บทสี่
“แม่จะไปไหน, ฉันจะไปด้วย”
1, 2. (ก) จงพรรณนาการเดินทางของรูทกับนาอะมีและความทุกข์ของพวกเขา. (ข) การเดินทางของรูทต่างจากนาอะมีในแง่ใด?
รูทเดินเคียงข้างนาอะมีไปตามถนนสายหนึ่ง ถนนนี้ตัดผ่านที่ราบสูงโมอาบที่มีลมพัดแรง. ตอนนี้เหลือเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ สองคนเดินอยู่กลางที่ราบอันกว้างใหญ่. รูทคงสังเกตว่าแดดยามบ่ายทอดแสงยาวขึ้นทุกที จึงหันไปมองแม่สามีพร้อมกับนึกในใจว่าคงต้องหาที่พักสำหรับคืนนี้แล้ว. เธอรักนาอะมีมากและยินดีทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อดูแลแม่สามี.
2 หญิงทั้งสองต่างแบกความทุกข์ไว้เต็มอก. นาอะมีเป็นม่ายมาหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้นางกำลังโศกเศร้าเพราะเพิ่งสูญเสียลูกชายสองคนคือคิลโยนกับมาโลน. รูทเองก็เศร้าเสียใจไม่น้อยไปกว่ากันเพราะมาโลนเป็นสามีของเธอ. เธอกับนาอะมีกำลังมุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกันคือเมืองเบทเลเฮมในอิสราเอล. แต่ในแง่หนึ่ง การเดินทางของทั้งสองก็ต่างกัน. นาอะมีกำลังกลับบ้าน แต่รูทกำลังเดินทางไปยังที่ที่เธอไม่รู้จักโดยทิ้งญาติพี่น้อง บ้านเกิดเมืองนอน และธรรมเนียมประเพณีทุกอย่าง รวมทั้งพระที่เธอเคยนับถือไว้เบื้องหลัง.—อ่านประวัตินางรูธ 1:3-6
3. การรู้คำตอบเกี่ยวกับคำถามอะไรจะช่วยเราให้เลียนแบบความเชื่อของรูท?
3 อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งยอมเปลี่ยนแปลงชีวิตมากขนาดนี้? รูทจะได้กำลังใจจากไหนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่และดูแลเอาใจใส่นาอะมี? ขณะที่หาคำตอบ เราจะเห็นว่าเราสามารถเลียนแบบความเชื่อของรูทหญิงชาวโมอาบผู้นี้ได้ในหลายทาง. (ดูกรอบ “หนังสือเล่มเล็กที่ทรงคุณค่า” ด้วย) ก่อนอื่น ให้เราพิจารณาว่าผู้หญิงสองคนนี้มาอยู่บนเส้นทางอันยาวไกลสู่เบทเลเฮมได้อย่างไร.
ครอบครัวแตกสลายเพราะเหตุการณ์ที่เศร้าสลด
4, 5. (ก) ทำไมครอบครัวของนาอะมีจึงย้ายไปอยู่โมอาบ? (ข) การย้ายไปอยู่โมอาบเป็นการทดสอบความเชื่อของนาอะมีอย่างไร?
4 รูทเติบโตขึ้นในโมอาบ ดินแดนเล็ก ๆ ที่อยู่ทางตะวันออกของทะเลเดดซี. พื้นที่แถบนั้นส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีป่าไม้ขึ้นอยู่ประปรายและมีหุบเหวลึก. “แผ่นดินโมอาบ” ดูเหมือนเป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์แม้แต่ตอนที่เกิดการกันดารอาหารในอิสราเอล. การกันดารอาหารในครั้งนั้นทำให้รูทได้พบกับมาโลนและครอบครัว.—รูธ. 1:1
5 การกันดารอาหารในอิสราเอลทำให้อะลีเมะเล็คสามีของนาอะมีคิดว่าเขาต้องพาภรรยาและลูกชายสองคนย้ายไปอยู่โมอาบในฐานะคนต่างถิ่น. การอพยพครั้งนี้เป็นการทดสอบความเชื่อของทุกคนในครอบครัว เพราะชาวอิสราเอลมีธรรมเนียมต้องไปนมัสการพระเจ้าในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่พระยะโฮวากำหนดไว้เป็นประจำ. (บัญ. 16:16, 17) แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี นาอะมีก็ยังรักษาความเชื่อไว้. แต่การตายของสามีทำให้นางทุกข์ระทมอย่างมาก.—รูธ. 1:2, 3
6, 7. (ก) ทำไมนาอะมีอาจรู้สึกกังวลเมื่อลูกชายทั้งสองแต่งงานกับหญิงชาวโมอาบ? (ข) วิธีที่นาอะมีปฏิบัติต่อลูกสะใภ้น่าชมเชยอย่างไร?
