่ดีจริง ๆ. พระเยซูเป็นผู้ปกครองที่จะปราบความยากจนให้หมดสิ้นไปได้อย่างแน่นอนเพราะ (1) พระองค์จะปกครองมวลมนุษย์ทั้งสิ้นและมีอำนาจที่จะยุติความยากจน (2) พระองค์ปฏิบัติต่อคนยากจนด้วยความเมตตาสงสารและสอนสาวกให้ห่วงใยคนเหล่านั้น และ (3) พระองค์สามารถขจัดต้นเหตุของความยากจนซึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวอันเป็นนิสัยที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด. ให้เรามาวิเคราะห์ดูข่าวดีทั้งสามแง่มุมนี้.
1. พระเยซูได้รับอำนาจเพื่อจะปกครองมนุษย์ทุกชาติ พระคำของพระเจ้ากล่าวถึงพระเยซูว่า “ผู้นั้นได้รับมอบรัช . . . เพื่อทุกประเทศทุกชาติทุกภาษาจะได้ปฏิบัติท่าน.” (ดานิเอล 7:14) คุณนึกภาพออกไหมว่าการมีรัฐบาลเดียวปกครองมนุษย์ทั่วทั้งโลกจะก่อผลดีอะไรบ้าง? การต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรโลกจะไม่มีอีกต่อไป. ทุกคนจะได้รับประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน. พระเยซูเองได้ให้คำรับรองว่าพระองค์จะเป็นผู้ปกครองมนุษย์โลกและทรงมีอำนาจที่จะยุติปัญหาเหล่านี้ได้. พระองค์ตรัสว่า “อำนาจทั้งสิ้นในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกได้ทรงมอบแก่เราแล้ว.”—มัดธาย 28:18
2. พระเยซูทรงสงสารคนยากจน ตลอดช่วงที่พระเยซูประกาศสั่งสอนบนแผ่นดินโลก พระองค์ปฏิบัติต่อคนยากจนด้วยความเมตตาสงสาร. ตัวอย่างเช่น หญิงคนหนึ่งที่เคยใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของเธอไปกับการรักษาโรคได้เข้ามาแตะฉลองพระองค์ของพระเยซูโดยหวังว่าจะหาย. เธอตกเลือดมา 12 ปีและเธอคงเป็นโรคโลหิตจางขั้นรุนแรงด้วย. ตามพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่ชาวยิว หากเธอแตะต้องผู้ใด ผู้นั้นก็จะเป็นมลทินไปด้วย. แต่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อเธอด้วยความกรุณา. พระองค์ตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของเจ้าทำให้เจ้าหายโรค. จงไปอย่างมีความสุขและหายจากอาการป่วยที่ทำให้เจ้าเป็นทุกข์เถิด.”—มาระโก 5:25-34
คำสอนของพระเยซูมีพลังถึงขั้นที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดจิตใจของตนและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตาสงสารเช่นเดียวกับพระองค์. ตัวอย่างเช่น ให้เรามาดูคำตอบที่พระเยซูให้กับชายคนหนึ่งซึ่งอยากรู้ว่าเขาควรทำอย่างไรเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย. ชายคนนั้นรู้ว่าพระเจ้าประสงค์ให้เรารักเพื่อนบ้าน แต่เขาถามพระเยซูว่า “ใครเล่าเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้าจริง ๆ?”
พระเยซูตอบเขาโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่หลายคนคุ้นเคยดีเกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งเดินทางจากกรุงเยรูซาเลมไปยังเมืองเยริโค แต่ถูกโจรปล้นและถูกทิ้งไว้ในสภาพ “ปางตาย.” ปุโรหิตคนหนึ่งเดินลงมาตามทางนั้น แต่เมื่อเห็นชายคนนั้นก็เลี่ยงไปอีกฟากหนึ่ง. ชาวเลวีอีกคนหนึ่งก็ทำอย่างเดียวกัน. “แต่เมื่อชาวซะมาเรียคนหนึ่งที่เดินทางผ่านมาเห็นชายคนนี้ก็รู้สึกสงสาร.” เขาทำแผลให้ชายคนนั้นแล้วพาไปที่โรงแรม. เขาจ่ายเงินให้เจ้าของโรงแรมและขอให้ดูแลชายที่บาดเจ็บนั้น. พระเยซูถามว่า “เจ้าว่าคนไหนเป็นเพื่อนบ้านของชายที่ถูกโจรปล้น?” เขาตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อชายคนนี้.” พระเยซูจึงตรัสว่า “จงไปทำอย่างนั้นเหมือนกัน.”—ลูกา 10:25-37
ผู้ที่เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาได้เรียนรู้คำสอนที่ดีเช่นนี้ของพระเยซู พวกเขาจึงเปลี่ยนความคิดของตนและหันมาใส่ใจช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก. ตัวอย่างเช่น นักเขียนชาวลัตเวียซึ่งเขียนหนังสือชื่อผู้หญิงในคุกของโซเวียต (ภาษาลัตเวีย) ได้เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เธอล้มป่วยขณะทำงานอยู่ในค่ายคุมขังปอตมาในช่วงกลางทศวรรษ 1960. เธอเขียนว่า “ตลอดเวลาที่ฉันป่วย [พยานฯ] คอยดูแลฉันอยู่ไม่ห่าง. ฉันคิดว่าไม่มีใครจะเอาใจใส่ฉันดีไปกว่านี้อีกแล้ว.” เธอกล่าวด้วยว่า “พยานพระยะโฮวาถือเป็นหน้าที่ที่จะช่วยเหลือทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติศาสนาใด.”
เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจทำให้พยานพระยะโฮวาบางคนในเมืองอังโคน ประเทศเอกวาดอร์ตกงาน เพื่อนพยานฯ ตัดสินใจว่าจะช่วยกันหาเงินเพื่อพี่น้องคริสเตียนที่เดือดร้อน. พวกเขาทำอาหารขายให้ชาวประมงที่กลับจากการหาปลาในตอนกลางคืน (รูปด้านขวา). ทุกคนในประชาคมต่างก็ให้ความร่วมมือ รวมทั้งพวกเด็ก ๆ ด้วย. พวกเขาเริ่มงานตั้งแต่ตีหนึ่งทุกวันเพื่อเตรียมอาหารให้พร้อมก่อนที่เรือประมงจะมาถึงในตอนตีสี่. พวกเขาแบ่งเงินที่หาได้ให้กับพยานฯ ที่เดือดร้อนตามความจำเป็นของแต่ละคน.
คำสอนของพระเยซูมีพลังมากจริง ๆ ถึงขนาดที่เปลี่ยนความคิดของคนเราให้หันมาใส่ใจผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ.
3. พระเยซูสามารถเปลี่ยนนิสัยของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดได้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งที่เห็นแก่ตัว. คัมภีร์ไบเบิลเรียกแนวโน้มนี้ว่าบาป. แม้แต่อัครสาวกเปาโลก็ยังเขียนว่า “ดังนั้น ข้าพเจ้าพบว่ามีกฎนี้อยู่ในตัวข้าพเจ้า คือ เมื่อข้าพเจ้าอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งชั่วก็อยู่ในตัวข้าพเจ้า.” และท่านเสริมว่า “ใครจะช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากกายที่ต้องตายนี้? ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์.” (โรม 7:21-25) ในข้อนี้เปาโลกำลังพูดถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าผ่านทางพระเยซูเพื่อช่วยผู้นมัสการแท้ให้หลุดพ้นแนวโน้มที่ผิดบาปซึ่งติดตัวมาแต่กำเนิด และแนวโน้มอย่างหนึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นต้นเหตุของความยากจน. พระองค์จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
หลังจากรับบัพติสมาแล้ว พระเยซูได้เสด็จไปหาโยฮันผู้ให้บัพติสมาและเขาได้บอกแก่ผู้คนว่า “ดูสิ พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป!” (โยฮัน 1:29) อีกไม่นาน ทั่วแผ่นดินโลกจะมีแต่คนที่ได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากบาปที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งรวมถึงแนวโน้มที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง. (ยะซายา 11:9) พระเยซูจะขจัดต้นเหตุของความยากจนให้หมดไป.
ช่างน่ายินดีจริง ๆ เมื่อนึกถึงสมัยที่ทุกคนจะมีสิ่งจำเป็นอย่างเพียงพอ! พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “ต่างคนก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน; และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว.” (มีคา 4:4) คำพรรณนานี้กล่าวถึงสมัยที่มนุษย์ทุกคนจะมีงานที่น่าพอใจ มีความมั่นคงปลอดภัย และมีโอกาสชื่นชมยินดีกับชีวิตอย่างเต็มที่ในโลกที่ปราศจากความยากจน ทั้งนี้ก็เพื่อพระยะโฮวาจะได้รับคำสรรเสริญ.