พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมเอ็กโซโด
พระธรรมเอ็กโซโดเป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับการช่วยให้รอดของคนเหล่านั้นที่ถูกกดขี่ให้เป็น “ทาสทำงานหนัก.” (เอ็กโซโด 1:13, ล.ม.) พระธรรมเล่มนี้ยังเป็นเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการกำเนิดของชนชาติหนึ่งด้วย. การอัศจรรย์อันน่าทึ่ง, กฎหมายอันดีเลิศ, และการสร้างพลับพลาเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวเด่น ๆ ที่น่าสนใจของพระธรรมเล่มนี้. โดยพื้นฐานแล้ว นี่คือสิ่งที่บรรจุไว้ในพระธรรมเอ็กโซโด.
โมเซผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูได้เขียนพระธรรมเอ็กโซโด ซึ่งเล่าประสบการณ์ของชาวอิสราเอลตลอดช่วงเวลา 145 ปี—ตั้งแต่โยเซฟเสียชีวิตในปี 1657 ก่อน ส.ศ. จนถึงการสร้างพลับพลาแล้วเสร็จในปี 1512 ก่อน ส.ศ. ถึงกระนั้น เรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระคำหรือข่าวสารของพระเจ้าถึงมนุษย์. ด้วยเหตุนี้ พระธรรมเล่มนี้ “มีชีวิตและทรงพลัง.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่กล่าวมา พระธรรมเอ็กโซโดจึงมีความหมายอย่างแท้จริงสำหรับเรา.
“พระเจ้าได้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของเขา”
ลูกหลานของยาโคบที่อาศัยอยู่ในอียิปต์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีพระบัญชาจากกษัตริย์ให้พวกเขาทำงานหนักเยี่ยงทาส. ฟาโรห์ถึงกับออกคำสั่งให้ฆ่าทารกเพศชายชาวอิสราเอลทุกคน. ทารกอายุสามเดือนที่รอดพ้นจากจุดจบเช่นนั้น คือโมเซ ซึ่งธิดาของฟาโรห์รับมาเลี้ยงไว้. ถึงแม้โมเซได้รับการเลี้ยงดูในราชสำนัก เมื่ออายุได้ 40 ปี ท่านเข้าข้างคนชาติเดียวกันกับท่านและฆ่าชาวอียิปต์. (กิจการ 7:23, 24) ท่านจำต้องหนีไปเมืองมิดยาน. ที่นั่นท่านแต่งงานและใช้ชีวิตเป็นคนเลี้ยงแกะ. ณ พุ่มไม้ที่มีไฟลุกอย่างน่าอัศจรรย์ พระยะโฮวามอบหมายให้โมเซกลับไปอียิปต์เพื่อนำชาวอิสราเอลออกมาจากการเป็นทาส. อาโรนพี่ชายของท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พูดแทนท่าน.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
3:1—ยิธโรเป็นปุโรหิตชนิดใด? ในสมัยปฐมบรรพบุรุษ หัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่เป็นปุโรหิตให้ครอบครัวของเขา. ดูเหมือนว่า ยิธโรเป็นหัวหน้าที่เป็นปฐมบรรพบุรุษของเผ่าหนึ่งแห่งชาวมิดยาน. เนื่องจากชาวมิดยานเป็นลูกหลานของอับราฮามโดยทางคะตูรา พวกเขาอาจรู้เกี่ยวกับการนมัสการพระยะโฮวา.—เยเนซิศ 25:1, 2.
4:11—พระยะโฮวา ‘กระทำให้คนเป็นใบ้, หูหนวก, และตาบอด’ ในความหมายใด? ถึงแม้พระยะโฮวาทำให้คนตาบอดและเป็นใบ้ในบางครั้ง แต่พระองค์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความพิการดังกล่าวในทุกกรณี. (เยเนซิศ 19:11; ลูกา 1:20-22, 62-64) ความพิการเหล่านี้เป็นผลจากบาปที่ตกทอดมา. (โยบ 14:4; โรม 5:12) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระเจ้าทรงยอมให้สภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พระองค์จึงสามารถพูดถึงพระองค์เองได้ว่า “กระทำให้” คนเป็นใบ้, หูหนวก, และตาบอด.
