คุณแสดงน้ำใจแบบใด?
“ขอให้พระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เจ้าจงมีแก่ท่านทั้งหลายเนื่องด้วยน้ำใจที่พวกท่านได้แสดง.”—ฟิเล. 25
1. ในจดหมายที่เขียนถึงประชาคมต่าง ๆ เปาโลกล่าวถึงอะไรหลายครั้ง?
เมื่อเขียนถึงเพื่อนร่วมความเชื่อ อัครสาวกเปาโลกล่าวหลายครั้งหลายหนว่าท่านหวังว่าพระเจ้าและพระคริสต์จะพอพระทัยน้ำใจที่ประชาคมต่าง ๆ ได้แสดง. ตัวอย่างเช่น ท่านเขียนถึงพี่น้องในประชาคมกาลาเทียว่า “พี่น้องทั้งหลาย ขอให้พระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เจ้าจงมีแก่ท่านทั้งหลายเนื่องด้วยน้ำใจที่พวกท่านได้แสดง. อาเมน.” (กลา. 6:18) เปาโลหมายถึงอะไรเมื่อท่านกล่าวถึง “น้ำใจที่พวกท่านได้แสดง”?
2, 3. (ก) เมื่อเปาโลใช้คำว่า “น้ำใจ” บางครั้งท่านหมายถึงอะไร? (ข) เราอาจถามตัวเองเช่นไรเกี่ยวกับน้ำใจที่เราแสดง?
2 คำว่า “น้ำใจ” ที่เปาโลใช้ในที่นี้หมายถึงแรงกระตุ้นที่ทำให้เราพูดหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง. คนหนึ่งอาจเป็นคนสุภาพ คำนึงถึงผู้อื่น มีจิตใจอ่อนโยน เอื้อเฟื้อ หรือพร้อมจะให้อภัย. คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้คนเรามี “ใจที่สงบเสงี่ยมและอ่อนโยน” และ “มีอารมณ์เยือกเย็น.” (1 เป. 3:4; สุภา. 17:27) ในทางตรงกันข้าม อีกคนหนึ่งอาจเป็นคนชอบพูดกระทบกระเทียบ นิยมวัตถุ โกรธง่าย หรือมีน้ำใจเอกเทศ. ที่แย่ยิ่งกว่านั้น บางคนมีน้ำใจที่ไม่สะอาด ไม่เชื่อฟัง หรือแม้แต่ขืนอำนาจ.
3 ด้วยเหตุนั้น เมื่อเปาโลใช้วลีต่าง ๆ อย่างเช่น “ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับท่านเนื่องด้วยน้ำใจที่ท่านได้แสดง” ท่านกำลังสนับสนุนพี่น้องให้แสดงน้ำใจที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าและบุคลิกภาพแบบพระคริสต์. (2 ติโม. 4:22; อ่านโกโลซาย 3:9-12) ในทุกวันนี้ เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันแสดงน้ำใจแบบใด? ฉันจะแสดงน้ำใจแบบที่พระเจ้าทรงพอพระทัยให้เต็มที่ยิ่งขึ้นได้อย่างไร? ฉันจะมีส่วนมากขึ้นในการทำให้น้ำใจโดยรวมของประชาคมดีได้อย่างไร?’ เพื่อช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ ขอให้นึกถึงทุ่งทานตะวัน. ดอกทานตะวันแต่ละดอกที่มีสีสดใสช่วยทำให้ทั้งทุ่งดูงดงาม. เราเป็นเหมือนกับ “ดอกไม้” ที่เพิ่มความงดงามให้แก่ประชาคมไหม? แน่นอน เราควรพยายามเป็นเช่นนั้น. ตอนนี้ ขอให้เรามาดูกันว่าเราจะทำอะไรได้เพื่อจะแสดงน้ำใจแบบที่พระเจ้าทรงพอพระทัย.
