ยะรูซาเลมที่สมชื่อ
“จงปีติชื่นชมตลอดไปในสิ่งที่เรากำลังสร้างอยู่นั้น. เพราะนี่แน่ะ เรากำลังสร้างยะรูซาเลมให้เป็นเหตุที่จะมีความชื่นชม.”—ยะซายา 65:18, ล.ม.
1. เอษรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเมืองที่พระเจ้าทรงเลือก?
ด้วยความเป็นนักศึกษาพระคำของพระเจ้าที่เอาจริงเอาจัง เอษราปุโรหิตชาวยิวถือว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ครั้งหนึ่งกรุงยะรูซาเลมเคยมีกับการนมัสการบริสุทธิ์ของพระยะโฮวามีค่าสูงยิ่ง. (พระบัญญัติ 12:5; เอษรา 7:27) ความรักที่ท่านมีต่อเมืองของพระเจ้านั้นจะเห็นได้จากส่วนของคัมภีร์ไบเบิลที่ท่านได้รับการดลใจให้เขียน คือพระธรรมหนึ่งโครนิกา, สองโครนิกา, และเอษรา. ในบันทึกประวัติศาสตร์เหล่านี้ จะพบชื่อยะรูซาเลมเกือบหนึ่งในสี่ของจำนวนทั้งหมด 800 กว่าครั้งที่คำนี้ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม.
2. เราสามารถเห็นความหมายเชิงพยากรณ์เช่นไรที่แฝงอยู่ในชื่อยะรูซาเลม?
2 ในภาษาฮีบรูที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล หากพบคำว่า “ยะรูซาเลม” ก็อาจเข้าใจได้ว่าคำนี้อยู่ในรูปที่เรียกกันว่าทวิรูป. คำทวิรูปส่วนมากมักใช้กับสิ่งที่เป็นคู่ เป็นต้นว่าตา, หู, มือ, และเท้า. คำยะรูซาเลมที่เขียนแบบทวิรูปอาจถือได้ว่าเป็นในเชิงพยากรณ์ถึงสันติสุขที่ไพร่พลพระเจ้าจะประสบในความหมายสองต่อ คือทางฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกาย. พระคัมภีร์ไม่ได้เผยให้เห็นว่าเอษราเข้าใจข้อนี้อย่างเต็มที่หรือไม่. อย่างไรก็ตาม ในฐานะปุโรหิต ท่านพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยชาวยิวให้ได้มีสันติสุขกับพระเจ้า. และไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านได้พยายามอย่างหนักเพื่อให้กรุงยะรูซาเลมมีสภาพสมกับความหมายของชื่อกรุงนี้ นั่นคือ “มี [หรือ รากฐานแห่ง] สันติสุขสองต่อ.”—เอษรา 7:6.
3. กี่ปีผ่านไปก่อนที่เราจะได้รับทราบเกี่ยวกับการงานของเอษราอีกครั้ง และเราพบท่านอยู่ในสภาพเช่นไร?
3 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้แจ้งว่าเอษราอยู่ที่ไหนในช่วง 12 ปีที่คั่นกลางระหว่างการมาเยือนกรุงยะรูซาเลมของท่านกับการที่นะเฮมยาเดินทางมาถึงกรุงนี้. สภาพฝ่ายวิญญาณที่ย่ำแย่ของชาตินี้ในช่วงเวลานั้นทำให้เข้าใจว่าเอษราคงไม่ได้อยู่ที่นั่นในตอนนั้น. กระนั้น เราพบว่าเอษราทำหน้าที่รับใช้เป็นปุโรหิตที่ซื่อสัตย์อีกครั้งหนึ่งในกรุงยะรูซาเลมหลังจากที่กำแพงกรุงนี้สร้างขึ้นใหม่เรียบร้อยแล้ว.
วันชุมนุมอันน่าทึ่ง
4. วันแรกในเดือนเจ็ดของชาวยิศราเอลมีความสำคัญเช่นไร?