6 นอกจากนั้น นาอะมีคงทุกข์ใจด้วยเมื่อลูกชายสองคนแต่งงานกับหญิงชาวโมอาบ. (รูธ. 1:4) นางรู้ว่าอับราฮามบรรพบุรุษของชาติอิสราเอลพยายามมากเพียงไรเพื่อให้ยิศฮาคลูกชายได้แต่งงานกับหญิงชาติเดียวกันซึ่งเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. (เย. 24:3, 4) หลังจากสมัยอับราฮาม พระบัญญัติที่พระเจ้าประทานผ่านทางโมเซเตือนชาวอิสราเอลว่า อย่าให้ลูกสาวหรือลูกชายแต่งงานกับชนต่างชาติเพราะคนเหล่านั้นอาจชักนำประชาชนของพระเจ้าให้หันไปไหว้รูปเคารพ.—บัญ. 7:3, 4
7 ถึงกระนั้น มาโลนกับคิลโยนก็ยังแต่งงานกับหญิงชาวโมอาบ. แม้นาอะมีอาจรู้สึกกังวลหรือผิดหวัง แต่นางคงพยายามแสดงความรักและความกรุณาอย่างจริงใจต่อรูทและอะระฟาลูกสะใภ้ทั้งสอง. นางอาจหวังว่าสักวันหนึ่งทั้งสองจะเปลี่ยนมาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาเช่นเดียวกับนาง. ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งรูทและอะระฟาต่างก็รักนาอะมี. ความสัมพันธ์ที่ดีนี้ช่วยให้พวกเธอรับมือกับความโศกเศร้าได้. หญิงสาวทั้งสองกลายเป็นม่ายตั้งแต่ยังไม่ทันมีลูกด้วยซ้ำ.—รูธ. 1:5
8. อะไรอาจทำให้รูทอยากใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น?
8 ศาสนาของรูทช่วยเธอให้รับมือกับความโศกเศร้าครั้งนี้ไหม? ดูเหมือนว่าไม่เป็นเช่นนั้น. ชาวโมอาบนมัสการพระมากมายและเทพเจ้าองค์สำคัญที่สุดของพวกเขาคือพระคีโมศ. (อาฤ. 21:29) ศาสนาของชาวโมอาบคงเหมือนกับศาสนาของชาติอื่น ๆ ในสมัยนั้นที่มักมีพิธีกรรมที่โหดร้ายทารุณและน่าสยดสยองซึ่งรวมถึงการบูชายัญเด็ก. สิ่งที่รูทได้เรียนรู้จากมาโลนหรือนาอะมีเกี่ยวกับพระยะโฮวา พระเจ้าแห่งอิสราเอลผู้เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตาคงทำให้เธอเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน. พระยะโฮวาทรงปกครองด้วยความรัก ไม่ใช่ทำให้หวาดกลัว. (อ่านพระบัญญัติ 6:5 ) หลังจากสูญเสียสามีผู้เป็นที่รัก รูทอาจรู้สึกใกล้ชิดกับนาอะมีมากขึ้น และเธอคงเต็มใจฟังเมื่อแม่สามีเล่าเรื่องพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งรวมทั้งการอัศจรรย์ที่พระองค์ได้ทำ ตลอดจนความรักความกรุณาที่พระองค์แสดงต่อประชาชนของพระองค์.
9-11. (ก) นาอะมี รูท และอะระฟาตัดสินใจทำอะไร? (ข) เหตุการณ์เศร้าสลดที่นาอะมี รูท และอะระฟาประสบสอนอะไรเรา?
