‘จงเลือกเอาชีวิตเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป’
“เราได้ตั้งชีวิตและความตาย พระพรและคำสาปแช่งไว้ตรงหน้าท่านทั้งหลาย; และท่านต้องเลือกเอาชีวิตเพื่อท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—พระบัญญัติ 30:19, ล.ม.
1, 2. มนุษย์ถูกสร้างตามแบบพระเจ้าในประการใดบ้าง?
“ให้เราสร้างมนุษย์ตามแบบเรา ให้มีลักษณะคล้ายกับเรา.” พระดำรัสดังกล่าวของพระเจ้ามีบันทึกไว้ในบทแรกของคัมภีร์ไบเบิล. สอดคล้องกับพระดำรัสนั้น เยเนซิศ 1:26, 27 (ล.ม.) รายงานว่า “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ตามแบบพระองค์ ตามแบบพระองค์นั้นพระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น.” ด้วยเหตุนั้น มนุษย์คนแรกจึงต่างจากสิ่งทรงสร้างอื่น ๆ ทั้งหมดบนแผ่นดินโลก. เขามีลักษณะคล้ายกับพระผู้สร้างตัวเขา นั่นคือ สามารถสะท้อนเจตคติแบบพระเจ้าในการหาเหตุผล, ในการแสดงความรัก, ความยุติธรรม, สติปัญญา, และอำนาจ. เขามีสติรู้สึกผิดชอบที่ช่วยเขาตัดสินใจอย่างที่จะก่อประโยชน์แก่ตัวเขาเองและเป็นที่พอพระทัยพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์. (โรม 2:15) กล่าวอย่างรวบรัดคือ อาดามมีเจตจำนงเสรี. เมื่อทรงพิจารณาดูบุตรของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลก พระยะโฮวาทรงประเมินผลงานจากฝีพระหัตถ์ของพระองค์ว่า “ดีนัก.”—เยเนซิศ 1:31; บทเพลงสรรเสริญ 95:6.
2 ในฐานะลูกหลานอาดามซึ่งถูกสร้างตามแบบพระเจ้า เราจึงมีคุณลักษณะคล้ายกับพระองค์ด้วย. อย่างไรก็ตาม เรามีทางเลือกจริง ๆ ไหมว่าจะทำอะไร? มี เพราะแม้ว่าพระยะโฮวาทรงมีความสามารถในการรู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่พระองค์ไม่ได้กำหนดการกระทำและชะตากรรมของเราแต่ละคนไว้ล่วงหน้า. พระองค์ไม่เคยปล่อยให้บุตรของพระองค์ที่แผ่นดินโลกถูกครอบงำด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าทรงลิขิตชีวิตแต่ละคนไว้แล้ว. เพื่อช่วยเราให้เข้าใจความสำคัญของการใช้เจตจำนงเสรีของเราเพื่อเลือกได้อย่างถูกต้อง ให้เรามาเรียนรู้บทเรียนจากชาติอิสราเอลกันก่อน.—โรม 15:4.
เสรีภาพในการเลือกในชาติอิสราเอล
3. ข้อแรกของพระบัญญัติสิบประการกล่าวไว้อย่างไร และชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์เลือกที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนี้อย่างไร?
3 พระยะโฮวาตรัสแก่ชาวอิสราเอลว่า “เราคือยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอายฆุบโต, และออกจากซึ่งเป็นทาสนั้น.” (พระบัญญัติ 5:6) ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช ชาติอิสราเอลได้รับการช่วยให้หลุดพ้นอย่างอัศจรรย์จากการเป็นทาสในอียิปต์ และด้วยเหตุนั้นพวกเขาจึงไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยคำตรัสนี้. ในข้อแรกของพระบัญญัติสิบประการ พระยะโฮวาทรงประกาศโดยทางโมเซซึ่งเป็นโฆษกของพระองค์ว่า “อย่าได้มีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเราเลย.” (เอ็กโซโด 20:1, 3) ในโอกาสนั้น ชาติอิสราเอลเลือกที่จะเชื่อฟัง. พวกเขาถวายความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวาด้วยความเต็มใจ.—เอ็กโซโด 20:5; อาฤธโม 25:11.