4 กำแพงกรุงยะรูซาเลมแล้วเสร็จทันเวลาพอดีสำหรับเทศกาลสำคัญในเดือนทิชรี ซึ่งเป็นเดือนที่เจ็ดตามปฏิทินทางศาสนาของยิศราเอล. วันแรกเดือนทิชรีเป็นเทศกาลแรกเดือนขึ้นพิเศษซึ่งเรียกว่าเทศกาลแห่งการเป่าแตร. ในวันนั้น ปุโรหิตเป่าแตรขณะที่มีการถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. (อาฤธโม 10:10; 29:1) วันนี้เตรียมชาวยิศราเอลไว้ให้พร้อมสำหรับวันไถ่โทษประจำปีในวันที่ 10 ของเดือนทิชรีและเทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บผลอันน่ายินดีซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 จนถึงวันที่ 21 ของเดือนเดียวกัน.
5. (ก) เอษราและนะเฮมยาใช้ประโยชน์จาก “วันต้นเดือนที่เจ็ด” อย่างไร? (ข) เหตุใดชาวยิศราเอลจึงร้องไห้?
5 เมื่อถึง “วันต้นเดือนที่เจ็ด” “ไพร่พลทั้งปวง” ก็มาชุมนุมกัน ซึ่งก็คงจะมากันเพราะนะเฮมยาและเอษรากระตุ้น. คนที่มาชุมนุมประกอบด้วยผู้ชาย, ผู้หญิง, และ “คนทั้งปวงที่ฟังเข้าใจได้.” ฉะนั้น เด็กเล็กก็อยู่ด้วยและตั้งใจฟังขณะที่เอษรายืนอยู่บนธรรมาสน์และอ่านพระบัญญัติ “แต่รุ่งเช้าจนเที่ยง.” (นะเฮมยา 8:1-4) พวกเลวีได้ช่วยประชาชนให้เข้าใจข้อความที่ได้มีการอ่านเป็นระยะ ๆ. สิ่งนี้ทำให้ชาวยิศราเอลสะเทือนใจจนน้ำตาไหลเมื่อได้ตระหนักว่าพวกเขาและบรรพบุรุษขัดขืนไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้ามากเพียงไร.—นะเฮมยา 8:5-9.
6, 7. คริสเตียนสามารถเรียนอะไรได้จากสิ่งที่นะเฮมยาทำเพื่อทำให้ชาวยิวหยุดร้องไห้?
6 แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาร้องคร่ำครวญ. นี่เป็นวาระแห่งการฉลองเทศกาล และประชาชนเพิ่งได้ทำการบูรณะกำแพงกรุงยะรูซาเลมสำเร็จครบถ้วน. ดังนั้น นะเฮมยาช่วยปรับความคิดจิตใจของพวกเขาให้เหมาะสมโดยกล่าวดังนี้: “จงไปกินเนื้อและดื่มของหวานเถิด, แล้วแบ่งปันอาหารให้แก่เหล่าคนที่ขัดสนด้วย: เพราะวันนี้เป็นวันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเจ้า: อย่าเป็นทุกข์โศกเศร้าเลย; ด้วยความโสมนัสยินดีแห่งพระยะโฮวาเป็นกำลังของพวกเจ้าทั้งหลาย.” ด้วยความเชื่อฟัง “ฝูงคนทั้งปวงจึงพากันกินและดื่ม, กับแบ่งปันอาหารให้แก่คนขัดสน, และทำให้ใจเบิกบาน, เหตุว่าเขาได้เข้าใจถ้อยคำที่พวกนั้นอ่านอธิบายให้ฟัง.”—นะเฮมยา 8:10-12.
7 ไพร่พลพระเจ้าในทุกวันนี้สามารถได้บทเรียนหลายอย่างจากบันทึกเหตุการณ์นี้. ผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษให้ทำส่วนในการประชุมประชาคมและการประชุมใหญ่ควรจดจำสิ่งที่เพิ่งได้กล่าวไป. นอกเหนือจากการให้คำแนะนำแก้ไขซึ่งจำเป็นในบางครั้ง วาระโอกาสดังกล่าวเน้นเกี่ยวกับผลประโยชน์และพระพรที่เป็นผลมาจากการบรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้า. มีการให้คำชมเชยสำหรับการงานที่ดีที่เขาได้ทำและหนุนกำลังใจให้อดทน. ไพร่พลพระเจ้าควรออกจากที่ประชุมด้วยหัวใจชื่นบานเนื่องด้วยคำสั่งสอนที่เสริมสร้างซึ่งเขาได้รับจากพระคำของพระเจ้า.—เฮ็บราย 10:24, 25.
การชุมนุมอันน่ายินดีอีกวาระหนึ่ง
8, 9. มีการชุมนุมกันเป็นพิเศษอะไรในวันที่สองของเดือนเจ็ด และมีผลเช่นไรต่อไพร่พลพระเจ้า?
