นิสัยที่อาจเป็นพิษต่อจิตใจเรา ความอิจฉาริษยา
นะโปเลียน โบนาปาร์ตมีนิสัยนี้. จูเลียส ซีซาร์มีนิสัยนี้. อะเล็กซานเดอร์มหาราชมีนิสัยนี้. แม้ว่าทั้งสามมีอำนาจและเกียรติยศ แต่พวกเขามีนิสัยที่อาจเป็นพิษต่อจิตใจตนเอง. ทั้งสามอิจฉาคนอื่น.
“นะโปเลียนอิจฉาซีซาร์ ซีซาร์อิจฉาอะเล็กซานเดอร์ [มหาราช] และข้าพเจ้าคิดว่าอะเล็กซานเดอร์คงอิจฉาเฮอร์คิวลีส ผู้ไม่เคยมีตัวตน” เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษเขียนไว้เช่นนั้น. ความอิจฉาริษยาสามารถทำให้คนเราเป็นทุกข์ ไม่ว่าเขาจะมั่งคั่งเพียงไร ไม่ว่าเขาจะมีคุณงามความดีเช่นไร และไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิตขนาดไหนก็ตาม.
ความอิจฉาริษยาเป็นความรู้สึกไม่พอใจที่ผู้อื่นมีทรัพย์สิ่งของ ความมั่งคั่ง ข้อได้เปรียบ และสิ่งอื่น ๆ ที่ตนไม่มี. หนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งกล่าวถึงความแตกต่างของความริษยากับความอิจฉาว่า “ ‘ความอิจฉา’ . . . หมายถึงความปรารถนาที่จะมีอะไรดี ๆ เหมือนคนอื่น ส่วนคำว่า ‘ริษยา’ หมายถึงความปรารถนาที่จะแย่งสิ่งที่คนอื่นมี.” คนที่ริษยาไม่เพียงขุ่นเคืองที่คนอื่นมีบางสิ่งบางอย่าง แต่เขาต้องการแย่งสิ่งนั้นมาเป็นของตัวเอง.
เราควรพิจารณาว่าเราอาจมีความอิจฉาริษยาได้อย่างไรและผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราต้องทำอะไรจึงจะป้องกันไม่ให้ความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำชีวิตเรา.
น้ำใจที่อาจกระพือไฟริษยา
แม้ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์มี “น้ำใจอิจฉา” อยู่แล้ว แต่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งเสริมให้มีน้ำใจแบบนี้มากขึ้น. (ยโก. 4:5) อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงปัจจัยหนึ่งโดยเขียนว่า “ขอให้เราอย่าถือดี อย่ายั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีกัน อย่าอิจฉากัน.” (กลา. 5:26) น้ำใจแข่งขันชิงดีกันอาจทำให้เรามีน้ำใจอิจฉามากขึ้นไปอีกจากที่เรามีอยู่แล้วเพราะความไม่สมบูรณ์ของเรา. คริสเตียนสองคน คือคริสตินาและโฮเซa พบว่าเรื่องนี้เป็นจริงกับตัวเอง.
คริสตินา ซึ่งเป็นไพโอเนียร์ประจำ กล่าวว่า “ดิฉันมักมองคนอื่นด้วยความอิจฉาอยู่บ่อย ๆ. ดิฉันจะเปรียบเทียบตัวดิฉันเองกับคนอื่นแล้วก็เห็นว่าตัวเองไม่มีสิ่งที่พวกเขามี.” ในโอกาสหนึ่ง คริสตินารับประทานอาหารด้วยกันกับพี่น้องคู่หนึ่ง ซึ่งผู้เป็นสามีได้รับสิทธิพิเศษเป็นผู้ดูแลเดินทาง. เพราะรู้ว่าเธอกับเอริก สามีของเธอ อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้ดูแลเดินทางและภรรยา และในอดีตพวกเขาก็เคยได้รับงานมอบหมายคล้าย ๆ กัน คริสตินาจึงพูดว่า “สามีดิฉันก็เป็นผู้ปกครองเหมือนกัน! แล้วทำไมคุณสองคนจึงได้ทำงานเดินหมวด แต่เราไม่มีสิทธิพิเศษอะไรเลย?” ไฟริษยาซึ่งถูกกระพือโดยน้ำใจชิงดีชิงเด่น ทำให้เธอมองไม่เห็นการงานที่ดีที่เธอกับสามีกำลังทำอยู่และทำให้เธอไม่พึงพอใจชีวิตตัวเอง.
โฮเซต้องการจะรับใช้เป็นผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม. เมื่อเขาไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่คนอื่น ๆ ได้รับ เขาก็เริ่มอิจฉาคนเหล่านั้นและไม่พอใจผู้ประสานงานคณะผู้ปกครอง. โฮเซสารภาพว่า “ความอิจฉาทำให้ผมบ่มเพาะความเกลียดชังต่อผู้ปกครองคนนี้และมองเจตนาของเขาอย่างผิด ๆ. เมื่อความอิจฉาเข้าครอบงำชีวิตเรา เราก็จะคิดถึงแต่ตัวเองและคิดอะไรไม่ออก.”