9 นาอะมีเองคงอยากรู้ข่าวคราวเกี่ยวกับบ้านเกิด. วันหนึ่งนางอาจได้ยินข่าวจากพวกพ่อค้าเดินทางว่าการกันดารอาหารในอิสราเอลสิ้นสุดลงแล้ว. พระยะโฮวาทรงหันมาใฝ่พระทัยประชาชนของพระองค์อีกครั้ง. เบทเลเฮมกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์สมกับชื่อเมืองที่มีความหมายว่า “บ้านขนมปัง.” นาอะมีจึงตัดสินใจกลับบ้าน.—รูธ. 1:6
10 รูทกับอะระฟาจะทำอย่างไร? (รูธ. 1:7) ตอนนี้พวกเธอรู้สึกผูกพันและใกล้ชิดกับนาอะมีมากขึ้นเพราะทั้งสามต่างผ่านเรื่องที่น่าเศร้ามาด้วยกัน. ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำให้รูทรักนาอะมีมากเป็นพิเศษคือความกรุณาของนาอะมีและความเชื่ออันมั่นคงที่นางมีต่อพระยะโฮวา. แล้วหญิงม่ายทั้งสามก็ออกเดินทางไปยังแผ่นดินยูดาห์ด้วยกัน.
11 เรื่องราวของรูทเตือนใจเราว่าเหตุการณ์ที่เศร้าสลดและการสูญเสียเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว. (ผู้ป. 9:2, 11) เรื่องนี้ยังแสดงด้วยว่าเมื่อเผชิญกับการสูญเสียที่ยากจะรับมือ เราควรมองหาการปลอบโยนและการชูใจจากคนอื่น โดยเฉพาะจากคนที่เชื่อและวางใจในพระยะโฮวา พระเจ้าของนาอะมี.—สุภา. 17:17
ความรักภักดีของรูท
12, 13. ทำไมนาอะมีต้องการให้รูทกับอะระฟากลับไปบ้านเกิดของพวกเธอแทนที่จะตามนางไป และทั้งสองตอบอย่างไร?
12 หลังจากหญิงม่ายทั้งสามออกเดินทางมาได้ระยะหนึ่ง นาอะมีก็เริ่มกังวลอีกเรื่อง. นางคิดถึงลูกสะใภ้ทั้งสองที่เดินอยู่ข้าง ๆ และความรักที่พวกเธอมีต่อนางและลูกชาย. นางไม่อยากเพิ่มความทุกข์ให้ลูกสะใภ้อีก. ถ้ารูทกับอะระฟาต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่กับนางที่เบทเลเฮม นางจะดูแลพวกเธออย่างไร?
13 ในที่สุด นาอะมีก็พูดขึ้นว่า “ต่างคนต่างจงกลับไปยังเรือนมารดาของตนเถิด: ขอให้พระยะโฮวาทรงพระเมตตาแก่เจ้าทั้งสองเหมือนเจ้าได้กระทำต่อผู้ที่ตายเสียนั้น, และต่อแม่ด้วย.” นอกจากนี้ นางยังบอกด้วยว่าพระยะโฮวาจะอวยพรให้พวกเธอมีสามีใหม่และเริ่มต้นชีวิตใหม่. แล้วบันทึกก็กล่าวว่า “นางนาอะมีได้จุบลูกสะใภ้ทั้งสอง ๆ ก็ร้องไห้เสียงดัง.” นาอะมีช่างมีจิตใจงดงามและไม่เห็นแก่ตัว ไม่แปลกที่รูทกับอะระฟาจะรักหญิงชราผู้นี้มาก. ทั้งคู่ยืนยันหนักแน่นว่า “อย่าเลย, เราทั้งสองจะกลับไปด้วยจนถึงบ้านเมืองของแม่.”—รูธ. 1:8-10
14, 15. (ก) อะระฟากลับไปหาใคร? (ข) นาอะมีพยายามพูดโน้มน้าวให้รูทเลิกติดตามนางอย่างไร?
