รักษาความสัมพันธ์ที่คุณมีกับพระเจ้าให้ดีตอนที่รับใช้อยู่ในเขตภาษาต่างประเทศ
“ผมเทิดทูนคำสอนของพระองค์ในหัวใจ”—สด. 119:11
1-3. (ก) อะไรควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเราเสมอ? (ข) คนที่เรียนภาษาใหม่อาจมีข้อท้าทายอะไรเป็นพิเศษ และนี่ทำให้เกิดคำถามอะไร? (ดูภาพแรก)
ในทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาจำนวนมากกำลังทำให้คำพยากรณ์ข้อหนึ่งเกิดขึ้นจริง คำพยากรณ์นั้นพูดถึงการประกาศ “กับทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกภาษา และทุกชนชาติ” (วว. 14:6) คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเรียนภาษาอื่นอยู่ไหม? หลายคนทั่วโลกกำลังทำแบบนั้น บางคนรับใช้เป็นมิชชันนารี และบางคนก็ย้ายไปประกาศในประเทศที่มีความต้องการมากกว่า ส่วนคนอื่น ๆ ก็ร่วมประชุมกับประชาคมภาษาต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศบ้านเกิดของเขา
2 ผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคนต้องให้ความสัมพันธ์ที่พวกเขาและครอบครัวของพวกเขามีต่อพระเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (มธ. 5:3) แต่บางครั้งพวกเราก็อาจยุ่งมากจนไม่มีเวลาศึกษาส่วนตัวอย่างดี และคนที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศก็มีข้อท้าทายมากกว่านั้นอีก
3 คนที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศต้องเรียนภาษาใหม่ และยังต้องแน่ใจด้วยว่าตัวเขาได้รับความรู้ที่ลึกซึ้งของพระเจ้าเป็นประจำ (1 คร. 2:10) แต่พวกเขาจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่เข้าใจการประชุม? และทำไมพ่อแม่ที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศต้องแน่ใจว่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเข้าไปถึงหัวใจของลูกจริง ๆ?
ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาอาจมีปัญหา
4. อะไรอาจทำให้ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวามีปัญหาได้?
4 ถ้าเราไม่เข้าใจคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลในภาษาต่างประเทศ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาก็อาจมีปัญหาได้ ลองนึกถึงตอนที่เนหะมีย์กลับไปที่กรุงเยรูซาเล็ม เขาสังเกตว่ามีเด็ก ๆ บางคนที่พูดภาษาฮีบรูไม่ได้ (อ่านเนหะมีย์ 13:23, 24) เนื่องจากเด็กเหล่านี้ไม่เข้าใจพระคัมภีร์ซึ่งมีในภาษาฮีบรู พวกเขาจึงไม่มีความเชื่อในพระเจ้า และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับพระองค์มีปัญหา—นหม. 8:2, 8
5, 6. พ่อแม่บางคนที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศสังเกตเห็นอะไร? และสาเหตุคืออะไร?
5 พ่อแม่บางคนที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศสังเกตว่าความสัมพันธ์ที่ลูกของเขามีกับพระยะโฮวาแย่ลง เนื่องจากเด็ก ๆ ไม่เข้าใจการประชุมอย่างเต็มที่ คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเลยเข้าไม่ถึงหัวใจและกระตุ้นพวกเขาให้ลงมือทำตาม เปโดร[1] และครอบครัวย้ายจากอเมริกาใต้ไปที่ออสเตรเลีย เขาบอกว่าสำหรับเรื่องพระคัมภีร์ เราจะใช้แค่สมองอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องใช้หัวใจ เราต้องให้เรื่องนั้นมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของเรา—ลก. 24:32
6 ตอนที่เราอ่านภาษาอื่น เราอาจได้ความรู้สึกไม่เท่ากับตอนที่อ่านภาษาตัวเอง และยิ่งถ้าการสื่อสารโดยใช้ภาษาอื่นเป็นเรื่องยากสำหรับเรา เราก็จะรู้สึกเหนื่อย หมดแรง แล้วมันก็จะมีผลกระทบกับการนมัสการของเรา ดังนั้น ตอนที่เราพยายามทำตามเป้าหมายของเราที่จะรับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศ เราก็ต้องไม่ลืมรักษาความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระยะโฮวาไว้เสมอ—มธ. 4:4
รักษาความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับพระยะโฮวา
7. ชาวบาบิโลนพยายามกดดันให้ดาเนียลนับถือศาสนาและทำตามธรรมเนียมของที่นั่นอย่างไร?
