เมืองลี้ภัย—การจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเจ้า
“ทั้งหกเมืองนี้ให้เป็นเมืองลี้ภัย . . . เพื่อคนหนึ่งคนใดที่ได้ฆ่าเขาโดยมิได้เจตนาจะได้หลบหนีไปที่นั่น.”—อาฤธโม 35:15, ฉบับแปลใหม่.
1. ทัศนะของพระเจ้าในเรื่องชีวิตและความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกเป็นเช่นไร?
พระเจ้ายะโฮวาทรงถือว่าชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์. และชีวิตอยู่ในเลือด. (เลวีติโก 17:11, 14) ด้วยเหตุนี้ คายิน มนุษย์คนแรกที่เกิดบนแผ่นดินโลก จึงมีความผิดฐานทำให้โลหิตตก เมื่อเขาได้ฆ่าเฮเบลน้องชายตัวเอง. ดังนั้น พระเจ้าจึงตรัสแก่คายินดังนี้: “เสียงโลหิตของน้องร้องฟ้องขึ้นมาจากดินถึงเรา.” โลหิตที่เปื้อนเปรอะบนพื้นดินตรงที่เกิดฆาตกรรมนั้นเป็นคำให้การที่ไม่ออกเสียง แต่บ่งชัดถึงชีวิตที่ถูกบั่นทอนอย่างโหดร้าย. โลหิตของเฮเบลร้องขอพระเจ้าให้แก้แค้น.—เยเนซิศ 4:4-11.
2. การที่พระเจ้าทรงถือว่าชีวิตมีค่าได้รับการเน้นอย่างไรภายหลังน้ำท่วมโลก?
2 การที่พระเจ้าทรงถือว่าชีวิตมนุษย์มีคุณค่าได้รับการเน้นภายหลังโนฮาผู้ชอบธรรมและครอบครัวของท่านออกมาจากนาวา ฐานะผู้รอดชีวิตผ่านน้ำท่วมโลก. ตอนนั้นเอง พระยะโฮวาทรงอนุญาตให้มนุษย์รับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารได้ แต่ไม่ให้รับประทานเลือด. พระองค์ทรงบัญชาด้วยว่า “โลหิตที่เป็นชีวิตของเจ้านั้นเราจะทวงเอา; เราคงจะทวงเอาจากสัตว์ทั้งปวง, และเราจะทวงเอาจากมือมนุษย์ด้วย: เราจะทวงเอาชีวิตมนุษย์จากมือพี่น้องของตนทุกคน. ผู้ใดฆ่ามนุษย์ให้โลหิตไหล, มนุษย์จะฆ่าผู้นั้นให้โลหิตไหลเหมือนกัน: เพราะพระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของพระองค์.” (เยเนซิศ 9:5, 6) พระยะโฮวาทรงยอมรับสิทธิของญาติใกล้ชิดผู้ตายที่จะเอาชีวิตคนฆ่าเมื่อเจอตัว.—อาฤธโม 35:19.
3. พระบัญญัติของโมเซย้ำอย่างไรถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต?
3 ในพระบัญญัติที่ประทานแก่ชาวยิศราเอลผ่านทางโมเซ ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตก็ได้มีการย้ำหลายครั้ง. ตัวอย่างเช่น พระเจ้าตรัสสั่งดังนี้: “อย่าฆ่าคน.” (เอ็กโซโด 20:13) การถือว่าชีวิตมนุษย์มีค่าปรากฏชัดเช่นกันในพระบัญญัติของโมเซว่าด้วยสาเหตุการตายที่พัวพันไปถึงหญิงมีครรภ์. พระบัญญัติระบุไว้ว่า ถ้าหญิงมีครรภ์หรือทารกในครรภ์เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ระหว่างชายสองคน ผู้พิพากษาจำต้องวินิจฉัยตามสภาพการณ์และขนาดแห่งเจตนา แต่โทษที่จะได้รับอาจหมายถึง “จิตวิญญาณแทนจิตวิญญาณ” หรือชีวิตแทนชีวิต. (เอ็กโซโด 21:22-25, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม โดยวิธีใดวิธีหนึ่งผู้ฆ่าที่เป็นชาวยิศราเอลอาจหนีพ้นจากผลแห่งการกระทำอันรุนแรงของตนไหม?
