ใช้เลือดช่วยชีวิต—อย่างไร?
“เลือกเอาข้างชีวิต . . . ฟังถ้อยคำของพระองค์ . . . เพราะพระองค์เป็นชีวิตของเจ้า เป็นผู้ทรงโปรดให้เจ้าทั้งหลายมีชีวิตยั่งยืนอยู่.”—พระบัญญัติ 30:19, 20.
1. คริสเตียนแท้โดดเด่นอย่างไรในความนับถือต่อชีวิต?
หลายคนบอกว่าเขามีความนับถือต่อชีวิต โดยแสดงหลักฐานด้วยทัศนะของเขาต่อการลงโทษประหาร การทำแท้ง หรือการล่าสัตว์. อย่างไรก็ตาม มีวิธีพิเศษที่คริสเตียนแท้แสดงความนับถือต่อชีวิต. บทเพลงสรรเสริญ 36:9 กล่าวว่า: “ด้วยน้ำพุแห่งชีวิตดำรงอยู่กับพระองค์ [พระเจ้า].” เนื่องจากชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า คริสเตียนจึงรับเอาทัศนะของพระองค์ในเรื่องเลือดซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิต.
2, 3. เพราะเหตุใดเราจึงควรคำนึงถึงพระเจ้าเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องเลือด? (กิจการ 17:25, 28)
2 ชีวิตของเราอาศัยเลือด ซึ่งนำออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยเราปรับตัวต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และช่วยเราในการต่อสู้กับโรคภัย. พระองค์ผู้ทรงประทานชีวิตให้เรานั้นยังได้ทรงออกแบบและจัดเตรียมของเหลวที่ค้ำจุนชีวิตซึ่งเรียกว่าเลือดไว้ให้ด้วย. สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการที่พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่อยู่ตลอดมาในการรักษาชีวิตมนุษย์.—เยเนซิศ 45:5; พระบัญญัติ 28:66; 30:15, 16.
3 ทั้งคริสเตียนและผู้คนโดยทั่วไปน่าจะถามตัวเองว่า ‘เลือดจะสามารถช่วยชีวิตฉันได้ไหมเฉพาะโดยอาศัยสมรรถนะตามธรรมชาติของเลือด หรือเลือดอาจช่วยชีวิตได้ในวิธีการที่ลึกซึ้งกว่านั้น? ขณะที่คนส่วนใหญ่เข้าใจถึงความเกี่ยวพันระหว่างชีวิตกับสมรรถนะตามปกติของเลือด ที่จริงแล้วมีสิ่งที่เกี่ยวข้องยิ่งกว่านั้นมากนัก. หลักจริยธรรมของคริสเตียน, มุสลิม, และพวกยิวล้วนแต่มีจุดรวมอยู่ที่พระผู้ประสาทชีวิตซึ่งแสดงความคิดเห็นของพระองค์เองเกี่ยวกับชีวิตและเลือด. ถูกแล้ว พระผู้สร้างของเราทรงมีเรื่องมากมายที่จะตรัสเกี่ยวด้วยเลือด.
จุดยืนแน่วแน่ของพระเจ้าในเรื่องเลือด
4. ในประวัติศาสตร์มนุษย์ตอนต้น ๆ พระเจ้าทรงตรัสว่าอย่างไรในเรื่องเลือด?
4 มีการกล่าวถึงเลือดมากกว่า 400 ครั้งในพระวจนะของพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิล. พระบัญชาของพระยะโฮวาข้อหนึ่งในสมัยแรก ๆ นั้นมีว่า: “สารพัดสัตว์ที่มีชีวิตจะเป็นอาหารของเจ้า . . . เว้นแต่เนื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าอย่ากินเลย คือยังมีเลือดอยู่นั้น.” พระองค์ทรงเพิ่มเติมว่า “โลหิตที่เป็นชีวิตของเจ้านั้นเราจะทวงเอา.” (เยเนซิศ 9:3–5) พระยะโฮวาตรัสเรื่องนั้นกับโนฮา บรรพบุรุษของมนุษยชาติ. ด้วยเหตุนั้น มนุษย์ทั้งสิ้นจึงได้รับการแจ้งให้ทราบว่า พระผู้สร้างทรงถือว่าเลือดหมายถึงชีวิต. ฉะนั้น ทุกคนซึ่งอ้างว่าจะรับรองเอาพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างควรจะตระหนักว่า พระองค์ทรงมีจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องการใช้เลือด.