ตัวอย่างในพระคัมภีร์ที่สอนเรา
คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างเตือนใจอยู่มากมาย. (1 โค. 10:11) บางตัวอย่างไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าความอิจฉาริษยาก่อตัวขึ้นได้อย่างไร แต่ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าความอิจฉาริษยาทำลายชีวิตคนที่ปล่อยให้มันครอบงำอย่างไร.
ตัวอย่างเช่น คายิน บุตรชายหัวปีของอาดามกับฮาวา โกรธเมื่อพระยะโฮวาทรงยอมรับเครื่องบูชาของเฮเบลแต่ไม่ยอมรับเครื่องบูชาของเขา. คายินสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ แต่ความริษยาบังตาเขาจนในที่สุดเขาฆ่าน้องชายตัวเอง. (เย. 4:4-8) ไม่แปลกที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงคายินว่า “อยู่ฝ่ายตัวชั่วร้าย” ซึ่งก็คือซาตาน!—1 โย. 3:12
พี่ชายสิบคนของโยเซฟอิจฉาที่โยเซฟมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับบิดา. ความเกลียดชังโยเซฟยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเขาบอกพวกพี่ชายเกี่ยวกับความฝันเชิงพยากรณ์ที่เขาฝันเห็น. พวกพี่ชายถึงกับอยากฆ่าเขาด้วยซ้ำ. ในที่สุด พวกพี่ชายขายน้องไปเป็นทาส และหลอกบิดาให้เชื่อว่าโยเซฟตายแล้วซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายต่อบิดา. (เย. 37:4-11, 23-28, 31-33) หลายปีต่อมา พวกเขายอมรับบาปของตน โดยพูดแก่กันว่า “เราคงทำผิดไว้แก่น้องเราแต่ก่อน, เพราะเราได้เห็นความทุกข์ลำบากของน้อง, เมื่อเขาอ้อนวอน, แต่เรามิได้ฟัง.”—เย. 42:21; 50:15-19
ในกรณีของโครา ดาธาน และอะบีราม พวกเขาเกิดความริษยาเมื่อเปรียบเทียบสิทธิพิเศษที่ตนได้รับกับที่โมเซและอาโรนได้รับ. พวกเขากล่าวหาว่าโมเซ “ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นนาย” และยกตัวเองให้สูงเหนือคนอื่น ๆ. (อาฤ. 16:13) ข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง. (อาฤ. 11:14, 15) พระยะโฮวาเองเป็นผู้แต่งตั้งโมเซ. แต่พวกผู้ขืนอำนาจเหล่านี้ริษยาอยากได้ตำแหน่งของโมเซ. ในที่สุด ความริษยาทำให้พวกเขาพินาศด้วยพระหัตถ์ของพระยะโฮวา.—เพลง. 106:16, 17
กษัตริย์โซโลมอนเคยเห็นด้วยตัวท่านเองว่าความริษยามีผลกระทบต่อคนเราได้มากถึงขนาดไหน. หญิงคนหนึ่งซึ่งลูกของนางเองที่เพิ่งคลอดเสียชีวิตพยายามหลอกเพื่อนที่อยู่ด้วยกันให้คิดว่าเด็กที่ตายเป็นลูกของเพื่อนคนนี้. ระหว่างที่พิจารณาคดี หญิงที่พูดโกหกยอมให้ฆ่าเด็กตามคำสั่งของกษัตริย์. อย่างไรก็ตาม โซโลมอนมีรับสั่งให้มอบเด็กคนนี้แก่ผู้เป็นแม่ที่แท้จริง.—1 กษัต. 3:16-27
ความอิจฉาริษยาอาจก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรง. ตัวอย่างจากพระคัมภีร์ที่ได้กล่าวไปแล้วแสดงว่าความอิจฉาริษยาอาจทำให้เกิดความเกลียดชัง ความไม่ยุติธรรม และการฆ่าคน. นอกจากนั้น ในแต่ละกรณีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่ได้ทำอะไรเลยที่สมควรถูกกระทำเช่นนั้น. มีอะไรบ้างที่เราอาจทำได้เพื่อไม่ให้ความอิจฉาริษยาเข้าครอบงำชีวิตเรา? เราอาจทำอะไรได้ที่จะเป็นเหมือนกับการถอนพิษของความอิจฉาริษยา?
ยาถอนพิษที่มีประสิทธิภาพ!
