บทสิบสอง
เขารับการชูใจจากพระเจ้า
1, 2. เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างที่ทำให้วันนั้นเป็นวันที่น่าจดจำสำหรับเอลียาห์?
เอลียาห์วิ่งฝ่าสายฝนขณะที่ฟ้ามืดลงเรื่อย ๆ. หนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะถึงเมืองยิศเรลและเขาก็ไม่ใช่คนหนุ่มแล้ว. แต่เอลียาห์ก็วิ่งอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพราะ “พระหัตถ์แห่งพระยะโฮวา” อยู่กับเขา. เขารู้สึกว่ามีเรี่ยวแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงกับวิ่งแซงราชรถม้าของกษัตริย์อาฮาบด้วยซ้ำ!—อ่าน 1 กษัตริย์ 18:46
2 ขณะที่เอลียาห์วิ่งไปตามทาง เขาต้องคอยกระพริบตาไล่น้ำฝน ขณะเดียวกันก็คิดทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นซึ่งเป็นวันที่น่าจดจำที่สุดในชีวิต. วันนั้นเป็นวันแห่งชัยชนะที่งดงามสำหรับพระยะโฮวาและการนมัสการแท้อย่างไม่มีข้อสงสัย. ตอนนี้เอลียาห์มองไม่เห็นภูเขาคาร์เมลอันสูงตระหง่านเพราะเขาออกมาได้ไกลแล้วและท้องฟ้าก็มัวมืดไปด้วยเมฆหมอกแห่งพายุ. ที่ภูเขานี้เขาเพิ่งกำราบผู้นมัสการบาอัลด้วยวิธีที่เฉียบขาดและน่าอัศจรรย์ตามคำสั่งของพระยะโฮวา. ผู้พยากรณ์บาอัลหลายร้อยคนถูกเปิดโปงและถูกลงโทษอย่างสาสม. จากนั้น เอลียาห์อธิษฐานถึงพระยะโฮวาขอให้ยุติความแห้งแล้งที่ยืดเยื้อมานาน 3 ปีครึ่ง. แล้วฝนก็เทลงมา!—1 กษัต. 18:18-45
3, 4. (ก) ทำไมเอลียาห์คงคาดหมายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
3 ตลอดระยะทาง 30 กิโลเมตรที่เอลียาห์วิ่งฝ่าสายฝนไปยังเมืองยิศเรล เขาคงคาดหมายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยน. อาฮาบคงไม่เหมือนเดิม เขาคงเลิกนมัสการบาอัลและยับยั้งราชินีอีซาเบลไม่ให้ข่มเหงผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอีก.
4 เมื่อทุกสิ่งเป็นไปอย่างที่คาดไว้ เราคงคิดว่าสถานการณ์นั้นก็น่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือถึงกับคิดว่าปัญหาต่าง ๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว. ถ้าเอลียาห์จะคิดอย่างนั้นก็ไม่แปลกเพราะเขา “เป็นมนุษย์เหมือนเรา.” (ยโก. 5:17) แต่ปัญหาของเอลียาห์ยังไม่จบ. อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ เอลียาห์จะต้องเผชิญกับความหวาดกลัวและความท้อแท้สิ้นหวังถึงขั้นอยากตาย. อะไรทำให้เขารู้สึกอย่างนั้น? และพระยะโฮวาช่วยผู้พยากรณ์ของพระองค์ให้มีความกล้าและมีความเชื่อที่เข้มแข็งอีกครั้งโดยวิธีใด? ให้เรามาดูกัน.
สถานการณ์พลิกผันอย่างไม่คาดคิด
5. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนภูเขาคาร์เมลทำให้อาฮาบเรียนรู้ที่จะยำเกรงพระยะโฮวาไหม และเรารู้ได้อย่างไร?
5 เมื่ออาฮาบกลับไปถึงราชวังในเมืองยิศเรล เขาแสดงให้เห็นไหมว่าได้กลับใจ? พระคัมภีร์บอกว่า “อาฮาบจึงบอกอีซาเบ็ลตามการทั้งสิ้น, ซึ่งเอลียาได้กระทำนั้น, และการที่ท่านได้ฆ่าผู้ทำนายทั้งหมดด้วยดาบ.” (1 กษัต. 19:1) สังเกตว่าเมื่ออาฮาบเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้อีซาเบลฟัง เขาไม่ได้พูดถึงพระยะโฮวาเลย. อาฮาบคิดแค่ว่าเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็นสิ่งที่ “เอลียาได้กระทำ.” เห็นชัดว่าเขาไม่ได้เรียนรู้ที่จะยำเกรงพระยะโฮวาพระเจ้าแม้แต่น้อย. แล้วภรรยาผู้อาฆาตแค้นของเขามีปฏิกิริยาเช่นไร?