5. อะไรคือเหตุผลสำคัญที่สุดที่พวกยิศราเอลจะไม่กินเลือด?
5 พระเจ้าทรงตรัสถึงเรื่องเลือดอีกเมื่อทรงประทานกฎหมายแก่ชนยิศราเอล. เลวีติโก 17:10, 11 ตามฉบับทานักห์ของชาวยิว อ่านว่า: “ถ้าผู้ใดในชาติยิศราเอลหรือในพวกคนต่างชาติซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกินโลหิตอย่างหนึ่งอย่างใด เราจะตั้งหน้าของเราต่อสู้คนที่กินเลือดนั้น และเราจะตัดเขาออกเสียจากพรรคพวกของเขา. เพราะชีวิตของเนื้อหนังคือโลหิต.” กฎหมายข้อนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่มีมากยิ่งกว่านั้นเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. โดยการถือว่าเลือดเป็นสิ่งพิเศษ ชนชาติยิศราเอลก็จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพึ่งพาพระเจ้าเพื่อมีชีวิต. (พระบัญญัติ 30:19, 20) ถูกแล้ว เหตุผลหลักที่พวกเขาไม่ควรรับประทานเลือดนั้นไม่ใช่เนื่องจากเลือดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากเลือดมีความหมายพิเศษต่อพระเจ้า.
6. ทำไมเราสามารถมั่นใจได้ว่าพระเยซูจะทรงยึดมั่นในทัศนะของพระเจ้าในเรื่องเลือด?
6 จุดยืนของคริสเตียนอยู่ที่ไหนในเรื่องของการช่วยชีวิตมนุษย์โดยใช้เลือด? พระเยซูทรงทราบสิ่งที่พระบิดาของพระองค์ตรัสไว้เกี่ยวด้วยการใช้เลือด. พระเยซู “ไม่ได้ทรงกระทำบาป [และ] คำหลอกลวงก็ไม่มีในพระโอษฐ์ของพระองค์.” นั่นหมายความว่าพระองค์ทรงปฏิบัติตามพระบัญญัติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งพระบัญญัติในเรื่องเลือดด้วย. (1 เปโตร 2:22, ล.ม.) ดังนั้นพระองค์จึงได้วางแบบอย่างไว้สำหรับเหล่าสาวกของพระองค์ รวมทั้งแบบอย่างในความนับถือต่อชีวิตและเลือดด้วย.
7, 8. ทำไมจึงเป็นที่ชัดเจนว่าพระบัญญัติของพระเจ้าในเรื่องเลือดนั้นใช้กับชนคริสเตียนด้วย?
7 ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลังเมื่อสภาของคณะกรรมการปกครองได้ตัดสินในเรื่องที่ว่าคริสเตียนจำต้องรักษากฎหมายของชาติยิศราเอลทุกข้อหรือไม่. ภายใต้การทรงนำของพระเจ้า พวกเขาบอกว่าชนคริสเตียนไม่มีพันธะจะต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติที่พระเจ้าทรงให้ไว้แก่โมเซ แต่เป็นสิ่ง “จำเป็น” ที่จะ “ละเว้นเสมอจากสิ่งของซึ่งได้บูชาแก่รูปเคารพและจากเลือดและจากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการผิดประเวณี.” (กิจการ 15:22-29, ล.ม.) ดังนั้น พวกเขาจึงทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าการละเว้นจากเลือดมีความสำคัญทางศีลธรรมในระดับเดียวกับการละเว้นจากการบูชารูปเคารพและการผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง.a
8 ชนคริสเตียนสมัยแรกก็ยึดมั่นกับข้อห้ามซึ่งมาจากพระเจ้านั้น. ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โจเซฟ เบ็นสัน ผู้คงแก่เรียนชาวอังกฤษบอกว่า: “ข้อห้ามเรื่องการรับประทานเลือดซึ่งได้ให้ไว้แก่โนฮาและลูกหลานทั้งหลายของเขา และได้ให้ซ้ำอีกแก่ชนยิศราเอล . . . ไม่เคยถูกยกเลิก แต่ตรงกันข้าม ได้มีการย้ำเรื่องนี้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ที่พระธรรมกิจการบท 15 และดังนั้นจึงเป็นข้อผูกพันตลอดไป.” แต่สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเกี่ยวกับเลือดนั้นจะห้ามใช้วิธีการรักษาสมัยใหม่ไหม เช่น การถ่ายเลือด ซึ่งปรากฏชัดว่าไม่มีการใช้ในสมัยโนฮาหรือในสมัยของพวกอัครสาวก?
