พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมยะโฮซูอะ
ช่วงที่ตั้งค่าย ณ ที่ราบโมอาบในปี 1473 ก่อน ส.ศ. ชาวอิสราเอลคงต้องรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ที่ว่า “เตรียมเสบียงอาหารไว้; เพราะว่าในสามวันเจ้าทั้งหลายจะต้องยกข้ามแม่น้ำยาระเดนนี้, เข้าไปรับเอาแผ่นดินนั้น, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะทรงมอบให้เป็นของ ๆ เจ้า.” (ยะโฮซูอะ 1:11) การรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร 40 ปีของพวกเขาจวนจะสิ้นสุดลงแล้ว.
กว่าสองทศวรรษต่อมา ยะโฮซูอะซึ่งเป็นผู้นำยืนอยู่ใจกลางแผ่นดินคะนาอันและประกาศแก่ผู้เฒ่าผู้แก่แห่งอิสราเอลว่า “ดูเถิด, ประเทศซึ่งเหลืออยู่นั้นเราได้แบ่งตามฉลากให้เป็นส่วนที่ตระกูลของท่าน; ตั้งแต่แม่น้ำยาระเดน, กับประเทศทั้งหลายที่เราทำลายเสียแล้ว, จนถึงทะเลใหญ่ฝ่ายตะวันตก. ยะโฮวาพระเจ้าของท่าน, จะทรง [“ได้ทรง,” ล.ม.] ขับไล่ชนประเทศเหล่านั้นออกไปต่อหน้าท่าน, ทั้งขับไล่เขาไปให้พ้นตา; ท่านจะได้ [“ท่านทั้งหลายได้,” ล.ม.] แผ่นดินของเขา, ตามที่พระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้แก่ท่าน.”—ยะโฮซูอะ 23:4, 5.
พระธรรมยะโฮซูอะเขียนโดยยะโฮซูอะ ในปี 1450 ก่อน ส.ศ. เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นระหว่างช่วง 22 ปีเหล่านั้น. เนื่องจากเรายืนอยู่ ณ ธรณีประตูของโลกใหม่ตามที่สัญญาไว้ สภาพการณ์ของเราจึงเปรียบได้กับชาวอิสราเอลที่พร้อมจะครอบครองแผ่นดินตามคำสัญญา. ดังนั้น ขอให้เราเอาใจใส่พระธรรมยะโฮซูอะด้วยความสนใจอย่างยิ่ง.—เฮ็บราย 4:12.
ถึง “ที่ราบเขตเมืองยะริโฮ”
งานมอบหมายที่ยะโฮซูอะได้รับช่างเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อพระยะโฮวาตรัสว่า “โมเซผู้รับใช้ของเราสิ้นชีพแล้ว; เหตุฉะนั้นเจ้าจงยกข้ามแม่น้ำยาระเดนนี้, กับพลไพร่ทั้งปวงเหล่านี้, ไปยังแผ่นดินซึ่งเรายกให้แก่เขา, คือแก่พวกยิศราเอล”! (ยะโฮซูอะ 1:2) ยะโฮซูอะต้องนำชาติหนึ่งที่มีประชากรหลายล้านคนเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา. เพื่อเป็นการเตรียมตัว ท่านส่งคนสอดแนมสองคนเข้าไปในเมืองเยริโค ซึ่งเป็นเมืองที่ต้องพิชิตเป็นอันดับแรก. ราฮาบหญิงโสเภณีซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองนั้นเคยได้ยินเรื่องการอัศจรรย์ที่พระยะโฮวาได้กระทำเพื่อประชาชนของพระองค์. เธอปกป้องและช่วยเหลือคนสอดแนม แล้วได้รับคำสัญญาว่าจะได้รับการไว้ชีวิตเป็นการตอบแทน.