6. อีซาเบลใช้คนไปบอกเอลียาห์ว่าอะไร และนั่นหมายความอย่างไร?
6 นางอีซาเบลโกรธมาก! ด้วยความเดือดดาล นางใช้คนไปบอกเอลียาห์ว่า “ถ้าพรุ่งนี้เวลานี้เรามิได้ทำชีวิตของเจ้าให้เหมือนอย่างชีวิตของคนเหล่านั้นแล้วก็ให้พระทั้งหลายทำดังนั้นแก่เรา, และให้ยิ่งกว่าท่าน.” (1 กษัต. 19:2) นี่เป็นการขู่ฆ่าที่น่ากลัว. การพูดเช่นนั้นเท่ากับสาบานว่าหากพรุ่งนี้นางยังไม่ได้ฆ่าเอลียาห์เพื่อล้างแค้นให้พวกผู้พยากรณ์บาอัล นางก็สมควรถูกลงโทษถึงตาย. ขอให้นึกภาพว่าเอลียาห์กำลังนอนหลบพายุฝนที่เพิงแห่งหนึ่งในเมืองยิศเรล แต่แล้วผู้ส่งข่าวของราชินีก็ปลุกเขาขึ้นมาฟังคำขู่นั้น. เอลียาห์จะรู้สึกอย่างไร?
ท้อแท้และหวาดกลัว
7. คำขู่ของอีซาเบลมีผลต่อเอลียาห์อย่างไร และเขาทำอะไร?
7 ถ้าเอลียาห์คิดว่าสงครามต่อต้านการนมัสการบาอัลกำลังจะยุติลง ข่าวนี้คงทำให้ความหวังของเขาพังทลาย. อีซาเบลไม่ยอมเลิกรา. เพื่อนผู้พยากรณ์ของเอลียาห์ถูกนางฆ่าไปหลายร้อยคนแล้ว และดูเหมือนเขาจะเป็นรายต่อไป. คำขู่ของอีซาเบลมีผลต่อเอลียาห์อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เอลียาห์กลัว.” เอลียาห์อาจนึกภาพว่าเขาคงต้องตายอย่างทุกข์ทรมานด้วยน้ำมือของอีซาเบล. ถ้าเขามัวแต่คิดเช่นนี้ ความกล้าหาญของเขาคงจะหมดไปแน่ ๆ. ไม่ว่าจะอย่างไร เอลียาห์ก็ “หนีเอาชีวิตรอด.”—1 กษัต. 18:4; 19:3, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
การครุ่นคิดถึงอันตรายใด ๆ ที่อาจทำให้เราหวาดกลัวจะทำให้เราสูญเสียความกล้า
8. (ก) เปโตรมีปัญหาอะไรที่คล้ายกับเอลียาห์? (ข) เราเรียนอะไรได้จากเอลียาห์และเปโตร?
8 เอลียาห์ไม่ใช่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์เพียงคนเดียวที่สูญเสียความกล้าไปชั่วขณะ. นานหลังจากสมัยของเขา อัครสาวกเปโตรก็มีปัญหาคล้ายกัน. ตัวอย่างเช่น พระเยซูช่วยเปโตรให้สามารถเดินบนน้ำได้ แต่เมื่อ “เห็นพายุเขาก็กลัว.” ความกล้าของเขาหายไปทันทีและเขาเริ่มจมน้ำ. (อ่านมัดธาย 14:30 ) ตัวอย่างของเปโตรและเอลียาห์สอนบทเรียนสำคัญแก่เรา. การครุ่นคิดถึงอันตรายใด ๆ ที่อาจทำให้เราหวาดกลัวจะทำให้เราสูญเสียความกล้า. แต่การคิดถึงพระยะโฮวาผู้เป็นกำลังและความหวังของเราจะช่วยให้เรามีความกล้า.
“พอแล้วพระองค์เจ้าข้า”
9. จงพรรณนาการเดินทางของเอลียาห์และความรู้สึกของเขาในตอนนั้น.