จงหลีกเลี่ยงน้ำใจของโลก
4. “น้ำใจของโลก” คืออะไร?
4 พระคัมภีร์บอกเราว่า “เราไม่ได้รับน้ำใจของโลก แต่ได้รับพระวิญญาณจากพระเจ้า.” (1 โค. 2:12) “น้ำใจของโลก” คืออะไร? น้ำใจของโลกคือน้ำใจอย่างเดียวกับที่มีการกล่าวถึงในเอเฟโซส์ 2:2 ที่ว่า “พวกท่านเคยดำเนินชีวิตตามอย่างคนในโลกยุคนี้ ตามผู้ครองอำนาจเหนือน้ำใจของโลกที่แทรกซึมอยู่ทุกหนทุกแห่งเหมือนอากาศซึ่งขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในคน [“ลูกทั้งหลาย,” เชิงอรรถ] ที่ไม่เชื่อฟัง.” น้ำใจหรือทัศนคติของโลกมีอยู่รอบตัวเราเหมือนกับอากาศและมีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง. บ่อยครั้งเราเห็นหลายคนในทุกวันนี้มีทัศนคติที่ว่า ‘ไม่ต้องมาบอกว่าฉันควรทำอะไร!’ หรือ ‘คุณต้องสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ของคุณ!’ พวกเขาเป็น “ลูกทั้งหลายที่ไม่เชื่อฟัง” แห่งโลกของซาตาน.
5. บางคนในชาติอิสราเอลแสดงน้ำใจที่ไม่ดีเช่นไร?
5 ทัศนคติเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่. ในสมัยของโมเซ โคราต่อต้านผู้มีอำนาจในชาติอิสราเอล. เขามุ่งโจมตีอาโรนและบุตรซึ่งมีสิทธิพิเศษได้รับใช้เป็นปุโรหิต. เขาอาจเห็นข้อบกพร่องของอาโรนและบุตร. หรือเขาอาจชักเหตุผลว่าโมเซให้สิทธิพิเศษแก่พวกเขาเพราะพวกเขาเป็นญาติ. ไม่ว่าจริง ๆ แล้วเขาคิดอย่างไร เห็นได้ชัดว่าโคราเริ่มมองสิ่งต่าง ๆ ตามมุมมองของมนุษย์ โดยพูดต่อต้านคนที่พระยะโฮวาทรงแต่งตั้ง และบอกกับพวกเขาอย่างไม่แสดงความนับถือว่า “ท่านทำเกินเหตุไป . . . เหตุใดท่านจึงผยองขึ้นเหนือที่ประชุมแห่งพระเจ้า.” (อาฤ. 16:3, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971) คล้ายกัน ดาธานกับอะบีรามบ่นต่อว่าโมเซโดยบอกว่าท่านตั้งตัวขึ้นเป็นนายบังคับพวกเขา. เมื่อโมเซให้คนไปเรียกพวกเขามาหา พวกเขาก็ตอบอย่างโอหังว่า “เราไม่ไป.” (อาฤ. 16:12-14) เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาไม่พอพระทัยที่พวกเขาแสดงน้ำใจอย่างนี้. พระองค์ทรงสังหารพวกผู้ขืนอำนาจทั้งหมด.—อาฤ. 16:28-35
6. บางคนในศตวรรษแรกเผยให้เห็นว่าพวกเขามีทัศนคติที่ไม่ดีอย่างไร และอะไรอาจเป็นสาเหตุ?
6 บางคนในศตวรรษแรก “ไม่นับถือผู้ทำหน้าที่ปกครอง” ด้วย โดยวิพากษ์วิจารณ์คนที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจในประชาคม. (ยูดา 8) คนเหล่านี้คงไม่พอใจกับสิทธิพิเศษที่ตนเองมีอยู่และพยายามชักนำคนอื่น ๆ ให้ต่อต้านผู้ที่ได้รับแต่งตั้งซึ่งกำลังทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอย่างดีที่สุด.—อ่าน 3 โยฮัน 9, 10
7. เราควรระวังที่จะไม่มีน้ำใจเช่นไร?