สถานลี้ภัยสำหรับฆาตกรหรือ?
4. ภายนอกดินแดนยิศราเอล เคยมีสถานลี้ภัยที่ใดบ้างในอดีต?
4 ในประเทศอื่นนอกจากยิศราเอล มีการจัดสถานลี้ภัยไว้สำหรับฆาตกรและผู้กระทำความผิดอื่น ๆ อย่างเช่น บริเวณวิหารแห่งเทพธิดาอะระเตมีในเมืองเอเฟโซโบราณ เป็นต้น. เกี่ยวกับสถานที่คล้าย ๆ กัน มีรายงานดังนี้: “อารามบางแห่งเป็นแหล่งเพาะอาชญากรจำนวนมาก และมีอยู่บ่อยครั้งซึ่งจำเป็นต้องจำกัดสถานลี้ภัย. ที่นครเอเธนส์ มีวิหารบางแห่งเท่านั้นซึ่งกฎหมายให้การรับรองเป็นที่ลี้ภัย (เช่น วิหารเทเซอุสให้รับเฉพาะทาส), ในสมัยของทิเบเรียส กลุ่มอาชญากรต่าง ๆ ภายในอารามได้กลายเป็นแหล่งอันตรายยิ่งจนต้องมีการจำกัดสิทธิ์ให้จัดตั้งที่ลี้ภัยไว้เพียงไม่กี่เมือง (ในปีสากลศักราช 22).” (สารานุกรมยิว, ภาษาอังกฤษ 1909, เล่มสอง, หน้า 256) กาลต่อมา โบสถ์ต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรกลายเป็นสถานลี้ภัย แต่การทำเช่นนี้มุ่งหมายจะถ่ายอำนาจจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปเป็นของฝ่ายบาทหลวง และขัดกับการบริหารราชการตามขบวนการยุติธรรม. การใช้สถานลี้ภัยเช่นนั้นในทางผิดเป็นเหตุให้มีการยกเลิกการจัดเตรียมนี้ในที่สุด.
5. มีหลักฐานอะไรแสดงว่าพระบัญญัติไม่อนุโลมให้แสดงความเมตตาในกรณีที่ความประมาทเลินเล่อทำให้มีผู้เสียชีวิต?
5 ในหมู่ชาวยิศราเอล ผู้ที่เจตนาฆ่าคนไม่มีสิทธิ์จะอยู่ในสถานลี้ภัย. แม้แต่ปุโรหิตตระกูลเลวีที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ แท่นบูชาของพระเจ้าก็ต้องถูกนำตัวไปสำเร็จโทษเมื่อเขาได้ฆ่าคนอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม. (เอ็กโซโด 21:12-14) ยิ่งกว่านั้น พระบัญญัติไม่อนุโลมให้แสดงความเมตตา กรณีที่ความประมาทเลินเล่อทำให้มีผู้เสียชีวิต. ยกตัวอย่าง เจ้าบ้านต้องทำขอบกั้นหลังคาที่แบนราบของบ้านหลังใหม่ของตน. มิฉะนั้น ความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจะตกแก่บ้านนั้นหากมีคนตกจากหลังคาบ้านแล้วเสียชีวิต. (พระบัญญัติ 22:8) นอกจากนี้ ถ้าเจ้าของโคที่มีนิสัยขวิดคนได้รับการเตือนแล้ว แต่เขาไม่ได้กักขังสัตว์นั้นไว้ และโคนั้นขวิดคนตาย เจ้าของโคมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกและเขาอาจมีโทษถึงตาย. (เอ็กโซโด 21:28-32) ข้อพิสูจน์มากกว่านี้ที่พระเจ้าทรงถือว่าชีวิตมีค่าปรากฏชัดในกรณีที่คนหนึ่งทุบตีขโมยจนเสียชีวิต ผู้นั้นย่อมมีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกถ้าเหตุเกิดในเวลากลางวันเมื่อสามารถมองเห็นและระบุตัวผู้บุกรุกได้. (เอ็กโซโด 22:2, 3) เช่นนั้นแล้ว จึงเห็นชัดว่าข้อกฎหมายของพระเจ้าซึ่งมีความสมดุลอย่างแท้จริงไม่ปล่อยให้ฆาตกรที่เจตนาทำผิดหนีพ้นการประหารชีวิตไปได้.