9 เอลียาห์กลัวมาก เขาหนีไปไกลถึง 150 กิโลเมตร. เขาไปทางตะวันตกเฉียงใต้จนถึงเมืองเบเออร์-เชบาซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนทางใต้ของยูดาห์. เขาทิ้งคนใช้ไว้ที่นั่น แล้วหนีไปยังถิ่นกันดารตามลำพัง. บันทึกในพระคัมภีร์บอกว่า เอลียาห์เดินไปเป็น “ระยะทางวันหนึ่ง” นี่อาจทำให้เรานึกภาพว่าเขาคงรีบออกเดินทางแต่เช้าตรู่และไม่ได้นำเสบียงติดตัวไปเลย. เขาหนีอย่างไม่คิดชีวิตเพราะรู้สึกกลัวและสิ้นหวังสุดขีด เขาดั้นด้นไปตามทางที่แห้งแล้งและยากลำบากท่ามกลางแสงแดดอันร้อนระอุ. เมื่อดวงอาทิตย์ที่เจิดจ้าค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงและคล้อยต่ำลงจนลับขอบฟ้า เอลียาห์ก็หมดแรง. เขานั่งลงใต้ต้นระเห็มด้วยความอ่อนเปลี้ย ซึ่งเป็นที่พักพิงแห่งเดียวที่พอจะหาได้ในถิ่นกันดารนี้.—1 กษัต. 19:4
10, 11. (ก) คำอธิษฐานของเอลียาห์แสดงว่าเขารู้สึกอย่างไร? (ข) โดยใช้ข้อคัมภีร์ที่ยกมา จงพรรณนาความรู้สึกของผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ที่ท้อแท้สิ้นหวัง.
10 เอลียาห์อธิษฐานอย่างท้อแท้สิ้นหวัง. เขาขอให้ตัวเองตายเสีย. เขาทูลพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าไม่ดีกว่าปู่ย่าตายายของข้าพเจ้า.” เอลียาห์รู้ว่าตอนนี้ปู่ย่าตายายของเขาเหลือแต่โครงกระดูกและเถ้าธุลีในหลุมฝังศพ ทำประโยชน์ให้ใครไม่ได้อีก. (ผู้ป. 9:10) เอลียาห์ก็รู้สึกไร้ค่าเช่นนั้น. เขาร้องออกมาว่า “พอแล้วพระองค์เจ้าข้า.” เขาไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม.
11 เราไม่ควรตกใจหรือแปลกใจเมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้ารู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงชายหญิงที่ซื่อสัตย์หลายคนซึ่งรู้สึกทุกข์ใจมากถึงขั้นอยากตาย เช่น ริบะคาห์ ยาโคบ โมเซ และโยบ.—เย. 25:22, ล.ม.; 37:35; อาฤ. 11:13-15; โยบ 14:13
12. หากสักวันหนึ่งคุณรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง คุณจะทำเหมือนเอลียาห์ได้อย่างไร?
12 เรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้” จึงไม่แปลกที่ผู้คนมากมายแม้แต่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าจะรู้สึกท้อแท้เป็นครั้งคราว. (2 ติโม. 3:1) หากสักวันหนึ่งคุณรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ขอให้คุณทำเหมือนเอลียาห์โดยระบายความรู้สึกกับพระเจ้า. พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.” (อ่าน 2 โครินท์ 1:3, 4 ) พระองค์ชูใจเอลียาห์ไหม?
พระยะโฮวาทรงค้ำจุนเอลียาห์
13, 14. (ก) โดยทางทูตสวรรค์องค์หนึ่ง พระยะโฮวาแสดงความห่วงใยต่อเอลียาห์อย่างไร? (ข) การที่พระยะโฮวารู้จักเรารวมทั้งข้อจำกัดของเราเป็นอย่างดีให้กำลังใจอย่างไร?