4:16 (ฉบับแปลใหม่)—โมเซ “เป็นดังพระเจ้า” แก่อาโรนอย่างไร? โมเซเป็นตัวแทนของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ โมเซจึงกลายเป็น “ดังพระเจ้า” แก่อาโรน ซึ่งเป็นผู้พูดแทนโมเซ.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:7, 14. พระยะโฮวาทรงค้ำจุนประชาชนของพระองค์เมื่อพวกเขาถูกกดขี่ในอียิปต์. พระองค์ทรงค้ำจุนเหล่าพยานของพระองค์ในสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งเมื่อพวกเขาเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงอย่างหนัก.
1:17-21. พระยะโฮวาทรงระลึกถึงเรา “ด้วยความโปรดปราน.”—นะเฮมยา 13:31, ล.ม.
3:7-10. พระยะโฮวาทรงตอบเสียงร้องแห่งประชาชนของพระองค์.
3:14. พระยะโฮวาทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จอย่างแน่นอน. ด้วยเหตุนี้ เราสามารถมั่นใจได้ว่า พระองค์จะทำให้ความหวังของเราที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักกลายเป็นจริง.
4:10, 13. โมเซแสดงถึงการขาดความมั่นใจอย่างยิ่งในความสามารถด้านการพูดของท่าน แม้ได้รับคำรับรองในการหนุนหลังจากพระเจ้า ท่านอ้อนวอนให้พระเจ้าส่งคนอื่นไปพูดกับฟาโรห์แทน. กระนั้น พระยะโฮวาทรงใช้โมเซและประทานสติปัญญาและกำลังที่จำเป็นแก่ท่านเพื่อทำงานมอบหมายให้สำเร็จ. แทนที่จะเพ่งเล็งไปที่การไม่มีความสามารถพอ ขอเราหมายพึ่งพระยะโฮวาและทำงานมอบหมายของเราในการประกาศและการสอนให้สำเร็จอย่างซื่อสัตย์.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
การอัศจรรย์อันน่าทึ่งนำมาซึ่งการช่วยให้รอด
โมเซและอาโรนปรากฏตัวต่อหน้าฟาโรห์ ขออนุญาตให้ชาวอิสราเอลไปฉลองเทศกาลเลี้ยงแด่พระยะโฮวาในถิ่นทุรกันดาร. ผู้ปกครองชาวอียิปต์ปฏิเสธอย่างดูหมิ่น. พระยะโฮวาทรงใช้โมเซให้นำภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างแล้วอย่างเล่า. ฟาโรห์ยอมปล่อยชาวอิสราเอลไปก็ต่อเมื่อหลังจากเกิดภัยพิบัติที่สิบ. อย่างไรก็ดี ไม่นานฟาโรห์และกองทัพได้เร่งไล่ตามไป. แต่พระยะโฮวาทรงเปิดทางหนีผ่านทะเลแดงและช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอด. ชาวอียิปต์ที่ไล่ตามมาได้จมน้ำตายเมื่อทะเลโถมท่วมพวกเขา.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
6:3—ในทางใดที่พระนามของพระเจ้าไม่สำแดงให้อับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบรู้จัก? บรรพบุรุษเหล่านี้ใช้พระนามของพระเจ้าและได้รับคำสัญญาต่าง ๆ จากพระยะโฮวา. กระนั้น พวกเขาไม่ได้ประสบหรือรู้จักพระยะโฮวาในฐานะเป็นผู้ทำให้คำสัญญาเหล่านี้สำเร็จ.—เยเนซิศ 12:1, 2; 15:7, 13-16; 26:24; 28:10-15.
7:1 (ฉบับแปลใหม่)—โมเซเป็นดัง “พระเจ้าต่อฟาโรห์” อย่างไร? โมเซได้รับกำลังและอำนาจจากพระเจ้าเหนือฟาโรห์. ด้วยเหตุนี้ ไม่จำเป็นต้องกลัวกษัตริย์องค์นั้น.
7:22—พวกปุโรหิตชาวอียิปต์ได้น้ำที่ยังไม่กลายเป็นเลือดมาจากที่ไหน? พวกเขาอาจใช้น้ำที่ตักมาจากแม่น้ำไนล์ก่อนเกิดภัยพิบัตินี้. ดูเหมือนว่า น้ำที่สามารถใช้ดื่มอาจได้มาโดยการขุดบ่อตรงดินที่เปียกชื้นริมแม่น้ำไนล์ด้วยเช่นกัน.—เอ็กโซโด 7:24.
8:26, 27—เหตุใดโมเซกล่าวว่า เครื่องบูชาของชาวอิสราเอลจะเป็นสิ่งที่ “ชาวอายฆุบโตถือว่าเป็นที่น่าเกลียด”? สัตว์หลายชนิดได้รับการนมัสการในอียิปต์. ด้วยเหตุนั้น การกล่าวถึงเครื่องบูชาต่าง ๆ ได้เพิ่มเหตุผลและการโน้มน้าวใจให้กับการเรียกร้องของโมเซที่ขออนุญาตพาชาวอิสราเอลไปถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาที่อื่น.
12:29—ใครถูกนับเป็นบุตรหัวปี? เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่นับเป็นบุตรหัวปี. (อาฤธโม 3:40-51) ฟาโรห์เองก็เป็นบุตรหัวปี แต่เขาไม่ได้ถูกสังหาร. เขามีครอบครัวแล้ว. คนที่ถูกสังหารเนื่องจากภัยพิบัติที่สิบไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว แต่เป็นบุตรชายหัวปีของครอบครัว.
12:40—ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ในแผ่นดินอียิปต์นานเท่าไร? ช่วงเวลา 430 ปีที่กล่าวในข้อนี้รวมถึงเวลาที่เหล่าบุตรของอิสราเอลอยู่ “ในแผ่นดินอียิปต์และในแผ่นดินคะนาอัน.” (เชิงอรรถในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง ภาษาอังกฤษ) อับราฮามอายุได้เจ็ดสิบห้าปี เมื่อข้ามแม่น้ำยูเฟรทิสในปี 1943 ก่อน ส.ศ. เพื่อไปยังคะนาอัน. (เยเนซิศ 12:4) จากตอนนั้นจนถึงเวลาที่ยาโคบเข้าไปอยู่ในอียิปต์เมื่ออายุได้ 130 ปี เป็นเวลา 215 ปี. (เยเนซิศ 21:5; 25:26; 47:9) นี่หมายความว่า หลังจากนั้นชาวอิสราเอลได้ใช้เวลา 215 ปีเท่ากันในอียิปต์.
15:8—น้ำในทะเลแดงที่เป็น “กลุ่มก้อน” กลายเป็นน้ำแข็งจริง ๆ ไหม? คำกริยาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “กลุ่มก้อน” มีความหมายว่า หดตัวหรือหนาขึ้น. ที่โยบ 10:10 มีการใช้ถ้อยคำนี้กับนมข้น. ดังนั้น น้ำที่แข็งตัวไม่จำเป็นต้องบ่งชี้ว่าเป็นน้ำแข็ง. หาก “ลมกล้าพัดมาแต่ทิศตะวันออก” ตามที่กล่าวไว้ในเอ็กโซโด 14:21 หนาวเย็นพอที่จะทำให้น้ำแข็งตัว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงได้มีการกล่าวพาดพิงถึงความหนาวจัดอยู่บ้าง. เนื่องจากไม่เห็นมีอะไรกั้นน้ำไว้ น้ำนั้นจึงปรากฏให้เห็นในลักษณะที่แข็งตัว.
บทเรียนสำหรับเรา:
7:14–12:30. ภัยพิบัติสิบประการไม่ได้เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ. ภัยพิบัติเหล่านี้มีการบอกล่วงหน้าและเกิดขึ้นดังที่บอกไว้อย่างแม่นยำ. ภัยพิบัติสิบประการช่างเป็นการแสดงที่ชัดแจ้งสักเพียงไรถึงอำนาจของพระผู้สร้างในการควบคุมน้ำ, แสงแดด, แมลง, สัตว์, และมนุษย์! ภัยพิบัติเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า พระเจ้าสามารถเลือกที่จะนำความหายนะมาสู่ศัตรูของพระองค์ขณะที่ปกป้องเหล่าผู้นมัสการพระองค์.
11:2; 12:36. พระยะโฮวาทรงอวยพรประชาชนของพระองค์. เห็นได้ชัดว่า พระองค์ทรงดูแลเพื่อชาวอิสราเอลจะได้รับการชดเชยสำหรับแรงงานของพวกเขาในอียิปต์. พวกเขาเข้าไปในอียิปต์ฐานะเสรีชน ไม่ใช่เชลยสงครามที่ถูกจับไปเป็นทาส.