6. ได้มีการปฏิบัติตามพระบัญญัติว่าด้วย ‘ชีวิตแทนชีวิต’ นั้นอย่างไรในยิศราเอลโบราณ?
6 ถ้าเกิดการฆาตกรรมขึ้นในยิศราเอลโบราณ จะต้องมีการแก้แค้นแทนโลหิตผู้ถูกฆ่า. นับว่าเป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติว่าด้วย ‘ชีวิตแทนชีวิต’ เมื่อฆาตกรถูกสังหารโดย “ผู้ที่ตอบแทนโลหิต.” (อาฤธโม 35:19) ผู้ที่ตอบแทนคือผู้ชายซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของบุคคลที่ถูกฆ่า. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับผู้ฆ่าคนโดยไม่ตั้งใจ?
การจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระยะโฮวา
7. พระเจ้าได้ทรงเตรียมการอะไรเพื่อคนเหล่านั้นที่ฆ่าคนโดยไม่เจตนา?
7 สำหรับผู้ที่ทำให้คนอื่นเสียชีวิตด้วยเหตุบังเอิญหรือโดยไม่ตั้งใจ พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมด้วยความรักให้มีเมืองลี้ภัย. เกี่ยวกับเมืองเหล่านี้ โมเซได้รับพระบัญชาว่า “จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า เมื่อเจ้าทั้งหลายข้ามแม่น้ำจอร์แดน เข้าในแผ่นดินคานาอัน เจ้าจงเลือกเมืองให้เป็นเมืองลี้ภัย สำหรับเจ้า เพื่อคนที่ได้ฆ่าคนด้วยมิได้เจตนาจะหลบหนีไปอยู่ที่นั่นก็ได้. ให้เมืองเหล่านั้นเป็นเมืองลี้ภัยจากผู้ที่อาฆาต เพื่อมิให้คนฆ่าคนจะต้องตายเสียก่อนที่เขาจะยืนต่อหน้าชุมนุมชนเพื่อรับการพิพากษา. และเมืองที่เจ้ายกไว้นั้นให้เป็นเมืองลี้ภัยหกเมือง. เจ้าจงให้ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนสามเมือง และอีกสามเมืองในแผ่นดินคานาอันให้เป็นเมืองลี้ภัย ทั้งหกเมืองนี้ให้เป็นเมืองลี้ภัย . . . เพื่อคนหนึ่งคนใดที่ได้ฆ่าเขาโดยมิได้เจตนาจะได้หลบหนีไปที่นั่น.”—อาฤธโม 35:9-15, ฉบับแปลใหม่.
8. เมืองลี้ภัยตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง และผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาได้รับการช่วยให้ไปถึงเมืองเหล่านั้นอย่างไร?
8 เมื่อชาวยิศราเอลได้เข้าไปในแผ่นดินแห่งคำสัญญา ด้วยความเชื่อฟังพวกเขาได้จัดตั้งหกเมืองเป็นเมืองลี้ภัย. สามเมืองในจำนวนนี้ก็มีเมืองฆาเดช, เมืองเซเค็ม, และเมืองเฮ็บโรน—อยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำยาระเดน. เมืองลี้ภัยทางฟากตะวันออกของแม่น้ำยาระเดนก็มีเมืองโฆลาน, เมืองราโมธ, และเมืองเบเซ็ร. เมืองลี้ภัยทั้งหกเมืองตั้งอยู่บนเส้นทางที่ไปได้สะดวก และถนนรับการซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ดี. ณ จุดที่เหมาะสมตามเส้นทางเหล่านี้จะมีป้าย “ที่ลี้ภัย.” ป้ายเหล่านี้ชี้ไปทางเมืองลี้ภัย และผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาวิ่งเพื่อเอาชีวิตรอดไปยังเมืองลี้ภัยที่ใกล้ที่สุด. ที่นั่นเขาจะได้รับการปกป้องจากผู้แก้แค้นโลหิต.—ยะโฮซูอะ 20:2-9.
9. เพราะเหตุใดพระยะโฮวาทรงจัดให้มีเมืองลี้ภัย และเมืองลี้ภัยเหล่านั้นเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใด?
