ทำไมความเจียมตัวจึงสำคัญ?
“คนเจียมตัวจะมีสติปัญญา”—สภษ. 11:2
1, 2. ทำไมพระยะโฮวาถอดซาอูลออกจากตำแหน่งกษัตริย์? (ดูภาพแรก)
ตอนที่พระยะโฮวาเลือกซาอูลเป็นกษัตริย์ เขาเป็นคนเจียมตัว (1 ซม. 9:1, 2, 21; 10:20-24) แต่พอได้เป็นกษัตริย์ เขาก็กลายเป็นคนหยิ่งและทำเกินสิทธิ์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พวกฟีลิสเตียหลายหมื่นคนยกทัพมาต่อสู้กับชาวอิสราเอล ผู้พยากรณ์ซามูเอลบอกซาอูลว่าจะมาถวายเครื่องบูชาให้พระยะโฮวา แต่ซามูเอลก็ไม่มาสักที ชาวอิสราเอลที่อยู่กับซาอูลเลยกลัวและหนีไป ซาอูลเริ่มทนไม่ไหวและไม่อยากรอ เขาจึงถวายเครื่องบูชาด้วยตัวเองทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิ์ทำอย่างนั้น พระยะโฮวาไม่พอใจมากที่เขาทำอย่างนั้น—1 ซม. 13:5-9
2 พอซามูเอลมาถึงก็ต่อว่าซาอูลที่ไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา แต่ซาอูลคิดว่าตัวเองไม่ผิด เขาหาข้อแก้ตัวและถึงขั้นโทษคนอื่น (1 ซม. 13:10-14) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซาอูลก็ทำเกินสิทธิ์หลายครั้ง พระยะโฮวาจึงถอดเขาออกจากตำแหน่งกษัตริย์ (1 ซม. 15:22, 23) ชีวิตของซาอูลเริ่มต้นอย่างดีแต่จบลงอย่างเลวร้าย—1 ซม. 31:1-6
3. (ก) หลายคนคิดอย่างไรเกี่ยวกับความเจียมตัว? (ข) เราจะตอบคำถามอะไรในบทความนี้?
3 ในโลกที่มีแต่การแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน ผู้คนโอ้อวดเพื่อแสดงว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น พวกเขาคิดว่าเพื่อจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือในหน้าที่การงาน เขาจะเป็นคนเจียมตัวไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่เป็นทั้งนักแสดงและนักการเมืองเคยพูดไว้ว่า “ความเจียมตัวมันใช้กับผมไม่ได้หรอก และไม่มีวันที่ผมจะใช้คำนี้ด้วย” แต่ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่คริสเตียนต้องเป็นคนเจียมตัว? ความเจียมตัวหมายถึงอะไรและไม่ได้หมายถึงอะไร? ในบทความนี้เราจะได้คำตอบ และในบทความหน้าเราจะดูว่า เราจะเป็นคนเจียมตัวเสมอได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ไม่ง่ายที่จะทำอย่างนั้น
ทำไมเราต้องเจียมตัว?
4. การทำเกินสิทธิ์คืออะไร?
4 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าการทำเกินสิทธิ์เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเจียมตัว (อ่านสุภาษิต 11:2) ดาวิดขอพระยะโฮวาว่า “ขอห้ามผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ให้ทำเกินสิทธิ์” (สด. 19:13) การทำเกินสิทธิ์คืออะไร? คือการทำบางสิ่งที่เราไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิ์ที่จะทำ อาจเป็นเพราะเราหยิ่งหรือขาดความอดทน บางครั้งเราทุกคนอาจทำเกินสิทธิ์เพราะเราไม่สมบูรณ์ แต่จากตัวอย่างที่ไม่ดีของซาอูล เราเห็นว่าถ้าเราทำเกินสิทธิ์จนเป็นนิสัย พระยะโฮวาก็จะไม่พอใจเรามาก สดุดี 119:21 บอกว่า พระยะโฮวาจะ “ตำหนิคนอวดดี” หรือคนที่ทำเกินสิทธิ์ ทำไมพระองค์ทำแบบนั้น?
5. ทำไมการทำเกินสิทธิ์เป็นเรื่องร้ายแรง?
5 การทำเกินสิทธิ์เป็นเรื่องร้ายแรง เพราะอะไร? อย่างแรก ถ้าเราทำเกินสิทธิ์ เราก็กำลังแสดงว่าเราไม่ให้เกียรติพระยะโฮวาซึ่งเป็นพระเจ้าและผู้ปกครองเรา อย่างที่สอง ถ้าเราทำสิ่งที่เราไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจที่จะทำ เราอาจจะมีปัญหาขัดแย้งกับคนอื่น ๆ (สภษ. 13:10) และสาม เป็นเรื่องน่าอายถ้าคนอื่นรู้ว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำ (ลก. 14:8, 9) เราเห็นชัดเจนถึงเหตุผลที่พระยะโฮวาอยากให้เราเป็นคนเจียมตัว
ความเจียมตัวเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?