การใช้เลือดเป็นยา
9. เลือดถูกใช้เป็นยาอย่างไรในสมัยโบราณ ซึ่งตรงข้ามกับจุดยืนอะไรของชนคริสเตียน?
9 การใช้เลือดเป็นยาไม่ใช่เรื่องใหม่. หนังสือเฟลช แอนด์ บลัด (เนื้อและเลือด) โดย เรย์ ทันนาฮิลล์ ชี้ให้เห็นว่าเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว ในอียิปต์และที่อื่น ๆ “มีการถือว่าเลือดเป็นยายอดเยี่ยมเพื่อรักษาโรคเรื้อน.” ชาวโรมันเชื่อกันว่าโรคลมชักสามารถรักษาได้โดยการกินเลือดมนุษย์. เทอร์ทุลเลียนเขียนไว้เกี่ยวกับการใช้เลือดเป็น “ยา” เช่นนี้ว่า: “ดูหมู่คนที่เต็มไปด้วยความกระหายอันละโมบ ที่สนามประลอง ได้เอาเลือดสด ๆ ของอาชญากรชั่ว . . . และนำไปรักษาโรคลมชักของเขา.” นั่นเป็นสิ่งที่ผิดแผกไปโดยสิ้นเชิงกับสิ่งซึ่งชนคริสเตียนกระทำ: “เราไม่กินแม้กระทั่งเลือดสัตว์ . . . ในการไต่สวนคดีพวกคริสเตียน ท่านได้ให้ไส้กรอกเลือดแก่เขา. แน่ละ ท่านก็รู้ดีอยู่แล้วว่านั่นเป็นการละเมิดกฎหมายสำหรับพวกเขา.” จงคำนึงถึงสิ่งที่ซ่อนแฝงอยู่: ชนคริสเตียนสมัยแรกยอมเสี่ยงตายแทนการกินเลือดซึ่งหมายถึงชีวิต.—เทียบ 2 ซามูเอล 23:15–17.
10, 11. ทำไมจึงถือได้ว่าพระบัญญัติของพระเจ้าในเรื่องเลือดนั้นห้ามการรับการถ่ายเลือดด้วย?
10 แน่นอน ย้อนไปในสมัยนั้นยังไม่มีการถ่ายเลือด เนื่องจากการทดลองใช้การถ่ายเลือดเพิ่งได้เริ่มมีขึ้นเมื่อเกือบ ๆ ศตวรรษที่ 16 นี่เอง. แต่ในศตวรรษที่17 ศาสตราจารย์คนหนึ่งในสาขากายวิภาคศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนได้คัดค้านเรื่องนี้ว่า: ‘พวกที่พยายามนำเลือดมนุษย์มาใช้ในการรักษาอาการภายในของโรคต่าง ๆ นั้นเป็นการใช้เลือดอย่างผิด ๆ และเป็นบาปอย่างมหันต์. ในเมื่อเราประณามการกินเนื้อคนด้วยกัน แล้วทำไมเราจึงไม่เกลียดชังพวกที่ทำให้ปากและลำคอของเขาเปื้อนเปรอะด้วยเลือดมนุษย์? สิ่งที่เหมือนกันคือการรับเลือดของผู้อื่นจากเส้นเลือดซึ่งถูกตัด ไม่ว่ากินด้วยปากหรือโดยอุปกรณ์ถ่ายเลือด. ผู้คิดค้นวิธีการนี้ขึ้นน่าจะมีความหวาดกลัวยิ่งต่อกฎหมายของพระเจ้า.’
11 ถูกแล้ว แม้แต่ในศตวรรษต่าง ๆ ที่ผ่านไป ผู้คนเข้าใจว่ากฎหมายของพระเจ้าครอบคลุมทั้งการรับเลือดเข้าทางเส้นเลือดและทางปาก. การตระหนักถึงเรื่องนี้อาจช่วยให้ผู้คนสมัยนี้ให้เข้าใจจุดยืนที่พยานพระยะโฮวายึดมั่นอยู่ จุดยืนซึ่งตรงกันกับจุดยืนของพระเจ้า. ขณะที่ถือว่าชีวิตมีค่าสูงยิ่งและหยั่งรู้ค่าการรักษาทางแพทย์ คริสเตียนแท้มีความนับถือต่อชีวิตว่าเป็นของประทานจากพระผู้สร้าง ดังนั้น พวกเขาจึงไม่พยายามค้ำจุนชีวิตโดยการรับเลือด.—1 ซามูเอล 25:29.