9 เพราะเหตุใดพระเจ้าทรงจัดให้มีเมืองลี้ภัย? ทั้งนี้ก็เพื่อแผ่นดินจะไม่เป็นมลทินเพราะโลหิตที่ปราศจากผิด และความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจะไม่ตกอยู่กับพลเมือง. (พระบัญญัติ 19:10) เมืองลี้ภัยที่ได้เตรียมไว้เป็นประโยชน์สำหรับใคร? พระบัญญัติแถลงว่า “ทั้งหกเมืองนี้ให้เป็นเมืองลี้ภัยของคนอิสราเอลและสำหรับคนต่างด้าวและสำหรับคนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางเขา เพื่อคนหนึ่งคนใดที่ได้ฆ่าเขาโดยมิได้เจตนาจะได้หลบหนีไปที่นั่น.” (อาฤธโม 35:15, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น เพื่อสำแดงความเมตตา และด้วยจุดประสงค์จะบรรลุความยุติธรรม พระยะโฮวาทรงสั่งพวกยิศราเอลให้ตั้งเมืองลี้ภัยไว้ต่างหากสำหรับผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนา ซึ่งเป็น (1) ชาวยิวโดยกำเนิด, (2) คนต่างด้าวที่อาศัยในแผ่นดินยิศราเอล หรือ (3) คนจากประเทศอื่นที่มาตั้งบ้านเรือนในแผ่นดิน.
10. เหตุใดอาจกล่าวได้ว่าเมืองลี้ภัยเป็นการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความเมตตาจากพระเจ้า?
10 น่าสังเกตว่าถึงแม้บุคคลใดได้ฆ่าคนโดยไม่เจตนา เขาต้องถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของพระเจ้าที่ว่า “ผู้ใดฆ่ามนุษย์ให้โลหิตไหล, มนุษย์จะฆ่าผู้นั้นให้โลหิตไหลเหมือนกัน.” ดังนั้น เฉพาะการจัดเตรียมอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระยะโฮวาเท่านั้นที่ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาสามารถหนีไปยังเมืองลี้ภัยเมืองใดเมืองหนึ่งได้. ดูเหมือนว่าประชาชนโดยทั่วไปมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจใครก็ตามที่หนีผู้แก้แค้นโลหิต เพราะพวกเขาทุกคนต่างก็ตระหนักว่า เขาอาจพลาดกระทำผิดทำนองเดียวกันโดยไม่เจตนา และต้องการที่ลี้ภัยและความเมตตา.
หนีเพื่อลี้ภัย
11. ในชาติยิศราเอลโบราณ ผู้คนสามารถทำอะไรได้ถ้าโดยบังเอิญเขาเป็นเหตุให้คนที่ทำงานอยู่ด้วยกันถึงแก่ชีวิต?
11 ตัวอย่างประกอบอาจเพิ่มการหยั่งรู้ค่าของคุณมากยิ่งขึ้นต่อการจัดเตรียมที่ลี้ภัยอันแสดงถึงความเมตตาของพระเจ้า. ลองสร้างมโนภาพว่าคุณกำลังตัดไม้ในแผ่นดินยิศราเอลโบราณ. บังเอิญหัวขวานหลุดกระเด็นออกจากด้ามไปถูกคนที่ตัดไม้ด้วยกันจนถึงแก่ความตาย. คุณจะทำอย่างไร? กฎหมายให้การคุ้มครองสภาวะเช่นนี้อยู่แล้ว. คุณย่อมจะฉวยประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัยตามที่ระบุไว้ว่า “ผู้ที่ฆ่าคนและหนีไป [ยังเมืองลี้ภัย] อยู่ที่นั่น, เพื่อจะเอาชีวิตรอดเป็นดังนี้: คือผู้ที่ฆ่าคนโดยมิได้เจตนาและแต่ก่อนหาได้มีความโกรธแค้นต่อเขาไม่: เหมือนดังคนผู้หนึ่งกับเพื่อนไปยังป่าตัดไม้, และมือถือขวานฟันต้นไม้อยู่, ขวานนั้นหลุดออกจากด้าม, ไปถูกเพื่อนของตนตาย แล้วผู้นั้นจงหนีไปยังเมืองหนึ่งในเมืองเหล่านั้นก็จะเอาชีวิตรอดได้.” (พระบัญญัติ 19:4, 5) กระนั้น แม้นคุณไปถึงเมืองลี้ภัยแล้ว คุณก็ยังไม่พ้นความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้เกิดขึ้น.