เมื่อพวกคนสอดแนมกลับมา ยะโฮซูอะและประชาชนก็พร้อมจะเคลื่อนพลข้ามแม่น้ำจอร์แดน. แม้เป็นช่วงน้ำหลาก แต่แม่น้ำก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับพวกเขา เพราะพระยะโฮวาทำให้น้ำที่อยู่แม่น้ำตอนบนตั้งชันขึ้นเหมือนเขื่อนที่กักน้ำไว้ ทำให้น้ำตอนล่างไหลลงสู่ทะเลตายจนหมด. หลังจากข้ามแม่น้ำจอร์แดน ชาวอิสราเอลก็ตั้งค่ายที่กิลกาล (ฆีละฆาล) ใกล้เมืองเยริโค. สี่วันต่อมา ในเย็นวันที่ 14 เดือนอาบิบ พวกเขาฉลองปัศคากัน ณ ที่ราบเขตเมืองเยริโค. (ยะโฮซูอะ 5:10) วันต่อมา พวกเขาก็เริ่มรับประทานอาหารที่ได้จากแผ่นดินนั้น และการจัดเตรียมเรื่องมานาก็ยุติลง. ในช่วงนั้น ยะโฮซูอะทำสุหนัตให้กับผู้ชายทุกคนที่เกิดในถิ่นทุรกันดาร.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:4, 5—เหตุใดราฮาบจึงชี้นำคนของกษัตริย์ซึ่งกำลังตามหาคนสอดแนมให้ไปผิดทาง? ราฮาบเสี่ยงชีวิตปกป้องคนสอดแนมเนื่องจากเธอมีความเชื่อในพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ เธอจึงไม่มีพันธะที่จะเปิดเผยที่อยู่ของคนสอดแนมแก่คนที่จ้องจะทำอันตรายประชาชนของพระเจ้า. (มัดธาย 7:6; 21:23-27; โยฮัน 7:3-10) ที่จริง ราฮาบ “ได้ความชอบธรรมก็เนื่องด้วยการประพฤติ” ซึ่งรวมถึงการชี้นำตัวแทนกษัตริย์ให้ไปผิดทาง.—ยาโกโบ 2:24-26.
5:14, 15—“นายพลโยธาแห่งพระยะโฮวา” คือใคร? นายพลโยธาที่มาเสริมกำลังยะโฮซูอะในคราวการพิชิตแผ่นดินตามคำสัญญาจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก “พระวาทะ” ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ก่อนที่จะบังเกิดเป็นมนุษย์. (โยฮัน 1:1; ดานิเอล 10:13) ช่างเป็นการเสริมกำลังสักเพียงไรที่มีคำรับรองว่า พระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีทรงอยู่กับประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้เมื่อพวกเขาเข้าสู่การสงครามฝ่ายวิญญาณ!
บทเรียนสำหรับเรา:
1:7-9. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน, การคิดรำพึงเป็นประจำถึงสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าว, และการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะประสบผลสำเร็จในการบากบั่นทางฝ่ายวิญญาณ.
1:11. ยะโฮซูอะสั่งให้ประชาชนเตรียมสิ่งจำเป็นไว้ให้พร้อม และไม่ควรอยู่เฉย ๆ รอให้พระเจ้าจัดหาให้พวกเขา. คำเตือนของพระเยซูที่ให้เลิกกังวลเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต รวมทั้งคำสัญญาที่ว่า “จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้” ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ต้องพยายามหาเลี้ยงตัวเอง.—มัดธาย 6:25, 33.
