บทสิบสาม
ทัศนะอย่างพระเจ้าในเรื่องชีวิต
พระเจ้ามีทัศนะอย่างไรต่อชีวิต?
พระเจ้ามีทัศนะอย่างไรต่อการทำแท้ง?
เราแสดงความนับถือต่อชีวิตโดยวิธีใด?
1. ใครสร้างสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น?
ผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์ได้กล่าวว่า “พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ถาวร, เป็นพระเจ้าทรงชีวิตอยู่.” (ยิระมะยา 10:10) นอกจากนี้ พระยะโฮวาพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น. เหล่ากายวิญญาณในสวรรค์ได้ทูลพระองค์ว่า “พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่ง สิ่งเหล่านั้นดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้นตามที่พระองค์ทรงประสงค์.” (วิวรณ์ 4:11) ในบทเพลงหนึ่งที่ใช้สรรเสริญพระเจ้า กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวว่า “ด้วยน้ำพุ [“บ่อเกิด,” ล.ม.] แห่งชีวิตดำรงอยู่กับพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) ดังนั้น ชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า.
2. พระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อค้ำจุนชีวิตเรา?
2 พระยะโฮวายังทรงค้ำจุนชีวิตเราด้วย. (กิจการ 17:28) พระองค์ทรงจัดเตรียมอาหารที่เรารับประทาน, น้ำที่เราดื่ม, อากาศที่เราหายใจ, และพื้นแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่. (กิจการ 14:15-17) พระยะโฮวาทำการจัดเตรียมดังกล่าวในวิธีที่ทำให้ชีวิตน่าเพลิดเพลิน. แต่เพื่อจะเพลิดเพลินกับชีวิตได้อย่างเต็มที่ เราต้องเรียนรู้กฎหมายของพระเจ้าและเชื่อฟังกฎหมายนั้น.—ยะซายา 48:17, 18.
การแสดงความนับถือต่อชีวิต
3. พระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรต่อการที่เฮเบลถูกฆ่า?
3 พระเจ้าต้องการให้เรามีความนับถือต่อชีวิต ทั้งชีวิตของเราเองและของคนอื่น. ตัวอย่างเช่น ย้อนไปในสมัยของอาดามกับฮาวา คายินบุตรชายของเขาโกรธแค้นเฮเบลน้องชายมาก. พระยะโฮวาทรงเตือนคายินว่าความโกรธอาจนำเขาไปสู่การทำบาปร้ายแรง. คายินไม่สนใจคำเตือนนั้น. เขา ‘ได้ลุกขึ้นฆ่าเฮเบลน้องชายของตนเสีย.’ (เยเนซิศ 4:3-8) พระยะโฮวาลงโทษคายินเนื่องจากเขาได้ฆ่าน้องชายของตน.—เยเนซิศ 4:9-11.
4. ในพระบัญญัติของโมเซ พระเจ้าได้เน้นทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องชีวิตอย่างไร?
4 ราว ๆ 2,400 ปีต่อมา พระยะโฮวาได้ประทานกฎหมายแก่ชนชาติอิสราเอลเพื่อช่วยพวกเขาให้รับใช้พระองค์อย่างที่ทรงยอมรับได้. เนื่องจากพระองค์ประทานกฎหมายเหล่านี้ผ่านทางผู้พยากรณ์โมเซ บางครั้งมีการเรียกกฎหมายนี้ว่าพระบัญญัติของโมเซ. พระบัญญัติของโมเซข้อหนึ่งบอกไว้ว่า “อย่าฆ่าคน.” (พระบัญญัติ 5:17) ข้อนี้แสดงให้ชาวอิสราเอลเห็นว่าพระเจ้าทรงถือว่าชีวิตมนุษย์มีค่า และคนเราต้องถือว่าชีวิตผู้อื่นมีค่า.
5. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อการทำแท้ง?
5 จะว่าอย่างไรกับชีวิตของเด็กที่ยังไม่เกิดมา? ตามพระบัญญัติของโมเซ การทำให้ทารกในครรภ์มารดาตายถือเป็นความผิด. ที่จริง แม้แต่ชีวิตที่ยังไม่เกิดมาก็มีค่าสำหรับพระยะโฮวา. (เอ็กโซโด 21:22, 23; บทเพลงสรรเสริญ 127:3) นี่หมายความว่าการทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิด.
6. ทำไมเราไม่ควรเกลียดชังเพื่อนมนุษย์?