12. หลังจากที่ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาไปถึงเมืองลี้ภัย มีขั้นตอนอะไรซึ่งต้องปฏิบัติ?
12 ถึงแม้คุณได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิต แต่คุณคงต้องเล่าความเป็นมาให้ผู้เฒ่าผู้แก่ ณ ประตูเมืองลี้ภัยรับทราบ. หลังจากเข้าไปในเมืองแล้ว คุณจะถูกส่งตัวกลับมาแก้คดีต่อหน้าพวกผู้เฒ่าผู้แก่ตัวแทนประชาคมยิศราเอล ณ ประตูเมืองที่มีเขตอำนาจชี้ขาดครอบคลุมท้องที่ซึ่งเกิดเหตุฆ่ากันตาย. ที่นั่นคุณจะมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคุณ.
เมื่อผู้ฆ่าคนอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี
13, 14. มีอะไรบ้างที่ผู้เฒ่าผู้แก่ต้องการทำให้แน่ใจระหว่างการพิจารณาคดีผู้ฆ่าคน?
13 ระหว่างการพิจารณาคดี ณ ประตูเมืองต่อหน้าผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอำนาจชี้ขาดในเขตนั้น โดยไม่สงสัย คุณจะสังเกตเห็น พร้อมด้วยความขอบคุณว่า ส่วนใหญ่เน้นถึงความประพฤติของคุณก่อนหน้านี้. ผู้เฒ่าผู้แก่จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับผู้ตายด้วยความรอบคอบ. คุณเคยเกลียดชังเขา, จ้องหาโอกาสทำร้ายเขา, แล้วตั้งใจทุบตีเขาให้ตายไหม? ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่จำต้องส่งตัวคุณให้ผู้แก้แค้นโลหิต และเขาต้องเอาชีวิตคุณแน่. บุคคลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ตระหนักถึงข้อเรียกร้องของพระบัญญัติที่จะ ‘กำจัดความผิดอันเนื่องจากการตายของผู้ที่ปราศจากผิดให้หมดสิ้นไปจากยิศราเอล.’ (พระบัญญัติ 19:11-13, ฉบับแปลใหม่) คล้ายคลึงกัน เมื่อพิจารณาตัดสินความสมัยนี้ คริสเตียนผู้ปกครองจำต้องรู้คัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างดี ปฏิบัติสอดคล้องกับข้อคัมภีร์เหล่านั้นขณะที่คำนึงถึงเจตคติและความประพฤติที่แล้ว ๆ มาของผู้กระทำผิด.
14 ด้วยการสืบสวนอย่างกรุณา ผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองนั้นคงต้องการรู้ว่า คุณได้ย่องติดตามคนที่ตายไปนั้นหรือไม่. (เอ็กโซโด 21:12, 13) คุณแอบซ่อนตัวแล้วจู่โจมเขาไหม? (พระบัญญัติ 27:24) คุณร้อนรุ่มด้วยความโกรธต่อคนนั้นจนถึงกับวางแผนชั่วบางอย่างเพื่อจะฆ่าเขาไหม? ถ้าเช่นนั้น ก็สมควรที่คุณได้รับโทษถึงตาย. (เอ็กโซโด 21:14) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่คงต้องการจะรู้ว่า เคยมีความเป็นอริหรือเกลียดชังกันระหว่างคุณกับผู้ตายหรือไม่. (พระบัญญัติ 19:4, 6, 7; ยะโฮซูอะ 20:5) สมมุติว่าผู้เฒ่าผู้แก่ได้พบว่าคุณไม่มีความผิด และส่งคุณกลับเข้าไปยังเมืองลี้ภัย. คุณคงจะรู้สึกขอบคุณเพียงใดที่คุณได้รับความเมตตา!
ชีวิตในเมืองลี้ภัย
15. ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาต้องทำตามข้อเรียกร้องอะไรบ้าง?
