พระเจ้าทรงทำให้คุณบริสุทธิ์แล้ว
“พระเจ้าทรงชำระพวกท่านให้สะอาดแล้ว ทำให้พวกท่านบริสุทธิ์แล้ว.”—1 โค. 6:11
1. นะเฮมยาเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อท่านกลับมายังกรุงเยรูซาเลม? (ดูภาพแรก)
ชาวกรุงเยรูซาเลมตกตะลึง. ทำไม? ผู้ต่อต้านพระยะโฮวาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องหนึ่งของพระวิหาร. ชาวเลวีไม่ทำหน้าที่ของตนอีกต่อไป. แทนที่จะนำหน้าในการนมัสการพระยะโฮวา เหล่าผู้เฒ่าผู้แก่ทำการค้าในวันซะบาโต. และชาวอิสราเอลหลายคนแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิว. นี่เป็นเพียงปัญหาบางอย่างที่นะเฮมยาเห็นเมื่อท่านกลับมายังกรุงเยรูซาเลม.—นเฮม. 13:6
2. อิสราเอลกลายมาเป็นชาติบริสุทธิ์ได้อย่างไร?
2 อิสราเอลเป็นชาติที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า. ในปี 1513 ก่อนสากลศักราช ชาวอิสราเอลพร้อมจะเชื่อฟังพระยะโฮวา. พวกเขากล่าวว่า “ถ้อยคำทั้งหมดซึ่งพระยะโฮวาได้ตรัสไว้นั้นพวกข้าพเจ้าจะกระทำตาม.” (เอ็ก. 24:3) ดังนั้น พระเจ้าทรงเลือกพวกเขาให้เป็นประชาชนของพระองค์ และทรงประสงค์ให้พวกเขาเป็นชาติบริสุทธิ์และแยกต่างหากจากชาติอื่น ๆ. นั่นเป็นสิทธิพิเศษอย่างยิ่ง! สี่สิบปีหลังจากนั้น โมเซเตือนพวกเขาให้ระลึกว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นคนบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า. พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าได้ทรงเลือกเจ้าออกจากชนประเทศทั้งปวงที่อยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโลก.”—บัญ. 7:6
3. เกิดอะไรขึ้นกับการนมัสการแท้เมื่อนะเฮมยาเดินทางมายังกรุงเยรูซาเลมครั้งที่สอง?
3 น่าเสียดาย ชาติอิสราเอลไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้. แม้ว่าคนที่รับใช้พระเจ้ามีอยู่เสมอ แต่ชาวยิวส่วนใหญ่ไม่พร้อมจะเชื่อฟังพระยะโฮวาและเพียงแต่แสร้งทำเป็นคนชอบธรรมหรือบริสุทธิ์. นะเฮมยาเดินทางมายังกรุงเยรูซาเลมเป็นครั้งที่สองประมาณหนึ่งร้อยปีหลังจากที่เหล่าผู้ซื่อสัตย์กลุ่มหนึ่งได้กลับจากบาบิโลนมาสร้างกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่เพื่อฟื้นฟูการนมัสการแท้. แต่เมื่อถึงตอนนั้น ชาวยิวก็ไม่ได้ให้การนมัสการแท้เป็นอันดับแรกในชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป.
4. เราจะรักษาตัวให้บริสุทธิ์อยู่เสมอและได้รับการยอมรับจากพระยะโฮวาได้อย่างไร?