8 ในวันที่สองของเดือนพิเศษนั้น “คนหัวหน้าในเชื้อวงศ์บิดาทั้งหลายของพวกยิศราเอล, กับพวกปุโรหิต, และพวกเลวี, ได้พากันมาหาเอษราอาลักษณ์, เพื่อจะได้ศึกษา: ให้เข้าใจข้อความในบทพระบัญญัตินั้น.” (นะเฮมยา 8:13) เอษรามีคุณวุฒิเหมาะที่จะนำการประชุมนี้ เนื่องจากท่าน “ได้สำรวมตั้งใจแสวงหาในบทพระบัญญัติของพระยะโฮวาเพื่อจะได้ประพฤติตาม, และเพื่อจะได้เอาบทพระบัญญัติและข้อตัดสินทั้งปวงนั้นสอนให้พวกยิศราเอลแจ่มแจ้งขึ้น.” (เอษรา 7:10) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การประชุมนี้เน้นอย่างเด่นชัดถึงขอบเขตต่าง ๆ ที่ไพร่พลพระเจ้าจำต้องปฏิบัติให้สอดคล้องลงรอยกับคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติยิ่งขึ้น. เรื่องที่ต้องให้ความสนใจก่อนสิ่งอื่นใดได้แก่ความจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมมูลสำหรับการฉลองเทศกาลตั้งทับอาศัยที่กำลังจะมาถึง.
9 ได้มีการจัดเทศกาลนี้ซึ่งฉลองนานหนึ่งสัปดาห์ได้อย่างถูกต้อง โดยที่ทุกคนพักอาศัยอยู่ในเพิงชั่วคราวซึ่งทำจากกิ่งไม้และใบไม้ของต้นไม้ชนิดต่าง ๆ. ประชาชนตั้งกระท่อมเหล่านี้บนดาดฟ้าหลังคาบ้าน, ที่ลานบ้าน, ที่ลานพระวิหาร, และที่ลานเมืองของกรุงยะรูซาเลม. (นะเฮมยา 8:15, 16) ช่างเป็นโอกาสที่ดีสักเพียงไรที่ได้รวบรวมผู้คนเข้ามาอยู่ด้วยกันและมีการอ่านจากพระบัญญัติของพระเจ้าให้พวกเขาฟัง! (เทียบกับพระบัญญัติ 31:10-13.) ได้มีการทำอย่างนี้ทุกวัน “ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่สุด” ของเทศกาลนั้น ยังผลให้ไพร่พลพระเจ้ามี “ความยินดีเป็นอันมาก.”—นะเฮมยา 8:17, 18.
เราไม่ควรละเลยราชนิเวศของพระเจ้า
10. เหตุใดจึงจัดให้มีการชุมนุมกันเป็นพิเศษในวันที่ 24 เดือนเจ็ด?
10 มีเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมที่จะแก้ไขข้อบกพร่องร้ายแรงในท่ามกลางไพร่พลพระเจ้า. ดูเหมือนว่าเนื่องจากตระหนักว่าตอนนี้แหละคือเวลาอันเหมาะดังกล่าว เอษราและนะเฮมยาจึงจัดให้มีวันหนึ่งสำหรับการถือศีลอดอาหารคือในวันที่ 24 ของเดือนทิชรี. มีการอ่านพระบัญญัติของพระเจ้ากันอีกครั้ง และประชาชนสารภาพบาปของตน. จากนั้น ชาวเลวีทบทวนถึงการปฏิบัติด้วยความเมตตาของพระเจ้าต่อไพร่พลที่ดื้อดึงของพระองค์, ถวายคำสรรเสริญอันไพเราะแด่พระยะโฮวา, และทำ “สัตย์สาบาน” โดยมีเหล่าเจ้านาย, ชาวเลวี, และพวกปุโรหิตประทับตราเป็นพยาน.—นะเฮมยา 9:1-38.
11. ชาวยิวปฏิญาณตัวด้วยคำ “สัตย์สาบาน” อะไร?