4. (ก) โมเซวางทางเลือกอะไรไว้ต่อหน้าชาติอิสราเอล? (ข) เรามีทางเลือกอะไรในทุกวันนี้?
4 ประมาณ 40 ปีต่อมา โมเซให้คำเตือนอย่างหนักแน่นแก่ชาวอิสราเอลอีกชั่วอายุหนึ่งให้พิจารณาทางเลือกที่อยู่ต่อหน้าพวกเขา. ท่านประกาศว่า “เราขอเอาสวรรค์และแผ่นดินโลกมาเป็นพยานต่อหน้าท่านทั้งหลายในวันนี้ว่า เราได้ตั้งชีวิตและความตาย พระพรและคำสาปแช่งไว้ตรงหน้าท่านทั้งหลาย; และท่านต้องเลือกเอาชีวิตเพื่อท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ตัวท่านและลูกหลานของท่าน.” (พระบัญญัติ 30:19, ล.ม.) คล้ายกัน พวกเราในทุกวันนี้ก็สามารถเลือกได้. เราสามารถเลือกที่จะรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์พร้อมกับมีความหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์ หรือเราสามารถเลือกที่จะไม่เชื่อฟังพระองค์และรับผลอันเลวร้าย. ขอให้พิจารณาตัวอย่างสองแบบของประชาชนที่ได้เลือกแนวทางที่ตรงกันข้ามกัน.
5, 6. ยะโฮซูอะเลือกอะไร และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
5 ในปี 1473 ก่อน ส.ศ. ยะโฮซูอะนำชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา. ในคำกระตุ้นเตือนที่มีพลังซึ่งกล่าวก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ยะโฮซูอะวิงวอนชนทั้งชาติว่า “ถ้าท่านไม่เต็มใจที่จะปรนนิบัติ [พระยะโฮวา] ท่านทั้งหลายจงเลือกเสีย ในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติผู้ใด จะปรนนิบัติพระซึ่งบรรพบุรุษของท่านปรนนิบัติอยู่ในท้องถิ่นฟากตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติสหรือพระของคนอาโมไรต์ในแผ่นดินซึ่งท่านอาศัยอยู่.” จากนั้น ท่านก็กล่าวต่อไปถึงครอบครัวท่านว่า “ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า เราจะปรนนิบัติ [พระยะโฮวา].”—ยะโฮซูอะ 24:15, ฉบับแปลใหม่.
6 ก่อนหน้านั้น พระยะโฮวาได้กระตุ้นยะโฮซูอะให้กล้าหาญและเข้มแข็งขึ้น มีรับสั่งให้ท่านอย่าได้หันเหไปจากการปฏิบัติตามกฎหมายของพระองค์. แทนที่จะทำอย่างนั้น โดยการอ่านหนังสือพระบัญญัติด้วยออกเสียงแผ่วเบาทั้งกลางวันกลางคืน ยะโฮซูอะจะสามารถทำให้ทางของท่านบรรลุผลสำเร็จได้. (ยะโฮซูอะ 1:7, 8) และก็ปรากฏว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ. การเลือกของยะโฮซูอะนำไปสู่พระพร. ยะโฮซูอะประกาศว่า “ในสรรพสิ่งทุกอย่างซึ่งพระยะโฮวาตรัสไว้แก่เผ่าพันธุ์ยิศราเอล; หาได้ขาดเหลือสักสิ่งไม่, ย่อมสำเร็จไปทั้งสิ้น.”—ยะโฮซูอะ 21:45.
