นักคัดลอกสมัยโบราณกับพระคำของพระเจ้า
พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเขียนเสร็จในตอนปลายศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช. ในช่วงหลายร้อยปีหลังจากนั้น พวกผู้เชี่ยวชาญชาวยิวซึ่งรู้จักกันว่า โซเฟริม และต่อมาก็พวกมาโซเรตเป็นผู้ที่คอยพิทักษ์ข้อความของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างเข้มงวด. อย่างไรก็ตาม พระธรรมต่าง ๆ ที่เก่าแก่ที่สุดในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยโมเซและยะโฮซูอะแล้ว ก่อนสมัยพวกโซเฟริมหนึ่งพันปี. วัสดุที่ใช้บันทึกพระธรรมเหล่านั้นก็เปื่อยสลายได้ ฉะนั้นม้วนหนังสือจึงต้องมีการคัดลอกกันหลายครั้ง. เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับงานของนักคัดลอกในยุคแรก? ในอิสราเอลโบราณมีนักคัดลอกที่ชำนาญไหม?
สำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีในปัจจุบันเป็นส่วนของม้วนหนังสือทะเลตาย ซึ่งบางส่วนมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่สามและสองก่อนสากลศักราช. ศาสตราจารย์อลัน อาร์. มิลลาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและโบราณคดีตะวันออกใกล้ อธิบายว่า “เราไม่มีสำเนาส่วนใดของคัมภีร์ไบเบิลที่เก่าแก่กว่านั้น.” เขากล่าวเสริมว่า “วัฒนธรรมของชาติใกล้เคียงบอกได้ว่านักคัดลอกในสมัยโบราณทำงานกันอย่างไร และความรู้นี้จะช่วยในการประเมินคุณค่าและความสำคัญของข้อความภาษาฮีบรูและความเป็นมาของข้อความนั้น.”
อาชีพนักคัดลอกในสมัยแรก
มีการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์, ศาสนา, กฎหมาย, การศึกษา, และวรรณคดี ในเมโสโปเตเมียเมื่อสี่พันปีมาแล้ว. โรงเรียนนักคัดลอกเฟื่องฟูอย่างมาก และวิชาหนึ่งที่มีการสอนกันคือ การคัดลอกข้อความที่มีอยู่อย่างซื่อสัตย์. ผู้คงแก่เรียนสมัยปัจจุบันพบว่าข้อเขียนของชาวบาบิโลนที่มีการคัดลอกซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงหนึ่งพันปีหรือนานกว่านั้นมีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.
อาชีพนักคัดลอกไม่ได้มีแต่ในเมโสโปเตเมียเท่านั้น. สารานุกรมโบราณคดีในตะวันออกใกล้ของออกซฟอร์ด (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “นักคัดลอกชาวบาบิโลนในช่วงกลางสหัสวรรษที่สองก่อนสากลศักราชคงคุ้นเคยกับวิธีที่ใช้กันในศูนย์กลางของนักคัดลอกทั่วเมโสโปเตเมีย, ซีเรีย, คะนาอัน, และแม้แต่อียิปต์.”a
ในสมัยโมเซ ผู้ที่มีอาชีพนักคัดลอกมีฐานะพิเศษในอียิปต์. นักคัดลอกจะคัดลอกผลงานทางวรรณกรรมอยู่เสมอ. กิจกรรมดังกล่าวมีให้เห็นในภาพที่ตกแต่งหลุมศพของชาวอียิปต์ซึ่งมีอายุมากกว่าสี่พันปี. สารานุกรมที่กล่าวถึงข้างต้นพูดถึงนักคัดลอกในยุคนั้นว่า “เมื่อถึงสหัสวรรษที่สองก่อน ส.ศ. พวกเขาก็มีสารบบงานวรรณกรรมกันแล้ว ซึ่งแสดงถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของเมโสโปเตเมียและอียิปต์ อีกทั้งยังวางหลักจรรยาบรรณไว้สำหรับนักคัดลอกอาชีพด้วย.”
“หลักจรรยาบรรณ” นี้รวมถึงการใช้บันทึกส่งท้ายเพิ่มเข้ากับเนื้อความหลัก. บันทึกดังกล่าวมีชื่อของผู้คัดลอกและชื่อเจ้าของแผ่นศิลาหรือแผ่นดินเหนียวที่จารึกข้อความ, วันที่, ที่มาของต้นฉบับที่คัดลอกมา, จำนวนบรรทัด, และอื่น ๆ. ที่พบบ่อยมากคือนักคัดลอกจะเพิ่มข้อความว่า “เอกสารนี้ได้คัดลอกและตรวจทานเรียบร้อยแล้ว.” รายละเอียดเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่านักคัดลอกสมัยโบราณเป็นห่วงเรื่องความถูกต้องอย่างมาก.