4 เช่นเดียวกับชาวอิสราเอล พระเจ้าทรงทำให้พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้บริสุทธิ์. ทั้งคริสเตียนผู้ถูกเจิมและคนที่เป็น “ชนฝูงใหญ่” อยู่ในฐานะที่พระยะโฮวาทรงทำให้บริสุทธิ์และรับใช้พระองค์เพียงผู้เดียว. (วิ. 7:9, 14, 15; 1 โค. 6:11) ชาวอิสราเอลสูญเสียสายสัมพันธ์ของตนกับพระยะโฮวาเพราะพวกเขาไม่รักษาตัวบริสุทธิ์. เราไม่ต้องการให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นกับเรา. อะไรจะช่วยเรารักษาตัวให้บริสุทธิ์อยู่เสมอและได้รับการยอมรับจากพระยะโฮวา? ในบทความศึกษานี้ เราจะพิจารณาปัจจัยสี่ประการที่มีการเน้นในนะเฮมยาบท 13 คือ (1) หลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดี (2) สนับสนุนงานของพระยะโฮวา (3) ให้การรับใช้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก (4) รักษาเอกลักษณ์ของคุณในฐานะคริสเตียน. ตอนนี้ ขอให้เรามาพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ทีละอย่าง.
หลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดี
5, 6. เอ็ลยาซีพและโตบิยาเป็นใคร และอะไรอาจทำให้เอ็ลยาซีพคบหากับโตบิยา?
5 อ่านนะเฮมยา 13:4-9. เราถูกห้อมล้อมด้วยอิทธิพลที่ไม่ดี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะรักษาตัวให้บริสุทธิ์. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราเกี่ยวกับมหาปุโรหิตเอ็ลยาซีพและชายชาวอำโมนคนหนึ่งชื่อโตบิยา ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของกษัตริย์เปอร์เซีย. โตบิยากับพรรคพวกเคยพยายามขัดขวางนะเฮมยาไม่ให้สร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่. (นเฮม. 2:10) การอนุญาตให้ชาวอำโมนเข้าไปในลานพระวิหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของพระเจ้า. (บัญ. 23:3) ถ้าอย่างนั้น ทำไมมหาปุโรหิตเอ็ลยาซีพจึงจัดที่ในห้องอาหารของพระวิหารให้โตบิยา?
6 มีเหตุผลสามข้อ. ข้อแรก เอ็ลยาซีพเป็นเพื่อนสนิทกับโตบิยา. ข้อที่สอง โตบิยากับลูกชายคือโยฮะนานได้แต่งงานกับหญิงชาวยิว และชาวยิวหลายคนยกย่องโตบิยา. (นเฮม. 6:17-19, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ) ข้อที่สาม หลานชายของเอ็ลยาซีพแต่งงานกับลูกสาวของซันบาลาต ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการของซะมาเรีย ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทมากของโตบิยา. (นเฮม. 13:28) สายสัมพันธ์ทั้งหมดนี้อาจช่วยอธิบายว่าทำไมเอ็ลยาซีพจึงปล่อยให้โตบิยามีอิทธิพลเหนือเขา แม้ว่าโตบิยาไม่ใช่ชาวอิสราเอลและต่อต้านงานของประชาชนของพระเจ้า. แต่นะเฮมยาแสดงความภักดีต่อพระยะโฮวาด้วยการโยนโต๊ะเก้าอี้ของโตบิยาออกไปจากห้องอาหาร.
7. ผู้ปกครองและคนอื่น ๆ จะระวังเพื่อไม่ทำสิ่งใดที่ทำให้ตนเป็นมลทินได้อย่างไร?
7 ในฐานะประชาชนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า ความภักดีต่อพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเรา. แต่บางครั้งเราอาจถูกล่อใจให้ละเลยหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเพราะเราอยากภักดีต่อครอบครัว. แต่ถ้าเราไม่ดำเนินชีวิตตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาจะเริ่มมองเราว่าไม่บริสุทธิ์. คริสเตียนผู้ปกครองตัดสินใจโดยอาศัยทัศนะของพระยะโฮวา ไม่ใช่อาศัยความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง. (1 ติโม. 5:21) ผู้ปกครองต้องระวังที่จะไม่อะลุ่มอล่วยให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้องซึ่งทำให้สายสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าเสียหาย.—1 ติโม. 2:8
8. เราควรจำอะไรไว้เกี่ยวกับการคบหาสมาคม?