จงพัฒนาความรักและความรักใคร่ฉันพี่น้อง. อัครสาวกเปโตรแนะนำคริสเตียนว่า “เมื่อท่านทั้งหลายทำให้แนวทางชีวิตของพวกท่านสะอาดแล้วโดยการเชื่อฟังความจริงซึ่งทำให้พวกท่านรักใคร่กันฉันพี่น้องโดยไม่เสแสร้ง ก็ให้พวกท่านรักกันอย่างแรงกล้าจากหัวใจ.” (1 เป. 1:22) ความรักคืออะไร? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา. ความรักไม่อิจฉาริษยา ไม่อวดตัว ไม่ทะนงตัว ไม่ประพฤติหยาบโลน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว.” (1 โค. 13:4, 5) ถ้าเราพัฒนาความรักเช่นนั้นต่อคนอื่น ๆ นั่นย่อมช่วยยับยั้งเราไว้ไม่ให้อิจฉาริษยามิใช่หรือ? (1 เป. 2:1) แทนที่จะอิจฉาดาวิด โยนาธาน “รักดาวิดเสมอตนเอง.”—1 ซามู. 18:1
คบหากับผู้ที่นมัสการพระเจ้า. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 73 อิจฉาคนชั่วที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราและไม่ประสบปัญหาแต่อย่างใด. อย่างไรก็ตาม เขาเอาชนะความอิจฉาโดยเข้าไปใน “พระวิหารของพระเจ้า.” (เพลง. 73:3-5, 17) การคบหากับเพื่อนผู้นมัสการช่วยให้ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญตระหนักถึงพระพรที่เขาได้รับจาก ‘การเข้ามาใกล้พระเจ้า.’ (เพลง. 73:28) การคบหาเป็นประจำกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่การประชุมคริสเตียนอาจช่วยเราได้เช่นกัน.
พยายามทำดี. หลังจากสังเกตว่าคายินได้บ่มเพาะความอิจฉาริษยาและความเกลียดชัง พระเจ้าทรงบอกเขาว่า ‘จงทำดี.’ (เย. 4:7) ‘การทำดี’ หมายความเช่นไรสำหรับคริสเตียน? พระเยซูตรัสว่าเรา ‘ต้องรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเราด้วยสุดหัวใจของเรา ด้วยสุดชีวิตของเรา และด้วยสุดความคิดของเรา และต้องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.’ (มัด. 22:37-39) ความพึงพอใจที่เราได้รับจากการให้การรับใช้พระยะโฮวาเป็นแกนกลางในชีวิตและจากการช่วยคนอื่น ๆ เป็นเหมือนยาถอนพิษของความอิจฉาริษยาที่มีประสิทธิภาพ. การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานประกาศราชอาณาจักรและงานสอนคนให้เป็นสาวกเป็นวิธีที่ดีที่จะรับใช้พระเจ้าและเพื่อนบ้านของเรา และทำให้เราได้รับ “พระพรของพระยะโฮวา.”—สุภา. 10:22
“จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี.” (โรม 12:15) พระเยซูทรงชื่นชมยินดีเมื่อเหล่าสาวกประสบความสำเร็จ และพระองค์ทรงชี้ว่าพวกเขาจะทำงานประกาศให้สำเร็จได้มากยิ่งกว่าพระองค์. (ลูกา 10:17, 21; โย. 14:12) เรามีเอกภาพในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น ความสำเร็จของใครก็ตามในหมู่พวกเรานับเป็นพระพรสำหรับทุกคน. (1 โค. 12:25, 26) ดังนั้น เราน่าจะชื่นชมยินดีแทนที่จะรู้สึกอิจฉาเมื่อคนอื่นได้รับหน้าที่รับผิดชอบมากกว่ามิใช่หรือ?
การต่อสู้ที่ไม่ง่ายเลย!
การต่อสู้เพื่อเอาชนะความอิจฉาอาจเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ. คริสตินายอมรับว่า “ดิฉันยังคงมีนิสัยขี้อิจฉาอยู่มาก. แม้ว่าดิฉันจะเกลียดนิสัยนี้ แต่ความรู้สึกนี้ก็ยังมีอยู่ และดิฉันต้องคอยหักห้ามมันไว้เสมอ.” โฮเซต้องต่อสู้เพื่อจะเอาชนะนิสัยนี้เช่นกัน. เขากล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงช่วยผมให้มองเห็นค่าคุณลักษณะที่ดีของผู้ประสานงานคณะผู้ปกครอง. การมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด.”
ความอิจฉาริษยาเป็น “การกระทำที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาป” ที่คริสเตียนทุกคนควรพยายามเอาชนะ. (กลา. 5:19-21) ถ้าเราไม่ปล่อยให้ความอิจฉาริษยาครอบงำเรา ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้นและทำให้พระยะโฮวาพระบิดาของเราพอพระทัย.
[เชิงอรรถ]
a ชื่อสมมุติ.
[คำโปรยหน้า 17]
“จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี”