พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมเลวีติโก
เวลาผ่านไปไม่ถึงปีหลังจากชาติอิสราเอลได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์. ตอนนี้พวกเขาถูกจัดตั้งขึ้นเป็นชาติใหม่ และกำลังเดินทางไปยังดินแดนคะนาอัน. พระประสงค์ของพระยะโฮวาคือ ให้ชาติบริสุทธิ์ชาติหนึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น. อย่างไรก็ตาม แนวทางชีวิตและกิจปฏิบัติทางศาสนาของชาวคะนาอันเสื่อมทรามมาก. ดังนั้น พระเจ้าเที่ยงแท้จึงทรงประทานกฎข้อบังคับแก่ประชาคมแห่งอิสราเอลซึ่งจะแยกพวกเขาไว้ต่างหากสำหรับงานรับใช้พระองค์. กฎข้อบังคับเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้ในพระธรรมเลวีติโก. ดูเหมือนว่าพระธรรมนี้จารึกโดยผู้พยากรณ์โมเซในถิ่นทุรกันดารไซนายในปี 1512 ก่อน ส.ศ. ครอบคลุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงแค่ภายในหนึ่งเดือนตามจันทรคติ. (เอ็กโซโด 40:17; อาฤธโม 1:1-3) พระยะโฮวาทรงกระตุ้นผู้นมัสการพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่าให้เป็นคนบริสุทธิ์.—เลวีติโก 11:44; 19:2; 20:7, 26.
พยานของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ไม่อยู่ภายใต้พระบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้โดยผ่านทางโมเซ. การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ทำให้พระบัญญัตินี้ถูกยกเลิก. (โรม 6:14; เอเฟโซ 2:11-16) อย่างไรก็ตาม กฎข้อบังคับที่พบในเลวีติโกให้ประโยชน์แก่เราโดยสอนเรามากมายเกี่ยวกับการนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าของเรา.
ของถวายอันบริสุทธิ์—โดยใจสมัครและตามกฎข้อบังคับ
ของถวายและเครื่องบูชาบางอย่างในพระบัญญัติเป็นการถวายด้วยความสมัครใจ ส่วนของถวายและเครื่องบูชาอื่น ๆ เป็นกฎข้อบังคับ. ตัวอย่างเช่น เครื่องบูชาเผาจะถวายตามความสมัครใจ. เครื่องบูชาแบบนี้จะถวายแก่พระเจ้าทั้งหมด เช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสต์ทรงเต็มพระทัยถวายชีวิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่. เครื่องบูชาสมานไมตรีที่ถวายด้วยใจสมัครเป็นแบบมีส่วนร่วม. ส่วนหนึ่งถวายแด่พระเจ้าบนแท่นบูชา อีกส่วนหนึ่งปุโรหิตจะรับประทาน และอีกส่วนหนึ่งผู้ถวายจะรับประทาน. ทำนองเดียวกัน สำหรับคริสเตียนผู้ถูกเจิมแล้ว การระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์เป็นมื้ออาหารสมานไมตรี.—1 โกรินโธ 10:16-22.