7 น้ำใจเช่นนั้นไม่ควรมีอยู่ในประชาคมคริสเตียน ดังนั้น เราทุกคนต้องระวังที่จะไม่ให้น้ำใจแบบนี้เกิดขึ้น. ผู้ปกครองในประชาคมเป็นคนไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยของโมเซและในสมัยของอัครสาวกโยฮัน. ผู้ปกครองอาจทำอะไรบางอย่างผิดพลาดซึ่งมีผลต่อเราเป็นส่วนตัว. ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เราไม่ควรแสดงปฏิกิริยาแบบเดียวกับผู้คนในโลกที่เรียกร้อง “ความยุติธรรม” หรือเรียกร้องให้ “จัดการกับผู้ปกครองคนนี้”! พระยะโฮวาอาจเลือกที่จะมองข้ามข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่าง. เราจะทำอย่างเดียวกันนั้นไม่ได้หรือ? เนื่องจากบางคนที่ทำผิดร้ายแรงมองว่าผู้ปกครองที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเขามีข้อบกพร่อง พวกเขาจึงปฏิเสธที่จะไปพบคณะกรรมการตัดสินความ. นี่อาจเปรียบได้กับผู้ป่วยที่ไม่ยอมเข้ารับการรักษาซึ่งจะทำให้เขาหายป่วยเพราะเขาไม่ชอบอะไรบางอย่างในตัวแพทย์.
8. พระคัมภีร์ข้อใดที่อาจช่วยเราให้รักษาทัศนะที่เหมาะสมต่อผู้ที่นำหน้าในประชาคม?
8 เราจะหลีกเลี่ยงน้ำใจแบบนั้นได้ถ้าเราจำไว้ว่าพระเยซูทรงมี “ดาวเจ็ดดวงในพระหัตถ์ขวา” ของพระองค์. “ดาว” เหล่านี้หมายถึงผู้ดูแลที่เป็นผู้ถูกเจิมและยังหมายถึงผู้ปกครองทั้งหมดในประชาคมต่าง ๆ. พระเยซูสามารถชี้นำ “ดาว” ที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ให้ทำอะไรก็ตามที่ทรงเห็นว่าสมควร. (วิ. 1:16, 20) ด้วยเหตุนั้น ในฐานะประมุขของประชาคมคริสเตียน พระเยซูทรงทราบดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นในหมู่ผู้ปกครอง. ถ้ามีบางคนในคณะผู้ปกครองจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข พระองค์ผู้มี ‘พระเนตรดุจเปลวไฟ’ จะทรงจัดการให้เขาได้รับการแก้ไขตามเวลาและวิธีของพระองค์เองอย่างแน่นอน. (วิ. 1:14) ในระหว่างนี้ เราควรแสดงความนับถืออย่างเหมาะสมต่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะเปาโลเขียนว่า “จงเชื่อฟังผู้ที่นำหน้าท่ามกลางท่านทั้งหลายและยอมรับอำนาจของพวกเขา เพราะคนเหล่านั้นคอยดูแลพวกท่านเหมือนเป็นผู้ที่ต้องถวายรายงาน เพื่อพวกเขาจะดูแลพวกท่านด้วยความยินดี ไม่ใช่ด้วยการทอดถอนใจซึ่งจะก่อผลเสียหายแก่พวกท่าน.”—ฮีบรู 13:17
9. (ก) คริสเตียนอาจถูกทดสอบเช่นไรถ้าเขาถูกว่ากล่าวแก้ไขหรือถูกตีสอน? (ข) เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อถูกว่ากล่าวแก้ไข?