ศาสตราจารย์มิลลาร์ดซึ่งกล่าวถึงในตอนต้น กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการคัดลอกนั้นรวมไปถึงการตรวจและแก้ไข ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีวิธีป้องกันความผิดพลาดอยู่ในตัว. วิธีเหล่านี้บางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับบรรทัดหรือคำก็เป็นธรรมเนียมที่ทำกันในหมู่พวกมาโซเรตในตอนต้นของยุคกลางด้วย.” ดังนั้น ในสมัยของโมเซและยะโฮซูอะ ทัศนะที่ส่งเสริมเรื่องการถ่ายทอดงานเขียนอย่างระมัดระวังและถูกต้องก็มีอยู่แล้วในตะวันออกกลาง.
ในหมู่ชาวอิสราเอลมีนักคัดลอกที่มีความสามารถไหม? หลักฐานภายในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นเช่นไร?
นักคัดลอกในอิสราเอลโบราณ
โมเซเติบโตมาในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในราชสำนักของฟาโรห์. (เอ็กโซโด 2:10; กิจการ 7:21, 22) ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับอียิปต์โบราณให้ความเห็นว่า การศึกษาที่โมเซได้รับคงต้องรวมถึงการมีทักษะในการอ่านและเขียนอักษรของชาวอียิปต์และอย่างน้อยต้องมีทักษะบางอย่างของนักคัดลอกด้วย. ศาสตราจารย์เจมส์ เค. โฮฟไมเยอร์ กล่าวในหนังสือของเขาที่ชื่ออิสราเอลในอียิปต์ (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้ “มีเหตุผลที่จะเชื่อคำบอกเล่าในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าโมเซมีความสามารถในการบันทึกเหตุการณ์, จัดทำบันทึกการเดินทาง, และงานอื่น ๆ ที่นักคัดลอกทำกัน.”b
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงคนอื่น ๆ ในอิสราเอลโบราณที่มีความสามารถในการคัดลอกด้วย. ตามที่กล่าวในหนังสือประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิลของเคมบริดจ์ (ภาษาอังกฤษ) โมเซ “ได้แต่งตั้งผู้ทำงานด้านอักษร . . . เพื่อให้บันทึกคำตัดสินต่าง ๆ และจัดระบบประชาชนตามลำดับชั้น.” ข้อสรุปดังกล่าวอาศัยพระบัญญัติ 1:15 ที่กล่าวว่า “เรา [โมเซ] จึงได้เลือกคนหัวหน้าในทุกตระกูลของพวกเจ้า . . . ตั้งไว้เป็นใหญ่เหนือเจ้าทั้งหลาย ให้เป็นนายพัน, นายร้อย, นายห้าสิบ, นายสิบ, และพนักงานต่าง ๆ ตามตระกูลของพวกเจ้า.” ใครคือพนักงานเหล่านี้?
คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “พนักงาน” ปรากฏอยู่หลายครั้งในข้อความของคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงสมัยของโมเซและยะโฮซูอะ. ผู้คงแก่เรียนหลายคนอธิบายว่าคำนี้หมายถึง “เลขานุการซึ่งทำหน้าที่บันทึก,” “ผู้ที่ ‘เขียน’ หรือ ‘บันทึก,’ ” และ “เจ้าหน้าที่ที่ช่วยผู้พิพากษาในงานเลขานุการ.” การที่คำฮีบรูนี้ปรากฏอยู่หลายครั้งแสดงว่ามีเลขานุการเหล่านี้อยู่จำนวนมากในอิสราเอลและพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบกว้างขวางในการบริหารชาติในตอนแรก.
ตัวอย่างที่สามเกี่ยวข้องกับปุโรหิตของอิสราเอล. สารานุกรมจูไดกากล่าวว่า “ด้วยหน้าที่ในด้านศาสนาและด้านอื่น ๆ พวกเขาจึงจำเป็นต้องรู้วิธีอ่านและเขียน.” ตัวอย่างเช่น โมเซสั่งลูกหลานชาวเลวีว่า “ครั้นถ้วนครบทุกเจ็ดปี . . . เจ้าจงอ่านพระบัญญัตินี้ให้พวกยิศราเอลทั้งปวงฟัง.” เหล่าปุโรหิตกลายมาเป็นผู้เก็บรักษาพระบัญญัติฉบับทางการ. พวกเขามอบอำนาจและควบคุมดูแลการคัดสำเนาจากพระบัญญัตินั้น.—พระบัญญัติ 17:18, 19; 31:10, 11.