8 เราควรจำไว้ว่า “การคบหาที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โค. 15:33) ญาติบางคนอาจมีอิทธิพลต่อเราในทางที่ไม่ดี. ครั้งหนึ่ง เอ็ลยาซีพเคยเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยการสนับสนุนนะเฮมยาอย่างเต็มที่ในการสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่. (นเฮม. 3:1) แต่ในเวลาต่อมา อิทธิพลที่ไม่ดีของโตบิยาและคนอื่น ๆ ได้ชักนำเอ็ลยาซีพให้ทำสิ่งที่ทำให้เขาเป็นมลทินเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวา. ดังนั้น เราต้องคบหาสมาคมกับคนที่สนับสนุนเราให้ทำสิ่งดี ๆ เช่น การอ่านคัมภีร์ไบเบิล การเข้าร่วมการประชุม และการประกาศ. เรารู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษเมื่อคนในครอบครัวสนับสนุนเราให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง.
สนับสนุนงานของพระยะโฮวา
9. สถานการณ์ที่พระวิหารเป็นอย่างไร และนะเฮมยาทำอะไรเพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้น?
9 อ่านนะเฮมยา 13:10-13. เมื่อนะเฮมยากลับมาที่กรุงเยรูซาเลม ชาวเลวีไม่ได้ทำหน้าที่ของตนในพระวิหาร. ทำไม? ประชาชนบริจาคเงินบำรุงพระวิหารน้อยมาก ชาวเลวีจึงต้องไปทำงานในไร่นาของตนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว. และพวกผู้ปกครองที่ได้รับมอบหมายให้เก็บรวบรวมส่วนหนึ่งในสิบไม่ได้เอาใจใส่หน้าที่ของตนหรือไม่ได้ส่งสิ่งที่เก็บได้ไปยังพระวิหาร. (นเฮม. 12:44) นะเฮมยาจึงดำเนินการให้มีการเก็บรวบรวมส่วนหนึ่งในสิบ และแต่งตั้งผู้ชายที่ไว้ใจได้ให้แจกจ่ายของเหล่านั้นแก่ชาวเลวี.
10, 11. เราจะสนับสนุนการนมัสการแท้ได้อย่างไร?
10 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? เรื่องนี้เตือนใจเราว่าเรามีสิทธิพิเศษที่จะถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาด้วยสิ่งมีค่าของเรา. (สุภา. 3:9) เมื่อเราถวายแด่พระยะโฮวา เราเพียงแค่ถวายสิ่งที่เป็นของพระยะโฮวาอยู่แล้ว. (1 โคร. 29:14-16) เราอาจคิดว่าเนื่องจากเรามีเพียงเล็กน้อยที่จะให้ การให้ของเราอาจน้อยเกินไปที่จะเป็นคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา. แต่พระองค์ทรงยินดีเมื่อเราให้อย่างเต็มใจ.—2 โค. 8:12
11 เป็นเวลาหลายปีที่ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกแปดคนได้เชิญไพโอเนียร์พิเศษสูงอายุคู่หนึ่งให้รับประทานอาหารกับพวกเขาอาทิตย์ละครั้ง. ผู้เป็นแม่บอกว่าเนื่องจากเธอต้องทำอาหารสำหรับสิบคนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำอาหารเพิ่มสำหรับอีกสองคน. อาหารสัปดาห์ละมื้ออาจดูเหมือนไม่มาก แต่ไพโอเนียร์คู่นี้รู้สึกขอบคุณอย่างมากสำหรับความเอื้อเฟื้อของครอบครัวนี้! ในทางกลับกัน ไพโอเนียร์สองคนนี้ก็ได้ช่วยครอบครัวนี้ด้วยการเล่าประสบการณ์ดี ๆ และสนับสนุนเด็ก ๆ ให้ก้าวหน้าในความจริง. ในเวลาต่อมา เด็กทุกคนในครอบครัวนี้ได้ทำงานรับใช้เต็มเวลา.
12. ผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้วางตัวอย่างที่ดีอะไร?
12 บันทึกเกี่ยวกับนะเฮมยายังสอนเราด้วยว่าผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการนมัสการพระยะโฮวา. ตัวอย่างที่ดีของพวกเขาช่วยคนอื่น ๆ ในประชาคม. อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประชาคม. ท่านสนับสนุนการนมัสการแท้และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้อง. ตัวอย่างเช่น ท่านให้คำแนะนำบางอย่างที่ใช้ได้จริงในเรื่องการบริจาค.—1 โค. 16:1-3; 2 โค. 9:5-7
ให้การรับใช้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก
13. ชาวยิวบางคนทำอะไรในวันซะบาโต?
13 อ่านนะเฮมยา 13:15-21. ถ้าเราใช้เวลามากเกินไปในการคิดถึงสิ่งฝ่ายวัตถุและทำงานเพื่อจะได้สิ่งเหล่านั้น เราอาจสูญเสียสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา. เอ็กโซโด 31:13 อธิบายว่าชาวอิสราเอลควรใช้วันซะบาโตในแต่ละสัปดาห์เพื่อระลึกถึงสายสัมพันธ์ของพวกเขากับพระยะโฮวาในฐานะที่พวกเขาเป็นประชาชนที่ถูกแยกไว้ต่างหากและบริสุทธิ์. วันซะบาโตควรเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะนมัสการ อธิษฐาน และใคร่ครวญพระบัญญัติของพระเจ้าด้วยกัน. แต่ชาวอิสราเอลบางคนในสมัยนะเฮมยาใช้วันซะบาโตเพื่อทำธุรกิจเหมือนกับวันอื่น ๆ ในสัปดาห์. เมื่อเห็นอย่างนั้น นะเฮมยาจึงไล่พ่อค้าชาวต่างชาติออกไปจากเมืองและปิดประตูเมืองในวันที่หก ก่อนวันซะบาโต.
14, 15. (ก) จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราใช้เวลามากเกินไปกับการหาเงิน? (ข) เราจะเข้าสู่วันหยุดพักของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
14 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของนะเฮมยา? บทเรียนอย่างหนึ่งคือ เราไม่ควรหมกมุ่นและใช้เวลามากเกินไปในการหาเงิน. งานอาชีพอาจทำให้เราเขวได้ โดยเฉพาะถ้าเราชอบงานนั้น. แต่จำไว้ว่าพระเยซูตรัสว่าเราจะเป็นทาสนายสองคนไม่ได้. (อ่านมัดธาย 6:24 ) นะเฮมยาสามารถหาเงินได้มากมาย และถ้าท่านจะทำธุรกิจกับพวกพ่อค้าจากเมืองไทระและจากที่อื่น ๆ ก็ย่อมทำได้. แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านทำอะไร? (นเฮม. 5:14-18) ท่านทุ่มเทตัวเองเพื่อช่วยพี่น้องและทำสิ่งที่ส่งเสริมให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ทุกวันนี้ก็เช่นกัน คริสเตียนผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ใช้เวลาและกำลังของพวกเขาเพื่อช่วยประชาคม. พี่น้องในประชาคมรักพวกเขาเมื่อเห็นว่าพวกเขาทุ่มเทตัวเองอย่างนั้น. ผลก็คือ ประชาชนของพระเจ้ารักกันและกัน มีสันติสุข และรู้สึกปลอดภัย.—ยเอศ. 34:25, 28