การช่วยชีวิตทางการแพทย์หรือ?
12. ผู้คนที่รอบคอบอาจพิจารณาอย่างมีเหตุผลถึงเรื่องอะไรเกี่ยวกับการถ่ายเลือด?
12 พวกผู้เชี่ยวชาญได้อ้างกันมานานหลายปีแล้วว่าเลือดช่วยชีวิต. แพทย์อาจเล่าถึงบางคนที่เสียเลือดเฉียบพลันซึ่งได้รับการถ่ายเลือดและมีอาการดีขึ้น. ดังนั้น ผู้คนอาจสงสัยว่า ‘จุดยืนของคริสเตียนเป็นสิ่งที่ฉลาดสุขุมหรือไม่ในทางการแพทย์?’ ก่อนจะยอมรับขั้นตอนการรักษาที่สำคัญใด ๆ บุคคลที่รอบคอบจะวินิจฉัยทั้งผลดีที่จะได้และความเสี่ยงที่อาจจะมี. จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการถ่ายเลือด? ที่จริงแล้วการถ่ายเลือดนั้นเต็มไปด้วยอันตราย. เป็นอันตรายถึงชีวิตทีเดียว.
13, 14. (ก) การถ่ายเลือดเป็นอันตรายในทางใดบ้าง? (ข) สิ่งที่สันตะปาปาได้ประสบนั้นแสดงอย่างไรว่าเลือดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ?
13 ไม่นานมานี้ ดร. แอล. ที. กู้ดนัฟ และ เจ. เอ็ม. ชัค ให้ข้อสังเกตว่า “วงการแพทย์สำนึกมานานแล้วว่าในขณะที่เลือดที่จัดหาให้นั้นมีความปลอดภัยเท่าที่เราทราบวิธีทำ การถ่ายเลือดมักมีอันตรายเสมอ. โรคที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในการถ่ายเลือดยังคงเป็นตับอักเสบชนิดไม่ใช่ เอ ไม่ใช่ บี (NANBH) โรคอื่นที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งโรคตับอักเสบ บี, อัลโลอิมมูไนเซชัน, ปฏิกิริยาจากการถ่ายเลือด, ภูมิคุ้มกันถูกกด, และการมีธาตุเหล็กมากเกินไป.” โดยการประมาณกัน “อย่างรอบคอบ” เพียงอย่างหนึ่งในบรรดาอันตรายเหล่านี้ รายงานมีเพิ่มเติมว่า: “มีการคาดล่วงหน้าว่าประมาณ 40,000 คน [ในสหรัฐอเมริกาแห่งเดียว] จะติดโรคตับอักเสบชนิดไม่ใช่ เอ ไม่ใช่ บี [NANBH] ทุกปีและร้อยละ 10 ของคนพวกนี้จะติดโรคตับแข็งและ/ หรือมะเร็งตับ.”—ดิ อเมริกัน เจอร์นัล อ็อฟ เซอร์เจอรี ฉบับเดือนมิถุนายน 1990.
14 ขณะที่อันตรายของการติดโรคจากเลือดที่มีการถ่ายให้นั้นได้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางขึ้นนั้น ผู้คนก็กำลังพิจารณากันอีกครั้งถึงแง่คิดของตนเกี่ยวกับการถ่ายเลือด. ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 1981 หลังจากสันตะปาปาถูกยิง เขาได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งและออกจากโรงพยาบาล. ต่อมาเขาก็ต้องกลับเข้ารับการรักษาอีกถึงสองเดือน และอาการของเขาหนักมากจนดูเหมือนว่าเขาอาจต้องลาออกเนื่องจากร่างกายพิการ. เพราะเหตุใด? เขาติดเชื้อไซตเมกาโลไวรัสจากเลือดที่ได้ให้แก่เขา. บางคนอาจสงสัยว่า ‘ถ้าแม้แต่เลือดที่ให้แก่สันตะปาปายังไม่ปลอดภัย แล้วเลือดที่ให้แก่พวกเราซึ่งเป็นคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปล่ะจะเป็นอย่างไร?’
15, 16. เพราะเหตุใดการถ่ายเลือดจึงไม่ปลอดภัยถึงแม้เลือดนั้นได้ผ่านการตรวจแยกเพื่อหาเชื้อโรคแล้ว?