ให้เราดูว่ามีการทำสำเนาฉบับแรกของพระบัญญัติกันอย่างไร. ในช่วงเดือนสุดท้ายของชีวิตโมเซ ท่านบอกกับชาวอิสราเอลว่า “ในวันที่ท่านทั้งหลายจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าสู่แผ่นดินซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่าน ท่านจงตั้งศิลาก้อนใหญ่ ๆ ขึ้นเอาปูนโบกเสีย แล้วท่านจงจารึกถ้อยคำของกฎหมายนี้ไว้บนนั้น.” (พระบัญญัติ 27:1-4, ฉบับแปลใหม่) หลังจากเมืองเยริโคและเมืองอายถูกทำลายแล้ว พวกอิสราเอลได้ชุมนุมกันที่ภูเขาเอบาล ซึ่งตั้งอยู่กลางแผ่นดินตามคำสัญญา. ณ ที่นั่นยะโฮซูอะได้จารึก “กฎหมาย . . . ตามแบบซึ่งท่านโมเซได้จารึก” ไว้บนหินของแท่นบูชาแห่งหนึ่งจริง ๆ. (ยะโฮซูอะ 8:30-32) การจารึกนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน. นั่นแสดงว่า ชาวอิสราเอลสมัยแรกจะต้องมีความรู้ทางภาษาและทักษะที่จำเป็นเพื่อจะรักษาข้อความศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างถูกต้อง.
ความถูกต้องของพระคัมภีร์
หลังจากสมัยของโมเซและยะโฮซูอะก็มีการเขียนพระธรรมต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูขึ้นอีกหลายเล่ม และมีการคัดสำเนาด้วยมือ. เมื่อสำเนาเหล่านี้เก่าแล้ว หรือได้รับความเสียหายเนื่องจากความชื้นหรือราก็ต้องมีการทำฉบับใหม่ขึ้นมาแทน. การคัดสำเนาจึงมีมานานหลายศตวรรษ.
ถึงแม้ผู้คัดสำเนาคัมภีร์ไบเบิลจะระมัดระวังกันมาก ความผิดพลาดก็ยังมีอยู่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. แต่ความผิดพลาดของผู้คัดลอกได้ทำให้ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนไปอย่างขนานใหญ่ไหม? ไม่เลย. ข้อผิดพลาดเหล่านั้นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่มีผลกระทบต่อความถูกต้องโดยรวมของคัมภีร์ไบเบิล ดังที่พิสูจน์แล้วโดยการสอบทานกับสำเนาต้นฉบับที่เก่าแก่.
สำหรับคริสเตียนแล้ว ทัศนะของพระเยซูคริสต์ที่ทรงมีต่อพระธรรมเล่มแรก ๆ เป็นสิ่งยืนยันความถูกต้องของข้อความในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ได้เป็นอย่างดี. คำตรัสเช่น “ท่านทั้งหลายยังไม่ได้อ่านคัมภีร์ของโมเซหรือ?” และ “โมเซได้ให้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายมิใช่หรือ?” แสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงถือว่าสำเนาซึ่งคัดลอกด้วยมือที่มีอยู่ตอนที่พระองค์ทรงอยู่บนโลกนั้นเชื่อถือได้. (มาระโก 12:26; โยฮัน 7:19) นอกจากนั้น พระเยซูทรงยืนยันความถูกต้องของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูทั้งหมดเมื่อพระองค์ตรัสว่า “บรรดาคำที่เขียนไว้ในบัญญัติของโมเซ, และในคัมภีร์ของเหล่าศาสดาพยากรณ์, และในคัมภีร์เพลงสดุดีกล่าวเล็งถึงเรานั้นจำเป็นจะต้องสำเร็จ.”—ลูกา 24:44.
เราจึงมีเหตุผลที่จะมั่นใจว่าพระคัมภีร์บริสุทธิ์ได้รับการถ่ายทอดมาจากสมัยโบราณอย่างถูกต้อง. เป็นจริงดังที่ผู้พยากรณ์ยะซายาได้รับการดลใจให้กล่าวว่า “หญ้านั้นก็เหี่ยวแห้ง, และดอกไม้ก็ร่วงโรยไป, แต่พระดำรัสของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่เป็นนิจ.”—ยะซายา 40:8.
[เชิงอรรถ]
a ยะโฮซูอะ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงกลางสหัสวรรษที่สองก่อน ส.ศ. กล่าวถึงเมืองของคะนาอันที่ชื่อ คีริยาทเสเฟอร์ ซึ่งแปลว่า “เมืองแห่งหนังสือ” หรือ “เมืองของนักคัดลอก.”—ยะโฮซูอะ 15:15, 16, ฉบับแปลใหม่.
b ข้ออ้างอิงที่แสดงว่าโมเซบันทึกเรื่องทางกฎหมายพบได้ที่เอ็กโซโด 24:4, 7; 34:27, 28; และพระบัญญัติ 31:24-26. ท่านได้บันทึกเพลงบทหนึ่งไว้ที่พระบัญญัติ 31:22 และบันทึกการเดินทางในถิ่นทุรกันดารมีกล่าวถึงที่อาฤธโม 33:2.
[ภาพหน้า 18]
นักคัดลอกชาวอียิปต์ขณะทำงาน
[ภาพหน้า 19]
พระธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของคัมภีร์ไบเบิลมีอายุย้อนไปถึงสมัยของโมเซ