13 คุณคิดว่าพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเมื่อทอดพระเนตรลงมาจากสวรรค์เห็นผู้พยากรณ์ที่พระองค์รักนอนอยู่ในถิ่นที่กันดารและบอกว่าอยากตาย? พระคัมภีร์บอกว่าหลังจากเอลียาห์หลับ พระยะโฮวาได้ส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาหาเขา. ทูตนั้นปลุกเขาโดยแตะตัวเขาเบา ๆ แล้วบอกว่า “จงลุกขึ้นรับประทานอาหารเถิด.” เอลียาห์ก็ลุกขึ้นมากินขนมปังร้อน ๆ กับดื่มน้ำที่ทูตสวรรค์เตรียมให้. เขาขอบคุณทูตองค์นั้นไหม? พระคัมภีร์บอกแค่ว่า ผู้พยากรณ์เอลียาห์ลุกขึ้นกินอาหารแล้วนอนต่อ. เขาอาจเป็นทุกข์มากจนพูดอะไรไม่ออก. ไม่ว่าจะอย่างไร ทูตนั้นปลุกเขาเป็นครั้งที่สองอาจเป็นช่วงรุ่งสาง. ทูตสวรรค์บอกเอลียาห์อีกครั้งว่า “จงลุกขึ้นและรับประทานเถิด” และพูดอย่างน่าสนใจต่อว่า “เพราะทางเดินนั้นเหลือกำลังท่าน.”—1 กษัต. 19:5-7
14 พระเจ้าแจ้งให้ทูตสวรรค์รู้ว่าเอลียาห์จะต้องไปไหน. ทูตยังรู้ด้วยว่าทางที่เอลียาห์จะไปนั้นลำบากยิ่งนักและเขามีกำลังไม่พอ. ช่างให้กำลังใจจริง ๆ ที่ได้รับใช้พระเจ้าที่รู้เป้าหมายและข้อจำกัดของเราดียิ่งกว่าตัวเราเอง. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 103:13, 14 ) อาหารมื้อนั้นช่วยเอลียาห์อย่างไร?
15, 16. (ก) เอลียาห์สามารถทำอะไรได้เมื่อพระยะโฮวาค้ำจุนเขา? (ข) ทำไมเราควรรู้สึกขอบคุณวิธีที่พระยะโฮวาค้ำจุนผู้รับใช้ของพระองค์ในทุกวันนี้?
15 เราอ่านว่า “ท่านก็ลุกขึ้นกินและดื่ม, และด้วยกำลังซึ่งได้จากอาหารนั้น, ท่านก็เดินสี่สิบวันสี่สิบคืนไปถึงโฮเร็บภูเขาแห่งพระเจ้า.” (1 กษัต. 19:8) เอลียาห์ไม่ได้กินอะไรเลยตลอด 40 วัน 40 คืนเช่นเดียวกับโมเซที่มีชีวิตอยู่ก่อนเขาประมาณหกร้อยปีและพระเยซูที่มีชีวิตอยู่หลังจากเขาเกือบหนึ่งพันปี. (เอ็ก. 34:28; ลูกา 4:1, 2) อาหารนั้นไม่ได้ทำให้ปัญหาของเอลียาห์หมดไป แต่ได้ช่วยค้ำจุนชีวิตเขาอย่างอัศจรรย์. คิดดูสิชายสูงอายุคนนี้ต้องเดินผ่านถิ่นทุรกันดารด้วยความยากลำบากวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่านานเกือบ 1 เดือนครึ่ง!
16 ทุกวันนี้ก็เช่นกัน พระยะโฮวาทรงค้ำจุนผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ใช่ด้วยอาหารที่ทำให้อิ่มท้อง แต่ด้วยสิ่งที่สำคัญกว่า. พระองค์ช่วยพวกเขาให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์. (มัด. 4:4) การเรียนรู้เรื่องพระเจ้าจากพระคำของพระองค์และจากหนังสืออื่น ๆ ที่อธิบายคัมภีร์ไบเบิลก็เปรียบเหมือนการกินอาหารที่จะช่วยเราให้รับใช้พระองค์ต่อไปได้. ความรู้เหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาทุกอย่างของเรา แต่จะช่วยเราให้อดทนกับปัญหาที่หนักเกินกำลังของเราได้. นอกจากนั้น ความรู้นี้จะทำให้เรามี “ชีวิตนิรันดร์.”—โย. 17:3
17. เอลียาห์เดินทางไปไหน และทำไมภูเขานี้มีความหมายพิเศษสำหรับชาวอิสราเอล?
17 เอลียาห์เดินเกือบ 320 กิโลเมตรจนมาถึงภูเขาโฮเรบในที่สุด. เขาเข้าไปพักในถ้ำแห่งหนึ่งบนเขาลูกนี้. ภูเขาโฮเรบนี้มีความหมายพิเศษสำหรับชาวอิสราเอล. พระยะโฮวาเคยปรากฏแก่โมเซโดยทางทูตสวรรค์องค์หนึ่งในพุ่มไม้ที่มีไฟลุกโชนที่ภูเขานี้และ ณ ที่นี่เองที่พระยะโฮวาได้ทำสัญญาแห่งพระบัญญัติกับชาวอิสราเอล.