เครื่องบูชาไถ่บาปและเครื่องบูชาไถ่ความผิดเป็นกฎข้อบังคับ. เครื่องบูชาไถ่บาปจะชดใช้บาปที่กระทำโดยความพลั้งเผลอ หรือไม่ได้ตั้งใจ. เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ของใครคนหนึ่ง หรือต้องการจะทำให้สิทธิ์ที่เคยสูญเสียไปนั้นกลับคืนเนื่องจากผู้ทำผิดได้กลับใจหรือทั้งสองอย่าง จะมีการถวายเครื่องบูชาไถ่ความผิดเพื่อทำให้พระเจ้าพอพระทัย. นอกจากนี้ยังมีเครื่องบูชาธัญชาติที่ทำให้สำนึกถึงการจัดเตรียมอันอุดมของพระยะโฮวา. ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเรา เพราะเครื่องบูชาที่มีบัญชาไว้ภายใต้สัญญาแห่งพระบัญญัติชี้ถึงพระเยซูคริสต์และเครื่องบูชาของพระองค์หรือประโยชน์ที่ได้จากเครื่องบูชานั้น.—เฮ็บราย 8:3-6; 9:9-14; 10:5-10.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:11, 12—เหตุใดน้ำหวานที่ “เผาบูชาถวาย” จึงไม่เป็นที่ยอมรับจากพระยะโฮวา? น้ำหวานที่กล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงน้ำผึ้ง. แม้ไม่อนุญาตให้ “เผาบูชาถวาย” แต่น้ำหวานก็ยังรวมอยู่ใน “ผลรุ่นแรก . . . ของไร่นา.” (2 โครนิกา 31:5, ฉบับแปลใหม่) เห็นได้ชัดว่า น้ำหวานนั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือน้ำหวานของผลไม้. เนื่องจากน้ำหวานอาจเกิดการหมักได้ จึงไม่เป็นที่ยอมรับที่จะใช้เป็นของถวายบนแท่นบูชา.
2:13—เหตุใดต้องใส่เกลือใน “บรรดาเครื่องบูชาทั้งหลาย”? การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำเพื่อปรุงรสของเครื่องบูชา. ตลอดทั่วโลกมีการใช้เกลือเพื่อถนอมอาหาร. เป็นไปได้ว่ามีการใช้เกลือกับเครื่องบูชาเพราะเกลือเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เน่าเสีย.
บทเรียนสำหรับเรา:
3:17. เนื่องจากไขมันถือเป็นส่วนที่ดีที่สุด คำสั่งห้ามรับประทานไขมันจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการตอกย้ำกับชาติอิสราเอลว่า ส่วนที่ดีที่สุดเป็นของพระยะโฮวา. (เยเนซิศ 45:18) เรื่องนี้เตือนว่าเราควรถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระยะโฮวา.—สุภาษิต 3:9, 10; โกโลซาย 3:23, 24.
7:26, 27. ชาวอิสราเอลต้องไม่รับประทานเลือด. ในทัศนะของพระเจ้า เลือดหมายถึงชีวิต. เลวีติโก 17:11 กล่าวว่า “ชีวิตของเนื้อหนังคือโลหิต.” การละเว้นจากเลือดยังคงเป็นข้อเรียกร้องสำหรับผู้นมัสการแท้ในทุกวันนี้.—กิจการ 15:28, 29.
การแต่งตั้งคณะปุโรหิตบริสุทธิ์
ใครได้รับหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเครื่องบูชาและการถวาย? หน้าที่นี้มีการมอบหมายให้แก่พวกปุโรหิต. โดยได้รับการชี้นำจากพระเจ้า โมเซได้ทำพิธีแต่งตั้งอาโรนเป็นมหาปุโรหิต และแต่งตั้งบุตรชายสี่คนของอาโรนเป็นรองปุโรหิต. ดูเหมือนว่า พิธีแต่งตั้งใช้เวลาเจ็ดวัน และคณะปุโรหิตจึงเริ่มทำหน้าที่ในวันถัดไป.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
9:9—การเทเลือดลงที่เชิงแท่นบูชาและการเอาเลือดเจิมสิ่งของต่าง ๆ มีความหมายเช่นไร? การทำเช่นนี้แสดงว่าพระยะโฮวายอมรับการใช้เลือดเพื่อจุดประสงค์ในการไถ่โทษ. การจัดเตรียมเรื่องการไถ่โทษทุกอย่างอาศัยเลือดเป็นพื้นฐาน. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ตามพระบัญญัตินั้นข้าพเจ้าเกือบจะพูดได้ว่าทุกสิ่งถูกชำระด้วยโลหิต, และถ้าไม่มีโลหิตไหลออกแล้ว, ก็จะไม่มีการยกบาป.”—เฮ็บราย 9:22.