14 แต่นาอะมีไม่ยอม. นางให้เหตุผลหนักแน่นว่าเมื่อไปถึงอิสราเอลแล้วนางคงช่วยอะไรพวกเธอไม่ได้ เพราะนางไม่มีสามีคอยหาเลี้ยง ไม่มีลูกชายที่จะยกให้เป็นสามีพวกเธอ และไม่มีความหวังที่จะมีสามีหรือลูกอีก. นาอะมีบอกลูกสะใภ้ว่านางรู้สึกขมขื่นและทุกข์ใจที่ไม่สามารถทำอะไรเพื่อพวกเธอได้เลย. สำหรับอะระฟา เธอเห็นด้วยกับคำพูดของนาอะมีทุกประการ. เธอยังมีครอบครัวอยู่ที่โมอาบ มีแม่และมีบ้านอยู่ที่นั่น. การกลับไปโมอาบคงจะดีที่สุดสำหรับเธอ. ดังนั้น อะระฟาจึงจูบลานาอะมีทั้งน้ำตาและจำใจเดินจากไป.—รูธ. 1:11-14
15 แล้วรูทล่ะ? เธอทำตามคำแนะนำของนาอะมีไหม? เราอ่านว่า “รูธนั้นยังอยู่กับแม่ผัว.” นาอะมีอาจเดินทางต่อไป แต่แล้วก็สังเกตว่ารูทเดินตามมาห่าง ๆ. นางขอร้องให้รูทกลับไปโดยพูดว่า “ดูเถิด, พี่สาวก็กลับไปหาญาติพี่น้อง, และพระของเขาแล้ว: จงตามพี่สาวไปเถิด.” (รูธ. 1:15) คำพูดของนาอะมีคงทำให้ผู้อ่านเห็นรายละเอียดที่สำคัญอย่างหนึ่ง. อะระฟาไม่ได้กลับไปหาชนร่วมชาติเท่านั้น แต่กลับไปหา ‘พระของเธอ’ ด้วย. เธอพอใจที่จะกลับไปเป็นผู้นมัสการพระคีโมศและพระเท็จอื่น ๆ. รูทคิดเหมือนอะระฟาไหม?
16-18. (ก) รูทแสดงอย่างไรว่าเธอมีความรักภักดี? (ข) ตัวอย่างของรูทสอนอะไรเราในเรื่องความรักภักดี? (ดูภาพของผู้หญิงสองคนด้วย)
16 เมื่อมองดูนาอะมีเดินไปตามถนนที่ร้างผู้คน รูทมั่นใจว่าเธอรักนาอะมีด้วยใจจริงและรักพระเจ้าที่นาอะมีนมัสการ. รูทจึงพูดว่า “ขออย่าสั่งให้ฉันละทิ้ง, หรือกลับจากติดตามแม่เลย: ด้วยว่าแม่จะไปไหน, ฉันจะไปด้วย; แม่จะอาศัยอยู่ที่ไหน, ฉันจะอาศัยอยู่ที่นั้นด้วย: ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย: แม่สิ้นชีพที่ไหน, ฉันจะสิ้นชีพที่นั้น, แล้วจะฝังอยู่ที่นั้น: ขอพระยะโฮวาทรงกระทำดังนี้แก่ฉัน, และยิ่งกว่านี้อีก, ความมรณะสิ่งเดียวที่จะทำให้แม่กับฉันขาดจากกันและกันได้.”—รูธ. 1:16, 17
17 คำพูดของรูทลึกซึ้งกินใจมากจริง ๆ เพราะแม้ว่าเธอจะจากโลกนี้ไปนานถึง 3,000 ปีแล้วผู้คนก็ยังไม่ลืมถ้อยคำเหล่านั้น. คำพูดของเธอสะท้อนให้เห็นคุณลักษณะที่ล้ำค่าอย่างหนึ่งนั่นคือ ความรักภักดี. ความรักและความภักดีสุดหัวใจที่รูทมีต่อนาอะมีทำให้รูทอยากติดตามนาอะมีไปทุกที่ ไม่ว่านางจะไปที่ไหน. ความตายเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะพรากเธอจากนาอะมีได้. ชนร่วมชาติของนาอะมีจะเป็นชนร่วมชาติของรูทด้วย เธอพร้อมจะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอรู้จักในโมอาบไว้เบื้องหลัง แม้แต่พระทั้งหลายที่เธอเคยนมัสการ. ไม่เหมือนอะระฟา รูทสามารถพูดได้ด้วยความรู้สึกจากหัวใจว่าเธอต้องการให้พระยะโฮวาพระเจ้าของนาอะมีเป็นพระเจ้าของเธอด้วย.a
18 แล้วพวกเธอซึ่งตอนนี้เหลือกันอยู่เพียงสองคนก็เดินทางต่อไปบนถนนที่ทอดยาวสู่เบทเลเฮม. มีการประมาณว่า การเดินทางครั้งนี้อาจใช้เวลานานถึงหนึ่งสัปดาห์. การมีเพื่อนร่วมเดินทางคงช่วยให้ทั้งคู่คลายความทุกข์โศกไปได้บ้าง.