6, 7. ความเจียมตัวกับความถ่อมตัวเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
6 ความเจียมตัวกับความถ่อมตัวเกี่ยวข้องกันอย่างมาก คริสเตียนที่ถ่อมตัวจะไม่หยิ่งแต่จะมองว่าคนอื่นดีกว่าตัวเอง (ฟป. 2:3) ปกติแล้วคนที่ถ่อมตัวจะเป็นคนที่เจียมตัวด้วย เขาจะรู้ว่าตัวเองมีขีดจำกัดและจะถ่อมตัวยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง คนแบบนี้จะเต็มใจฟังความคิดเห็นของคนอื่นและเรียนรู้จากคนอื่น ๆ พระยะโฮวารักคนที่ถ่อมตัวมากจริง ๆ
7 ในคัมภีร์ไบเบิล คนที่เจียมตัวรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าเขาทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ และรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะทำไหม นี่ช่วยให้เขาให้เกียรติคนอื่น ๆ และปฏิบัติกับคนอื่นอย่างกรุณา
8. เพื่อจะเป็นคนเจียมตัวเราต้องหลีกเลี่ยงความคิดแบบไหน?
8 โดยไม่รู้ตัว เราอาจคิดที่จะทำสิ่งที่เราไม่มีสิทธิ์ เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เราอาจเริ่มคิดว่าเราสำคัญกว่าคนอื่นเพราะเราหรือคนที่เราสนิทด้วยมีหน้าที่สำคัญในประชาคม (รม. 12:16) หรือเราอาจพยายามทำตัวเป็นจุดสนใจ (1 ทธ. 2:9, 10) หรือเราอาจถึงขั้นเริ่มบอกคนอื่นว่าพวกเขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร—1 คร. 4:6
9. ทำไมบางคนกลายเป็นคนทำเกินสิทธิ์? ขอยกตัวอย่างจากคัมภีร์ไบเบิล
9 ถ้าเราไม่ควบคุมความรู้สึกที่ไม่ถูกต้อง เราอาจเริ่มทำสิ่งที่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำ เช่น บางคนชอบให้คนอื่นมายกย่องให้เกียรติตัวเขา บางคนอิจฉาคนอื่น ส่วนบางคนก็ไม่ควบคุมความโกรธของตัวเอง นิสัยแบบนี้แหละที่ทำให้หลายคนกลายเป็นคนทำเกินสิทธิ์ เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับบางคนในคัมภีร์ไบเบิลด้วย เช่น อับซาโลม อุสซียาห์ และเนบูคัดเนสซาร์ พระยะโฮวาทำให้พวกเขาสำนึกว่าพวกเขาต้องเป็นคนถ่อมตัว—2 ซม. 15:1-6; 18:9-17; 2 พศ. 26:16-21; ดนล. 5:18-21
10. ทำไมเราไม่ควรตัดสินคนอื่น? ขอยกตัวอย่างจากคัมภีร์ไบเบิล
10 ยังมีเหตุผลอย่างอื่นอีกที่ผู้คนไม่ได้แสดงความเจียมตัวในบางครั้ง ลองคิดถึงตัวอย่างของอาบีเมเลคกับเปโตร (ปฐก. 20:2-7; มธ. 26:31-35) แต่สองคนนี้เป็นคนชอบทำเกินสิทธิ์ไหม? เป็นไปได้ไหมที่พวกเขาทำเพราะไม่รู้ความจริงทั้งหมด? หรือลงมือทำโดยไม่คิดให้ดีก่อน? เนื่องจากเราอ่านหัวใจคนอื่นไม่ได้ เราจึงไม่ควรตัดสินว่าพวกเขาคิดอย่างไรจริง ๆ—อ่านยากอบ 4:12
บทบาทของคุณในการจัดเตรียมของพระเจ้า
11. ความเจียมตัวเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเข้าใจบทบาทของตัวเองในการจัดเตรียมของพระเจ้า?