7 ตอนที่ดาเนียลและเพื่อน ๆ ต้องไปเป็นเชลยที่บาบิโลน ชาวบาบิโลนพยายามกดดันให้พวกเขานับถือศาสนาและทำตามธรรมเนียมของที่นั่น คนพวกนั้นใช้วิธีอะไร? พวกเขาพยายามสอน ‘ภาษาของชาวเคลเดีย’ และตั้งชื่อภาษาของพวกบาบิโลนให้ดาเนียลกับเพื่อน ๆ (ดนล. 1:3-7) ชื่อใหม่ของดาเนียลเกี่ยวข้องกับพระเบลซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญในบาบิโลน ดังนั้น เป็นไปได้ว่ากษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ต้องการให้ดาเนียลเชื่อว่า พระของชาวบาบิโลนมีพลังอำนาจมากกว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของดาเนียล—ดนล. 4:8
8. ดาเนียลทำอะไรเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระยะโฮวาให้ดีเสมอ?
8 ตอนที่ดาเนียลอยู่ที่บาบิโลน มีคนเอาอาหารของกษัตริย์ที่อร่อยมากมาให้ดาเนียลกิน แต่ดาเนียล “ตั้งใจ” จะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า (ดนล. 1:8) ทั้ง ๆ ที่อยู่ต่างประเทศ ดาเนียลมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ เขาศึกษา “ม้วนหนังสือศักดิ์สิทธิ์หลายม้วน” ที่มีในภาษาฮีบรู (ดนล. 9:2, เชิงอรรถ) ถึงแม้ว่าเขามาอยู่ในบาบิโลนประมาณ 70 ปีแล้ว แต่คนอื่น ๆ ก็ยังรู้จักเขาในชื่อดาเนียลซึ่งเป็นชื่อภาษาฮีบรู—ดนล. 5:13
9. อย่างที่เราเห็นได้จากเนื้อหาในสดุดีบท 119 ถ้อยคำของพระเจ้ามีผลอย่างไรกับตัวผู้เขียน?
9 อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นของผู้เขียนหนังสือสดุดีบท 119 เขาต้องทนกับคำพูดดูถูกเหยียดหยามจากคนในเชื้อพระวงศ์และคนในราชสำนัก แต่เขาได้รับกำลังจากถ้อยคำของพระเจ้า และนี่ช่วยเขาให้กล้าทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น (สด. 119:23, 61) ผู้เขียนหนังสือสดุดีบท 119 ศึกษาถ้อยคำของพระเจ้าอย่างจริงจังและสิ่งที่เขาเรียนเข้าถึงหัวใจเขาและมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของเขา—อ่านสดุดี 119:11, 46
รักษาความสัมพันธ์ที่คุณมีกับพระยะโฮวาให้ดี
10, 11. (ก) อะไรควรเป็นเป้าหมายของเราตอนที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? (ข) เราจะทำตามเป้าหมายนั้นได้อย่างไร? ขอยกตัวอย่าง
10 ถึงแม้เราอาจยุ่งกับการทำงานและงานในประชาคม แต่เราต้องจัดเวลาไว้สำหรับการศึกษาส่วนตัวและการนมัสการประจำครอบครัว (อฟ. 5:15, 16) เป้าหมายของเราต้องไม่ใช่แค่อ่านให้ได้เยอะ ๆ หรือเตรียมออกความคิดเห็นที่หอประชุมเท่านั้น แต่เราควรให้สิ่งที่อ่านและศึกษาเข้าถึงหัวใจ มีผลกับชีวิตของเรา และทำให้เรามีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น
11 เพื่อจะทำตามเป้าหมายนี้ได้ เราต้องเป็นคนสมดุล ตอนที่เราศึกษา เราไม่ควรคิดว่าคนอื่นจะได้ประโยชน์อะไรเท่านั้น แต่เราต้องคิดถึงตัวเราเองด้วย (ฟป. 1:9, 10) เราต้องยอมรับว่า ตอนที่เราเตรียมการประกาศ เตรียมการประชุม เตรียมบรรยาย หรือเตรียมการสาธิต หลายครั้งเราคิดถึงแต่คนอื่น และลืมคิดถึงตัวเอง ขอดูตัวอย่างนี้ ถึงแม้พ่อครัวจะชิมอาหารที่เขาทำก่อนเสิร์ฟ แต่เขาไม่สามารถกินแค่นั้นแล้วก็อยู่ได้ ถ้าเขาอยากมีสุขภาพแข็งแรง เขาต้องเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับตัวเองเสมอ คล้ายกัน ถ้าเราอยากจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา เราต้องศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ การศึกษาที่ลึกซึ้งอย่างนั้นจะทำให้เราได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะกับตัวเราจริง ๆ
12, 13. ทำไมหลายคนรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาส่วนตัวในภาษาของตัวเอง?