วิธีที่พระยะโฮวาชูใจและเสริมกำลังผู้พยากรณ์
18, 19. (ก) ทูตผู้ส่งข่าวองค์หนึ่งถามเอลียาห์ว่าอะไร และเขามีปฏิกิริยาอย่างไร? (ข) สามเหตุผลที่ทำให้เอลียาห์รู้สึกท้อแท้คืออะไร?
18 ที่ภูเขาโฮเรบ พระยะโฮวาอาจใช้ทูตผู้ส่งข่าวองค์หนึ่งให้มาถ่ายทอด “คำ” ของพระยะโฮวาที่ว่า “เอลียาเอ๋ย, เจ้าทำอะไรอยู่ที่นี่?” ทูตสวรรค์องค์นั้นคงถามอย่างอ่อนโยน ทำให้เอลียาห์รู้สึกว่านั่นเป็นการเชื้อเชิญให้เขาระบายความในใจออกมา. เอลียาห์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้หวงแหนพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งพลโยธายิ่งนัก: ด้วยชาติยิศราเอลได้ละทิ้งคำสัญญาไมตรีซึ่งมีอยู่กับพระองค์, ทำลายแท่นของพระองค์เสีย, และฆ่าผู้พยากรณ์ด้วยดาบ; ยังเหลือเฉพาะแต่ข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้น; และเขาก็แสวงหาข้าพเจ้าเพื่อจะฆ่าเสียด้วย.” (1 กษัต. 19:9, 10) คำพูดของเอลียาห์เผยให้เห็นว่ามีอย่างน้อยสามเหตุผลที่ทำให้เขาท้อแท้.
19 อย่างแรก เอลียาห์รู้สึกว่างานทั้งหมดที่เขาทำไปนั้นช่างไร้ประโยชน์จริง ๆ. ทั้ง ๆ ที่ทุ่มเทตัวรับใช้พระยะโฮวามานานหลายปี ยกย่องพระนามของพระเจ้าและการนมัสการอันศักดิ์สิทธิ์เหนือสิ่งอื่นใด แต่สภาพการณ์กลับเลวร้ายลง. ชาวอิสราเอลยังคงขาดความเชื่อและดื้อรั้น การนมัสการเท็จก็มีแพร่หลายยิ่งขึ้น. อย่างที่สอง เอลียาห์รู้สึกโดดเดี่ยว. เขาบอกว่า “เหลือเฉพาะแต่ข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้น.” เอลียาห์พูดราวกับว่าเขาเป็นคนสุดท้ายในชาติอิสราเอลที่ยังรับใช้พระยะโฮวาอยู่. อย่างที่สาม เอลียาห์กลัว. เพื่อนผู้พยากรณ์ของเขาถูกฆ่าไปหลายคนแล้ว และเขาคิดว่าตัวเองจะเป็นรายต่อไป. เอลียาห์คงไม่อยากยอมรับว่าเขารู้สึกเช่นนั้น แต่เขาก็ไม่ได้ปิดบังความรู้สึกนั้นไว้เพราะความหยิ่งหรือเพราะกลัวขายหน้า. การที่เขาอธิษฐานเผยความในใจต่อพระเจ้าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทุกคน.—เพลง. 62:8
20, 21. (ก) จงพรรณนาว่าเอลียาห์เห็นอะไรบ้างตอนยืนที่ปากถ้ำ. (ข) การที่พระยะโฮวาให้เอลียาห์เห็นพลังธรรมชาตินั้นสอนอะไรเขา?