15 บางคนอาจถามว่า ‘แต่พวกเขาตรวจแยกเลือดเพื่อหาเชื้อโรคไม่ได้หรือ?’ เอาละ มาดูสักตัวอย่างหนึ่งของการตรวจแยกเพื่อหาเชื้อตับอักเสบ บี. นิตยสารเพเชียนท์ แคร์ (ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1990) ชี้แจงว่า: “การเกิดโรคตับอักเสบหลังการถ่ายเลือดนั้นได้ลดน้อยลงหลังจากการตรวจแยกเลือดทั้งหมดเพื่อหาเชื้อนี้ แต่ร้อยละ 5–10 ของโรคตับอักเสบหลังการถ่ายเลือดก็ยังเกิดขึ้นเนื่องจากโรคตับอักเสบ บี.”
16 ความผิดพลาดของการตรวจสอบเช่นนั้นยังเห็นได้กับอีกโรคหนึ่งที่ติดต่อโดยทางเลือด นั่นคือโรคเอดส์. การแพร่อย่างรุนแรงของโรคเอดส์ ได้ปลุกผู้คนให้สำนึกถึงอันตรายของเลือดที่มีเชื้อ. ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้มีวิธีการต่าง ๆ ในการตรวจสอบเลือดเพื่อหาเชื้อตัวนี้. แต่ไม่มีการตรวจสอบเลือดในทุกแห่ง และดูเหมือนว่าคนเราอาจมีเชื้อไวรัสเอดส์ ในเลือดของเขาเป็นเวลาหลายปีได้โดยไม่อาจตรวจพบได้ด้วยการตรวจสอบต่าง ๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน. ดังนั้นผู้ป่วยอาจติดโรคเอดส์ ได้—และเคยติดโรคเอดส์ มาแล้ว—จากเลือดที่ได้รับการตรวจและรับรองแล้ว!
17. การถ่ายเลือดอาจทำความเสียหายได้อย่างไรซึ่งอาจไม่ปรากฏให้เห็นชัดในทันที?
17 ดร. กู้ดนัฟ และ ดร. ชัคยังได้กล่าวถึง “ภูมิคุ้มกันถูกกด.” ถูกแล้ว มีหลักฐานทวีมากขึ้นที่แสดงว่าแม้แต่เลือดที่มีการจับคู่อย่างถูกต้องก็อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสียหายได้ ซึ่งเปิดทางให้โรคมะเร็งและความตาย. ดังนั้น การศึกษาวิจัยที่คานาดาเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ศีรษะและลำคอแสดงให้เห็นว่าคนที่ได้รับการถ่ายเลือดในระหว่างการผ่าเอาเนื้องอกออกนั้นมีอาการของภูมิคุ้มกันที่ถูกกดอย่างมากหลังจากนั้น.” (เดอะ เมดิคัล โพสท์, ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 1990) บรรดาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนียรายงานว่า: “อัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งที่กล่องเสียงทุกชนิด เป็นร้อยละ 14 ในพวกที่ไม่ได้รับเลือด และเป็นร้อยละ 65 ในพวกที่รับเลือด. สำหรับมะเร็งในช่องปาก คอ และจมูกหรือไซนัส อัตราการเกิดซ้ำเป็นร้อยละ 31 ในพวกที่ไม่ได้รับการถ่ายเลือด และร้อยละ 71 ในพวกที่รับการถ่ายเลือด.” (Annals of Otology, Rhinology & Laryngology, ฉบับเดือนมีนาคม 1989) ภูมิคุ้มกันที่ถูกกดนั้นดูเหมือนยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า คนที่ได้รับเลือดในระหว่างการผ่าตัดนั้นมีโอกาสจะติดเชื้อโรคได้มากกว่า.—ดูกรอบหน้า 10.
มีทางรักษาอย่างอื่นแทนการใช้เลือดไหม?
18. (ก) อันตรายอันเกี่ยวเนื่องอยู่ในการถ่ายเลือดทำให้พวกแพทย์หันไปหาอะไร? (ข) รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับวิธีรักษาอื่น ๆ ที่คุณอาจให้กับแพทย์ของคุณ?