11 คนเจียมตัวเข้าใจบทบาทของตัวเองในการจัดเตรียมของพระเจ้า พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่มีระเบียบ พระองค์ให้พี่น้องแต่ละคนในประชาคมมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง พวกเราทุกคนมีความสำคัญกับประชาคม พระยะโฮวาให้เราแต่ละคนมีพรสวรรค์ ความสามารถ ความชำนาญที่ไม่เหมือนกัน และพระองค์ให้เราเลือกเองว่าจะใช้สิ่งเหล่านี้อย่างไร ถ้าเราเจียมตัว เราก็จะใช้ความสามารถที่พระยะโฮวาให้ในแบบที่พระองค์ต้องการ (รม. 12:4-8) เรารู้ว่าพระยะโฮวาอยากให้เราใช้สิ่งต่าง ๆ นี้เพื่อสรรเสริญพระองค์และช่วยคนอื่น—อ่าน 1 เปโตร 4:10
12, 13. ทำไมไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานมอบหมายหรือหน้าที่รับผิดชอบของเราอาจเปลี่ยนไป?
12 เมื่อเวลาผ่านไป งานมอบหมายหรือหน้าที่รับผิดชอบของเราอาจเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ลองคิดถึงงานมอบหมายของพระเยซู ท่านต้องเปลี่ยนงานหลายครั้ง ตอนแรกมีแค่พระเยซูกับพระยะโฮวาเท่านั้น (สภษ. 8:22) ต่อมาพระยะโฮวาให้พระเยซูช่วยสร้างทูตสวรรค์ สร้างเอกภพ และสร้างมนุษย์ (คส. 1:16) จากนั้น พระเยซูก็ถูกส่งมาที่โลก ท่านมาเกิดเป็นทารกและโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ (ฟป. 2:7) หลังจากพระเยซูตาย ท่านกลับไปสวรรค์ พอถึงปี 1914 ท่านก็เป็นกษัตริย์ปกครองในรัฐบาลของพระเจ้า (ฮบ. 2:9) และในอนาคต หลังจากที่พระเยซูปกครองเป็นกษัตริย์ได้ 1,000 ปี ท่านก็จะคืนการปกครองนั้นให้กับพระยะโฮวาเพื่อที่ “พระเจ้าจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับทุกคน”—1 คร. 15:28
13 เราก็เหมือนกัน ชีวิตเราอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง บางครั้งหน้าที่รับผิดชอบของเราก็เปลี่ยนไปเพราะการตัดสินใจของเราเอง ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เราอาจยังเป็นโสด แล้วเราก็ตัดสินใจแต่งงาน แล้วก็อาจจะตัดสินใจมีลูก จากนั้น เราอาจตัดสินใจปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา นอกจากนั้น หน้าที่รับผิดชอบของเราอาจเปลี่ยนไปเพราะสภาพการณ์ในชีวิตของเราเปลี่ยนไป เราอาจทำได้มากขึ้นหรือทำได้น้อยลง แต่ไม่ว่าเราจะอายุมากหรือน้อย สุขภาพดีหรือไม่ดี พระยะโฮวารู้ว่าเราแต่ละคนจะรับใช้พระองค์แบบไหนถึงจะดีที่สุด พระเจ้าไม่คาดหมายมากกว่าสิ่งที่เราทำได้ และพระองค์เห็นค่าทุกสิ่งที่เราทำเพื่อพระองค์—ฮบ. 6:10
14. การเป็นคนเจียมตัวช่วยเราอย่างไรให้พอใจและมีความสุข?
14 พระเยซูมีความสุขกับงานมอบหมายทุกอย่างที่พระยะโฮวาให้ท่านทำ เราเองก็น่าจะรู้สึกแบบนั้นด้วย (สภษ. 8:30, 31) คนที่เจียมตัวจะพอใจกับงานมอบหมายหรือหน้าที่รับผิดชอบที่เขาได้รับในประชาคม เขาจะไม่มัวแต่สนใจว่าคนอื่นได้งานมอบหมายอะไร แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาพอใจกับบทบาทของตัวเองในองค์การของพระเจ้า เขามองว่าหน้าที่มอบหมายที่เขาได้รับนั้นมาจากพระยะโฮวา และเขารู้ว่าพระองค์ก็ให้คนอื่นมีบทบาทบางอย่างด้วยเหมือนกัน ดังนั้น เขานับถือบทบาทของคนอื่นและมีความสุขที่ได้สนับสนุนคนอื่นให้ทำหน้าที่อย่างดี—รม. 12:10
มุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเจียมตัว
15. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของกิเดโอน?