6 การมีความนับถือต่อชีวิตรวมไปถึงการมีทัศนะที่ถูกต้องต่อเพื่อนมนุษย์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ทุกคนที่เกลียดชังพี่น้องก็เป็นผู้ฆ่าคน และพวกท่านก็รู้ว่าผู้ฆ่าคนจะไม่มีชีวิตนิรันดร์ในตัวเขาเลย.” (1 โยฮัน 3:15) หากเราต้องการมีชีวิตนิรันดร์ เราต้องขจัดความเกลียดชังใด ๆ ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ให้หมดไปจากหัวใจเรา เพราะความเกลียดชังเป็นต้นเหตุของความรุนแรงส่วนใหญ่. (1 โยฮัน 3:11, 12) นับว่าสำคัญที่เราจะเรียนรู้ที่จะรักกันและกัน.
7. นิสัยเช่นไรบ้างที่แสดงว่าขาดความนับถือต่อชีวิต?
7 จะว่าอย่างไรกับการแสดงความนับถือต่อชีวิตของเราเอง? ปกติแล้วไม่มีใครอยากตาย แต่บางคนเสี่ยงตายเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน. ตัวอย่างเช่น หลายคนสูบบุหรี่, เคี้ยวหมาก, หรือเสพยาเพื่อความเพลิดเพลิน. สารเสพติดดังกล่าวก่อความเสียหายต่อร่างกายและบ่อยครั้งทำให้คนนั้นเสียชีวิต. คนที่ใช้สารเสพติดเหล่านี้จนเป็นนิสัยไม่ได้ถือว่าชีวิตศักดิ์สิทธิ์. นิสัยเช่นนั้นไม่สะอาดในสายตาของพระเจ้า. (โรม 6:19; 12:1; 2 โครินท์ 7:1) เพื่อจะรับใช้พระเจ้าอย่างที่ทรงยอมรับได้ เราต้องเลิกนิสัยดังกล่าว. ถึงแม้การทำเช่นนั้นอาจเป็นเรื่องยากมาก แต่พระยะโฮวาจะประทานความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เรา. และพระองค์ทรงเห็นคุณค่าที่เราพยายามรักษาชีวิตของเราซึ่งเป็นของประทานอันมีค่าจากพระองค์.
8. ทำไมเราควรเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเสมอ?
8 หากเรามีความนับถือต่อชีวิต เราจะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเสมอ. เราจะไม่ประมาทและจะไม่เสี่ยงอันตรายเพียงเพื่อจะได้ความสนุกหรือความตื่นเต้น. เราจะหลีกเลี่ยงการขับรถโดยประมาทรวมทั้งกีฬาที่รุนแรงหรือเป็นอันตราย. (บทเพลงสรรเสริญ 11:5) กฎหมายของพระเจ้าที่ให้แก่ชาติอิสราเอลโบราณบอกไว้ว่า “ครั้นเจ้าทั้งหลายจะสร้างเรือนใหม่ [ซึ่งมีหลังคาแบนราบ], จงทำเป็นขอบ [หรือกำแพงเตี้ย] ขึ้นกันไว้ที่หลังคา. เพื่อเจ้าจะไม่ให้ผู้ใดพลัดตกจากที่นั่น, และจะมีโทษแก่เรือนนั้นเพราะเลือดตก.” (พระบัญญัติ 22:8) สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้ จงดูแลบ้านของคุณ เช่น บันได ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยเพื่อจะไม่มีใครสะดุดล้ม, ตกลงมา, และได้รับบาดเจ็บสาหัส. หากคุณมีรถยนต์ จงตรวจดูรถให้อยู่ในสภาพที่จะขับขี่ได้อย่างปลอดภัย. อย่าปล่อยให้บ้านหรือรถของคุณเป็นอันตรายต่อตัวคุณหรือคนอื่น.
9. หากเรามีความนับถือต่อชีวิต เราจะปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไร?
9 จะว่าอย่างไรกับชีวิตสัตว์? พระผู้สร้างทรงถือว่าชีวิตสัตว์ก็ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน. พระเจ้าอนุญาตให้ฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารและทำเครื่องนุ่งห่มหรือเพื่อป้องกันไม่ให้ทำอันตรายคน. (เยเนซิศ 3:21; 9:3; เอ็กโซโด 21:28) แต่การทารุณสัตว์หรือฆ่าสัตว์เพียงเพื่อความสนุกเพลิดเพลินนั้นผิด และเป็นการแสดงความไม่นับถือต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตเลย.—สุภาษิต 12:10.