2:4-13. หลังจากได้ยินเกี่ยวกับราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาและตระหนักถึงช่วงเวลาวิกฤติ ราฮาบจึงตัดสินใจอยู่ฝ่ายผู้นมัสการพระองค์. หากคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมาสักระยะหนึ่งและตระหนักว่าเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” ไม่ควรหรอกหรือที่คุณจะตัดสินใจรับใช้พระเจ้า?—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
3:15. เนื่องจากรายงานของคนสอดแนมที่ถูกส่งไปยังเมืองเยริโคเป็นรายงานในแง่ดี ยะโฮซูอะจึงลงมือกระทำอย่างฉับไวโดยไม่รอให้น้ำในแม่น้ำจอร์แดนลดลง. ในเรื่องการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการแท้ เราต้องลงมือกระทำอย่างกล้าหาญแทนที่จะผัดเลื่อนรอจนกว่าสภาพการณ์ดูเหมือนจะเหมาะมากขึ้น.
4:4-8, 20-24. หิน 12 ก้อนที่เก็บจากท้องแม่น้ำจอร์แดนเป็นอนุสรณ์แก่ชาวอิสราเอล. ในทุกวันนี้ ปฏิบัติการของพระยะโฮวาในการช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอดพ้นจากศัตรูก็เป็นสิ่งเตือนใจเช่นเดียวกันให้ระลึกว่าพระองค์สถิตกับพวกเขา.
พิชิตดินแดนต่อไป
เยริโคเป็นเมืองที่ “ปิดประตูมั่นคง . . . ไม่มีผู้ใดเข้าออกได้เลย.” (ยะโฮซูอะ 6:1) จะยึดเมืองนี้ได้อย่างไร? พระยะโฮวาทรงประทานกลยุทธ์แก่ยะโฮซูอะ. ไม่ช้ากำแพงก็พังลง และเมืองถูกทำลาย. เฉพาะแต่ราฮาบและครัวเรือนของเธอเท่านั้นที่ปลอดภัย.
ดินแดนที่ต้องพิชิตต่อมาคือเมืองอาย (ฮาย) ซึ่งเป็นเมืองหลวง. คนสอดแนมที่ถูกส่งไปที่นั่นรายงานว่ามีคนอาศัยอยู่น้อย จึงไม่ต้องใช้คนจำนวนมากไปตีเมืองนั้น. อย่างไรก็ตาม ทหารประมาณ 3,000 คนที่ถูกส่งไปโจมตีเมืองนั้นก็ต้องหนีชาวเมืองอายกลับมา. เหตุผลน่ะหรือ? พระยะโฮวาไม่อยู่ฝ่ายชาวอิสราเอล. อาคานจากตระกูลยูดาห์ทำบาปขณะบุกเข้าเมืองเยริโค. หลังจากจัดการเรื่องนี้แล้ว ยะโฮซูอะจึงโจมตีเมืองอาย. เมื่อทำให้ชาวอิสราเอลพ่ายแพ้ได้ครั้งหนึ่ง กษัตริย์เมืองอายกระตือรือร้นที่จะสู้รบกับพวกเขาอีกครั้ง. แต่ยะโฮซูอะใช้กลยุทธ์โดยฉวยโอกาสจากความมั่นใจเกินไปของชาวเมืองอาย และยะโฮซูอะก็ยึดเมืองได้.