7. ในสมัยของยะซายา ชาวอิสราเอลบางคนเลือกอะไร และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
7 ในทางตรงกันข้าม ขอให้พิจารณาสถานการณ์ในชาติอิสราเอลประมาณ 700 ปีต่อมา. เมื่อถึงตอนนั้น ชาวอิสราเอลหลายคนกำลังปฏิบัติตามประเพณีนอกรีต. ตัวอย่างเช่น ในวันสุดท้ายของปี ประชาชนมารวมตัวกันรอบโต๊ะที่เต็มไปด้วยอาหารโอชะหลากหลายและเหล้าองุ่นหวาน. นี่ไม่ได้เป็นเพียงการสังสรรค์ในครอบครัว แต่เป็นพิธีทางศาสนาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการถวายเกียรติแด่พระเท็จสององค์. ผู้พยากรณ์ยะซายาบันทึกถึงทัศนะของพระเจ้าต่อความไม่ซื่อสัตย์นี้ว่า “เจ้าผู้ได้ละทิ้งพระยะโฮวา, และได้ลืมภูเขาบริสุทธิ์ของเรา, ผู้ได้ปูเสื่อตั้งสำรับถวายพระโชค, และเอาเหล้าองุ่นอย่างผสมใส่ลงในจอกถวายพระเคราะห์.” พวกเขาเชื่อว่าการเก็บเกี่ยวประจำปีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระพรของพระยะโฮวา แต่ขึ้นอยู่กับการถวายที่ทำให้ “พระโชค” และ “พระเคราะห์” สงบ. แต่จริง ๆ แล้ว แนวทางขืนอำนาจและการเลือกโดยเจตนาของพวกเขานั่นแหละที่กำหนดผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา. พระยะโฮวาทรงประกาศว่า “เราก็จะให้เจ้ารับคมดาบเป็นเคราะห์ของเจ้า, และพวกเจ้าสิ้นทุกคนจะถูกฆ่าตาย; เพราะว่าเมื่อเราร้องเรียก, พวกเจ้าหาได้ขานตอบเราไม่, เมื่อเราพูด, พวกเจ้าก็ไม่ยอมฟัง; แต่พวกเจ้าได้ประพฤติสิ่งที่เป็นการชั่วช้าในสายตาเรา, และได้เลือกเอาสิ่งซึ่งไม่ถูกใจเรา.” (ยะซายา 65:11, 12) การเลือกอย่างไม่ฉลาดของพวกเขานำความพินาศมาสู่พวกเขา และพระโชคกับพระเคราะห์ก็ปราศจากอำนาจที่จะช่วยไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น.
การเลือกอย่างถูกต้อง
8. ตามที่บอกในพระบัญญัติ 30:20 การเลือกอย่างถูกต้องเกี่ยวข้องกับอะไร?
8 เมื่อโมเซกระตุ้นเตือนชาติอิสราเอลให้เลือกเอาชีวิต ท่านชี้ถึงสามขั้นตอนที่พวกเขาควรทำ: “โดยรักพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน โดยรับฟังพระสุรเสียงของพระองค์และโดยติดสนิทกับพระองค์.” (พระบัญญัติ 30:20, ล.ม.) ให้เราพิจารณาแต่ละขั้นตอนดังกล่าวเพื่อเราจะเลือกได้อย่างถูกต้อง.
9. เราจะแสดงความรักของเราต่อพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
9 โดยรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา: เราเลือกจะรับใช้พระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์. โดยเอาใจใส่ตัวอย่างเตือนใจจากสมัยของชาติอิสราเอล เราต้านทานการล่อใจให้ทำผิดศีลธรรมทุกอย่างและหลีกเลี่ยงวิถีชีวิตแบบที่อาจทำให้เราติดบ่วงแร้วการนิยมวัตถุของโลก. (1 โกรินโธ 10:11; 1 ติโมเธียว 6:6-10) เราติดสนิทกับพระยะโฮวาและรักษาข้อกฎหมายของพระองค์. (ยะโฮซูอะ 23:8; บทเพลงสรรเสริญ 119:5, 8) ก่อนชาวอิสราเอลจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา โมเซกระตุ้นเตือนพวกเขาดังนี้: “นี่แน่ะ, เราได้สอนข้อกฎหมายและข้อพิพากษาทั้งหลายแก่เจ้า, เหมือนพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าได้ตรัสสั่งไว้แก่เรา, เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้ประพฤติตาม เมื่อไปอยู่ในแผ่นดินซึ่งเจ้าทั้งหลายจะเข้าไปปกครองนั้น. จงรักษาบัญญัติเหล่านั้นและประพฤติตาม; ด้วยการนี้แสดงสติปัญญาและความเข้าใจของเจ้าทั้งหลายต่อหน้าชนประเทศทั้งปวง, ซึ่งจะได้ยินบรรดาข้อกฎหมายเหล่านี้.” (พระบัญญัติ 4:5, 6) บัดนี้เป็นเวลาที่จะแสดงความรักของเราต่อพระยะโฮวาโดยจัดให้พระทัยประสงค์ของพระองค์อยู่ในอันดับแรกในชีวิตเรา. เราจะได้พรแน่นอนหากเราเลือกทำอย่างนั้น.—มัดธาย 6:33.