14:30. เราสามารถมั่นใจได้ว่า พระยะโฮวาจะช่วยเหล่าผู้นมัสการพระองค์ให้รอดพ้น “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ที่คืบใกล้เข้ามา.—มัดธาย 24:20-22; วิวรณ์ 7:9, 14.
พระยะโฮวาทรงจัดระเบียบชนชาติที่มีพระองค์เป็นผู้ปกครองสูงสุด
ในเดือนที่สามหลังจากชาวอิสราเอลได้รับการช่วยให้รอดจากอียิปต์ พวกเขาตั้งค่ายอยู่ที่เชิงเขาไซนาย. ที่นั่น พวกเขาได้รับพระบัญญัติสิบประการและกฎหมายอื่น ๆ, เป็นคู่สัญญากับพระยะโฮวา, และกลายเป็นชนชาติตามระบอบของพระเจ้า. โมเซใช้เวลา 40 วันอยู่ที่ภูเขา รับคำแนะนำเกี่ยวกับการนมัสการแท้และการสร้างพลับพลาของพระยะโฮวา ซึ่งเป็นวิหารที่เคลื่อนย้ายได้. ในระหว่างนั้น ชาวอิสราเอลทำรูปโคทองคำขึ้นมานมัสการ. เมื่อลงมาจากภูเขา โมเซเห็นเช่นนี้และรู้สึกขุ่นเคืองอย่างยิ่งถึงกับโยนแผ่นศิลาสองแผ่นที่พระเจ้ามอบให้ท่านลงบนพื้นจนแตกละเอียด. หลังจากลงโทษผู้กระทำผิดอย่างสาสมแล้ว ท่านได้ขึ้นไปบนภูเขาอีกครั้งและรับแผ่นศิลาอีกชุดหนึ่ง. เมื่อโมเซกลับมา การสร้างพลับพลาจึงเริ่มต้นขึ้น. ในตอนสิ้นปีแรกแห่งอิสรภาพของชาวอิสราเอล พลับพลาอันน่าพิศวงนี้และสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหมดมีอยู่พร้อมและได้มีการติดตั้ง. แล้วพระยะโฮวาทรงทำให้พลับพลานี้เปี่ยมไปด้วยสง่าราศีของพระองค์.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
20:5—เป็นไปอย่างไรที่พระยะโฮวาให้ “โทษของบิดา” ตกแก่ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป? เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ละคนถูกพิพากษาตามการประพฤติและเจตคติของตน. แต่เมื่อชาติอิสราเอลหันไปไหว้รูปเคารพ ชาตินี้ต้องทนรับผลที่ทำเช่นนั้นเป็นเวลาหลายชั่วอายุต่อมา. แม้แต่ชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ก็ยังได้รับผลกระทบจากการหลงผิดทางศาสนาของชาตินี้ ซึ่งทำให้การดำเนินบนแนวทางแห่งความซื่อสัตย์มั่นคงเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา.
23:19; 34:26—พระบัญชาห้ามต้มเนื้อลูกแพะด้วยน้ำนมแม่ของมันมีความหมายเช่นไร? ตามที่เล่ากัน การต้มเนื้อลูกแพะ (หรือเนื้อของลูกสัตว์ชนิดอื่น) ด้วยน้ำนมแม่ของมันเป็นพิธีกรรมของพวกนอกรีตซึ่งพวกเขาคิดว่าจะได้ฝน. นอกจากนั้น เนื่องจากน้ำนมแม่ของสัตว์มีไว้เพื่อเลี้ยงลูกของมัน การต้มลูกของมันในน้ำนมนั้นคงจะเป็นการกระทำที่โหดร้าย. กฎหมายนี้ช่วยให้ประชาชนของพระเจ้าเห็นว่า พวกเขาควรเป็นคนเมตตาสงสาร.
23:20-23—ใครคือทูตสวรรค์ที่กล่าวถึงในที่นี้ และพระนามของพระยะโฮวา “อยู่กับท่าน” อย่างไร? เป็นไปได้ว่า ทูตสวรรค์องค์นี้คือพระเยซูในรูปลักษณะก่อนเป็นมนุษย์. พระองค์ทรงรับใช้ให้ชี้นำชาวอิสราเอลเดินทางไปสู่แผ่นดินตามคำสัญญา. (1 โกรินโธ 10:1-4) พระนามของพระยะโฮวา “อยู่กับท่าน” เนื่องจากพระเยซูเป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนและเชิดชูพระนามของพระบิดา.