18 บางคนอาจบอกว่า ‘การถ่ายเลือดเป็นอันตราย แต่มีวิธีรักษาอย่างอื่นแทนไหม?’ เราต้องการรับการรักษาที่มีคุณภาพสูง ถ้าเช่นนั้น มีวิธีการรักษาใด ๆ ไหมที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้ผลดีเพื่อจัดการกับปัญหาร้ายแรงทางการรักษาโดยไม่ใช้เลือด? น่ายินดีที่คำตอบคือ มี. เดอะ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล อ็อฟ เมดิซีน (ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 1990) รายงานว่า: “แพทย์ทั้งหลายซึ่งสำนึกถึงอันตรายของ [เอดส์] และเชื้ออื่น ๆ ที่ติดได้โดยทางการถ่ายเลือดกำลังพิจารณากันใหม่ถึงผลดีและอันตรายของการถ่ายเลือดและกำลังเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น รวมทั้งวิธีที่ไม่ใช้การถ่ายเลือดเลย.”b
19. ทำไมคุณจึงอาจมั่นใจได้ว่าคุณสามารถปฏิเสธเลือดได้และยังคงได้รับการรักษาทางแพทย์อย่างบรรลุความสำเร็จ?
19 พยานพระยะโฮวาปฏิเสธการถ่ายเลือดมาเป็นเวลานานแล้ว สาเหตุสำคัญนั้นไม่ใช่เพราะอันตรายด้านสุขภาพ แต่เพราะการเชื่อฟังต่อกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือด. (กิจการ 15:28, 29) กระนั้น แพทย์ผู้ชำนาญก็ได้ทำการรักษาผู้ป่วยซึ่งเป็นพยานฯ อย่างประสบความสำเร็จโดยไม่ใช้เลือดซึ่งมักมีอันตรายติดตามมา. ดังกรณีหนึ่งในหลาย ๆ ตัวอย่างที่มีรายงานในหนังสือทางแพทย์ชื่ออาร์ไคฟ์ อ็อฟ เซอร์เจอรี (ฉบับเดือนพฤศจิกายน 1990) อธิบายการเปลี่ยนหัวใจในผู้ป่วยที่เป็นพยานฯ ซึ่งสติรู้สึกผิดชอบของเขายอมให้รับการรักษาเช่นนั้นโดยไม่มีการใช้เลือด. รายงานนั้นบอกว่า: “กว่า 25 ปีของการดำเนินการผ่าตัดหัวใจในพยานพระยะโฮวาได้มาถึงจุดสุดยอดในการเปลี่ยนหัวใจโดยไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเลือดอย่างประสบความสำเร็จ . . . ไม่มีการตายเกิดขึ้นในระหว่างหรือภายหลังการผ่าตัด และการศึกษาติดตามผลในระยะแรกได้แสดงว่าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้มีอัตราของปฏิกิริยาที่ไม่ยอมรับเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายนั้นไวขึ้นแต่อย่างใด.”
เลือดอันมีค่ามากที่สุด
20, 21. เพราะเหตุใดคริสเตียนจึงควรระมัดระวังเพื่อว่าเขาจะไม่มีทัศนะที่ว่า “เลือดเป็นยาไม่ดี” เกิดขึ้น?
20 อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ต้องการคำตอบจากหัวใจซึ่งเราแต่ละคนต้องถามตัวเอง. ‘ถ้าฉันตัดสินใจจะไม่รับการถ่ายเลือด นั่นเป็นเพราะเหตุใด? พูดตรง ๆ คือ อะไรคือเหตุผลสำคัญประการแรกของฉัน?
21 เราได้กล่าวมาแล้วว่า มีวิธีการอื่นอีกที่ใช้ได้ผลแทนการใช้เลือดซึ่งทำให้ไม่ต้องได้รับอันตรายหลายอย่างจากการถ่ายเลือด. อันตรายต่าง ๆ เช่น โรคตับอักเสบหรือโรคเอดส์ได้กระตุ้นให้หลายคนปฏิเสธเลือดเนื่องด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่ทางศาสนา. บางคนค่อนข้างพูดมากในเรื่องนี้ จนเกือบจะดูราวกับว่าเขากำลังเดินขบวนชูป้าย “เลือดเป็นยาไม่ดี.” อาจเป็นได้ว่าคริสเตียนบางคนอาจถูกดึงเข้าร่วมขบวนดังกล่าวนั้น. แต่นั่นเป็นการเดินขบวนไปบนทางตัน. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
22. เราต้องมีทัศนะอะไรเกี่ยวกับชีวิตและความตายที่เป็นไปตามความจริง? (ท่านผู้ประกาศ 7:2)
22 คริสเตียนแท้ตระหนักว่าแม้จะรักษาด้วยวิธีดีที่สุดในโรงพยาบาลดีที่สุดก็ตาม ผู้คนก็ตายไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง. ไม่ว่าจะมีการถ่ายเลือดหรือไม่ ผู้คนก็ตาย. ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่เป็นแบบชะตานิยม. นี้คือความเป็นจริง. ความตายคือความจริงของชีวิตในสมัยนี้. ผู้คนซึ่งละเลยกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือดมักจะประสบกับผลเสียหายจากเลือดไม่โดยทันทีก็ในภายหลัง. บางคนถึงกับตายเพราะเลือดที่ได้ให้แก่เขา. กระนั้น ดังที่เราทุกคนจะต้องเข้าใจ คนที่รอดชีวิตจากการถ่ายเลือดยังไม่ได้รับชีวิตที่ยืนยาวตลอดไป ดังนั้นเลือดจึงไม่ใช่ช่วยชีวิตของเขาอย่างถาวร. อีกทางหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธเลือด ไม่ว่าเนื่องด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือทางการแพทย์ แต่ยอมรับการรักษาอย่างอื่นซึ่งได้ผลดีทางการแพทย์. เนื่องด้วยเหตุนั้น พวกเขาอาจมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกหลายปี—แต่ก็ยังไม่ใช่ตลอดไป.