11 ผู้คนโดยรวมได้ให้คำปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามคำ “สัตย์สาบาน” เป็นลายลักษณ์อักษร. พวกเขาจะ “ดำเนินตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า” องค์เที่ยงแท้. และพวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่ผูกพันโดยการสมรสกับ “ชนชาติทั้งหลายของแผ่นดินนั้น.” (นะเฮมยา 10:28-30, ฉบับแปลใหม่) นอกจากนั้น ชาวยิวถือเป็นพันธะที่เขาจะต้องถือรักษาซะบาโต, บริจาคเงินเป็นประจำทุกปีเพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้, จัดหาไม้เพื่อใช้ที่แท่นบูชา, ถวายลูกหัวปีจากฝูงปศุสัตว์ของตน, และนำเอาผลแรกแห่งที่ดินของตนมายังห้องโถงของพระวิหาร. เห็นได้ชัดว่า พวกเขาตั้งใจแน่วแน่ว่า “จะไม่ละทิ้งโบสถ์วิหารของพระเจ้าเลย.”—นะเฮมยา 10:32-39.
12. การไม่ละเลยพระนิเวศของพระเจ้าในทุกวันนี้หมายรวมถึงอะไร?
12 ทุกวันนี้ ไพร่พลของพระยะโฮวาต้องระวังไม่ละเลยสิทธิพิเศษแห่งการ “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์” ณ ลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 7:15, ล.ม.) ทั้งนี้ย่อมรวมไปถึงการอธิษฐานเป็นประจำอย่างที่ออกมาจากหัวใจทูลขอให้การนมัสการพระยะโฮวาก้าวรุดหน้าไป. การดำเนินชีวิตประสานกับคำอธิษฐานเช่นนั้นเรียกร้องให้มีการเตรียมตัวสำหรับการประชุมคริสเตียนและการมีส่วนร่วมในการประชุม, ร่วมในการจัดเตรียมเพื่อการประกาศข่าวดี, และช่วยผู้สนใจโดยการกลับเยี่ยมเยียน และถ้าเป็นไปได้ก็ช่วยเขาโดยนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขา. หลายคนที่ไม่ต้องการละเลยพระนิเวศของพระเจ้าบริจาคเพื่อสนับสนุนงานประกาศและเพื่อการบำรุงรักษาสถานนมัสการแท้. นอกจากนี้ เราก็อาจให้การสนับสนุนการก่อสร้างหอประชุมซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในหลาย ๆ แห่งได้ด้วย ตลอดจนช่วยรักษาหอประชุมให้สะอาดและเรียบร้อย. แนวทางสำคัญที่จะแสดงความรักเพื่อพระนิเวศฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าได้แก่การทำงานเพื่อส่งเสริมสันติสุขในท่ามกลางเพื่อนร่วมความเชื่อและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งทางวัตถุและฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20; เฮ็บราย 13:15, 16.
การเฉลิมฉลองอันน่ายินดี
13. เรื่องเร่งด่วนอะไรที่ต้องเอาใจใส่ก่อนจะเฉลิมฉลองกำแพงกรุงยะรูซาเลมได้ และหลายคนวางตัวอย่างที่ดีอะไร?
13 คำ “สัตย์สาบาน” ที่ได้มีการประทับตรารับรองในสมัยนะเฮมยาเตรียมไพร่พลพระเจ้าในคราวโบราณให้พร้อมสำหรับวันแห่งการเฉลิมฉลองกำแพงกรุงยะรูซาเลม. แต่ยังคงมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเอาใจใส่. ในเมื่อตอนนี้เมืองมีกำแพงขนาดใหญ่ล้อมรอบพร้อมกับประตูเมือง 12 ประตู กรุงยะรูซาเลมจึงจำเป็นต้องมีประชากรเพิ่มขึ้น. แม้ว่าชาวยิศราเอลจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น แต่ “เมืองนั้นโตใหญ่แต่ผู้คนก็น้อย.” (นะเฮมยา 7:4) เพื่อแก้ปัญหานี้ ประชาชน “ได้จับฉลากกัน, กำหนดสิบคนให้คนหนึ่งมาอาศัยอยู่ในกรุงยะรูซาเลมเมืองบริสุทธิ์.” การตอบรับอย่างเต็มใจต่อการจัดเตรียมนี้กระตุ้นประชาชนให้อวยพรแก่ “ชายทุกคน, ที่มีน้ำใจยอมถวายตัวมาอาศัยอยู่ในกรุงยะรูซาเลม.” (นะเฮมยา 11:1, 2) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับผู้นมัสการแท้ในทุกวันนี้ซึ่งสภาพการณ์ในชีวิตเปิดโอกาสให้เขาย้ายไปยังที่ที่มีความต้องการความช่วยเหลือจากคริสเตียนอาวุโสมากกว่า!