15 แม้ว่าไม่มีข้อเรียกร้องให้คริสเตียนถือวันซะบาโตประจำสัปดาห์ แต่เปาโลบอกเราว่า “ยังมีการหยุดพักแบบเดียวกับวันซะบาโตสำหรับประชาชนของพระเจ้า.” ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “คนที่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าแล้วก็หยุดจากการงานของตนด้วย ดังที่พระเจ้าทรงหยุดจากการงานของพระองค์.” (ฮีบรู 4:9, 10) ในฐานะคริสเตียน เราเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าได้โดยการเชื่อฟังพระยะโฮวาและทำงานเพื่อสนับสนุนพระประสงค์ของพระองค์. คุณกับครอบครัวของคุณจัดให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิตโดยนมัสการประจำครอบครัว เข้าร่วมการประชุม และออกไปประกาศไหม? นายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานอาจคิดว่าการทำสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไม่สำคัญ. ดังนั้น เราอาจต้องหนักแน่นและอธิบายให้พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่างานของพระยะโฮวาสำคัญที่สุดสำหรับเรา. นี่คล้ายกับสิ่งที่นะเฮมยาทำเมื่อท่านขับไล่ชาวไทระและปิดประตูเมือง. ท่านจัดให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก. เนื่องจากเราเป็นประชาชนที่ถูกแยกไว้ต่างหากและบริสุทธิ์ เราต้องถามตัวเองว่า ‘ฉันแสดงให้เห็นด้วยวิธีที่ฉันดำเนินชีวิตว่าฉันให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกไหม?’—มัด. 6:33
รักษาเอกลักษณ์ของเราในฐานะคริสเตียน
16. ชาวอิสราเอลในสมัยนะเฮมยาเสี่ยงที่จะสูญเสียเอกลักษณ์ของตนในฐานะประชาชนที่ถูกแยกไว้ต่างหากและบริสุทธิ์อย่างไร?
16 อ่านนะเฮมยา 13:23-27. ในสมัยของนะเฮมยา ผู้ชายชาวอิสราเอลแต่งงานกับหญิงต่างชาติ. ในครั้งแรกที่นะเฮมยามายังกรุงเยรูซาเลม ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหมดได้ทำสัตย์สาบานเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่าพวกเขาจะไม่แต่งงานกับหญิงต่างชาติ. (นเฮม. 9:38; 10:30) แต่เมื่อนะเฮมยากลับมากรุงเยรูซาเลมครั้งที่สอง ท่านพบว่าพวกผู้ชายได้แต่งงานกับหญิงต่างชาติและกำลังจะสูญเสียเอกลักษณ์ของพวกเขาในฐานะประชาชนของพระเจ้าที่ถูกแยกไว้ต่างหากและบริสุทธิ์! ลูก ๆ ที่เกิดจากหญิงต่างชาติเหล่านี้อ่านหรือพูดภาษาฮีบรูไม่ได้. เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น พวกเขาจะคิดว่าตัวเองเป็นชาวอิสราเอลไหม? หรือพวกเขาจะคิดว่าตัวเองเป็นคนชาติอื่น เช่น ชาวอัศโดด ชาวอำโมน หรือชาวโมอาบ? ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจภาษาฮีบรู พวกเขาก็คงไม่เข้าใจกฎหมายของพระเจ้า. คงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะรู้จักพระยะโฮวาและเลือกรับใช้พระองค์แทนที่จะนมัสการพระเท็จที่แม่ของพวกเขานมัสการ. นะเฮมยาลงมือทำทันทีเพื่อปกป้องเอกลักษณ์ของชาวอิสราเอล.—นเฮม. 13:28
17. พ่อแม่จะช่วยลูกให้มีสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?