12 พี่น้องหลายคนที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่พวกเขาจะศึกษาส่วนตัวใน ‘ภาษาบ้านเกิดของพวกเขา’ (กจ. 2:8, เชิงอรรถ) พี่น้องที่เป็นมิชชันนารีก็รู้ดีว่า เพื่อพวกเขาจะรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งตอนที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศ ความรู้ที่ได้ฟังจากการประชุมอย่างเดียวไม่พอ
13 อเลนเรียนภาษาเปอร์เซียมา 8 ปีแล้ว เขายอมรับว่า “ตอนที่ผมเตรียมการประชุมในภาษาเปอร์เซีย ผมจะสนใจแต่ภาษาเท่านั้น และพอผมใช้แต่สมอง เรื่องที่อ่านก็ไม่เข้าถึงหัวใจผม นี่เป็นเหตุผลที่ผมต้องจัดเวลาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและหนังสืออื่น ๆ ในภาษาของผมเอง”
ต้องเข้าให้ถึงหัวใจลูก
14. พ่อแม่ต้องแน่ใจเรื่องอะไร และทำไม?
14 พ่อแม่ต้องแน่ใจว่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเข้าถึงหัวใจและความคิดความรู้สึกของลูกจริง ๆ ขอดูตัวอย่างของพี่น้องที่ชื่อเสิร์จและมิวเรียล หลังจากที่รับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศมากกว่า 3 ปี พวกเขาเริ่มสังเกตว่าลูกชายวัย 17 ของเขาไม่สนุกกับการประกาศและการประชุม มิวเรียลเล่าว่า “ตอนนี้ลูกไม่ชอบการประกาศ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาชอบประกาศในภาษาฝรั่งเศสมาก ซึ่งเป็นภาษาที่เขาพูดมาตั้งแต่เด็ก” เสิร์จเล่าต่อว่า “พอเห็นว่าถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป ลูกของเราจะไม่ก้าวหน้า เราจึงตัดสินใจย้ายกลับไปที่ประชาคมเดิม”
15. (ก) อะไรจะช่วยพ่อแม่ตัดสินใจว่าจะย้ายประชาคมหรือไม่? (ข) เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5-7 ให้คำแนะนำอะไรกับพ่อแม่?
15 อะไรจะช่วยพ่อแม่ให้ตัดสินใจว่าจะย้ายกลับไปอยู่ประชาคมที่ใช้ภาษาที่ลูกเข้าใจดีที่สุดหรือไม่? อย่างแรก พ่อแม่ต้องเช็กดูตัวเองก่อนว่ามีเวลาและกำลังมากพอที่จะทั้งสอนลูก ๆ ให้รักพระยะโฮวาและสอนภาษาใหม่ให้กับลูก ๆ ด้วยได้ไหม อย่างที่สอง พ่อแม่ต้องสังเกตลูก ๆ ถ้าเห็นว่าพวกเขาไม่อยากไปประกาศ ไปประชุม หรือรับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศ พ่อแม่อาจตัดสินใจย้ายกลับไปประชาคมที่ใช้ภาษาที่ลูก ๆ เข้าใจดีที่สุด หลังจากนั้น ถ้าลูก ๆ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา พ่อแม่ก็อาจตัดสินใจย้ายกลับไปรับใช้ในประชาคมภาษาต่างประเทศอีกก็ได้—อ่านเฉลยธรรมบัญญัติ 6:5-7
16, 17. อะไรได้ช่วยพ่อแม่บางคนให้สอนลูกเรื่องพระยะโฮวา?