14. เกิดอะไรขึ้นในวันฉลองกำแพงกรุงยะรูซาเลม?
14 ไม่ช้าไม่นานก็เริ่มมีการเตรียมการที่สำคัญยิ่งสำหรับวันอันยิ่งใหญ่แห่งการเฉลิมฉลองกำแพงกรุงยะรูซาเลม. มีการรวบรวมนักดนตรีและนักร้องจากเมืองต่าง ๆ แห่งยูดาที่อยู่โดยรอบ. นักร้องนักดนตรีเหล่านี้รวมตัวกันเป็นคณะนักร้องถวายคำสรรเสริญคณะใหญ่สองคณะ แต่ละคณะมีขบวนแห่ตามหลัง. (นะเฮมยา 12:27-31, 36, 38) คณะนักร้องและขบวนแห่เริ่มที่จุดหนึ่งของกำแพงเมืองที่ไกลที่สุดจากพระวิหาร อาจเป็นได้ว่าเริ่มต้นกันที่ประตูซอกเขา และเดินขบวนแห่ในทิศทางตรงกันข้ามไปจนกระทั่งมาบรรจบกันที่พระนิเวศของพระเจ้า. “ในวันนั้นเขาได้ถวายเครื่องบูชาเป็นการใหญ่, มีใจโสมนัสยินดี: เหตุว่าพระองค์ได้ทรงบันดาลให้เขามีใจชื่นชมด้วยความยินดีอันใหญ่ยิ่ง: บุตรภรรยาของเขาได้มีใจยินดีด้วย: และเสียงความยินดีแห่งชาวยะรูซาเลมนั้นมีคนได้ยินได้แต่ไกล.”—นะเฮมยา 12:43.
15. เหตุใดการอุทิศกำแพงกรุงยะรูซาเลมไม่ใช่เหตุแห่งความยินดีถาวร?
15 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกวันที่ของการฉลองที่น่ายินดีนี้. ไม่มีข้อสงสัยว่า หากไม่ใช่จุดสุดยอด การฉลองนี้ก็นับเป็นเหตุการณ์เด่นครั้งหนึ่งในการบูรณะกรุงยะรูซาเลม. แน่นอน ยังมีงานสร้างอีกมากมายที่ต้องทำภายในกรุง. ในเวลาต่อมา ประชากรแห่งยะรูซาเลมสูญเสียฐานะที่ดีฝ่ายวิญญาณของตน. ตัวอย่างเช่น เมื่อนะเฮมยาไปเยือนกรุงนี้ในครั้งที่สอง ท่านพบว่าพระนิเวศของพระเจ้าถูกละเลยอีก และชาวยิศราเอลก็กลับไปสมรสกับหญิงชาวนอกรีตอีก. (นะเฮมยา 13:6-11, 15, 23) ข้อเขียนของผู้พยากรณ์มาลาคียืนยันสภาพการณ์ไม่ดีอย่างเดียวกันนี้. (มาลาคี 1:6-8; 2:11; 3:8) ดังนั้น การอุทิศกำแพงกรุงยะรูซาเลมไม่ใช่เหตุแห่งความยินดีถาวร.
เหตุแห่งความยินดีถาวร
16. เหตุการณ์อะไรอันเป็นจุดสุดยอดที่ไพร่พลพระเจ้าตั้งตาคอย?
16 ทุกวันนี้ ไพร่พลพระยะโฮวาปรารถนาอย่างยิ่งให้เวลาที่พระเจ้าจะทรงมีชัยเหนือศัตรูทั้งสิ้นของพระองค์มาถึง. เหตุการณ์นี้จะเริ่มต้นด้วยการทำลาย “บาบูโลนใหญ่” อันเป็นเมืองโดยนัยที่เป็นแหล่งรวมของศาสนาเท็จทุกรูปแบบ. (วิวรณ์ 18:2, 8) ความพินาศของศาสนาเท็จจะเป็นช่วงแรกของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง. (มัดธาย 24:21, 22) เหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกเหตุการณ์หนึ่งที่รออยู่ข้างหน้าเราก็คือ การอภิเษกสมรสทางภาคสวรรค์ของพระเยซูคริสต์เจ้ากับเจ้าสาวของพระองค์ซึ่งก็คือ 144,000 คนที่เป็นประชากรแห่ง “ยะรูซาเลมใหม่.” (วิวรณ์ 19:7; 21:2) เราไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าการอภิเษกสมรสที่นับเป็นจุดสุดยอดนี้จะสำเร็จครบถ้วนเมื่อใด แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือนี่จะเป็นเหตุการณ์อันน่ายินดี.—โปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 สิงหาคม 1990 หน้า 30, 31.