9 นอกจากนั้น น้ำใจของคริสเตียนยังอาจถูกทดสอบถ้าเขาถูกว่ากล่าวแก้ไขหรือสูญเสียสิทธิพิเศษในประชาคม. พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งได้รับคำแนะนำอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาจากผู้ปกครองเกี่ยวกับการเล่นวิดีโอเกมที่รุนแรง. น่าเสียดาย เขาไม่ยอมรับคำแนะนำและต้องถูกถอดจากการเป็นผู้ช่วยงานรับใช้เนื่องจากเขาไม่บรรลุคุณสมบัติตามหลักพระคัมภีร์อีกต่อไป. (เพลง. 11:5; 1 ติโม. 3:8-10) ในเวลาต่อมา พี่น้องชายคนนี้บอกคนอื่น ๆ ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของผู้ปกครอง. เขาถึงกับเขียนจดหมายหลายฉบับไปถึงสำนักงานสาขาวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองในประชาคม. เขายังพยายามโน้มน้าวคนอื่นในประชาคมให้เขียนจดหมายถึงสำนักงานสาขาด้วย. แต่ที่แท้แล้วการพยายามหาข้อแก้ตัวเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ผิดจะทำลายสันติสุขของทั้งประชาคมและไม่ทำให้ใครได้รับประโยชน์. นับว่าดีกว่าสักเพียงไรที่เราจะมองการว่ากล่าวแก้ไขว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นข้ออ่อนแอที่เราไม่รู้ตัวแล้วยอมรับการว่ากล่าวแก้ไขนั้น.—อ่านบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:28, 29
10. (ก) ยาโกโบ 3:16-18 บอกให้เราทราบอะไรเกี่ยวกับน้ำใจที่ดีและที่ไม่ดี? (ข) การแสดง “สติปัญญาจากเบื้องบน” ก่อให้เกิดผลเช่นไร?
10 ยาโกโบ 3:16-18 บอกให้เราทราบว่าน้ำใจที่ถูกต้องที่ควรแสดงในประชาคมเป็นเช่นไร และน้ำใจเช่นไรที่ไม่ถูกต้อง. ข้อคัมภีร์นี้กล่าวว่า “ที่ใดมีความริษยาและความคิดชิงดีชิงเด่น ที่นั่นย่อมมีความวุ่นวายและสิ่งชั่วร้ายทุกอย่าง. แต่สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น ประการแรก บริสุทธิ์ แล้วก็ทำให้มีสันติ มีเหตุผล พร้อมจะเชื่อฟัง เปี่ยมด้วยความเมตตาและผลอันดี ไม่ลำเอียง ไม่หน้าซื่อใจคด. อีกประการหนึ่ง เมล็ดที่เกิดผลแห่งความชอบธรรมถูกหว่านในสภาพที่มีสันติสุขเพื่อประโยชน์ของผู้ที่สร้างสันติสุข.” ถ้าเราพยายามทำอย่างที่ประสานกับ “สติปัญญาจากเบื้องบน” เราก็กำลังเลียนแบบคุณลักษณะของพระเจ้า. โดยวิธีนี้ เราส่งเสริมคนอื่น ๆ ในประชาคมให้มีน้ำใจที่ดี.
จงแสดงความนับถือในประชาคม
11. (ก) ถ้าเรามีทัศนะที่ถูกต้อง เราจะไม่ทำอะไร? (ข) เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของดาวิด?