15 กิเดโอนเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในเรื่องความเจียมตัว ตอนที่พระยะโฮวาให้เขาช่วยชาติอิสราเอลให้รอดจากชาวมีเดียน กิเดโอนบอกว่า “วงศ์ตระกูลของผมก็เล็กที่สุดในตระกูลมนัสเสห์ แถมผมยังไม่ใช่คนโดดเด่นอะไรในบ้านของพ่อด้วย” (วนฉ. 6:15) แต่กิเดโอนวางใจพระยะโฮวาและยอมรับงานมอบหมายนั้น จากนั้นกิเดโอนทำบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าพระยะโฮวาอยากให้เขาทำอะไรและพระองค์อยากให้เขาทำงานนั้นจริง ๆ ไหม เขาอธิษฐานเพื่อขอการชี้นำจากพระเจ้า (วนฉ. 6:36-40) กิเดโอนเป็นคนเข้มแข็งและกล้าหาญ เขายังฉลาดและสุขุมรอบคอบด้วย (วนฉ. 6:11, 27) ต่อมา ผู้คนอยากให้กิเดโอนปกครองพวกเขา แต่กิเดโอนไม่ยอมทำอย่างนั้น หลังจากที่เขาได้ทำสิ่งที่พระยะโฮวาบอกให้ทำแล้ว กิเดโอนก็กลับไปบ้านของตัวเอง—วนฉ. 8:22, 23, 29
16, 17. คนที่เจียมตัวมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับความก้าวหน้า?
16 การเป็นคนเจียมตัวไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รับงานมอบหมายใหม่เลยหรือไม่ยอมทำงานในประชาคมมากขึ้น คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้ผู้รับใช้ของพระเจ้ารับใช้พี่น้องมากขึ้นและพยายามก้าวหน้ามากขึ้น (1 ทธ. 4:13-15) แต่ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการได้รับงานมอบหมายใหม่ไหม? ไม่ เราทุกคนสามารถก้าวหน้ามากขึ้นได้โดยพัฒนาบุคลิกแบบคริสเตียนและพัฒนาความสามารถของเรา ถ้าเราทำแบบนี้ เราจะรับใช้พระเจ้าได้ดีขึ้นและช่วยคนอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วย
17 ก่อนรับงานมอบหมายใหม่ คนที่เจียมตัวจะคิดก่อนว่างานนี้เรียกร้องอะไรจากเขาบ้าง เขาจะอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้และคิดอย่างจริงจังว่าเขาจะทำงานนี้ได้ไหม เขาอาจลองคิดว่า การรับงานมอบหมายใหม่จะทำให้เขาละเลยหน้าที่รับผิดชอบสำคัญที่เขากำลังทำไหม? เขาจะเอางานหรือหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ให้คนอื่นทำแทนได้ไหม? หลังจากคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนที่เจียมตัวอาจตัดสินใจว่าถ้าเขารับงานมอบหมายใหม่ เขาก็อาจทำได้ไม่ดีพอ ดังนั้น ถ้าเราเจียมตัว เราอาจจะต้องปฏิเสธงานนั้น
18. (ก) คนที่เจียมตัวจะทำอะไรถ้าเขาได้งานมอบหมายใหม่? (ข) โรม 12:3 ช่วยเราอย่างไรให้เป็นคนเจียมตัว?
18 พระยะโฮวาอยากให้เรา “ใช้ชีวิตตามแนวทางของพระเจ้าด้วยความเจียมตัว” (มคา. 6:8) ดังนั้น ถ้าเราได้รับงานมอบหมายใหม่ เราควรทำเหมือนกิเดโอนโดยอธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วย มองหาคำแนะนำของพระองค์จากคัมภีร์ไบเบิลและองค์การ และคิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ ขอเราจำไว้เสมอว่า ที่เราทำงานมอบหมายได้ ไม่ใช่เพราะความสามารถของเราเอง แต่เพราะพระยะโฮวาถ่อมตัวลงและอยากจะช่วยเรา (สด. 18:35) คนที่เจียมตัวจะไม่ “คิดถึงตัวเองมากเกินไป”—อ่านโรม 12:3
19. มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราควรเป็นคนเจียมตัว?
19 คนเจียมตัวรู้ดีว่าพระยะโฮวาผู้เดียวที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ เพราะพระองค์เป็นผู้สร้างและเป็นพระเจ้าองค์สูงสุดในเอกภพ (วว. 4:11) ถ้าเราเจียมตัว เราจะมีความสุขกับงานทุกอย่างที่พระยะโฮวาให้เราทำ เราจะคิดถึงความรู้สึกของพี่น้องชายหญิงของเราและเคารพความคิดเห็นของพวกเขา การทำอย่างนั้นทำให้เราทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน คนที่เจียมตัวคิดอย่างรอบคอบก่อนจะทำอะไร ซึ่งจะช่วยให้เขาไม่ทำผิดพลาดร้ายแรง พระยะโฮวารักคนที่เจียมตัว ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ความเจียมตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้า ในบทความหน้า เราจะดูว่าเราจะเป็นคนเจียมตัวเสมอได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ไม่ง่ายที่จะทำอย่างนั้น