16 พ่อแม่บางคนอาจมีวิธีสอนลูกเรื่องพระยะโฮวาในภาษาของเขา แต่ก็ยังสมทบกับประชาคมหรือกลุ่มภาษาต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ชาลส์มีลูกสาว 3 คนที่อายุตั้งแต่ 9 ถึง 13 ปี พวกเขาเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มที่พูดภาษาลิงกาลา เขาเล่าว่า “เราตัดสินใจจัดการศึกษาและการนมัสการประจำครอบครัวกับลูก ๆ ในภาษาของเราเอง แล้วเราก็มีการฝึกซ้อมและเล่นเกมในภาษาลิงกาลาด้วยเพื่อที่เด็ก ๆ จะเรียนภาษาใหม่อย่างสนุกสนาน”
17 ครอบครัวของเควินอยู่ในประชาคมภาษาต่างประเทศ เขามีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งอายุ 5 ขวบและอีกคน 8 ขวบ เควินต้องใช้ความพยายามมากที่จะสอนความจริงให้กับลูก ๆ เพราะเด็ก ๆ ไม่ค่อยเข้าใจการประชุมเท่าไร เขาเล่าว่า “ผมกับภรรยาสอนคัมภีร์ไบเบิลกับลูกแต่ละคนโดยใช้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาที่พวกเขาเข้าใจที่สุด นอกจากนั้น พวกเราตั้งเป้าที่จะเข้าร่วมประชุมในภาษาฝรั่งเศสเดือนละครั้ง และพวกเราก็ลาหยุดเพื่อไปเข้าร่วมประชุมใหญ่ในภาษาฝรั่งเศส”
18. (ก) เมื่อคิดถึงการช่วยลูก ๆ โรม 15:1, 2 ช่วยคุณอย่างไรให้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง? (ข) พ่อแม่คนอื่น ๆ ให้คำแนะนำที่ดีอย่างไร? (ดูอ้างอิงท้ายเรื่อง)
18 แต่ละครอบครัวต้องตัดสินใจว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูก ๆ เพื่อที่พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา[2] (กท. 6:5) มิวเรียลบอกว่าถึงแม้เธอกับสามีจะอยากรับใช้ในเขตภาษาต่างประเทศต่อ แต่พวกเขาก็ตัดสินใจย้ายกลับมาที่ประชาคมเดิมเพื่อช่วยลูกชายให้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาก่อน (อ่านโรม 15:1, 2) ตอนนี้เสิร์จรู้แล้วว่าพวกเขาตัดสินใจถูก เขาเล่าว่า “หลังจากเราย้ายกลับมาประชาคมที่พูดภาษาฝรั่งเศส ลูกของเราก็ก้าวหน้าขึ้นมากและรับบัพติศมา ตอนนี้ลูกรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ ลูกถึงกับคิดจะย้ายกลับไปที่กลุ่มภาษาต่างประเทศอีก!”
ให้คัมภีร์ไบเบิลเข้าถึงหัวใจคุณ
19, 20. เราจะแสดงอย่างไรว่าเรารักคัมภีร์ไบเบิล?
19 พระยะโฮวารักทุกคน พระองค์จึงให้มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลออกไปหลายพันภาษาเพื่อ “คนทุกชนิด” จะสามารถได้รับความรู้ที่ถูกต้อง (1 ทธ. 2:4) พระเจ้ารู้ว่าเราจะใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้นถ้าเราได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่เราเข้าใจที่สุด
20 เราทุกคนต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา วิธีหนึ่งก็คือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในภาษาที่เราเข้าใจมากที่สุดเป็นประจำ ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะช่วยทั้งตัวเราเองและครอบครัวให้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ และเราจะแสดงว่าเรารักคัมภีร์ไบเบิลและเทิดทูนคำสอนของพระองค์ในหัวใจจริง ๆ—สด. 119:11
^ [1] (ข้อ 5) ชื่อสมมุติ
^ [2] (ข้อ 18) ลองดูหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยครอบครัวของคุณได้ในบทความ “การเลี้ยงดูบุตรในต่างประเทศปัญหาต่าง ๆ และผลตอบแทน” ในวารสารหอสังเกตการณ์ 15 ตุลาคม 2002