10:1, 2—บาปของนาดาบและอะบีฮูซึ่งเป็นบุตรชายของอาโรนอาจเกี่ยวข้องกับอะไร? ไม่นานหลังจากนาดาบและอะบีฮูทำหน้าที่ปุโรหิตของพวกเขาอย่างไม่สมควร พระยะโฮวาทรงห้ามพวกปุโรหิตดื่มเหล้าองุ่นหรือสุราในขณะกำลังรับใช้ที่พลับพลา. (เลวีติโก 10:9) เรื่องนี้บ่งชี้ว่า โอกาสนั้นบุตรชายทั้งสองของอาโรนอาจอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ก็ได้. อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่แท้จริงของการเสียชีวิตคือเครื่องบูชาของพวกเขาใช้ “ไฟอื่นที่ [พระยะโฮวา] มิได้ตรัสสั่งให้ใช้.”
บทเรียนสำหรับเรา:
10:1, 2. ในทุกวันนี้ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำตามข้อเรียกร้องของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น พวกเขาต้องไม่ทำเกินสิทธิ์ในขณะที่เอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของพวกเขา.
10:9. เราไม่ควรทำหน้าที่มอบหมายที่พระเจ้าประทานให้ขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์.
การนมัสการอันบริสุทธิ์เรียกร้องความสะอาด
กฎข้อบังคับเรื่องสัตว์ที่สะอาดและไม่สะอาดเป็นประโยชน์ต่อชาวอิสราเอลในสองทาง. กฎข้อบังคับเหล่านี้ป้องกันพวกเขาไว้จากการติดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายและเสริมเครื่องกีดกั้นระหว่างพวกเขากับชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ. กฎข้อบังคับอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับความไม่สะอาดที่มาจากศพ, การชำระให้บริสุทธิ์สำหรับผู้หญิงที่คลอดบุตร, ขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อน, และความไม่สะอาดซึ่งเป็นผลจากสิ่งที่ขับออกมาทางอวัยวะเพศชายและหญิง. พวกปุโรหิตควรเอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่กลายเป็นคนไม่สะอาด.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
12:2, 5—เหตุใดการคลอดบุตรทำให้ผู้หญิงเป็น “มลทิน”? อวัยวะสืบพันธุ์ถูกสร้างให้เป็นทางผ่านของชีวิตมนุษย์สมบูรณ์. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลของบาปที่ได้รับเป็นมรดก ความไม่สมบูรณ์และชีวิตผิดบาปจึงถูกส่งต่อไปยังลูกหลาน. ช่วงเวลาแห่ง ‘ความไม่สะอาด’ ชั่วคราวในเรื่องการคลอดบุตรรวมทั้งเรื่องอื่น ๆ เช่น การมีประจำเดือนและการหลั่งอสุจิ ทำให้ชาวอิสราเอลตระหนักถึงบาปที่ได้รับสืบทอดมา. (เลวีติโก 15:16-24; บทเพลงสรรเสริญ 51:5; โรม 5:12) กฎข้อบังคับในเรื่องการชำระตัวตามข้อเรียกร้องจะช่วยให้ชาวอิสราเอลเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องบูชาไถ่เพื่อปิดคลุมบาปของมนุษยชาติและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของมนุษย์. ด้วยเหตุนี้ พระบัญญัติจึงเป็น “พี่เลี้ยงซึ่งนำไปถึงพระคริสต์.”—ฆะลาเตีย 3:24, ล.ม.
15:16-18—“พืชสำหรับบังเกิดเผ่าพันธุ์” ตามที่กล่าวในข้อนี้คืออะไร? ดูเหมือนว่า นี่หมายถึงน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาในตอนกลางคืน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยา.
บทเรียนสำหรับเรา:
11:45. พระยะโฮวาพระเจ้าเป็นองค์บริสุทธิ์และทรงเรียกร้องให้ผู้ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ต้องเป็นคนบริสุทธิ์. พวกเขาต้องติดตามความบริสุทธิ์และคงไว้ซึ่งความสะอาดทางกายและฝ่ายวิญญาณ.—2 โกรินโธ 7:1; 1 เปโตร 1:15, 16.