การแสดงความนับถือต่อเลือด
10. พระเจ้าได้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าชีวิตกับเลือดมีความเกี่ยวพันกัน?
10 หลังจากคายินได้ฆ่าเฮเบลน้องชายของตนแล้ว พระยะโฮวาตรัสแก่คายินว่า “เสียงโลหิตของน้องร้องฟ้องขึ้นมาจากดินถึงเรา.” (เยเนซิศ 4:10) เมื่อพระเจ้าตรัสถึงโลหิตของเฮเบล พระองค์กำลังตรัสถึงชีวิตของเฮเบล. คายินเอาชีวิตเฮเบลไป และตอนนี้คายินจะต้องถูกลงโทษ. นั่นเหมือนกับว่าโลหิตหรือชีวิตของเฮเบลกำลังร้องขอความยุติธรรมจากพระยะโฮวา. มีการแสดงให้เห็นความเกี่ยวพันกันระหว่างชีวิตกับเลือดอีกครั้งหนึ่งหลังจากน้ำท่วมโลกในสมัยของโนอาห์. ก่อนน้ำท่วมโลก มนุษย์รับประทานเฉพาะแต่ผลไม้, ผัก, ข้าว, และถั่วต่าง ๆ. หลังจากน้ำท่วมโลก พระยะโฮวาตรัสแก่โนอาห์และบุตรชายของท่านว่า “สารพัตรสัตว์ที่มีชีวิตจะเป็นอาหารของเจ้า, เช่นกับผักสดที่เรายกให้แก่เจ้าแล้วนั้น.” แต่พระเจ้าทรงกำหนดข้อห้ามไว้ดังนี้: “เว้นแต่เนื้อที่ยังมีชีวิตอยู่เจ้าอย่ากินเลย, คือยังมีเลือดอยู่นั้น.” (เยเนซิศ 1:29; 9:3, 4) เห็นได้ชัด พระยะโฮวาทรงเชื่อมโยงชีวิตกับเลือดของสัตว์เข้าด้วยกัน.
11. การใช้เลือดแบบไหนที่พระเจ้าทรงห้ามไว้ตั้งแต่สมัยของโนอาห์?
11 เราแสดงความนับถือต่อเลือดโดยการไม่รับประทานเลือด. ในพระบัญญัติที่พระยะโฮวาทรงให้แก่ชาวอิสราเอล พระองค์ทรงสั่งว่า “ผู้ใด . . . จะจับเอาสัตว์อย่างหนึ่งอย่างใดที่กินได้, ผู้นั้นต้องให้โลหิตสัตว์นั้นไหลลงที่ดินและปิดไว้. . . . เราได้ตรัสแก่พวกยิศราเอลทั้งปวงว่า, ‘อย่าได้กินโลหิตสัตว์อย่างหนึ่งอย่างใดเลย.” (เลวีติโก 17:13, 14) คำสั่งของพระเจ้าที่ห้ามเรื่องการกินเลือดสัตว์ ซึ่งทีแรกให้แก่โนอาห์ราว ๆ 800 ปีก่อนหน้านั้น ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่. ทัศนะของพระยะโฮวาชัดเจน กล่าวคือ ผู้รับใช้ของพระองค์กินเนื้อสัตว์ได้ แต่กินเลือดไม่ได้. พวกเขาต้องเทเลือดลงบนพื้นดิน ซึ่งที่แท้แล้วเป็นการคืนชีวิตสัตว์ให้พระเจ้า.
12. มีการให้คำสั่งอะไรเกี่ยวกับเลือดโดยการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในศตวรรษแรก และยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้?
12 คริสเตียนได้รับคำสั่งคล้ายกันนั้นด้วย. อัครสาวกและผู้ชายคนอื่น ๆ ที่นำหน้าท่ามกลางพวกสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกได้ประชุมกันเพื่อตัดสินว่าทุกคนในประชาคมคริสเตียนควรเชื่อฟังคำสั่งเรื่องใดบ้าง. พวกเขาได้ลงความเห็นดังนี้: “พระวิญญาณบริสุทธิ์และพวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่วางภาระหนักบนพวกท่านเว้นแต่สิ่งจำเป็นเหล่านี้ คือ ให้ละเว้นจากของที่บูชาแก่รูปเคารพ จากเลือด จากสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย [ยังมีเลือดค้างอยู่ในเนื้อ] และจากการผิดประเวณี.” (กิจการ 15:28, 29; 21:25) ดังนั้น เราต้อง ‘ละเว้นจากเลือด.’ ในสายพระเนตรของพระเจ้า การที่เราละเว้นจากเลือดมีความสำคัญพอ ๆ กับการหลีกเว้นจากการไหว้รูปเคารพและการผิดศีลธรรมทางเพศ.