10-12. เราได้บทเรียนอะไรจากการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยโนฮา?
10 โดยรับฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า: โนฮาเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม.” (2 เปโตร 2:5, ฉบับแปลใหม่) คนทั้งโลกในสมัยก่อนน้ำท่วมโลกถูกชักพาให้เขวไปและ “ไม่แยแส” คำเตือนของโนฮา. ผลเป็นเช่นไร? “น้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.” พระเยซูทรงเตือนว่าสมัยของเรา ซึ่งอยู่ในช่วง “การประทับของบุตรมนุษย์” ก็จะคล้ายกัน. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยโนฮานับเป็นคำเตือนที่ชัดเจนสำหรับประชาชนในทุกวันนี้ที่เลือกจะไม่สนใจข่าวสารของพระเจ้า.—มัดธาย 24:39, ล.ม.
11 คนที่เย้ยหยันคำเตือนของพระเจ้าที่ประกาศโดยผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยปัจจุบันน่าจะตระหนักว่าการไม่เอาใจใส่คำเตือนจะหมายถึงอะไร. อัครสาวกเปโตรกล่าวเกี่ยวกับพวกผู้เยาะเย้ยเหล่านี้ว่า “ตามความประสงค์ของเขา ข้อเท็จจริงเรื่องนี้พ้นจากการสังเกตของเขา คือว่า โดยคำตรัสของพระเจ้า มีฟ้าสวรรค์ในครั้งโบราณ และแผ่นดินโลกตั้งเป็นปึกแผ่นออกจากน้ำ และในท่ามกลางน้ำ และโดยวิธีนี้ โลกในสมัยนั้นประสบพินาศกรรมคราวถูกน้ำท่วม. แต่ว่าโดยคำตรัสอย่างเดียวกันนั้น ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้ถูกเก็บไว้สำหรับไฟเผา และสงวนไว้จนถึงวันแห่งการพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.”—2 เปโตร 3:3-7, ล.ม.
12 ขอลองเทียบความแตกต่างระหว่างการเลือกของคนเหล่านี้กับการเลือกของโนฮาและครอบครัว. “โดยความเชื่อ เมื่อพระเจ้าทรงเตือนถึงการณ์ที่ยังไม่ได้เห็น, โนฮาจึงมีใจเกรงกลัวจัดแจงต่อนาวา.” การที่ท่านเอาใจใส่คำเตือนนำความรอดมาสู่ครอบครัวท่าน. (เฮ็บราย 11:7) ขอให้เราเป็นคนที่ว่องไวในการฟังข่าวสารของพระเจ้าแล้วก็เอาใจใส่ด้วยการเชื่อฟัง.—ยาโกโบ 1:19, 22-25.
13, 14. (ก) เหตุใด ‘การติดสนิทกับพระยะโฮวา’ จึงสำคัญ? (ข) เราควรยอมให้พระยะโฮวา “ช่างปั้นหม้อ” นวดปั้นเราโดยวิธีใด?