กิบโอน (ฆิบโอน) เป็น ‘เมืองใหญ่—ใหญ่กว่าเมืองอาย ทั้งบุรุษชาวเมืองนั้นก็ล้วนแต่คนฉกรรจ์.’ (ยะโฮซูอะ 10:2) อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ยินถึงความสำเร็จของชาติอิสราเอลที่ได้ยึดเมืองเยริโคและเมืองอาย ชาวกิบโอนจึงใช้อุบายให้ยะโฮซูอะทำสัญญาไมตรีกับพวกเขา. ชาติต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบมองการแปรพักตร์นี้ว่าเป็นภัยคุกคาม. กษัตริย์ห้าองค์จึงเข้ามาเป็นพันธมิตรกันและโจมตีกิบโอน. อิสราเอลเข้าช่วยชาวกิบโอนและกำจัดเหล่าผู้ที่มาโจมตีจนหมดสิ้น. การพิชิตดินแดนอื่น ๆ ของอิสราเอลภายใต้การนำของยะโฮซูอะ รวมถึงเมืองทางใต้และทางตะวันตก อีกทั้งปราบกษัตริย์ที่ผนึกกำลังกันทางเหนือด้วย. กษัตริย์ทั้งสิ้น 31 องค์ถูกปราบลงทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
10:13—ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? “สิ่งใดที่ยากเหลือกำลังพระยะโฮวามีหรือ” พระองค์ผู้ซึ่งเป็นพระผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก? (เยเนซิศ 18:14) หากพระยะโฮวาประสงค์ พระองค์สามารถเปลี่ยนแปลงการโคจรของโลก เพื่อให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ดูเหมือนไม่เคลื่อนที่ในสายตาของผู้ที่เฝ้าสังเกตบนโลก. หรือพระองค์อาจปล่อยให้โลกและดวงจันทร์โคจรตามปกติ แล้วทำให้ลำแสงจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หักเหจนดูเหมือนว่าแสงจากแหล่งแห่งความสว่างสองดวงนี้ยังคงฉายแสงต่อไป. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด “ในกาลก่อนก็ดี หรือภายหลังก็ดีไม่เคยมีเลย” ในประวัติศาสตร์มนุษย์—ยะโฮซูอะ 10:14.
10:13—หนังสือยาซัรคืออะไร? มีการกล่าวถึงหนังสือนี้อีกครั้งที่ 2 ซามูเอล 1:18 ด้วยการอ้างอิงถึงกวีบทหนึ่งที่มีชื่อว่า “บทเพลงธนู” ซึ่งเป็นบทเพลงเศร้าเกี่ยวกับกษัตริย์ซาอูลแห่งอิสราเอลและโยนาธานราชบุตรของท่าน. บางที หนังสือนี้อาจเป็นชุดบทเพลงและบทกวีทางประวัติศาสตร์และดูเหมือนเป็นที่รู้จักกันดีท่ามกลางชาวฮีบรู.
บทเรียนสำหรับเรา:
6:26; 9:22, 23. คำแช่งที่ยะโฮซูอะกล่าวในคราวการทำลายเมืองเยริโคสำเร็จเป็นจริงในอีก 500 ปีต่อมา. (1 กษัตริย์ 16:34) คำแช่งที่โนฮากล่าวต่อคะนาอันหลานชายของท่านเป็นจริง เมื่อชาวกิบโอนกลายเป็นคนใช้แรงงาน. (เยเนซิศ 9:25, 26) คำตรัสของพระยะโฮวาเป็นจริงเสมอ.
7:20-25. บางคนอาจแย้งว่าการที่อาคานขโมยของเป็นแค่ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีอาจหาเหตุผลว่า การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ใครเป็นอันตราย. พวกเขาอาจมองการลักเล็กขโมยน้อยและการทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อกฎหมายของคัมภีร์ไบเบิลด้วยความรู้สึกทำนองเดียวกันนั้น. แต่เราควรเป็นเหมือนยะโฮซูอะในเรื่องความตั้งใจที่จะต่อต้านแรงกดดันให้ทำผิดกฎหมายหรือทำผิดศีลธรรม.
9:15, 26, 27. เราต้องถือว่าข้อตกลงที่เราทำเป็นเรื่องจริงจังและให้เรารักษาคำพูด.
ยะโฮซูอะรับเอางานสำคัญชิ้นสุดท้าย
ตอนนี้ยะโฮซูอะอายุมาก ใกล้จะ 90 ปีแล้ว ท่านเริ่มแบ่งสันปันส่วนแผ่นดิน. เป็นงานที่ใหญ่โตจริง ๆ! ตระกูลรูเบน, ฆาด, และครึ่งตระกูลมะนาเซได้รับดินแดนเป็นกรรมสิทธิ์แล้วทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน. ตอนนี้ตระกูลที่เหลือได้รับกรรมสิทธิ์ทางฝั่งตะวันตกโดยการจับฉลาก.