13. จงยกตัวอย่างว่าทำไมคำสั่งที่ให้ละเว้นจากเลือดจึงรวมไปถึงการถ่ายเลือดด้วย.
13 คำสั่งที่ให้ละเว้นจากเลือดรวมถึงการถ่ายเลือดด้วยไหม? ใช่แล้ว. เพื่อเป็นตัวอย่าง: สมมุติว่าหมอสั่งให้คุณงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์. นั่นจะเพียงแต่หมายความว่าคุณไม่ควรดื่มเหล้า แต่คุณจะฉีดเหล้าเข้าไปทางเส้นเลือดของคุณได้อย่างนั้นไหม? ไม่ใช่แน่ ๆ! เช่นเดียวกัน การละเว้นจากเลือดหมายถึงการไม่รับเลือดเข้าสู่ร่างกายของเราไม่ว่าโดยวิธีใด. ดังนั้น คำสั่งที่ให้ละเว้นจากเลือดจึงหมายความว่าเราจะไม่ยอมให้ใครถ่ายเลือดเข้าไปทางเส้นเลือดของเรา.
14, 15. หากหมอบอกว่าคริสเตียนต้องรับการถ่ายเลือด เขาจะตอบอย่างไร และเพราะเหตุใด?
14 จะว่าอย่างไรหากคริสเตียนบาดเจ็บสาหัสหรือจำเป็นต้องรับการผ่าตัดใหญ่? สมมุติหมอบอกว่าเขาต้องรับการถ่ายเลือดมิฉะนั้นเขาจะตาย. แน่นอน คริสเตียนคงจะไม่อยากตาย. ด้วยความพยายามจะรักษาชีวิตซึ่งเป็นของประทานอันมีค่าจากพระเจ้า เขาจะยอมรับการรักษาด้วยวิธีอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้เลือดในทางที่ผิด. ด้วยเหตุนี้ เขาจะแสวงหาวิธีรักษาทางการแพทย์ดังกล่าวถ้าสามารถหาได้และจะยอมรับทางเลือกอื่น ๆ แทนการถ่ายเลือด.
15 คริสเตียนจะละเมิดกฎหมายของพระเจ้าเพียงเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสักหน่อยหนึ่งในระบบปัจจุบันนี้ไหม? พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดพยายามเอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดยอมเสียชีวิตเพื่อเห็นแก่เรา ผู้นั้นจะได้ชีวิต.” (มัดธาย 16:25) เราไม่อยากตาย. แต่ถ้าเราพยายามรักษาชีวิตที่เรามีอยู่ในตอนนี้โดยละเมิดกฎหมายของพระเจ้า เราจะเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตนิรันดร์. ดังนั้น นับว่าฉลาดสุขุมที่เราเชื่อมั่นในความถูกต้องแห่งกฎหมายของพระเจ้า ด้วยความมั่นใจเต็มที่ว่าหากเราตายไม่ว่าเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม พระองค์ผู้ประทานชีวิตให้เราจะระลึกถึงเรา โดยการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย และคืนชีวิตซึ่งเป็นของประทานอันมีค่าให้แก่เรา.—โยฮัน 5:28, 29; ฮีบรู 11:6.
16. ผู้รับใช้ของพระเจ้าตั้งใจแน่วแน่เช่นไรในเรื่องเลือด?
16 ทุกวันนี้ ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติตามการชี้นำของพระองค์ในเรื่องเลือด. พวกเขาจะไม่กินเลือดไม่ว่าแบบใด. นอกจากนี้ พวกเขาจะไม่ยอมรับเลือดเพื่อการรักษาพยาบาล.a พวกเขามั่นใจว่าพระผู้สร้างเลือดย่อมรู้ดีว่าอะไรดีที่สุดสำหรับพวกเขา. คุณเชื่อไหมว่าพระองค์รู้ดี?