11 เราควรจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองไว้ “ให้บำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า.” (กิจ. 20:28; 1 เป. 5:2) ด้วยเหตุนั้น เราตระหนักว่าเป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุมที่จะนับถือการจัดเตรียมของพระเจ้า ไม่ว่าเราเป็นผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม. ถ้าเรามีทัศนะที่ถูกต้อง เราจะไม่ให้ความสำคัญมากเกินไปในเรื่องการมีอำนาจหรือหน้าที่รับผิดชอบ. เมื่อกษัตริย์ซาอูลแห่งอิสราเอลรู้สึกว่าดาวิดเริ่มเป็นภัยคุกคามต่อตำแหน่งกษัตริย์ของตน ซาอูล “ไม่ไว้ใจ, ก็คอยระวังดูดาวิด.” (1 ซามู. 18:9) ซาอูลบ่มเพาะน้ำใจที่ไม่ดีและถึงกับต้องการฆ่าดาวิด. แทนที่จะเป็นห่วงมากเกินไปในเรื่องฐานะตำแหน่งเหมือนกับซาอูล นับว่าดีกว่ามากที่จะเป็นเหมือนกับดาวิด. แม้ว่าดาวิดประสบความอยุติธรรมมากมาย ชายหนุ่มผู้นี้ยังคงนับถือผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งอยู่เสมอ.—อ่าน 1 ซามูเอล 26:23
12. เราอาจทำอะไรได้เพื่อช่วยรักษาเอกภาพของประชาคม?
12 การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นได้ในประชาคม แม้แต่ในหมู่ผู้ปกครอง. คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลอาจช่วยเราได้ในเรื่องนี้: “จงนำหน้าในการให้เกียรติกัน” และ “อย่าถือว่าตัวฉลาด.” (โรม 12:10, 16) แทนที่จะยืนกรานว่าเราเป็นฝ่ายถูก เราควรยอมรับว่าบ่อยครั้งมีวิธีคิดที่ถูกต้องมากกว่าหนึ่งวิธี. ถ้าเราพยายามเข้าใจทัศนะของคนอื่น เราก็จะมีส่วนในการทำให้ประชาคมมีเอกภาพ.—ฟิลิป. 4:5
13. เราควรมองความคิดเห็นของเราเองอย่างไร และมีตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยเราในเรื่องนี้?
13 นี่หมายความว่าเป็นเรื่องผิดไหมที่จะเสนอความคิดเห็นถ้าเราเห็นว่ามีอะไรบางอย่างในประชาคมที่เราคิดว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน? ไม่. ในศตวรรษแรก มีประเด็นหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งทำให้เกิดการโต้เถียงกันมาก. เปาโลกับบาร์นาบัสและพี่น้องบางคน “ได้รับมอบหมายให้ขึ้นไปหาอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่ในกรุงเยรูซาเลมเกี่ยวด้วยเรื่องที่โต้เถียงกันนี้.” (กิจ. 15:2) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพี่น้องเหล่านี้แต่ละคนต่างก็มีความคิดเห็นว่าควรจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างไร. แต่หลังจากที่แต่ละคนแสดงความคิดเห็นของตนออกมาและมีการตัดสินโดยได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณ พี่น้องเหล่านี้ก็ไม่พูดถึงความคิดเห็นของตนเองอีกต่อไป. เมื่อจดหมายที่แจ้งเรื่องการตัดสินดังกล่าวไปถึงประชาคมต่าง ๆ พวกเขา “ต่างก็ชื่นชมยินดีเนื่องจากการหนุนกำลังใจนั้น” และ “มีความเชื่อที่มั่นคง.” (กิจ. 15:31; 16:4, 5) ในทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่เราพูดกับผู้ปกครองถึงเรื่องที่เราเป็นห่วงแล้ว เราควรไว้วางใจว่าพวกเขาจะพิจารณาเรื่องนั้นอย่างรอบคอบและตัดสินว่าจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างหรือไม่.
จงแสดงน้ำใจที่ดีในความสัมพันธ์ส่วนตัว
14. เราจะแสดงน้ำใจที่ดีในความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับคนอื่นได้อย่างไร?
