คุณค่าของแนชพาไพรัส
คุณจะระบุวันเวลาของสำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูเก่าแก่ฉบับหนึ่งได้อย่างไร? นี่คือปัญหาที่ ดร. จอห์น ชี. เทรเวอร์เผชิญในปี 1948 เมื่อเขาเห็นม้วนหนังสือยะซายาแห่งทะเลตายเป็นครั้งแรก. รูปแบบของอักษรภาษาฮีบรูดึงดูดความสนใจของเขา. เขาทราบว่าตัวอักษรนั้นมีเคล็ดลับชี้ถึงอายุของม้วนหนังสือ แต่เขาจะสามารถเปรียบเทียบกับอะไรได้? เขาลงความเห็นอย่างถูกต้อง: เฉพาะแต่กับอักษรของแนชพาไพรัสเท่านั้น. เพราะเหตุใด? สำเนาต้นฉบับนี้คืออะไร และมาจากไหน?
แนชพาไพรัสประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียงสี่ชิ้นของข้อความภาษาฮีบรู 24 แถว ซึ่งมีขนาดสามถึงห้านิ้ว. ฉบับนี้ได้ชื่อตาม ดับเบิลยู. แอล. แนช เลขาธิการสมาคมโบราณคดีวิทยาด้านคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งได้รับฉบับนี้จากพ่อค้าชาวอียิปต์ในปี 1902. พาไพรัสฉบับนี้ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นโดย เอส. เอ. คุก ในปีถัดมาในหนังสือโพรซีดิงส์ ของสมาคมนี้และถูกเสนอแก่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งยังคงอยู่ที่นั่น. คุณค่าของชิ้นส่วนพาไพรัสนี้เกี่ยวเนื่องกับอายุของมัน. พวกผู้คงแก่เรียนระบุวันเวลาของพาไพรัสนี้ว่าอยู่ในช่วงศตวรรษที่สองหรือที่หนึ่งก่อน ส.ศ. ดังนั้น พาไพรัสนี้จึงเป็นแผ่นสำเนาต้นฉบับภาษาฮีบรูเก่าแก่ที่สุดที่เคยพบกัน.
เมื่อ ดร. เทรเวอร์ได้เทียบสไลด์สีของแนชพาไพรัสกับม้วนหนังสือที่อยู่ตรงหน้าเขา เขาดูอย่างละเอียดถึงรูปแบบและรูปร่างของตัวอักษรแต่ละตัว. ไม่มีข้อสงสัย ตัวอักษรเหล่านั้นคล้ายกันมาก. ถึงแม้เป็นเช่นนั้น นั่นดูเหมือนแทบไม่น่าเชื่อสำหรับเขาที่ว่า สำเนาต้นฉบับที่ค้นพบใหม่ขนาดใหญ่นั้นอาจเป็นไปได้ว่ามีอายุพอ ๆ กันกับแนชพาไพรัส. แต่ต่อมาก็เป็นที่เห็นกันว่าแนวการหาเหตุผลของเขาถูกต้อง. ม้วนหนังสือยะซายาแห่งทะเลตายเขียนในศตวรรษที่สองก่อน ส.ศ.!
เนื้อความของแนชพาไพรัส
การวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อความในแนชพาไพรัสเผยให้เห็นว่าเนื้อความ 24 แถวนั้นไม่ครบถ้วน มีถ้อยคำหรือตัวอักษรหายไปตรงขอบทั้งสองด้าน. พาไพรัสนี้บรรจุไว้ด้วยบางส่วนของพระบัญญัติสิบประการจากพระธรรมเอ็กโซโดบท 20 พร้อมกับบางข้อจากพระธรรมพระบัญญัติบท 5 และบท 6. ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่สำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลธรรมดาทั่วไป แต่เป็นข้อความที่ผสมไว้ด้วยกันเพื่อจุดประสงค์พิเศษ. เห็นได้ชัดว่านี่เป็นส่วนของการรวบรวมคำสั่งสอนเพื่อเตือนชาวยิวถึงหน้าที่ของเขาต่อพระเจ้า. ส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ที่เริ่มต้นด้วยพระบัญญัติ 6:4 ที่เรียกว่าเชมา มีการกล่าวซ้ำบ่อย ๆ. ข้อนั้นอ่านว่า “ดูกรพวกยิศราเอล จงฟังเถิด พระยะโฮวาพระเจ้าของเราเป็นเอกพระยะโฮวา.”
อักษรสี่ตัว [เททรากรัมมาทอน] ยฮวฮ “ยะโฮวา” ในข้อนี้ปรากฏให้เห็นสองครั้งในแถวสุดท้ายของพาไพรัสนี้ และปรากฏในที่อื่นอีกห้าแห่ง. นอกจากนั้น คำนี้ยังปรากฏครั้งหนึ่งโดยที่อักษรตัวแรกหายไป.
ส่วนที่เรียกว่าเชมานั้นโดยเฉพาะแล้วถูกใช้เพื่อเน้น “ความเป็นบุคคลเดียว ของพระเจ้า.” ตามคัมภีร์ทัลมุดของชาวยิว (เบราคอต 19 เอ) คำลงท้าย ’เอคาดฮʹ (“หนึ่ง”) “ควรได้รับการเน้นเป็นพิเศษขณะที่คำนี้มีการออกเสียงโดยการทอดเสียงยาวในแต่ละพยางค์.” (ดับเบิลยู. โอ. อี. เอิสเทอร์ลีย์ และ จี. เอช. บ็อกซ์) ในการกล่าวถึงพระเจ้า คำ ’เอคาดฮʹ ที่ทอดเสียงยาวยังเป็นการประกาศถึงความเป็นเลิศซึ่งหาที่เปรียบไม่ได้ของพระองค์.
ปัจจุบัน มีพาไพรัสในสมัยเดียวกับแนชพาไพรัสมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาม้วนหนังสือที่พบในถ้ำตามชายฝั่งทะเลตายใกล้คัมรัน. การวิเคราะห์ที่ละเอียดยืนยันว่าสำเนาต้นฉบับเหล่านี้หลายฉบับอยู่ในสมัยศตวรรษที่หนึ่งและสองก่อน ส.ศ.a ถึงแม้จะไม่เป็นสำเนาต้นฉบับภาษาฮีบรูอันเป็นที่รู้จักเก่าแก่ที่สุดอีกต่อไปแล้ว แนชพาไพรัสก็ยังคงน่าสนใจอย่างยิ่ง. แนชพาไพรัสยังคงเป็นสำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรูที่มีอายุเก่าแก่ถึงขนาดนั้นเพียงฉบับเดียวที่ค้นพบในอียิปต์.
[เชิงอรรถ]