23. พระบัญญัติของพระเจ้าเรื่องเลือดเกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่เราเป็นคนบาปและจำเป็นต้องมีค่าไถ่?
23 การที่มนุษยชาติทั้งสิ้นที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนี้เป็นผู้ไม่สมบูรณ์และค่อย ๆ ตายไปนั้นนำเราไปสู่ประเด็นหลักเกี่ยวกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเรื่องเลือด. พระเจ้าทรงบัญชาแก่มนุษย์ทุกคนไม่ให้รับประทานเลือด. เพราะเหตุใด? ก็เพราะเลือดหมายถึงชีวิต. (เยเนซิศ 9:3–6) ในพระบัญญัติ พระองค์ทรงวางกฎหมายซึ่งแจ้งให้ทราบความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป. พระเจ้าทรงบอกพวกยิศราเอลว่า โดยการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชา พวกเขาอาจแสดงให้เห็นว่าความบาปของพวกเขาจำต้องได้รับการปิดคลุม. (เลวีติโก 4:4–7, 13–18, 22–30) แม้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากพวกเราในปัจจุบันก็ตาม เรื่องนั้นก็มีความสำคัญในขณะนี้. พระเจ้าทรงประสงค์จะจัดให้มีเครื่องบูชาซึ่งสามารถลบล้างความบาปทั้งสิ้นของบรรดาผู้ที่เชื่อ—นั่นคือค่าไถ่. (มัดธาย 20:28) นี่คือเหตุผลที่เราต้องมีทัศนะของพระเจ้า ในเรื่องเลือด.
24. (ก) ทำไมจึงอาจเป็นการไม่ถูกต้องในการถือเอาอันตรายต่อสุขภาพเป็นประเด็นหลักในเรื่องเกี่ยวกับเลือด? (ข) อะไรควรเป็นมูลฐานแห่งทัศนะของเราอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการใช้เลือด?
24 คงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะเน้นถึงอันตรายของเลือดต่อสุขภาพเป็นสำคัญ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าทรงเพ่งเล็ง. ชาวยิศราเอลอาจได้รับผลดีด้านสุขภาพอยู่บ้างโดยการไม่กินเลือด เช่นเดียวกับที่พวกเขาได้รับผลดีจากการไม่กินเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์ที่กินของเน่า. (พระบัญญัติ 12:15, 16; 14:7, 8, 11, 12) แต่จำไว้ว่า คราวที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้โนฮากินเนื้อสัตว์ พระองค์ไม่ได้ทรงห้ามการกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น. แต่พระองค์ทรงบัญชาว่ามนุษย์ต้องไม่กินเลือด. พระเจ้าไม่ได้เพ่งเล็งอยู่ที่อันตรายอันอาจมีต่อสุขภาพเป็นประการสำคัญ. นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญในพระบัญชาของพระองค์เกี่ยวกับเลือด. บรรดาผู้นมัสการพระองค์ต้องปฏิเสธที่จะยังชีวิตด้วยเลือด เหตุผลหลักไม่ใช่เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นผลเสียต่อสุขภาพ แต่เพราะนั่นเป็นการไม่บริสุทธิ์. พวกเขาปฏิเสธเลือดไม่ใช่เพราะเลือดมีเชื้อ แต่เพราะเลือดเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง. พวกเขาสามารถได้รับการอภัยก็เฉพาะโดยเลือดที่ถวายเป็นเครื่องบูชาเท่านั้น.