19. คุณคิดว่าเราจะเลียนแบบความรักภักดีของรูทในครอบครัว ในหมู่เพื่อน และในประชาคมได้อย่างไร?
19 ผู้คนมากมายในทุกวันนี้ต่างประสบกับความทุกข์โศกเศร้า. ในสมัยของเราที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “วิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้” เราต้องเผชิญการสูญเสียและความโศกเศร้าสารพัดรูปแบบ. (2 ติโม. 3:1) ดังนั้น คุณลักษณะที่เราพบในตัวรูทจึงนับว่าสำคัญยิ่งกว่าสมัยใด. ความรักภักดีซึ่งเป็นความรักที่มั่นคงและไม่เสื่อมคลายง่าย ๆ เป็นพลังที่มีอานุภาพซึ่งช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ในโลกที่มืดมนนี้ได้. เราต้องมีความรักเช่นนี้ในสายสมรส ในครอบครัว ในหมู่เพื่อน และในประชาคมคริสเตียน. (อ่าน 1 โยฮัน 4:7, 8, 20 ) ขณะที่เราปลูกฝังความรักภักดีนี้ เราก็กำลังเลียนแบบตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของรูท.
รูทกับนาอะมีในเบทเลเฮม
20-22. (ก) การใช้ชีวิตในโมอาบมีผลอย่างไรต่อนาอะมี? (ข) นาอะมีมีความคิดผิด ๆ อย่างไรในเรื่องความทุกข์? (ดูยาโกโบ 1:13 ด้วย)
20 แน่ละ การพูดว่ามีความรักภักดีแตกต่างกันมากกับการพิสูจน์ความรักนั้นด้วยการกระทำ. นับจากนี้ไป รูทไม่เพียงจะมีโอกาสได้แสดงความรักภักดีต่อนาอะมีเท่านั้น แต่เธอจะได้พิสูจน์ความรักภักดีที่มีต่อพระยะโฮวา พระเจ้าที่เธอเลือกนมัสการด้วย.
21 ในที่สุด ผู้หญิงทั้งสองก็มาถึงหมู่บ้านเบทเลเฮมซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเลมไปทางใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร. ดูเหมือนว่านาอะมีและครอบครัวเคยเป็นคนที่มีชื่อเสียงในเมืองนี้ เพราะทันทีที่นาอะมีมาถึง ใคร ๆ ก็พากันโจษจันเรื่องของนาง. พวกผู้หญิงในหมู่บ้านคงจ้องมองนางแล้วพูดกันว่า “นี่เป็นนางนาอะมีหรือ?” ดูเหมือนว่าการย้ายไปอยู่โมอาบทำให้นางเปลี่ยนไปมาก. หน้าตาและรูปลักษณ์ของนาอะมีคงบ่งบอกว่าชีวิตของนางตลอดหลายปีนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากและความทุกข์.—รูธ. 1:19
22 นาอะมีเล่าให้ญาติที่เป็นผู้หญิงและคนที่เคยเป็นเพื่อนบ้านฟังว่านางมีชีวิตยากลำบากเพียงไร. นางถึงกับรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนชื่อจากนาอะมีที่แปลว่า “สุข” เป็นมาราซึ่งแปลว่า “ขม.” นาอะมีช่างน่าสงสารจริง ๆ! นาอะมีคิดว่าพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นผู้บันดาลให้สิ่งเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นกับนางเช่นเดียวกับโยบซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนหน้านั้น.—รูธ. 1:20, 21; โยบ 2:10; 13:24-26
23. รูทเริ่มคิดเรื่องอะไร และพระบัญญัติของโมเซมีการจัดเตรียมอะไรสำหรับคนยากจน? (ดูเชิงอรรถด้วย)
23 ขณะที่หญิงทั้งสองเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเบทเลเฮม รูทเริ่มคิดว่าเธอจะทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงดูตัวเองและนาอะมีได้ดีที่สุด. เธอรู้ว่าพระบัญญัติที่พระยะโฮวาประทานแก่ประชาชนของพระองค์ในอิสราเอล มีกฎหมายข้อหนึ่งเกี่ยวกับการจัดเตรียมด้วยความรักสำหรับคนยากจน. ตามกฎหมายนั้น คนยากจนได้รับอนุญาตให้เข้าไปในนาข้าวช่วงฤดูเกี่ยว. พวกเขาจะเดินตามผู้เกี่ยวแล้วคอยเก็บรวงข้าวที่เหลืออยู่รวมทั้งข้าวที่ขึ้นริมคันนาด้วย.b—เลวี. 19:9, 10; บัญ. 24:19-21
24, 25. รูททำอะไรเมื่อบังเอิญเดินเข้าไปในนาข้าวของโบอัศ และการเก็บข้าวในนาเป็นงานหนักขนาดไหน?