13 โดยติดสนิทกับพระยะโฮวา: เพื่อจะ ‘เลือกเอาชีวิตและมีชีวิตอยู่ต่อไป’ ไม่เพียงเราต้องรักพระยะโฮวาและฟังพระองค์แต่ต้อง ‘ติดสนิทกับพระยะโฮวา’ ด้วย กล่าวคือพากเพียรในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไป. พระเยซูตรัสว่า “ท่านจะได้ชีวิตรอดโดยความเพียรของท่าน.” (ลูกา 21:19) ที่จริง การเลือกของเราในเรื่องนี้เผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา. สุภาษิต 28:14 ให้ข้อสังเกตว่า “คนที่กลัวบาปเสมอจะเป็นสุข; แต่คนที่กระทำใจของตัวให้แข็งกะด้างจะได้รับภัยพิบัติ.” ฟาโรห์แห่งอียิปต์ยุคโบราณเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้. เมื่อภัยพิบัติแต่ละอย่างเกิดขึ้นกับอียิปต์ ฟาโรห์ทำใจแข็งกระด้างแทนที่จะแสดงความเกรงกลัวพระเจ้า. พระยะโฮวาไม่ได้บังคับฟาโรห์ให้ดำเนินในแนวทางที่ไม่เชื่อฟัง แต่ทรงอนุญาตให้ผู้ปกครองที่หยิ่งยโสผู้นี้เลือกเอาเอง. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาล้วนสำเร็จผล ดังที่อัครสาวกเปาโลอธิบายเกี่ยวกับทัศนะของพระยะโฮวาที่มีต่อฟาโรห์ว่า “เพราะเหตุนี้เราจึงได้ยกเจ้าขึ้น, คือเพื่อเราจะได้สำแดงฤทธิ์ของเราในเจ้า, และเพื่อจะได้ประกาศนามของเราทั่วพิภพ.”—โรม 9:17.
14 หลายศตวรรษต่อมาหลังจากที่ชาติอิสราเอลได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากการควบคุมของฟาโรห์ ผู้พยากรณ์ยะซายาประกาศว่า “โอ้พระบิดาเจ้าข้า, ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นเหมือนดินเหนียว, พระองค์เป็นช่างปั้นหม้อ, ข้าพเจ้าทั้งหลายล้วนเป็นหัตถกิจของพระองค์.” (ยะซายา 64:8) เมื่อเรายอมให้พระยะโฮวานวดปั้นเราโดยทางการศึกษาส่วนตัวและการใช้พระคำของพระองค์ เราก็ค่อย ๆ สวมบุคลิกภาพใหม่ทีละเล็กทีละน้อย. เรากลายเป็นคนอ่อนน้อมและปั้นแต่งได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ทำให้ง่ายขึ้นที่เราจะติดสนิทกับพระยะโฮวาอย่างภักดีเพราะเราปรารถนาด้วยความตั้งใจจริงให้พระองค์พอพระทัย.—เอเฟโซ 4:23, 24; โกโลซาย 3:8-10.
‘จงกระทำให้พวกเขาทราบเรื่องเหล่านี้’
15. ตามในพระบัญญัติ 4:9 โมเซเตือนชาติอิสราเอลให้นึกถึงหน้าที่รับผิดชอบสองอย่างอะไร?
15 โมเซกล่าวต่อชาติอิสราเอลซึ่งมาชุมนุมกันและพร้อมจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาว่า “จงระวังตัวและรักษาจิตวิญญาณของตัวให้ดีเกรงว่าพวกท่านจะลืมสิ่งซึ่งนัยน์ตาได้เห็นนั้น และเกรงว่าสิ่งเหล่านั้นจะประลาตเสียจากใจของท่านตลอดวันคืนแห่งชีวิตของพวกท่าน จงกระทำให้ลูกของพวกท่านและหลานของพวกท่านทราบเรื่องเหล่านี้.” (พระบัญญัติ 4:9, ฉบับแปลใหม่) เพื่อจะได้พรจากพระยะโฮวาและเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินที่พวกเขากำลังจะได้รับเป็นมรดก ชนชาตินี้ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบสองอย่างเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเขา. พวกเขาต้องไม่ลืมการอัศจรรย์ที่พระยะโฮวาได้ทำต่อหน้าต่อตาพวกเขา และต้องสอนเรื่องเหล่านี้แก่คนรุ่นหลัง. ในฐานะประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ เราต้องทำอย่างเดียวกันหากเราต้องการจะ ‘เลือกเอาชีวิตและมีชีวิตอยู่ต่อไป.’ เราได้เห็นอะไรด้วยตาเราเองว่าพระยะโฮวาได้ทรงกระทำเพื่อประโยชน์ของเรา?