มีการตั้งพลับพลาประชุมขึ้นที่เมืองชีโลห์ (ซีโล) ซึ่งอยู่ในเขตเอ็ฟรายิม. คาเลบได้รับเมืองเฮบโรน และยะโฮซูอะได้รับมอบเมืองทิมนัท-เซราห์ (ธิมนัธเซรา). ชาวเลวีได้รับ 48 เมือง รวมทั้งเมืองคุ้มภัย 6 เมือง. ระหว่างการเดินทางกลับไปยังดินแดนกรรมสิทธิ์ของตนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน นักรบจากตระกูลรูเบน, ฆาด, และจากครึ่งตระกูลมะนาเซได้ตั้งแท่นบูชาหนึ่งขึ้น ซึ่ง “เป็นแท่นใหญ่งามน่าดู.” (ยะโฮซูอะ 22:10) ตระกูลต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนมองว่า การทำเช่นนี้เป็นการออกหาก และสงครามระหว่างตระกูลเกือบระเบิดขึ้น แต่การติดต่อสื่อความที่ดีช่วยหลีกเลี่ยงการนองเลือด.
หลังจากยะโฮซูอะอาศัยอยู่ในเมืองทิมนัท-เซราห์ (ธิมนัธเซรา) ได้สักระยะหนึ่ง ท่านก็เรียกพวกผู้เฒ่าผู้แก่, หัวหน้าตระกูล, ผู้พิพากษา, และเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลให้มาชุมนุมกัน ท่านกระตุ้นพวกเขาให้กล้าหาญและรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. ต่อมา ยะโฮซูอะเรียกชุมนุมอิสราเอลทุกตระกูลที่เมืองเชเคม (เซเค็ม). ที่นั่น ท่านได้เล่าเรื่องราวที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อประชาชนตั้งแต่คราวอับราฮาม และอีกครั้งหนึ่งยะโฮซูอะกระตุ้นเตือนพวกเขาให้ “เกรงพระยะโฮวา, และปฏิบัติพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต.” ประชาชนได้รับการเร้าใจให้ตอบว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติ, และเสียงตรัสของพระองค์พวกข้าพเจ้าจะฟัง.” (ยะโฮซูอะ 24:14, 15, 24) หลังจากทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ยะโฮซูอะก็สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 110 ปี.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
13:1—ข้อนี้ไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่กล่าวไว้ในยะโฮซูอะ 11:23 หรือ? ไม่ เพราะการพิชิตดินแดนตามคำสัญญาประกอบด้วยสองแง่มุม: ประการแรก เป็นสงครามระดับชาติที่ทำให้กษัตริย์แห่งแผ่นดินคะนาอัน 31 องค์พ่ายแพ้ ซึ่งเป็นสงครามที่ทำลายอำนาจของชาวคะนาอัน และประการที่สอง คือการเข้าครอบครองดินแดนนั้นอย่างเต็มที่โดยตระกูลต่าง ๆ และโดยปฏิบัติการของบุคคล. (ยะโฮซูอะ 17:14-18; 18:3) แม้ชาวอิสราเอลไม่ได้ขับไล่ชาวคะนาอันออกไปจากท่ามกลางพวกเขาจนหมดสิ้น แต่พวกที่เหลือรอดก็ไม่ได้คุกคามความปลอดภัยของอิสราเอล. (ยะโฮซูอะ 16:10; 17:12) ยะโฮซูอะ 21:44 กล่าวว่า “พระยะโฮวาให้เขามีความสงบเงียบในที่ล้อมรอบ.”