24 ตอนนั้นเป็นฤดูเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ราว ๆ เดือนเมษายนตามปฏิทินปัจจุบัน. รูทเดินไปตามนาข้าวเพื่อดูว่าใครจะอนุญาตให้เธอเก็บข้าวตกในนาของเขาได้บ้าง. เธอบังเอิญเดินเข้าไปในนาข้าวของชายคนหนึ่งชื่อโบอัศ เจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งซึ่งเป็นญาติกับอะลีเมะเล็ค สามีที่เสียชีวิตไปแล้วของนาอะมี. แม้ว่าตามกฎหมายของพระเจ้าเธอมีสิทธิ์เข้าไปเก็บข้าวในนาได้ แต่เธอก็ไม่ได้ทำโดยพลการ. รูทขออนุญาตชายหนุ่มที่ดูแลการเกี่ยวข้าวก่อน. เมื่อได้รับอนุญาต เธอจึงเข้าไปเก็บข้าวในนานั้น.—รูธ. 1:22–2:3, 7
25 ลองนึกภาพรูทกำลังเดินตามคนเกี่ยวข้าว. หลังจากที่คนงานใช้เคียวตัดต้นข้าว เธอจะก้มลงเก็บรวงข้าวที่ตกหรือที่เหลืออยู่ จากนั้นก็มัดเป็นฟ่อนแล้วเอาไปวางไว้ในที่ที่เธอจะใช้เป็นลานนวดข้าว. นี่เป็นงานที่ทำได้ช้าแถมยังเหน็ดเหนื่อย และยิ่งสายก็ยิ่งเหนื่อยล้ามากขึ้น. แต่รูทก็ก้มหน้าก้มตาทำต่อไป เธอจะหยุดมือก็เพียงเพื่อเช็ดเหงื่อที่หน้าผากและเมื่อพักกินอาหารเที่ยงง่าย ๆ ที่ “เรือน” หรือเพิงที่สร้างไว้ให้คนงานเข้าไปพักหลบแดด.
26, 27. โบอัศเป็นคนเช่นไร และเขาปฏิบัติต่อรูทอย่างไร?
26 รูทคงไม่คิดหรือคาดหวังว่าจะมีใครมองอยู่ แต่มีคนหนึ่งที่เห็นเธอ. โบอัศสังเกตเห็นรูทจึงถามคนงานว่าเธอเป็นใคร. โบอัศเป็นคนที่มีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง เขาทักทายพวกคนงานไม่ว่าจะเป็นคนงานรับจ้างรายวันหรือแม้แต่คนงานต่างชาติโดยพูดว่า “ขอให้พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด.” แล้วพวกเขาก็ตอบกลับมาแบบเดียวกัน. ชายสูงวัยที่เลื่อมใสพระเจ้าผู้นี้คงเอ็นดูรูทเหมือนเป็นลูกสาวคนหนึ่ง.—รูธ. 2:4-7
27 โบอัศเรียกรูทว่า “ลูกเอ๋ย” และบอกเธอว่าต่อไปนี้ให้มาเก็บรวงข้าวในนาของเขาและทำงานอยู่ใกล้ ๆ สาวใช้ของเขาเพื่อคนงานหนุ่ม ๆ จะไม่มาเกาะแกะรังแกเธอ. เมื่อถึงเวลา โบอัศก็เรียกเธอมากินอาหารเที่ยง. (อ่านประวัตินางรูธ 2:8, 9, 14 ) นอกจากความกรุณาทั้งหมดนี้แล้ว เขายังชมเชยและให้กำลังใจเธอด้วย. อย่างไรล่ะ?