15 ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาต้องอยู่ในเมืองลี้ภัย หรืออยู่ภายในระยะ 1,000 ศอก (ประมาณ 1,450 ฟุต) นอกกำแพง. (อาฤธโม 35:2-4) หากเขาเตร็ดเตร่เลยจุดนี้ เขาอาจเผชิญหน้าผู้แก้แค้นโลหิต. ในสภาพการณ์เช่นนั้น ผู้แก้แค้นสามารถเอาชีวิตผู้ฆ่าคนได้โดยไม่ต้องรับโทษ. แต่ผู้ฆ่าคนไม่ถูกล่ามโซ่ตรวนหรือถูกคุมขัง. ขณะที่อาศัยอยู่ในเมืองลี้ภัย เขาต้องเรียนวิชาชีพ, ต้องทำงาน, และทำหน้าที่ฐานะคนทำประโยชน์ให้สังคม.
16. (ก) ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาต้องอยู่ในเมืองลี้ภัยนานเท่าใด? (ข) เหตุใดการตายของมหาปุโรหิตจึงทำให้เป็นไปได้ที่ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาจะไปจากเมืองลี้ภัยได้?
16 ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาจะต้องอยู่ในเมืองคุ้มภัยนานเท่าใด? อาจเป็นไปได้ว่าตลอดชีวิต. อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติระบุไว้ดังนี้: “ชายผู้นั้นต้องอยู่ในเขตเมืองลี้ภัยจนปุโรหิตใหญ่ [“มหาปุโรหิต,” ล.ม.] ถึงแก่ความตาย ภายหลังเมื่อปุโรหิตใหญ่ [“มหาปุโรหิต,” ล.ม.] ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ฆ่าคนนั้นจะกลับไปยังแผ่นดินที่เขาถือกรรมสิทธิ์อยู่ก็ได้.” (อาฤธโม 35:26-28, ฉบับแปลใหม่) ทำไมการสิ้นชีวิตของมหาปุโรหิตจึงเปิดโอกาสให้ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาไปจากเมืองลี้ภัยได้? มหาปุโรหิตเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่เด่นที่สุดในชาติ. ดังนั้น เมื่อมหาปุโรหิตตายย่อมเป็นเหตุการณ์โดดเด่นที่รู้กันทั่วทุกตระกูลแห่งยิศราเอล. พวกลี้ภัยทั้งสิ้นในเมืองลี้ภัยจึงสามารถกลับไปบ้านเรือนของตนโดยปลอดภัยจากผู้แก้แค้นโลหิต. เพราะเหตุใด? เพราะพระบัญญัติของพระเจ้าได้แจ้งไว้ว่า โอกาสของผู้แก้แค้นโลหิตที่จะเอาชีวิตผู้ฆ่าคนนั้นหมดไปพร้อมกับการตายของมหาปุโรหิต และทุกคนรู้ข้อนี้. ถ้าญาติใกล้ชิดจะแก้แค้นเอาชีวิตหลังจากนั้น เขาก็จะเป็นฆาตกรและในที่สุดก็ต้องรับโทษฐานเป็นผู้ฆ่าคน.
ผลกระทบระยะยาว
17. ข้อกำหนดสำหรับผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาอาจก่อผลกระทบอะไรบ้าง?
17 ข้อกำหนดสำหรับผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาอาจก่อผลกระทบอะไรบ้าง? ข้อกำหนดเหล่านั้นเป็นเครื่องเตือนใจว่า เขาได้ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต. เป็นไปได้ ทีหลังเขาจะมองเห็นชีวิตมนุษย์ว่าศักดิ์สิทธิ์. ยิ่งกว่านั้น เขาคงลืมไม่ได้แน่ ๆ ว่า ตนได้รับการปฏิบัติด้วยความเมตตาปรานี. เมื่อมีการสำแดงความเมตตาต่อเขา เขาก็คงอยากจะเป็นคนเมตตาผู้อื่นอย่างแน่นอน. การจัดให้มีเมืองลี้ภัยขึ้นเช่นนี้พร้อมกับข้อกำหนดยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนทั่วไป. อย่างไรกัน? เรื่องนี้คงต้องฝังใจพวกเขาอย่างแน่นอนว่าเขาไม่ควรประมาทหรือเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์. ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเตือนคริสเตียนถึงความจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงความสะเพร่าซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการตายอย่างไม่คาดคิด. อีกประการหนึ่ง การจัดเตรียมด้วยความเมตตาของพระเจ้าให้มีเมืองลี้ภัยก็น่าจะเร้าใจเราให้แสดงความเมตตาเมื่อสมควรจะทำเช่นนั้น.—ยาโกโบ 2:13.