16, 17. (ก) มิชชันนารีซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากโรงเรียนกิเลียดสามารถบรรลุผลสำเร็จเช่นไรในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร? (ข) คุณรู้จักใครบ้างซึ่งเป็นตัวอย่างในการมีความกระตือรือร้นอย่างไม่ถดถอย?
16 เรารู้สึกปลาบปลื้มเมื่อเห็นวิธีที่พระยะโฮวาได้อวยพรการประกาศและงานของเราในการทำให้คนเป็นสาวก. นับตั้งแต่ที่เปิดโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดในปี 1943 เหล่ามิชชันนารีได้เป็นผู้นำหน้าในงานทำให้คนเป็นสาวกในหลายดินแดน. จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรก ๆ จากโรงเรียนนี้ยังรักษาความกระตือรือร้นในการประกาศเรื่องราชอาณาจักร แม้ว่าพวกเขาอายุมากแล้วและบางคนก็มีอุปสรรคเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านร่างกาย. คนหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีคือแมรี โอลซัน ผู้สำเร็จหลักสูตรจากโรงเรียนกิเลียดในปี 1944. เธอได้รับใช้เป็นมิชชันนารี แห่งแรกที่อุรุกวัย, จากนั้นก็ไปโคลัมเบีย, และในเวลานี้ที่เปอร์โตริโก. แม้ว่ามีข้อจำกัดอยู่บ้างจากปัญหาด้านร่างกายซึ่งเกิดจากอายุที่มากแล้ว ซิสเตอร์แมรียังคงรักษาความกระตือรือร้นในการประกาศ. เธอจัดตารางเวลาในแต่ละสัปดาห์ไว้เพื่อร่วมกับผู้ประกาศท้องถิ่นในงานประกาศ ใช้ความรู้ด้านภาษาสเปนให้เป็นประโยชน์.
17 แม้ว่าตอนนี้เป็นม่าย แนนซี พอร์เทอร์ซึ่งสำเร็จหลักสูตรจากโรงเรียนกิเลียดในปี 1947 ก็ยังคงรับใช้อยู่ในประเทศบาฮามาส. เธอเป็นมิชชันนารีอีกคนหนึ่งซึ่งมีงานยุ่งอยู่เสมอในการประกาศ. ซิสเตอร์แนนซีรายงานไว้ในเรื่องราวชีวิตจริงของเธอว่า “การสอนผู้คนให้รู้ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเป็นแหล่งที่ให้ความชื่นชมยินดีเป็นพิเศษ. งานนี้ทำให้ดิฉันมีกิจวัตรฝ่ายวิญญาณอย่างเป็นระเบียบซึ่งก่อให้เกิดแบบแผนที่แน่นอนและความมั่นคงในชีวิต.”a เมื่อซิสเตอร์แนนซีและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ มองย้อนกลับไป พวกเขาไม่ลืมสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทำ. แล้วเราล่ะ? เรามองดูวิธีที่พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรงานราชอาณาจักรในท้องถิ่นของเราด้วยความหยั่งรู้ค่าไหม?—บทเพลงสรรเสริญ 68:11.
18. เราสามารถเรียนอะไรได้จากการอ่านเรื่องราวชีวิตจริงของเหล่ามิชชันนารี?
18 เรารู้สึกประทับใจอย่างมากในสิ่งที่พี่น้องซึ่งรับใช้มานานปีได้ทำให้สำเร็จไปแล้วและยังคงทำอยู่ต่อไป. การอ่านเรื่องราวชีวิตจริงของพวกเขาให้การหนุนใจแก่เราเพราะเมื่อเราเห็นสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ เราได้รับการเสริมให้ตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้นที่จะรับใช้พระยะโฮวา. คุณอ่านเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้ซึ่งลงพิมพ์ในหอสังเกตการณ์ และคิดใคร่ครวญเป็นประจำไหม?