25. เลือดอาจช่วยชีวิตยืนนานได้อย่างไร?
25 เป็นความจริงกับพวกเราเช่นเดียวกัน. ที่เอเฟโซ 1:7 อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า: “ในพระองค์นั้น [พระคริสต์] เราได้รับการไถ่โดยพระโลหิต ของพระองค์และได้รับอภัยโทษในความผิดของเราโดยพระกรุณาอันอุดมของพระองค์.” หากพระเจ้าทรงอภัยโทษแก่คนใดและถือว่าคนนั้นเป็นคนชอบธรรมแล้ว คนนั้นก็มีความหวังเรื่องชีวิตไม่สิ้นสุด. ฉะนั้น พระโลหิตอันเป็นค่าไถ่ของพระเยซูจึงสามารถช่วยชีวิต—ยืนนาน ที่จริงแล้ว ตลอดไป.
[เชิงอรรถ]
a คำตัดสินชี้ขาดนั้นจบลงด้วยถ้อยคำที่ว่า: “ถ้าท่านทั้งหลายละเว้นจากสิ่งเหล่านี้อย่างระมัดระวังเสมอ ท่านจะเจริญ. ขอให้ท่านมีสุขภาพดี!” (กิจการ 15:29, ล.ม.) คำกล่าวว่า “ขอให้ท่านมีสุขภาพดี” ไม่ใช่เป็นคำสัญญาในเรื่องผลของการที่ ‘ถ้าท่านทั้งหลายละเว้นจากเลือดและจากการผิดประเวณี ท่านจะมีสุขภาพดีขึ้น.’ นั่นเป็นเพียงคำลงท้ายจดหมาย เช่นเดียวกับ ‘สวัสดี.’
b การรักษาอย่างได้ผลด้วยวิธีอื่นแทนการใช้เลือดนั้นมีบอกไว้ในจุลสารเลือดจะช่วยชีวิตคุณได้อย่างไร? ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี 1990 โดยสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กท์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ อะไรคือเหตุผลสำคัญประการแรกของการที่พยานพระยะโฮวาปฏิเสธการถ่ายเลือด?
▫ หลักฐานอะไรยืนยันว่าจุดยืนที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องเลือดนั้นไม่ใช่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์?
▫ ค่าไถ่เกี่ยวโยงอย่างไรกับพระบัญญัติในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเลือด?
▫ อะไรคือทางเดียวเท่านั้นซึ่งเลือดสามารถช่วยชีวิตได้อย่างถาวร?
[กรอบหน้า 10]
การถ่ายเลือดและการติดเชื้อ
หลังจากการตรวจสอบอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการถ่ายเลือดว่าอาจทำให้ผู้ป่วยมีความไวต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ ดร. นีล บลัมเบิร์กสรุปว่า “การค้นคว้าทางการรักษา [เกี่ยวกับเรื่องนี้] 10 ใน 12 รายพบว่า การถ่ายเลือดได้เกี่ยวพันอย่างแท้จริงกับอันตรายที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อพวกแบคทีเรีย . . . นอกจากนั้น การถ่ายเลือดที่ทำนานก่อนการผ่าตัดอาจมีผลกระทบต่อภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยได้ หากผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันอันเนื่องมาจากการถ่ายเลือดนั้นคงมีอยู่นานดังที่การศึกษาค้นคว้าบางอย่างแนะว่าเป็นเช่นนั้น . . . ถ้าข้อมูลนี้สามารถมีมากขึ้นและยืนยันได้ นั่นก็ปรากฏชัดว่าการติดเชื้ออย่างรุนแรงหลังการผ่าตัดอาจเป็นโรคแทรกซ้อนอันสำคัญที่สุดโรคเดียวซึ่งมีอยู่ทั่วไปอันเกี่ยวพันกับการถ่ายเลือด.—ทรานสฟิวชัน เมดิซีน รีวิวส์, เดือนตุลาคม 1990.
[รูปภาพหน้า 8]
เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ขยายใหญ่. “เลือดแต่ละหนึ่งไมโครลิตร (0.00003 ออนซ์) มีเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่ถึง 4 ล้าน-6 ล้านเซลล์.”—“เดอะ เวิลด์ บุค เอ็นไซโคลพีเดีย”
[ที่มาของภาพ]
Kunkel–CNRI/PHOTOTAKE NYC