14 ในความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับคนอื่น ๆ มีหลายโอกาสที่เราจะแสดงน้ำใจที่ดีได้. ถ้าเราแต่ละคนพร้อมจะให้อภัยเมื่อคนอื่นทำให้เราขุ่นเคือง เราสามารถก่อให้เกิดผลที่ดีได้มาก. พระคำของพระเจ้าบอกเราว่า “จงทนกันและกันเรื่อยไปและให้อภัยกันอย่างใจกว้างถ้าใครมีเหตุจะบ่นว่าผู้อื่น. พระยะโฮวาเต็มพระทัยให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลายก็จงทำอย่างนั้น.” (โกโล. 3:13) วลี “ถ้าใครมีเหตุจะบ่นว่าผู้อื่น” แสดงว่าอาจมีเหตุผลสมควรที่จะขุ่นเคืองคนอื่น. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเป็นห่วงมากเกินไปในเรื่องข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และทำลายสันติสุขของประชาคม เราพยายามเลียนแบบพระยะโฮวาและให้อภัยอย่างใจกว้าง และรับใช้ร่วมกันต่อ ๆ ไป.
15. (ก) เราอาจเรียนอะไรได้จากโยบในเรื่องการให้อภัย? (ข) การอธิษฐานจะช่วยเราให้แสดงน้ำใจที่ดีได้อย่างไร?
15 เราอาจเรียนรู้ในเรื่องการให้อภัยได้จากโยบ. ชายสามคนที่น่าจะปลอบโยนท่านกลับพูดกับท่านหลายเรื่องอย่างไม่กรุณา. แม้กระนั้น โยบให้อภัยพวกเขา. โดยวิธีใด? “โยบได้ลงมืออธิษฐานเผื่อเหล่ามิตรสหายของท่าน.” (โยบ 16:2; 42:10) การอธิษฐานเพื่อคนอื่นอาจเปลี่ยนทัศนะที่เรามีต่อพวกเขา. การอธิษฐานเพื่อเพื่อนคริสเตียนช่วยเราให้พัฒนาน้ำใจแบบพระคริสต์. (โย. 13:34, 35) นอกจากจะอธิษฐานเพื่อพี่น้องของเราแล้ว เราควรอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์. (ลูกา 11:13) พระวิญญาณของพระเจ้าจะช่วยเราให้แสดงคุณลักษณะของคริสเตียนแท้ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น.—อ่านกาลาเทีย 5:22, 23
มีส่วนส่งเสริมน้ำใจที่ดีในองค์การของพระเจ้า
16, 17. คุณตั้งใจจะแสดงน้ำใจเช่นไร?
16 ถ้าสมาชิกแต่ละคนของประชาคมตั้งเป้าที่จะมีส่วนส่งเสริมน้ำใจที่ดีของประชาคม นั่นย่อมจะทำให้เกิดผลที่น่ายินดีสักเพียงไร! บทความนี้อาจช่วยคุณให้ตั้งใจที่จะปรับปรุงทัศนคติของคุณและหนุนใจคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น. ถ้าอย่างนั้น เราไม่ควรรีรอที่จะให้พระคำของพระเจ้าตรวจสอบตัวเราเอง. (ฮีบรู 4:12) เปาโล ซึ่งต้องการจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พี่น้องในประชาคมต่าง ๆ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าข้าพเจ้ามีความผิดอะไร. แต่นี่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าข้าพเจ้าชอบธรรม เพราะพระยะโฮวาทรงเป็นผู้วินิจฉัยข้าพเจ้า.”—1 โค. 4:4
17 เมื่อเราพยายามทำอย่างสอดคล้องกับสติปัญญาจากเบื้องบนและไม่ให้ความสำคัญมากเกินไปแก่ตัวเราเองหรือตำแหน่งหน้าที่ เราก็จะมีส่วนส่งเสริมน้ำใจที่ดีในประชาคม. ถ้าเราพร้อมจะให้อภัยและมองคนอื่นในแง่ดี เราจะมีความสัมพันธ์ที่สงบสุขกับเพื่อนผู้นมัสการ. (ฟิลิป. 4:8) เมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้แล้ว เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาและพระเยซูจะพอพระทัยเรา ‘เนื่องด้วยน้ำใจที่เราได้แสดง.’—ฟิเล. 25