17 ในทุกวันนี้ เราต้องช่วยลูก ๆ ของเราให้รักษาเอกลักษณ์ของคริสเตียนไว้. พ่อแม่ทั้งหลาย ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ลูกของฉันพูด “ภาษาบริสุทธิ์” ได้ดีขนาดไหน ซึ่งก็คือ พวกเขาเข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและพูดเรื่องความจริงมากขนาดไหน? (ซฟัน. 3:9, ล.ม.) เรื่องที่ลูกของฉันพูดแสดงไหมว่าเขายอมให้พระวิญญาณของพระเจ้าชี้นำ? หรือเขาได้รับอิทธิพลจากน้ำใจของโลก?’ อย่าเพิ่งท้อใจถ้าเห็นว่าลูกของคุณจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข. การเรียนภาษาต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเมื่อมีหลายสิ่งที่ทำให้เขว. โลกพยายามกดดันลูกของคุณให้อะลุ่มอล่วย. ดังนั้น ขอให้อดทนและใช้การนมัสการประจำครอบครัวและโอกาสอื่น ๆ เพื่อช่วยลูกให้พัฒนาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. (บัญ. 6:6-9) ย้ำกับลูกว่าทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่เราจะแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในโลกของซาตาน. (โย. 17:15-17) และพยายามทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเข้าถึงหัวใจลูก.
18. ทำไมพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนคือคนจะช่วยลูกได้ดีที่สุดให้ก้าวหน้าจนถึงขั้นที่เขาเลือกจะอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา?
18 ในที่สุด ลูกของคุณต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเขาจะรับใช้พระเจ้าหรือไม่. แต่มีหลายสิ่งที่พ่อแม่ทำได้. คุณต้องเป็นตัวอย่างที่ดี อธิบายให้ชัดเจนว่าการกระทำแบบใดที่ยอมรับไม่ได้ และช่วยพวกเขาให้เข้าใจว่าการตัดสินใจที่ไม่ดีจะทำให้เกิดผลเช่นไรบ้าง. พ่อแม่ทั้งหลาย ลูกต้องการความช่วยเหลือจากคุณในการพัฒนาเอกลักษณ์ของคริสเตียน. คุณคือคนที่จะช่วยลูกได้ดีที่สุดให้ก้าวหน้าจนถึงขั้นที่เขาเลือกจะอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. แน่นอน เราทุกคนจำเป็นต้องระวังเพื่อจะไม่สูญเสีย “เสื้อคลุม” โดยนัย ซึ่งก็คือคุณลักษณะและมาตรฐานที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นสาวกของพระคริสต์.—วิ. 3:4, 5; 16:15
พระยะโฮวาจะ ‘ระลึกถึงเราด้วยความโปรดปราน’
19, 20. เราต้องทำอะไรเพื่อพระยะโฮวาจะ ‘ระลึกถึงเราด้วยความโปรดปราน’?
19 ผู้พยากรณ์มาลาคีบอกว่าพระยะโฮวาทรงระลึกถึง “คนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์” และพระองค์ทรงจดชื่อพวกเขาไว้ใน “หนังสือบันทึกความจำ.” (มลคี. 3:16, 17) พระเจ้าจะไม่มีวันลืมคนที่เกรงกลัวพระองค์และรักพระนามของพระองค์.—ฮีบรู 6:10
20 นะเฮมยาอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอทรงระลึกถึงข้าพระองค์ด้วยความโปรดปรานเถิด.” (นเฮม. 13:31, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ท่านต้องการให้พระยะโฮวาระลึกว่าท่านได้รับใช้พระองค์. พระเจ้าจะทรงระลึกถึงเราในหนังสือบันทึกความจำของพระองค์ด้วยถ้าเราหลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมที่ไม่ดี สนับสนุนงานของพระองค์ ให้การรับใช้พระองค์มาเป็นอันดับแรก และรักษาเอกลักษณ์ของคริสเตียนไว้. เราต้อง ‘หมั่นทดสอบว่าเรายึดมั่นกับหลักความเชื่อหรือไม่.’ (2 โค. 13:5) ถ้าเราพยายามให้ดีที่สุดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนของพระยะโฮวาที่ถูกแยกไว้ต่างหากและบริสุทธิ์เสมอ พระองค์จะ ‘ระลึกถึงเราด้วยความโปรดปราน.’