12:8. พระยะโฮวายอมให้คนจนถวายนกเป็นเครื่องบูชาแทนที่จะถวายแกะซึ่งมีราคาแพงกว่า. พระองค์ทรงคำนึงถึงคนยากจน.
ต้องรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์
มีการถวายเครื่องบูชาที่สำคัญที่สุดสำหรับไถ่บาปในวันไถ่โทษประจำปี. มีการถวายวัวตัวผู้หนึ่งตัวสำหรับพวกปุโรหิตและตระกูลเลวี และแพะตัวผู้ตัวหนึ่งสำหรับตระกูลอื่น ๆ ของอิสราเอลที่ไม่ได้เป็นปุโรหิต. แพะอีกตัวหนึ่งจะถูกปล่อยเข้าป่าทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากมีการวางบาปทั้งปวงของประชาชนลงบนศีรษะแพะนั้นแล้ว. แพะทั้งสองตัวถือเป็นการถวายเครื่องบูชาไถ่บาปหนเดียว. ทั้งหมดนี้ชี้ไปยังข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูคริสต์จะทรงเป็นเครื่องบูชาและจะทรงแบกเอาบาปไปด้วย.
กฎข้อบังคับเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อและเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ เน้นให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องบริสุทธิ์ในขณะที่เรานมัสการพระยะโฮวา. นับว่าเหมาะสมทีเดียวที่พวกปุโรหิตจะต้องรักษาตัวให้บริสุทธิ์. เทศกาลประจำปีสามอย่างเป็นโอกาสสำหรับความชื่นชมยินดีอย่างเหลือล้นและเป็นการแสดงความขอบพระคุณพระผู้สร้าง. พระยะโฮวาทรงประทานกฎข้อบังคับต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนของพระองค์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์อย่างผิด ๆ, การถือวันซะบาโตและปีจูบิลี, การปฏิบัติกับคนยากจน, และวิธีปฏิบัติกับทาส. มีการแสดงความแตกต่างระหว่างพระพรต่าง ๆ อันเป็นผลจากการเชื่อฟังพระเจ้ากับคำแช่งสาปที่จะต้องประสบเมื่อไม่เชื่อฟัง. นอกจากนี้ยังมีกฎข้อบังคับในเรื่องของถวายที่เกี่ยวข้องกับการบนบานและการกำหนดปริมาณของสิ่งที่ถวาย, สัตว์หัวปี, และการถวายส่วนหนึ่งในสิบเป็น “ของบริสุทธิ์แก่พระยะโฮวา.”
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
16:29—ชาวอิสราเอลต้อง “ทรมานจิตต์ของตน” ในทางใด? ขั้นตอนนี้ ซึ่งทำในวันไถ่โทษ เกี่ยวข้องกับการแสวงหาการให้อภัยบาป. การอดอาหารในช่วงเวลานั้นเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับการยอมรับความผิดบาป. ดังนั้น ดูเหมือนเป็นไปได้มากทีเดียวที่การ “ทรมานจิตต์” หมายถึงการอดอาหาร.
19:27 (ฉบับแปลใหม่)—พระบัญชาที่ว่าห้าม “กันผมที่จอนหู” หรือ “กันริม” เครานั้นมีความหมายเช่นไร? ดูเหมือนว่า กฎหมายนี้มีไว้เพื่อป้องกันชาวยิวจากการตัดแต่งหนวดเคราและทรงผมเพื่อเลียนแบบกิจปฏิบัติบางอย่างของพวกนอกรีต. (ยิระมะยา 9:25, 26; 25:23; 49:32) อย่างไรก็ตาม พระบัญชาของพระเจ้าไม่ได้ห้ามชาวยิวตัดเล็มหนวดเคราของพวกเขาโดยสิ้นเชิง.—2 ซามูเอล 19:24.