18. การจัดเตรียมของพระเจ้าให้มีเมืองลี้ภัยเป็นประโยชน์ในทางใดบ้าง?
18 การจัดเตรียมของพระเจ้ายะโฮวาเพื่อให้มีเมืองลี้ภัยนับว่าเป็นประโยชน์ในทางอื่นด้วย. ผู้คนไม่ได้จัดหน่วยรักษาความสงบเพื่อล่าตัวผู้ฆ่าคนโดยสันนิษฐานว่าเขามีความผิดก่อนพิจารณาคดี. แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาถือว่า ผู้นั้นไม่ได้ฆ่าคนโดยเจตนา ถึงกับช่วยเหลือเขาไปถึงที่ปลอดภัยด้วยซ้ำ. นอกจากนั้น การจัดให้มีเมืองคุ้มภัยเป็นแนวทางตรงกันข้ามกับวิธีการสมัยปัจจุบันที่จับตัวฆาตกรขังคุกและกักกันไว้ในทัณฑสถาน ซึ่งเขาอยู่ที่นั่นได้ก็เพราะการสงเคราะห์ทางการเงินจากรัฐบาล และบ่อยครั้งจะกลายเป็นอาชญากรที่หนักข้อมากขึ้น เนื่องจากการคบหาใกล้ชิดกับผู้ทำผิดคนอื่น ๆ. ในการจัดเตรียมเมืองลี้ภัยนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้าง, บำรุงรักษา, และมียามเฝ้าคุกราคาแพงที่มีกำแพงกั้น ติดลูกกรงเหล็กกันนักโทษซึ่งมักจะแหกคุกหนีอยู่เนือง ๆ. อันที่จริง ผู้ฆ่าคนเสาะหา “คุก” และอยู่ที่นั่นช่วงเวลาหนึ่ง. เขาต้องเป็นคนทำงานด้วย โดยวิธีนี้จึงทำงานที่ยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์.
19. มีการยกคำถามอะไรขึ้นมาเกี่ยวด้วยเมืองลี้ภัย?
19 จริง ๆ แล้ว การจัดเตรียมที่เปี่ยมด้วยความเมตตาของพระยะโฮวาเกี่ยวกับเมืองลี้ภัยแห่งยิศราเอลเป็นไปเพื่อให้การคุ้มภัยแก่ผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนา. การจัดเตรียมเช่นนี้ส่งเสริมความนับถือต่อชีวิตอย่างแน่นอน. อย่างไรก็ดี เมืองลี้ภัยสมัยโบราณมีความสำคัญสำหรับประชาชนผู้อยู่ในศตวรรษที่ 20 นี้ไหม? เป็นได้ไหมว่า เรามีความผิดเนื่องจากการทำให้โลหิตตกจำเพาะพระเจ้ายะโฮวา และไม่ตระหนักว่าเราต้องการความเมตตาของพระองค์? เมืองลี้ภัยในยิศราเอลมีความหมายสำหรับพวกเราสมัยปัจจุบันไหม?
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ พระยะโฮวาทรงถือว่าชีวิตมนุษย์เป็นอย่างไร?
▫ การจัดเตรียมอะไรของพระยะโฮวาที่แสดงถึงความเมตตาต่อผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนา?
▫ ผู้ฆ่าคนเข้าไปอยู่ในเมืองลี้ภัยอย่างไร และเขาจะต้องอยู่ที่นั่นนานเท่าใด?
▫ ข้อกำหนดสำหรับผู้ฆ่าคนโดยไม่เจตนาอาจก่อผลกระทบอะไรบ้าง?
[แผนที่หน้า 12]
เมืองลี้ภัยในยิศราเอลตั้งอยู่ในทำเลที่ไปถึงได้โดยสะดวก
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ฆาเดช แม่น้ำยาระเดน โฆลาน
เซเค็ม ราโมธ
เฮ็บโรน เบเซ็ร