32:1-8, 25-35—เหตุใดอาโรนไม่ถูกลงโทษที่ได้ทำรูปโคทองคำ? อาโรนไม่ได้เต็มใจเห็นพ้องกับการไหว้รูปเคารพ. ต่อมา ดูเหมือนท่านสมทบกับเพื่อนตระกูลเลวีในการยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระเจ้าและต่อสู้คนที่ต่อต้านโมเซ. หลังจากคนที่ทำผิดถูกสังหาร โมเซเตือนประชาชนว่า พวกเขาได้ทำบาปอย่างใหญ่หลวง แสดงว่ามีคนอื่นนอกจากอาโรนที่ได้รับพระเมตตาจากพระยะโฮวาด้วยเช่นกัน.
33:11, 20—พระเจ้าตรัสกับโมเซ “หน้าต่อหน้า” อย่างไร? ถ้อยคำนี้บ่งชี้ถึงการสนทนาอย่างใกล้ชิดทั้งสองฝ่าย. โมเซสนทนากับตัวแทนของพระเจ้าและรับคำสั่งทางวาจาจากพระยะโฮวาผ่านทางตัวแทนนั้น. แต่โมเซไม่ได้เห็นพระยะโฮวา เนื่องจาก ‘ไม่มีมนุษย์ผู้ใดเห็นหน้าของพระเจ้าและยังจะมีชีวิตอยู่ได้.’ ที่จริง พระยะโฮวาไม่ได้ตรัสเป็นส่วนตัวกับโมเซ. ตามที่กล่าวไว้ในฆะลาเตีย 3:19 (ล.ม.) กฎหมาย “ถูกถ่ายทอดทางทูตสวรรค์โดยผ่านมือผู้กลาง.”
บทเรียนสำหรับเรา:
15:25; 16:12. พระยะโฮวาทรงเอาพระทัยใส่ประชาชนของพระองค์.
18:21. พวกผู้ชายที่ได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งรับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนต้องเป็นคนที่มีทั้งความสามารถ, ความเกรงกลัวพระเจ้า, ไว้ใจได้, และไม่เห็นแก่ตัว.
20:1–23:33. พระยะโฮวาเป็นผู้ประทานกฎหมายองค์ยิ่งใหญ่. เมื่อชาวอิสราเอลเชื่อฟัง กฎหมายต่าง ๆ ของพระองค์ช่วยให้พวกเขานมัสการพระองค์ในวิธีที่เป็นระเบียบและน่ายินดี. ในปัจจุบัน พระยะโฮวามีองค์การตามระบอบของพระองค์. การร่วมมือกับองค์การนี้ทำให้เรามีความสุขและความมั่นคง.
ความหมายที่แท้จริงสำหรับเรา
พระธรรมเอ็กโซโดเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา? พระธรรมนี้กล่าวถึงพระองค์ในฐานะเป็นผู้จัดเตรียมองค์เปี่ยมด้วยความรัก, ผู้ช่วยให้รอดอันหาที่เปรียบมิได้, และผู้ทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งองค์การตามระบอบของพระองค์.
ขณะที่คุณเตรียมการอ่านพระคัมภีร์ประจำสัปดาห์สำหรับโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า ไม่ต้องสงสัยว่า คุณจะซาบซึ้งในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากพระธรรมเอ็กโซโด. เมื่อคุณพิจารณาคำอธิบายในส่วน “คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์” คุณจะได้รับความหยั่งเห็นเข้าใจในข้อความจากพระคัมภีร์บางข้อมากขึ้น. คำอธิบายใน “บทเรียนสำหรับเรา” จะแสดงให้เห็นวิธีที่คุณสามารถได้รับประโยชน์จากการอ่านพระคัมภีร์ประจำสัปดาห์.
[ภาพหน้า 24, 25]
พระยะโฮวาทรงมอบหมายให้โมเซผู้ถ่อมใจนำชาวอิสราเอลออกมาจากการเป็นทาส
[ภาพหน้า 25]
ภัยพิบัติสิบประการแสดงถึงอำนาจของพระผู้สร้างในการควบคุมน้ำ, แสงแดด, แมลง, สัตว์, และมนุษย์
[ภาพหน้า 26, 27]
โดยทางโมเซ พระยะโฮวาทรงจัดระเบียบชาวอิสราเอลให้เป็นชนชาติที่มีพระองค์เป็นผู้ปกครองสูงสุด