25:35-37—ถือเป็นความผิดเสมอไปไหมที่ชาวอิสราเอลจะคิดดอกเบี้ย? ถ้ามีการยืมเงินเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ ผู้ให้ยืมสามารถคิดดอกเบี้ยได้. อย่างไรก็ตาม กฎหมายห้ามการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินที่กู้เพื่อบรรเทาความยากจน. การหาผลกำไรจากเพื่อนบ้านที่ประสบเหตุการณ์ร้ายจนสิ้นเนื้อประดาตัวนั้นเป็นสิ่งผิด.—เอ็กโซโด 22:25, ฉบับแปลใหม่.
26:19—“ฟ้าสวรรค์เป็น . . . ดุจดังเหล็ก, และแผ่นดินดุจดังทองเหลือง [“ทองแดง,” ล.ม.]” อย่างไร? เนื่องจากฝนไม่ตก ท้องฟ้าเหนือดินแดนคะนาอันจึงดูเหมือนกับแข็งดังแผ่นเหล็กที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้. เมื่อไม่มีฝน แผ่นดินจึงมีสีเหมือนทองแดง สะท้อนแสงจ้าเหมือนโลหะ.
26:26—“ผู้หญิงสิบคนจะปิ้งขนมในเตาอันเดียวกัน” มีความหมายเช่นไร? ตามปกติแล้ว ผู้หญิงทุกคนต้องการเตาอบคนละเตาเพื่อใช้อบอาหารทุกอย่างที่เธอต้องทำ. แต่ถ้อยคำเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการขาดแคลนอาหารอย่างหนักซึ่งแม้แต่เตาอันเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำอาหารทั้งหมดที่ผู้หญิงสิบคนทำ. นี่เป็นผลที่บอกไว้ล่วงหน้าอย่างหนึ่งของการไม่รักษาความบริสุทธิ์.
บทเรียนสำหรับเรา:
20:9. ในสายพระเนตรของพระยะโฮวา ความเกลียดชังและน้ำใจมุ่งร้ายเป็นสิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกับการฆ่าคน. ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงกำหนดให้ผู้ที่แช่งด่าพ่อแม่จะได้รับบทลงโทษเดียวกับการฆ่าพ่อแม่จริง ๆ. เรื่องนี้น่าจะกระตุ้นเราให้แสดงความรักต่อเพื่อนร่วมความเชื่อมิใช่หรือ?—1 โยฮัน 3:14, 15.
22:32; 24:10-16, 23. พระนามของพระยะโฮวาไม่ควรถูกตำหนิ. ตรงกันข้าม เราต้องสรรเสริญพระนามของพระองค์และอธิษฐานเพื่อพระนามนั้นจะได้รับความนับถืออันบริสุทธิ์.—บทเพลงสรรเสริญ 7:17; มัดธาย 6:9.
วิธีที่พระธรรมเลวีติโกมีผลกระทบต่อการนมัสการของเรา
พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้พระบัญญัติ. (ฆะลาเตีย 3:23-25) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสิ่งที่กล่าวในพระธรรมเลวีติโกช่วยเราให้มีความหยั่งเห็นเข้าใจถึงทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องต่าง ๆ พระธรรมเลวีติโกจึงมีผลกระทบต่อการนมัสการของเรา.
เมื่อคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลประจำสัปดาห์เพื่อเตรียมตัวสำหรับโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณจะรู้สึกประทับใจกับข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องความบริสุทธิ์จากผู้รับใช้ของพระองค์. นอกจากนั้น พระธรรมเล่มนี้ยังสามารถกระตุ้นคุณให้ถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระผู้สูงสุด และคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์เสมอซึ่งจะนำคำสรรเสริญสู่พระองค์ด้วย.
[ภาพหน้า 21]
เครื่องบูชาที่ได้ถวายภายใต้พระบัญญัติเล็งถึงพระเยซูคริสต์และเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์
[ภาพหน้า 22]
เทศกาลขนมปังไม่มีเชื้อเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
[ภาพหน้า 23]
เทศกาลประจำปี เช่น เทศกาลตั้งทับอาศัยเป็นโอกาสถวายการขอบพระคุณแด่พระยะโฮวา