17. เราทราบอะไรเกี่ยวกับความสำเร็จครบถ้วนของยะรูซาเลมใหม่?
17 เราทราบว่าความสำเร็จครบถ้วนของยะรูซาเลมใหม่จวนจะถึงอยู่แล้ว. (มัดธาย 24:3, 7-14; วิวรณ์ 12:12) ไม่เหมือนกับกรุงยะรูซาเลมทางแผ่นดินโลก ยะรูซาเลมใหม่จะไม่เป็นเหตุแห่งความผิดหวัง. ทั้งนี้เพราะประชากรทั้งหมดของยะรูซาเลมใหม่เป็นเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ที่ได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณซึ่งถูกทดสอบและกลั่นกรองมาแล้ว. เมื่อเสียชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ แต่ละคนก็จะได้พิสูจน์ตัวเองว่าภักดีตลอดไปต่อพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. เรื่องนี้มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับมนุษยชาติที่เหลือ ทั้งคนเป็นและคนตาย!
18. เหตุใดเราควร ‘ยินดีปรีดา และปีติชื่นชมตลอดไป’?
18 ขอให้พิจารณาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อยะรูซาเลมใหม่หันมาเอาใจใส่คนทั้งหลายที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “นี่แน่ะ! พลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษยชาติ และพระองค์จะสถิตกับเขา และพวกเขาจะเป็นชนชาติต่าง ๆ ของพระองค์. และพระเจ้าเองจะทรงอยู่กับเขา. และพระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.” (วิวรณ์ 21:2-4, ล.ม.) นอกจากนั้น พระเจ้าจะทรงใช้การจัดเตรียมที่มีลักษณะเหมือนเมืองนี้เพื่อยกมนุษยชาติสู่ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์. (วิวรณ์ 22:1, 2) ช่างเป็นเหตุผลที่ยอดเยี่ยมสักเพียงไรที่จะ ‘ยินดีปรีดา และปีติชื่นชมตลอดไปในสิ่งที่พระเจ้ากำลังสร้างอยู่’!—ยะซายา 65:18, ล.ม.
19. อุทยานฝ่ายวิญญาณที่คริสเตียนถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ด้วยกันคืออะไร?
19 อย่างไรก็ตาม มนุษย์ที่กลับใจไม่ต้องคอยจนถึงตอนนั้นเพื่อจะได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้า. ในปี 1919 พระยะโฮวาทรงเริ่มรวบรวมสมาชิกกลุ่มสุดท้ายแห่งชน 144,000 คนเข้าสู่อุทยานฝ่ายวิญญาณอันเป็นที่อุดมไปด้วยผลพระวิญญาณของพระเจ้า เป็นต้นว่าความรัก, ความยินดี, และสันติสุข. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ลักษณะอันโดดเด่นประการหนึ่งของอุทยานฝ่ายวิญญาณนี้ได้แก่ความเชื่อของผู้ถูกเจิมที่อยู่ในอุทยานดังกล่าวนี้ ซึ่งได้เกิดผลอย่างน่าอัศจรรย์ใจในฐานะหัวหอกในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้คนอาศัย. (มัดธาย 21:43; 24:14) ผลก็คือ “แกะอื่น” เกือบหกล้านคนซึ่งมีความหวังทางแผ่นดินโลกก็ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่อุทยานฝ่ายวิญญาณและเพลิดเพลินกับการงานที่เกิดผลด้วยเช่นกัน. (โยฮัน 10:16) คนเหล่านี้มีคุณวุฒิสำหรับงานนี้โดยการอุทิศตัวเองแด่พระยะโฮวาพระเจ้าโดยอาศัยความเชื่อที่เขามีในเครื่องบูชาไถ่ของพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์. การที่เขาคบหาสมาคมกับคนที่คาดว่าจะเป็นสมาชิกของยะรูซาเลมใหม่นับเป็นพระพรอย่างแท้จริง. ฉะนั้น โดยการที่พระองค์ทรงดำเนินกับคริสเตียนผู้ถูกเจิม พระยะโฮวาได้ทรงวางรากฐานที่มั่นคงไว้สำหรับ “แผ่นดินโลกใหม่” อันได้แก่สังคมมนุษย์ที่ยำเกรงพระเจ้าซึ่งจะได้รับอาณาเขตทางแผ่นดินโลกของราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์เป็นมรดก.—ยะซายา 65:17; 2 เปโตร 3:13.