28, 29. (ก) รูทมีชื่อเสียงแบบไหน? (ข) เช่นเดียวกับรูท คุณจะเข้ามาอยู่ใต้ปีกของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
28 รูทถามโบอัศว่าเพราะเหตุใดเขาจึงแสดงความกรุณาต่อหญิงต่างชาติอย่างเธอมากเพียงนี้. โบอัศตอบว่าเขาได้ยินเรื่องราวทั้งหมดที่เธอได้ทำเพื่อนาอะมีแม่ของสามี. อาจเป็นได้ว่านาอะมีได้ชมเชยลูกสะใภ้ที่น่ารักให้พวกผู้หญิงในเบทเลเฮมฟัง และเรื่องนี้รู้ไปถึงหูโบอัศ. นอกจากนี้ โบอัศยังรู้ด้วยว่ารูทได้เปลี่ยนมาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา เพราะเขาพูดว่า “ขอพระเยโฮวาห์ทรงตอบแทนการงานของเจ้าตามที่เจ้าได้กระทำมาแล้วนั้นเถิด และขอให้พระเยโฮวาห์พระเจ้าของชนชาติอิสราเอลซึ่งเจ้าเข้ามาวางใจอยู่ใต้ปีกของพระองค์นั้น จงทรงปูนบำเหน็จอันบริบูรณ์แก่เจ้า.”—รูธ. 2:12, ฉบับคิงเจมส์
29 คำพูดของโบอัศคงทำให้รูทมีกำลังใจมากทีเดียว! เธอได้ตัดสินใจเข้ามาอยู่ใต้ปีกของพระยะโฮวาพระเจ้าแล้วจริง ๆ เหมือนกับลูกนกที่ซุกอยู่ใต้ปีกพ่อแม่เพื่อจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง. รูทขอบคุณโบอัศที่ให้กำลังใจเธอด้วยถ้อยคำที่อบอุ่นเช่นนี้. แล้วเธอก็ทำงานต่อไปจนถึงเวลาเย็น.—รูธ. 2:13, 17
30, 31. เราเรียนอะไรได้จากรูทในเรื่องนิสัยการทำงาน การสำนึกบุญคุณ และความรักภักดี?
30 การกระทำด้วยความเชื่อของรูทเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเราทุกคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาทางเศรษฐกิจในทุกวันนี้. รูทไม่ได้คิดว่าคนอื่นต้องให้อะไรเธอ ดังนั้น เธอจึงรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ได้รับ. เธอไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องทำงานหนักทั้งวันเพื่อเลี้ยงดูคนที่เธอรัก แม้ว่างานนั้นอาจดูต่ำต้อย. เมื่อได้รับคำแนะนำที่สุขุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างปลอดภัยและการคบหาสมาคมที่ดี รูทก็เต็มใจรับฟังและพร้อมจะทำตามคำแนะนำนั้นทันที. เหนือสิ่งอื่นใด เธอไม่เคยลืมว่าแหล่งพักพิงที่ให้การปกป้องอย่างแท้จริงสำหรับเธอคือพระยะโฮวาพระเจ้า พระบิดาของเธอ.
31 ถ้าเราแสดงความรักภักดีเช่นเดียวกับรูทและทำตามตัวอย่างของเธอในเรื่องความถ่อมใจ ความขยันขันแข็ง และการสำนึกบุญคุณ เราจะมีความเชื่อที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น ๆ. แต่พระยะโฮวาทรงดูแลรูทและนาอะมีอย่างไร? เราจะพิจารณาเรื่องนี้ในบทถัดไป.
a น่าสังเกต รูทไม่เพียงใช้คำว่า “พระเจ้า” ซึ่งเป็นคำระบุตำแหน่งที่ชนต่างชาติส่วนใหญ่มักใช้กัน แต่เธอยังใช้พระนามเฉพาะของพระเจ้าด้วยคือ ยะโฮวา. หนังสือคัมภีร์ไบเบิลของผู้แปล (ภาษาอังกฤษ) ให้ความเห็นว่า “ผู้เขียนกำลังเน้นว่าหญิงต่างชาติคนนี้เป็นผู้นมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้.”
b นี่เป็นกฎหมายที่ยอดเยี่ยมซึ่งต่างจากกฎหมายใด ๆ ที่รูทเคยรู้จักในบ้านเกิด. ในสมัยนั้นหญิงม่ายในแถบตะวันออกใกล้ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากที่สามีตาย ปกติแล้วหญิงม่ายต้องพึ่งพาอาศัยลูกชายให้เลี้ยงดู แต่ถ้าไม่มีลูกชาย เธออาจต้องขายตัวเองเป็นทาส ยอมเป็นโสเภณี หรือไม่ก็อดตาย.”