การใช้เลือดอย่างถูกต้องเพียงวิธีเดียว
17. ในอิสราเอลโบราณ การใช้เลือดเพียงวิธีเดียวที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงยอมรับคืออย่างไร?
17 พระบัญญัติของโมเซเน้นการใช้เลือดอย่างถูกต้องเพียงวิธีเดียว. เกี่ยวกับการนมัสการที่เรียกร้องจากชาวอิสราเอลโบราณ พระยะโฮวาทรงสั่งว่า “ชีวิตของเนื้อหนังอยู่ในเลือด เราได้ให้เลือดแก่เจ้าเพื่อใช้บนแท่นเพื่อจะทำการลบมลทินบาปแห่งวิญญาณจิตของเจ้า เพราะว่าโลหิตเป็นสิ่งที่ทำการลบมลทินบาป.” (เลวีติโก 17:11, ฉบับ R73 ) เมื่อชาวอิสราเอลทำบาป พวกเขาจะได้รับการอภัยโดยการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาและนำเลือดสัตว์บางส่วนไปพรมบนแท่นบูชาในพลับพลา หรือในสมัยต่อมาก็ที่พระวิหารของพระเจ้า. การใช้เลือดอย่างถูกต้องเพียงวิธีเดียวก็คือ ใช้เพื่อเป็นเครื่องบูชาดังที่ได้กล่าวแล้ว.
18. ผลประโยชน์และพระพรอะไรที่เราได้รับจากการหลั่งพระโลหิตของพระเยซู?
18 คริสเตียนแท้ไม่อยู่ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ ดังนั้นจึงไม่ถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาและไม่ต้องนำเลือดสัตว์ไปพรมบนแท่น. (ฮีบรู 10:1) อย่างไรก็ตาม การใช้เลือดพรมบนแท่นในสมัยชาติอิสราเอลโบราณชี้ถึงเครื่องบูชาอันมีค่ามากของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า. ดังที่เราได้เรียนในบท 5 ของหนังสือนี้ พระเยซูทรงสละชีวิตมนุษย์ของพระองค์เพื่อเรา โดยยอมหลั่งพระโลหิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชา. ต่อจากนั้น พระองค์ได้เสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้วนำคุณค่าของพระโลหิตที่หลั่งออกนั้นไปถวายแด่พระเจ้าครั้งเดียวซึ่งมีผลใช้ได้ตลอดไป. (ฮีบรู 9:11, 12) นั่นเป็นการปูพื้นฐานไว้สำหรับการอภัยบาปของเราและเปิดทางให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16) การใช้เลือดโดยวิธีนั้นช่างเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไร! (1 เปโตร 1:18, 19) โดยความเชื่อในคุณค่าแห่งพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูเท่านั้นที่เราจะได้รับความรอด.
19. เราต้องทำอะไรเพื่อจะ “ไม่ต้องรับผิดชอบการตายของคนทั้งปวง”?
19 เรารู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาพระเจ้าสักเพียงไรสำหรับการจัดเตรียมด้วยความรักเกี่ยวกับชีวิต! และนั่นควรจะกระตุ้นเราให้บอกคนอื่นเรื่องโอกาสที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์โดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซูมิใช่หรือ? ความห่วงใยอย่างพระเจ้าที่เรามีต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์จะกระตุ้นเราให้บอกคนอื่นถึงเรื่องนี้ด้วยความกระตือรือร้นและใจแรงกล้า. (ยะเอศเคล 3:17-21) หากเราทำอย่างขยันขันแข็งเพื่อให้หน้าที่รับผิดชอบนี้สำเร็จลุล่วง เราก็จะพูดได้เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโลที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องรับผิดชอบการตายของคนทั้งปวง เพราะข้าพเจ้าได้ทุ่มเทตัวเพื่อบอกพวกท่านให้รู้เรื่องพระประสงค์ทั้งปวงของพระเจ้าแล้ว.” (กิจการ 20:26, 27) การบอกผู้คนเรื่องพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์เป็นวิธีที่ดีที่แสดงว่าเรามีความนับถืออย่างสูงส่งต่อชีวิตและเลือด.
a สำหรับข้อมูลเรื่องทางเลือกอื่นที่ใช้แทนการถ่ายเลือด โปรดดูเรื่อง “ทางเลือกอื่น ๆ ที่มีคุณภาพแทนการถ่ายเลือด” ในจุลสารเลือดจะช่วยชีวิตคุณได้อย่างไร? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.