20. ยะรูซาเลมใหม่จะมีสภาพสมกับความหมายของชื่อเมืองอย่างไร?
20 อีกไม่ช้า สภาพอันเปี่ยมสันติสุขที่ไพร่พลของพระยะโฮวามีเวลานี้ในอุทยานฝ่ายวิญญาณจะมีอยู่ในอุทยานในความหมายตามตัวอักษรบนแผ่นดินโลก. นั่นจะเกิดขึ้นเมื่อยะรูซาเลมใหม่ลงมาจากสวรรค์เพื่ออวยพรแก่มนุษยชาติ. ไพร่พลพระเจ้าจะประสบสภาพอันมีสันติสุขสองต่อตามที่ทรงสัญญาไว้ที่ยะซายา 65:21-25. ในฐานะเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในอุทยานฝ่ายวิญญาณ ผู้ถูกเจิมยังจะต้องรับเอาตำแหน่งของตนในยะรูซาเลมใหม่ฝ่ายสวรรค์ และคนที่เป็น “แกะอื่น” ก็กำลังประสบสันติสุขที่พระเจ้าประทานให้อยู่ในขณะนี้. และสันติสุขเช่นนั้นจะแผ่ขยายไปเป็นอุทยานตามตัวอักษร ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ‘พระทัยประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จบนแผ่นดินโลกทั้งสิ้นเช่นเดียวกับที่สำเร็จในสวรรค์.’ (มัดธาย 6:10) ใช่แล้ว เมืองฝ่ายสวรรค์อันรุ่งโรจน์ของพระเจ้าจะสมกับที่ได้ชื่อว่ายะรูซาเลมในฐานะ ‘รากฐานอันหนักแน่นแห่งสันติสุขสองต่อ.’ ยะรูซาเลมฝ่ายสวรรค์จะตั้งอยู่เป็นเกียรติยศอันควรคู่กับคำสรรเสริญตลอดไปแก่พระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ พระยะโฮวาพระเจ้า และแก่พระเยซูคริสต์องค์กษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าบ่าว.
คุณจำได้ไหม?
▫ มีการทำอะไรให้สำเร็จเมื่อนะเฮมยารวบรวมประชาชนให้มาร่วมชุมนุมกันในกรุงยะรูซาเลม?
▫ ชาวยิวในคราวโบราณต้องทำอะไรเพื่อจะไม่ได้ละเลยพระนิเวศของพระเจ้า และเราได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำอะไร?
▫ “ยะรูซาเลม” เกี่ยวข้องอย่างไรกับการนำมาซึ่งความยินดีและสันติสุขถาวร?
[แผนที่หน้า 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ประตูต่าง ๆ ของกรุงยะรูซาเลม
ตัวเลขบอกระดับสูงในปัจจุบันเป็นเมตร
ประตูปลา
ประตูกรุงเก่า
ประตูเอฟรายิม
ประตูมุม
กำแพงกว้าง
ลานเมือง
ประตูซอกเขา
แขวงที่สอง
กำแพงด้านเหนือในตอนแรก
เมืองของดาวิด
ประตูหยากเยื่อ
หุบเขาฮินนอม
พระราชวัง
ประตูแกะ
ประตูคุก
บริเวณพระวิหาร
ประตูตรวจพล
ประตูม้า
โอเฟล
ลานเมือง
ประตูน้ำ
น้ำพุลำธารฆีโฮน
ประตูน้ำพุ
สวนหลวง
เอนโรเฆล
ซอกเขาตุโร (กลาง)
ลำธารเกตโรน
740
730
730
750
770
770
750
730
710
690
670
620
640
660
680
700
720
740
730
710
690
670
ส่วนที่คงเป็นขอบเขตของกำแพงกรุงยะรูซาเลมในคราวการทำลายกรุงนี้และเมื่อนะเฮมยานำในการบูรณะกำแพงเมือง