24:2—เธรา บิดาของอับราฮามเป็นผู้นมัสการรูปเคารพหรือ? ในตอนแรก เธราไม่ได้เป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาพระเจ้า. ท่านอาจนมัสการจันทราเทพที่มีชื่อว่า ซินซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชาวเมืองอูร์นับถือกันมาก. ตามธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาของชาวยิว เธราอาจถึงกับเป็นผู้ทำรูปเคารพ. อย่างไรก็ตาม เมื่ออับราฮามออกจากเมืองอูร์ตามพระบัญชาของพระเจ้า เธราก็ไปยังเมืองฮารานกับท่านด้วย.—เยเนซิศ 11:31.
บทเรียนสำหรับเรา:
14:10-13. แม้อายุ 85 ปีแล้ว แต่คาเลบก็รับอาสาทำงานมอบหมายที่ยากในการกวาดล้างเขตแดนเฮบโรน. พื้นที่นั้นถูกยึดครองโดยพวกอะนาค ซึ่งมีรูปร่างใหญ่โต. ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา นักรบที่มีประสบการณ์ผู้นี้ทำงานสำเร็จ และเฮบโรนก็กลายเป็นเมืองคุ้มภัย. (ยะโฮซูอะ 15:13-19; 21:11-13) ตัวอย่างของคาเลบสนับสนุนเราว่า ไม่ควรหลบเลี่ยงงานมอบหมายตามระบอบของพระเจ้าซึ่งเป็นงานที่ยาก.
22:9-12, 21-33. เราต้องระมัดระวังเพื่อไม่ตัดสินเจตนาของผู้อื่นผิด ๆ.
“หาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่”
ขณะที่แก่ชราเต็มที ยะโฮซูอะกล่าวกับชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบในอิสราเอลว่า “ในสิ่งสารพัตรอันดีนั้น, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงตรัสถึงท่านแล้วหาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่; สรรพสิ่งเหล่านั้นก็สำเร็จแก่ท่านแล้ว.” (ยะโฮซูอะ 23:14) เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระธรรมยะโฮซูอะช่างเป็นตัวอย่างที่ชัดแจ้งในเรื่องนี้!
อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “สิ่งสารพัตรที่เขียนไว้แล้วคราวก่อนนั้นก็ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย เพื่อเราทั้งหลายจะได้มีความหวังโดยความเพียรและความชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น.” (โรม 15:4) เราจะมั่นใจได้ว่า ความหวังของเราในเรื่องคำสัญญาของพระเจ้าไม่ใช่การไว้วางใจผิดที่. ไม่มีคำสัญญาใดที่ล้มเหลว แต่จะเป็นจริงทั้งสิ้น.
[แผนที่หน้า 10]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ดินแดนที่ได้พิชิตภายใต้การนำของยะโฮซูอะ
อาระบาห์
กิเลียด
บาชาน
เนเกบ
แม่น้ำจอร์แดน
ทะเลเค็ม
หุบเขายับโบก
หุบเขาอาร์โนน
ฮาโซร์
มาโดน
ลาชชาโรน
โยกเนอัม
โดร์
เมกิดโด
คาเดช
ทานัค
เฮเฟอร์
ทีร์ซาห์
อาเฟก
ทัพพูอาห์
เบทเอล
อาย
กิลกาล
เยริโค
เกเซอร์
เยรูซาเลม
มัคเคดาห์
ยาร์มุท
อะดุลลัม
ลิบนาห์
ลาคิช
เอกโลน
เฮบโรน
ชิมโรน
เดบีร์
อาราด
[ภาพหน้า 9]
คุณรู้ไหมว่า เหตุใดราฮาบหญิงโสเภณีได้รับการประกาศว่าชอบธรรม?
[ภาพหน้า 10]
ยะโฮซูอะกระตุ้นเตือนชาวอิสราเอลให้ “เกรงพระยะโฮวา, และปฏิบัติพระองค์”
[ภาพหน้า 12]
การที่อาคานขโมยของไม่ใช่แค่ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่นำไปสู่ผลร้ายแรงที่ตามมา
[ภาพหน้า 12]
‘โดยความเชื่อกำแพงเมืองยะริโฮก็พังลง.’—เฮ็บราย 11:30