19. คริสเตียนที่เป็นบิดามารดาอาจใช้ประโยชน์จากเรื่องราวชีวิตจริงที่ลงในหอสังเกตการณ์ ได้โดยวิธีใด?
19 โมเซเตือนชาวอิสราเอลว่าพวกเขาต้องไม่ลืมสิ่งสารพัตรที่พระยะโฮวาได้ทรงทำเพื่อพวกเขา และสิ่งเหล่านี้ไม่ควรห่างหายจากหัวใจพวกเขาทุกวันคืนแห่งชีวิต. จากนั้นท่านกล่าวเพิ่มเติมถึงอีกขั้นตอนหนึ่ง: “จงกระทำให้ลูกของพวกท่านและหลานของพวกท่านทราบเรื่องเหล่านี้.” (พระบัญญัติ 4:9, ฉบับแปลใหม่) เรื่องราวชีวิตจริงมีพลังดึงดูดใจเป็นพิเศษ. หนุ่มสาวที่กำลังเติบโตจำเป็นต้องมีแบบอย่างที่ดี. พี่น้องหญิงโสดสามารถเรียนรู้บทเรียนจากตัวอย่างที่ซื่อสัตย์ของพี่น้องหญิงที่อายุมากกว่าซึ่งได้เล่าประสบการณ์ชีวิตไว้ในหอสังเกตการณ์. การรับใช้ในเขตที่ใช้ภาษาต่างประเทศในประเทศของตนเองทำให้พี่น้องทั้งชายและหญิงมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะมีงานยุ่งอยู่เสมอในการประกาศข่าวดี. คริสเตียนที่เป็นบิดามารดาน่าจะลองใช้ประสบการณ์ต่าง ๆ ของมิชชันนารีและคนอื่น ๆ ที่ซื่อสัตย์เพื่อจูงใจให้ลูก ๆ เลือกวิถีชีวิตในการรับใช้เต็มเวลามิใช่หรือ?
20. เราต้องทำอะไรเพื่อจะ “เลือกเอาชีวิต”?
20 ดังนั้นแล้ว เราแต่ละคนจะ “เลือกเอาชีวิต” ได้โดยวิธีใด? โดยใช้เจตจำนงเสรีซึ่งเป็นของประทานอันยอดเยี่ยมเพื่อแสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่าเรารักพระองค์ และโดยรับใช้พระองค์อย่างดีที่สุดต่อ ๆ ไปตราบเท่าที่พระองค์ยังโปรดให้เรามีสิทธิพิเศษนี้อยู่. “เพราะ” ดังที่โมเซประกาศไว้ พระยะโฮวา “เป็นชีวิตของเจ้า, เป็นผู้ทรงโปรดให้เจ้าทั้งหลายมีชีวิตยั่งยืนอยู่.”—พระบัญญัติ 30:19, 20.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดู “เบิกบานยินดีและขอบคุณถึงแม้ประสบความสูญเสียที่ทำให้หัวใจแทบจะขาด” ลงพิมพ์ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มิถุนายน 2001 หน้า 23-27.
คุณจำได้ไหม?
• คุณได้เรียนอะไรจากตัวอย่างที่เราได้พิจารณาด้วยกันเกี่ยวกับการเลือกที่แตกต่างกัน?
• เราต้องทำตามขั้นตอนอะไรเพื่อจะ “เลือกเอาชีวิต”?
• เราได้รับการกระตุ้นให้ทำหน้าที่รับผิดชอบสองอย่างอะไรให้สำเร็จ?
[ภาพหน้า 26]
“เราได้ตั้งชีวิตและความตาย . . . ไว้ตรงหน้าเจ้าทั้งหลาย”
[ภาพหน้า 29]
การฟังพระสุรเสียงของพระเจ้านำความรอดมาสู่โนฮาและครอบครัว
[ภาพหน้า 30]
แมรี โอลซัน
[ภาพหน้า 30]
แนนซี พอร์เทอร์