20 พระยะโฮวาทำอะไรเพื่อช่วยเอลียาห์ให้หายกลัวและหายกังวล? ทูตสวรรค์นั้นบอกให้เอลียาห์ออกไปยืนที่ปากถ้ำ เขาก็ออกไปโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น. ทันใดนั้นก็มีพายุกล้าพัดมา! เสียงพายุคงดังอื้ออึงไปทั่วเพราะความแรงของพายุทำให้ภูเขาและหินแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ. เอลียาห์คงยกแขนขึ้นมาบังตาและพยายามจับชุดขนสัตว์ที่หนาและหนักไว้ไม่ให้ปลิวไปเพราะพายุพัดกระหน่ำรุนแรงมาก. จากนั้น พื้นดินทั่วบริเวณนั้นก็เคลื่อนตัวและสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง เขาจึงต้องพยายามทรงตัวไม่ให้ล้ม. ขณะที่เอลียาห์ยังไม่ทันตั้งตัว ก็มีเปลวไฟใหญ่พวยพุ่งขึ้นมาทำให้เขาต้องถอยหลบเข้าไปในถ้ำเพื่อจะพ้นจากไอร้อนของไฟนั้น.—1 กษัต. 19:11, 12
21 เอลียาห์รู้ว่าพระยะโฮวาไม่ใช่เทพแห่งธรรมชาติที่ผู้คนอุปโลกน์ขึ้น ไม่เหมือนบาอัลที่คนในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็น “ผู้ขี่เมฆ” หรือผู้บันดาลให้เกิดฝน. พระยะโฮวาไม่ได้สถิตอยู่ในพลังธรรมชาติเหล่านั้น. พลังอันน่าเกรงขามทั้งมวลที่มีอยู่ในธรรมชาติมาจากพระยะโฮวา และพระองค์ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่เหนือสิ่งใด ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นหลายเท่า. แม้แต่ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ก็ไม่พอให้พระองค์ประทับอยู่! (1 กษัต. 8:27) เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ช่วยเอลียาห์อย่างไร? อย่าลืมว่าตอนนั้นเอลียาห์กลัวมาก. แต่ถ้ามีพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพลังอำนาจมหาศาลอย่างพระยะโฮวาอยู่เคียงข้าง เอลียาห์ก็ไม่ต้องกลัวอาฮาบและอีซาเบลอีกต่อไป.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 118:6
22. (ก) “เสียงเบา ๆ” รับรองกับเอลียาห์อย่างไรว่าเขามีค่ามาก? (ข) “เสียงเบา ๆ” อาจเป็นเสียงของใคร? (ดูเชิงอรรถ)
22 หลังจากเปลวไฟพัดผ่านไป ทุกอย่างก็เงียบสงัด แล้วเอลียาห์ได้ยิน “เสียงเบา ๆ.” เสียงนั้นเชิญให้เอลียาห์พูดออกมา เขาจึงระบายความทุกข์ใจออกมาเป็นครั้งที่สอง.a การได้พูดอีกครั้งคงทำให้เขาสบายใจขึ้น. เรื่องที่ “เสียงเบา ๆ” ได้บอกเอลียาห์ต่อจากนั้นคงทำให้เขามีกำลังใจมากขึ้นอีก. พระยะโฮวารับรองกับเอลียาห์ว่าเขามีค่ามาก. พระองค์ทำเช่นไร? พระเจ้าเปิดเผยว่าพระองค์มีพระประสงค์จะขจัดการนมัสการบาอัลให้หมดไปจากแผ่นดินอิสราเอล. เห็นได้ชัดว่างานที่เอลียาห์ทำมาไม่ไร้ประโยชน์ เพราะสิ่งที่พระองค์ประสงค์จะทำต้องสำเร็จอย่างแน่นอน. นอกจากนั้น เอลียาห์ยังคงมีบทบาทสำคัญในพระประสงค์ของพระยะโฮวา เพราะพระองค์กำลังจะส่งเขากลับไปทำงานสำคัญบางอย่าง.—1 กษัต. 19:12-17
23. พระยะโฮวาช่วยเอลียาห์ที่รู้สึกโดดเดี่ยวโดยวิธีใดบ้าง?
23 พระยะโฮวาช่วยเอลียาห์ที่รู้สึกโดดเดี่ยวโดยวิธีใดบ้าง? อย่างแรก พระองค์บอกเอลียาห์ให้ไปเจิมเอลีชาให้ทำหน้าที่ผู้พยากรณ์ต่อจากเขา. เอลีชาซึ่งอายุน้อยกว่าจะเป็นเพื่อนและผู้ช่วยของเขาไปอีกหลายปี. ช่างเป็นการจัดเตรียมที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ! อย่างที่สอง พระยะโฮวาแจ้งข่าวที่น่าตื่นเต้นแก่เขาว่า “เรายังมีเหลืออยู่เจ็ดพันคนในยิศราเอล, คือทุกเข่าซึ่งมิได้คุกลงแก่บาละ, และทุกปากซึ่งมิได้จุบรูปนั้น.” (1 กษัต. 19:18) เอลียาห์ไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่คิด. เขาคงรู้สึกอุ่นใจเมื่อได้ยินว่ามีผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์อีกหลายพันคนไม่ยอมก้มกราบบาอัล. เอลียาห์ต้องช่วยคนเหล่านั้นให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ต่อไป และเป็นแบบอย่างให้พวกเขาในเรื่องความภักดีอย่างไม่สั่นคลอนในยุคที่เต็มไปด้วยการนมัสการเท็จ. เอลียาห์คงรู้สึกซาบซึ้งใจมากที่ได้ยินถ้อยคำเหล่านี้จากผู้ส่งข่าวของพระยะโฮวาซึ่งเป็น “เสียงเบา ๆ” จากพระเจ้า.
คัมภีร์ไบเบิลอาจเปรียบได้กับ “เสียงเบา ๆ” หากเรายอมให้ข้อความในนั้นชี้นำ
24, 25. (ก) ในทุกวันนี้ เราจะฟัง “เสียงเบา ๆ” จากพระเจ้าได้อย่างไร? (ข) ทำไมเราแน่ใจว่าเอลียาห์มีกำลังขึ้นเมื่อพระยะโฮวาชูใจเขา?
24 เช่นเดียวกับเอลียาห์ เราก็รู้สึกครั่นคร้ามเมื่อเห็นพลังอันยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ. สิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าสร้างสะท้อนให้เห็นพลังอำนาจของพระองค์ในฐานะพระผู้สร้างอย่างชัดเจน. (โรม 1:20) พระยะโฮวายังคงเต็มพระทัยจะใช้ฤทธิ์อำนาจอันไร้ขีดจำกัดเพื่อช่วยผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. (2 โคร. 16:9) แต่ในทุกวันนี้พระเจ้าตรัสกับเราโดยทางคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์ ซึ่งจะช่วยเราให้รู้จักพระองค์ดียิ่งขึ้น. (อ่านยะซายา 30:21 ) คัมภีร์ไบเบิลอาจเปรียบได้กับ “เสียงเบา ๆ” หากเรายอมให้ข้อความในนั้นชี้นำเรา. พระยะโฮวาทรงว่ากล่าวแก้ไข ให้การชูใจ และรับรองว่าพระองค์รักเรา ผ่านทางพระคำอันทรงคุณค่านี้.
25 เอลียาห์มีกำลังขึ้นไหมเมื่อพระยะโฮวาชูใจเขาบนภูเขาโฮเรบ? แน่นอน! หลังจากนั้นไม่นาน เขากลับไปรับใช้พระเจ้าด้วยความกล้าหาญอีกครั้งและเตือนผู้คนให้เลิกนมัสการพระเท็จ. ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราเอาใจใส่สิ่งที่เขียนไว้ในพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าหรือรับ “การชูใจจากพระคัมภีร์” เราก็จะเลียนแบบความเชื่อของเอลียาห์ได้.—โรม 15:4
a “เสียงเบา ๆ” นี้อาจเป็นเสียงของทูตสวรรค์องค์เดียวกับที่พระเจ้าใช้ให้ถ่ายทอด “คำแห่งพระยะโฮวา” ตามที่กล่าวใน 1 กษัตริย์ 19:9. อย่างไรก็ตาม ในข้อ 15 บอกแค่ว่า “พระยะโฮวาทรงตรัส.” แน่นอน พระยะโฮวาไม่ได้ตรัสด้วยพระองค์เองแต่ให้ทูตสวรรค์องค์หนึ่งตรัสแทนพระองค์ ซึ่งอาจเป็นทูตองค์เดียวกับที่พระองค์ใช้ให้นำหน้าชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ตรัสถึงผู้นั้นว่า “พระนามของเราอยู่กับท่าน.” (เอ็ก. 23:21) ทูตสวรรค์องค์นี้อาจหมายถึงพระเยซู แต่เราไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้. ที่น่าสังเกตคือก่อนพระเยซูจะมาประสูติเป็นมนุษย์ พระองค์เคยเป็น “พระวาทะ” หรือโฆษกพิเศษที่พระยะโฮวาใช้ให้ถ่ายทอดพระคำของพระองค์แก่บรรดาผู้รับใช้ทั้งหลาย.—โย. 1:1